ข้ามไปเนื้อหา

เมืองขึ้น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เมืองขึ้น (อังกฤษ: vassal state) คือ รัฐที่มีภาระผูกพันต่อรัฐหรือจักรวรรดิที่เหนือกว่า ซึ่งมีสถานะคล้ายคลึงกับสถานะข้าราชบริพาร (อังกฤษ: vassal) ในระบบฟิวดัลในยุโรปยุคกลาง ระบบเมืองขึ้นถูกใช้อย่างแพร่หลายในบรรดาจักรวรรดิ ตั้งแต่ตะวันออกใกล้ยุคอียิปต์ ฮิตไทต์ และมิทันนี ไปจนถึงจีนโบราณ มาจนกระทั่งถึงยุคกลาง โดยจักรวรรดิสุดท้ายที่ใช้ระบบดังกล่าวอาจเป็น จักรวรรดิออตโตมัน[ต้องการอ้างอิง] แม้ว่าจะมีการระบุว่า[ใคร?] จักรวรรดิอังกฤษเองก็มีเมืองขึ้นเช่นกัน[ต้องการอ้างอิง]

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐเมืองขึ้นและจักรวรรดิขึ้นอยู่กับนโยบายของผู้ปกครอง โดยทั่วไปเมืองขึ้นจะมีหน้าที่ส่งบรรณาการและความช่วยเหลือด้านทหาร ส่วนระดับความเป็นอิสระและผลประโยชน์ที่ผู้ปกครองจะมอบให้กับเมืองขึ้นสามารถมีได้หลายระดับ ในปัจจุบัน คำที่ใช้กันโดยทั่วไป ได้แก่ รัฐหุ่นเชิด รัฐในอารักขา รัฐผู้รับอุปถัมภ์ รัฐสมทบ หรือ รัฐบริวาร

ตัวอย่างในประวัติศาสตร์

[แก้]

อียิปต์โบราณ

[แก้]

ในรัชสมัยของฟาโรห์ทุตโมสที่ 3 (1479 ปีก่อนคริสตกาล – 1425 ปีก่อนคริสตกาล) พระองค์ได้วางรากฐานการปกครองต่างๆในอียิปต์สมัยอะมาร์นา[1] รัฐเมืองขึ้นต่างๆในดินแดนลิแวนต์ถูกดึงเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของอียิปต์จากการก่อสร้างท่าเรือ ซึ่งช่วยให้มีการติดต่อสื่อสารและจัดเก็บภาษีระหว่างอียิปต์และเมืองขึ้นได้ดีขึ้น[1]

หลักฐานเกี่ยวกับเมืองขึ้นของอียิปต์ที่ปรากฏระหว่างรัชสมัยของฟาโรห์แอเมนโฮเทปที่ 3 และฟาโรห์ตุตันคาเมน (1390 ปีก่อนคริสตกาล – 1323 ปีก่อนคริสตกาล) มาจากจารึกอักษรอะมาร์นา[2] ซึ่งเป็นกลุ่มแผ่นจารึกอักษรคูนิฟอร์มจำนวน 350 แผ่น[3] ความสัมพันธ์ระหว่างอียิปต์และเมืองขึ้นในสมัยนั้นสามารถตีความได้จากการยกย่องสรรเสริญฟาโรห์จากสารที่เมืองขึ้นส่งมา[3]

รัฐเมืองขึ้นที่สำคัญของอียิปต์ตั้งอยู่บริเวณดินแดนทางตอนเหนือ เช่น นูฮาชเช คัทนา และอูการิต รัฐเหล่านี้ตั้งอยู่บนชายขอบของดินแดนที่อียิปต์อ้างสิทธิ์และมักเป็นภัยคุกคามจากการเป็นพันธมิตรกับชาวฮิตไทต์ในอนาโตเลีย หรือกลุ่มมิทันนีในอิรักและซีเรีย[3] เนื่องจากรัฐเหล่านี้อยู่ห่างจากแม่น้ำไนล์ และมีประโยชน์ในฐานะรัฐกันชนกับอาณาจักรข้างเคียง ทำให้รัฐเหล่านี้มีอำนาจต่อรองสูงกับฟาโรห์แห่งอียิปต์[3] รัฐเหล่านี้สามารถเรียกร้องอภิสิทธิ์จากฟาโรห์ได้หลายอย่าง อียิปต์มักโอนอ่อนต่อคำขอซึ่งอาจมีจุดประสงค์เพื่อซื้อน้ำใจให้รัฐเหล่านี้ยังคงจงรักภักดี[3] อย่างไรก็ตาม รัฐเมืองขึ้นเหล่านี้ถูกอ้างสิทธิ์โดยจักรวรรดิฮิตไทต์หลังจากการสิ้นพระชนม์ของฟาโรห์อเคนาเทน (1353 ปีก่อนคริสตกาล – 1336 ปีก่อนคริสตกาล) และไม่เคยถูกยึดคืน[3][2]

