จักรวรรดินิยมในเอเชีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

จักรวรรดินิยมในเอเชียซึ่งนำเสนอในบทความนี้ว่าด้วยการเข้ามายังบริเวณที่เดิมเรียก หมู่เกาะอินเดียตะวันออก ของชาติยุโรปตะวันตก จักรวรรดินิยมในเอเชียเริ่มขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 15 โดยการค้นเส้นทางการค้ากับประเทศจีนซึ่งนำไปสู่ยุคแห่งการสำรวจโดยตรง และนำการสงครามสมัยใหม่ตอนต้นมาสู่บริเวณซึ่งขณะนั้นเรียก ตะวันออกไกล เมื่อถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 ยุคแห่งการเดินเรือขยายอิทธิพลของยุโรปตะวันตกและพัฒนาการค้าเครื่องเทศภายใต้ลัทธิอาณานิคมอย่างมาก มีจักรวรรดิอาณานิคมยุโรปตะวันตกและจักรวรรดินิยมในเอเชียตลอดหกศตวรรษแห่งลัทธิอาณานิคม จนสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการเมื่อติมอร์-เลสเต ซึ่งเป็นอาณานิคมสุดท้ายของจักรวรรดิโปรตุเกส ได้รับเอกราชใน ค.ศ. 2002 จักรวรรดินำมาซึ่งมโนทัศน์ชาติและรัฐพหุชาติแบบตะวันตก บทความนี้พยายามสรุปพัฒนาการของมโนทัศน์รัฐชาติของตะวันตก

แรงผลักของอำนาจทางการเมือง พาณิชย์และวัฒนธรรมของยุโรปในเอเชียทำให้มีการค้าโภคภัณฑ์มากขึ้น ซึ่งเป็นพัฒนาการสำคัญจนนำมาซึ่งเศรษฐกิจตลาดเสรีสมัยใหม่ในปัจจุบัน ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 โปรตุเกสทำลายการผูกขาดการค้าทางบกระหว่างทวีปเอเชียและยุโรปของชาวอาหรับและอิตาลี โดยการค้นพบเส้นทางทางทะเลสู่อินเดียอ้อมแหลมกู๊ดโฮป อิทธิพลของบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์คู่แข่งซึ่งตามติดมา ทำให้อิทธิพลของโปรตุเกสในทวีปเอเชียค่อย ๆ หมดไป กองทัพดัตช์เป็นชาติแรกที่สถาปนาฐานทัพอิสระทางตะวันออก (ที่สำคัญที่สุด คือ ปัตตาเวีย ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่บริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์อันมีป้อมค่ายแน่นหนา) แล้วจากนั้น ระหว่าง ค.ศ. 1640 ถึง 1660 ดัตช์แย่งชิงการค้ากับมะละกา ซีลอน ท่าอินเดียใต้บางแห่ง และญี่ปุ่นที่มีกำไรมากจากโปรตุเกส ต่อมา อังกฤษและฝรั่งเศสสถาปนานิคมในอินเดียและสถาปนาการค้ากับจีนและการได้มาของอังกฤษและฝรั่งเศสนี้จะค่อย ๆ แซงหน้าเนเธอร์แลนด์ หลังสงครามเจ็ดปีใน ค.ศ. 1763 อังกฤษกำจัดอิทธิพลของฝรั่งเศสในอินเดียและสถาปนาบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษเป็นอำนาจการเมืองที่สำคัญที่สุดในอนุทวีปอินเดีย

ก่อนหน้าการปฏิวัติอุตสาหกรรมในกลางถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 อุปสงค์ของสินค้าตะวันออกอย่างเครื่องถ้วยเปลือกไข่ ไหม เครื่องเทศและชา ยังเป็นแรงผลักเบื้องหลังจักรวรรดินิยมของยุโรป และเดิมพันของยุโรปในทวีปเอเชียส่วนใหญ่ยังจำกัดอยู่กับสถานีการค้าและกองรักษาด่านทางยุทธศาสตร์ซึ่งจำเป็นต่อการคุ้มครองการค้า (โดยยกเว้นการปกครองของบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษในอินเดีย) ทว่า การปรับให้เป็นอุตสาหกรรมเพิ่มอุปสงค์ของยุโรปต่อวัตถุดิบจากเอเชียอย่างมาก และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำยาว (Long Depression) แห่งคริสต์ทศวรรษ 1870 เป็นชนวนการแย่งชิงตลาดใหม่สำหรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของยุโรปและบริการทางการเงินในทวีปแอฟริกา อเมริกา ยุโรปตะวันออก และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเอเชีย การแย่งชิงนี้เกิดขึ้นพร้อมกับสมัยใหม่ในการขยายอาณานิคมโลกเรียก "จักรวรรดินิยมใหม่" ซึ่งหันความสนใจจากการค้าและการปกครองทางอ้อมเป็นการควบคุมอาณาเขตโพ้นทะเลไพศาลแบบอาณานิคมอย่างเป็นทางการอันปกครองเป็นการขยายทางการเมืองจากประเทศแม่ ระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1870 จนสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเริ่มขึ้นใน ค.ศ. 1914 สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมที่มั่นคงในทวีปเอเชีย ผนวกอาณาเขตกว้างใหญ่ของตะวันออกกลาง อนุทวีปอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้ากับจักรวรรดิของตน ในห้วงเวลาเดียวกัน จักรวรรดิญี่ปุ่นหลังการปฏิรูปเมจิ จักรวรรดิเยอรมันหลังสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซียยุติใน ค.ศ. 1871 จักรวรรดิรัสเซีย และสหรัฐอเมริกาหลังสงครามสเปน-อเมริกาใน ค.ศ. 1898 กำเนิดเป็นเจ้าอาณาเขตในเอเชียตะวันออกและบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกอย่างรวดเร็ว

ในทวีปเอเชีย สงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสงครามโลกครั้งที่สองเป็นการต่อสู้ระหว่างเจ้าอาณานิคมหลายชาติ ความขัดแย้งดังกล่าวเกี่ยวข้องกับชาติยุโรปกับรัสเซีย และสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นซึ่งกำลังผงาด ทว่า ไม่มีเจ้าอาณานิคมประเทศใดมีทรัพยากรเพียงพอกับความเสียหายจากสงครามโลกทั้งสองครั้งและธำรงการปกครองโดยตรงในทวีปเอเชียได้ แม้ขบวนการชาตินิยมทั่วโลกอาณานิคมนำมาซึ่งเอกราชทางการเมืองในอาณานิคมแทบทั้งหมดที่เหลืออยู่ในทวีปเอเชีย การปลดปล่อยอาณานิคมถูกสงครามเย็นขัดขวาง และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ ตะวันออกกลางและเอเชียตะวันตกยังจมอยู่ในระบบเศรษฐกิจ การเงินและทหารโลกซึ่งมหาอำนาจแข่งกันขยายอิทธิพล อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเศรษฐกิจหลังสงครามที่รวดเร็วของเสือเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก อินเดีย จีน ตลอดจนการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ได้ลดอิทธิพลของยุโรปและอเมริกาเหนือในทวีปเอเชีย ทำให้มีการสังเกตในปัจจุบันว่าอินเดียและจีนสมัยใหม่อาจกำเนิดเป็นอภิมหาอำนาจใหม่ของโลก

อังกฤษในอินเดีย[แก้]

การล่มสลายของราชวงศ์โมกุลแห่งอินเดียและการกำเนิดของบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ[แก้]

อังกฤษก่อตั้งบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ (The British East India Company) ขึ้นในปี พ.ศ. 2143 (ค.ศ. 1600) แม้ว่าจะเป็นการเผชิญหน้าโดยตรงกับฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีผลประโยชน์อยู่ในอินเดียขณะนั้น แต่บริษัทก็สามารถเติบโตและขยายอำนาจเข้าครอบงำดินแดนทั้งหมดของอนุทวีปได้ในศตวรรษต่อมา เมื่ออังกฤษเข้าครองเบงกอลได้ หลังมีชัยชนะในยุทธการที่ปาลาศี ในปี พ.ศ. 2300 (ค.ศ. 1757) บริษัทบริติชเอเชียตะวันออกเติบโตขึ้นในช่วงจังหวะที่พระราชอำนาจของราชวงศ์โมก์ฮัลหรือราชวงศ์โมกุล (Mughal) ตกต่ำเสื่อมถอย เนื่องจากการคอรัปชั่น กดขี่ราษฎร และการก่อกบฏ จนในที่สุดก็ถึงกาลล่มสลายลงในรัชสมัยของกษัตริย์โอรังเซบ (Aurangzab) ซึ่งปกครองอินเดียในช่วงปี ค.ศ. 1658 - 1707

รัชสมัยของกษัตริย์ชาห์ จาฮัน (Shah Jahan, ค.ศ. 1628 - 1658) เป็นยุคแห่งความเจริญรุ่งเรื่องและมีพระราชอำนาจสูงสุดของราชวงศ์โมก์ฮัน แต่พอถึงรัชสมัยของกษัตริย์โอรังเซบก็เป็นยุคแห่งหายนะ เนื่องจากกษัตริย์โอรังเซบเป็นผู้ที่มีความอำมหิต และคลั่งไคล้ในศาสนา มีพระประสงค์จะกำจัดผู้ที่มีความคิดเห็น ความเชื่อหรือทัศนะที่แตกต่างไปจากความเชื่อของมุสลิมให้หมดไปจากแผ่นดินอินเดีย

ในราวปี พ.ศ. 2233 (ค.ศ. 1690) อันเป็นช่วงเวลาที่ราชวงศ์โมก์ฮัลสามารถแผ่ขยายจักรวรรดิออกไปได้กว้างใหญ่ไพศาลที่สุดนั้น อินเดียภายใต้การปกครองของกษัตริย์โอรังเซบมีอาณาบริเวณครอบคลุมพื้นที่คาบสมุทรอินเดียทั้งหมด แต่ช่วงเวลาแห่งความรุ่งเรื่องตามมาด้วยวัฏจักรขาลง หรือช่วงเวลาของอำนาจที่เสื่อมคลายตกต่ำ 15 ปี หลังการสิ้นพระชนม์ของกษัตริย์โอรังเซบ ราชอาณาจักรโมก์ฮัลที่ยิ่งใหญ่ก็ถึงแก่กาลล่มสลายลง อนุทวีปก้าวเข้าสู่ช่วงอนาธิปไตย บ้านเมืองยุ่งเหยิง ไร้ขื่อแป เนื่องจากบรรดาแม่ทัพนายกอง เหล่าเชื้อพระวงศ์และขุนนางแก่งแย่งชิงกันเป็นใหญ่ แบ่งกันเป็นก๊กเป็นเหล่า ทำการปล้นสะดมแย่งอำนาจระหว่างกัน แต่ในช่วงเวลาเหล่านี้ราชวงศ์โมก์ฮัลยังปกครองอินเดียอยู่ในนาม จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2401 (ค.ศ. 1858) รัฐบาลกลางจึงถึงกาลล่มสลายลง ก่อให้เกิดภาวะสุญญากาศทางอำนาจขึ้นในดินแดนภารตะที่กว้างใหญ่นี้

