สาธารณรัฐเขมร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สาธารณรัฐเขมร

សាធារណរដ្ឋខ្មែរ  (เขมร)
République khmère  (ฝรั่งเศส)
พ.ศ. 2513–พ.ศ. 2518
คำขวัญ: 'សេរីភាព សមភាព ភាតរភាព វឌ្ឍនភាព និង សុភមង្គល
"เสรีภาพ สมภาพ ภาตรภาพ วัฒนภาพ และศุภมงคล"
เพลงชาติ: '​ដំណើរសាធារណរដ្ឋខ្មែរ
มาร์ชสาธารณรัฐเขมร
ที่ตั้งของสาธารณรัฐเขมร
สถานะสาธารณรัฐ
เมืองหลวงพนมเปญ
ภาษาทั่วไปภาษาเขมร, ภาษาฝรั่งเศส
ศาสนา
ศาสนาพุทธนิกายเถรวาท
เดมะนิมชาวเขมร
การปกครองรัฐเดี่ยว ระบบประธานาธิบดี สาธารณรัฐระบบรัฐสภาภายใต้เผด็จการทหาร
ประธานาธิบดี 
• พ.ศ. 2513 - 2515
เจง เฮง (ประมุขแห่งรัฐ)
• พ.ศ. 2515 - 2518
ลอน นอล
• พ.ศ. 2518
สัก สุตสคาน (คนสุดท้าย​)
นายกรัฐมนตรี 
• พ.ศ. 2513 - 2514
ลอน นอล
• พ.ศ. 2514 - 2515
สีสุวัตถิ์ สิริมตะ
• พ.ศ. 2515
เซิน หง็อก ถั่ญ
• พ.ศ. 2515 - 2516
ฮาง ทุน ฮัก
• พ.ศ. 2516
อิน ตัม
• พ.ศ. 2516 - 2518
ลอง โบเรต
สภานิติบัญญัติรัฐสภาแห่งสาธารณรัฐเขมร
ยุคประวัติศาสตร์สงครามกลางเมืองกัมพูชา
• รัฐประหารล้มระบอบสังคมราษฎรนิยม
18 มีนาคม พ.ศ. 2513
17 เมษายน พ.ศ. 2518
พื้นที่
พ.ศ. 2513181,035 ตารางกิโลเมตร (69,898 ตารางไมล์)
พ.ศ. 2518181,035 ตารางกิโลเมตร (69,898 ตารางไมล์)
ประชากร
• พ.ศ. 2513
6937995
• พ.ศ. 2518
7097801
สกุลเงินเรียลกัมพูชา
ก่อนหน้า
ถัดไป
ราชอาณาจักรกัมพูชา (พ.ศ. 2497–2513)
กัมพูชาประชาธิปไตย

สาธารณรัฐเขมร (เขมร: សាធារណរដ្ឋខ្មែរ; ฝรั่งเศส: République Khmère) เป็นรัฐบาลของประเทศกัมพูชาที่ปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2513 โดยมีนายพล ลอนนอล จนถึง นายพลลองโบเรต ที่เป็นประธานาธิบดียุคสาธารณรัฐเขมร และสลายตัวไปเมื่อ พ.ศ. 2518 หลังจากที่เขมรแดงยึดกรุงพนมเปญได้ และประกาศจัดตั้งกัมพูชาประชาธิปไตย

ภูมิหลัง[แก้]

ลอน นอล ผู้นำในการรัฐประหารและมีบทบาทสำคัญตลอดสมัยสาธารณรัฐเขมร
นักองค์ราชวงศ์ สีสุวัตถิ์ สิริมตะ ผู้นำพรรคสาธารณรัฐและอดีตนายกรัฐมนตรีของสาธารณรัฐเขมร

ได้มีการประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐเขมรอย่างเป็นทางการเมื่อ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2513 โดยกลุ่มฝ่ายขวาที่นิยมสหรัฐอเมริกา นำโดยลน นล และนักองค์ราชวงศ์สีสุวัตถิ์ สิริมตะ ซึ่งได้อำนาจมาจากการรัฐประหาร 18 มีนาคม พ.ศ. 2513 ล้มล้างรัฐบาลราชอาณาจักรกัมพูชาของสมเด็จพระนโรดม สีหนุ

