คืส ฮิดดิงก์
ข้อมูลส่วนตัว | |||
---|---|---|---|
วันเกิด | 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1946 | ||
สถานที่เกิด | ฟาร์สเซอเฟลด์, เนเธอร์แลนด์ | ||
ตำแหน่ง | กองกลาง | ||
สโมสรเยาวชน | |||
เอสเซ ฟาร์สเซอเฟลด์ (SC Varsseveld) | |||
สโมสรอาชีพ* | |||
ปี | ทีม | ลงเล่น | (ประตู) |
1967–1970 | เดอคราฟสคัป (De Graafschap) | ||
1970–1972 | เปเอสเฟ ไอนด์โฮเฟิน | 30 | (1[1]) |
1972–1977 | เดอคราฟสคัป | 130 | (9[1]) |
1977–1981 | เอ็น.เอ.เซ. ไนเมเคิน (N.E.C. Nijmegen) | 104 | (2[1]) |
1978 | → วอชิงตันดิโพลแมตส์ (ยืมตัว) | 13 | (4[2]) |
1980 | → แซนโฮเซเอิร์ทเควกส์ (ยืมตัว) | 15 | (0[2]) |
1981–1982 | เดอคราฟสคัป | 25 | (0[1]) |
รวม | 317 | (16) | |
จัดการทีม | |||
1982–1984 | เดอคราฟสคัป (ผู้ช่วยผู้จัดการทีม) | ||
1984–1987 | เปเอสเฟ ไอนด์โฮเฟิน (ผู้ช่วยผู้จัดการทีม) | ||
1987–1990 | เปเอสเฟ ไอนด์โฮเฟิน | ||
1990–1991 | เฟแนร์บาห์เช | ||
1991–1994 | บาเลนเซีย | ||
1994–1998 | เนเธอร์แลนด์ | ||
1998–1999 | เรอัลมาดริด | ||
2000 | เรอัลเบติส | ||
2001–2002 | เกาหลีใต้ | ||
2002–2006 | เปเอสเฟ ไอนด์โฮเฟิน | ||
2005–2006 | ออสเตรเลีย | ||
2006–2010 | รัสเซีย | ||
2009 | เชลซี (ผู้จัดการทีมชั่วคราว) | ||
2010–2011 | ตุรกี | ||
2012–2013 | อันจีมาคัชคาลา | ||
2014–2015 | เนเธอร์แลนด์ | ||
2015–2016 | เชลซี (ผู้จัดการทีมชั่วคราว) | ||
2018–2019 | จีน (ยู-21) | ||
2020–2021 | กูราเซา | ||
*นัดที่ลงเล่นและประตูที่ยิงให้แก่สโมสรเฉพาะลีกในประเทศเท่านั้น |
คืส ฮิดดิงก์ (ดัตช์: Guus Hiddink) ผู้จัดการทีมฟุตบอลและเป็นอดีตนักฟุตบอลชาวดัตช์
ประวัติ
[แก้]ฮิดดิงก์เกิดเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1946 ที่เมืองฟาร์สเซอเฟลด์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ เริ่มต้นอาชีพในวงการฟุตบอลด้วยวัย 23 ปี ในตำแหน่งกองกลางกับเดอคราฟสคัป ก่อนย้ายไปร่วมทีมเปเอสเฟ ไอนด์โฮเฟิน สโมสรใหญ่ในเอเรอดีวีซี ในปี ค.ศ. 1970 ก่อนจะกลับสังกัดเก่าในปีถัดมา เนื่องจากไม่สามารถหาตำแหน่งตัวจริงได้
หลังจากนั้นยังเคยเดินทางไปเตะในสหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 2 ปีตั้งแต่ปี ค.ศ. 1976 กับวอชิงตันดิโพลแมตส์และแซนโฮเซเอิร์ทเควกส์ ก่อนจะกลับบ้านเกิดมาเล่นอีก 3 ปีกับเอ็น.เอ.เซ. ไนเมเคิน และย้ายกลับมาเล่นให้กับเดอคราฟสคัป ก่อนที่จะยุติการค้าแข้งไปในปี ค.ศ. 1982
สมัยเป็นผู้จัดการทีม