ในรัชสมัยของฟาโรห์แรเมซีสที่ 2 (1279 ปีก่อนคริสตกาล – 1213 ปีก่อนคริสตกาล) อียิปต์ขยายอำนาจไปยังฮิตไทต์หลายครั้ง และในที่สุดก็สามารถยึดครองอาณาจักรคาเดชและอามูร์รูได้โดยอาศัยจังหวะที่จักรวรรดิฮิตไทต์เกิดปัญหาภายใน[2] เมื่อ 1258 ปีก่อนคริสตกาล ฟาโรห์แรเมซีสที่ 2 และกษัตริย์ฮิตไทต์ Ḫattušili III ทรงเจรจาสงบศึกต่อกันและกำหนดให้เขตแดนระหว่างสองจักรวรรดิอยู่ที่บริเวณทางเหนือของบิบลอสจนถึงดามัสกัส[2]

บิบลอส

[แก้]

อาณาจักรบิบลอสมีความสำคัญในการเชื่อมโยงโลกของอียิปต์ ตะวันออกใกล้ และทะเลอีเจียนเข้าด้วยกัน[4] ถูกพบครั้งแรกในรัชสมัยของฟาโรห์ทุตโมสที่ 3 ชาวอียิปต์สามารถหาสินค้าจากดินแดนเลบานอนและซีเรียผ่านทางบิบลอส ขณะเดียวกันก็ใช้ราชอาณาจักรนี้เป็นฐานทัพสำหรับกิจกรรมทางทหาร [4] บิบลอสมีความสำคัญทางศาสนาต่ออียิปต์ เนื่องจากเทพธิดาในความเชื่อท้องถิ่นนั้นปรากฏอยู่ในรูปของแฮธอร์ซึ่งมีความเกี่ยวโยงไปถึงไอซิส[4] บิบลอสยังมีความสำคัญต่ออียิปต์ในฐานะคู่ค้า เนื่องจากทำให้อียิปต์มีเส้นทางการค้าสู่เมืองอื่นๆภูมิภาคของบิบลอส[4] อาณาจักรบิบลอสถูกระบุว่าค่อนข้างมีความเป็นเอกเทศ บันทึกของริบ-ฮัดดาระบุว่าบิบลอสมีอำนาจปกครองดินแดนของตนเอง จนกระทั่งเกิดความขัดแย้งกับอาณาจักรอามูร์รู[4]

บันทึกเกี่ยวกับอาณาจักรบิบลอสมีรายละเอียดค่อนข้างมากเนื่องจากเป็นการปฏิสัมพันธ์ที่กินเวลายาวนานที่สุดระหว่างอียิปต์กับรัฐเมืองขึ้นซึ่งนานถึง 12 ปี[2] ริบ-ฮัดดาผู้เป็นกษัตริย์เจ้าของสารเหล่านี้มีเอกลักษณ์แตกต่างจากผู้ปกครองเมืองขึ้นอื่น เนื่องจากสารของพระองค์มีการลงรายละเอียดมากกว่าผู้ปกครองอื่นๆ ในตะวันออกใกล้ แต่แม้ว่าพระองค์จะมีความจงรักภักดีต่อฟาโรห์แห่งอียิปต์ แต่ริบ-ฮัดดาก็ทรงไม่เคยได้รับความช่วยเหลือใดๆ จากอียิปต์ในยามวิกฤต สุดท้ายพระองค์ก็ถูกพระอนุชาเนรเทศออกจากอาณาจักร[2]

เมื่อพระอนุชาของริบ-ฮัดดาครองบัลลังก์ บิบลอสยังคงมีการติดต่อสื่อสารกับทางอียิปต์ต่อมา แม้ว่าจะมีข้อขัดแย้งอยู่บ้างเกี่ยวกับการที่บิบลอสมีแนวโน้มที่จะสร้างพันธมิตรกับอาณาจักรอามูร์รูและจักรวรรดิฮิตไทต์[4]