สาเหตุหลักของรัฐประหารคือการที่สมเด็จพระนโรดม สีหนุ หันไปสนับสนุนกิจกรรมของเวียดนามเหนือตามแนวชายแดนกัมพูชา ยอมให้มีการขนส่งอาวุธหนักของฝ่ายคอมมิวนิสต์ผ่านพื้นที่กัมพูชาตะวันออก และเศรษฐกิจของกัมพูชาได้รับผลกระทบจากนโยบายของสีหนุที่ประกาศเป็นกลางและต่อต้านสหรัฐอเมริกา[1]

เมื่อสมเด็จพระนโรดม สีหนุ พ้นจากอำนาจ การปกครองของกัมพูชาจึงเปลี่ยนจากราชอาณาจักรมาเป็นสาธารณรัฐ แม้ว่าราชบัลลังก์จะว่างมาหลายปีนับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระนโรดม สุรามฤตเสด็จสวรรคต ลักษณะของระบอบใหม่เป็นชาตินิยมฝ่ายขวา เป็นการสิ้นสุดความร่วมมือกับเวียดนามเหนือและเวียดกงในยุคสมเด็จพระนโรดม สีหนุและเป็นพันธมิตรกับเวียดนามใต้ในสงครามอินโดจีนที่กำลังดำเนินอยู่ สาธารณรัฐเขมรได้ประกาศเป็นฝ่ายตรงข้ามกับแนวร่วมสหภาพแห่งชาติเขมร ซึ่งเป็นพันธมิตรในแนวชายแดนระหว่างฝ่ายของสมเด็จพระนโรดม สีหนุ กับพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา ฝ่ายทหารขององค์กรดังกล่าวคือกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติประชาชนกัมพูชาซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทัพประชาชนเวียดนามและแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติเวียดนามใต้หรือเวียดกง ซึ่งเข้ามาใช้พื้นที่ของกัมพูชาเพื่อเข้ายึดครองเวียดนามใต้

แม้ว่ารัฐบาลของสาธารณรัฐเขมรจะเป็นรัฐบาลทหารและได้รับการสนับสนุนทางทหารและการเงินจากสหรัฐอเมริกา แต่กองทัพของรัฐบาลนี้กลับอ่อนแอ ไม่ได้รับการฝึกฝนที่พอเพียง ทำให้พ่ายแพ้ต่อกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติประชาชนกัมพูชา กองทัพประชาชนเวียดนาม และเวียดกง สาธารณรัฐเขมรจึงล่มสลายเมื่อ 17 เมษายน พ.ศ. 2518 เมื่อฝ่ายคอมมิวนิสต์ยึดครองพนมเปญได้

รัฐประหาร[แก้]

พื้นที่ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลสาธารณรัฐเขมร (สีขาว) เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2513

สมเด็จพระนโรดม สีหนุกล่าวอ้างว่าการรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2513 เป็นผลจากความร่วมมือของเซิน หง็อก ถั่ญ นักชาตินิยมฝ่ายขวาที่ลี้ภัยออกนอกประเทศ นักองค์ราชวงศ์ สีสุวัตถิ์ สิริมตะ นายกรัฐมนตรีซึ่งเคยเป็นคู่แข่งของสมเด็จพระนโรดม สีหนุในการขึ้นสู่ราชบัลลังก์กัมพูชา และซีไอเอ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลที่เป็นมิตรกับสหรัฐ[2] จริง ๆ แล้วมีหลักฐานน้อยที่แสดงว่าสหรัฐเกี่ยวข้องกับรัฐประหาร เว้นแต่จะมีส่วนหนึ่งของกองกำลังพิเศษของสหรัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการสนับสนุนและฝึกฝนให้กับทหารของลน นล[3]

