มูฮัมหมัด อาลี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มูฮัมหมัด อาลี
ชื่อจริงมูฮัมหมัด อาลี
ฉายาBlack Superman
The Greatest
สิงห์จอมโว (ภาษาไทย)
น้ำหนักไลท์เฮฟวีเวท (มวยสากลสมัครเล่น)​
เฮฟวีเวท
ส่วนสูง191 เซนติเมตร
เกิด17 มกราคม พ.ศ. 2485
ลุยส์วิลล์, สหรัฐอเมริกา,
เสียชีวิต3 มิถุนายน พ.ศ. 2559 (อายุ 74 ปี)
สกอตส์เดล, สหรัฐอเมริกา
ชกทั้งหมด61
ชนะ56
ชนะน็อก37
แพ้5
เสมอ0
สถิติเหรียญโอลิมปิก
มวยสากลสมัครเล่น
โอลิมปิกฤดูร้อน
เหรียญทอง - ชนะเลิศ โรม 1960 ไลท์เฮฟวี่เวท

มูฮัมหมัด อาลี (อังกฤษ: Muhammad Ali) เป็นอดีตยอดนักมวยชาวอเมริกันในรุ่นเฮฟวี่เวทผู้เป็นตำนาน อาลีมีชื่อจริงแต่กำเนิดว่า เคสเซียส มาเซลลัส เคลย์ จูเนียร์ (Cassius Marcellus Clay Jr.) แต่นิยมเรียกว่า เคสเซียส เคลย์ (Cassius Clay)

ชีวประวัติและผลงาน[แก้]

อาลีขึ้นชกมวยครั้งแรกเมื่ออายุได้เพียง 12 ปี โดยมีครูฝึกเป็นตำรวจเชื้อสายไอริชชื่อ โจ มาร์ติน จุดประสงค์แรกก็คือให้อาลีใช้เป็นทักษะการต่อสู้เพื่อปกป้องจักรยานราคา 60 ดอลลาร์ของตนจากเด็กละแวกบ้านเดียวกัน อาลีได้พัฒนาฝีมือการชกขึ้นตามลำดับจนกระทั่งคว้าแชมป์มวยสากลสมัครเล่นรุ่นไลท์เฮฟวี่เวทของเมืองลุยส์วิลล์ จากนั้นได้ครองแชมป์ระดับภูมิภาคของชิคาโก ได้แชมป์มวยสากลสมัครเล่นแห่งชาติ และประสบความสำเร็จสูงสุดจากการได้เหรียญทองในรุ่นไลท์เฮฟวีเวทในการแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี แต่การเดินทางด้วยเครื่องบินในครั้งนั้น อาลีกลัวเครื่องบินจะตกมาก ถึงขนาดสวมใส่เสื้อชูชีพไว้ตลอดการเดินทาง[1]

หลังจากนั้นอาลีได้เดินทางกลับสหรัฐอเมริกาเยี่ยงวีรบุรุษ แต่เมื่อเขาได้เข้าไปที่ภัตตาคารแห่งหนึ่งเพื่อที่จะเฉลิมฉลอง กลับถูกบริกรในร้านปฏิเสธเพราะมีข้อกำหนดว่าบริการเฉพาะคนผิวขาวเท่านั้น อาลีจึงตอบโต้ด้วยการเขวี้ยงเหรียญที่ได้รับลงแม่น้ำโอไฮโอเพื่อเป็นการประท้วง แต่เขากลับอ้างว่าไม่ได้เขวี้ยง แต่ลืมทิ้งไว้ไม่รู้หายไปไหน ซึ่งอีกหลายปีต่อมาในโอลิมปิคที่แอตแลนต้า ทางคณะกรรมการโอลิมปิกสากลได้มอบเหรียญรางวัลใหม่เพื่อเป็นเกียรติให้แก่เขา[1]