จากบริษัทสู่เพชรยอดมงกุฎแห่งราชบัลลังก์อังกฤษ[แก้]

อีสต์อินเดียเฮาส์ ที่ตั้งของบริษัทบริติชอินเดียตะวันออก ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1820

ระหว่างที่บริษัทเทรดดิ้งของอังกฤษและฝรั่งเศสแข่งขันแย่งชิงผลประโยชน์ทางการค้าระหว่างกันและกันมาเป็นเวลานานกว่าหนึ่งศตวรรษนั้น ราวกลางศตวรรษที่ 18 สงครามซึ่งเป็นเสมือนอนุสาวรีย์แห่งความเป็นเจ้าจักรวรรดิของอังกฤษก็เริ่มต้นขึ้น ในช่วงสงครามเจ็ดปี (พ.ศ. 2299 - 2306) รอเบิร์ต ไคลฟ์ (Robert Clive) ผู้นำบริษัทในอินเดียมีชัยชนะเหนือกษัตริย์แห่งเบงกอลในอินเดียในการศึกที่เพลสเซย์ (Battle of Plassey พ.ศ. 2300) อันเป็นชัยชนะครั้งสำคัญซึ่งนำไปสู่การเริ่มต้นของยุคใหม่ในประวัติศาสตร์อินเดีย ซึ่งเป็นยุคที่อังกฤษเข้าปกครองอินเดียอย่างไม่เป็นทางการ และในขณะที่อินเดียยังคงสถานภาพมีอธิปไตยของตนเองแต่เพียงในนามนั้น จักรพรรดิราชวงศ์โมก์ฮัลของอินเดียก็มีฐานะเป็นหุ่นเชิดของอังกฤษมากยิ่งขึ้นทุกที ๆ พร้อม ๆ กับที่ภาวะบ้านเมืองไร้ขื่อแปก็แพร่ระบาดไปทั่วจนกระทั่งบริษัทบริติชอินเดียตะวันออกก้าวขึ้นสู่บทบาทตำรวจปราบปรามการจลาจลวุ่นวายในอินเดียอย่างเต็มตัว

การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ลัทธิอาณานิคมอย่างเป็นทางการของอินเดียเริ่มจากการที่อังกฤษสถาปนาสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกตอเรียขึ้นเป็น "จักรพรรดินีแห่งอินเดีย (Empress of India)" ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1870 ซึ่งเป็นขบวนการที่เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ แบบค่อยเป็นค่อยไป โดยขั้นตอนแรกซึ่งเป็นการเชื่อมโยงอินเดียเข้าเป็นดินแดนใต้ปกครองอย่างเป็นทางการของอังกฤษได้เริ่มมาตั้งแต่ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 เมื่อรัฐสภาอังกฤษหลังถูกรบกวนด้วยแนวคิดที่ว่า บริษัทธุรกิจที่ยิ่งใหญ่แห่งนี้มีความสนใจเบื้องต้นอยู่ที่การทำผลกำไรให้ได้เท่านั้น ในขณะที่มีอำนาจควบคุมโชคชะตาของคนจำนวนเป็นล้าน ๆ คน ได้ผ่านกฎหมายหลายฉบับออกมาในปี พ.ศ. 2316 (ค.ศ. 1773) และ พ.ศ. 2321 (ค.ศ. 1778) กฎหมายที่ออกมาเห่านี้ได้ให้อำนาจแก่รัฐสภาในการควบคุมนโยบายต่างๆของบริษัทบริติชอินเดียตะวันออก และมีอำนาจในการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงสุดของบริษัทในอินเดียซึ่งรู้จักกันในชื่อตำแหน่ง ว่า "ผู้สำเร็จราชการเมืองขึ้น (governor-general)" (ระบบการควบคุม 2 ระดับนี้ใช้กันต่อมาจนกระทั่งปี ค.ศ. 1858) ในปี พ.ศ. 2361 (ค.ศ. 1818) บริษัทบริติชอินเดียตะวันออกปกครองอินเดียทั้งหมด กษัตริย์พื้นเมืองอินเดียบางส่วนถูกบีบให้ยอมสวามิภักดิ์ ยอมรับความเป็นเจ้าอาณานิคมของอังกฤษ ขณะที่บางส่วนถูกริบดินแดนไป พื้นที่บางส่วนของอนุทวีปตกอยู่ภายใต้การปกครองโดยตรงของอังกฤษ ในขณะที่บางส่วนราชวงศ์พื้นเมืองยังคงปกครองบ้านเมืองของตนอยู่ แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของอังกฤษ

ก่อนถึงปี พ.ศ. 2401 (ค.ศ. 1858) นั้น พื้นที่ส่วนใหญ่ของอนุทวีปยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของจักรพรรดิแห่งราชวงศ์โมก์ฮันอย่างเป็นทางการอยู่ อย่างไรก็ตาม ความโกรธแค้นในกลุ่มสังคมหลายกลุ่มได้คุกรุ่นขึ้นในสมัยที่เจมส์ ดัลเฮาซี (James Dalhousie) ดำรงตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองขึ้นของอังกฤษ (พ.ศ. 2390 - 2399) เนื่องจากบุคคลผู้นี้ได้ทำสงครามและขยายดินแดนภายใต้ปกครองของอังกฤษออกไปอย่างต่อเนื่อง เช่น การทำสงครามแขกซิกข์ครั้งที่สอง (the second Sikh War) เมื่อมีชัยชนะก็ผนวกเอาแคว้นปัญจาบเข้ากับอังกฤษ (พ.ศ. 2392) การยึดอำนาจจากเจ้าปกครองรัฐต่าง ๆ อีก 7 รัฐโดยข้ออ้างว่าละเมิดศีลธรรมและหันกลับไปสู่การทุจริตคิดมิชอบอีก การยึดรัฐสำคัญๆในแคว้นอวาธะ (Oudh) โดยอ้างความผิดพลาดในการบริหารปกครองบ้านเมือง และปฏิบัติการด้านวัฒนธรรมที่มีความอ่อนไหวเช่น ห้ามการทำพิธีกรรมของฮินดู เช่นพิธีสตี (Sati) หรือ พิธีเผาตัวเองของหญิงหม้ายชาวฮินดูเพื่อตามสามีที่เสียชีวิตไปก่อนด้วยการกระโดดเข้ากองไฟที่เผาศพสามี เป็นต้น

ในปี พ.ศ. 2400 (ค.ศ. 1857) เกิดกบฏซีปอย (Sepoy Rebellion) หรือ ขบถอินเดีย (Indian Mutiny) ขึ้น ซึ่งเป็นการก่อกบฏที่เริ่มต้นขึ้นโดยกองกำลังชาวอินเดีย ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของกองกำลังติดอาวุธของบริษัทบริติชอินเดียตะวันออก การกบฏครั้งนี้ถือเป็นจุดหักเหครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์อินเดีย และครั้งนั้นอังกฤษยังโชคดีมาก เนื่องจากทหารอินเดียในส่วนอื่น ๆ อีกหลายพื้นที่ภายใต้ปกครองของอังกฤษยังคงมีความจงรักภักดีต่อบริษัท ไม่เคลื่อนไหวเข้าสมทบหรือสนับสนุนฝ่ายกบฏ ทำให้อังกฤษปราบฝ่ายกบฏลงได้อย่างราบคาบหลังจากการต่อสู้อย่างรุนแรง ผลลัพธ์สำคัญประการหนึ่งจากการก่อกบฏครั้งนั้นก็คือการอวสานของราชวงศ์โมก์ฮัล กบฏทหารอินเดียครั้งนั้นยังทำให้ระบบการควบคุมอาณานิคมอินเดีย 2 ระดับของอังกฤษ คือการแบ่งปันอำนาจในการปกครองอินเดียร่วมกันระหว่างรัฐบาลอังกฤษและบริษัทบริติชอินเดียตะวันออกยุติลงด้วย รัฐบาลอังกฤษปลดบริษัทบริติชอินเดียตะวันออกออกจากตำแหน่งความรับผิดชอบทางการเมือง และในปี พ.ศ. 2401 (ค.ศ. 1858) บริษัทซึ่งมีบทบาทสำคัญในฐานะหัวหอกไล่ล่าอาณานิคมของอังกฤษซึ่งมีอายุ 258 ปี ก็ยุติบทบาทตนเองลงอย่างสิ้นเชิง มีการรับสมัครผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยของอังกฤษเพื่อเข้ารับการฝึกอบรมเป็นข้าราชการพลเรือนบริหารอินเดียในสังกัดของอังกฤษ และบุคคลเหล่านี้คือบุคคลกลุ่มแรก ๆ ที่มีความพร้อมจะปกครองอินเดียในช่วงต่อไป

ลอร์ดแคนนิง (Lord Canning ได้รับแต่งตั้งเป็นเอิร์ล ในปี พ.ศ. 2402) ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแห่งอินเดียในปี พ.ศ. 2399 (ค.ศ. 1856) ลอร์ดแคนนิงผู้นี้เป็นที่รู้จักในอีกนามหนึ่งว่า "แคนนิงผู้เมตตา" (Clemency Canning) เนื่องจากเขาเป็นผู้ที่พยายามควบคุมมิให้มีการแก้แค้นชาวอินเดีย ในช่วงระหว่างเกิดการกบฏโดยกองกำลังทหารอินเดียขึ้นนั่นเอง เมื่อมีการเปลี่ยนถ่ายการปกครองอินเดียจากบริษัทบริติชอินเดียตะวันออก มาเป็นการปกครองโดยรัฐบาลอังกฤษ หรือเปลี่ยนจาก "บริษัทสู่เพชรยอดมงกุฎแห่งราชบัลลังก์อังกฤษ" ตำแหน่งผู้ปกครองอินเดียของอังกฤษก็เปลี่ยนตามไปด้วย คือเปลี่ยนจากตำแหน่ง "ผู้สำเร็จราชการเมืองขึ้น" (governor-general) ไปเป็นตำแหน่ง "อุปราช" (Viceroy) และอุปราชแห่งอินเดียคนแรกของอังกฤษคือแคนนิงนั่นเอง

