ข้ามไปเนื้อหา

อัศวินเทมพลาร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อัศวินพระวิหาร
ทหารผู้ยากแห่งพระคริสต์และพระวิหารแห่งซาโลมอน
Pauperes commilitones Christi Templique Solomonici
ตราคณะอัศวินเทมพลาร์เป็นรูปอัศวิน 2 นายขี่ม้าตัวเดียวกัน เป็นสัญลักษณ์แห่งความขัดสนในช่วงแรก ตัวหนังสือเป็นภาษากรีกและละติน Sigillum Militum Χρisti: ติดตามกางเขน, หมายความว่า "ตราของทหารแห่งพระคริสต์"
ขึ้นต่อพระสันตะปาปา
รูปแบบคณะทหารคริสตชนตะวันตก
บทบาทปกป้องผู้แสวงบุญ
กำลังรบ15,000–20,000 เมื่อขึ้นสู่จุดสูงสุด, 10% เป็นอัศวิน
Headquartersเนินพระวิหาร กรุงเยรูซาเลม
สมญาคณะแห่งพระวิหาร
ผู้อุปถัมภ์นักบุญแบร์นาร์แห่งแกลร์โว
คำขวัญNon nobis Domine, non nobis, sed nomini tuo da gloriam
(ไม่ใช่เพื่อสตรีของเรา ไม่ใช่เพื่อตัวเรา แต่เพื่อจรรโลงชื่อของท่านให้รุ่งโรจน์)
Attireผ้าคลุมขาวกางเขนแดง
สัญลักษณ์นำโชค2 อัศวินขี่ม้าตัวเดียวกัน
ปฏิบัติการสำคัญสงครามครูเสด, ประกอบด้วย:
สงครามชิงเมืองอัสคาลอน (1153)
ยุทธการที่มองท์กิซาร์ด (1177)
ยุทธการฮัททิน (1187)
สงครามชิงเมืองเอเคอร์ (1189-1191)
ยุทธการที่อาร์ซุฟ (1191)
สงครามชิงเมืองเอเคอร์ (1291)
การพิชิตดินแดนคืน
ผู้บังคับบัญชา
ผู้นำคนแรกอูกแห่งปาแย็ง
ผู้นำคนสุดท้ายฌักแห่งมอแล
Templar Cross
Templar Cross

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งหรือเกี่ยวข้องกับ
อัศวินเทมพลาร์

อัศวินเทมพลาร์

สมาคมในปัจจุบัน

ทหารผู้ยากแห่งพระคริสต์และพระวิหารแห่งซาโลมอน (ละติน: Pauperes commilitones Christi Templique Solomonici) หรือที่รู้จักกันในชื่อ อัศวินเทมพลาร์ (อังกฤษ: Knights Templar) หรือ คณะแห่งพระวิหาร (ฝรั่งเศส: Ordre du Temple) เป็นคณะทหารคริสตชนที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุด[1] เป็นองค์กรที่คงอยู่เกือบสองศตวรรษในสมัยกลาง

คณะได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากคริสตจักรโรมันคาทอลิกราวปี ค.ศ. 1129 คณะกลายเป็นองค์การที่ได้รับบริจาคทรัพย์สินอย่างมากมายตลอดคริสตจักรและเติบโตอย่างรวดเร็วทั้งในแง่สมาชิกและอำนาจ ลักษณะพิเศษของอัศวินเทมพลาร์คือเสื้อคลุมไร้แขนสีขาวที่มีกางเขนสีแดงอยู่บนเสื้อ อัศวินเทมพลาร์นับเป็นหนึ่งในหน่วยรบที่มีฝีมือที่สุดในสงครามครูเสด[2] สมาชิกของคณะที่ไม่ได้เป็นทหารมีหน้าที่จัดการโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ตลอดศาสนจักร สร้างสรรค์เทคนิคทางการเงินที่เป็นต้นแบบของธนาคาร[3][4] และสร้างป้อมปราการมากมายทั่วยุโรปและแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์

การดำรงอยู่ของเทมพลาร์เชื่อมโยงอย่างมากกับสงครามครูเสด เมื่อสูญเสียดินแดนศักดิ์สิทธิ์คณะก็ได้รับการสนับสนุนน้อยลง ข่าวลือเกี่ยวกับพิธีกรรมลับในการรับเข้าเป็นสมาชิกเทมพลาร์สร้างความหวาดระแวงและพระเจ้าฟิลิปที่ 4 แห่งฝรั่งเศส ผู้ซึ่งเป็นหนี้เทมพลาร์มหาศาลได้หาประโยชน์จากสถานการณ์นี้ ในปี ค.ศ. 1307 สมาชิกของคณะหลายคนในฝรั่งเศสถูกจับกุม ทรมานให้ยอมรับสารภาพและถูกเผาที่หลักประหาร[5] ภายใต้การกดดันจากพระเจ้าฟิลิป สมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 5 ได้สั่งสลายคณะในปี ค.ศ. 1312 การหายไปของทันทีทันใดของส่วนหลักในโครงสร้างพื้นฐานของยุโรปก่อให้เกิดความคาดเดาไปต่าง ๆ นานาและกลายเป็นตำนานซึ่งทำให้ชื่อของ "เทมพลาร์" คงอยู่จนถึงทุกวันนี้

ประวัติ

[แก้]

การก่อตั้ง

[แก้]
กองบัญชาการแห่งแรกของอัศวินเทมพลาร์ มัสยิดอัลอักศอ บนภูเขาเทมเพิลของเยรูซาเลม หรือที่เรียกว่าพระวิหารแห่งซาโลมอนซึ่งสร้างอยู่บนวิหารเดิม และเป็นที่มาของชื่ออัศวินเทมพลาร์

หลังจากยึดครองเยรูซาเลมจากสงครามครูเสดครั้งที่ 1 ในปี ค.ศ. 1099 คริสต์ศาสนิกชนผู้แสวงบุญจำนวนมากได้เดินทางมาสักการะเยี่ยมชมสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ อย่างไรก็ตามแม้ว่าเมืองเยรูซาเลมจะอยู่ภายใต้การรักษาความปลอดภัย แต่อาณาจักรโดยรอบกลับไม่เป็นเช่นนั้น กลับมีโจรผู้ร้ายชุกชุม ทำให้ผู้แสวงบุญถูกฆ่าตายเป็นอันมากบางครั้งถึงร่วมร้อยคน เมื่อพวกเขาพยายามเดินทางตามเส้นทางจากชายฝั่งของจาฟฟา (Jaffa) ไปสู่ดินแดนศักดิ์สิทธิ์[6]

ราวปี ค.ศ. 1119 อัศวินชาวฝรั่งเศสผู้ผ่านศึกในสงครามครูเสดครั้งที่ 1 อูกแห่งปาแย็ง (Hugues de Payens) และกอดเฟรย์แห่งเซนต์โอแมร์ (Godfrey de Saint-Omer) ญาติของเขาเสนอที่จะจัดตั้งคณะนักบวชอารามิกเพื่อปกป้องผู้แสวงบุญ[7] พระเจ้าบอลวินด์ที่ 2 แห่งเยรูซาเลมทรงเห็นด้วยกับคำขอและมอบพื้นที่ให้จัดตั้งกองบัญชาการบนภูเขาเทมเพิล (Temple Mount) ในมัสยิดอัลอักซา (Al Aqsa Mosque) ที่ยึดมาได้ ภูเขาเทมเพิลมีความลึกลับที่เชื่อกันว่ามันตั้งอยู่บนซากพระวิหารแห่งซาโลมอน[2][8] ดังนั้นนักรบสงครามครูเสดจึงเรียกมัสยิดอัลอักซาเป็นพระวิหารแห่งซาโลมอน และจากสถานที่นี้คณะจึงนำมาตั้งเป็นชื่อ คณะทหารผู้ยากแห่งพระคริสต์และพระวิหารแห่งซาโลมอน หรือ "คณะอัศวินแห่งพระวิหาร (Templar knights)" ขณะนั้นคณะมีอัศวินเพียงเก้านาย มีแหล่งเงินทุนอันน้อยนิดและต้องอาศัยเงินบริจาคเพื่อความอยู่รอด สัญลักษณ์อัศวิน 2 นายขี่ม้าตัวเดียวกัน แสดงออกถึงความขัดสนของภาคี