ปฏิสัมพันธ์ระหว่างบิบลอสและอียิปต์ลดลงในศตวรรษที่ 12 และ 11 ก่อนคริสต์ศักราช จากการล่มสลายของจักรวรรดิอียิปต์ หลังจากอียิปต์ถูกฟื้นฟู รัฐอื่นๆ เช่น ไทร์ และไซดอน ได้รับความสนับสนุนมากกว่าบิบลอส[4] เมื่อถึงยุคโลหะตอนต้น บิบลอสไม่เหลือสายสัมพันธ์กับมหาอำนาจในภูมิภาค แม้ว่าตัวเมืองจะยังคงมีอำนาจทางศาสนาต่อมาจนถึงยุคจักรวรรดิโรมัน แต่ก็สูญเสียความสำคัญทางเศรษฐกิจและการเมืองไป[4]

จักรวรรดิฮิตไทต์

[แก้]
แผนที่ดินแดนของฮิตไทต์และเมืองขึ้นเมื่อประมาณ 1300 ปีก่อนคริสตกาล

พื้นที่ส่วนใหญ่ของอนาโตเลียและตอนเหนือของซีเรียได้ตกเป็นเมืองขึ้นของจักรวรรดิฮิตไทต์ โดยฮิตไทต์สามารถแผ่ขยายอำนาจออกไปได้มากที่สุดในรัชสมัยของ Šuppiluluma I และ Muršili II ในศตวรรษที่ 14 ก่อนคริสตกาล[5] ความสัมพันธ์ระหว่างฮิตไทต์กับเมืองขึ้นขึ้นอยู่กับกษัตริย์ฮิตไทต์และผู้ปกครองเมืองขึ้นเป็นหลัก โดยฝ่ายแรกเป็นผู้กำหนดพันธะของฝ่ายหลัง เมื่อกษัตริย์ฮิตไทต์หรือผู้ปกครองเมืองขึ้นองค์ใหม่ขึ้นสู่อำนาจก็จะต้องมากำหนดข้อตกลงกันใหม่[5]

ในบางกรณี ผู้ปกครองท้องถิ่นจะได้รับสถานะ kiurwana (สถานะในอารักขา)[5] ซึ่งจะได้รับสิทธิพิเศษที่แตกต่างกันไป เช่น การยกเว้นไม่ต้องถวายบรรณาการ แต่ผู้ปกครองเหล่านี้ไม่ได้มีอิสระมากไปกว่ารัฐเมืองขึ้นอื่นๆ กษัตริย์ฮิตไทต์เป็นผู้กำหนดความสัมพันธ์ทั้งหมดในดินแดนของฮิตไทต์[5] ทำให้เกิดความเชื่อว่ามีการจำกัดการติดต่อระหว่างเมืองขึ้นด้วยกัน แต่ก็มีความเห็นเช่นกันว่าข้อจำกัดดังกล่าวอาจใช้เฉพาะกับศัตรูของฮิตไทต์เท่านั้น[6]

พันธะของเมืองขึ้นต่อฮิตไทต์รวมถึงหน้าที่ทางทหาร ฝ่ายเมืองขึ้นเองก็จะได้รับสัญญาว่าฮิตไทต์จะให้ความช่วยเหลือทางทหารเป็นการตอบแทนเช่นกัน บางครั้งพันธะยังลงรายละเอียดเกี่ยวกับบรรณาการประจำปีด้วย สัญญาส่วนใหญ่มักปิดท้ายด้วยการแต่งงานระหว่างผู้ปกครองเมืองขึ้นกับเจ้าหญิงของฮิตไทต์ เจ้าหญิงจะทรงมีอำนาจมากกว่าภรรยาคนอื่นๆ ของผู้ปกครองเมืองขึ้นนั้น และการสืบทอดอำนาจจะถูกส่งต่อไปยังลูกหลานที่ประสูติจากเจ้าหญิง[5]

