ข้ามไปเนื้อหา

ตั้งโอ๋

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตั้งโอ๋
ใบผักตั้งโอ๋ ในระยะเก็บเกี่ยวกินเป็นผักสด
ดอกเหลืองล้วนของตั้งโอ๋ (Glebionis coronaria var. coronaria)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
หมวด: Magnoliophyta
ชั้น: Magnoliopsida
อันดับ: Asterales
วงศ์: Asteraceae
สกุล: Glebionis
สปีชีส์: G.  coronaria
ชื่อทวินาม
Glebionis coronaria
L.
ชื่อพ้อง

Chrysanthemum coronarium L.
Chrysanthemum coronarium var. spatiosum L. H. Bailey
Chrysanthemum roxburghii Desf
Chrysanthemum spatiosum (L. H. Bailey) L. H. Bailey
Glebionis roxburghii (Desf.) Tzvelev[1]

ภาพพิมพ์ญี่ปุ่น ในปีค.ศ. 1883
ในสวนที่อิสราเอล

ตั้งโอ๋[2] (ชื่อวิทยาศาสตร์: Glebionis coronaria; เดิมชื่อ Leucanthemum coronarium, Chrysanthemum coronarium[3]; จีน: 茼蒿(菜); พินอิน: tónghāo (cài) อ่าน ถงเฮา(ช่าย); แต้จิ๋ว: ตั่งออ; เพ็งอิม: dang5 o1) เป็นผักชนิดหนึ่งที่เป็นญาติใกล้ชิดกับสกุลเบญจมาศ ในวงศ์ทานตะวัน ดอกและใบมีกลิ่นฉุนหอม ใบใช้รับประทานได้ นิยมใช้เป็นส่วนประกอบในตำรับอาหารจีนและเกาหลี มีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียน[4][5] ได้รับการนำเข้าไปปลูกจนกลายเป็นพืชพื้นเมืองในเอเชียตะวันออกและยังเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นกระจัดกระจายไปในอเมริกาเหนือ

อนุกรมวิธานและการตั้งชื่อ

[แก้]

ตั้งโอ๋ (Glebionis coronaria) อยู่ในสกุลตั้งโอ๋ (Glebionis) ซึ่งเดิมรวมอยู่ในสกุลเบญจมาศ (Chrysanthemum) ได้รับการระบุชนิดครั้งแรกใน ค.ศ. 1753 โดยคาโรลัส ลินเนียส ในชื่อ Chrysanthemum coronarium L. และชื่อ Glebionis coronaria ได้รับการตีพิมพ์โดย Édouard Spach ใน ค.ศ. 1841

ต่อมาใน พ.ศ. 2542 (ค.ศ. 1999) ตามการพิจารณาจำแนกชนิดของการประชุมพฤกษศาสตร์นานาชาติ (International Botanical Congress) ให้มีการระบุแยกสกุลใหม่หลายสกุล เพื่อให้สกุลเบญจมาศ (Chrysanthemum) ครอบคลุมเฉพาะชนิดและสายพันธุ์ที่เกี่ยวข้องกับเบญจมาศตัดดอกที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ โดยสกุล Glebionis ที่แยกออกมาประกอบด้วยสองชนิด คือ Glebionis coronaria และ Glebionis segetum[6]

ชื่อทางพฤกษศาสตร์ Glebionis มาจากคำภาษาละติน gleba หมายถึง "ดินเพื่อการเพาะปลูก" เนื่องจากมักพบพืชสกุลนี้เติบโตเป็นวัชพืชในทุ่งนา และคำบ่งชี้ลักษณะ coronata หมายถึง "สวมมงกุฎ" ซึ่งหมายถึง กระจุกกลางดอกที่มีล้อมด้วยเกสรตัวผู้จำนวนมากเป็นรูปทรงเหมือนมงกุฎแบบตะวันตก