เมื่อสมเด็จพระนโรดม สีหนุเดินทางออกจากประเทศไปเยือนฝรั่งเศส ได้เกิดการลุกฮือขึ้นต่อต้านเวียดนามในพนมเปญ มีการโจมตีสถานทูตของเวียดนามเหนือและเวียดกง[4] คาดว่าการลุกฮือครั้งนี้ มีฝ่ายของลน นล อยู่เบื้องหลัง ในวันที่ 12 มีนาคม นายกรัฐมนตรีประกาศปิดท่าเรือเมืองพระสีหนุเพื่อระงับการขนส่งอาวุธไปให้เวียดกงและเวียดนามเหนือ และออกคำสั่งให้เวียดกงถอนทหารออกไปจากกัมพูชาภายใน 72 ชั่วโมงหรือภายใน 15 มีนาคม มิฉะนั้นจะใช้กำลังทหาร.[5] แม้ว่าจะเป็นการขัดต่อนโยบายของสีหนุที่ให้ความร่วมมือกับเวียดนามเหนือ แต่ลน นล ได้แสดงตนเป็นผู้กุมชะตากรรมของประเทศ เขาต้องการให้กดดันเวียดนามเหนือมากกว่านี้

การลงมติของสภาแห่งชาติในวันที่ 18 มีนาคม ถูกควบคุมโดยอิน ตัม ลน นลได้ประกาศตัวเป็นผู้นำของประเทศในภาวะฉุกเฉิน ในวันที่ 28 – 29 มีนาคม มีกลุ่มผู้นิยมสีหนุจำนวนมากในหลายจังหวัดออกมาประท้วง ลน นลสั่งให้มีการปราบปรามทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน มีเจ้าหน้าที่ทหารหลายคนเสียชีวิตรวมทั้ง ลน นิล น้องชายของลน นล

ท่าทีของต่างชาติยังไม่แน่นอนกับการสนับสนุนรัฐบาลใหม่ เวียดนามเหนือพยายามเจรจากับลน นล เพื่อรื้อฟื้นข้อตกลงทางการค้าที่ถูกยกเลิกไป แต่ในที่สุดการเจรจาก็สิ้นสุดลง อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่ให้การรับรองสาธารณรัฐเขมร โดยได้ส่ง ชนะ สมุทวณิช เป็นเอกอัครราชทูตคนแรกประจำสาธารณรัฐเขมร[6]

การประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐเขมรและกองทัพแห่งชาติเขมร[แก้]

ทหารของกองทัพสหรัฐอเมริกาที่เข้ามาใน เมืองสนัว ประเทศกัมพูชาเมื่อ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2513

ผลกระทบสำคัญที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหารคือช่วงเวลาระหว่างเมษายน – มิถุนายน พ.ศ. 2513 กองทัพเวียดนามใต้ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาหนุนหลังบุกเข้าสู่กัมพูชาตะวันออกเพื่อโจมตีกองทหารของเวียดนามเหนือและเวียดกง ทำให้กองกำลังคอมมิวนิสต์ต้องถอยลึกเข้ามาทางตะวันตกในแผ่นดินกัมพูชามากขึ้น หรือมิฉะนั้นก็เคลื่อนกำลังไปทางตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชาซึ่งเป็นพื้นที่ของฝ่ายที่ต่อต้านลน นล ลน นลกล่าวว่าเหตุการณ์เป็นการก่อการร้ายในกัมพูชา ทำให้กัมพูชาตกอยู่ในสภาวะอันตราย ในขณะที่สหรัฐอเมริกากล่าวว่าจะไม่มีการใช้ทหารปฏิบัติการภาคพื้นดินในกัมพูชา แต่จะช่วยเหลือกองทัพกัมพูชาแทน

ในวันที่ 9 ตุลาคม ศาลทหารได้ตัดสินประหารชีวิตสมเด็จพระนโรดม สีหนุ สมเด็จพระมหากษัตริยานีกุสุมะ พระมารดาของสีหนุ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของราชวงศ์ในสมัยของสีหนุถูกกักบริเวณ และพระราชินีโมนิก พระมเหสีของสีหนุถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ฝ่ายปฏิวัติได้ประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐเขมร ในขณะที่สีหนุได้ประกาศจัดตั้งรัฐบาลราชอาณาจักรสหภาพแห่งชาติกัมพูชาที่ปักกิ่งที่มีฝ่ายคอมมิวนิสต์หนุนหลัง

กองทัพจริง ๆ ของฝ่ายราชวงศ์ในช่วงเวลาที่เกิดรัฐประหารมีเพียง 35,000 คน และขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนกองทัพฝ่ายสาธารณรัฐมีทหารประมาณ 150,000 คน ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2513 ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มต่อต้านเวียดนาม[7] สหรัฐให้การสนับสนุนในการฝึกหัดทหาร และส่งทหารของเขมรเสรีและกองทัพแขมร์กรอมที่ฝึกในเวียดนามใต้เข้ามาอีก หลายพันคน ทำให้ทหารฝ่ายสาธารณรัฐเพิ่มเป็น 200,000 คน