รัฐเมืองขึ้นจำเป็นต้องให้การสนับสนุนและสาบานว่าจะจงรักภักดีต่อรัชทายาทของกษัตริย์ด้วยเช่นกัน ในกรณีที่มีการแย่งชิงบัลลังก์ เมืองขึ้นจะพ้นจากพันธะทั้งหมดที่เคยตกลงไว้ ยกเว้นหน้าที่ในการช่วยให้กษัตริย์ที่ชอบธรรมให้กลับขึ้นครองบัลลังก์ ด้วยความชอบดังกล่าว ผู้ปกครองเมืองขึ้นจะได้รับการรับรองว่าตนและผู้สืบทอดมีอำนาจปกครองเหนือดินแดนเมืองขึ้นนั้น[5]

อูการิต

[แก้]

อูการิตเป็นที่รู้จักกันดีที่สุดในบรรดาเมืองขึ้นของฮิตไทต์ หลักฐานเกี่ยวกับบทบาทและความสัมพันธ์ของอูการิตกับฮิตไทต์ส่วนใหญ่มาจากเอกสารของฝ่ายอูการิต ประกอบจากหลักฐานฝ่ายฮิตไทต์จำนวนหนึ่ง[6] จากหลักฐาน เชื่อกันว่าอูการิตมีความสำคัญทางเศรษฐกิจและการค้าต่อจักรวรรดิฮิตไทต์ เนื่องจากจดหมายและเอกสารจำนวนมากมีความเกี่ยวข้องกับการค้าขาย[6] อูการิตยังรักษาความสัมพันธ์กับอียิปต์ด้วยเนื่องจากมีการติดต่อกับราชสำนักของฟาโรห์ หลักฐานส่วนใหญ่ของการติดต่อนี้มาจากยุคของ Pax Hethitica ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการสงบศึกระหว่างอียิปต์และจักรวรรดิฮิตไทต์[6]

อามูร์รู

[แก้]

ความสัมพันธ์ของอามูร์รูกับจักรวรรดิฮิตไทต์ได้รับการยืนยันในเอกสารที่ค้นพบจากอูการิตและฮัตตูซา[6] อามูร์รูไม่ปรากฏว่าเป็นศูนย์กลางการค้าเช่นเดียวกับอูการิต ในทางกลับกัน หลักฐานของฮิตไทต์เน้นความสำคัญของบทบาททางการเมืองและการทหารของอาณาจักรนี้ต่อจักรวรรดิ เนื่องจากตั้งอยู่บริเวณชายแดนติดกับอียิปต์[6] เดิมอาณาจักรอามูร์รูเป็นเมืองขึ้นของอียิปต์ ต่อมาได้แปรพักตร์ไปอยู่ภายใต้การปกครองของฮิตไทต์ในรัชสมัยของ Aziru อามูร์รูขึ้นต่อจักรวรรดิฮิตไทต์ตั้งแต่ช่วงปลายสมัยอะมาร์นาจนถึงรัชสมัยของ Muwatalli II อามูร์รูกลับไปสวามิภักดิ์ต่ออียิปต์[6] ฮิตไทต์ลงโทษโดยตั้งผู้ปกครองที่ยังภักดีแทนที่กษัตริย์เป็นการชั่วคราว[6] มีการแต่งงานระหว่างฝ่ายฮิตไทต์และราชวงศ์อามูร์รูสองครั้งในช่วงเวลานี้ ส่งผลให้ความสำคัญของอามูร์รูต่อจักรวรรดิเพิ่มขึ้น[6] อามูร์รูกับจักรวรรดิฮิตไทต์ยังคงความสัมพันธ์นี้อยู่จนกระทั่งจักรวรรดิฮิตไทต์ล่มสลายในศตวรรษที่ 12 ก่อนคริสตกาล[7] การเปลี่ยนแปลงในชื่อเซมิติกของทายาทรุ่นหลังของ Aziru สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของฮิตไทต์ที่คงอยู่มาอย่างยาวนานในดินแดนนี้[7]

คาร์เคมิช

[แก้]