[แก้]ฮิดดิงก์เริ่มผู้จัดการทีมกับเดอคราฟสคัปในปีเดียวกับที่เลิกเล่น ก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยผู้จัดการของเปเอสเฟ ไอนด์โฮเฟิน ในปี ค.ศ. 1984 และสืบทอดตำแหน่งผู้จัดการทีมต่อจาก ฮันส์ กราย ในอีก 2 ปีให้หลัง
ฮิดดิงก์ประสบความสำเร็จอย่างมากกับไอนด์โฮเฟิน โดยที่เขาสามารถนำทีมคว้าแชมป์ลีกดัตช์ 4 ปีซ้อนตั้งแต่ปี ค.ศ. 1986 รวมทั้งยังสร้างประวัติศาสตร์พาทีมคว้าทริปเปิลแชมป์ ทั้งยูโรเปียนคัพ, ลีกดัตช์ และฟุตบอลถ้วยในประเทศในปี ค.ศ. 1988 ด้วย และได้เป็นดับเบิลแชมป์ในปีถัดมาอีกด้วย
ในปี ค.ศ. 1990 ฮิดดิงก์ตัดสินใจไปหาความท้าทายใหม่ด้วยการเข้าคุมทีมเฟแนร์บาห์เชในตุรกี ก่อนที่จะย้ายไปสเปนในปีถัดมา และคุมทีมบาเลนเซีย เป็นเวลา 2 ปี หลังจากนั้นจึงผันตัวไปรับงานในระดับทีมชาติ
ในปี ค.ศ. 1995 ฮิดดิงก์ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการทีมชาติเนเธอร์แลนด์ และนำพาทีมผ่านเข้าถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายของศึกยูโร 1996 ก่อนที่จะพ่ายแพ้ต่อฝรั่งเศสในการดวลลูกจุดโทษตัดสินอย่างน่าเสียดาย
ฮิดดิงก์นำทีมชาติเนเธอร์แลนด์เข้าไปเล่นฟุตบอลโลก 1998 รอบสุดท้ายที่ฝรั่งเศส และเอาชนะอาร์เจนตินาในรอบก่อนรองชนะเลิศ ด้วยลูกยิงสุดสวยของ แด็นนิส แบร์คกัมป์ แต่ต้องตกรอบเมื่อเป็นต้องดวลลูกจุดโทษอีกครั้งในการพบกับบราซิลในรอบรองชนะเลิศ ซึ่งในครั้งนี้เนเธอร์แลนด์ได้อันดับ 4
หลังจบศึกครั้งนี้ ฮิดดิงก์ตัดสินใจย้ายกลับไปคุมทีมในสเปนอีกครั้งกับเรอัลมาดริดโดยแทนที่ยุพพ์ ไฮน์เคิส โดยนำทีมคว้าแชมป์สโมสรโลก แต่ก็ถูกปลดในเดือนกุมภาพันธ์ 1999 หลังจากทำผลงานย่ำแย่ และถูกเรอัลเบติสปลดออกในปีถัดมาอีกด้วย
ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2001 ฮิดดิงก์ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการทีมชาติเกาหลีใต้ และนำทีมทะลุถึงรอบรองชนะเลิศฟุตบอลโลก 2002 โดยการเอาชนะทีมชั้นนำจากยุโรปทั้งโปรตุเกส, สเปน และอิตาลี ซึ่งถือเป็นผลงานที่ดีที่สุดของทีมจากเอเชียในการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายเลยทีเดียว ซึ่งในศึกครั้งนี้ เกาหลีใต้ได้อันดับ 4 เขาได้กลายเป็นคนแรกและคนเดียวที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นพลเมืองกิตติมศักดิ์ของเกาหลีใต้
จากนั้น ฮิดดิงก์ก็กลับมาคุมทีมไอนด์โฮเฟินอีกครั้ง และนำทีมคว้าแชมป์ลีกในประเทศ 3 สมัยรวดตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003 รวมทั้งแชมป์ดัตช์คัพในปี ค.ศ. 2005 และพาทีมทะลุเข้าถึงรอบรองชนะเลิศศึกยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ในปี ค.ศ. 2005 ก่อนแพ้ต่อเอ.ซี. มิลาน ด้วยกฎประตูทีมเยือน