กำเนิดของลัทธิชาตินิยมอินเดีย[แก้]

อังกฤษปกครองอาณานิคมอินเดีย พร้อมกับการพัฒนาอินเดียให้มีความทันสมัยก้าวหน้าขึ้นในหลายด้าน ตัวอย่างเช่น การขยายเส้นทางรถไฟจากปี พ.ศ. 2396 เป็นต้นมานั้นได้ช่วยให้ภาคธุรกิจต่าง ๆ ขยายตัวออกไปด้วย ในขณะที่การเพาะปลูกฝ้าย ชา และครามก็ทำให้เกิดธุรกิจอย่างใหม่ ๆ ขึ้นในภาคเศรษฐกิจการค้า การยกเลิกภาษีนำเข้าในปี พ.ศ. 2426 (ค.ศ. 1883) ซึ่งเปิดช่องทางให้อุตสาหกรรมที่เกิดใหม่ของอินเดียมองเห็นถึงการที่ต้องปลดโซ่ตรวนการแข่งขันจากอังกฤษ จึงกระตุ้นให้เกิดพัฒนาการที่ทันสมัยอีกอย่างหนึ่งขึ้นมาด้วย นั่นก็คือ การเกิดขึ้นของขบวนการชาตินิยมอินเดีย

การปฏิเสธไม่ยอมให้สถานภาพที่เท่าเทียมกันแก่ชาวอินเดีย คือปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดการก่อตั้งสภาแห่งชาติอินเดีย (The Indian National Congress) ขึ้นในปี ค.ศ. 1885 ซึ่งเบื้องต้นยังจงรักภักดีต่อจักรวรรดิอังกฤษ แต่จากปี พ.ศ. 2448 (ค.ศ. 1905) เป็นต้นมาก็ยืนหยัดที่จะสร้างรัฐบาลอินเดียที่มีอำนาจในการปกครองตนเองมากยิ่งขึ้น. จนกระทั่งปี ค.ศ. 1930 ภารกิจก็คือการประกาศเอกราชจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษโดยตรง ระบบ "Home Charges" ซึ่งเป็นระบบที่อังกฤษใช้ดูดทรัพยากรธรรมชาติ และโยกย้ายสินทรัพย์จากอินเดียไปยังอังกฤษ ในฐานะที่เป็น "ค่าใช้จ่ายในการบริหาร" อาณานิคมอินเดียนั้น เป็นสาเหตุสำคัญที่สร้างความเจ็บใจให้แก่บรรดานักชาตินิยมอินเดียมายาวนาน แม้ว่าการไหลของทรัพยากรมีค่าของอินเดียไปยังอังกฤษ จะลดน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ ในช่วงหลายทศวรรษก่อนที่อินเดียจะได้รับเอกราชในปี พ.ศ. 2490 (ค.ศ. 1947) ก็ตาม

แม้ว่าผู้นำของชาวฮินดูซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่ และผู้นำของชนมุสลิมซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยของอินเดีย จะสามารถร่วมมือกันได้อย่างใกล้ชิด ในการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายอาณานิคมของอังกฤษ จนเข้าสู่คริสต์ทศวรรษ 1920 แต่อังกฤษก็ให้การสนับสนุนองค์กรทางการเมืองของชาวมุสลิมที่แตกต่างกันจากชาวฮินดูมาแล้วตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2449 (ค.ศ. 1906) และพอในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1920 เป็นต้นไป ก็ยืนกรานกระต่ายขาเดียวที่จะให้มีคณะเลือกตั้งที่แยกกันสำหรับชนกลุ่มน้อยที่แตกต่างกันทางลัทธิศาสนา ซึ่งท่าทีของอังกฤษดังกล่าวถูกมองโดยคนจำนวนมากในอินเดียว่า เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งกันระหว่างฮินดู-มุสลิมขึ้น จนท้ายที่สุดทำให้เกิดการแบ่งแยกอินเดียออกเป็นส่วน ๆ

ฝรั่งเศสในอินโดจีน[แก้]

บทบาทของฝรั่งเศสในอาณานิคมเอเชียนั้นแตกต่างจากอังกฤษ เพราะฝรั่งเศสได้สูญเสียอำนาจจักรวรรดินิยมของตนให้แก่อังกฤษไป ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ดังนั้นจึงมีพื้นฐานสำหรับการขยายดินแดนเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งในแง่ของภูมิศาสตร์และการพาณิชย์น้อยกว่าอังกฤษ ในช่วงหลังจากทศวรรษ 1850 ลัทธิจักรวรรดินิยมของฝรั่งถูกกระตุ้นโดยความต้องการด้านชาตินิยมเพื่อแข่งขันกับคู่ปรับคืออังกฤษ และได้รับการสนับสนุนทางปัญญา โดยแนวคิดเกี่ยวกับความยิ่งใหญ่เหนือกว่าชาติอื่นของวัฒนธรรมฝรั่งเศส และขบวนการพิเศษของ "mission civilisatrice" หรือ ขบวนการหล่อหลอมชนพื้นเมืองให้มีความอารยะโดยผ่านการซึมซับรับเอาวัฒนธรรมของชาติฝรั่งเศสเข้าไปอย่างกลมกลืนแทบไม่รู้สึกตัว ดังนั้น ข้ออ้างโดยตรงของฝรั่งเศสในการขยายอิทธิพลเข้าสู่อินโดจีนก็คือการปกป้องคณะมิชชั่นนารีฝรั่งเศสที่เข้าไปเผยแพร่ศาสนาในพื้นที่ดังกล่าว ควบคู่กันไปกับความปรารถนาที่จะค้นหาเส้นทางเข้าสู่ทางภาคใต้ของจีน โดยผ่านพื้นที่ทางภาคเหนือของเวียดนามซึ่งเรียกว่า ดินแดนตั๋งเกี๋ย (Tonkin)

ฝรั่งเศสได้เข้าไปลงหลักปักฐานผลประโยชน์ของตนทั้งทางด้านศาสนาและทางด้านการค้าในอินโดจีนตั้งแต่ในศตวรรษที่ 17 แต่ความพยายามที่จะประสานผลประโยชน์ทั้งสองด้านเข้าด้วยกันเพื่อสถาปนาเขตอิทธิพลของฝรั่งเศสขึ้นนั้นไม่สามารถเป็นไปได้ เนื่องจากจะต้องเผชิญหน้ากับอังกฤษที่กำลังแข็งแกร่งเฟื่องฟู แผ่อำนาจไล่ล่าอาณานิคมอยู่ในมหาสมุทรอินเดีย ขณะที่ฝรั่งเศสเป็นฝ่ายปราชัยอยู่ในยุโรปในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 และต้นศตวรรษที่ 19 ต่อมาในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 กลุ่มเคร่งศาสนาได้กลับฟื้นคืนสู่อำนาจอีกครั้งในฝรั่งเศสอันเป็นช่วงที่เรียกกันว่า "จักรวรรดิที่ 2" (the Second Empire) สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ ทำให้ความสนใจต่อผลประโยชน์ของฝรั่งเศสในตะวันออกไกลมีกระแสเพิ่มสูงขึ้น และเมื่อเกิดกระแสต่อต้านศาสนาคริสต์ขึ้นในดินแดนตะวันออกไกล เช่น การจับกุม กลั่นแกล้งและสังหารชาวคริสต์ ฯลฯ เหตุการณ์ดังกล่าวจึงกลายเป็นเหตุผลสำคัญทำให้ฝรั่งเศสก้าวเข้าแทรกแซงฝ่ายบริหารของชนถ้องถิ่น ตัวอย่างเช่น ในปี ค.ศ. 1856 จีนสั่งประหารชีวิตมิชชันนารีฝรั่งเศสที่ไปเผยแพร่ศาสนาอยู่ในดินแดนทางใต้ของจีน และในปี ค.ศ. 1857 จักรพรรดิเวียดนามซึ่งกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาวิกฤติในประเทศ ได้พยายามทำลายอิทธิพลของต่างชาติในเวียดนามโดยการสั่งประหารชีวิตบิชอปชาวสเปนแห่งตังเกี๋ย (Tonkin) ฝรั่งเศสซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์นโปเลียนที่ 3 ตัดสินใจว่า ถ้าฝรั่งเศสไม่เข้าไปช่วย ศาสนาคาทอลิกจะถูกจำกัดให้สูญหายไปจากดินแดนตะวันออกไกล พระองค์จึงร่วมมือกับอังกฤษทำสงครามกับจีน เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1857 ไปจนถึงปี ค.ศ. 1860 พร้อมกับทำสงครามยึดเวียดนามด้วย และในปี ค.ศ. 1860 ฝรั่งเศสก็เข้ายึดครองไซง่อนไว้ได้

ตามสนธิสัญญาฝรั่งเศส-เวียดนาม (Franco-Vietnamese Treaty) ซึ่งทำขึ้นในปี ค.ศ. 1862 นั้น จักรพรรดิเวียดนามไม่เพียงยินยอมยกดินแดน 3 จังหวัดในโคชิน ไชน่า (Cochin China) ดินแดนทางภาคใต้ให้แก่ฝรั่งเศสโดยสิ้นเชิงเท่านั้น แต่ยังให้การรับรองสิทธิพิเศษทั่วแผ่นดินเวียดนามทั้งทางด้านการค้าและการเผยแพร่ศาสนาให้แก่ฝรั่งเศส พร้อมทั้งยอมรับการเป็นรัฐในอารักขา (protectorates) หรือการมีฝรั่งเศสเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเวียดนามอีกด้วย จากนั้นอย่างช้า ๆ อำนาจของฝรั่งเศสก็แผ่ขยายออกไปในอินโดจีน ด้วยการสำรวจหาดินแดนใหม่ การแต่งตั้งขึ้นเป็นรัฐภายใต้อารักขาของฝรั่งเศส และการใช้กำลังเข้ายึดครองมาเป็นอาณานิคมของตนดื้อ ๆ การบุกเข้ายึดครองฮานอยในปี ค.ศ. 1882 นำไปสู่การทำสงครามโดยตรงกับจีน (ค.ศ. 1883-1885) และการมีชัยชนะในการศึกของฝรั่งเศสในสงครามครั้งนี้ ก็เป็นยืนยันถึงการมีอิทธิพลครอบงำเหนือดินแดนในภูมิภาคนี้ของฝรั่งเศส ฝรั่งเศสปกครองดินแดนโคจินไชน่าในฐานะดินแดนอาณานิคมโดยตรงของฝรั่งเศส ส่วนอันนัม (Annam, พื้นที่ตอนกลางเวียดนาม) ตังเกี๋ย และกัมพูชา ตกเป็นดินแดนภายใต้อารักขาของฝรั่งเศส โดยมีระดับการควบคุมแตกต่างกันไป และในไม่ช้าก็สามารถยึดลาวเข้าเป็นรัฐใต้อารักขาของตนได้เพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่ง