แต่เหล่าอัศวินเทมพลาร์ก็ไม่ได้ขัดสนยากจนนานนัก เมื่อเขาได้รัปการอุปถัมภ์จากนักบุญแบร์นาร์แห่งแกลร์โว ผู้เป็นคนสำคัญของศาสนจักรและเป็นหลานชายของอ็องเดรแห่งมงบาร์ (André de Montbard) เขากล่าวและเขียนเกลี้ยกล่อมในนามของพวกเขา และใน ปี ค.ศ. 1129 ที่การประชุมสภาสังคายนาแห่งทรอยส์ คณะก็ได้การรับรองอย่างเป็นทางการจากพระศาสนจักร และด้วยการนี้เทมพลาร์ก็ได้รับการสนับสนุนบริจาคตลอดทั้งพระศาสนจักร ไม่ว่าจะเป็นเงิน ที่ดิน ธุรกิจ และบุตรชายผู้มีตระกูลจากครอบครัวที่กระตือรือล้นที่อยากจะช่วยต่อสู้ในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ ผลประโยชน์ที่สำคัญที่สุดของคณะได้รับในปี ค.ศ. 1139 เมื่อสารตราพระสันตะปาปาของสมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 2 Omne Datum Optimum ได้ให้คณะอยู่เหนือกฎหมายท้องถิ่น ด้วยอำนาจนี้หมายความว่าเหล่าเทมพลาร์สามารถผ่านแดนได้โดยอิสระ ไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าภาษีใด ๆ และไม่อยู่ภายใต้อำนาจผู้ใดยกเว้นพระสันตะปาปา[9]

ด้วยภารกิจที่ชัดเจนและทรัพยากรที่เพียงพอ คณะได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว บ่อยครั้งที่เทมพลาร์รับบทกองกำลังหน่วยรุกซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการรบของสงครามครูเสด ด้วยความที่เป็นอัศวินเกราะหนักบนม้าศึกจึงใช้โจมตีทำลายแนวต้านทานของข้าศึก หนึ่งในชัยชนะที่สร้างชื่อในปี ค.ศ. 1177 ระหว่างยุทธการที่ม็องต์กิซาร์ด เมื่ออัศวินเทมพลาร์ 500 นายได้ช่วยยัดเยียดความปราชัยแก่กองทัพของศอลาฮุดดีนที่มีทหารมากกว่า 26,000 นาย[10]

"[อัศวินเทมพลาร์]เป็นอัศวินที่กล้าหาญอย่างแท้จริง และคุ้มครองทุกฝ่าย วิญญาณได้รับการปกป้องจากเกราะแห่งศรัทธา เช่นเดียวกับร่างกายได้รับการป้องกันโดยเกราะเหล็ก ดังนั้นเขาจึงเสมือนติดอาวุธเป็นทวีคูณ และไม่เกรงกลัวต่อปีศาจและมนุษย์"
แบร์นาร์แห่งแกลร์โว, c. 1135, De Laude Novae Militae—ในการยกย่องกลุ่มอัศวินใหม่[11]

แม้ว่าหน้าที่อันดับแรกของคณะจะเป็นเรื่องการทหารแต่ก็มีสมาชิกจำนวนน้อยที่เป็นนักรบ ผู้ที่เหลืออื่น ๆ จะกระทำหน้าที่ในตำแหน่งสนับสนุนให้ความช่วยเหลืออัศวินและจัดการโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน แม้สมาชิกของคณะแห่งพระวิหารจะสาบานว่าจะดำรงตนอย่างสมถะ แต่ก็ต้องจัดการควบคุมทรัพย์สินจากการบริจาคที่มีอย่างมากมาย ขุนนางผู้สนใจเข้าร่วมในสงครามครูเสดอาจปล่อยให้เทมพลาร์เข้ามาจัดการทรัพย์สินของเขาในขณะที่เขาออกไปร่วมรบ ด้วยทรัพย์สินที่สะสมด้วยวิธีนี้ตลอดทั้งคริสตจักรและอาณาจักรครูเสด ในปี ค.ศ. 1150 ภาคีได้สร้างตราสารเครดิตสำหรับผู้แสวงบุญที่จะจาริกไปดินแดนศักดิ์สิทธิ์ ผู้แสวงบุญจะฝากสิ่งของมีค่าไว้ที่เทมพลาร์สาขาท้องถิ่นก่อนเดินทาง และรับเอกสารแสดงค่าของสิ่งที่ฝากไว้ เมื่อไปถึงดินแดนศักดิ์สิทธิ์ก็แสดงเอกสารนี้เพื่อรับเงินคืน การจัดการในรูปแบบนี้แสดงถึงรูปแบบตอนต้นของธนาคาร อาจเป็นระบบอย่างเป็นทางการครั้งแรกที่รองรับการใช้เช็ค มันช่วยให้ผู้แสวงบุญมีความปลอยภัยยิ่งขึ้นทำให้พวกเขาไม่เป็นที่ดึงดูดหัวขโมย และยังมีส่วนช่วยเหลือสนับสนุนกองทุนของเทมพลาร์อีกด้วย[2][12]

จากการผสมผสานกันของการรับบริจาคและธุรกิจการค้า เทมพลาร์ได้สร้างเครือข่ายการเงินไปทั่วคริสตจักร เขาได้มาซึ่งที่ดินขนาดใหญ่ทั้งในยุโรปและตะวันออกกลาง ซื้อและจัดการไร่นาและไร่องุ่น สร้างโบสถ์และปราสาท มีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมการผลิต นำเข้า และส่งออก มีกองเรือเป็นของตนเอง และณ จุดหนึ่ง พวกเขายังเป็นเจ้าของเกาะทั้งหมดของไซปรัส คณะอัศวินเทมพลาร์มีคุณสมบัติที่จะเป็นบรรษัทข้ามชาติแห่งแรกของโลก[10][13][14]

ยุทธการที่ฮัททินใน ค.ศ. 1187 เป็นจุดพลิกผันของสงครามครูเสด

ความเสื่อม

[แก้]

ในตอนกลางของคริสต์ทศวรรษที่ 1100 กระแสสงครามได้พลิกผัน โลกมุสลิมได้เป็นปึกภายใต้ผู้นำที่เก่งกาจอย่างศอลาฮุดดีน และได้เกิดความแตกร้าวท่ามกลางกลุ่มคริสตชนทั้งที่เกี่ยวข้องและในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ บางครั้งอัศวินเทมพลาร์ถูกนำไปเปรียบกับคณะทหารคริสตชนอื่นอีกสองคณะคือคณะอัศวินฮอสปิทัลเลอร์และคณะอัศวินทิวทัน และเป็นทศวรรษแห่งการอาฆาตล้างผลาญกันเองทำให้สถานะภาพของคริสตชนอ่อนแอลงทั้งทางการเมืองและการทหาร หลังจากเทมพลาร์ได้เข้าร่วมทำการรบที่ประสบความล้มเหลวหลายครั้ง รวมถึงยุทธการที่เขาแห่งฮัททิน กำลังศอลาฮุดดีนก็สามารถยึดเยรูซาเลมในปี ค.ศ. 1187 นักรบครูเสดยึดเมืองคืนมาได้สำเร็จในปี ค.ศ. 1229 โดยปราศจากความช่วยเหลือของเหล่าเทมพลาร์ แต่ก็รักษาไว้ได้เพียงช่วงสั้น ๆ เท่านั้น ในปี ค.ศ. 1244 จักรวรรดิควาริซเมียน (Khwarezmian Empire) ได้เข้ายึดครองเยรูซาเลม และเมืองก็ไม่กลับเป็นของตะวันตกอีกเลยจนกระทั่งปี ค.ศ. 1917 เมื่อบริเตนได้ยึดมันมาจากจักรวรรดิออตโตมัน[15]