หลังจากนั้นฮิดดิงก์ก็รับตำแหน่งผู้จัดการทีมชาติออสเตรเลีย ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2005 ขณะที่ยังคุมไอนด์โฮเฟินควบคู่กันไปด้วย และนำทีมผ่านเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลก 2006 ที่เยอรมนีได้สำเร็จ แต่ก็ต้องแพ้ต่ออิตาลีซึ่งได้แชมป์ไปด้วยประตู 0-1 ในรอบ 16 ทีมสุดท้าย
ฮิดดิงก์ตัดสินใจลาออกจากทั้ง 2 ตำแหน่งหลังจากพบศึกฟุตบอลโลกครั้งนี้เพื่อเข้าคุมทีมชาติรัสเซีย และนำทีมผ่านเข้าไปเล่นรอบสุดท้ายศึกยูโร 2008 โดยมีผลงานเด่นคือการอังกฤษ ตกรอบคัดเลือก
ซึ่งในศึกครั้งนี้ รัสเซียแพ้ต่อสเปนด้วยประตู 1-4 ในนัดเปิดสนาม แต่ฮิดดิงก์ก็นำทีมทะลุเข้าถึงรอบรองชนะเลิศอย่างพลิกความคาดหมาย แล้วก็ต้องมาแพ้ต่อสเปนอีกครั้งด้วยประตู 0-3 ก่อนที่สเปนจะได้แชมป์ไปในที่สุด
ในปีถัดมา ฮิดดิงก์ได้เป็นผู้จัดการทีมเชลซีเป็นระยะเวลาสั้น ๆ 4 เดือน หลังการปลดลูอิส เฟลีปี สโกลารี ออกจากตำแหน่ง และนำพาทีมคว้าแชมป์เอฟเอคัพมาครองได้สำเร็จ โดยเอาชนะเอฟเวอร์ตันในรอบชิงชนะเลิศ และจบฤดูกาลด้วยอันดับ 3 ในพรีเมียร์ลีก
ฮิดดิงก์ประสบความล้มเหลวไม่สามารถนำทีมชาติรัสเซียเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลก 2010 ได้ หลังแพ้สโลวีเนียด้วยกฎประตูทีมเยือนในการเล่นเพลย์ออฟ ทำให้เจ้าตัวตัดสินใจไม่ต่อสัญญาคุมทีมซึ่งจะหมดลงในวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 2010
ต่อมาฮิดดิงก์เข้ารับตำแหน่งผู้จัดการทีมชาติตุรกี โดยจะเริ่มงานตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 2010 ด้วยการทำสัญญา 4 ปี ฮิดดิงก์ทำผลงานได้ดีกับทีมชาติตุรกี โดยผลคุมทีมนัดแรกทำได้ดีด้วยการนำทีมชนะโรมาเนีย 2-0 ในนัดอุ่นเครื่องที่อิสตันบูล ซี่งหลังจากนั้นขาก็ทำผลงานดีมาตลอด แต่แล้วในรอบคัดเลือกยูโร 2012 ฮิดดิงก์ทำผลงานได้น่าผิดหวังด้วยการแพ้ให้กับโครเอเชีย 3-0 ในรอบเพลย์ออฟ ทำให้เขาถูกวิจารณ์อย่างหนักและตัดสินใจลาออกจากการเป็นผู้จัดการทีมของทีมชาติตุรกี
ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2012 ฮิดดิงก์รับงานคุมทีมจากอันจีมาคัชคาล สโมสรฟุตบอลชื่อดังของรัสเซีย แล้วตกลงทำสัญญาคุมทีมเป็นเวลา 6 ปี[3] แต่ก็ลาออกจากตำแหน่งในปี ค.ศ. 2013
ในปลายปี ค.ศ. 2015 ฮิดดิงก์กลับมาเป็นผู้จัดการทีมเชลซี ในพรีเมียร์ลีกอีกครั้ง ซึ่งเป็นเวลาในช่วงครึ่งฤดูกาล หลังจากสโมสรได้ทำการปลดโชเซ มูรีนโย ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากผลงานของทีมไม่ดี โดยฮิดดิงก์จะรับหน้าที่นี้ไปจนกระทั่งอย่างน้อยจบฤดูกาล[4]