เมื่อต้นศตวรรษที่ 20 ฝรั่งเศสได้สร้างจักรวรรดิขึ้นในอินโดจีน ซึ่งมีพื้นที่กว้างใหญ่กว่าประเทศแม่ในยุโรปเกือบ 50% ผู้สำเร็จราชการเมืองขึ้นของฝรั่งเศสในฮานอยปกครองโคจินไช่น่าโดยตรง ขณะที่ควบคุมภูมิภาคอื่น ๆ ด้วยระบบผู้แทนผู้สำเร็จราชการที่อยู่ประจำรัฐอารักขา (system of residents) นั่นคือ ในทางทฤษฎีแล้ว ฝรั่งเศสจะปล่อยให้ผู้ปกครองท้องถิ่น ที่ปกครองดินแดนเหล่านี้มาก่อนตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ทำหน้าที่ปกครองดินแดนต่อไป พร้อมทั้งยังคงให้ใช้โครงสร้างการบริหารราชการแบบเดิม ทั้งใน อันนัม ตั่งเกี๋ย กัมพูชา และ ลาว. แต่ในความเป็นจริงนั้น ผู้สำเร็จราชการเมืองขึ้นของฝรั่งเศส จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางทั้งทางด้านการเงินและการบริหารปกครองดินแดนทั้งหมด อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถาบันต่าง ๆ ของชนพื้นเมืองจะอยู่รอดต่อไปได้ เพื่อทำให้การปกครองอาณานิคมของฝรั่งเศสเป็นที่ยอมรับได้มากขึ้น แต่สถาบันต่าง ๆ เหล่านั้นก็มีสภาพเสมือนหุ่นเชิด หรือตรายางเท่านั้น เนื่องจากไร้อิสรภาพในการดำเนินการใด ๆ ได้อย่างเป็นเสรี. ผู้ปกครองอาณานิคมฝรั่งเศส พยายามดูดกลืนชนชั้นสูงในท้องถิ่น ให้ยอมรับความยิ่งใหญ่เหนือกว่าของอารยธรรมฝรั่งเศส. ในขณะที่ฝรั่งเศสพัฒนาระบบข้าราชการพลเรือนให้ดีขึ้น และสร้างเสถียรภาพทางด้านการค้านั้น มาตรฐานการดำรงชีวิตของชนพื้นเมืองก็ตกต่ำลง. โครงสร้างสังคมในช่วงก่อนยุคอาณานิคมเสื่อมโทรมลง อินโดจีนซึ่งมีจำนวนประชากรมากกว่า 18 ล้านคนในปี ค.ศ. 1914 มีความสำคัญต่อฝรั่งเศส เนื่องจากเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญที่ฝรั่งเศสต้องการ คือ ดีบุก พริกไทย ถ่านหิน ฝ้าย และข้าว อย่างไรก็ตาม ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า การมีอาณานิคมนั้น โดยแท้จริงแล้ว สามารถสร้างผลกำไรที่คุ้มค่าทางด้านการค้าพาณิชย์ให้แก่ฝรั่งเศสได้จริงหรือไม่

ลัทธิจักรวรรดินิยมในจีน[แก้]

การแทรกซึมของลัทธิจักรวรรดินิยมในจีน[แก้]

ชาวแมนดารินที่คาดกันว่าคือหลี่ หงจางที่ใส่ชุดแมนจู ตกใจเมื่อเห็น พระราชินีวิกตอเรีย (สหราชอาณาจักร), วิลเฮล์มที่ 2 (เยอรมนี), นิโคลัสที่ 2 (รัสเซีย), มารีอานน์ (ฝรั่งเศส), และซามูไร (ญี่ปุ่น) กำลังหั่นพายที่มีคำว่า Chine (เป็นภาษาฝรั่งเศส แปลว่า จีน) อยู่บนนั้น

ในช่วงศตวรรษที่ 18 นั้น อังกฤษมีการค้าขายที่คึกคักกับจีน โดยมีการส่งออกแร่เงินจากเม็กซิโกไปยังจีนและนำเข้าชาจากจีนไปยังเมืองแม่ แต่เมื่ออังกฤษสูญเสียอาณานิคมอเมริกาซึ่งอยู่ใกล้ชิดติดกับเม็กซิโกไป อังกฤษก็สูญเสียแหล่งป้อนแร่เงินสำคัญของตนไปด้วย จึงเกิดความจำเป็นที่จะต้องหาสินค้าทางเลือกอื่นเพื่อการส่งออก ฝิ่นของชนอินเดียนเป็นสินค้าที่สามารถทำกำไรได้งามถ้านำมาส่งออกไปยังจีนแทน ถ้าไม่คำนึงถึงศีลธรรม สินค้าตัวใหม่นี้จะช่วยแก้ปัญหาการขาดดุลบัญชีให้แก่อังกฤษได้ แต่ก็ทำให้เกิดความสูญเสียอย่างมหาศาลทางด้านสังคมในจีน ส่งผลให้เกิดสงครามฝิ่น (Opium Wars) ระหว่างอังกฤษกับจีนขึ้นเริ่มต้นในปี ค.ศ. 1830

จีนภายใต้ลัทธิจักรวรรดินิยมอังกฤษในช่วงศตวรรษที่ 19 นั้นได้รับการเลี้ยงดูด้วยความคิดที่ผิด ๆ ด้วยเช่นกันว่า เป็นแหล่งตลาดโดยธรรมชาติสำหรับสินค้าอุตสาหกรรมจากอังกฤษ (สำคัญที่สุดคือสิ่งทอ) และที่ว่าชาวจีนไม่ยอมคบค้าเกี่ยวข้องกับสินค้าอุตสาหกรรมจากต่างชาตินั้นก็เป็นเพียงเพราะการควบคุมด้านการค้าอย่างเข้มข้นของรัฐบาลจีน แต่ปัจจุบันนี้ นักประวัติศาสตร์มีความเห็นสอดคล้องกันว่า การควบคุมทางการค้าของจีนในยุคสมัยนั้นไม่ได้เข้มงวดมากมายอะไรนัก และสินค้าสิ่งทอจากอังกฤษนั้นไม่สามารถที่จะแข่งขันกับจีนได้ เนื่องจากสินค้าสิ่งทอของจีนนั้นเป็นผลผลิตที่เกิดจากแรงงานส่วนเกินของคนในครอบครัว ดังนั้นจึงไม่ต้องอาศัยการยังชีพด้วยอัตราค่าจ้างดังเช่นที่คนงานผู้ผลิตสิ่งทอเป็นอยู่ในโรงงานของอังกฤษ

ความทะเยอทะยานของเหล่าบรรดานักล่าอาณานิคมและคู่แข่งในตะวันออกไกล ทำให้จีนซึ่งมีอาณาจักรกว้างใหญ่ไพศาล และจำนวนประชากรมากกว่า 1 ใน 4 ของโลก ตกเป็นเป้าของการไล่ล่าเพื่อเข้ายึดครองอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่สิ่งที่ทำให้จีนยังคงสามารถอยู่รอดเป็นประเทศเอกราชอยู่ได้ในภาพรวมนั้น ส่วนใหญ่เป็นเพราะความยืดหยุ่นของโครงสร้างทางสังคมและการบริหารปกครองของจีนเอง อย่างไรก็ตาม การคงความเป็นเอกราช รอดปากเหยี่ยวปากกาลัทธิจักรวรรดินิยมของแผ่นดินใหญ่จีนไว้ได้โดยรวมนั้น ยังสามารถมองได้ด้วยว่าเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงขีดจำกัดที่แท้จริงของลัทธิจักรวรรดินิยมยุโรป เมื่อต้องเผชิญหน้ากับการอ้างสิทธิในการแข่งขันที่คล้ายคลึงกันได้อีกด้วย

ตามหลักการแล้ว เบื้องลึกของการไล่ล่าหาอาณานิคมของชาติตะวันตก ก็คือเพื่อให้มีดินแดนสำหรับใช้เป็นที่ตั้งกองกำลัง ซึ่งจะกลายเป็นฐานที่มั่นสำคัญทางยุทธศาสตร์ขึ้นในดินแดนที่อยู่ห่างไกล เพื่อกองกำลังเหล่านั้น จะได้ทำหน้าที่ปกป้องพื้นที่ "การลงทุน" ขนาดใหญ่ของเหล่าประเทศเจ้าอาณานิคมทั้งหลาย ดังเช่นใน อินเดีย ลาตินอเมริกา และจีน. แต่อังกฤษนั้น ในบางสำนึก ยังคงยึดมั่นกับแนวคิดตามลัทธิเสรีพาณิชย์ของนักเศรษฐศาสตร์ คอบ เด็น ที่ว่า ลัทธิอาณานิคมอย่างไม่เป็นทางการนั้น มีความเหมาะสมมากกว่า ซึ่งแนวคิดนี้ก็ได้เป็นที่ยอมรับตามกันอย่างเป็นเอกฉันท์ในกลุ่มนักทุนนิยมอุตสาหกรรมทั้งหลายในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาระหว่างการล่มสลายของนโปเลียนและสงครามฟรังโก-ปรัสเซียน. สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นความชอบสำหรับลัทธิอาณานิคมเหนือกว่าจักรวรรดิอย่างไม่เป็นทางการ แต่ท่าทีต่อการปกครองอาณานิคมอย่างเป็นทางการในส่วนใหญ่ของพื้นที่ในแถบร้อนนั้น ครั้งหนึ่งเคยถูกพิจารณาว่า "ล้าหลัง" มากเกินไปสำหรับการค้า พื้นที่ซึ่งมีความเป็นเอกราชนั้น ให้การต้อนรับขับสู้จักรวรรดิอย่างไม่เป็นทางการอยู่แล้ว ส่วนใหญ่ก็เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกปกครองในฐานะอาณานิคมอย่างเป็นทางการ ในช่วงของการปรับเปลี่ยนโยกย้ายเข้าสู่ยุคจักรวรรดินิยมใหม่