เทมพลาร์โดนบังคับให้ย้ายกองบัญชาการไปยังเมืองอื่นๆในตอนเหนือ เช่น ท่าเรือของเอเคอร์ซึ่งพวกเขาตั้งมั่นได้จนถึงศตวรรษถัดมา แต่พวกเขาก็ต้องศูนย์เสียที่มั่นอีกครั้งในปี ค.ศ. 1291 และได้ย้ายต่อไปที่เทอร์โทซา (Tortosa, ปัจจุบันคือประเทศซีเรีย) และแอสริส (Atlit) ซึ่งที่มั่นสุดท้ายบนแผ่นดินใหญ่ กองบัญชาการได้ย้ายไปสู่ลิมาสซอล (Limassol) บนเกาะของไซปรัส[16] พวกเขายังคงพยายามรักษากองทหารไว้บนเกาะอาร์วัด (Arwad) ซึ่งเป็นเกาะเล็ก ๆ ซึ่งอยู่นอกชายฝั่งของเทอร์โทซา ในปี ค.ศ. 1300 ได้มีความพยายามเข้าร่วมรบในความพยายามประสานงานร่วมกันทางทหารกับมองโกล[17] ร่วมกับกองกำลังโจมตีที่อาร์วัด ในปี ค.ศ. 1302 หรือ 1303 เทมพลาร์ได้สูญเสียเกาะให้กับทหารทาสชาวอียิปต์ในยุทธการที่อาร์วัด เมื่อสูญเสียเกาะไป นักรบครูเสดก็สูญเสียที่หยั่งเท้าสุดท้ายในแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์[10][18]

เมื่อภารกิจทางทหารของคณะด้อยความสำคัญลง การสนับสนุนจากองค์กรก็เริ่มลดลง มันเป็นสถานะการณ์ที่ซับซ้อน การดำรงอยู่ของพวกเขาทำให้เทมพลาร์กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันตลอดทั้งคริสตจักร[19] ที่ตั้งของเทมพลาร์ขององค์กรกว่าร้อยแห่งกระจายอยู่ทั่วทั้งยุโรปและตะวันออกใกล้ ทำให้พวกเขาสามารถเข้าถึงได้ในระดับท้องถิ่น[20] เทมพลาร์ยังคงบริหารจัดการกิจการทั้งหลายของพวกเขา และชาวยุโรปหลายต่อหลายคนได้ติดต่อกับเครือข่ายของเทมพลาร์ในทุก ๆ วัน เช่น ทำงานในไร่นาหรือไร่องุ่นของเทมพลาร์ หรือ ใช้ภาคีต่างธนาคารในการฝากสิ่งของมีค่า คณะยังคงอยู่เหนือรัฐบาลท้องถิ่น สถานภาพของคณะในทุกหนแห่งประหนึ่งเป็น "รัฐภายในรัฐ (state within a state)" แม้ว่าจะไม่ได้มีภารกิจที่กำหนดแน่ชัด ทหารประจำการของคณะก็สามารถผ่านพรมแดนได้อย่างอิสระ ซึ่งสถานะการณ์นี้ได้สร้างความตึงเครียดอย่างมากกับขุนนางยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เทมพลาร์แสดงความสนใจที่จะตั้งรัฐอารามขึ้นเหมือนอย่างอัศวินทิวทันกระทำในปรัสเซีย (Prussia)[12] และอัศวินฮอสปิทัลเลอร์กระทำกับโรดส์[21]

การจับกุมและการล่มสลาย

[แก้]

ในปี ค.ศ. 1305 สมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 5 พระสันตะปาปาองค์ใหม่ชาวฝรั่งเศสได้ส่งจดหมายถึงผู้นำคณะอัศวินเทมพลาร์ ฌักแห่งมอแล (Jacques de Molay) และผู้นำอัศวินฮอสปิทัลเลอร์ ฟูล์กแห่งวีลลาเรต (Fulk de Villaret) เพื่อหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการรวมทั้งสองภาคเข้าด้วยกัน แต่ทั้งสองไม่เห็นด้วย แต่สมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ยังคงยืนกรานในความคิดนี้ และในปี ค.ศ. 1306 สมเด็จพระสันตะปาปาได้เชิญผู้นำทั้งสองไปฝรั่งเศสเพื่อหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกครั้ง ฌักได้ไปถึงก่อนในต้นปี ค.ศ. 1307 แต่ฟูล์กกลับมาสายไปหลายเดือน ขณะรอ ฌักและสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ได้หารือถึงค่าใช้จ่ายที่ได้กระทำเมื่อสองปีก่อนโดยเทมพลาร์ที่ถูกขับออก ทั้งสองตกลงกันว่าเป็นค่าใช้จ่ายเท็จ แต่สมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์เขียนถึงพระเจ้าฟิลิปที่ 4 แห่งฝรั่งเศสเพื่อขอความช่วยเหลือในการสืบสวน พระเจ้าฟิลิปผู้ซึ่งเป็นหนี้เทมพลาร์จำนวนมหาศาลจากการทำสงครามกับประเทศอังกฤษ ตัดสินใจที่จะยึดตามข่าวลือเพื่อประโยชน์ส่วนพระองค์ และเริ่มกดดันคริสตจักรให้ดำเนินเอาผิดต่อคณะ ตามหนทางเพื่อให้พระองค์พ้นจากหนี้[22]

ในวันศุกร์ที่ 13 ตุลาคม ค.ศ. 1307 (บางครั้งเชื่อมโยงกับความเชื่อที่ว่าเป็นต้นกำเนิดของวันศุกร์ที่ 13)[23][24] พระเจ้าฟิลิปสั่งให้จับกุมฌักและเหล่าเทมพลาร์อีก 20 คนในฝรั่งเศสในเวลาเดียวกัน เทมพลาร์โดนตั้งข้อกล่าวหามากมาย (ประกอบไปด้วย ละทิ้งศาสนา บูชารูปเคารพ นอกรีต พิธีกรรมลามกและรักร่วมเพศ ทุจริตและฉ้อโกงทางการเงิน และ ปิดบังอำพราง)[25] จำเลยหลายคนรับสารภาพถึงข้อกล่าวหาเหล่านั้นภายใต้ทัณฑ์ทรมาน คำสารภาพภายใต้การขู่บังคับนี้ก่อให้เกิดเรื่องอื้อฉาวไปทั่วปารีส หลังจากการข่มขู่กดดันอย่างหนักหน่วงจากพระเจ้าฟิลิป สมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ได้ประกาศสารตราพระสันตะปาปา (Pastoralis Praeeminentiae) ในวันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1307 โดยสั่งให้กษัตริย์คริสตชนในทวีปยุโรปทำการจับกุมเหล่าเทมพลาร์และยึดทรัพย์สินของพวกเขา[26]

เทมพลาร์ถูกเผาทั้งเป็นที่หลักประหาร

สมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ได้เรียกประชุมเพื่อพิจารณาไต่สวนว่าเทมพลาร์มีความผิดจริงหรือเป็นผู้บริสุทธิ์และปลดปล่อยเทมพลาร์จากการสอบสวนหาความผิดด้วยการทรมาน มีเทมพลาร์หลายคนได้ปฏิเสธข้อกล่าวหา บางคนมีประสบการณ์ทางด้านกฎหมายเพียงพอที่จะปกป้องตัวเองจากการสอบสวน แต่ในปี ค.ศ. 1310 พระเจ้าฟิลิปขัดขวางความพยายามนี้ และบังคับใช้คำสารภาพก่อนหน้าทำการเผาเทมพลาร์ทั้งเป็นหลายสิบคนที่หลักประหารในปารีส[27][28]