ทั้งนี้ คืส ฮิดดิงก์ ได้ชื่อว่าเป็นผู้จัดการทีมที่คุมทีมประสบความสำเร็จมากคนหนึ่ง โดยเฉพาะผลงานในการแข่งขันฟุตบอลโลกกับเนเธอร์แลนด์และเกาหลีใต้
เกียรติประวัติ
[แก้]สมัยเป็นนักฟุตบอล
[แก้]เดอคราฟสคัป
- ตเวเดอดีวีซี (1): 1969
แซนโฮเซเอิร์ทเควกส์
- นอร์ทอเมริกันซอกเกอร์ลีก ดิวิชันหนึ่งภาคใต้ (1): 1977 (รองชนะเลิศ)
ผู้จัดการทีม
[แก้]- รางวัลส่วนตัว
- ผู้ฝึกสอนแห่งปีของสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (1): 2002
- ผู้จัดการทีมยอดเยี่ยมแห่งปีของนิตยสารเวิลด์ซ็อกเกอร์ (1): 2002
- ผู้ฝึกสอนกีฬาแห่งปีของเนเธอร์แลนด์ (รวมกีฬาทุกประเภท) (2): 2002, 2005
- รางวัลรีนึส มีเคิลส์ (2): 2005, 2006
- ผู้ฝึกสอนแห่งปีในรัสเซีย (1): 2008[5]
- ในปี ค.ศ. 2005 ฮิดดิงก์ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยโซล[6]
- เดอคราฟสคัปได้ตั้งชื่อสัตว์นำโชคของสโมสร (ม้าลาย) ว่า "คืส" เพื่อเป็นเกียรติแก่ฮิดดิงก์ที่เคยมีความเกี่ยวข้องกับสโมสรในฐานะผู้เล่นและผู้จัดการทีม
- สนามกีฬาควังจูได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็นสนามกีฬาคืส ฮิดดิงก์ เพื่อเป็นเกียรติแก่ฮิดดิงก์ที่คุมทีมชาติเกาหลีใต้จนได้เข้าสู่รอบรองชนะเลิศของฟุตบอลโลก 2002
- ฮิดดิงก์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพลเมืองกิตติมศักดิ์ของโซล หลังจากที่เกาหลีใต้ได้เข้าสู่รอบรองชนะเลิศของฟุตบอลโลกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์[7]
- ฮิดดิงก์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพลเมืองกิตติมศักดิ์ของเมืองไอนด์โฮเฟิน หลังจากที่คุมทีมเปเอสเฟจนสามารถคว้าแชมป์ลีกเอเรอดีวีซีได้ถึง 6 สมัยในปี ค.ศ. 2006[8]
- การไปรษณีย์ออสเตรเลียจัดพิมพ์ตราไปรษณียากรชุดฟุตบอลทีมชาติออสเตรเลีย (ซึ่งมีรูปนักฟุตบอลรวมทั้งฮิดดิงก์ซึ่งเป็นผู้จัดการทีมในขณะนั้น) เพื่อเป็นที่ระลึกถึงความสำเร็จของออสเตรเลียในฟุตบอลโลก 2006
- ฮิดดิงก์ได้รับรางวัลความสำเร็จสูงสุด (lifetime achievement award) จากราชสมาคมฟุตบอลเนเธอร์แลนด์ในปี ค.ศ. 2007 นับเป็นคนที่สามที่ได้รับรางวัลดังกล่าวจากสมาคมนี้ (อีกสองคนได้แก่ รีนึส มีเคิลส์ และโยฮัน ไกรฟฟ์)[9]
เปเอสเฟ ไอนด์โฮเฟิน
เรอัลมาดริด เชลซี |
เนเธอร์แลนด์ เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย รัสเซีย
|
อ้างอิง
[แก้]- รู้จักกับกุส ฮิดดิ้งค์ เก็บถาวร 2010-02-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 "Eredivisie statistics – Guus Hiddink" (ภาษาดัตช์). Voetbal International. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-08-26. สืบค้นเมื่อ 15 April 2009.
