ข้ามไปเนื้อหา

สมัยกลาง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ยุคกลาง)
แบบจำลองของหมวกหุ้มเกราะซึ่งถูกพบที่ซัททันฮู ในหลุมศพของผู้นำชาวแองโกล-แซกซัน สันนิษฐานว่าเป็นกษัตริย์ราวปี ค.ศ. 620 ในช่วงต้นสมัยกลาง[1]

สมัยกลาง หรือ ยุคกลาง (อังกฤษ: Middle Ages) คือช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ยุโรป ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 5 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 15 โดยปกติแล้วเริ่มนับตั้งแต่การล่มสลายลงของจักรวรรดิโรมันตะวันตก (การสิ้นสุดของสมัยคลาสสิก) จนถึงจุดเริ่มต้นของสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา และยุคแห่งการสำรวจ ซึ่งเป็นยุคที่นำไปสู่สมัยใหม่ในเวลาต่อมา สมัยกลางคือช่วงเวลาตรงกลางของกระบวนการเปลี่ยนผ่านในประวัติศาสตร์ตะวันตกคือ สมัยคลาสสิก สมัยกลาง และสมัยใหม่ นอกจากนี้สมัยกลางยังถูกแบ่งออกเป็นสามช่วงเวลาคือ ต้นสมัยกลาง (Early Middle Ages), สมัยกลางยุครุ่งโรจน์ (High Middle Ages) และปลายสมัยกลาง (Late Middle Ages)

ในยุคกลางตอนต้น การลดลงของประชากร, การหดตัวของเมือง และการรุกรานจากอนารยชน เริ่มต้นขึ้นในยุคโบราณตอนปลายและดำเนินไปอย่างรวดเร็ว เหล่าอนารยชนผู้บุกรุกเข้าตั้งอาณาจักรของตนในส่วนที่เหลืออยู่ของจักรวรรดิโรมันตะวันตก ในคริสต์ศตวรรษที่ 7 แอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมันตะวันออก ได้กลายไปเป็นจักรวรรดิอิสลามหลังจากถูกยึดครองโดยผู้สืบทอดของนบีมุฮัมมัด แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและโครงสร้างทางการเมืองมากมาย แต่ก็ไม่ได้เปลี่ยนไปจากยุคโบราณคลาสสิคอย่างสิ้นเชิง จักรวรรดิโรมันตะวันออกหรือจักรวรรดิไบแซนไทน์ยังคงอยู่รอดและรักษาอำนาจของตนเอาไว้ได้ นอกจากนี้แล้วอาณาจักรเกิดใหม่ส่วนใหญ่ยังคงเกี่ยวพันอยู่กับสถาบันที่หลงเหลืออยู่ของชาวโรมัน ในขณะที่วัดวาอารามของคริสต์ศาสนาได้แผ่ขยายไปทั่วยุโรปตะวันตก ในคริสต์ศตวรรษที่ 7 และ 8 ชาวแฟรงก์ภายใต้การปกครองของราชวงศ์การอแล็งเฌียงได้สถาปนาจักรวรรดิขึ้นซึ่งครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของยุโรปตะวันตกมีนามว่า จักรวรรดิการอแล็งเฌียง ซึ่งยืนยงไปจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 9 เมื่อจักรวรรดิล่มสลายลงจากแรงงกดดันของการรุกรานจากภายนอก เช่น ชาวไวกิงจากทางเหนือ ชาวแมกยาร์จากทางตะวันออก และชาวซาราเซนจากทางใต้