แม้ว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐ แต่กองทัพของสาธารณรัฐเขมรมีปัญหาด้านคอรัปชั่น โดยเฉพาะเงินเดือนของกองทหารที่ไม่มีอยู่จริง และความไร้ประสิทธิภาพของกองทัพ แม้ว่านายทหารของฝ่ายสาธารณรัฐอย่างนักองค์มจะ นโรดม จันทรังสี ซึ่งควบคุมกองพลที่ 13 จะประสบความสำเร็จในบริเวณทางหลวงหมายเลข 4 และที่ราบคีรีรมย์ แต่แม้ทัพนายกองคนสำคัญคนอื่น ๆ มักไร้ประสบการณ์หรือความสามารถ ปฏิบัติการที่สำคัญในการต่อต้านเวียดนามคือปฏิบัติการเจนละ 1 และ 2 สิ้นสุดลงด้วยความพ่ายแพ้

เหตุการณ์ทางการเมืองของสาธารณรัฐเขมร[แก้]

นอกจากจะเข้าร่วมในสงครามอินโดจีนโดยอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับกลุ่มที่นิยมสมเด็จพระนโรดม สีหนุ พรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา และเวียดนามเหนือแล้ว สาธารณรัฐเขมรยังมีความขัดแย้งกันภายในรัฐบาล ความโดดเด่นทางการเมืองขอสมเด็จงพระนโรดม สีหนุในช่วง พ.ศ. 2493 – 2513 แสดงถึงความเป็นนักการเมืองที่จัดเจนของพระองค์ ในช่วงเริ่มต้น ฝ่ายสาธารณรัฐมีการแบ่งกลุ่มกันภายในเพื่อต่อสู้กับระบอบสีหนุคือฝ่ายของลน นล กับฝ่ายของนักองค์ราชวงศ์สีสุวัตถิ์ สิริมตะ นักองค์ราชวงศ์สีสุวัตถิ์ สิริมตะเป็นนายกรัฐมนตรีในปีแรกเนื่องจากลน นล มีปัญหาทางด้านสุขภาพ บทบาทของเจ้าสิริมตะมีความโดดเด่นเนื่องจากรูปแบบการบริหารงานและการเป็นเชื้อพระวงศ์ ความนิยมเพิ่มขึ้นในกลุ่มคนหนุ่มสาว และคนในเขตเมือง[8] แม้ว่ายังคงมีการฉ้อราษฎร์บังหลวงที่ทำให้รัฐบาลอ่อนแอ เมื่อลน นลเดินทางกลับมาจากการรักษาตัวที่ฮาวายในเดือนเมษายน พ.ศ. 2514 ได้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงในรัฐบาล โดยเฉพาะกับลน นน น้องชายของลน นลที่มีบทบาทมากในกองทัพ ในวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2514 ลน นลเข้าครอบงำสภาแห่งชาติในการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่

พ.ศ. 2515: การกำจัดนักองค์ราชวงศ์ สีสุวัตถิ์ สิริมตะ[แก้]

ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2515 ลน นลและน้องชายได้กำจัดนักองค์ราชวงศ์ สีสุวัตถิ์ สิริมตะ ให้พ้นจากอำนาจ ลน นนจัดให้นักศึกษาสายอาชีพออกมาเรียกร้องให้เจ้าะสิริมตะลาออก[9] ในที่สุดเจ้าสิริมตะจึงถูกกักบริเวณ[10] ลน นลก้าวขึ้นเป็นประมุขของประเทศ เจง เฮงเข้ามามีบทบาทในรัฐบาลและเซิง งอกทัญ ซึ่งเป็นผู้นำของเขมรเสรีและกองทัพจากขแมร์กรอมเป็นนายกรัฐมนตรี[11] มีกองทัพของสหรัฐฯ ให้การสนับสนุน[12]