อาลีได้ขึ้นชกมวยอาชีพครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2503 โดยมีแองเจโล่ ดันดี เทรนเนอร์ชื่อดังระดับโลกเป็นผู้ฝึกสอน ซึ่งการชกภายใต้การควบคุมของดันดี ทำให้อาลีพัฒนาสไตล์การชกแตกต่างไปจากนักมวยในรุ่นเฮฟวีเวทคนอื่น ๆ มาก เพราะอาลีแม้จะเป็นมวยรุ่นใหญ่แต่สามารถชกคู่ต่อสู้ขณะเต้นฟุทเวิร์กได้ตลอดเวลาอย่างสวยงามและมีลีลาเหมือนมวยรุ่นเล็ก แต่ก็ยังปล่อยหมัดได้แม่นยำและหนักหน่วง ถึงขนาดสามารถที่จะชกพร้อมกับเต้นถอยหลังได้ จึงทำให้อาลีได้รับนิยามว่า "โบยบินเหมือนผีเสื้อ ต่อยเจ็บเหมือนผึ้ง" (Float like a Butterfly, Sting Like a Bee) จุดนี้ทำให้อาลีนำพู่มาติดที่รองเท้าเป็นรายแรกยามที่พู่สะบัดก็จะยิ่งเพิ่มความงดงามให้กับการชกของตน

อาลีขึ้นชิงแชมป์โลกครั้งแรกกับซอนนี ลิสตัน นักมวยจอมโหดผู้เคยผ่านการติดคุกมาแล้ว เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2507 ในการชกครั้งนี้หลายฝ่ายคาดว่าอาลีคงต้องถูกน็อกอย่างแน่ แต่อาลีกลับเป็นฝ่ายที่สามารถชนะอาร์ทีดี (คู่ต่อสู้ขอยอมแพ้หลังหมดยก) ลิสตันได้ในยก 6 และได้ชื่อเสียงมาในเวลาเพียงชั่วข้ามคืน

ในปี พ.ศ. 2509 อาลีได้รับหมายเกณฑ์เพื่อเข้าร่วมรบในสงครามเวียดนามเขาถูกจัดให้อยู่ในประเภท A-1 (ดีเยี่ยม) โดยทางการให้สัญญาว่า ตำแหน่งของเขาจะอยู่ห่างจากสมรภูมิหลายร้อยไมล์ แต่อาลีก็ตอบโต้คำสั่งด้วยประโยคที่เป็นอมตะว่า "ผมไม่เคยมีเรื่องราวอะไรกับพวกเวียดกง" (I ain't got no quarrel with them Viet Cong) นั่นทำให้ในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2510 อาลีปฏิเสธอย่างเป็นทางการว่าจะไม่เข้าร่วมในกองทัพ อีก 10 วันต่อมาเขาถูกดำเนินคดีที่ฮิวสตันในข้อหาหลีกเลี่ยงทหาร ผู้พิพากษา โจ อิงแกรม ตัดสินให้เขาได้รับโทษสูงสุดคือจำคุก 5 ปี และปรับเป็นเงิน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในระหว่างการยื่นอุทธรณ์อาลีถูกสั่งห้ามชก

ตัวอย่างของอาลียังทำให้ มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ ที่ยังลังเลที่จะต่อต้านนโยบายของรัฐบาลประธานาธิบดีจอห์นสัน ได้แสดงแนวความต่อต้านสงครามของตนออกมาเป็นครั้งแรก[2]