ช่วงต้นสมัยกลางซึ่งเริ่มขึ้นหลังคริสต์ศตวรรษที่ 10 ประชากรของยุโรปขยายตัวอย่างมากจากการที่นวัตกรรมทางเทคโนโลยีและทางการเกษตรทำให้การค้าขายเจริญรุ่งเรืองและการทำเรือกสวนไร่นาขยายตัว ระบบมาเนอร์ - องค์กรของชาวนาตามหมู่บ้านที่ติดค้างค่าเช่าที่ดินและหน้าที่ด้านแรงงานแก่ขุนนาง และระบบเจ้าขุนมูลนาย - โครงสร้างทางการเมืองที่ซึ่งอัศวินและขุนนางศักดิ์ต่ำกว่าติดค้างหน้าที่ด้านการทหารแก่เจ้านายผู้มีศักดิ์สูงกว่าของพวกเขาแลกกับสิทธิ์ในการเก็บค่าเช่าที่ดินและชาวนาใต้ปกครอง สองระบบนี้คือระเบียบของสังคมที่ใช้กันในยุคกลางตอนกลาง ต่อมาอาณาจักรเริ่มรวมศูนย์อำนาจมากขึ้นภายหลังการล่มสลายลงของจักรวรรดิคาโรแล็งเชียง สงครามครูเสดซึ่งเริ่มขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1095 คือผลิตผลจากความพยายามทางการทหารของเหล่าชาวคริสต์ในยุโรปตะวันตกที่ต้องการจะทวงคืนแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ในตะวันออกกลางคืนจากชาวมุสลิมและมีอำนาจเหนือดินแดนดังกล่าวนานพอที่จะสถาปนารัฐคริสต์ในตะวันออกใกล้ กลุ่มปัญญาชนเกิดขึ้นจากลัทธิอัสสมาจารย์นิยมและการก่อตั้งมหาวิทยาลัยทั่วยุโรป รวมไปถึงการก่อสร้างโบสถ์วิหารแบบกอทิก เป็นหนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จทางด้านศิลปะอันยอดเยี่ยมจากยุคกลางตอนกลาง

ยุคกลางตอนปลายต้องเผชิญกับความยุ่งยากและหายนะมากมาย เช่น ความอดอยาก, โรคระบาด และสงคราม ซึ่งทำให้จำนวนประชากรในยุโรปตะวันตกลดลงเป็นอย่างมาก ในช่วงเวลาสี่ปีตั้งแต่ ค.ศ. 1347 ถึง ค.ศ. 1350 กาฬโรคระบาดในยุโรปคร่าชีวิตชาวยุโรปไปสามในสี่โดยประมาณ ความกังขา, ความนอกรีต และความแตกแยกภายในคริสตจักรดำเนินควบคู่ไปกับสงครามระหว่างรัฐ สงครามกลางเมือง และการลุกฮือของชาวนาภายในอาณาจักรต่าง ๆ พัฒนาการทางด้านวัฒนธรรมและเทคโนโลยีได้เปลี่ยนแปลงสังคมของยุโรปอันเป็นจุดจบของยุคกลางและจุดเริ่มต้นของสมัยใหม่ตอนต้น

นิรุกติศาสตร์และการแบ่งช่วงเวลา

[แก้]

สมัยกลางเป็นหนึ่งในสามยุคหลักตามแบบแผนนิยมทั่วไปในการศึกษาประวัติศาสตร์ยุโรป ได้แก่ อารยธรรมคลาสสิคหรือสมัยคลาสสิก สมัยกลาง และสมัยใหม่[2] เลโอนาร์โด บรูนี คือนักประวัติศาสตร์ท่านแรกที่ใช้การจัดแบ่งช่วงเวลาทั้งสามนี้ในงานประพันธ์ ประวัติศาสตร์แห่งชาวฟลอเรนซ์ (History of the Florentine People; ค.ศ. 1442) ของเขา[3] คำว่า "สมัยกลาง" ปรากฏครั้งแรกในภาษาละตินปี ค.ศ. 1469 ในคำว่า เมดิอาเทมปีสตัส (media tempestas) แปลว่า มัชฌิมฤดู การใช้ในช่วงแรกมีหลากหลาย เช่น เมดิอุมเอวุม (medium aevum) แปลว่า สมัยกลาง พบบันทึกครั้งแรกในปี ค.ศ. 1604[4] หรือ เมดิอาเชคูลา (media scecula) แปลว่า สมัยกลาง พบบันทึกครั้งแรกในปี ค.ศ. 1625 การแบ่งช่วงเวลาออกเป็นสามสมัยกลายมาเป็นมาตรฐานสากล เมื่อนักประวัติศาสตร์ชาวเยอรมันนามว่า คริสตอฟ เซลลาเรียส ตีพิมพ์ ประวัติศาสตร์สากลแยกเป็น สมัยโบราณ, สมัยกลาง และสมัยใหม่ (Universal History Divided into an Ancient, Medieval, and New Period) ในปี ค.ศ. 1683 ซึ่งภาษาอังกฤษเป็นเพียงภาษาหลักที่ยังคงพหุรูปแบบเช่นนั้นไว้ดังเดิม[5]

