โคทองคำ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การบูชาโคทองคำ – ภาพจาก Hortus deliciarum ของ Herrad of Landsberg (ศตวรรษที่ 12)

ในคัมภีร์ไบเบิล โคทองคำ (อังกฤษ: golden calf; ฮีบรู: עֵגֶל הַזָּהָב ‘ēgel hazzāhāv) เป็นรูปเคารพ (เทวรูป) ที่สร้างโดยชาวอิสราเอลขณะเมื่อโมเสสขึ้นไปบนภูเขาซีนาย ในภาษาฮีบรูเหตุการณ์นี้เรียกว่า ḥēṭə’ hā‘ēgel (חֵטְא הָעֵגֶל) หรือ "บาปแห่งโคหนุ่ม" ถูกกล่าวถึงครั้งแรกในหนังสืออพยพ[1]

การบูชาโคเป็นเรื่องปกติในหลายวัฒนธรรม ในอียิปต์ซึ่งชาวฮีบรูเพิ่งอพยพออกมาตามเรื่องเล่าการอพยพ โคเอพิสเป็นวัตถุบูชาที่เทียบเท่ากับโคทองคำ ซึ่งบ้างก็เชื่อว่าชาวฮีบรูกำลังจะฟื้นฟูการบูชาโคเอพิสในถิ่นทุรกันดาร[2] อีกกระแสหนึ่งเชื่อว่าพระยาห์เวห์ซึ่งเป็นพระเจ้าของชนชาติอิสราเอลได้ทรงถูกโยงว่ามีความเกี่ยวข้องหรือถูกมองในฐานะเทพโคโดยผ่านกระบวนการการผสมกลมกลืนทางศาสนาและการผสานความเชื่อ ในบรรดาชาวคานาอันซึ่งบางส่วนกลายเป็นชาวอิสราเอล[3] โคได้รับการบูชาอย่างกว้างขวางในฐานะโคจันทราและในฐานะสัตว์ของเอล[4]

เรื่องเล่าในคัมภีร์ไบเบิล[แก้]

การบูชาโคทองคำ โดยฟีลิปปีโน ลิปปี (ค.ศ. 1457–1504)

เมื่อโมเสสขึ้นไปบนภูเขาซีนายเพื่อรับบัญญัติ 10 ประการ (อพยพ 24:12 -18) โมเสสได้ปลีกตัวมาจากชาวอิสราเอลเป็นเวลา 40 วัน 40 คืน ชาวอิสราเอลเกรงว่าโมเสสจะไม่กลับมา จึงร้องขอต่ออาโรนให้สร้าง "พระให้เรา ซึ่งจะนำหน้าเรา" อาโรนจึงให้รวบรวมตุ้มหูทองคำและเครื่องประดับทองคำของชาวอิสราเอล สร้างเป็น "รูปโคหนุ่ม" แล้วชาวอิสราเอลจึงประกาศว่า "โอ อิสราเอล สิ่งเหล่านี้แหละเป็นพระของเจ้า ซึ่งนำเจ้าออกจากแผ่นดินอียิปต์" (อพยพ 32:1 -4)

อาโรนสร้างแท่นบูชาหน้ารูปโคแล้วประกาศว่าวันรุ่งขึ้นจะเป็นวันเทศกาลเลี้ยงถวายเกียรติแก่พระเจ้า ในวันถัดมาชาวอิสราเอลจึงลุกขึ้นแต่เช้าและ "ถวายเครื่องบูชาเผาทั้งตัว และนำเครื่องศานติบูชามา ประชาชนก็นั่งลง กินและดื่ม แล้วก็ลุกขึ้นทำสิ่งที่น่าบัดสีต่อกัน" (อพยพ 32:6 ) พระเจ้าตรัสกับโมเสสถึงสิ่งที่ชาวอิสราเอลทำในค่าย ว่าพวกเขาได้หันเหไปจากทางที่พระองค์ทรงบัญชาอย่างรวดเร็ว และพระองค์มีพระประสงค์จะทำลายพวกเขาและตั้งชนชาติใหม่จากโมเสส โมเสสทูลวิงวอนให้พวกเขาได้รับการละเว้นโทษ แล้ว "พระยาห์เวห์จึงเปลี่ยนพระทัย ไม่ทรงทำอันตรายประชากรของพระองค์อย่างที่มีพระดำริไว้แก่ประชากรของพระองค์" (อพยพ 32:11 -14)

โมเสสลงมาจากภูเขา แต่เมื่อเห็นรูปโคก็โกรธขึ้นมาและโยนแผ่นศิลาพระโอวาทสองแผ่นทิ้งตกแตกเสีย โมเสสนำรูปโคไปเผาในกองไฟ บดเป็นผงโรยในน้ำ และบังคับให้ชาวอิสราเอลดื่มเข้าไป เมื่อโมเสสถามความเป็นไปจากอาโรน อาโรนยอมรับว่าตนให้รวบรวมทองคำโยนลงในกองไฟ แล้วรูปโคนี้ก็ออกมา (อพยพ 32:21 -24)

การกันชาวเลวีออกมาและการประหารชีวิตหมู่[แก้]

คัมภีร์ไบเบิลบันทึกว่าเผ่าเลวีไม่ได้บูชาโคทองคำ:

โมเสสยืนอยู่ที่ประตูค่ายร้องว่า "ใครอยู่ฝ่ายพระยาห์เวห์? จงมาหาเราเถิด" คนเลวีทั้งหมดก็มาหาโมเสสพร้อมกัน โมเสสจึงกล่าวกับพวกเขาว่า "พระยาห์เวห์ พระเจ้าของอิสราเอลตรัสดังนี้ว่า 'แต่ละคน จงเหน็บดาบแนบกายและไปมาตามประตูค่าย แล้วแต่ละคนจงฆ่าพี่น้องและมิตรสหายอีกทั้งเพื่อนบ้านของตัวเอง' " คนเลวีก็ทำตามที่โมเสสสั่ง และประชาชนประมาณสามพันคนตายลงในวันนั้น

— อพยพ 32:21-24[5]

อ้างอิง[แก้]

  1. อพยพ 32:4
  2. The early Christian Apostolic Constitutions, vi. 4 (c. 380), mentions that "the law is the decalogue, which the Lord promulgated to them with an audible voice, before the people made that calf which represented the Egyptian Apis."
  3. Finklestein, Israel; Silberman, Neil Asher (2002). The Bible Unearthed. Touchstone. p. 118. ISBN 0-684-86913-6. Most of the people who formed early Israel were local people—the same people whom we see in the highlands throughout the Bronze and Iron Ages. The early Israelites were—irony of ironies—themselves originally Canaanites!
  4. Friedman, Richard Elliott (2019) [First published 1987]. Who Wrote the Bible?. Simon & Schuster. ISBN 978-1-9821-2900-2. The calf, or young bull, was often associated with the god El, the chief god of the Canaanites, who was in fact referred to as Bull El.
  5. อพยพ 32:21 -24 พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน

อ่านเพิ่มเติม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]