ข้ามไปเนื้อหา

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์

หน้าถูกกึ่งป้องกัน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พระเจ้าวรวงศ์เธอ
พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์
พระเจ้าวรวงศ์เธอ
พระองค์เจ้าชั้นโท
ประสูติ8 ตุลาคม พ.ศ. 2525 (42 ปี)
พระตำหนักใหม่ สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต กรุงเทพมหานคร
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาวีระยุทธ ดิษยะศริน
พระมารดาสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
ศาสนาพุทธ
ลายพระอภิไธย

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ (ประสูติ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2525) เป็นพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี กับวีระยุทธ ดิษยะศริน เป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเป็นพระภาคิไนยในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระประวัติ

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ หรือพระนามลำลองว่า พระองค์หริภา ประสูติเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2525[1] ณ พระตำหนักใหม่ สวนจิตรลดา เป็นพระธิดาพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี กับนาวาอากาศเอกวีระยุทธ ดิษยะศริน มีพระขนิษฐาหนึ่งพระองค์ คือพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ

เมื่อประสูติพระองค์ดำรงพระยศที่ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้า ด้วยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระโอรสพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ให้ดำรงฐานันดรศักดิ์เป็น พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้า ทุกพระองค์[2] ซึ่งพระยศดังกล่าวเทียบเท่าตำแหน่ง "พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า"[3]

การศึกษา

พระองค์เข้ารับการศึกษาระดับอนุบาลปีที่ 1 – ประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนจิตรลดา, ประถมศึกษาปีที่ 5 – มัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนฮอล์ตัน-อามส์ (Holton-Arms School) รัฐแมริแลนด์ สหรัฐอเมริกา, ระดับเกรด 8 โรงเรียนเฮอร์เบิร์ตฮูเวอร์มิดเดิล (Herbert Hoover Middle School) สหรัฐอเมริกา, ระดับเกรด 8-11 โรงเรียนมัธยมวอลเตอร์ จอห์นสัน (Walter Johnson High School) สหรัฐอเมริกา ภายหลังได้นิวัติกลับประเทศไทยและเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5-6 โรงเรียนจิตรลดา

ส่วนระดับอุดมศึกษา ทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาภาพพิมพ์ (เกียรตินิยมอันดับ 2) คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร[4]

ปัจจุบันสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโท สาขาศิลปไทย ภาควิชาศิลปไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร[5]

พระกรณียกิจ

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ทรงประกอบพระกรณียกิจทั้งในด้านการสนองพระเดชพระคุณในฐานะพระราชวงศ์ และพระกรณียกิจในด้านต่างๆ อาทิ

  • รองประธานกิตติมศักดิ์ มูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
  • นายกสมาคมกิตติมศักดิ์ สมาคมกีฬาทางอากาศและการบินแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
  • ประธาน ศูนย์ปฏิบัติการบินอาสา อนุรักษ์และกู้ภัย สิริภาจุฑาภรณ์ เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ประสบภัยพิบัติ [6]
  • โครงการงานบ้านกู้ภัย “โครงการบ้านกู้ภัยร่วมใจสิริภา” เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบพิบัติภัย

ทั้งนี้ยังทรงแบ่งเบาพระกรณียกิจของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีในบางวาระ[7]

ด้านศิลปะ

ทรงส่งเสริมงานด้านต่าง ๆ ของคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมไทย ต่างๆ อาทิ

  • ทรงจัดประมูลงาน “ภาพฝีพระหัตถ์พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์” เพื่อช่วยเหลือสุนัขจรจัด ในงาน “นิทรรศการศิลปะเพื่อสุนัข My Friends”
  • งานบูรณะพระวิหาร บูรณะภาพจิตรกรรมฝาผนังบูรณะศาลาบ่อทิพย์ และปรับพื้นที่ภูมิทัศน์ วัดธาราทิพย์ชัยประดิษฐ์ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
  • โครงการจัดสร้างสวนประติมากรรม “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพุทธศาสนา” เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ และสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับชุมชน
  • โครงการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์เวียงท่ากาน ตำบลบ้านกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่
  • โครงการวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังพระวิหารวัดหนองน้ำขุ่น ตำบลวังหว้า อำเภอแกลง จังหวัดระยอง