คอนแวนต์ของคณะแห่งพระคริสต์ (Convent of the Order of Christ) ในปราสาทโทมาร์ (Tomar) ประเทศโปรตุเกส สร้างในปี ค.ศ. 1160 เพื่อเป็นป้อมปราการของอัศวินเทมพลาร์ ต่อมาได้กลายเป็นกองบัญชาการของคณะแห่งพระคริสต์ (Order of Christ) ในปี ค.ศ. 1983 ยูเนสโกได้ประกาศให้เป็นมรดกโลก[29]

ด้วยพระเจ้าฟิลิปได้ทรงขู่คุกคามด้วยกำลังทางทหารต่อสมเด็จพระสันตะปาปาเพื่อให้สมเด็จพระสันตะปาปาปฏิบัติตามความประสงค์ของพระองค์ สุดท้ายสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ทรงยอมตกลงที่จะยุบคณะโดยอ้างถึงเรื่องอื้อฉาวที่ได้จากการรับสารภาพ ณ ที่การประชุมสภาสังคายนาแห่งเวียนน์ในปี ค.ศ. 1312 สมเด็จพระสันตะปาปาได้ประการชุดสารตราพระสันตะปาปาซึ่งประกอบด้วย '"Vox in excelso" ซึ่งเป็นการยุบคณะอย่างเป็นทางการ และ "Ad providam" ซึ่งเป็นการส่งมอบทรัพย์สินของเทมพลาร์ทั้งหมดให้แก่ฮอสปิทัลเลอร์[30]

สำหรับผู้นำของคณะอย่างผู้นำอาวุโส ฌักแห่งมอแล ผู้ซึ่งรับสารภาพภายใต้ทัณฑ์ทรมานได้ถอนถ้อยแถลงของเขา เพื่อนของเขา เชอฟเฟรย์แห่งชาร์เนย์ (Geoffrey de Charney) ผู้ตั้งกฎแห่งนอร์ม็องดี ได้ทำตามตัวอย่างของฌักและยืนยันในความบริสุทธิ์ของเขา ทั้งคู่ถูกประกาศว่ามีความผิดฐานเป็นพวกนอกรีตและตัดสินประหารชีวิตด้วยการเผาทั้งเป็นที่หลักประหารในปารีสในวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 1314 ฌักยังคงไม่ยอมจำนนจนถึงที่สุด และร้องขอให้มัดเขาในทิศทางที่จะหันหน้าสู่มหาวิหารน็อทร์-ดามและมัดมือเขาไว้ในท่าของผู้กำลังอธิษฐาน[31] ตามตำนานกล่าวว่า เขาได้ตะโกนเรียกสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์และพระเจ้าฟิลิปจากกองไฟว่าจะได้พบเขาในเร็ววันก่อนจะได้พบพระเจ้า สมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์สวรรคตในหนึ่งเดือนให้หลัง และพระเจ้าฟิลิปสวรรคตจากอุบัติเหตุจากการล่าสัตว์ในสิ้นปีนั้น[32]

เมื่อผู้นำคนสุดท้ายของคณะได้จากไป เหล่าเทมพลาร์ทั่วทั้งยุโรปบ้างการถูกจับและสอบสวนภายใต้การสืบสวนในนามสมเด็จพระสันตะปาปา (ไม่มีการพิสูจน์ว่ามีความผิด) บ้างกับไปเข้าร่วมกับคณะทหารอื่นอย่างอัศวินฮอสปิทัลเลอร์ หรือปลดประจำการและได้รับอนุญาตให้อยู่อย่างสงบในวันที่เหลืออยู่ บางคนอาจหนีไปยังพื้นที่อื่นที่นอกเหนือการควบคุมของสมเด็จพระสันตะปาปา เช่น สกอตแลนด์ หรือ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นดินแดนนอกศาสนา ส่วนองค์กรเทมพลาร์ในประเทศโปรตุเกสเพียงแค่เปลี่ยนชื่อจากคณะอัศวินเทมพลาร์ไปเป็นคณะอัศวินแห่งพระคริสต์[33]

องค์กร

[แก้]
สิ่งก่อสร้างของเทมพลาร์ที่แซ็งมาร์แต็งเดช็อง (Saint Martin des Champs), ฝรั่งเศส

เทมพลาร์เป็นคณะนักบวชอารามิกคล้ายกับคณะซิสเตอร์เชียนของแบร์นาร์ ซึ่งสามารถพิจารณาเป็นองค์กรระหว่างประเทศองค์กรแรกในยุโรป[34] โครงสร้างขององค์กรมีโซ่แห่งอำนาจที่แข็งแกร่ง ประเทศหลัก ๆ ที่มีเทมพลาร์ (ฝรั่งเศส, อังกฤษ, อารากอง, โปรตุเกส, ปัวตู, ปูเกลีย, เยรูซาเลม, ตริโปลี, แอนติออก, อ็องฌู, ฮังการี, และ โครเอเชีย)[35] แต่ละประเทศจะมีผู้บังคับการของคณะสำหรับเทมพลาร์ในแต่ละพื้นที่ ผู้บังคับการทั้งหมดจะอยู่ภายใต้ผู้นำสูงสุดซึ่งดำรงตำแหน่งตลอดชีวิต ผู้คอยควบคุมทั้งกองกำลังทางทหารของคณะในฝั่งตะวันออกและทางการเงินที่ถือครองอยู่ในฝั่งตะวันตก จำนวนสมาชิกในองค์กรไม่มีตัวเลขที่แน่นอน แต่มีการประมาณกันว่าช่วงที่คณะขึ้นสู่จุดสูงสุดน่าจะมีสมาชิกราว 15,000 ถึง 20,000 คน ซึ่งหนึ่งในสิบเป็นอัศวิน[36][20]

แบร์นาร์แห่งแกลร์โวซ์และผู้นำคนแรก อูกแห่งปาแย็ง เป็นผู้ได้กำหนดระเบียบความประพฤติของคณะแห่งพระวิหารหรือที่รู้จักกันในนักประวัติศาสตร์สมัยใหม่ว่า Latin Rule (วินัยฉบับละติน) มีทั้งสิ้น 72 ข้อที่จำกัดความถึงพฤติกรรมในอุดมคติของอัศวิน เช่น ชนิดของเครื่องแต่งกายที่สวมใส่และจำนวนม้าที่สามารถมีได้ อัศวินจะรับประทานอาหารในความเงียบ รับประทานเนื้อสัตว์ไม่เกินสามมื้อต่อสัปดาห์ และไม่แตะต้องตัวสตรีใดแม้แต่สมาชิกในครอบครัวของตนเอง ผู้นำของคณะได้รับ "ม้า 4 ตัว, และอนุศาสนาจารย์ 1 คนและเสมียน 1 คน กับม้า 3 ตัว, และทหาร 1 คนกับม้า 2 ตัว, และสุภาพบรุษรับใช้สำหรับถือโล่ห์และหอกของเขา, กับม้า 1 ตัว"[37] เมื่อคณะโตขึ้น แนวทางจำนวนมากก็ถูกเพิ่มเข้ามา จากเดิมที่มีเพียง 72 ข้อเป็นหลายร้อยข้อในท้ายที่สุด[38][39]