ตัวอย่างเช่น จีนไม่ใช่ประเทศล้าหลังที่ไม่สามารถสร้างเสถียรภาพและความมั่นคง ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอันดับแรก ๆ ของการค้าพาณิชย์ตามสไตล์ตะวันตกได้ แต่จักรวรรดิจีนที่มีความเจริญก้าวหน้าสูงมากนี้ ไม่ยินยอมรับรูปแบบของการค้าพาณิชย์ของตะวันตก (ซึ่งบ่อยครั้งเป็นการผลักดันสำหรับการค้ายาเสพย์ติด) สิ่งนี้น่าจะเป็นคำอธิบายได้ว่า ทำไมชาติตะวันตกจึงพอใจกับสภาพของ "เขตอิทธิพล" (spheres of Influences) ซึ่งเป็นรูปแบบของอาณานิคมอย่างไม่เป็นทางการกับจีน. หลังสงครามฝิ่นครั้งแรกยุติลง การค้าพาณิชย์ของอังกฤษ และต่อมาคือเงินลงทุนของชาติที่มีอำนาจทางอุตสาหกรรมใหม่อื่น ๆ ก็พลอยได้รับระดับการควบคุมอย่างเป็นทางการเพียงเล็กน้อย ในลักษณะเช่นเดียวกันนี้ในดินแดนของจีนด้วย. ขณะที่ชาติจักรวรรดินิยมใหม่เหล่านั้น จะมีอำนาจในการบังคับควบคุมเหนือบรรดาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอฟริกาตะวันตก และเขตแปซิฟิก มากกว่ามาก. อย่างไรก็ตาม มหาอำนาจตะวันตกก็ได้ใช้กำลังทหารเข้าแทรกแซง เพื่อปราบปรามการจลาจลวุ่นวายที่เกิดขึ้นภายในอาณาจักรจีนด้วย เช่น กรณีการก่อการจลาจลที่น่าสะพรึงกลัวของกลุ่มกบฏไทปิง (Taiping Rebellion) และการกบฏต่อต้านอำนาจจักรพรรดิจีนของกบฏนักมวย (Boxer Rebellion). ในกรณีของการปราบปรามกบฏไทปิงนั้น นายพล กอร์ดอน ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นตำนานวีรบุรุษของนักจักรวรรดินิยมในซูดานนั้น ก็ได้รับการยกย่องบ่อยครั้งว่าเป็นผู้ที่ช่วยปกป้องให้ราชวงศ์ชิง (Qing Dynasty) ให้อยู่รอดปลอดภัยจากการคุกคามของกลุ่มกบฏไทปิงมาได้

อย่างไรก็ตาม อาจมีการโต้แย้งว่า ขนาดและกำลังความแข็งแกร่งของจีนเมื่อเปรียบเทียบกับชุมชนอัฟริกาในยุคก่อนอาณานิคมนั้น ทำให้การบังคับไล่ล่าเอาจีนมาเป็นเมืองขึ้นอย่างเป็นทางการโดยชาติมหาอำนาจตะวันตกเพียงชาติใดชาติหนึ่งเพียงชาติเดียวนั้นทำได้ยากยิ่ง แต่ถ้าชาติจักรวรรดินิยมเหล่านั้นผนึกกำลัง เป็นพันธมิตรและร่วมมือกันรุกรานจีน การเข้ายึดครองจีนมาเป็นอาณานิคมก็น่าจะเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แต่ความเป็นศัตรูคู่ปฏิปักษ์ระหว่างกันของบรรดามหาอำนาจตะวันตกแต่ละชาติในช่วงเวลานั้น ทำให้ความร่วมมือดังกล่าวเป็นไปไม่ได้ จนกระทั่งในทศวรรษ 1900 การผนึกร่วมเป็นพันธมิตรของบรรดาชาติตะวันตกจึงปรากฏเป็นรูปเป็นร่างขึ้น แต่วัตถุประสงค์ของความร่วมมือดังกล่าวก็จำกัดอยู่เพียงแค่การร่วมกันปราบปรามกลุ่มกบฏนักมวยที่ก่อกบฏต่อต้านจักรพรรดิจีนเท่านั้น ทั้งนี้ก็เพราะอังกฤษและสหรัฐอเมริกามีความเห็นขัดแย้งกันในประเด็นของเป้าหมาย ("การเปิดประตู" หมายความว่ามหาอำนาจทุกประเทศจะได้รับประโยชน์ในการเข้าถึงตลาดเหมือน ๆ กันหมด) ส่วนเยอรมันและรัสเซียก็มีประเด็นไม่ลงรอยกันในเรื่องของเขตแดน

อังกฤษพบว่าเป็นการยากที่จะขายสินค้าของตนในจีน และประสบกับสถานการณ์ (ในลักษณะที่เหมือนกันกับชาติยุโรปอื่น ๆ) คือต้องเสียดุลการค้าให้แก่จีน มาจนกระทั่งต้นศตวรรษที่ 19 การเริ่มต้นการค้าฝิ่นขนานใหญ่จากอาณานิคมอินเดียของอังกฤษไปยังจีน ทำให้สถานการณ์ดุลการค้าดังกล่าวแปรเปลี่ยนไป พร้อมกับทำให้จำนวนผู้เสพติดฝิ่นเพิ่มขึ้นอย่างกว้างขวางในกลุ่มประชากรจีนระดับสูง และเป็นภัยคุกคามประเทศด้วยก่อให้เกิดความเสียหาย บ่อนทำลายประชากรจีนทั้งทางด้านสุขภาพ ศีลธรรมจรรยา และทางด้านจิตวิทยา อย่างรุนแรงจนไม่อาจจะวัดคำนวณออกมาเป็นสถิติตัวเลขได้

ความพยายามของเจ้าหน้าที่จีนในกวางโจว (Guangzhou/Canton) ในการหยุดยั้งการค้าฝิ่น นำไปสู่สงครามฝิ่นครั้งแรก (The First Opium War) ขึ้น ในระหว่างปี ค.ศ. 1839-1842 ซึ่งอังกฤษสามารถรบชนะจีนได้อย่างง่ายดาย และได้รับอำนาจในการปกครองฮ่องกง. สนธิสัญญานานกิง (The Treaty of Nanjing) ยอมรับหลักการของการมีสิทธิสภาพนอกอาณาเขต (the principle of extraterritory) ซึ่งคนสัญชาติอังกฤษที่กระทำผิดบนแผ่นดินจีนไม่ต้องขึ้นศาลจีน แต่จะถูกพิพากษาตัดสินโดยชาวอังกฤษด้วยกันเองแทน

สงครามฝิ่นครั้งที่ 2 (The Second Opium War ระหว่างปี ค.ศ 1856-1860) ฝรั่งเศสเข้าร่วมกับอังกฤษ หลังจากมิชชันนารีชาวฝรั่งเศสเสียชีวิตและจีนจับตัวกะลาสีชาวอังกฤษไป สงครามครั้งนี้ขยายเขตอิทธิพลของอังกฤษจากในฮ่องกงออกไปสู่พื้นที่ต่อเนื่องในแผ่นดินใหญ่คือเกาลูน สนธิสัญญาเทียนสิน (The Treaty of Tianjin) ที่จีนต้องลงนามเพื่อยุติสงคราม ยิ่งทำให้อำนาจจักรวรรดินิยมตะวันตกแผ่ขยายปกคลุมเหนือดินแดนจีนเพิ่มมากยิ่งขึ้นไปอีก

ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1894-1895 จีนแพ้สงครามเกาหลีที่ทำกับญี่ปุ่น ต้องจ่ายค่าปฏิกรสงครามเป็นมูลค่าสูงถึง 150 ล้านดอลลาร์ ต้องยอมยกเกาะไต้หวันหรือฟอร์โมซาและหมู่เกาะใกล้เคียงให้แก่ญี่ปุ่น สำหรับเกาหลีนั้นแม้จะเป็นประเทศที่ยอมรับกันว่าไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของใคร แต่ก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่นอยู่ระยะหนึ่ง ฝรั่งเศส เยอรมัน และรัสเซีย ได้ร่วมมือกันเข้าแทรกแซงและป้องกันไม่ให้ญี่ปุ่นรุกเข้าผนวกดินแดนอื่น ๆ ต่อไปได้ ซึ่งช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้ ได้กลายเป็นช่วงเวลาแห่งความทรงจำที่ขมขื่นในญี่ปุ่น เมื่อชาติมหาอำนาจกลุ่มเดียวกันนี้ ได้ช่วยกันเองเข้ายึดครองฐานทัพเรือ และขยายเขตอิทธิพลของกันและกัน เหนือดินแดนจีนในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1897-1898

เขตอิทธิพล
  • เยอรมัน : อ่าวเจียวโจว (Jiaozhou) (หรือ เกียวเจา - Kiaochow), ชานตง (Shandong) และหุบเขาฮวงเหอ/ฮวงโห (Huang He/Hwang-Ho Valley)
  • รัสเซีย : คาบสมุทรเหลียวตง (Liaodong), สิทธิเหนือทางรถไฟในแมนจูเรีย
  • อังกฤษ : เว่ยไห่เว่ย (Weihaiwei), หุบเขาแยงซี (Yangtze Valley)
  • ฝรั่งเศส : อ่าวกวางโจว (Guangzhou), และสามจังหวัดทางใต้

จอห์น เฮย์ (John Hay) รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาในขณะนั้นได้ออกมาเรียกร้องในเดือนกันยายน ค.ศ. 1899 ให้ชาติมหาอำนาจต่างๆ ยอมรับในหลักการ"เปิดประตู" (the principle of the "Open Door") อันหมายถึงเสรีภาพของการเข้าถึงการค้า (freedom of commercial access) ของทุกชาติและไม่ผนวกดินแดนจีนเข้าเป็นของตนเอง (non-annexation of Chinese territory) อังกฤษและญี่ปุ่นสนับสนุนหลักการของสหรัฐ ซึ่งท่าทีของสหรัฐดังกล่าวช่วยให้สามารถควบคุมการจัดสรรปันส่วน แบ่งแยกดินแดนจีนมิให้ขยายตัวต่อไปได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ก็เป็นไปเพื่อตอบสนองต่อผลประโยชน์ของมหาอำนาจยุโรปที่ต้องการให้มีรัฐบาลจีนที่อ่อนแอ แต่ยังคงมีความเป็นเอกราชไว้อยู่ เนื่องจาก ถ้ารัฐบาลจีนเกิดล่มสลายลงอย่างสิ้นเชิงนั้น ประเทศมหาอำนาจทั้งหลายก็จะเกิดความเสี่ยงที่จะต้องสูญเสียสิทธิพิเศษต่างๆที่ได้มาแล้วจากการเจรจากับรัฐบาลจีนขณะนั้น ขณะเดียวกันชาติตะวันตกเหล่านี้ก็ไม่ต้องการเห็นรัฐบาลจีนที่เข้มแข็ง เนื่องจากจะไม่เป็นประโยชน์แก่ตน เพราะรัฐจีนที่แข็งแกร่งนั้นอาจสามารถฉีกสนธิสัญญาที่ทำไว้แล้วกับชาติตะวันตกเหล่านั้นทิ้งได้