จากนั้นอาลีได้ทำในสิ่งที่ชาวโลกตะลึง เมื่อจู่ ๆ เขาประกาศว่าเขาหันมานับถือศาสนาอิสลาม โดยคำสอนของศาสนาไม่ให้ไปเข่นฆ่าผู้คน ดังนั้นการเกณฑ์เป็นทหารจึงเป็นสิ่งที่เขารับไม่ได้ และได้เปลี่ยนชื่อจากเคสเซียส เคลย์ มาเป็น มูฮัมหมัด อาลี อย่างที่รู้จักกันแพร่หลาย ซึ่งชื่อนี้ อีไลจาห์ มูฮัมหมัด ผู้นำมุสลิมในสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ตั้งให้ โดยมีความหมายว่า "ควรค่าแก่การสรรเสริญ" แต่อย่างไรก็ตาม อาลีเคยให้สัมภาษณ์ว่า ในตอนแรกทีขึ้นชกมวยเขาเคยใช้ชื่อว่า "เคสเซียส เอ็กซ์" (Cassius X) ตามแบบแมลคัม เอ็กซ์ นักต่อสู้เพื่อสิทธิคนผิวดำในสหรัฐอเมริกา[1]

คำร้องอุทธรณ์ของอาลีมาประสบความสำเร็จในวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2514 คำตัดสินของศาลสูงสุดยกฟ้องด้วยเสียง 8:0 นับเป็นระยะเวลา 3 ปีที่อาลีไม่ได้ขึ้นเวทีชกมวยเลย ซึ่งปัจจุบันหลายฝ่ายเห็นว่า นั่นคือช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตของเขา น่าจะเป็นช่วงที่อาลีขึ้นถึงจุดสูงสุดในชีวิตการชกมวยได้ แต่กลับต้องเลยผ่านไปอย่างน่าเสียดาย

นักมวยรุ่นเฮฟวีเวทในระยะเวลาเดียวกันนั้นที่นับได้ว่าเป็นคู่ปรับคนสำคัญของอาลีคือ โจ เฟรเซียร์ ทั้งคู่พบกันบนเวทีหลายครั้ง และทุกครั้งก็นับการเป็นการชกครั้งประวัติศาสตร์ ในครั้งแรกเฟรเซียร์สามารถเอาชนะคะแนนอาลีได้ในเวลา 15 ยก แต่กระนั้นเฟรเซียร์ก็ต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลนานถึง 10 เดือน ด้วยฤทธิ์หมัดของอาลี ต่อมาทั้งคู่ชกกันอีกที่ฟิลิปปินส์ ในศึกที่มีชื่อว่า "Thrilla in Manila" คราวนี้เฟรเซียร์เป็นฝ่ายแพ้อาร์ทีดีไปในยกที่ 14

อีกครั้งหนึ่งที่นับเป็นการชกครั้งประวัติศาสตร์ของอาลีและของวงการมวยโลก คือ การพบกับ จอร์จ โฟร์แมน ซึ่งขณะนั้นโฟร์แมนเป็นแชมป์โลกอยู่ และเป็นการชิงแชมป์โลกครั้งที่ 3 ในชีวิตของอาลี ในศึกที่มีชื่อว่า "The Rumble in the Jungle" ที่กรุงกินซาซ่า ประเทศซาอีร์ การชกครั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นการจัดชกมวยระดับโลกเป็นครั้งแรกใจกลางทวีปแอฟริกาด้วย แต่หากยังมีนัยทางการเมืองแฝงอยู่ด้วย เพราะในขณะนั้นกระแสการเหยียดสีผิวกระเพื่อมรุนแรงมากในทั่วทุกมุมโลก โดยโปรโมเตอร์ผู้จัดครั้งนี้คือ ดอน คิง ซึ่งต่อมาศึกครั้งนี้ได้สร้างชื่อให้กับดอน คิง แจ้งเกิดได้ในวงการมวยระดับโลกมาจนปัจจุบัน

ผลการชก โฟร์แมนเป็นฝ่ายเดินเข้าหาและปล่อยหมัดใส่อาลีตั้งแต่ยกแรก ขณะที่อาลีได้แต่ปัดป้องและถอยพิงเชือก จนกระทั่งถึงยกที่ 8 ขณะที่โฟร์แมนเริ่มหมดแรง อาลีเริ่งระดมปล่อยหมัดจนกระทั่งกรรมการยุติการชก ทำให้อาลีได้กลับมาเป็นแชมป์โลกสมัยที่ 2 ได้ในที่สุด ซึ่งในอีกหลายปีต่อมาโฟร์แมนได้เปิดเผยว่า ตนถูกฝ่ายอาลีและดอน คิง เอาเปรียบทุกอย่างและมีการเตรียมเชือกกั้นเวทีให้หย่อนกว่าปกติเพื่อที่อาลีจะได้โยกหลบหมัดของตนได้อย่างเต็มที่