ในภาษาจีนกลาง เรียกผักตั้งโอ๋ ว่า "ถงเฮาช่าย" (茼蒿菜; tónghāo cài) ชื่อในภาษาไทยสันนิษฐานว่าอาจเป็นการทับศัพท์จากภาษาจีนสำเนียงฮกเกี้ยน จากการศึกษาภาษาท้องถิ่นในภูมิภาคหมิ่นหนาน ในภาษาอู่เส้อ (五色话) เรียกพืชชนิดนี้ว่า ต่งเฮาผั้ก (tɔŋ2 hǝu1 phjak7)[7][8] ภาษาจีนกวางตุ้งเรียก ท่งโห่ชอย (tong ho (choy))[9]

ชื่อสามัญภาษาอื่น ได้แก่ ภาษาอังกฤษเรียก garland chrysanthemum,[10] chrysanthemum greens,[10] edible chrysanthemum, crowndaisy chrysanthemum,[11] chop suey greens,[10] crown daisy,[10] และ Japanese greens.[10] ในภาษาญี่ปุ่นเรียก ชุนกิขุ มีความหมายถึง เก๊กฮวยฤดูใบไม้ผลิ (ญี่ปุ่น: 春菊, อักษรโรมัน: shungiku)

จำนวนโครโมโซม: 2n=18[12]

ชนิดย่อย

[แก้]
  • Glebionis coronaria var. coronaria —กลีบดอกมีสีเหลืองเข้มล้วน[13]
  • Glebionis coronaria var. discolor (d'Urv.) Turland —กลีบดอกสองสี มีสีเหลืองเข้มเฉพาะตรงกลาง (ฐานกลีบ) สีเหลืองซีดหรือขาวในครึ่งปลายนอก[13]

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

[แก้]
ใบเมื่ออยู่ในระยะออกดอก (ต้นแก่) มีหยักเว้าลึก

ตั้งโอ๋เป็นพืชล้มลุกเป็นพืชล้มลุกฤดูเดียว[14][15] ความสูงเต็มที่ในธรรมชาติ 30–120 เซนติเมตร[6] โดยทั่วไป 70 เซนติเมตร[12] ความสูงเมื่อเก็บเกี่ยวเป็นผัก 10 เซนติเมตร[6] ความสูงเมื่อเริ่มออกดอก 30–45 เซนติเมตร[6] ลำต้นมักตั้งตรง กิ่งน้อย[12] อาจแตกกิ่งก้านสาขาได้หากแออัด โดยมากเมื่อโตเต็มที่มักพบเป็นพุ่มหนา[6] ลำต้นกลม อวบน้ำ

ใบตั้งโอ๋ เป็นใบเดี่ยว สีเขียวหรือเขียวอมเทา เรียงเวียนสลับตรงข้ามกันบนลำต้น ขนาดใบกว้าง 3–5 เซนติเมตร ยาว 5–10 เซนติเมตร (ในระยะปลูกเป็นผัก) แผ่นใบเรียบ บาง ขอบใบหยักเว้าแหว่งลงลึก แฉกเป็นหยักมน[14][16] และแผ่นใบยาวตั้งแต่โคนใบถึงปลายใบ เมื่อเติบโตถึงระยะออกดอก แผ่นใบจะเรียวยาวมากขึ้น เว้าลึกมากขึ้น และหยักแหลม

ในประเทศไทยบางครั้งอาจสับสนโดยเรียกว่าเป็นขึ้นฉ่าย เนื่องจากใบที่คล้ายกัน แต่ลักษณะที่เด่นชัดของผักตั้งโอ๋ คือ เก็บเกี่ยวเป็นผักเมื่อมีขนาดเล็ก (ขึ้นฉ่ายมักเก็บเมื่อมีความสูง 30–40 เซนติเมตร) ใบอ่อนนุ่ม บอบบาง ฉีกขาดง่าย ก้านใบกลม มักมีขอบใบขนานสองข้างคล้ายปีก ซึ่งคล้ายขอบใบอ่อนผักชีฝรั่ง, ผักร็อกเก็ต (Eruca sativa) หรือใบผักกาดเขียวน้อย (ขณะที่ขึ้นฉ่ายมีกาบใบ ก้านใบยาวและภาคตัดขวางเป็นรูปเสี้ยวพระจันทร์ แข็งกรอบ เส้นใยมาก ใบประกอบขนนก รูปลิ่ม ขอบใบจัก)[17][18]