การผุกร่อนของอำนาจอธิปไตยของจีนส่งผลให้กระแสการจลาจลต่อต้านชาวต่างชาติระเบิดขึ้นอย่างน่าตื่นตาตื่นใจยิ่งในเดือนมิถุนายน ปี 1900 เมื่อกลุ่มนักมวย (Boxers – หรือที่ถูกต้องก็คือสมาคม "กำปั้นแห่งความยุติธรรมและความปรองดองสามัคคี - the righteous and harmonious fists") บุกเข้าโจมตีสถานทูตของชาติยุโรปต่างๆที่ตั้งอยู่ในกรุงปักกิ่ง ส่งผลให้ชาติตะวันตกเหล่านั้น จับมือผนึกกำลังรวมเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน พร้อมสั่งให้กองทัพของตนซึ่งประจำการอยู่ที่เมืองเทียนสิน กรีธาเดินหน้าเข้าสู่เมืองหลวงปักกิ่ง กองทหารเยอรมันปฏิบัติการแก้แค้นอย่างรุนแรงให้แก่ทูตของตนที่ถูกกลุ่มกบฏสังหาร ในขณะที่รัสเซียยึดครองแมนจูเรียในภาคตะวันออกเฉียงเหนือไว้อย่างเหนียวแน่นจนกระทั่งถูกญี่ปุ่นบดขยี้พ่ายแพ้ไปในสงครามระหว่างปี ค.ศ. 1904-1905

แม้ว่ากฎหมายสิทธิสภาพนอกอาณาเขต จะถูกยกเลิกไปในปี ค.ศ. 1943 แต่การปกครองของต่างชาติเหนือดินแดนจีนก็เพิ่งจะสิ้นสุดลงเมื่อไม่นานนี้เอง เมื่ออังกฤษและโปรตุเกส ส่งมอบฮ่องกงและมาเก๊ากลับคืนสู่อ้อมอกของจีนในปี 1997 และ 1999 ตามลำดับ

การขยายพรมแดนของจีน[แก้]

จีนในฐานะมหาอำนาจจักรวรรดินิยม (China as an imperialist power) แม้ว่าในการอภิปรายถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องลัทธิจักรวรรดินิยมนั้น จีนจะถูกมองว่าเป็นประเทศที่ตกเป็นเหยื่อของจักรวรรดินิยมตะวันตก แต่ถ้าติดตามเรื่องราวลึกลงไปกว่านั้นก็จะเห็นภาพที่ซับซ้อนเกี่ยวกับบทบาทของจีนในเรื่องนี้ลงไปอีกระดับหนึ่ง นั่นคือ ระหว่างที่จีนถูกโจมตีในช่วงทศวรรษที่ 19 โดยชาติยุโรปนั้น จีนเองก็ทำการขยายพรมแดนของตนออกไปทางทิศตะวันตกพร้อมๆกันไปด้วย โดยการผนวกแคว้นซินเจียง (Xinjiang) และทิเบตซึ่งตามประวัติศาสตร์แล้วดินแดนทั้งสองนี้ยากที่จะตกอยู่ภายใต้การควบคุมของจีน โดยแท้จริงแล้วคำว่า ซินเจียง นั้นในภาษาจีนมีความหมายว่า พรมแดนใหม่

ความสามารถในการขยายอิทธิพลของตนเข้าไปสู่ดินแดนเอเชียกลางเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลง 2 ประการ คือการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมเกิดขึ้นภายใต้ราชวงศ์ชิง (Qing dynasty) จากปี ค.ศ. 1616 เป็นต้นมา จีนตกอยู่ภายใต้การควบคุมของราชวงศ์แมนจูซึ่งเป็นผู้รวบรวมผนึกกำลังเหล่าทหารม้าของกองทัพจีนเข้าด้วยกันจนเป็นปึกแผ่น ซึ่งทำให้มีความเหมาะสมสำหรับการรุกขยายอำนาจและอิทธิพลออกไปยังดินแดนข้างเคียงมากกว่ากองกำลังทหารราบแบบดั่งเดิมของจีน ส่วนการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีนั้น เป็นความก้าวหน้าในด้านอาวุธปืนใหญ่และกองทหารปืนใหญ่ซึ่งทำให้ความได้เปรียบของประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตที่ราบในไซบีเรียและรัสเซียที่เหนือกว่ากองทัพเพราะมีกองม้าของตนเองนั้นหมดสิ้นไป

การแผ่อิทธิพลเข้าไปในเอเชียกลางของจีนได้รับแรงสนับสนุนจากผู้ปกครองท้องถิ่นส่วนใหญ่ที่ฝักใฝ่จีน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทิเบต) มากกว่าชาติมหาอำนาจตะวันตก เนื่องจากจีนใช้อำนาจในการควบคุมยึดครองอย่างหลวม ๆ ไม่รีดนาทาเร้นเข้มข้นหนักเท่ากับรัสเซียและอังกฤษ ส่วนใหญ่ของช่วงเวลาแห่งการขยายอิทธิพลดังกล่าว จีนจึงมีความทะเยนทะยานน้อยมากที่จะเข้ายึดครองเพื่อเป็นเจ้าจักรวรรดิหรือสถาปนาดินแดนเหล่านั้นให้เป็นพื้นที่อาณานิคมโดยตรงของตน แม้กระทั่งในยุคทองของจีน หรือในช่วงสมัยที่จีนมีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุด คือในสมัยราชวงศ์ถัง (the Tang Dynasty) และในสมัยที่จีนมีความสามารถในการสร้างกองทัพเรือที่แข็งแกร่งที่สุดและใหญ่ที่สุดในยุคราชวงศ์หมิง (the Ming Dynasty) ที่เป็นเช่นนั้นอาจจะเป็นเพราะจีนมีความหยิ่งยะโสและเชื่อมั่นในตนเองสูงว่า จีนเป็นชาติที่มีอารยธรรมก้าวหน้าที่สุดในโลก ดังนั้นจึงไม่จำเป็นที่จะต้องทำการค้าขายหรือติดต่อสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนภายนอกซึ่งทางจีนมองว่าเป็นพวก "ป่าเถื่อน (babarians)" นั่นเอง

เอเชียกลางและตะวันตก[แก้]

เอเชียกลางและตะวันตก (Central and Western Asia) อังกฤษ จีน และรัสเซีย คือคู่แข่งสำคัญในเวทีเอเชียกลางและเอเชียตะวันตก ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 รัสเซียเข้าครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของเอเชียกลาง ซึ่งนำไปสู่วิกฤตการณ์ในอัฟกานิสถานช่วงสั้นๆกับอังกฤษในปี ค.ศ. 1885 ในเปอร์เซีย(ปัจจุบันคืออิหร่าน) ทั้ง 2 ชาติได้ก่อตั้งธนาคารขึ้นหลายแห่งเพื่อขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของตนในภูมิภาคนี้ อังกฤษนั้นคืบหน้าไปถึงขั้นเข้ารุกรานธิเบต ซึ่งเป็นดินแดนภายใต้อาณัติของจีนในปี 1904 แต่ก็ถอนตัวออกไปเมื่อพบว่าอิทธิพลของรัสเซียเหนือดินแดนดังกล่าวไม่มีความสำคัญและหลังจากพ่ายแพ้ให้แก่กองทัพจีนใหม่

ตามข้อตกลงในปี 1907 (ดู Entente) รัสเซียยุติการอ้างสิทธิอาณานิคมเหนือปากีสถาน ส่วนอำนาจความเป็นเจ้าเหนืออธิปไตยธิเบตของจีนได้รับการยอมรับจากทั้งรัสเซียและอังกฤษ เนื่องจากการควบคุมตามปกติโดยรัฐจีนที่อ่อนแอนั้นเป็นที่ยอมรับกันได้มากกว่าการยึดครองโดยมหาอำนาจรายใดรายหนึ่ง ส่วนเปอร์เซียนั้นถูกแบ่งออกเป็นเขตอิทธิพลของรัสเซียและอังกฤษ โดยมีเขตเป็นกลางหรือโซนเสรี (neutral/free or common zone) กั้นกลาง ต่อมาอังกฤษยังสมยอมให้รัสเซียเปิดปฏิบัติการปราบปรามรัฐบาลชาตินิยมเปอร์เซียในปี 1911 ด้วย หลังจากเกิดการปฏิวัติขึ้นในรัสเซีย รัสเซียก็ได้ยุติการอ้างสิทธิเหนือดินแดนภายใต้เขตอิทธิพลของตน แม้ว่าการเข้ามีส่วนร่วมในจักรวรรดินิยมจะยังคงมีอยู่เคียงข้างกันไปกับอังกฤษจนกระทั่งถึงทศวรรษ 1940

ในตะวันออกกลาง บริษัทของเยอรมันได้ก่อสร้างทางรถไฟจากกรุงคอนแสตนติโนเปิ้ลไปยังนครแบกแดกและอ่าวเปอร์เซีย เยอรมันต้องการเข้าควบคุมเศรษฐกิจในภูมิภาคแห่งนี้ไว่ก่อน และจากนั้นก็เคลื่อนเข้าสู่อิหร่านและอินเดีย แต่ก็ถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากอังกฤษ รัสเซีย และฝรั่งเศส ซึ่งได้แผ่อำนาจเข้าครอบครองและแบ่งสรรปันส่วนพื้นที่ระหว่างกันเองไว้ก่อนหน้านี้แล้ว

โปรตุเกส[แก้]