หนึ่งในหลาย ๆ ธงที่ได้รับรายงานว่าเป็นธงของอัศวินเทมพลาร์

ระดับในเทมพลาร์แบ่งออกเป็น 3 ระดับคือ อัศวินขุนนาง ทหารที่มีชาติกำเนิดต่ำกว่า และนักบวช อัศวินต้องเป็นการสืบเชื้อสายและสวมเสื้อคลุมไร้แขนสีขาว พวกเขามีอุปกรณ์ครบครันอย่างทหารม้าเกราะหนักกับม้าสามหรือสี่ตัวและผู้ติดตามหนึ่งถึงสองคน ผู้ติดตามปกติจะไม่ใช่สมาชิกของคณะแต่จะเป็นคนนอกที่ได้รับการว่าจ้างมาช่วงระยะเวลาหนึ่ง ในคณะระดับต่ำกว่าอัศวินจะเป็นทหารซึ่งมาจากคนชั้นที่ต่ำกว่าในสังคม[40] พวกเขามีอุปกรณ์อย่างทหารม้าเกราะเบากับม้าหนึ่งตัว[41] หรือรับผิดชอบในหน้าที่อื่น เช่น บริหารทรัพย์สินของคณะหรือ ทำงานรับใช้หนัก ๆ และค้าขาย อนุศาสนาจารย์ซึ่งเป็นระดับที่เหลือ ผู้บวชเป็นบาทหลวงมีหน้าที่ดูแลความต้องการทางจิตวิญญาณของเทมพลาร์[42]

อัศวินสวมเสื้อคลุมที่มีรูปกางเขนสีแดงและเสื้อคลุมไร้แขนสีขาว ทหารสวมเสื้อชั้นนอกสีดำมีกางเขนสีแดงทั้งด้านหน้าและด้านหลังและเสื้อคลุมไร้แขนสีดำหรือสีน้ำตาล[43][44] เสื้อคลุมไร้แขนสีขาวถูกมอบหมายให้เทมพลาร์ใช้ที่การประชุมสภาสังคายนาแห่งทรอยส์ในปี ค.ศ. 1129 และกางเขนน่าจะเพิ่มเข้าไปบนเสื้อผ้าเมื่อเริ่มสงครามครูเสดครั้งที่ 2ในปี ค.ศ. 1147 เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปายูจีนที่ 3 พระเจ้าหลุยส์ที่ 7 แห่งฝรั่งเศส และขุนนางอื่น ๆ ได้เข้าร่วมประชุมของเหล่าเทมพลาร์ชาวฝรั่งเศสที่กองบัชญาการใหญ่ของพวกเขาใกล้กรุงปารีส[45][46][47] ตามกฎแล้ว อัศวินต้องสวมเสื้อคลุมไร้แขนสีขาวตลอดเวลา ถึงขั้นห้ามดื่มกินจนกว่าจะสวมเสื้อคลุมเสียก่อน[48]

การเข้าเป็นสมาชิก[49] หรือที่รู้จักกันในชื่อการต้อนรับ (receptio) ในคณะ เป็นพันธะที่ลึกซึ้งและพิธีการที่เคร่งขรึม ถึงกับทำลายขวัญบุคคลภายนอกจากการเข้าร่วมพิธีการซึ่งกระตุ้นข้อสงสัยของพนักงานสอบสวนในสมัยยุคกลางระหว่างการสอบสวนในภายหลัง

สมาชิกใหม่ต้องยกทรัพย์สมบัติและสินค้าทั้งหมดแก่ภาคีอย่างเต็มใจและให้คำสัตย์สาบานแห่งความยากจน บริสุทธิ์ กตัญญู และการเชื่อฟัง[50] พี่น้องจำนวนมากเข้าร่วมตลอดทั้งชีวิต แต่ก็มีบางคนได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมเพียงช่วงเวลาหนึ่ง บางครั้งชายผู้แต่งงานแล้วได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมถ้าภรรยายินยอม[44] แต่เขาจะไม่ได้รับอนุญาตให้สวมเสื้อคลุมสีขาว[51]

กางเขนสีแดงที่เทมพลาร์ใช้บนเสื้อคลุมยาวเป็นสัญลักษณ์ของความทุกข์ทรมาน และการตายในการรบถือว่าเป็นเกียรติอย่างมากและจะได้ขึ้นสวรรค์อย่างแน่นอน[52] มีกฎสำคัญที่นักรบของคณะไม่ควรยอมแพ้เว้นแต่ธงเทมพลาร์ได้ลดธงลงมา ยิ่งไปกว่านั้นหลังจากพวกเขาได้รวมกลุ่มกันใหม่กับคณะทหารคริสตชนอื่น เช่น อัศวินฮอสปิทัลเลอร์ หลังจากธงทั้งหมดได้ลดลงเท่านั้นพวกเขาจึงยอมออกจากสนามรบ[53] ด้วยหลักการที่เด็ดเดี่ยวพร้อมกับชื่อเสียงของความกล้าหาญ การฝึกฝนอย่างดี และสวมเกราะหนัก ทำให้เทมพลาร์เป็นหนึ่งในกองกำลังที่น่ากลัวที่สุดในสมัยกลาง[54]

ผู้นำ

[แก้]

ผู้นำ (Grand Master) เป็นตำแหน่งสูงสุดในคณะ ตำแหน่งนี้เป็นไปตลอดชีวิต ผู้นำคนแรกคืออูกแห่งปาแย็ง ผู้ก่อตั้งคณะในปี ค.ศ. 1118–1119 แต่เมื่อพิจารณาลักษณะการต่อสู้ของคณะแล้วผู้ครองตำแหน่งมักถือครองเพียงช่วงสั้น ๆ เกือบทั้งหมดของผู้นำเสียชีวิตขณะดำรงตำแหน่งและหลายคนเสียชีวิตระหว่างการรบ เช่น ในระหว่างสงครามชิงเมืองอัสคาลอนในปี ค.ศ. 1153 เบบาร์ดแห่งตรองเมอเลย (Bernard de Tremelay) ได้นำเทมพลาร์ 40 คนล่วงเข้าไปในกำแพงเมืองแต่กองทัพครูเสดที่เหลือไม่ได้ติดตามเข้าไป เหล่าเทมพลาร์รวมถึงผู้นำถูกล้อมจับและประหารโดยการตัดคอ[55] ผู้นำเทมพลาร์ เชราร์ดแห่งรีเดอฟอร์ด (Gérard de Ridefort) ถูกประหารโดยการตัดคอโดยศอลาฮุดดีนในปี ค.ศ. 1189 ที่สงครามชิงเมืองเอเคอร์

ผู้นำกำกับดูแลการดำเนินงานทั้งหมดของคณะ ประกอบไปด้วยการรณรงค์ทางทหารในดินแดนศักดิ์สิทธิ์และในยุโรปตะวันออก และธุรกิจการเงินและธุรกิจการค้าของเทมพลาร์ยุโรปตะวันตก ผู้นำบางคนยังดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสนามรบ แม้ว่าจะเป็นการกระทำที่ไม่ฉลาดนัก ความผิดพลาดหลายครั้งของเชราร์ดซึ่งเป็นผู้นำในการรบมีส่วนทำให้พ่ายแพ้อย่างยับเยินที่ยุทธการฮัททิน ผู้นำคนสุดท้ายคือฌักแห่งมอแล ถูกเผาที่หลักประหารในปารีสในปี ค.ศ. 1314 โดยคำสั่งพระเจ้าฟิลิปที่ 4 แห่งฝรั่งเศส[28]

มรดก

[แก้]
โบสถ์เทมเพิล ลอนดอน เป็นเสมือนวิหารของเทมเพิลใหม่ในลอนดอน เป็นสถานที่สำหรับจัดพิธีรับเข้าเป็นสมาชิกของเทมพลาร์ ในปัจจุบันเป็นโบสถ์ของเทมเพิลกลางและเทมเพิลใน สองในเนติบัณฑิตยสภาของอังกฤษ เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยว

ด้วยภารกิจทางทหารและแหล่งการเงินที่แผ่กว้าง อัศวินเทมพลาร์มีกองทุนมหาศาลสำหรับสร้างสิ่งก่อสร้างจำนวนมากทั่วยุโรปและดินแดนศักดิ์สิทธิ์ สิ่งก่อสร้างหลายแห่งยังคงยืนหยัดอยู่จนถึงปัจจุบัน หลายแห่งมีคำว่า "เทมเพิล (Temple)" อยู่ในชื่อเพราะมีความเกี่ยวข้องกับเทมพลาร์มาหลายศตวรรษ[56] เช่น ผืนดินของเทมพลาร์บางแห่งในลอนดอนซึ่งภายถูกเช่าโดยทนายความ เป็นเหตุนำมาซึ่งชื่อของประตูเทมเพิลบาร์ (Temple Bar) และสถานีรถไฟใต้ดินเทมเพิล รวมถึงสองในสี่แห่งของเนติบัณฑิตยสภาของอังกฤษ (Inns of Court) ซึ่งเป็นสถานฝึกสอนเนติบัณฑิตคือเทมเพิลใน (Inner Temple) และ เทมเพิลกลาง (Middle Temple)

สิ่งที่โดดเด่นทางสถาปัตยกรรมของสิ่งก่อสร้างของเทมพลาร์คือการใช้รูปของ "อัศวินสองนายขี่ม้าตัวเดียวกัน" ซึ่งเป็นตัวแทนความขัดสนของอัศวิน และสิ่งก่อสร้างทรงกลมที่ออกแบบคล้ายกับโบสถ์แห่งสุสานศักดิ์สิทธิ์ (Church of the Holy Sepulchre) ในเยรูซาเลม[57]

องค์กรเทมพลาร์ในปัจจุบัน

[แก้]

เรื่องราวของการประหัตประหารและการสลายตัวอย่างฉับพลันของเหล่าเทมพลาร์ยุคกลางที่ลึกลับแต่ทรงพลังได้ดึงเอากลุ่มอื่น ๆ มากมายมาใช้การกล่าวอ้างถึงความเชื่อมโยงกับเทมพลาร์เพื่อปรับปรุงภาพลักษณ์และความลึกลับของตนเอง[58] ไม่มีความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์ที่ชัดเจนระหว่างอัศวินเทมพลาร์ซึ่งถูกลบออกจากม้วนบันทึกของคริสตจักรคาทอลิกใน ค.ศ. 1309 ด้วยการตายของฌักแห่งมอแล และองค์กรยุคใหม่ต่างๆ ซึ่งปรากฏต่อสาธารณะครั้งแรกในคริสต์ศตวรรษที่ 18[59][60][61][62]

ฟรีเมสัน

[แก้]

ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18[2] ฟรีเมสันได้รวมสัญลักษณ์และพิธีกรรมของภาคีทหารยุคกลางหลายภาคีไว้ในองค์กรเมสันย่อย (Masonic bodies) ต่างๆ ที่โดดเด่นสุดคือ กางเขนแดงแห่งคอนสแตนติน (Red Cross of Constantine) ซึ่งได้แรงบรรดาลใจจาก Military Constantinian Order ภาคีแห่งมอลตา (Order of Malta) ได้แรงบันดาลใจจากอัศวินฮอสปิทัลเลอร์ และภาคีแห่งวิหาร (Order of the Temple) ได้แรงบันดาลใจจากอัศวินเทมพลาร์ โดยเฉพาะสองภาคีหลังมีชื่อเสียงอย่างมากใน York Rite ทฤษฎีหนึ่งอ้างว่าฟรีเมสันสืบสายตรงมาจากอัศวินเทมพลาร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 14 ผู้อพยพหลบหนีข้อกล่าวหาไปยังประเทศสกอตแลนด์และช่วยโรเบิร์ต เดอะ บรูซ (Robert the Bruce) ให้ได้รับชัยชนะที่แบนน็อคเบิร์น ทฤษฎีนี้ถูกปฏิเสธทั้งจากผู้มีอำนาจในองค์กรเมสันย่อย[63] และนักประวัติศาสตร์ [64]เนื่องจากไม่มีหลักฐาน มีคำพูดของนักวิชาการคนหนึ่งกล่าวว่า "ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงอัศวินเทมพลาร์เข้ากับฟรีเมสัน"[65]

ตำนานและวัตถุศักดิ์สิทธิ์

[แก้]

อัศวินเทมพลาร์ถูกนำไปเชื่อมโยงกับตำนานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความลึกลับเหนือหลักการทั่วไปที่สืบย้อนไปตั้งแต่สมัยโบราณ มีการกระพือข่าวลือแม้แต่ช่วงสมัยของเทมพลาร์เอง นักเขียนฟรีเมสันได้เพิ่มความคิดคาดเดาของพวกเขาลงไปในงานเขียนในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และยังมีการเพิ่มเติมเสริมแต่งในนวนิยายยอดนิยม เช่น ไอแวนโฮ (Ivanhoe) ฟูโกล์ แพนดูลัม (Foucault's Pendulum) และ รหัสลับดาวินชี[2] ภาพยนตร์สมัยใหม่ เช่น ปฏิบัติการเดือดล่าขุมทรัพย์สุดขอบโลก และ ขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า 3 ตอน ศึกอภินิหารครูเสด หรือในวิดีโอเกม เช่น Broken Sword และ Assassin's Creed[66]

โดมทองแห่งเยรูซาเลม หนึ่งในสิ่งก่อสร้างบนภูเขาเทมเพิล

หลายตำนานของเทมพลาร์เกี่ยวข้องกับกองบัญชาการในยุคต้น ๆ บนภูเขาเทมเพิลในเยรูซาเลมซึ่งมีการคาดเดากันว่าเทมพลาร์อาจพบเรลิกบางอย่างที่นั่น เช่น จอกศักดิ์สิทธิ์ หรือ หีบแห่งพันธสัญญา[2][12][54] นั่นก็คือเทมพลาร์ต้องครอบครองสิ่งศักดิ์สิทธิ์บางอย่างอยู่แน่นอน โบสถ์หลายแห่งนั้นยังคงแสดงวัตถุมงคลศักดิ์สิทธิ์ เช่น กระดูกนักบุญ เศษผ้าสวมใส่โดยนักบวชผู้ศักดิ์สิทธิ์ หรือกะโหลกของมรณสักขี (martyr) เทมพลาร์ก็ทำเช่นเดียวกัน มีบันทึกของเทมพลาร์ว่ามีกางเขนแท้ (True Cross) ชิ้นหนึ่งที่มุขนายกแห่งเอเคอร์นำติดตัวเข้าสู่การรบที่พบกับความย่อยยับที่เขาแห่งฮัททิน[67] เมื่อการรบยุติลง ศอลาฮุดดีนได้ยึดเรลิกชิ้นนี้ไป ภายหลังนักรบสงครามครูเสดได้ไถ่คืนกลับมาเมื่อมุสลิมยอมจำนนที่เมืองเอเคอร์ในปี ค.ศ. 1191[68] นอกจากนี้เป็นที่รู้กันว่าเทมพลาร์ได้ครอบครองศีรษะของนักบุญยูฟีเมียแห่งคาล์เซดอน (Saint Euphemia of Chalcedon)[69] มีประเด็นของเรลิกที่พบระหว่างการสืบสวนพวกเทมพลาร์ ตามเอกสารการพิจารณาคดีหลายฉบับระบุบการสักการะรูปเคารพบางชนิด เช่น แมว ศีรษะมนุษย์ที่มีเครา หรือในบางกรณีเป็นบาโฟเมต (Baphomet) ข้อกล่าวหาเหล่านี้ นำไปสู่ความเชื่อในปัจจุบันที่ว่าเทมพลาร์ฝึกฝนการใช้เวทมนตร์คาถา[70] อย่างไรก็ตาม นักวิชาการส่วนใหญ่ในปัจจุบันได้อธิบายว่าชื่อบาโฟเมตจากเอกสารพิจารณาคดีเป็นการสะกดชื่อมุหัมมัด (Mahomet) ผิดในภาษาฝรั่งเศส[2][71]