ดอกเป็นดอกรวม (composite flower) กระจุกตรงกลางซึ่งประกอบด้วยดอกย่อยเล็ก ๆ มีสีเหลืองล้วน หรือสีขาวใจกลางสีเหลือง[14] ก้านดอกยาว ฐานดอกทรงถ้วยกลมสีเขียว เส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 3 เซนติเมตร[12] กลีบดอกมีสีเหลืองล้อมรอบดอก ประมาณ 12-14 กลีบ แต่ละกลีบมีรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ปลายกลีบตัด และหยักเว้าเป็นช่วงๆ ขนาดดอกเมื่อบานประมาณ 3–8 เซนติเมตร[15]

ผลมีลักษณะคล้ายกับผลของเบญจมาศ (เก๊กฮวย) มีจำนวนมากรวมกันเป็นกลุ่ม เรียว มีขั้วผล และปลายผลสอบ ขั้วแบน กลางผลพองป้าน โดยรวมคล้ายสี่เหลี่ยมผืนผ้า เปลือกหุ้มผลมีสีน้ำตาลอมดำ แห้งเมื่อแก่ แต่ละผลมี 1 เมล็ด แต่ละเมล็ดมีลักษณะเป็นเหลี่ยม เปลือกเมล็ดบางติดกับเนื้อเมล็ด สีน้ำตาลจนถึงน้ำตาลดำ

เจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศอบอุ่นหรือเย็นเล็กน้อย ออกดอกเร็วในฤดูร้อน และเมล็ดสุกช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิและช่วงฤดูใบไม้ร่วง หลากหลายตามสภาพอากาศ[6] การเพาะปลูกด้วยเมล็ด[15] โดยระยะห่างระหว่างเมล็ดที่ 2-5 เซนติเมตร การงอกที่ 15–21 °ซ เริ่มงอกวันที่ 7 ถึง 18[6]

ถิ่นกำเนิดและการแพร่กระจาย

[แก้]

มีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียน ได้แก่ กรีซ, ซาอุดีอาระเบีย, ซีเรีย, ไซปรัส, ตุรกี, ตูนิเซีย, เติร์กเมนิสถาน, ทาจิกิสถาน, ฝรั่งเศส, โมร็อกโก, ยูโกสลาเวีย, ลิเบีย, เลบานอน, สเปน, อิตาลี, อิรัก, อิหร่าน, อียิปต์, อุซเบกิสถาน และแอลจีเรีย[19] แต่ถูกนำไปปลูกจนเป็นพืชพื้นเมืองในเอเชียตะวันออกเช่น จีน เกาหลี และญี่ปุ่น[6] และได้ถูกนำเข้าไปปลูกในเอเชียเช่น ไทย, พม่า, กัมพูชา, ลาว, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์, อินเดีย และยังเป็นพืชต่างถิ่นคุกคามในทวีปอเมริกา และยุโรปตอนเหนือ[19][20]

การปลูกตั้งโอ๋ในประเทศไทยยังไม่แพร่หลายนัก พบแหล่งปลูกในอีสาน ได้แก่ นครราชสีมา และสุรินทร์ ภาคเหนือ ได้แก่ เพชรบูรณ์ ลำปาง และพิษณุโลก มีพื้นที่รวมแล้ว เพียงประมาณ 200 กว่าไร่ และคาดว่าจะเพิ่มพื้นที่ปลูกมากขึ้นในอนาคต[15]

การใช้ประโยชน์

[แก้]

การใช้เป็นอาหาร

[แก้]