ดังเช่นในโครงการวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังพระวิหารในวัดหนองน้ำขุ่น จังหวัดระยอง ที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถทรงรับไว้ในพระอุปถัมภ์ ได้มอบหมายให้พระองค์ดูแล พระองค์ใช้เวลาในการสำรวจเก็บข้อมูลอยู่หลายวัน โดยทรงปรึกษาหารือกับทางวัด และประชาชนในท้องถิ่นในการเขียนภาพด้วยพระองค์เอง[8] และตั้งพระทัยในงานนี้อย่างเต็มกำลังจนมิได้บรรทมติดกันสองวันเต็ม ในการนี้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ จึงรับสั่งต่อพระองค์ว่า"บรรทมบ้างเดี๋ยวจะทรุด"[8] ทั้งยังชมเชยภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ ความว่า "สวย ๆ สวยมากหลาน ละเอียดดีมาก ความหมายก็ดีด้วย ป้าชอบ"[8]

เมื่อวันเสาร์ที่ 5 ตุลาคม 2567 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ (เสด็จเป็นการส่วนพระองค์) ลงพื้นที่บริเวณชุมชนคลองแม่ข่า จังหวัดเชียงใหม่ ทรงประทานข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำดื่ม ข้าวกล่อง และสิ่งของต่าง ๆ ให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ยังสูงมาก ทั้งนี้ ยังทรงช่วยชาวบ้านและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ติดอยู่ในพื้นที่ออกมาไม่ได้ น้ำส่งไปยังพื้นที่ปลอดภัย และน้ำชาวต่างชาติส่งสนามบินเชียงใหม่

พระเกียรติยศ

ธรรมเนียมพระยศของ
พระเจ้าวรวงศ์เธอ
พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์
ตราประจำพระองค์
ธงประจำพระองค์
การทูลฝ่าพระบาท
การแทนตนเกล้ากระหม่อม/เกล้ากระหม่อมฉัน
การขานรับเกล้ากระหม่อม/เพคะ
ลำดับโปเจียม11

พระอิสริยยศ

  • 8 ตุลาคม พ.ศ. 2525 – 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 : พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์
  • 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 – ปัจจุบัน : พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์[9]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

สถานที่อันเนื่องจากพระนาม

พงศาวลี

อ้างอิง

  1. "Paploy.com". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-11-07. สืบค้นเมื่อ 2006-08-30.
  2. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ เรื่อง พระอิสริยยศฐานันดรศักดิ์ของพระโอรสพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์อัครราชกุมารี, เล่ม ๙๙, ตอน ๑๓๕ ก ฉบับพิเศษ, ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๕, หน้า ๑
  3. สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ. ราชาศัพท์. เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ, 2555, หน้า 41
  4. นิทรรศการศิลปนิพนธ์
  5. น.อ.วีระยุทธ ดิษยะศริน และองค์จุฬาภรณ์ และพระราชธิดา 2 องค์[ลิงก์เสีย]
  6. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-05-03. สืบค้นเมื่อ 2006-08-30.
  7. "สกุลไทย - พระผู้ทรงเป็น "เพชรรัตน" แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-15. สืบค้นเมื่อ 2012-04-05.
  8. 8.0 8.1 8.2 พระองค์โสมฯ ทรงชมผลงานการออกแบบภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีพระหัตถ์ ในพระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์
  9. 9.0 9.1 9.2 "ประกาศสถาปนา" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 136 (15ข): 11. 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2562. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  10. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย, เล่ม ๑๒๕, ตอน ๑๖ ข ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑, หน้า ๑
  11. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ (พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์), เล่ม ๑๒๓, ตอน ๑๓ ข, ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙, หน้า ๑
  12. กองทุนพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ อาคารสำนักงานกองทุนพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ พระตำหนักใหม่ สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต แขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต กรุงเทพฯ
  13. 13.0 13.1 13.2 13.3 13.4 13.5 วิจิตรา ดิษยะศริน, คุณหญิง. อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงวิจิตรา ดิษยะศริน ต.จ., จ.ม., บ.ช. ณ ฌาปนสถานกองทัพอากาศ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร วันอังคารที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2561. กรุงเทพฯ : บริษัทสตาร์บูมอินเตอร์พริ้นท์, 2561, หน้า 79