จอกศักดิ์สิทธิ์ได้เข้ามาเกี่ยวพันกับเทมพลาร์ราวคริสต์ศตวรรษที่ 12 นิยายวีรคติที่เกี่ยวกับจอกศักดิ์สิทธิ์เรื่องแรก Le Conte du Graal (เรื่องเล่าของจอกศักดิ์สิทธิ์) ซึ่งเขียนขึ้นราว ค.ศ. 1180 โดยเครเตียง เดอ ทรัว ผู้มาจากที่แห่งเดียวกันกับสถานที่ซึ่งที่ประชุมสภาสังคายนาแห่งทรอยส์ (Council of Troyes) ได้สนับสนุนคณะเทมพลาร์อย่างเป็นทางการ สิบสองปีหลังจากนั้น Parzival นิทานของวอลฟรัม ฟอน เอสเชนบัค (Wolfram von Eschenbach) ได้อ้างถึงเหล่าอัศวินที่เรียกว่า "Templeisen (เทมไพลเซน)" ซึ่งมีหน้าที่ปกป้องอาณาจักรแห่งจอกศักดิ์สิทธิ์[72] วีรบุรุษอื่นที่เกี่ยวข้องกับการค้นหาจอกศักดิ์สิทธิ์ เซอร์กาลลาเฮด (วรรณกรรมศตวรรษที่ 13 ประพันธ์โดยนักพรตจากคณะซิสเตอร์เชียนแห่งนักบุญแบร์นาร์) ที่ได้รับการพรรณาภาพที่ปรากฏบนโล่เป็นรูปกางเขนแห่งนักบุญจอร์จ ซึ่งคล้ายกับตราของเทมพลาร์ นอกจากนี้ วรรณกรรมชิ้นนี้ยังได้แสดงถึงว่าจอกศักดิ์สิทธิ์นั้นเป็นเรลิกศาสนาคริสต์ ตำนานเริ่มมาจากเทมพลาร์มีกองบัญชาการอยู่ที่ภูเขาเทมเพิลในเยรูซาเลม พวกเขาต้องมีการขุดเพื่อค้นหาเรลิกและพบจอกศักดิ์สิทธิ์ จากนั้นนำไปเก็บรักษาในที่รับและพิทักษ์มันไว้ด้วยชีวิต อย่างไรก็ตาม ในเอกสารสอบสวนเทมพลาร์ที่แพร่หลาย ไม่มีประโยคใดเอ่ยถึงสิ่งใดที่มีส่วนคล้ายจอกศักดิ์สิทธิ์นั้นเลย[10] มันอาจถูกทิ้งไว้ในการครอบครองของเทมพลาร์ และไม่มีหลักฐานว่าเทมพลาร์เขียนนิยายวีรคติเรื่องจอกศักดิ์สิทธิ์[73] ในความเป็นจริง นักวิชาการกระแสหลักส่วนใหญ่เห็นว่าเรื่องของจอกศักดิ์สิทธิ์เป็นเพียงที่นิยายวรรณกรรมที่เริ่มแพร่หลายในยุคกลาง[2][12]

สำหรับตำนานอื่นที่มีการอ้างว่ามีความเกี่ยวข้องกับเทมพลาร์คือผ้าห่อศพแห่งตูริน ในปี ค.ศ. 1357 ผ้าห่อศพแห่งตูรินปรากฏตนต่อสาธารณชนครั้งแรกโดยขุนนางที่รู้จักกันในชื่อเชอฟฟรีย์แห่งชาร์เนย์ (Geoffrey of Charney)[74] ซึ่งแหล่งข่าวบางแหล่งกล่าวว่าเป็นสมาชิกในครอบครัวของหลานชายเชอฟเฟรย์แห่งชาร์เนย์ผู้ถูกเผาทั้งเป็นที่หลักประหารพร้อมฌักแห่งมอแล[75] ต้นกำเนิดของผ้าห่อศพยังคงเป็นที่ขัดแย้ง แต่ใน ค.ศ. 1988 การวิเคราะห์ด้วยการหาอายุจากคาร์บอนกัมมันตรังสีแสดงว่าผ้าห่อศพสร้างขึ้นในระหว่าง ค.ศ. 1260 - 1390 ซึ่งเป็นช่วงครึ่งศตวรรษสุดท้ายในการคงอยู่ของเทมพลาร์[76] ความเที่ยงตรงของวิธีการตรวจสอบอายุยังก่อให้เกิดคำถาม และอายุของผ้าห่อศพแห่งตูรินยังคงเป็นหัวข้อในการอภิปรายอย่างแพร่หลาย[77]

วัฒนธรรมร่วมสมัย

[แก้]

อัศวินเทมพลาร์มีความเกี่ยวข้องกับตำนานที่เกี่ยวกับความลับและความลึกลับที่สืบทอดมาจากยุคโบราณ ข่าวลือได้แพร่สะพัดแม้แต่ในช่วงเวลาของเทมพลาร์เอง นักเขียนเมซันนิกได้เพิ่มการคาดเดาของตนเองในศตวรรษที่ 18 และได้รับการปรุงแต่งเพิ่มเติมจนเป็นนวนิยายในนวนิยายยอดนิยม เช่น Ivanhoe, Foucault's Pendulum, และ รหัสลับดาวินชี,[2] ภาพยนตร์สมัยใหม่ เช่น National Treasure, The Last Templar, ขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า 3 ตอน ศึกอภินิหารครูเสด, ซีรีส์ทางโทรทัศน์ Knightfall, รวมถึงวิดีโอเกม เช่น Broken Sword, Deus Ex และ อัสแซสซินส์ครีด[78]

สิ่งนี้เริ่มขึ้นในทศวรรษที่ 1960 มีการคาดเดาถึงสาเหตุในการยึดครองเนินพระวิหารในกรุงเยรูซาเล็ม และการคาดเดาเกี่ยวกับเรลิกที่อัศวินเทมพลาร์อาจค้นพบ เช่น การเสาะหาจอกศักดิ์สิทธิ์หรือหีบแห่งพันธสัญญา[79] หรือการกล่าวหาซึ่งเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ในพิธีสักการะเทวรูป (บาโฟเมต) ก่อนกลายเป็นบริบทของ "มด"[80]