ปลายปีนั้น ลน นลประกาศลงสมัครเป็นประธานาธิบดี อิน ตัม และแก้ว อัน ไม่เพียงแต่จะประกาศลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ยังไม่ยอมถอนตัวอีกด้วย[13] การเลือกตั้งสิ้นสุดลงโดยลน นล เป็นฝ่ายชนะ โดยมีการแทรกแซงของรัฐบาล ซึ่งหากดำเนินไปโดยยุติธรรมแล้ว อิน ตัมน่าจะเป็นผู้ชนะ.[13]

สถานการณ์ทางการเมืองยังคงวุ่นวายตลอดปี พ.ศ. 2515 พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามทั้งสองพรรคคือกรมประชาธิปไตยของอิน ตัม และพรรคสาธารณรัฐของเจ้าสิริมตะปฏิเสธการเข้าร่วมการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเดือนกันยายน ทำให้พรรคสาธารณรัฐสังคมนิยมของลน นน ชนะอย่างถล่มทลาย เกิดการก่อการร้ายในเมืองหลวงซึ่งคาดว่าเกิดจากการควบคุมของเซิง งอกทัญ[14] ทำให้ทัญที่เพิ่งจะประกาศปิดหนังสือพิมพ์ของเจ้าสิริมตะต้องลาออกและลี้ภัยไปเวียดนามใต้ ฮาง ทุน ฮัก นักการเมืองฝ่ายซ้ายขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี[15] ในขณะที่รัฐบาลสาธารณรัฐเขมรอ่อนแอจากความขัดแย้งภายใน กองทัพของเวียดนามเหนือที่รบชนะในปฏิบัติการเจนละได้เข้ามาครอบงำในพื้นที่ตามแนวชายแดนกัมพูชา ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาเข้มแข็งขึ้นในเขตชนบท

พ.ศ. 2516: การเจรจาสงบศึก[แก้]

ข้อตกลงสันติภาพปารีสเมื่อต้นปี พ.ศ. 2516 ทำให้สงครามกลางเมืองชะงักไประยะหนึ่ง ลน นล ประกาศสงบศึกฝ่ายเดียว แม้ว่ากองทัพของฝ่ายสาธารณรัฐอ่อนแอเต็มที จริง ๆ แล้วมีการติดต่อกันเพียงเล็กน้อยระหว่างฝ่ายสาธารณรัฐกับฝ่ายเขมรแดงหัวก้าวหน้าคือ ฮู ยวน เวียดนามเหนือกดดันให้พรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชายอมรับข้อตกลงสันติภาพ ในขณะที่ยังมีการสู้รบกันบ้างประปราย ผู้นำของเขมรแดงไม่ยอมรับการประนีประนอม

การสู้รบเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2516 เมื่อกองกำลังฝ่ายคอมมิวนิสต์โจมตีฝ่ายสาธารณรัฐที่จังหวัดกำปงธม[14] ในเดือนเมษายน กองทัพฝ่ายสาธารณรัฐพ่ายแพ้และเสียฐานที่มั่นในต่างจังหวัด สหรัฐฯ ตัดความช่วยเหลือรัฐบาลของลน นล และพยายามดึงนักงองค์ราชวงศ์ สีสุวัตถิ์ สิริมตะให้เข้ามามีบทบาท และลดบทบาทของลน นน ลง[16] ในวันที่ 24 เมษายน ลน นล ประกาศจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติซึ่งประกอบด้วยลน นล, เจ้าสิริมตะ, เจง เฮง และอิน ตัม ความโกรธแค้นสหรัฐอเมริกาที่มาทิ้งระเบิดในกัมพูชาทำให้เขมรแดงได้รับความนิยมมากขึ้น

พ.ศ. 2517: อุดงมีชัยแตก[แก้]

ช่วงต้นปี พ.ศ. 2517 ลน นลขึ้นมากุมอำนาจแต่เพียงผู้เดียวอีกครั้ง สถานการณ์ทางทหารเลวร้ายลง กองทัพคอมมิวนิสต์บุกเข้าประชิดพนมเปญและเข้ายึดอุดงค์มีชัยเมืองหลวงเก่าได้ในเดือนมีนาคม ฝ่ายคอมมิวนิสต์ฆ่าเจ้าหน้าที่ของรัฐและครู เผาเมือง แต่ในที่สุดฝ่ายสาธารณรัฐสามารถเข้ายึดเมืองอุดงค์และเส้นทางเข้าสู่ทะเลสาบเขมรคืนมาได้