ใบและส่วนที่เป็นสีเขียวของตั้งโอ๋ถูกนำมาใช้ในอาหารเอเชียหลายชนิด ผักตั้งโอ๋สดพบจำหน่ายทั่วไปในประเทศจีน และปรากฏเป็นส่วนผสมในอาหารจีนหลายชนิด จำพวกผัด ตุ๋น หม้อตุ๋น และหม้อไฟ ซึ่งสันนิษฐานว่าถูกนำมาปลูกเป็นผักในประเทศจีนในสมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 960–1279)[6][21] และกระจายความนิยมอย่างรวดเร็วทั่วไปในเอเชีย ในอาหารญี่ปุ่นใช้ตั้งโอ๋เป็นส่วนผสมในหม้อไฟ[22]ที่เรียก นาเบะโมโนะ (鍋物; なべ物; nabemono) ในอาหารเกาหลีใช้เป็นส่วนผสมในซุป สตู และใช้เป็นส่วนผสมเพียงอย่างเดียวในเครื่องเคียง (ผักรองชาม) (ปันจัน; 반찬; 飯饌; banchan [pan.tɕʰan]) ในการปรุงหม้อไฟ จะใส่ตั้งโอ๋ในช่วงสุดท้ายลงในหม้อเพื่อหลีกเลี่ยงการสุกมากเกินไป[ต้องการอ้างอิง] ในลักษณะลวกพอสุก[15]

ในเกาะครีต ความหลากหลายของสายพันธุ์ที่เรียกว่ามันทิลิดา (μαντηλίδα) ซึ่งกินยอดอ่อนสดหรือนึ่ง[ต้องการอ้างอิง]

ดอก ใช้กินได้แต่มีรสขมกว่าใบ โดยเฉพาะกระจุกดอกที่ขมจัด[6]

ในประเทศไทย ใช้ทำเป็นอาหารผัดในแบบกวางตุ้ง[23] อาหารต้มเช่นข้าวต้ม[24] แกงจืด[23] และบางครั้งใช้สดเป็นผักห่อ[25] ผักสดเคียง[23] หาซื้อได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากเป็นพืชชอบอากาศหนาวเย็น เหี่ยวเฉาเน่าง่ายในอากาศร้อนอย่างในประเทศไทย

โภชนาการ

[แก้]
ตั้งโอ๋ดิบ
คุณค่าทางโภชนาการต่อ 100 กรัม (3.5 ออนซ์)
พลังงาน99 กิโลจูล (24 กิโลแคลอรี)
3.02 ก.
ใยอาหาร3 ก.
0.56 ก.
3.36 ก.
วิตามิน
วิตามินเอ
(15%)
116 μg
(13%)
1380 μg
3834 μg
ไทอามีน (บี1)
(11%)
0.13 มก.
ไรโบเฟลวิน (บี2)
(12%)
0.144 มก.
ไนอาซิน (บี3)
(5180%)
777 มก.
(4%)
0.221 มก.
วิตามินบี6
(14%)
0.176 มก.
โฟเลต (บี9)
(44%)
177 μg
วิตามินซี
(2%)
1.4 มก.
วิตามินเค
(333%)
350 μg
แร่ธาตุ
แคลเซียม
(12%)
117 มก.
เหล็ก
(18%)
2.29 มก.
แมกนีเซียม
(9%)
32 มก.
แมงกานีส
(45%)
0.943 มก.
โซเดียม
(8%)
118 มก.
สังกะสี
(7%)
0.71 มก.