คาร์เคมิชเป็นเมืองใหญ่และเป็นศูนย์กลางการปกครองของดินแดนซีเรีย ปรากฏหลักฐานการปฏิสัมพันธ์กับฮิตไทต์จากเอกสารที่พบในฮัตตูซา, เอมาร์ และอูการิต[8] เมื่อเมืองนี้ถูกยึดครองโดย Suppiluliuma I พระองค์ทรงสถาปนาโอรสของพระองค์ขึ้นครองบัลลังก์[8] ด้วยเหตุนี้ กษัตริย์ของคาร์เคมิชในยุคต่อมาจึงเสมือนเป็นตัวแทนของจักรวรรดิฮิตไทต์ในซีเรีย[8] ในศตวรรษที่ 13 คาร์เคมิชทำการค้าขายโดยตรงกับอัสซีเรียและมีความสัมพันธ์กับบาบิโลเนีย[6] คาร์เคมิชอยู่รอดมาจนถึงการสิ้นสุดของจักรวรรดิฮิตไทต์ และกลายเป็นนครรัฐอิสระในยุคเหล็กตอนต้น[8] ก่อนที่จะถูกผนวกเข้ากับจักรวรรดิอัสซีเรียในศตวรรษที่ 8 ก่อนคริสตกาล[8]

จักรวรรดิอัสซีเรียใหม่

[แก้]
แผนที่ดินแดนของอัสซีเรียใหม่ ในช่วง 824 ปีก่อนคริสตกาล และ 671 ปีก่อนคริสตกาล

รัฐเมืองขึ้นของจักรวรรดิอัสซีเรียใหม่ (911 ปีก่อนคริสตกาล – 609 ปีก่อนคริสตกาล) มีความสัมพันธ์อันเป็นเอกลักษณ์กับจักรวรรดิผู้ปกครอง แม้ว่าเมืองขึ้นจะมีความสำคัญต่อการเมืองภายในของจักรวรรดิและเชื่อมโยงกับรูปแบบการปกครองและเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของ "รัฐอัสซีเรีย"[9] คติของจักรวรรดิอัสซีเรียใหม่ให้ความสำคัญกับการหลอมรวมความหลากหลายให้เป็นหนึ่งเดียว ทำให้เมืองขึ้นต่างๆ สามารถรักษาความเป็นอิสระทางวัฒนธรรมได้ในระดับหนึ่ง[9] ในขณะที่การขยายดินแดนของอัสซีเรียใหม่ช้าลงในศตวรรษที่ 7 ก่อนคริสตกาล จำนวนเมืองขึ้นกลับเพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในนโยบายต่างประเทศ[9]

กษัตริย์อัสซีเรียแสดงอำนาจเหนือเมืองขึ้นโดยการสะสมพืชพรรณและสัตว์จากแต่ละท้องถิ่น[10] บันทึกที่เก่าแก่ที่สุดของธรรมเนียมนี้ระบุย้อนไปไกลถึงรัชสมัยทิกลัธ-ไพลีเซอร์ที่ 1 (1114 ปีก่อนคริสตกาล – 1076 ปีก่อนคริสตกาล) ในสมัยอัสซีเรียกลาง และได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งโดย Ashurnasirpal ในสมัยอัสซีเรียใหม่โดยมีการสร้างสวนที่สะสมสิ่งต่างๆ จากทั่วทั้งจักรวรรดิ[10] ต่อมาผู้ปกครองอัสซีเรียใหม่ได้ยกระดับธรรมเนียมนี้ขึ้นอีก Sargon II สร้างสวนที่จำลองป่าในซีเรียเหนือ ในขณะที่ Sennacherib สร้างบึงน้ำที่เลียนแบบภูมิประเทศของบาบิโลเนียใต้[10] ในส่วนของงานศิลปะมีการพรรณนาถึงเรื่องราวที่เมืองขึ้นต่างๆ นำเครื่องบรรณาการมาถวายอัสซีเรีย[10] เรื่องราวเหล่านี้ถูกแสดงผ่านการโค้งคำนับหรือหมอบกราบต่อหน้ากษัตริย์[10] บรรณาการที่นำมาถวายมีตั้งแต่ม้าและลิงไปจนถึงถุงไวน์[10] ฉากการถวายบรรณาการและเข้าเฝ้ากษัตริย์เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับเมืองขึ้นในจักรวรรดิอัสซีเรียใหม่