- ↑ 2.0 2.1 "NASL Player Profile – Guus Hiddink". สืบค้นเมื่อ 24 November 2008.
- ↑ "Guus Hiddink named Anzhi Makhachkala manager". BBC Sport. 17 February 2002. สืบค้นเมื่อ 18 February 2012.
- ↑ ""ฮิดดิงค์" รีเทิร์นคุมสิงห์ มั่นกู้วิกฤติเชลซี". ผู้จัดการออนไลน์. 19 December 2015. สืบค้นเมื่อ 20 December 2015.[ลิงก์เสีย]
- ↑ http://www.hln.be/hln/nl/950/Buitenlands-Voetbal/article/detail/558522/2008/12/17/Hiddink-en-Advocaat-coach-van-het-jaar-in-Rusland.dhtml
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-06. สืบค้นเมื่อ 2012-11-10.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-23. สืบค้นเมื่อ 2012-11-10.
- ↑ http://www.trouw.nl/tr/nl/4324/nieuws/article/detail/1449056/2006/04/09/Guus-Hiddink-ereburger-van-Eindhoven.dhtml
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-04-02. สืบค้นเมื่อ 2012-11-10.
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2489
- บุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่
- บุคคลจากจังหวัดเกลเดอร์ลันด์
- นักฟุตบอลชาวดัตช์
- ผู้จัดการทีมฟุตบอลชาวดัตช์
- ผู้ฝึกสอนทีมชาติ
- ผู้จัดการทีมในชุดชนะเลิศเอฟเอคัพ
- ผู้จัดการทีมในชุดชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก
- ผู้เล่นเปเอสเฟ ไอนด์โฮเฟิน
- ผู้จัดการทีมเปเอสเฟ ไอนด์โฮเฟิน
- ผู้จัดการทีมฟุตบอลเฟแนร์บาห์แชสปอร์คูลือบือ
- ผู้จัดการทีมสโมสรฟุตบอลบาเลนเซีย
- ผู้จัดการทีมสโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริด
- ผู้จัดการทีมเรอัลเบติส
- ผู้จัดการทีมสโมสรฟุตบอลเชลซี
- ผู้จัดการทีมสโมสรฟุตบอลอันจีมาคัชคาลา
- ผู้จัดการทีมฟุตบอลทีมชาติเนเธอร์แลนด์
- ผู้จัดการทีมฟุตบอลทีมชาติเกาหลีใต้
- ผู้จัดการทีมฟุตบอลทีมชาติออสเตรเลีย
- ผู้จัดการทีมฟุตบอลทีมชาติรัสเซีย
- ผู้จัดการทีมฟุตบอลทีมชาติตุรกี
- ผู้จัดการทีมฟุตบอลทีมชาติกูราเซา