โปรตุเกสซึ่งมีฐานกำลังอยู่ที่กัว (Goa) และมะละก่ได้สร้างจักรวรรดินาวีขึ้นในมหาสมุทรอินเดียเพื่อผูกขาดการค้าเครื่องเทศ และก่อตั้งสร้างกำลังขึ้นที่มาเก๊าทางตอนใต้ของจีนเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่การค้าในจีนและญี่ปุ่นของตน โปรตุเกสไม่ได้เร่งขยายอาณานิคมในเอเชียอย่างจริงจังในเบื้องต้นเนื่องจากจักรวรรดิโปรตุเกสขยายขอบเขตมากจนตึงมือแล้ว อันเป็นผลจากขีดจำกัดทางด้านค่าใช้จ่ายของอาณานิคมและนาวีเทคโนโลยีร่วมสมัย (ทั้งสองปัจจัยนี้ทำงานคู่ขนานกันไปทำให้การค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการอาณานิคมต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาล) ผลประโยชน์ของโปรตุเกสที่มีอยู่ในเอเชียจึงเพียงพอสำหรับการสนับสนุนทางการเงินแก่การขยายอาณานิคมและยึดที่มั่นไว้ต่อไปในเขตพื้นที่ซึ่งพิจารณาแล้วว่ามีความสำคัญทางยุทธศาสตร์เป็นอย่างมากในภูมิภาคที่ตั้งอยู่ใกล้ประเทศแม่มากกว่าคืออัฟริกาและบราซิล และดังที่ได้กล่าวถึงมาแล้วข้างต้น ว่า โปรตุเกสนั้นมีความสัมพันธ์ทางการค้าแนบแน่นมากกับญี่ปุ่น จนมีการบันทึกไว้ว่าโปรตุเกสคือชาติตะวันตกที่เดินทางไปเยือนญี่ปุ่นเป็นชาติแรก การสัมพันธ์ติดต่อทางค้าขายเหล่านี้ทำให้มีการนำเอาศาสนาคริสเตียนและอาวุธปืนเข้าไปเผยแพร่ในญี่ปุ่นด้วย

ความยิ่งใหญ่ในฐานะ เป็นมหาอำนาจทางทะเลของโปรตุเกสต้องสูญเสียให้แก่เนเธอร์แลนด์ไปในศตวรรษที่ 17 และนำมาซึ่งความท้าทายที่สำคัญยิ่งต่อโปรตุเกส แต่อย่างไรก็ตาม โปรตุเกสก็ยังคงยึดครองมาเก๊าซึ่งถูกประกาศว่าเป็นดินแดนใต้อาณานิคมของโปรตุเกสภายหลังจีนแพ้สงครามฝิ่น และจัดตั้งอาณานิคมแห่งใหม่ขึ้นบนเกาะติมอร์ จนกระทั่งหลังกลางศตวรรษที่ 20 โปรตุเกสจึงสูญเสียอาณานิคมในเอเชียของตนไป โดยกัวถูกรุกรานโดยอินเดียในปีค.ศ. 1962 และโปรตุเกสทอดทิ้งติมอร์ไปในปี 1975 ก่อนที่ดินแดนแห่งนี้จะถูกอินโดนีเซียบุกเข้ายึดครองและผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ ส่วนมาเก๊านั้นโปรตุเกสส่งมอบคืนให้แก่จีนเมื่อสนธิสัญญาการเช่าหมดอายุลงในปี 1999

เนเธอร์แลนด์ในหมู่เกาะอินเดียตะวันออก[แก้]

บริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ (The Dutch East India Company) ก่อตั้งสำนักงานใหญ่ขึ้นที่เมืองปัตตาเวีย (ปัจจุบันคือจาการ์ตา) ในหมู่เกาะชวา เพื่อควบคุมการค้าเครื่องเทศในช่วงต้นศตวรรษที่ 16 บริษัทได้เข้ายึดไต้หวัน (ซึ่งในเวลานั้นจีนยังไม่ได้อ้างสิทธิว่าเป็นดินแดนของตน) เป็นดินแดนอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่การค้าขายกับจีนและญี่ปุ่น ภายหลังเกิดสงครามนโปเลียน (The Napoleonic Wars) ดัตช์ก็มุ่งความสนใจในการประกอบกิจการพาณิชย์ของตนไปอยู่ในหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ (อินโดนีเซีย) มาจนตลอดศตวรรษที่ 19 และสูญเสียส่วนใหญ่ของอาณานิคมแห่งนี้ของตนให้แก่ญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างไรก็ตาม เมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้แก่กองกำลังพันธมิตรในปี 1945 โปรตุเกสก็ต้องเผชิญหน้ากับการต่อสู้เพื่อประกาศเอกราชของอินโดนีเซียต่อ

สหรัฐอเมริกาในเอเชีย[แก้]

สหรัฐอเมริกาในเอเชีย สหรัฐอเมริกายึดอำนาจเข้าปกครองฟิลิปปินส์จากสเปนในปี ค.ศ. 1898 ในระหว่างทำสงครามสเปน-อเมริกัน (Spanish-American War) การต่อต้านของชาวฟิลิปปินส์นำไปสู่สงครามฟิลิปปินส์-อเมริกัน (The Philippines-American War) ขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1899-1902 และกบฏโมโร (The Moro Rebellion) ในปี ค.ศ. 1902-1913 สหรัฐอเมริกายินยอมมอบเอกราชให้แก่ฟิลิปปินส์เป็นไทแก่ตัวเองเมื่อปี ค.ศ. 1946 นี้เอง

นอกจากฟิลิปปินส์แล้ว สหรัฐอเมริกาได้เข้าผนวกเอาฮาวายในปี ค.ศ. 1893 และได้รับอำนาจเหนือดินแดนเกาะอีกหลายแห่งในแปซิฟิกระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2

สงครามโลกครั้งที่ 1 : ลัทธิจักรวรรดินิยมที่เปลี่ยนไป[แก้]

สงครามโลกครั้งที่ 1 : ลัทธิจักรวรรดินิยมที่เปลี่ยนไป (World War I : Changes in Imperialism) เมื่อมหาอำนาจกลาง ซึ่งรวมถึงเยอรมนีและตุรกีเอาไว้ด้วยพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 การเปลี่ยนแปลงของอำนาจก็เกิดขึ้นและรับรู้ได้ทั่วโลก เยอรมนีสูญเสียดินแดนอาณานิคมของตนทั้งหมดไป ขณะที่ตุรกีนั้นต้องยอมปล่อยดินแดนอาหรับของตนให้แก่ผู้ชนะสงคราม ซีเรีย ปาเลสไตน์ และเมโสโปเตเมีย(ปัจจุบันคืออิรัก) ตกไปอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสและอังกฤษตามคำสั่งการของสันนิบาตชาติ (League of Nations) การค้นพบน้ำมันในอิหร่านและต่อมาในดินแดนชาติอาหรับในปีที่ว่างเว้นสงครามก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่2 (interbellum) เปิดทางให้แก่เป้าความสนใจใหม่ในกิจกรรมปฏิบัติการของอังกฤษ ฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา ในภูมิภาคนี้

ญี่ปุ่น[แก้]

ญี่ปุ่นเริ่มพัฒนาประเทศชาติสู่ความเป็นเจ้าจักรวรรดินิยมในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 อันเป็นความสามารถที่ยิ่งใหญ่ที่ต่อมา ได้หยุดลงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงแรกๆ ญี่ปุ่นโชคดีที่รอดพ้นจากชะตากรรมที่ชาติเอเชียอื่นๆ ได้รับ โดยเฉพาะอย่างเฉกเช่นประเทศจีน นั่นคือการที่ต้องตกเป็นดินแดนอาณานิคมอยู่ภายใต้อำนาจของชาติตะวันตก เสียบ้านเสียเมือง สิ้นราชวงศ์ สิ้นอธิปไตย สูญเสียความเป็นชาติ ประชาชนอดอยากต้องอพยพเร่ร่อนไปอาศัยในบ้านอื่นเมืองอื่นอย่างไร้ศักดิ์ศรี หลังจากที่ถูกพลเรือจัตวาเพอร์รี่ (Commodore Perry) บังคับให้เปิดประตูการค้า แล้วติดตามมาด้วยการจัดการเปิดการค้าให้แก่ชาติมหาอำนาจตะวันตกทั้งหมดในลักษณะเดียวกัน

การปฏิรูปสมัยเมจิ (the Meiji Restoration) ในปี ค.ศ. 1868 นำไปสู่การปฏิรูประบบการปกครองให้ทันสมัยและการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในเวลาต่อมาญี่ปุ่นมีทรัพยากรธรรมชาติน้อยบนแผ่นดินตนเองและมีความต้องการทั้งตลาดในต่างประเทศและแหล่งวัตถุดิบ ปัจจัยเหล่านี้ผลักดันให้เกิดการรุกรานไล่ล่าเพื่อพิชิตอาณานิคมแบบจักรวรรดินิยมซึ่งเริ่มต้นด้วยความพ่ายแพ้ของจีนซึ่งเป็นชาติที่มีประวัติศาสตร์พ่ายแพ้ชาติอื่นๆ มาโดยตลอด จึงทำให้ญี่ปุ่นสามารถพิชิตคนพันล้านคนได้อย่างง่ายๆ ยิ่งกว่าพลิกฝ่ามือ ในปี ค.ศ. 1895 ไต้หวันซึ่งจักรวรรดิชิง (the Qing Empire) ยินยอมยกให้ได้กลายเป็นอาณานิคมแห่งแรกของญี่ปุ่น

ในปี ค.ศ. 1899 ญี่ปุ่นมีชัยจากการที่มหาอำนาจยอมละทิ้งสิทธิสภาพนอกอาณาเขต และการเข้าเป็นพันธมิตรกับอังกฤษในปี ค.ศ. 1902ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นมหาอำนาจระหว่างประเทศการมีชัยเหนือรัสเซียในปี ค.ศ. 1905 ทำให้ญี่ปุ่นได้ดินแดนส่วนใต้ของเกาะซักคาลิน (Sakhalin) มาเป็นของตน นอกจากนี้อดีตรัสเซียยังยินยอมให้ญี่ปุ่นเช่าแหลมเลียวตุง (the Liaodong Peninsula) และเมืองปอร์ตอาเธอร์ (Port Arthurปัจจุบันคือเมือง ลูชุนโกะ -Lushunkou) และได้สิทธิเหนือแมนจูเรียด้วยในปี ค.ศ. 1910 เกาหลีก็ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิญี่ปุ่น