ในศตวรรษที่ 8 ก่อนคริสตกาล มีการตั้งเมืองขึ้นทางตอนใต้ของจักรวรรดิเพิ่มมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับดินแดนทางตอนเหนือของจักรวรรดิซึ่งเคยถูกทำลายมาก่อน อาณาจักรเหล่านี้มีกลายเป็นภูมิภาคที่หนาแน่นและเจริญรุ่งเรืองมากของจักรวรรดิ[11] อาณาจักรทางตะวันตกของแม่น้ำยูเฟรทีสดำรงสถานะความเป็นเมืองขึ้นจนถึงศตวรรษที่ 7 ก่อนคริสตกาลจึงถูกผนวกเป็นจังหวัดหนึ่งของจักรวรรดิ แต่ว่าระดับการควบคุมอาณาจักรเหล่านี้แตกต่างกันไปตามที่ตั้ง[11] ในศตวรรษที่ 7 มีการตั้งถิ่นฐานเพิ่มขึ้นในยูดาห์มากกว่าในศตวรรษที่ 8[11] เหตุการณ์ลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นในจอร์แดนแสดงให้เห็นว่า ยุคที่อยู่ภายใต้การควบคุมของอัสซีเรียใหม่เป็นยุครุ่งเรืองของอาณาจักรเหล่านี้[11]

เปอร์เซียอะคีเมนิด

[แก้]

เปอร์เซียใช้เซแทร็ป (ระบบข้าหลวงเปอร์เซีย)[12] แทนการใช้ผู้ปกครองเมืองขึ้นสำหรับดินแดนในปกครอง แต่ก็มีบางกรณีที่การใช้ระบบเมืองขึ้นเช่นกัน เฮอรอโดทัสบันทึกว่า กษัตริย์ Amyntas I แห่งมาซิโดเนียเจรจากับเปอร์เซียหลังจากถูกฝ่ายอะคีเมนิดปราบปรามในปี 513 ปีก่อนคริสตกาล มาซิโดเนียมีความเชื่อมโยงกับเปอร์เซียมากขึ้นเมื่อ Amyntas ให้มีการอภิเษกสมรสกับพระธิดาของพระองค์กับขุนนางชาวเปอร์เซีย (Hdt 5.21.) มาซิโดเนียภายใต้การปกครองดาไรอัสที่ 1 ถูกจัดให้เป็นเขตที่ต้องเสียภาษีเป็นประจำของจักรวรรดิ (Hdt 6.44.) การควบคุมของเปอร์เซียเหนือมาซิโดเนียได้รับการยืนยันจากจารึก DNa ที่ Naqsh-I-Rustam อเล็กซานเดอร์ที่ 1 พระโอรสของ Amyntas สนับสนุนเซิร์กซีสที่ 1 ระหว่างที่เปอร์เซียรุกรานกรีก ในปี 479 ปีก่อนคริสตกาล กองทัพอะคีเมนิดพ่ายแพ้ต่อชาวกรีก นครรัฐอื่นๆ ไม่ถือว่ามาซิโดเนียเป็นฝ่ายกรีกอีกต่อไป[13]

ดินแดนอื่นที่จัดว่าเป็นเมืองขึ้นมากกว่าเป็นเซแทร็ปคือ อาหรับ บันทึกของเฮอรอโดทัสระบุว่า อาหรับได้ให้ความช่วยเหลือแคมไบซีสที่ 2 ในการรุกรานอียิปต์ (525 ปีก่อนคริสตกาล)[14] ด้วยเหตุนี้อาหรับจึงไม่ต้องเป็นเซแทร็ปและได้รับการยกเว้นจากบรรณาการประจำปี[14] แต่จารึกเบฮิสตูนและแผ่นจารึกป้อมปราการเปอร์เซโปลิสระบุว่า อาหรับยังคงถวายกำยานเป็นปริมาณ 1,000 ทาเลนต์ต่อปี[14] ในการรุกรานกรีกในรัชสมัยเซิร์กซีส เฮอรอโดทัสได้กล่าวถึงชาวอาหรับในส่วนต่างๆ ของกองทัพเปอร์เซียซึ่งนำโดย Arsamenes โอรสในดาไรอัสที่ 1[14]

แม้ว่าจักรวรรดิอะคีเมนิดจะมีพื้นที่กว้างใหญ่ แต่ก็ได้วางระบบการสื่อสารและการเชื่อมต่อระหว่างภูมิภาคต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพ นั่นคือ เส้นทางหลวง ซึ่งทอดผ่านพื้นที่ส่วนใหญ่ในจักรวรรดิ ทำให้สามารถขนส่งและกระจายสินค้า วัฒนธรรม และมโนคติระหว่างข้าหลวงของรอะคีเมนิดและเมืองขึ้นได้[15]

จีนโบราณ

[แก้]