ปีเริ่มแรกของสมัยกลางที่เป็นที่นิยมที่สุดคือ ค.ศ. 476, [6] ซึ่งมีการถือนับปีนี้ครั้งแรกโดยเลโอนาร์โด บรูนี[7][8] และสำหรับทั่วทั้งทวีปยุโรปแล้ว ค.ศ. 1500 มักจะถูกพิจารณาว่าเป็นจุดสิ้นสุดของสมัยกลาง[9] ซึ่งไม่ได้มีการกำหนดวันสิ้นสุดอย่างแน่ชัดในระดับสากล[10] หากขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่ต่างกันออกไป เช่น วันที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ออกเดินทางสู่ทวีปอเมริกาเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1492, การเข้ายึดครองกรุงคอนสแตนติโนเปิลโดยชาวเติร์กในปี ค.ศ. 1453 หรือการปฏิรูปศาสนาฝ่ายโปรเตสแตนต์ในปี ค.ศ. 1517 ก็ถูกนำมาใช้ในบางกรณี[11] ในทางกลับกัน นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษนิยมใช้ยุทธการที่บอสเวิร์ธฟิลด์ในปี ค.ศ. 1485 เป็นจุดสิ้นสุดของยุคกลาง[12] ส่วนสเปนมักถือเอาวันสวรรคตของพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 2 ในปี ค.ศ. 1516, วันสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลลาที่ 1 ในปี ค.ศ. 1504 หรือวันสิ้นสุดลงของสงครามกรานาดาในปี ค.ศ. 1492[13]

นักประวัติศาสตร์ในกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษากลุ่มโรมานซ์มักจะจำแนกสมัยกลางออกเป็นสองช่วง คือ สมัยกลางตอนต้นและสมัยกลางตอนปลาย แต่นักประวัติศาสตร์ในกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษยึดถือการจำแนกแบบเยอรมันซึ่งแบ่งออกเป็นสามช่วง คือ สมัยกลางตอนต้น, ตอนกลาง และตอนปลาย[2] ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 นักประวัติศาสตร์ชาวเบลเยียม อ็องรี ปิเยนน์ และนักประวัติศาสตร์ชาวดัตช์ โยฮัน เฮอร์ซิงกา ได้จำแนกสมัยกลางออกเป็นช่วงย่อยซึ่งต่อมาการจำแนกนี้แพร่หลายอย่างมาก คือ ต้นสมัยกลางตั้งแต่ ค.ศ. 476 - 1000 ยุคกลางตอนกลางตั้งแต่ ค.ศ. 1000 - 1300 และยุคกลางตอนปลายตั้งแต่ ค.ศ. 1300 - 1453 ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ตลอดช่วงสมัยกลางทั้งหมดมักถูกกล่าวถึงว่าเป็นยุคมืด[14] แต่ด้วยการจำแนกช่วงเวลาของปิเยนน์และเฮอร์ซิงกานี้ ยุคมืดจะหมายถึงยุคกลางตอนต้นเท่านั้น อย่างน้อยก็ในหมู่นักประวัติศาสตร์[14]

