การขนส่งในประเทศกัมพูชา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แผนที่เส้นทางการขนส่งในประเทศกัมพูชา
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ในตำบลเกียนสวาย จังหวัดกันดาล
ทางหลวงชนบทในประเทศกัมพูชา

ระบบการขนส่งในประเทศกัมพูชา ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงจากสงครามกลางเมือง และได้พัฒนาขึ้นใหม่หลังจากประเทศกลับสู่ความสงบ แต่ก็ยังไม่เพียงพอเท่าที่ควร โครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่อ่อนแอทำให้ไม่สามารถให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินได้อย่างสะดวก และสร้างปัญหาในการจัดซื้อสิ่งของส่งกระจายไปยังที่ต่าง ๆ แต่ได้รับความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียตหลังจากที่เขมรแดงลงจากอำนาจ

ระบบราง[แก้]

ทางรถไฟที่สำคัญมีสองสายโดยทั้งหมดมีจุดเริ่มที่พนมเปญ มีระยะทางรวม 612 กิโลเมตร เป็นรางรถไฟทางเดี่ยวขนาดหนึ่งเมตร (มีเตอร์เกจ) ทั้งนี้กัมพูชามีแผนสร้างทางรถไฟสายที่สามเพื่อเชื่อมต่อพนมเปญกับเวียดนาม[1] รวมถึงทางรถไฟระหว่างประเทศสิงคโปร์เชื่อมต่อกับเมืองคุนหมิง ประเทศจีน และสายเหนือ-ใต้

หลังจากทศวรรษที่ได้รับความเสียหายจากช่วงสงคราม เครือข่ายระบบรางของกัมพูชาได้ฟื้นตัวขึ้นใหม่ รวมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางรถไฟทรานส์-เอเชีย ด้วยรถไฟที่ทันสมัย แทนที่การใช้เส้นทางรถไฟที่ชาวบ้านได้ดัดแปลงไม้ไผ่เป็นรถไฟเพื่อการท่องเที่ยว โดยใช้พลังงานรถโกคาร์ตหรือเครื่องปั๊มน้ำ เรียกว่า "รถไฟไม้ไผ่"[1]

ในอดีตเส้นทางรถไฟของกัมพูชาเคยเชื่อมต่อกับเวียดนามและไทย แต่ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองจึงทำให้มีการรื้อรางออก[2]

ระบบถนน[แก้]

การวางขายขวดน้ำมันเบนซินในจังหวัดพระตะบอง

ระบบทางหลวงในประเทศกัมพูชามีระยะทางทั้งสิ้น 38,257 กิโลเมตร ลาดยางแล้ว 2,406 กิโลเมตร และยังไม่ได้ลาดยาง 35,851 กิโลเมตร (ข้อมูลปี พ.ศ. 2547) ประมาณ 50% ราดด้วยแอสฟัลท์ และอยู่ในสภาพดี ใน พ.ศ. 2524 กัมพูชาเริ่มใช้ทางหลวงหมายเลข 1 ที่เริ่มจากพนมเปญไปยังชายแดนเวียดนาม ถนนที่ชำรุดระหว่างสงครามได้รับการฟื้นฟูด้วยทหารช่างจากเวียดนามที่มาให้ความช่วยเหลือ ถนนส่วนใหญ่ได้รับการปรับปรุงให้ใช้งานได้ใน พ.ศ. 2549 มีการสร้างถนนเชื่อมต่อจากชายแดนไทยที่ปอยเปตไปยังจังหวัดเสียมราฐหรือนครวัด

รายชื่อทางหลวงในประเทศกัมพูชา
หมายเลข รหัส ความยาว เริ่มต้น สิ้นสุด
ทางหลวงหมายเลข 1 10001 167.10 km 103.83 mi พนมเปญ พรมแดนเวียดนาม
ทางหลวงหมายเลข 2 10002 120.60 km 74.94 mi พนมเปญ พรมแดนเวียดนาม
ทางหลวงหมายเลข 3 10003 202.00 km 125.52 mi พนมเปญ Veal Rinh
ทางหลวงหมายเลข 4 10004 226.00 km 140.43 mi พนมเปญ เมืองพระสีหนุ
ทางหลวงหมายเลข 5 10005 407.45 km 253.18 mi พนมเปญ พรมแดนไทย
ทางหลวงหมายเลข 6 10006 416.00 km 258.49 mi พนมเปญ จังหวัดบันทายมีชัย
ทางหลวงหมายเลข 7 10007 509.17 km 316.38 mi Skuon พรมแดนลาว
ทางหลวงหมายเลข 8 10008 90.00 km 55.92 mi Neak Leung Thnal Totoung

ทางน้ำ[แก้]

เรือเฟอร์รีที่แล่นระหว่างแม่น้ำโขงไปยังเมือง Neak Leung

การเดินทางทางน้ำมีบทบาทมากในประวัติศาสตร์กัมพูชา แม่น้ำโขงและทะเลสาบเขมรซึ่งมีคลองเชื่อมต่อมากมาย จัดว่ามีประโยชน์ในการคมนาคมมาก มีเรือเฟอร์รีให้บริการขนส่งระหว่างแม่น้ำบาสักกับแม่น้ำโขงช่วงกลาง

ท่าเรือ[แก้]

ท่าเรือที่สำคัญของกัมพูชามีสองแห่งคือ ท่าเรือพนมเปญและท่าเรือเมืองพระสีหนุหรือท่าเรือกำปงโสม โดยท่าเรือพนมเปญอยู่ระหว่างจุดตัดระหว่างแม่น้ำโขง แม่น้ำบาสัก และแม่น้ำทะเลสาบ เป็นท่าเรือแม่น้ำที่มีความสำคัญในกัมพูชาทั้งระดับชาติและนานาชาติ ท่าเรือเมืองพระสีหนุเปิดใช้การใหม่อีกครั้งใน พ.ศ. 2522 โดยสร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2503 ด้วยความช่วยเหลือจากฝรั่งเศส

ทางอากาศ[แก้]

ท่าอากาศยานแห่งชาติเสียมราฐ

ในกัมพูชามีท่าอากาศยาน 26 แห่ง แต่สามารถใช้การได้ใน พ.ศ. 2528 เพียง 13 แห่ง มีสนามบิน 8 แห่งที่มีรันเวย์แบบถาวร ท่าอากาศยานนานาชาติพนมเปญเป็นท่าอากาศยานที่ใหญ่ที่สุด รองลงมาคือท่าอากาศยานแห่งชาติเสียมราฐในเสียมราฐ ใน พ.ศ. 2526 ได้สร้างท่าอากาศยานขึ้นที่เรียม เรียกว่าท่าอากาศยานนานาชาติเมืองพระสีหนุ โดยได้รับความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียต นอกจากนั้น ยังมีท่าอากาศยานในพระตะบองและสตึงแตรง

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "Rail revival to replace Cambodia's bamboo trains". Railway Gazette International. 22 October 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-03. สืบค้นเมื่อ 2013-02-08.
  2. อาทิตย์ ทรงกลด. เรื่องลับเขมรที่คนไทยควรรู้. กรุงเทพฯ:สยามบันทึก, 2552, หน้า 142-143

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]