ข้ามไปเนื้อหา

ขุนบรม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ขุนบรมราชาธิราช (ขุนบรม, ขุนบูลม) เป็นปฐมบรรพบุรุษของกลุ่มชาติพันธุ์ลาว ไท ไต ฯลฯ ในตำนานความเชื่อของชาวลาว

ในตำนาน

[แก้]

ตำนานขุนบรมระบุว่ามนุษย์สมัยโบราณมีความโหดร้ายพระยาแถนหรือพระยาอินทาธิปติราชจึงลงโทษโดยบันดาลให้น้ำท่วมโลก แล้วส่งผู้นำจากเมืองแถน 3 คนลงมาพร้อมกับกระบือเป็นพาหนะให้สั่งสอนมนุษย์กลุ่มใหม่ที่เมืองลุ่มหรือเมืองแถน หลังแผ่นดินกลายเป็นที่นาสำหรับปลูกข้าวกระบือได้ตายลงแล้วมีน้ำเต้าปุ้งหรือบวบแตกกิ่งก้านสาขาออกจากรูจมูกควาย มนุษย์ได้แตกออกจากน้ำเต้าปุ้งโดยเผ่าผิวคล้ำออกมาด้วยการใช้อาวุธแหลมแทงน้ำเต้าส่วนพวกผิวขาวได้ออกมาด้วยการเจาะแล้วกลายเป็นคนไทกลุ่มต่าง ๆ ผู้นำทั้ง 3 สอนมนุษย์ให้รู้จักการสร้างบ้าน เก็บเกี่ยวข้าว อบรมวิธีการประพฤติตนและพิธีกรรมต่าง ๆ เมื่อชุมชนขยายตัวขึ้นจึงต้องการผู้ปกครองพระยาแถนจึงส่งโอรสนามว่าขุนบรมมาบนโลกเพื่อเป็นผู้นำ ขุนบรมปกครองชาวไทกลุ่มต่าง ๆ นาน 25 ปีโดยสอนให้รู้จักศิลปวิทยาการและการใช้เครื่องมือต่างๆ ในการดำรงชีวิต ต่อมาจึงแบ่งแผ่นดินออกเป็น 7 แคว้นโดยส่งโอรสทั้ง 7 ของตนไปครอบครอง โอรสองค์ใหญ่คือขุนลอได้ปกครองเมืองซวา (ปัจจุบันคือหลวงพระบาง) ส่วนองค์ที่เหลือได้ปกครองเมืองเซียงขวาง (ปัจจุบันคือแขวงเซียงขวาง) เมืองอยุธยา เมืองเชียงใหม่ เมืองสิบสองพันนา เมืองหงสาวดี และเมืองจุลณี (สันนิษฐานว่าอยู่บริเวณภาคเหนือของเวียดนาม) เป็นต้น

ในทางวิชาการ

[แก้]

นิทานขุนบรมเป็นตำนานที่อธิบายการอพยพของกลุ่มชาติพันธุ์ลาว-ไตจากดินแดนจีนตอนใต้ (สวรรค์หรือเมืองแถนในตำนาน) ไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือดินแดนใหม่ และอธิบายระบบการแบ่งขยายแคว้นสมัยโบราณ ส่วนโอรสทั้ง 7 ในตำนานแสดงถึงการบริหารองค์กรหมู่บ้านของชาวไทโบราณโดยหมู่บ้านเหล่านั้นเรียกว่า "เมือง"

ราชวงศ์ขุนบรมมหาราชา

[แก้]

ราชวงศ์ขุนบรมราชาเกิดจากโอรสทั้ง 9 องค์ของขุนบุรมโดย 7 ใน 9 นั้นได้เป็นกษัตริย์ของอาณาจักรต่าง ๆ ในบริเวณแหลมทอง ได้แก่

  1. ขุนลอ (อ้ายลอ) ปกครองเมืองชวาหรือเมืองเซียงทอง ปัจจุบันคือเมืองหลวงพระบาง
  2. ขุนผาล้าน (ยี่ผาล้าน) บ้างว่าขุนผาลาน ปกครองเมืองสิบสองปันนาหรือสิบสองพันนาลื้อ
  3. ขุนจุลง (สามจุลง) บ้างว่าจุสงหรือสามจุสง ปกครองเมืองโกดแท้แผนปม ปัจจุบันคือเวียดนาม (จัมปาแปลว่าช่องบัว, โกฐแบบช่องบัว)
  4. ขุนคำผง (ไสคำผง) บ้างว่าไสผง ปกครองเมืองเชียงใหม่
  5. ขุนอิน (งั่วอิน) บ้างว่างัวอิน ปกครองเมืองศรีอยุธยา
  6. ขุนกม (ลกกม) ปกครองเมืองหงสาวดี บ้างว่าอินทปัตถ์
  7. ขุนเจือง (เจ็ดเจือง) บ้างว่าเจ็ดเจิง ปกครองเมืองพวนหรือเซียงขวาง

เดิมทีพญามังรายจากเชียงใหม่และพระเจ้าอู่ทองศรีอยุธยาถูกนับถือว่ามาจากราชวงศ์ขุนบรม

นักวิชาการ David K. Wyatt เชื่อว่าตำนานของขุนบรมสามารถช่วยให้ความเข้าใจลึกซึ้งประวัติศาสตร์ของชาวไทโบราณในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ ตำนานของขุนบรมหลายรุ่นเกิดขึ้นนานที่สุดเมื่อ พ.ศ. 1241 ในเชียงขวาง และอาณาจักรกลุ่มคนที่พูดกลุ่มภาษาไท ก็มีการสร้างอาณาจักรต่าง ๆ ในปีหลัง จาก พ.ศ. นั้น ข้อมูลนี้สามารถอธิบายการขยายตัวของกลุ่มชาวไท และสามารถให้เหตุผลที่เป็นตำนานว่าทำไมชาวไทถึงแยกกันอยู่แบบนี้ นักวิเคราะห์ผู้ชำนาญด้านภาษาได้วิเคราะห์ว่าการแบ่งกลุ่มของชาวไทโบราณเกิดขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 7 และ 11 การแบ่งแยกนี้เกิดขึ้นคู่กันกับเส้นภูมิภาคคล้ายกับการแบ่งแยกในตำนานของขุนบรม และกลุ่มไทได้อพยพออกมาจากแผ่นดินที่เคยอาศัยมานานในเวียดนามปัจจุบัน ซึ่งในบริเวณนั้นก็ยังมีคนพูดกลุ่มภาษาไทอยู่ ที่อาจจะแยกตัวออกมาก่อนกลุ่มอืนในประวัติศาสตร์แล้ว

อ้างอิง

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]