ความคิดที่เชื่อมโยงจอกศักดิ์สิทธิ์กับอัศวินเทมพลาร์มีตัวอย่างอยู่ในนิยายศตวรรษที่ 12 Parzival ของ Wolfram von Eschenbach ที่เรียกผู้พิทักษ์อาณาจักรจอกศักดิ์สิทธิ์ ว่า templeisen เป็นการประพันธ์นวนิยายถึง templarii[81]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Malcolm Barber, The New Knighthood: A History of the Order of the Temple. Cambridge University Press, 1994. ISBN 0-521-42041-5.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 2.7 2.8 The History Channel, Decoding the Past: The Templar Code, 7 November 2005, video documentary written by Marcy Marzuni.
  3. Martin, p. 47.
  4. Nicholson, p. 4.
  5. Malcolm Barber, The Trial of the Templars. Cambridge University Press, 1978. ISBN 0-521-45727-0.
  6. Burman, pp. 13, 19.
  7. Read, The Templars. p. 91.
  8. Barber, The New Knighthood, p. 7.
  9. Burman, p. 40.
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 The History Channel, Lost Worlds: Knights Templar, July 10, 2006, video documentary written and directed by Stuart Elliott.
  11. Stephen A. Dafoe. "In Praise of the New Knighthood". TemplarHistory.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-03-26. สืบค้นเมื่อ March 20, 2007.
  12. 12.0 12.1 12.2 12.3 Sean Martin, The Knights Templar: The History & Myths of the Legendary Military Order, 2005. ISBN 1-56025-645-1.
  13. Ralls, Karen (2007). Knights Templar Encyclopedia. Career Press. p. 28. ISBN 9781564149268.
  14. Benson, Michael (2005). Inside Secret Societies. Kensington Publishing Corp. p. 90.
  15. Martin, p. 99.
  16. Martin, p. 113.
  17. Demurger, p.139 "During four years, Jacques de Molay and his order were totally committed, with other Christian forces of Cyprus and Armenia, to an enterprise of reconquest of the Holy Land, in liaison with the offensives of Ghazan, the Mongol Khan of Persia.
  18. Nicholson, p. 201. "The Templars retained a base on Arwad island (also known as Ruad island, formerly Arados) off Tortosa (Tartus) until October 1302 or 1303, when the island was recaptured by the Mamluks."
  19. Nicholson, p. 5.
  20. 20.0 20.1 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ quantity
  21. Nicholson, p. 237.
  22. Barber, Trial of the Templars, 2nd ed. "Recent Historiography on the Dissolution of the Temple." In the second edition of his book, Barber summarizes the views of many different historians, with an overview of the modern debate on Philip's precise motives.
  23. "Friday the 13th". snopes.com. สืบค้นเมื่อ March 26, 2007.
  24. David Emery. "Why Friday the 13th is unlucky". urbanlegends.about.com. สืบค้นเมื่อ March 26, 2007.
  25. Barber, Trial of the Templars, p. 178.
  26. Martin, p. 118.
  27. Martin, p. 122.
  28. 28.0 28.1 Barber, Trial, 1978, p. 3.
  29. "Convent of Christ in Tomar". World Heritage Site. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-12-31. สืบค้นเมื่อ March 20, 2007.
  30. Martin, pp. 123–124.
  31. Martin, p. 125.
  32. Martin, p. 140.
  33. Martin, pp. 140–142.
  34. Burman, p. 28.
  35. Barber, Trial, 1978, p. 10.
  36. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ burman-45
  37. Burman, p. 43.
  38. Burman, pp. 30–33.
  39. Martin, p. 32.
  40. Barber, New Knighthood, p. 190.
  41. Martin, p. 54.
  42. "The Knights Templars" in the 1913 Catholic Encyclopedia.
  43. Barber, New Knighthood, p. 191.
  44. 44.0 44.1 Burman, p. 44.
  45. Barber, The New Knighthood, page 66: "According to William of Tyre it was under Eugenius III that the Templars received the right to wear the characteristic red cross upon their tunics, symbolising their willingness to suffer martyrdom in the defence of the Holy Land." (WT, 12.7, p. 554. James of Vitry, 'Historia Hierosolimatana', ed. J. ars, Gesta Dei per Francos, vol I(ii), Hanover, 1611, p. 1083, interprets this as a sign of martyrdom.)
  46. Martin, The Knights Templar, page 43: "The Pope conferred on the Templars the right to wear a red cross on their white mantles, which symbolised their willingness to suffer martyrdom in defending the Holy Land against the infidel."
  47. Read, The Templars, page 121: "Pope Eugenius gave them the right to wear a scarlet cross over their hearts, so that the sign would serve triumphantly as a shield and they would never turn away in the face of the infidels': the red blood of the martyr was superimposed on the white of the chaste." (Melville, La Vie des Templiers, p. 92.)
  48. Burman, p. 46.
  49. Martin, p. 52.
  50. Newman, Sharan (2007). The Real History Behind the Templars. Berkeley Publishing. pp. 304–12.
  51. Barber, Trial, 1978, p. 4.
  52. Nicholson, p. 141.
  53. Barber, New Knighthood, p. 193.
  54. 54.0 54.1 Picknett, Lynn and Prince, Clive (1997). The Templar Revelation. New York, N.Y.: Simon & Schuster. ISBN 0-684-84891-0.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  55. Read, p. 137.
  56. Martin, p. 58.
  57. Barber, New Knighthood (1994), pp. 194–195
  58. Finlo Rohrer (19 October 2007). "What are the Knights Templar up to now?". BBC News Magazine. สืบค้นเมื่อ 2008-04-13.
  59. The Mythology Of The Secret Societies (London: Secker and Warburg, 1972). ISBN 0-436-42030-9
  60. Peter Partner, The Murdered Magicians: The Templars And Their Myth (Oxford: Oxford University Press, 1982). ISBN 0-19-215847-3
  61. John Walliss, Apocalyptic Trajectories: Millenarianism and Violence In The Contemporary World, page 130 (Bern: Peter Lang AG, European Academic Publishers, 2004). ISBN 3-03910-290-7
  62. Michael Haag, Templars: History and Myth: From Solomon's Temple To The Freemasons (Profile Books Ltd, 2009). ISBN 978-1-84668-153-0
  63. Knights Templar FAQ, accessed 10 January 2007.
  64. "Freemasonry Today periodical (Issue January 2002)". Grand Lodge Publications Ltd. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 March 2011. สืบค้นเมื่อ 2011-05-28.
  65. Miller, Duane (2017). 'Knights Templar' in War and Religion, Vol 2. Santa Barbara, California: ABC–CLIO. p. 464. สืบค้นเมื่อ 28 May 2017.
  66. El-Nasr, Magy Seif. "Assassin's Creed: A Multi-Cultural Read". pp. 6–7. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-11-06. สืบค้นเมื่อ 2009-10-01. we interviewed Jade Raymond ... Jade says ... Templar Treasure was ripe for exploring. What did the Templars find {{cite web}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)
  67. Read, p. 91.
  68. Read, p. 171.
  69. Martin, p. 139.
  70. Sanello, Frank (2003). The Knights Templars: God's Warriors, the Devil's Bankers. Taylor Trade Publishing. pp. 207–208. ISBN 0-87833-302-9.
  71. Barber, Trial of the Templars, 1978, p. 62.
  72. Martin, p. 133.
  73. Karen Ralls, Knights Templar Encyclopedia: The Essential Guide to the People, Places, Events and Symbols of the Order of the Temple, page 156 (The Career Press, Inc., 2007). ISBN 978-156414-926-8
  74. Barber, The New Knighthood, p. 332
  75. Newman, p. 383
  76. Barrett, Jim (Spring 1996). "Science and the Shroud: Microbiology meets archeology in a renewed quest for answers". The Mission. สืบค้นเมื่อ February 13, 2009.
  77. Relic, Harry Gove (1996) Icon or Hoax? Carbon Dating the Turin Shroud ISBN 0-7503-0398-0.
  78. Magy Seif El-Nasr; Maha Al-Saati; Simon Niedenthal; David Milam. "Assassin's Creed: A Multi-Cultural Read". pp. 6–7. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 6 พฤศจิกายน 2009. สืบค้นเมื่อ 1 ตุลาคม 2009. we interviewed Jade Raymond ... Jade says ... Templar Treasure was ripe for exploring. What did the Templars find{{cite web}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  79. Louis Charpentier, Les Mystères de la Cathédrale de Chartres (Paris: Robert Laffont, 1966), translated The Mysteries of Chartres Cathedral (London: Research Into Lost Knowledge Organization, 1972).
  80. Sanello, Frank (2003). The Knights Templars: God's Warriors, the Devil's Bankers. Taylor Trade Publishing. pp. 207–08. ISBN 978-0-87833-302-8.
  81. Martin 2005, p. 133. Helmut Brackert, Stephan Fuchs (eds.), Titurel, Walter de Gruyter, 2002, p. 189 เก็บถาวร 1 กรกฎาคม 2017 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. There is no evidence of any actual connection of the historical Templars with the Grail, nor any claim on the part of any Templar to have discovered such a relig. See Karen Ralls, Knights Templar Encyclopedia: The Essential Guide to the People, Places, Events and Symbols of the Order of the Temple, p. 156 (The Career Press, Inc., 2007). ISBN 978-1-56414-926-8

บรรณานุกรม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]