การล่มสลายของจักรวรรดิโรมัน

[แก้]
ความโทมนัส” โดย จอตโต ดี บอนโดเน
ยุโรปประมาณค.ศ. 450

จักรวรรดิโรมันแผ่ขยายอาณาเขตรอบทะเลเมดิเตอร์ราเนียนจนมีอาณาเขตสูงสุดในศตวรรษที่ 2 แต่อาณาจักรโรมันที่ใหญ่เกินไปทำให้ยากแก่การปกครอง ทำให้ต้องแบ่งจักรวรรดิออกเป็นตะวันออกและตะวันตก ในค.ศ. 330 จักรพรรดิคอนสแตนตินมหาราชตั้งเมืองไบแซนติอุม (Byzantium) เป็นเมืองหลวงใหม่แทนที่โรม ตั้งชื่อใหม่เป็นโรมใหม่ (Nova Roma) แต่ผู้คนมักจะเรียกว่า เมืองของพระเจ้าคอนสแตนติน คอนสแตนติโนเปิล (Constantinople) สงครามกับชนเผ่าเยอรมัน ในยุโรปกลางและตะวันออกในปัจจุบัน ทำให้ชาวโรมันเหนื่อยล้า ในศตวรรษที่ 4 พวกชนฮั่น (Huns) จากเอเชียบุกเข้ามาในยุโรปสังหารเผ่าเยอรมันอย่างโหดเหี้ยม ทำให้เผ่าเยอรมันต่าง ๆ มาขออาศัยในจักรวรรดิ แลกเปลี่ยนกับการถูกเกณฑ์ไปรบ ใน ค.ศ. 378 ในการรบที่อเดรียโนเปิล (Adrianople) เผ่าวิสิโกธ เอาชนะทัพโรมันและยึดแคว้นดาเชีย (Dacia โรมาเนียในปัจจุบัน) เป็นที่มั่น

ในค.ศ. 391 จักรพรรดิธีโอโดซิอุสออกกฎหมายให้คริสต์ศาสนาเป็นศาสนาเพียงหนึ่งเดียวของจักรวรรดิโรมัน ความเชื่อตามหลักของคริสต์ศาสนานั้นบรรเทาความกระหายสงครามของชาวโรมันจนเกือบหมด ทำให้ต้องจ้างทหารเผ่าเยอรมันเพื่อให้สู้กับพวกเยอรมันเอง กองทัพโรมันจึงอ่อนแอลง

พระเจ้าธีโอโดซิอุสทรงแบ่งอาณาจักรโรมันออกเป็นตะวันออกและตะวันตก การแบ่งจักรวรรดิเป็นการตัดเนื้อร้ายของจักรวรรดิ คือ ฝั่งตะวันตกที่ย่อยยับด้วยการรุกรานของเผ่าอนารยชน ทำให้จักรวรรดิฝั่งตะวันออก ที่รุ่งเรืองด้วยการค้ากับเส้นทางสายไหม ยังคงอยู่รอดเป็นจักรวรรดิไบแซนไทน์ไปอีกพันปี

ใน ค.ศ. 409 เผ่าแวนดัล (Vandals) ทนการโจมตีของชาวฮันไม่ไหว จึงข้ามแม่น้ำไรน์ที่เป็นน้ำแข็งมาในแคว้นโกล (Gaul) ปล้นสะดมไปตามทางและตั้งรกรากที่คาบสมุทรไอบีเรีย ในค.ศ. 410 พระเจ้าอลาริค (Alaric) แห่งชาววิซิกอททำทัพบุกยึดกรุงโรม เผาทำลายเมืองจนพินาศ จนจักรพรรดิโฮโนริอุสแห่งจักรวรรดิตะวันตกยกแคว้นอากีแตนในฝรั่งเศสปัจจุบันให้กับพวกวิซิกอท พวกวิซิกอทจากอากีแตนก็บุกไอบีเรียขับพวกแวนดัลไปแอฟริกาเหนือในค.ศ. 429 พวกแวนดัลจากแอฟริกายกทัพเรือกลับมาโจมตีทำลายกรุงโรมใน ค.ศ. 455

ใน ค.ศ. 476 โอโดอาเซอร์ (Odoacer) จากเผ่าเยอรมันโจมตีกรุงโรม และปลดจักรพรรดิองค์สุดท้ายแห่งฝั่งตะวันตก คือ จักรพรรดิโรมุลุส ออกุสตุส (Romulus Augustus) ทำให้จักรพรรดิฝั่งตะวันออกส่งพระเจ้าธีโอโดริค (Theodoric) แห่งชาวออสโตรกอท (Ostrogoths) มายึดโรมคืน แต่ธีโอโดริคก็ตั้งอาณาจักรในอิตาลีเสียเอง

ยุคมืด

[แก้]

