ข้ามไปเนื้อหา

พระเจ้าทุกขิตะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าทุกขิตะ
ประติมากรรมพระเจ้าทุกขิตะขณะทรงขี่ช้างงู
พระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรโยนกนคร
ก่อนหน้าพระเจ้าพังคราช
ถัดไปพระเจ้าพรหมมหาราช
พระราชสมภพพ.ศ. 898[] หรือ พ.ศ. 1481
ราชวงศ์สิงหนติ
พระราชบิดาพระเจ้าพังคราช
พระราชมารดาพระนางเทวี
ศาสนาพุทธ

พระเจ้าทุกขิตะ หรือรู้จักกันในอีกนามว่า เจ้าทุกขิตะราชกุมาร เป็นพระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรโยนกนคร เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าพังคราช และพระเชษฐาของพระเจ้าพรหมมหาราช

พระเจ้าทุกขิตะประสูติเมื่อ พ.ศ. 898 ดังปรากฏใน พงศาวดารโยนก กล่าวถึงเรื่องพระราชสมภพว่า "...เมื่อมหาศักราช 277 (พ.ศ. 898) ก็เข้าสู่สมัยพระเจ้าพังคราชเกิดเหตุการณ์กล๋อม [ขอมดำ] ยกพลเข้าปล้นเมืองโยนกนาคพันธ์ขับไล่พระเจ้าพังคราชและบริวารไปประทับ ณ เวียงสี่ตวง ในปีแรก พระมหาเทวีประสูติเจ้าทุกขิตะราชกุมาร..."

และ ตำนานสิงหนวัติ กล่าวถึงพระนามตามที่ทรงพระราชสมภพในช่วงสภาวะทางการเมืองเกิดทุกข์เข็ญ ความว่า "...ตัวพระนางเทวีก็ประสูติโอรสอีกองค์หนึ่งชื่อ ทุกขิตกุมาร เนื่องจากเกิดในช่วงที่บ้านเมืองมีแต่ความทุกข์เข็ญ..."

พระเจ้าทุกขิตะเมื่อครั้งเป็นราชกุมาร ปรากฏใน ตำนานสิงหนวัติ กล่าวเมื่อได้ทรงตีผางล่อช้างงูว่า "...ครั้นเมื่ออายุกุมาร [พรหมกุมาร] ได้ 13 พรรษาปีแล้ว [...] ฝ่ายพระองค์พังเมื่อทราบข่าว จึงเรียกพราหมณ์ ปุโรหิต และเสนาอำมาตย์มาปรึกษาโหรจึงแนะนำว่า หากจะให้ช้างขึ้นน้ำ จะต้องนำทองคำหนึ่งพันชั่งมาตีเป็นผาง แล้วนำไปตีให้ช้างฟังพระองค์พังจึงให้ช่างรีบตีผาง เสร็จแล้วมอบให้เจ้าทุกขิตะกุมารนำผางคำไปตีให้ช้างฟัง เมื่อเจ้าทุกขิตะกุมารไปถึงยังฝั่งน้ำและตีผางคำให้ช้างฟัง ช้างจึงขึ้นจากฝั่งน้้าและเดินตามเสียงผางคำจนถึงเมืองสี่ตวง [...] เกิดความปีติยินดีอย่างยิ่ง [...] เมืองสี่ตวงก็ให้เรียกว่าเมืองผางคำ..."

พระเจ้าทุกขิตะทรงครองอาณาจักรโยนกนครหลังพระเจ้าพังคราชสวรรคต โดยพรหมกุมาร ผู้เป็นพระอนุชาทรงแสดงเจตนาไม่ครองเมืองโยนกนคร แต่ครองเมืองไชยปราการ เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้พวกขอมดำยกทัพกลับมารุกราน

หมายเหตุ

[แก้]
  1. ตามหนังสือ ประวัติศาสตร์เมืองเชียงแสน โดยสำนักศิลปากรที่ 8 กรมศิลปากร

บรรณานุกรม

[แก้]
  • ตำนานโยนกนครราชธานีศรีเมืองช้างแส่น ฉบับวัดลำเปิ่ง ตำบลนางแล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย. 2422. อักษรธรรมล้านนา.
  • ล้านนาแพร่ประชาสัมพันธ์. มหาราชองค์แรกผู้พิชิตขอม. 2555.