พ็อลเทอร์ไกสท์
พ็อลเทอร์ไกสท์ (เยอรมัน: Poltergeist, ) เป็นชื่อเรียกปรากฏการณ์ชนิดหนึ่ง ที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน คำว่า "พ็อลเทอร์ไกสท์" มาจากภาษาเยอรมันคำว่า "Poltern" หมายถึง "ก่อความรำคาญหรือเอะอะมะเทิ่ง" และคำว่า "Geist" หมายถึง "ผี" เมื่อรวมความแล้ว คำว่า "พ็อลเทอร์ไกสท์" พอจะแปลความหมายได้ว่า "ผีที่น่ารำคาญหรือส่งเสียงดัง"[1]
ปรากฏการณ์พ็อลเทอร์ไกสท์จะแสดงออกด้วยการเคลื่อนข้าวของภายในบ้าน โดยที่ไม่มีใครไปเคลื่อนย้าย ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้จะปรากฏในบ้านของโลกตะวันตก จึงมีความเชื่อกันว่าเป็นการกระทำของผี ซึ่งจะไม่ถึงขั้นหลอกหลอนมนุษย์จนขวัญผวา เพียงแค่ทำให้ตกใจเล่นเท่านั้น แต่ในบางกรณีก็อาจรุนแรงถึงขั้นทำให้ข้าวของเสียหายหรือเกิดเป็นรอยข่วน รอยกัดตามร่างกายมนุษย์ก็มี บางครั้งปรากฏการณ์พ็อลเทอร์ไกสท์อาจเกิดติดต่อกันเป็นวัน ๆ แต่นักวิทยาศาสตร์บางคนเชื่อว่า พ็อลเทอร์ไกสท์ เป็นการกระทำที่เกิดจากมนุษย์เอง โดยเกิดจากความกดดัน โดยเฉพาะในวัยรุ่น เชื่อว่าเป็นลักษณะของการใช้พลังจิตแบบที่เคลื่อนย้ายสิ่งของ ที่เรียกว่าไซโคคิเนซิส (Psychokinesis) นั่นเอง โดยที่เจ้าตัวไม่รู้ตัว ขณะที่นักวิชาการชาวญี่ปุ่น โอทสึ โยะชิฮิโกะ แห่งมหาวิทยาลัยวะเซะดะ ที่ศึกษาเรื่องเหนือธรรมชาติต่าง ๆ เห็นว่า พ็อลเทอร์ไกสท์เป็นปรากฏการณ์ของพลาสมา คือ ไฟฟ้าสถิตที่ไหลวนอยู่ในอากาศ ซึ่งปรากฏการณ์แบบนี้เป็นปรากฏการณ์เดียวกับการเกิด "ลูกไฟวิญญาณ" หรือ "ฮิโตะดะมะ" (ญี่ปุ่น: 人魂) ตามความเชื่อของชาวจีนและชาวญี่ปุ่นนั่นเอง[2]
พ็อลเทอร์ไกสท์ได้ถูกอ้างอิงในวัฒนธรรมร่วมสมัย โดยมีการเขียนเป็นนวนิยายในชื่อเดียวกันนี้ (ฉบับแปลเป็นภาษาไทยใช้ชื่อว่า "โพลเทอร์ไกสท์ผีเกเร") โดย เจมส์ คาห์น นักเขียนชาวอเมริกัน ในปี ค.ศ. 1982 ซึ่งต่อมาทางฮอลลีวูดก็ได้สร้างภาพยนตร์จากนวนิยายเรื่องนี้ด้วยในชื่อเดียวกัน อำนวยการแสดงโดยสตีเวน สปีลเบิร์ก ในปีเดียวกัน ซึ่งภาพยนตร์ประสบความสำเร็จอย่างมาก จนต้องมีการสร้างต่อมาอีก 3 ภาค และสร้างเป็นซีรีส์ (ในชื่อภาษาไทยใช้ชื่อว่า "ผีหลอกวิญญาณหลอน") ซึ่งทำให้ทั้งโลกได้รู้จักกับปรากฏการณ์พ็อลเทอร์ไกสท์มากขึ้น
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ["หมายความของคำว่า Poltergeist (อังกฤษ)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-03-29. สืบค้นเมื่อ 2010-03-11. หมายความของคำว่า Poltergeist (อังกฤษ)]
- ↑ รูปร่างที่แท้จริงของผี หน้า 70, "โลกเร้นลับของสิ่งมีชีวิต" แปลโดย ขวัญนุช คำเมือง (พิมพ์ครั้งที่ 5 กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์ มกราคม 2543) ISBN 974-472-262-2