อาลีมาเสียแชมป์โลกเมื่อเป็นฝ่ายแพ้คะแนน 15 ยกแก่ ลีออน สปิงก์ส์ นักมวยรุ่นน้องอดีตแชมป์เหรียญทองโอลิมปิคที่มอนทรีออล แม้ต่อมาจะเป็นฝ่ายแก้มือเอาชนะสปิงก์ส์ในครั้งต่อมาได้ ปีต่อมาก็ประกาศแขวนนวม แต่ก็อีกไม่นานก็คัมแบ็คกลับมาด้วยการแพ้อาร์ทีดีในยกที่ 10 ต่อ แลร์รี โฮล์มส์ เมื่อ วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2523 ต่อมากลายเป็นแชมป์โลกรุ่นเฮฟวีเวทที่สามารถป้องกันตำแหน่งได้มากถึง 17 ครั้ง อาลีขึ้นชกมวยครั้งสุดท้ายก็เป็นฝ่าย​แพ้คะแนน ต่อ เทรเวอร์ เบอร์บิก ที่ต่อมากลายเป็นแชมป์โลก WBC รุ่นเฮฟวีเวท โดยสภาพร่างกายของอาลีไม่ไหวแล้ว ในวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2524

สำหรับการชกที่ถือว่าอาลีต้องเจ็บตัวมากที่สุด คือการพ่ายแพ้แก่ เคน นอร์ตัน นักมวยโนเนมในขณะนั้น เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2516 แม้จะเป็นฝ่ายแพ้คะแนน แต่หลังการชกอาลีถูกตรวจพบว่าถึงกับกรามหักจากฤทธิ์หมัดของนอร์ตัน

อาลี หลังแขวนนวม

มูฮัมหมัด อาลี ถือว่าเป็นนักมวยผู้เป็นตำนานในหลายด้าน นอกจากบุคลิกที่โดดเด่น กล้าคิด กล้าพูด หลายเรื่องที่อาลีแสดงความเห็นและแสดงออกทางสังคมล้วนแต่มีนัย มีความหมายทั้งสิ้น ประกอบกับกระแสการเมืองทั้งในสหรัฐอเมริกาและการเมืองโลกขณะนั้นยิ่งทำให้อาลีกลายเป็นบุคคลที่โดดเด่นขึ้นมา ได้รับเชิญให้ไปบรรยายในมหาวิทยาลัยและสถานที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ จนได้รับการคัดเลือกให้เป็นบุคคลแห่งปีของหลายสถาบัน และได้รับเลือกให้เป็นบุคคลในวงการกีฬาแห่งปี พ.ศ. 2517 ของนิตยสารสปอร์ตอิลลัสเตรด อีกทั้งยังเป็นนักมวยรายแรกที่กล้าทำนายผลการชกของตัวเองล่วงหน้า แม้จะฟังดูว่าอวดตัวเอง แต่อาลีก็สามารถทำได้ในหลายต่อหลายครั้ง จนทำให้มีจอห์นนี เวกกิน นักดนตรีชาวอังกฤษแต่งเพลงให้แก่อาลีชื่อ "Black Superman" ซึ่งต่อมาคำนี้ได้กลายเป็นฉายาของอาลีในภาษาอังกฤษด้วย และในส่วนของแฟนมวยชาวไทยได้ให้ฉายาแก่อาลีในแบบที่สอดคล้องกับชื่อภาษาอังกฤษว่า "สิงห์จอมโว"