ขณะนั้นญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในชาติที่มีอำนาจมากที่สุดในตะวันออกไกลหรือเอเชียแปซิฟิก และในปี ค.ศ. 1914 ก็ก้าวเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่1 เคียงข้างอังกฤษ ญี่ปุ่นเข้ายึดดินแดนใต้อาณัติของเยอรมนีคือ เกาโจว (Kiaochow) และจากนั้นก็เรียกร้องให้จีนยอมรับอิทธิพลทางการเมืองของญี่ปุ่นและดินแดนที่ได้รับจากการเข้าสู่สงครามด้วยข้อเรียกร้อง21ข้อ (Twenty-one Demands) ในปี ค.ศ 1915 การประท้วงครั้งใหญ่ในกรุงปักกิ่งในปี ค.ศ. 1919 รวมทั้งแนวความคิดของฝ่ายพันธมิตร (โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา) ทำให้ญี่ปุ่นยอมยกเลิกส่วนใหญ่ของข้อเรียกร้องดังกล่าว และส่งมอบ เกาโจว (Kiaochow) คืนให้แก่จีนในปีค.ศ. 1922

การถอยก้าวหนึ่งของญี่ปุ่นในสายตาของโตเกียวมองว่าเป็นการชั่วคราวเพื่อรุกต่อไปอีกหลายก้าวดังนั้นในปี ค.ศ. 1931 กองทัพญี่ปุ่นหน่วยหนึ่งที่ตั้งฐานอยู่ในแมนจูเรียบบุกยึดอำนาจเข้าปกครองดินแดนแห่งนี้ อันนำไปสู่การสงครามเต็มรูปแบบกับจีนขึ้นในปี ค.ศ. 1937 และเปิดฉากความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดินิยมญี่ปุ่นในการเป็นเจ้าเข้าครอบครองเหนือเอเชียแปซิฟิก จนกระทั่งภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง

รายชื่ออาณานิคมตะวันตกในทวีปเอเชีย[แก้]

  • อินเดีย - ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และอังกฤษ แก่งแย่งกันในการแผ่อิทธิพลเข้ายึดครองอินเดีย แต่ในที่สุดอังกฤษก็สามารถขยายอำนาจยึดครองอินเดียทั้งหมดได้ในปี พ.ศ. 2300 (ค.ศ. 1757) จนถึงปีที่ประกาศเอกราช เมื่อปี พ.ศ. 2490 (ค.ศ. 1947) และบางส่วนแยกไปเป็นประเทศปากีสถาน และปากีสถานตะวันออก (ที่ต่อมากลายเป็นประเทศบังคลาเทศ ในปี พ.ศ. 2514 (ค.ศ. 1971))
  • ศรีลังกา - ตกเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส ในปี พ.ศ. 2048 (ค.ศ. 1505) แล้วเปลี่ยนมือไปเป็นดินแดนใต้ปกครองของเนเธอร์แลนด์ในปี พ.ศ. 2199 (ค.ศ. 1656) แต่ท้ายสุดถูกอังกฤษเข้ายึดครองเป็นอาณานิคมในปี พ.ศ. 2339 (ค.ศ. 1796) จนถึงปี พ.ศ. 2491 (ค.ศ. 1948) ศรีลังกามีทรัพยากรสำคัญคือชาและยางพารา
  • มาเก๊า - อาณานิคมของโปรตุเกส นับเป็นอาณานิคมแห่งแรกในจีนของชาวยุโรป (พ.ศ. 2100 - พ.ศ. 2542)
  • ฮ่องกง - ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษตั้งแต่ปี พ.ศ. 2384 (ค.ศ. 1841) จนถึงปี พ.ศ. 2540 (ค.ศ. 1997) อังกฤษจึงส่งมอบคืนจีน
  • เกาะฟอร์โมซา - มีอีกชื่อหนึ่งคือเกาะไต้หวัน แต่เกาะอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองจากชาติตะวันตกอยู่ 2 ส่วน ซึ่งไม่ได้ถูกยึดครองทั้งหมด เช่น ทางตอนเหนือเป็นดินแดนอธิปไตยของสเปน ที่ปัจจุบันอาจกล่าวถึงเมืองไทเปไปด้วย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2167 (ค.ศ. 1624) จนถึงปี พ.ศ. 2205 (ค.ศ. 1662) และทางตอนใต้เป็นดินแดนอธิปไตยของเนเธอร์แลด์ ที่ปัจจุบันอาจกล่าวไปถึงเมืองไถหนัน และเมืองเกาสยงไปด้วย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2169 (ค.ศ. 1626) จนถึงปี พ.ศ. 2189 (ค.ศ. 1642) ภายหลัง จีนในสมัยราชวงศ์ชิงเข้ามามีอำนาจปกครองเกาะฟอร์โมซานั้น เกาะฟอร์โมซาก็หลุดพ้นและไม่เคยมีประวัติการตกอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของชาติตะวันตกอีกเลย
  • มลายู - ตกเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส จากนั้นถูกเนเธอร์แลนด์เข้ายึดครอง และสุดท้ายตกเป็นดินแดนภายใต้การปกครองของอังกฤษทั่วทั้งอาณาเขต เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติคือดีบุกและยางพารา จนกระทั่งประกาศเอกราช โดยใช้ชื่อประเทศว่า มลายา ปี พ.ศ. 2500 (ค.ศ. 1957) อนึ่ง ได้มีการรวมดินแดนกับสิงคโปร์ ซาราวัก บอร์เนียวเหนือ (ซึ่งหมายถึงซาบะฮ์) และลาบวน ในปี พ.ศ. 2506 (ค.ศ. 1963) จึงเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น มาเลเซีย และในปี พ.ศ. 2508 (ค.ศ. 1965) การปกครองสิงคโปร์ของมาเลเซียสิ้นสุดลง เนื่องจากสิงคโปร์ ได้ประกาศเอกราชออกจากมาเลเซียออกไป
  • สิงคโปร์ - ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษตั้งแต่ปี พ.ศ. 2362 (ค.ศ. 1819) จนถึงปี พ.ศ. 2506 (ค.ศ. 1963) ซึ่งได้มีการรวมดินแดนกับมลายา เป็นมาเลเซียได้แค่ 2 ปี จนกระทั่งประกาศเอกราชในปี พ.ศ. 2508 (ค.ศ. 1965)
  • บรูไน - ตกเป็นอาณานิคมในรูปแบบรัฐในอารักขาของอังกฤษตั้งแต่ปี พ.ศ. 2431 (ค.ศ. 1888) จนถึงปี พ.ศ. 2527 (ค.ศ. 1984) โดยเป็นประเทศสุดท้ายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ประกาศเอกราชจากประเทศเจ้าอาณานิคมตะวันตก
  • พม่า - ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษและถูกผนวกดินแดนรวมเข้ากับอินเดียตั้งปี พ.ศ. 2428 (ค.ศ. 1885) ถึงปี พ.ศ. 2485 (ค.ศ. 1942) ในปี พ.ศ. 2423 (ค.ศ. 1880) ฝรั่งเศสสร้างทางรถไฟจากตังเกี๋ย ไปยังเมืองมัณฑะเลย์ในพม่า อังกฤษเกรงพม่าจะเอาใจออกห่างไปสวามิภักดิ์ต่อฝรั่งเศสจึงทำสงครามกับพม่า. หลังสงคราม กษัตริย์พม่าถูกส่งตัวไปอยู่ในอินเดีย และอีกครั้งในปี พ.ศ. 2488 (ค.ศ. 1945) ถึงปี พ.ศ. 2491 (ค.ศ. 1948) เนื่องจากกองทัพฝ่ายอักษะซึ่งนำโดยญี่ปุ่นเข้ายึดครอง เป็นฝ่ายแพ้สงครามให้แก่กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งมีอังกฤษ เป็นประเทศสมาชิกของกองทัพดังกล่าว ทำให้อังกฤษ กลับมาปกครองพม่าในฐานะอาณานิคมอีกครั้งหนึ่ง แต่ปกครองได้แค่ 3 ปีเศษเท่านั้น
  • อินโดนีเซียและหมู่เกาะใกล้เคียง - ตกเป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ พ.ศ. 2343 (ค.ศ. 1800) (ก่อนหน้านี้ดัตซ์ได้ยึดครองดินแดนบางส่วน ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2325 (ค.ศ. 1782)) จนถึงปี พ.ศ. 2492 (ค.ศ. 1949)
  • ติมอร์-เลสเต - ตกเป็นอาณานิคมของโปรตุเกสตั้งแต่ปี พ.ศ. 2245 (ค.ศ. 1702) จนถึงปี พ.ศ. 2518 (ค.ศ. 1975) โดยมีอินโดนีเซียเข้ามาปกครองดินแดนดังกล่าวสืบต่อจากโปรตุเกส จนกระทั่งประกาศเอกราชในปี พ.ศ. 2545 (ค.ศ. 2002)
  • อินโดจีน - ตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ประกอบด้วยลาว (ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2436 (ค.ศ. 1893)) กัมพูชา (ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2406 (ค.ศ. 1863)) และเวียดนาม (ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2426 (ค.ศ. 1883)) ชนท้องถิ่นได้ก่อกบฏขึ้นติดต่อกันหลายครั้ง แต่ก็ถูกฝรั่งเศสปราบปรามราบคาบ และสุดท้ายฝรั่งเศสจึงได้ให้เอกราชแก่ทั้ง 3 ประเทศจนแล้วเสร็จ ในปี พ.ศ. 2496 (ค.ศ. 1953)
  • ฟิลิปปินส์ - ตกเป็นอาณานิคมของสเปน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2064 (ค.ศ. 1521) (ในปีพ.ศ. 2305 จนถึงปีพ.ศ. 2307 เป็นช่วงเวลาที่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ เฉพาะเมืองมะนิลาและเมืองท่ากาบีเต ในชื่อ British Manila)จนเกิดการกบฏขึ้นในปี พ.ศ. 2439 (ค.ศ. 1896) จากนั้นตกเป็นดินแดนภายใต้การปกครองของสหรัฐอเมริกา หลังจากที่สหรัฐจ่ายเงิน 20 ล้านดอลลาร์ซื้อฟิลิปปินส์จากสเปน หลังยุติสงครามสเปน-อเมริกา (The Spanish-American War) ในปี พ.ศ. 2441 (ค.ศ. 1898) จนกระทั่งประกาศเอกราชและเป็นที่ยอมรับในปี พ.ศ. 2489 (ค.ศ. 1946)

รัฐเอกราช[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]