ในสมัย ราชวงศ์โจว (1,046–770 ปีก่อนคริสตกาล) จนถึง ราชวงศ์ฮั่น (206 ปีก่อนคริสตกาล–ค.ศ. 220) มีรัฐเมืองขึ้นจำนวนมากก่อตั้งขึ้นในดินแดนจีน

รัฐเหล่านี้มีขนาดตั้งแต่นครรัฐขนาดเล็ก ไปจนถึงรัฐที่สามารถควบคุมดินแดนได้เป็นบริเวณกว้าง เช่น รัฐฉู่ และ รัฐฉี ต่อมาหนึ่งในรัฐเหล่านี้สามารถพิชิตรัฐอื่นๆ ลงและรวมอาณาจักรเป็นหนึ่งภายใต้จักรพรรดิองค์แรก นั่นคือ จิ๋นซีฮ่องเต้

ข้อถกเถียงเกี่ยวกับสถานะของโชซอน

[แก้]

ราชวงศ์ชิงของจีนมองว่า ราชวงศ์โชซอนของเกาหลีเป็นเมืองขึ้นที่ปกครองตนเอง[16][17] ราชวงศ์โชซอนมีอำนาจปกครองตนเองในทั้งกิจการภายในและภายนอก[18][19] ดังนั้นจึงไม่จัดว่า เป็นอาณานิคมหรือเมืองขึ้นของจีน[18] อย่างไรก็ตาม จีนได้เลิกใช้นโยบายดั้งเดิมซึ่งผ่อนปรนและไม่แทรกแซงกิจการของเกาหลี และเปลี่ยนมาใช้นโยบายแทรกแซงอย่างหนักในช่วงปลายศตวรรษที่ 19[20] ยฺเหวียน ชื่อไข่โต้แย้งว่าเกาหลีเป็น "เมืองขึ้น" ที่อยู่ภายใต้การปกครองของจีน โอเวน เอ็น. เดนนี่โต้แย้งว่าเกาหลีเป็น "รัฐบรรณาการ" ที่เป็นอิสระ[21] วิลเลียม ดับเบิลยู ร็อกฮิลล์กล่าวว่า การเรียกเกาหลีว่าเป็นเมืองขึ้นนั้น "เป็นการชี้ชวนให้เข้าใจผิด"[22] ร็อกฮิลล์ยังกล่าวว่า “บรรณาการที่ส่งไปยังปักกิ่งโดย ‘เมืองขึ้น’ ทั้งหมด รวมถึงทิเบตและชนเผ่าพื้นเมืองในจีนตะวันตก เป็นเพียงสิ่งแลกเปลี่ยน (ละติน: quid pro quo) เพื่อแลกกับสิทธิในการค้าขายกับจีนภายใต้สถานะที่เป็นมิตรอย่างยิ่งเท่านั้น”[22] ร็อกฮิลล์โต้แย้งว่า เกาหลีไม่ได้มองจีนเป็นเจ้าผู้ปกครองแต่เป็นเสมือนหัวหน้าครอบครัว เกาหลีเปรียบเทียบราชวงศ์หมิงเป็นบิดาและราชวงศ์ชิงเป็นพี่ชาย[23] และร็อกฮิลล์กล่าวอีกว่า “สำหรับธรรมเนียมที่กษัตริย์จะรายงานต่อจักรพรรดิถึงการเลือกรัชทายาทหรือสนม หรือแจ้งให้ทราบถึงการสิ้นพระชนม์ของพระชนนี หรือพระมเหสี เป็นต้น เราสามารถมองว่าเป็นเพียงความสัมพันธ์เชิงพิธีการเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องอำนาจการปกครอง”[23]

จักรวรรดิออตโตมัน

[แก้]
เมืองขึ้นและรัฐบรรณาการของจักรวรรดิออตโตมัน ในปี ค.ศ. 1590

จักรวรรดิออตโตมัน (ค.ศ. 1299–1923) ปกครองรัฐบรรณาการหรือรัฐเมืองขึ้นจำนวนหนึ่งในพื้นที่รอบนอกของดินแดนของตน ระบบเมืองขึ้นมีหลายรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป โดยบางรัฐได้รับอนุญาตให้เลือกผู้นำของตนเองได้ ในขณะที่รัฐอื่นๆ ต้องส่งบรรณาการสำหรับดินแดนของตน