ชนเผ่าเยอรมันต่าง ๆ เข้ามาแทนที่จักรวรรดิโรมัน ได้แก่ ชาวแองเกิลส์และชาวแซกซันในอังกฤษ ชาวแฟรงก์ในฝรั่งเศส ชาววิซิกอธในสเปน ชาวแวนดัลในแอฟริกา ชาวออสโตรกอธในอิตาลี แต่จักรวรรดิโรมันตะวันออกนั้นยังอยู่ยั้งยืนยง แต่ในยุโรปตะวันตกนั้น อารยธรรมโรมันค่อย ๆ สูญสลาย เมื่อบ้านเมืองไม่มีขื่อแป การค้าขายและคุณภาพชีวิตจึงเสื่อมลง มีเพียงคริสตจักรที่ยังคงประดิษฐานมั่นคงเป็นที่พึ่งของประชาชน สมัยนี้จึงเรียกว่ายุคมืดซึ่งไม่เกี่ยวกับความมืดมนแต่อย่างใดแต่เป็นสมัยที่บันทึกและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไม่มีหรือครุมเครือ

จักรพรรดิจัสติเนียนแห่งโรมันตะวันออกทรงต้องการจะรื้อฟื้นจักรวรรดิโรมันที่ยิ่งใหญ่ เลยทรงทำมหาสงครามยึดดินแดนต่าง ๆ คืน โดยทรงทำลายอาณาจักรพวกแวนดัลในค.ศ. 533 และพวกออสโตรกอธใน ค.ศ. 552 แต่ดินแดนที่พระองค์ยึดมาได้นั้นจะหลุดมือไปอย่างรวดเร็ว ด้วยการรุกรานของชาวมุสลิมในศตวรรษที่ 7 และ 8 ชาวอาหรับยึดได้แอฟริกาเหนือทั้งหมด และทำลายอาณาจักรชาววิซิกอธและยึดสเปนในค.ศ. 711 รวมทั้งบุกอิตาลีด้วย

แต่การรุกรานของชาวมุสลิมก็สามารถต้านท้านไว้ได้โดยชาวแฟรงก์ พวกแฟรงก์เรืองอำนาจในศตวรรษที่ 9 ภายใต้ราชวงศ์การอแล็งเฌียง ปราบปรามเผ่าเยอรมันอื่น ๆ และพิชิตเยอรมนี แผ่ขยายอิทธิพลของคริสต์ศาสนา จักรวรรดิไบแซนไทน์ที่อ่อนแอลงทำให้ควบคุมอิตาลีไม่ได้ ชาวลอมบาร์ด (Lombards เผ่าเยอรมันอีกเผ่า) จึงเข้ารุกรานอิตาลี พระสันตะปาปาทรงขอให้พระเจ้าชาร์เลอมาญ (Charlemagne) แห่งชาวแฟรงก์ช่วยเหลือ พระเจ้าชาร์เลอมาญทรงสามารถขับชาวลอมบาร์ดได้ และได้รับราชาภิเษกเป็นจักรพรรดิโรมันใน ค.ศ. 800 เป็นจุดเริ่มต้นของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์

จักรวรรดิของพระเจ้าชาร์เลอมาญถูกแบ่งเป็นสามส่วนตามสนธิสัญญาแวร์เดิง (Verdun) ในค.ศ. 843 เป็นอาณาจักรแฟรงก์ตะวันออก ตะวันตก และกลาง แต่อิทธิพลของราชวงศ์คาโรแลงเจียนก็เสื่อมลง ประจวบกับการรุกรานของชาวไวกิง (Vikings) จากสแกนดีเนเวีย บุกปล้นสะดมเมืองชายฝั่งต่าง ๆ ทั่วยุโรป ทำให้การค้าล่มสลาย กษัตริย์ทรงมิอาจจะต้านการรุกรานได้ ประชาชนจึงต้องพึ่งขุนนางท้องถิ่น ทำให้ขุนนางท้องที่มีอำนาจขึ้นมา เกิดระบบเจ้าขุนมูลนายที่ทำให้อำนาจเป็นของขุนนาง ขณะที่สถาบันกษัตริย์นั้นอ่อนแอลงเรื่อย ๆ

