จิ้มก้อง
จิ้มก้อง (進貢) หมายถึง การเจริญทางพระราชไมตรีด้วยการถวายเครื่องราชบรรณาการ จิ้มก้อง เป็นคำจากภาษาจีน จิ้ม (進) แปลว่า ให้ ก้อง (貢) แปลว่า ของกำนัล ในการทำการค้ากับจีนในสมัยโบราณ พ่อค้ามักจะนำของกำนัลไปให้เพื่อขอความสะดวกในการทำมาค้าขายกับพระเจ้ากรุงจีน แต่จีนมักถือว่าผู้ที่มาจิ้มก้องเป็นผู้ที่มาสวามิภักดิ์ขอเป็นเมืองขึ้นเมื่อมีของกำนัลมาให้ นอกจากจีนจะให้ความสะดวกในการค้าแล้ว พระเจ้ากรุงจีนยังตอบแทนด้วยของกำนัลอย่างมากมายกลับมาด้วย พ่อค้าไทยจึงนิยมไปจิ้มก้อง [1]
ขุนวิจิตรมาตรา ให้ความหมายของจิ้มก้อง หรือ จินก้ง ว่าเป็นคำภาษาจีน บางทีใช้คำว่า ก้อง คำเดียว เป็นความหมายต่างๆ อาทิ ทวงก้อง หมายความว่า ทวงส่วย มาก้อง หมายความว่า มาส่งส่วยฐานเป็นเมืองขึ้น หรือมาขอเป็นเมืองขึ้น เมืองก้อง หมายถึง เมืองขึ้นหรือเมืองส่วย และจิ้มก้อง ก็เรียกว่า ส่งส่วย ภาษาอังกฤษเรียกว่า Tribute [2]
นอกจากจิ้มก้องแล้ว บางครั้งไทยยังมา ขอหอง (封) คือการที่ให้จีนแต่งตั้งเจ้าแผ่นดินที่เพิ่งขึ้นมาครองบัลลังก์ ให้มีตำแหน่งเป็นอ๋อง (王) บางทีจึงเรียกว่า จิ้มก้องขอหอง
ธรรมเนียมการจิ้มก้องกับจีน
[แก้]การจิ้มก้องเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องผูกพันกันมาโดยตลอด เป็นเจตคติที่ยึดถือปฏิบัติตามบุราณราชประเพณี แต่หากได้เกิดมีลักษณะการแลกเปลี่ยนสินค้ากันขึ้น เนื้อแท้แล้วเป็นการหวังประโยชน์ต่อกันทางด้านการค้าเสียมากกว่า
ขนบธรรมเนียมการจิ้มก้องนอกจากจะกระทำได้โดยพระมหากษัตริย์แล้วคณะทูตานุทูตจากดินแดนโพ้นทะเลก็ยังสามารถกระทำการค้าขายส่วนตัวได้ด้วย ในช่วง 270 ปีเศษของราชวงศ์หมิง (เหม็ง) จีนส่งคณะทูตมายังกรุงศรีอยุธยา 19 ครั้ง ส่วนกรุงศรีอยุธยามีคณะราชทูตไปประเทศจีน 110 ครั้ง และบรรดาสินค้าส่วนตัวที่ผู้ส่งเครื่องราชบรรณาการนำติดเข้าไปนั้น รัฐบาลราชวงศ์หมิงก็ยังผ่อนปรน มิได้เรียกเก็บภาษีผ่านด่านแต่ประการใด [3]
ประวัติ
[แก้]จิ้มก้อง จากที่มีการบันทึกเริ่มมีตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ส่งทูตไปเจริญพระราชไมตรีกับพระเจ้าหงวนสีโจ๊วฮ่องเต้ (กุบไลข่าน) และก็มีบรรดาผ้าผ่อนแพรพรรณ เป็นเครื่องราชบรรณาการ ไปจิ้มก้องด้วย
การค้าในระบบจิ้มก้องอย่างเป็นทางการระหว่างจีนกับสยาม สะดุดหยุดลงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 เมื่อราชวงศ์ชิง (แมนจู) ที่เพิ่งสถาปนาขึ้นใหม่ ประกาศห้ามชาวจีนออกทะเล เพื่อหวังป้องกันมิให้พวกคนเหล่านี้หลบหนีออกนอกประเทศ และต้องการปราบปรามพวกกลุ่มต่อต้านที่ต้องการล้มล้างราชวงศ์ชิง กอบกู้ราชวงศ์หมิง ใน ค.ศ. 1664 ต้นแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อันตรงกับปีที่ 3 จักรพรรดิคังซี ราชวงศ์ชิง เมื่อสยามส่งทูตไปจิ้มก้องตามธรรมเนียมปฏิบัติแต่เดิมมา ราชสำนักจีนปฏิเสธไม่รับของกำนัล และ ประกาศห้ามมิให้ผู้ใดรับของกำนัลจากต่างประเทศ การค้าระหว่างไทยกับจีนจึงหยุดชะงักไป 8 ปี จนต่อมาอีก 3 ปี จึงกลับมามีความสัมพันธ์อันดีต่อกันเหมือนเดิม
จิ้มก้องนั้น ได้สะดุดหยุดลง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 ทรงส่งบรรณาการไปจีนเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ. 2396 หรือ ค.ศ. 1853 [4]
เครื่องราชบรรณาการของสยามในยุคนั้น
[แก้]เครื่องราชบรรณาการที่สยามส่งให้จีน ได้แก่ ช้าง งาช้าง จันทน์หอม พริกไทย นกแก้ว นกยูง รงทอง ขี้ผึ้งขาว กำมะถัน มหาหิงคุ์ เปลือกสมุลแว้ง กรักขี เปลือกสีเสียด กานพลู มดยอบ จันทน์ชะมด จันทน์เทศ กระวานขาว ผลกระเบา ฝาง พรมลิอูด ผ้าโมรีแดง ฯลฯ[5]
ส่วนสิ่งที่จีนจัดมอบให้สยาม ได้แก่ เครื่องลายคราม ผ้าแพรโล่ต่วน แพรกิมต่วน เป็นต้น
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ความหมายของคำว่า จิ้มก้อง
- ↑ กาญจนาคพันธุ์. คอคิดขอเขียน. กรุงเทพฯ :ห้างหุ้นส่วนจำกัดรวมสาสน์,2513, หน้า 267
- ↑ พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร. สำเภาสยาม : ตำนานเจ๊กบางกอก. กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊ค, 2544, หน้า 50
- ↑ จี. วิลเลียม สกินเนอร์ กับสังคมจีนในประเทศไทย[ลิงก์เสีย]
- ↑ "มงกุฎรัชกาลที่ 4 ในพระราชวังอังกฤษ ของขวัญหรือหลักประกันการเมือง?". ศิลปวัฒนธรรม.