ประมาณร้อยละคร่าว ๆ โดยใช้การแนะนำของสหรัฐสำหรับผู้ใหญ่
แหล่งที่มา: USDA FoodData Central

ในส่วนที่รับประทานได้ (ดูตาราง) เช่น ใบและก้านใบอุดมไปด้วยแร่ธาตุและวิตามิน เช่นโพแทสเซียม และแคโรทีน นอกจากนี้ยังมีสารต้านอนุมูลอิสระต่าง ๆ (ในเนื้อเยื่อลำต้น ใบ และราก) อาจมีประโยชน์ในระยะยาวต่อสุขภาพของมนุษย์ แม้ว่าจะมีการพบคุณสมบัติที่เป็นพิษ (เช่น ไดออกซิน) สารสกัดจากตั้งโอ๋ C. coronarium var. spatiosum ได้รับการบ่งชี้ว่าอาจยับยั้งการเจริญเติบโตของ Lactobacillus casei ซึ่งเป็นแบคทีเรียในลำไส้ที่เป็นประโยชน์ของมนุษย์[26]

การใช้ปลูกประดับ

[แก้]

ตั้งโอ๋ปลูกเป็นไม้ประดับสำหรับสวนแบบทุ่งหญ้าหรือสวนดอกไม้ป่าผสม ซึ่งมีระยะออกดอกที่แน่นอน สามารถกำหนดได้อย่างแม่นยำ และออกดอกเร็ว ดูแลง่าย

ยังใช้เป็นพืชแนะนำให้เด็กในการเริ่มต้นปลูกต้นไม้ รวมทั้งการปลูกเป็นสวนสำหรับเด็ก ซึ่งปลอดภัย และควบคุมการให้ดอกได้สม่ำเสมอ

ประโยชน์ทางยา

[แก้]

ในประเทศจีน เป็นสมุนไพรใช้รักษาอาการอาหารไม่ย่อย ปวดท้อง และไอ[28] ในอินเดียใช้พืชทั้งต้นรักษาโรคหนองใน[28]

พิษ

[แก้]