ชีวิตครอบครัว อาลีสมรสทั้งหมด 4 ครั้ง มีบุตรทั้งหมด 9 คน เป็นหญิง 7 คน ชาย 2 คน โดยอาลีสมรสครั้งแรกกับ ซอนจี รอย สาวเสิร์ฟค็อกเทล เมื่อปี พ.ศ. 2507 หลังรู้จักกันได้เพียง 1 เดือนก่อนจะเลิกรากันในอีก 2 ปีถัดมา จากนั้นจึงสมรสเป็นครั้งที่ 2 กับ เบลินดา บอยด์ เมื่อปี พ.ศ. 2510 มีบุตรสาว 3 คน บุตรชาย 1 คน แต่หย่าร้างกันในปี พ.ศ. 2519 จากนั้นปีถัดมาสมรสใหม่อีกครั้งกับ เวโรนิกา พอร์ช มีบุตรสาวทั้งหมด 4 คน แต่ก็หย่าอีกเมื่อปี พ.ศ. 2529 และปีเดียวกันนั้นเอง อาลีสมรสครั้งสุดท้ายกับ โยลันดา วิลเลียมส์ และรับอุปการะเด็กมาเลี้ยง[3]

หลังแขวนนวม มูฮัมหมัด อาลี ได้ทำงานเกี่ยวกับสาธารณกุศลไปทั่วโลก และในสงครามอ่าวเปอร์เซีย เมื่อปี พ.ศ. 2533 เมื่ออิรักบุกยึดคูเวตได้แล้ว กองทัพอิรักได้จับกุมตัวประกันชาวอเมริกันได้กว่า 2,000 ราย อาลีได้เสนอตัวเข้าไปเป็นผู้เจรจาปล่อยตัวประกันด้วยตนเองกับประธานาธิบดี ซัดดัม ฮุสเซน ถึงกรุงแบกแดก ด้วยคิดว่าชื่อเสียงของเขาและการที่เป็นชาวมุสลิมเหมือนกันจะช่วยให้การเจรจาเป็นไปได้ด้วยดี ปรากฏว่าความพยายามของอาลีเป็นที่สำเร็จ เมื่อทางฮุสเซนยอมปล่อยตัวประกันออกมา 15 ราย หลังจากใช้เวลาเจรจาเพียง 50 นาที [1]

นอกจากนี้แล้ว อาลียังเป็นที่รับรู้กันดีว่าเป็นโรคพาร์กินสันหรือโรคเมาหมัด ซึ่งเป็นผลจากการชกมวย แต่ในพิธีเปิดโอลิมปิคที่แอตแลนต้า อาลีได้รับเกียรติจากคณะกรรมการจัดการแข่งขัน ให้เป็นบุคคลสุดท้ายที่จุดคบเพลิงด้วยมือที่สั่นเทา แต่อาลีก็สามารถทำได้ เป็นที่ประทับใจของผู้คนทั่วโลก แม้กระทั่งบิล คลินตัน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ผู้เป็นประธานพิธีเปิดถึงกับหลั่งน้ำตาด้วยความซาบซึ้ง[1]

ต่อมาเขาถูกยกย่องให้เป็นแชมป์โลกตลอดกาลในรุ่นเฮฟวีเวทโดยสมาคมมวยโลก ในปี 2554

อาลี เสียชีวิตในวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2559 ที่โรงพยาบาลในเมืองสกอตส์เดล รัฐแอริโซนา เวลา 21:00 น. ตามเวลาท้องถิ่น จากโรคพาร์กินสันและระบบทางเดินหายใจ ขณะอายุได้ 74 ปี [4] และหลังจากข่าวการเสียชีวิตได้เป็นที่รับรู้กัน ได้มีการแสดงความเสียใจจากบุคคลในวงการมวยระดับโลกหลายคนและอีกหลากหลายวงการ เช่น ดอน คิง, จอร์จ โฟร์แมน, ไมก์ ไทสัน, แมนนี ปาเกียว และฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ รวมถึงบารัก โอบามา[3]