สิ้นสุดอำนาจ[แก้]

ในช่วงฤดูแล้ง พ.ศ. 2518 กองกำลังเขมรแดงได้ยกเข้ามาล้อมพนมเปญไว้ มีผู้อพยพเข้าในเมืองหลวงมากขึ้น ลน นลได้สั่งให้ส่งเฮลิคอปเตอร์ไปคุ้มกันประชาชนเหล่านั้น การได้รับการสนับสนุนจากจีนทำให้ฝ่ายเขมรแดงมีความเข้มแข็งมากกว่า การพยายามเจรจาสันติภาพล้มเหลวเพราะสีหนุปฏิเสธที่จะเจรจากับลน นลโดยตรง แผนสันติภาพที่ฝรั่งเศสเสนอต่อจีนให้สีหนุกลับไปเป็นประมุขของสาธารณรัฐเขมรล้มเหลวเช่นกัน

ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2518 ลน นล ได้ประกาศลาออกและลี้ภัยออกนอกประเทศ กองทัพฝ่ายสาธารณรัฐสลายตัวไป เจ้าสิริมตะ, ลอง โบเรต, ลน นน และนักการเมืองอื่น ๆ ยังคงอยู่ในเมืองหลวงเพื่อจะพยายามเจรจาสงบศึกกับฝ่ายเขมรแดง จนกระทั่งเมื่อพนมเปญแตกในวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2518 ฝ่ายเขมรแดงได้ประหารชีวิตนักการเมืองในระบอบเก่าทั้งหมด สาธารณรัฐเขมรจึงล่มสลายลง บริเวณสุดท้ายที่อยู่ภายใต้อำนาจของฝ่ายสาธารณรัฐเขมรคือบริเวณปราสาทเขาพระวิหารบนเทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งกองทัพฝ่ายสาธารณรัฐสามารถยึดครองไว้ได้ในปลายเดือนเมษายน พ.ศ. 2518.[17] และฝ่ายเขมรแดงแย่งชิงมาได้เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2518

อ้างอิง[แก้]

  1. Milton Osborne, Sihanouk, Prince of Light, Prince of Darkness. Silkworm 1994. ISBN 978-0824816391.
  2. Norodom Sihanouk, My War with the CIA, Pantheon (1972). ISBN 978-0394485430, p.37
  3. Kiernan, B. How Pol Pot came to power, Yale University Press (2004). ISBN 978-0300102628, p.300
  4. Shawcross, W. (1981). Sideshow: Kissinger, Nixon, and the Destruction of Cambodia. New York: Washington Square Books. p. 118. ISBN 0671230700.
  5. Sutsakhan, Lt. Gen. S. The Khmer Republic at War and the Final Collapse Washington DC: U.S. Army Center of Military History, 1987, Part 1, p. 42. เก็บถาวร 2019-04-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน See also Part 1 เก็บถาวร 2019-04-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนPart 2 เก็บถาวร 2007-02-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนPart 3 เก็บถาวร 2007-02-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
  6. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ลัทธิชาตินิยมไทย/สยามกับกัมพูชาและกรณีศึกษาปราสาทเขาพระวิหาร.มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์. 2552. หน้า 93
  7. Kiernan, p.303
  8. Leifer, M. Selected Works on Southeast Asia, Institute of Southeast Asian Studies (no ISBN), p.418
  9. Kiernan, p.347
  10. Kamm, H. Cambodia: report from a stricken land, Arcade (1998). ISBN 978-1611451269, pp.110-112
  11. Kiernan, p.346
  12. Kahin, G. Southeast Asia: a testament, Routledge (2003). ISBN 978-0415299756, p.310
  13. 13.0 13.1 Clymer, K. J. (2004). The United States and Cambodia, 1969-2000. Routledge. p. 55. ISBN 9780415326025.
  14. 14.0 14.1 Clymer, p.65
  15. Kiernan, p.348
  16. Clymer, p.71
  17. Fenton, J. To the bitter end in Cambodia, New Statesman, 25-04-75

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

พิกัดภูมิศาสตร์: 12°15′N 105°36′E / 12.250°N 105.600°E / 12.250; 105.600