พืชที่อยู่ในวงศ์ทานตะวัน (Compositae) เช่น ต้นทานตะวัน และดอกคำฝอย รวมถึงผักตั้งโอ๋ ในลำต้นและใบจะประกอบด้วยสาร sesquiterpene lactone เมื่อสัมผัสกับผิวหนังในบางรายจะเกิดอาหารแพ้ เกิดผื่นแดง หรือผื่นแพ้แสง มีอาการผิวหนังอักเสบ และเป็นตุ่มพองน้ำใส[29]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Germplasm Resources Information Network - (GRIN) Online Database. "Taxon: Glebionis coronaria (L.) Cass. ex Spach". GRIN Taxonomy for Plants. USDA, ARS, National Genetic Resources Program, Beltsville, Maryland. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (HTML)เมื่อ 2009-05-08. สืบค้นเมื่อ 2008-01-10.
  2. Thailand, Sanook Online Ltd. "ตั้งโอ๋ คืออะไร แปลภาษา แปลว่า หมายถึง (พจนานุกรมภาษาไทย-อังกฤษ อ. สอ เสถบุตร)". dictionary.sanook.com.
  3. "Glebionis coronaria (L.) Cass. ex Spach — The Plant List". www.theplantlist.org.
  4. Flora of China, Glebionis coronaria (Linnaeus) Cassini ex Spach, 1841. 茼蒿 tong hao
  5. Biota of North America Program 2014 county distribution map
  6. 6.00 6.01 6.02 6.03 6.04 6.05 6.06 6.07 6.08 6.09 Gardener, Laidback (2021-01-23). "Garland Chrysanthemum: the Flowering Vegetable". Laidback Gardener (ภาษาอังกฤษ).
  7. เมชฌ สอดส่องกฤษ. (2560) รายการคำศัพท์ภาษาตระกูลไทพบใหม่ในสาธารณรัฐประชาชนจีน. อุบลราชธานี: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.
  8. 韦茂繁,韦树关. (2011)《五色话研究》北京:民族出版社. (เหฺวย์ม่าวฝาน, เหฺวย์ชู่กฺวาน. (2011) การศึกษาวิจัยภาษาอู่เส้อ. ปักกิ่ง: ชาติพันธุ์.)
  9. Diversivore https://www.diversivore.com/ingredient-pages/garland-chrysanthemum/ Retrieved 22/9/20.
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 10.4 "Glebionis coronaria". Germplasm Resources Information Network (GRIN). Agricultural Research Service (ARS), United States Department of Agriculture (USDA). สืบค้นเมื่อ 2014-07-30.
  11. "쑥갓" [crowndaisy chrysanthemum]. Korea Biodiversity Information System (ภาษาเกาหลี). Korea National Arboretum. สืบค้นเมื่อ 7 December 2016.
  12. 12.0 12.1 12.2 12.3 "Glebionis coronaria in Flora of China @ efloras.org". www.efloras.org.
  13. 13.0 13.1 Nicholas J. Turland: (1647) Proposal to conserve the name Chrysanthemum coronarium (Compositae) with a conserved type. In: Taxon. Band 53, Nr. 4, 2004, S. 1072–1074 (PDF-Datei).
  14. 14.0 14.1 14.2 Flora of North America, Glebionis coronaria (Linnaeus) Cassini ex Spach, 1841. Crown daisy, garland chrysanthemum
  15. 15.0 15.1 15.2 15.3 15.4 puechkaset (2017-04-09). "ตั้งโอ๋ สรรพคุณ และการปลูกตั้งโอ๋ | พืชเกษตร.คอม".
  16. ปลูกตั้งโอ๋และผักสวนครัวอย่างไรถ้าไม่มีพื้นที่. kasetorganic.com สืบค้นเมื่อ 20 กรกฏาคม 2564.
  17. "ตังโอ๋กับขึ้นฉ่าย". Pantip.
  18. puechkaset (2017-04-09). "ตั้งโอ๋ สรรพคุณ และการปลูกตั้งโอ๋ | พืชเกษตร.คอม".
  19. 19.0 19.1 "Glebionis coronaria (L.) Cass. ex Spach | Plants of the World Online | Kew Science". Plants of the World Online (ภาษาอังกฤษ).
  20. "Glebionis coronaria (crowndaisy)". www.cabi.org (ภาษาอังกฤษ).
  21. 李時珍. 卷二十六 菜部. 本草綱目-萬有文庫版. 上海: 商務印書館. 1930.
  22. "Garland Chrysanthemum (Tong Ho) - How to Choose & Use It". diversivore (ภาษาอังกฤษแบบแคนาดา).
  23. 23.0 23.1 23.2 Easycooking. "4 เมนูอร่อยจากผักตั้งโอ๋ (ผักตั้งโอ๋ที่ถูกต้องหน้าตาแบบนี้นะ)". www.easycookingmenu.com.
  24. "ตังโอ๋ ผักกลิ่นหอม ใบอ่อนนุ่ม". krua.co (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-07-26. สืบค้นเมื่อ 2021-07-20.
  25. "ตังโอ๋ ผักกลิ่นหอม ใบอ่อนนุ่ม". krua.co (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-07-26. สืบค้นเมื่อ 2021-07-20.
  26. Teixeira da Silva, J. A., et al. (2005). Important secondary metabolites and essential oils of species within the Anthemideae (Asteraceae). Journal of Herbs, Spices & Medicinal Plants 11(1), 1-4.
  27. "Garland Chrysanthemum (Tong Ho) - How to Choose & Use It". diversivore (ภาษาอังกฤษแบบแคนาดา).
  28. 28.0 28.1 O. Isaac: Chrysanthemum. In: W. Blaschek, R. Hänsel, K. Keller, J. Reichling, H. Rimpler, G. Schneider (Hrsg.): Hagers Handbuch der pharmazeutischen Praxis. Folgeband 2. Drogen A–K. 5. vollständig neubearbeitete Auflage. Springer, Berlin/Heidelberg 1998, ISBN 3-540-61618-7, S. 358–360.
  29. ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี, มหาวิทยาลัยมหิดล. ภาวะเป็นพิษจากพืช. สืบค้นเมื่อ 9 เมษายน 2560