ในช่วงศตวรรษที่ 18 จักรวรรดิออตโตมันควบคุมเมืองขึ้นและรัฐบรรณาการหลายแห่ง เช่น รัฐวอลเลเกีย, มอลเดเวีย และไครเมีย

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 Mynárová, Jana (2015). "Egypt among the Great Powers and its Relations to the Neighbouring Vassal Kingdoms in the Southern Levant according to the Written Evidence: Thutmose III and Amarna.". Policies of Exchange Political Systems and Modes of Interaction in the Aegean and the Near East in the 2nd Millenium B.C.E: Proceedings of the International Symposium at the University of Freiburg Institute for Archaeological Studies, 30th May – 2nd June 2012. Austrian Academy of Sciences Press. pp. 158–161.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 Elayi, Josette (2018). "The Small Vassal States of the Near East: (1500–1200)". The History of Phoenicia. Lockwood Press. pp. 66–82.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 Morris, Ellen (2006). "Bowing and Scraping in the Ancient Near East: An Investigation into Obsequiousness in the Amarna Letters". Journal of Near Eastern Studies. 65 (3): 179–188. doi:10.1086/508575.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6 4.7 Kilani, Marwan (2019). Byblos in the Late Bronze Age: Interactions between the Levantine and Egyptian Worlds. BRILL. ISBN 9789004416604.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 Bryce, Trevor (2005). "Territories and Early Rivals of the Hatti". Kingdom of the Hittites. Oxford University Press. p. 49–50. ISBN 9780199279081.
  6. 6.00 6.01 6.02 6.03 6.04 6.05 6.06 6.07 6.08 6.09 Devecchi, Elena (2012). "The International Relations of Hatti's Syrian Vassals, or How to make the Best of Things.". Policies of exchange political systems and modes of interaction in the Aegean and Near East in the 2nd Millennium BCE: Proceedings of the International Symposium at the University of Freiburg Institute for Archaeological Studies. Austrian Academy of Sciences Press. pp. 117–120.
  7. 7.0 7.1 Rowe, Ignacio (2013). "Amurru". The Encyclopedia of Ancient History. Blackwell Publishing.
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 Mora, Clelia (2013). "Carchemish". The Encyclopedia of Ancient History. Blackwell Publishing.
  9. 9.0 9.1 9.2 Hunt, Alice M.W. (2015). "Power and Prestige: The Neo-Assyrian Imperial Landscape.". Palace Ware across the Neo-Assyrian Imperial Landscape: Social Value and Semiotic Meaning. BRILL. pp. 22–29.
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 10.4 10.5 DeGrado, Jessie (2019). "King of the Four Quarters: Diversity as a rhetorical strategy of the Neo-Assyrian Empire". Iraq. 81: 107–175. doi:10.1017/irq.2019.8.
  11. 11.0 11.1 11.2 11.3 Faust, Avraham (2021). "Under the Empire". The Neo-Assyrian Empire in the Southwest: imperial domination and its consequences. Oxford University Press.
  12. Lendering, Jona. "Satraps and Satrapies". Livius. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-28. สืบค้นเมื่อ 2021-05-17.
  13. Lendering, Jona. "Macedonia". Livius. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-09. สืบค้นเมื่อ 2021-05-17.
  14. 14.0 14.1 14.2 14.3 Dandamayev, Muhammad. "Arabia i. The Achaemenid Province Arabāya". Encyclopedia Iranica. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 June 2021. สืบค้นเมื่อ 28 May 2021.
  15. Colburn, Henry (2013). "Connectivity and Communication in the Achaemenid Empire". Journal of the Economic and Social History of the Orient. 56 (1): 29–52. doi:10.1163/15685209-12341278.
  16. Rockhill 1889, p. 1.
  17. Battistini 1952, p. 50.
  18. 18.0 18.1 Lin 1991, p. 71.
  19. Oh 2019, pp. 352–355.
  20. Lin 1991, pp. 69–70.
  21. Fuchs, Eckhardt; Kasahara, Tokushi; Saaler, Sven (4 December 2017). A New Modern History of East Asia. V&R unipress. p. 96. ISBN 978-3-7370-0708-5. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 February 2022. สืบค้นเมื่อ 17 March 2022.
  22. 22.0 22.1 Rockhill 1889, p. 2.
  23. 23.0 23.1 Rockhill 1889, p. 18.

บรรณานุกรม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
  • วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Vassal states