สมัยกลางเรืองอำนาจ

[แก้]

ระบอบศักดินาสวามิภักดิ์ในอาณาจักรแฟรงก์ต่าง ๆ นั้นจะเป็นลักษณะของสมัยกลาง คือ นาย (lord) มีที่ดิน แบ่งที่ดิน (fief) ให้ลูกน้อง (vassal) ไปเพาะปลูกเกษตรกรรมและสร้างกองทัพ ขณะเดียวกันลูกน้องต้องทำหน้าที่ คือ จงรักษ์ภักดี (homage) และช่วยรบในสงคราม และลูกน้องก็อาจจะมีลูกน้องอีกทีเป็นขั้น ๆ นายที่ใหญ่ที่สุด คือ กษัตริย์ แบ่งที่ดินเป็นแคว้น ๆ ให้ขุนนางใหญ่ปกครอง และขุนนางเหล่านั้นก็มีขุนนางใต้บังคับบัญชาอีกที

ราชวงศ์การอแล็งเฌียงในอาณาจักรแฟรงก์ตะวันออกและตะวันตกสิ้นสุด อาณาจักรแฟรงก์ตะวันออกกลายเป็นจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ใน ค.ศ. 962 ด้วยการที่พระสันตะปาปาราชาภิเษกออทโทเป็นจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ในปี ค.ศ. 1072 เกิดข้อขัดแย้งเรื่องการสถาปนาสมณศักดิ์ระหว่างสมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 7 กับจักรพรรดิไฮน์ริชที่ 4 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ที่สุดจักรพรรดิไฮร์ริชต้องทรงเดินข้ามเทือกเขาแอลป์เพื่อขอโทษพระสันตะปาปา เป็นชัยชนะของฝ่ายคริสตจักรต่อฝ่ายอาณาจักร การเสื่อมอำนาจของพระจักรพรรดิทำให้นครรัฐต่าง ๆ ในอิตาลีเรืองอำนาจขึ้นมา

อาณาจักรแฟรงก์ตะวันตกกลายเป็นอาณาจักรฝรั่งเศส ภายใต้ราชวงศ์กาเปเซียง อาณาจักรฝรั่งเศสเป็นที่ที่ระบอบศักดินาสวามิภักดิ์ส่งผลร้ายแรงที่สุด ฝรั่งเศสแตกเป็นแคว้นเล็กแคว้นน้อย กษัตริย์ฝรั่งเศสทรงไม่มีพระราชอำนาจในการควบคุมขุนนาง ทรงมีเพียงที่ดินรอบ ๆ กรุงปารีสเท่านั้น ขุนนางฝรั่งเศสคนหนึ่งได้เป็นกษัตริย์อังกฤษ และด้วยการแต่งงานทำให้ได้ที่ดินมากมายในฝรั่งเศสเป็นของตนทำให้มีอำนาจมากกว่ากษัตริย์ฝรั่งเศสเองเสียอีก

สงครามครูเสดในสมัยกลาง

[แก้]

แม้ชาวมุสลิมจะยึดครองดินแดนศักดิ์สิทธิ์ คือ กรุงเยรูซาเล็ม (Jerusalem) ไป แต่ก็ให้เสรีภาพแก่ผู้แสวงบุญชาวคริสต์ที่จะเดินทางไปยังดินแดนศักดิ์สิทธิ์ แต่ในศตวรรษที่ 11 เซลจุคเติร์กเข้ายึดครองดินแดนศักดิ์สิทธิ์และขัดขวางการเดินทางแสวงบุญของชาวคริสต์ รวมทั้งได้รับแรงบันดาลใจจากการต่อสู้เพื่อขับไล่ชาวมุสลิมในสเปน ประกอบกับการร้องขอจากจักรพรรดิอเล็กซิอุสที่ 1 แห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์ ให้มาช่วยรบพวกเติร์ก สมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 1 จึงประชุมสภาคลีมองต์ (Council of Clermont) ประกาศว่าทุกคนที่ไปช่วยยึดดินแดนศักดิ์สิทธิคืนจะได้รับพระคุณการุญ (indulgence) ทำให้ทั้งขุนนางและชาวบ้านยกพลกันไปดินแดนศักดิ์สิทธิ์ จนยึดดินแดนเยรูซาเล็มได้ในค.ศ. 1099 ตั้งรัฐนักรบครูเสดต่าง ๆ เช่น ราชอาณาจักรเยรูซาเล็ม อัศวินคณะต่าง ๆ เช่น อัศวินเทมพลาร์ (Knights Templar) หรืออัศวินฮอสปิทัลเลอร์ (Hospitallers) ทำสงครามกับพวกเติร์ก