เกียรติ​ประวัติ​[แก้]

ในวัฒนธรรมร่วมสมัย[แก้]

ภาพยนตร์[แก้]

ชีวิตของมูฮัมหมัด อาลี ได้ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์อย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2539 กับเรื่อง "When We Were Kings" เป็นภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับเรื่องราวของศึก Rumble in the Jungle ที่ซาอีร์ ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จอย่างมากเมื่อได้รับรางวัลออสการ์ ประเภทภาพยนตร์สารคดีในปีนั้นด้วย (ในประเทศไทยได้นำมาฉายที่โรงภาพยนตร์ที่เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ในชื่อภาษาไทยว่า "วันเวลาของราชันย์" และต่อมาทางสหมงคลฟิล์มผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ก็ได้ออกวิดีโอออกมาจัดจำหน่ายและให้เช่า)

อีกครั้งในปี พ.ศ. 2544 ในชื่อ "Ali" (ชื่อภาษาไทย อาลี กำปั้นท้าชนโลก ฉายในประเทศไทยเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2545) เป็นภาพยนตร์เรื่องราวชีวประวัติของอาลีล้วน ๆ กำกับโดย ไมเคิล แมนน์ นำแสดงเป็นอาลี โดย วิลล์ สมิธ ภาพยนตร์ได้มีชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ในสาขารางวัลดารานำชายและดาราประกอบชาย ถึง 2 รางวัลด้วยกัน

มูฮัมหมัด อาลี ยังเคยแสดงภาพยนต์เรื่อง The Greatest ซึ่งเป็นภาพยนตร์ชีวประวัติของตัวเขาเอง เขาได้รับบทเป็นตัวเอง ซึ่งเป็นหนังเรื่องเดียวที่ตัวเขาเล่น

หนังสือการ์ตูน[แก้]

มูฮัมหมัด อาลี ได้รับเกียรติเป็นตัวละครสำคัญในหนังสือการ์ตูน Superman vs Muhammad Ali ซึ่งวางจำหน่ายช่วงปี พ.ศ. 2521 ซึ่งในฉบับนี้หน้าปกยังมีบุคคลดังในยุคนั้นแฝงอยู่อีกหลายคน เช่น แฟรงก์ ซินาตรา, เดอะแจ็กสันไฟฟ์ หรือแม้กระทั่งบุคคลสมมติเช่น เล็กซ์ ลูเธอร์ และแบทแมน และจัดพิมพ์ใหม่อีกครั้งในช่วงปี พ.ศ. 2553

อัลบั้มเพลง[แก้]

นอกจากนี้แล้ว มูฮัมหมัด อาลี ยังได้เคยออกสตูดิโออัลบั้มกับโคลัมเบียเรเคิดส์ ในปี พ.ศ. 2506 ใช้ชื่อว่า "I Am The Greatest" มีเพลงเด่น คือ Stand by Me ซึ่งคัฟเวอร์มาจากต้นฉบับของเบน อี. คิง[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 "ฟ้าวันใหม่นิวส์ 05 06 59 เบรก2". ฟ้าวันใหม่. 5 June 2016. สืบค้นเมื่อ 6 June 2016.
  2. "BACKTALK; Today's Athletes Owe Everything to Ali – Page 3 – New York Times". The New York Times. April 30, 2000. สืบค้นเมื่อ September 5, 2011.
  3. 3.0 3.1 หน้า 8 ต่อข่าวหน้า 1, ปิดตำนานนักชก 'อาลี'สิงห์จอมโว. เดลินิวส์ฉบับที่ 24,342: วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2559 ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 7 ปีวอก
  4. "ฮัมหมัด อาลี อดีตนักมวยดังในตำนาน ชาวอเมริกันเสียชีวิต ด้วยวัย74ปี". โพสต์ทูเดย์. 4 June 2016. สืบค้นเมื่อ 4 June 2016.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]