ดาบ ฌวน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ดาบ ฌวน
เกิดพ.ศ. 2455
จังหวัดเสียมราฐ
เสียชีวิตพ.ศ. 2502
สัญชาติกัมพูชา
ชื่ออื่นชวน เข็มเพชร, เข็ม เพชร (Khem Phet), ฌวน มชุลเป็ช (Chhuon Mochulpich, Chhuon Mchoul Pech)
ผลงานเด่นผู้นำเขมรอิสระที่ไม่นิยมคอมมิวนิสต์
ตำแหน่งทหาร/นักการเมือง
หมายเหตุ
ถูกประหารชีวิตเพราะข้อกล่าวหาว่าเข้าร่วมในแผนบางกอก

ดาบ ฌวน (เขมร: ដាប ឈួន) (Dap Chhuon) หรือนายดาบ ชวน เข็มเพชร (คำว่านายดาบ เป็นยศนายทหารบกชั้นประทวน ลำดับสูงกว่าจ่านายสิบ แต่ต่ำกว่านายร้อยตรี) เป็นนักการเมืองชาตินิยมฝ่ายขวาชาวกัมพูชา ผู้นำกองกำลังใต้ดินและผู้นำท้องถิ่น ดาบชวนเกิดที่จังหวัดเสียมราฐเมื่อ พ.ศ. 2455 แต่ไปเติบโตที่จังหวัดไพรแวง

ดาบฌวนได้เข้าร่วมกับกองทัพฝรั่งเศส ต่อมาเมื่อเกิดกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส ดาบฌวนเข้ากับฝ่ายไทยและได้รับการสนับสนุนจากไทยให้เข้าร่วมองค์กรต่อต้านฝรั่งเศสในเสียมราฐ[1] ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2489 กลุ่มต่อต้านนำโดยดาบฌวน พระนโรดม จันทรังสี และเซิง งอกมิญเข้าโจมตีหน่วยทหารฝรั่งเศสในเสียมราฐเป็นเวลาหลายวัน ต่อมา ดาบฌวนได้เป็นหัวหน้าคณะกรรมการปลดปล่อยประชาชนเขมร ซึ่งเป็นกลุ่มที่รวมเขมรอิสระจากหลายพื้นที่เข้าไว้ด้วยกัน ต่อมา ปลายปี พ.ศ. 2492 ดาบฌวนและกลุ่มของเขาตัดสินใจกลับไปเข้าร่วมกับฝ่ายฝรั่งเศส ทำให้เขาได้เข้าควบคุมกองทหารทางภาคเหนือของกัมพูชา และได้บังคับบัญชากองทหารผสม ฝรั่งเศส-เขมร[2]

ใน พ.ศ. 2497 เมื่อกัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส ดาบฌวนได้เข้าร่วมรัฐบาลกับพระนโรดม สีหนุ ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2497 จนถึงการเลือกตั้ง พ.ศ. 2498 ดาบฌวนได้จัดตั้งพันธมิตรทางการเมืองระหว่างพรรคการเมืองของเขาคือ พรรคชัยชนะตะวันออกเฉียงเหนือและพรรคเล็กอื่น ๆ อีกหลายพรรค รวมทั้งพรรคเขมรใหม่ของลน นล และเรียกกลุ่มของตนเองว่าพันธมิตรฝ่ายขวา[3] กลุ่มพันธมิตรได้เข้าร่วมกับพรรคสังคมราษฎร์นิยมของพระนโรดม สีหนุ จนได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเสียมราฐ และเริ่มต่อสู้กับเวียดมิญ การที่เขาต่อต้านคอมมิวนิสต์ทำให้โรเบิร์ต แมกคลินทอก เอกอัครราชทูตสหรัฐในกัมพูชาระหว่าง พ.ศ. 2497 – 2499 แนะนำให้เข้ามาแทนที่พระนโรดม สีหนุ [4] การที่เขาไม่เห็นด้วยกับพระนโรดม สีหนุ เกี่ยวกับนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ในจีน ทำให้เขาพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีใน พ.ศ. 2500 และออกจากระบอบสังคมของพระนโรดม สีหนุ

ใน พ.ศ. 2502 ดาบฌวนถูกกล่าวหาว่าเข้าร่วมในแผนบางกอกทำให้เขาถูกจับและถูกประหารชีวิต[5] นอกจากนั้นพี่น้องของเขา เข็ม สเร็ยที่มีความใกล้ชิดทางการเมืองกับเขามาก เข็ม เพ็ญ ที่เป็นผู้ช่วย[6]และซลัต เพียวที่ทำงานในสถานทูตที่เสียมราฐถูกประหารชีวิตไปด้วยในคดีที่ดาบฌวนเกี่ยวข้องกับแผนบางกอก

อ้างอิง[แก้]

  1. Tyner, J. The Killing of Cambodia, Ashgate, 2008, p.41
  2. Tyner, p.42
  3. Kiernan, p.158
  4. Clymer, K. J. The United States and Cambodia, 1870-1969, Routledge, p.56
  5. Sour Note เก็บถาวร 2013-08-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Time Magazine, 16-03-59
  6. Corfield and Summers, p.97