แต่รัฐครูเสดเหล่านี้อยู่ได้ร้อยกว่าปีก็เสียให้ชาวมุสลิมไปในที่สุด โดยเฉพาะสุลต่านศอลาฮุดดีนแห่งไคโร ยึดกรุงเยรูซาเล็มคืนในค.ศ. 1291 ชาวยุโรปจึงถูกขับออกจากตะวันออกกลางไปในที่สุด สงครามครูเสดครั้งต่อ ๆ มา เปลี่ยนเป้าหมายไปอย่างสิ้นเชิง ใน ค.ศ. 1204 สงครามครูเสดครั้งที่ 4 ลงเอยด้วยการยึดจักรวรรดิไบแซนไทน์ ตั้งจักรวรรดิละติน (Latin Empire) และรัฐครูเสดต่าง ๆ ในกรีซ หรือสงครามครูเสดตอนเหนือโดยอัศวินทิวทอนิก (Teutonic Knights) ปราบปรามชาวบอลติกอย่างโหดร้ายให้มาเข้ารีตศาสนาคริสต์

ฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 13 พระเจ้าฟิลิปที่ 2 ออกุสตุส ปราบปรามและยึดที่ดินจากขุนนางต่าง ๆ ขยายอำนาจของกษัตริย์ฝรั่งเศสจนกลายเป็นมหาอำนาจของสมัยกลาง ขณะที่จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ จักรพรรดิทรงมุ่งจะกู้เมืองต่าง ๆ ในอิตาลีที่เป็นอิสระและสนับสนุนพระสันตะปาปา ทรงให้อำนาจขุนนางในเยอรมนี ทำให้เยอรมนีแตกเป็นแคว้นเล็กแคว้นน้อยมาก

เคารพอย่างสูง

บาสเกโรงเรียนกลางคลองสอง

แหล่งค้นคว้าเพิ่มเติม

[แก้]
  • ชูสิริ จามรมาน. (2528). ยุโรปในมัธยมสมัย. กรุงเทพฯ: รักษ์สิปป์.
  • จิราธร ชาติศิริ. (2564). อยู่อย่างไรในยุคกลาง: สังเขปประวัติศาสตร์ชีวิตชาวอังกฤษในสมัยกลาง. ขอนแก่น: สาขามนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
  • อนันต์ชัย เลาหะพันธุ. (2550). เรื่องน่ารู้ในยุโรปสมัยกลาง. กรุงเทพฯ: ศักดิโสภาการพิมพ์.

หมายเหตุ

[แก้]
  1. Nees Early Medieval Art pp. 109–112
  2. 2.0 2.1 Power Central Middle Ages p. 304
  3. BruniHistory of the Florentine people p. xvii
  4. Albrow Gllobal Age p. 205
  5. Robinson "Medieval, the Middle Ages" Speculum
  6. "Middle Ages" Dictionary.com
  7. Bruni History of the Florentine people p. xvii
  8. Wickham Inheritance of Rome p. 86
  9. See the titles of Watts Making of Polities Europe 1300–1500 or Epstein Economic History of Later Medieval Europe 1000–1500 or the end date used in Holmes (ed.) The Oxford History of Medieval Europe
  10. Davies Europe pp. 291–293
  11. Bordone and Sergi Dieci secoli di medioevo
  12. See the title of Saul Companion to Medieval England 1066–1485
  13. Kamen Spain 1469–1714 p. 29
  14. 14.0 14.1 Mommsen "Petrarch's Conception of the 'Dark Ages'" Speculum
ก่อนหน้า สมัยกลาง ถัดไป
สมัยโบราณ ช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์สากล
(ค.ศ. 476 - 1453)
สมัยใหม่