ข้ามไปเนื้อหา

พะโค

พิกัด: 17°20′N 96°29′E / 17.333°N 96.483°E / 17.333; 96.483
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก กรุงหงสาวดี)
พะโค

หงสาวดี
เมือง
พะโคตั้งอยู่ในประเทศพม่า
พะโค
พะโค
ที่ตั้งเมืองพะโคในประเทศพม่า
พิกัด: 17°20′12″N 96°28′47″E / 17.33667°N 96.47972°E / 17.33667; 96.47972
ประเทศ พม่า
ภาค ภาคพะโค
จังหวัดพะโค
อำเภอพะโค
ก่อตั้งค.ศ. 1152
พื้นที่
 • ทั้งหมด18.45 ตร.ไมล์ (47.8 ตร.กม.)
ความสูง13 ฟุต (4 เมตร)
ประชากร
 (2019)[1]
 • ทั้งหมด179,505 คน
 • ความหนาแน่น9,700 คน/ตร.ไมล์ (3,800 คน/ตร.กม.)
 • กลุ่มชาติพันธุ์
 • ศาสนา
เขตเวลาUTC+6.30 (เวลามาตรฐานพม่า)

พะโค,[2] บะโก[2] (พม่า: ပဲခူးမြို့; มอญ: ဗဂေါ) หรือ หงสาวดี (พม่า: ဟံသာဝတီ; มอญ: ဟံသာဝတဳ หงสาวะโตย) เป็นเมืองหลักของภาคพะโค อยู่ห่างจากย่างกุ้ง ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ 91 กิโลเมตร (57 ไมล์) นครหงสาวดีเคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรหงสาวดีของชาวมอญ และอาณาจักรตองอูของชาวพม่า

ศัพทมูลวิทยา

[แก้]

สันนิษฐานกันว่าชื่อ บะโก (พม่า: ပဲခူး) มาจากชื่อสถานที่ บะกอ (มอญ: ဗဂေါ, [bəkɜ̀]) ก่อนที่รัฐบาลพม่าจะเปลี่ยนชื่อสถานที่ทั่วประเทศจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาพม่าอักษรโรมันใน พ.ศ. 2532 นั้น พะโคเคยเป็นที่รู้จักกันในชื่อ เพกู (อังกฤษ: Pegu) พะโคเดิมชื่อ ฮานตาวะดี (พม่า: ဟံသာဝတီ; มอญ: ဟံသာဝတဳ หงสาวะโตย; บาลี: Haṃsāvatī) ซึ่งเป็นชื่อของอาณาจักรมอญแห่งหนึ่ง

ประวัติคำอีกทางหนึ่งจากสารานุกรมพม่า พ.ศ. 2490 ระบุว่าชื่อ บะโก มาจาก วานบะโก (พม่า: ဝမ်းပဲကူး) เป็นคำย่อของสถานที่พวกหงส์กินหญ้า (พม่า: ဟင်္သာဝမ်းဘဲများ ကူးသန်းကျက်စားရာ အရပ်) ประวัติคำตามทฤษฎีนี้ไม่ได้ยึดการออกเสียงจริงในภาษาพม่าเป็นเหตุผลหลัก[3]

ประวัติ

[แก้]
พระนอนชเวตาลย่อง หนึ่งในสัญลักษณ์ของเมืองพะโค ความยาว 177 ฟุต (54 เมตร) สร้างใน ค.ศ. 994 สมัยกษัตริย์มอญ

การก่อตั้ง

[แก้]

พงศาวดารภาษามอญ หลายฉบับรายงานวันที่ก่อตั้งเมืองพะโคแตกต่างกัน ตั้งแต่ ค.ศ. 573 ถึง ค.ศ. 1152 ในขณะที่ ซะบู โกนชา ซึ่งเป็นตำราของกองอาลักษณ์พม่าต้นคริสต์ศตวรรษที่ 15 ระบุว่าพะโคก่อตั้งใน ค.ศ. 1276/77[4]

หลักฐานแรกสุดที่ยังหลงเหลืออยู่ของพะโคมีในสมัยอาณาจักรพุกามตอนปลาย เมื่อยังเป็นเพียงเมืองเล็ก ๆ หลังการล่มสลายของอาณาจักรพุกาม พะโคกลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรเมาะตะมะ ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1290

บันทึกภายนอกที่เก่าแก่สุดที่เป็นไปได้ของพะโค มีอายุถึง ค.ศ. 1028 แผ่นจารึก ติรุวัฬลันกาดุ (Thiruvalangadu) บรรยายถึงราเชนทรา ที่ 1 แห่งอาณาจักรโจฬะ จากอินเดียใต้ว่าได้พิชิต "Kadaram" ในปีที่ 14 ของรัชสมัยพระองค์ ตามการตีความครั้งแรก Kadaram อาจหมายถึงพะโค[5][6] การตีความที่ทันสมัยมากขึ้นเข้าใจว่า Kadaram อาจหมายถึงเกดะห์ ในมาเลเซียปัจจุบัน[5] แหล่งหลักฐานในจีนกล่าวถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้เพิ่มพะโคเข้าไปในอาณาเขตของอาณาจักรพระนครใน ค.ศ. 1195[7]

การขยายตัว

[แก้]

ชุมชนเล็ก ๆ นี้มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ในคริสต์ศตวรรษที่ 14 เนื่องจากภูมิภาคนี้มีประชากรมากที่สุดในอาณาจักรที่พูดภาษามอญ ใน ค.ศ. 1369 พระยาอู่ทรงตั้งเมืองพะโคเป็นเมืองหลวง ในรัชสมัยของพระเจ้าราชาธิราช พะโคและอาณาจักรอังวะ มีส่วนร่วมในสงครามสี่สิบปี รัชสมัยอันสงบสุขของพระนางเชงสอบู สิ้นสุดลงเมื่อพระองค์เลือกภิกษุหรือพระเจ้าธรรมเจดีย์ (ค.ศ. 1471–1492) ให้สืบราชบัลลังก์ต่อจากพระองค์ ภายใต้การปกครองของพระเจ้าธรรมเจดีย์ พะโคกลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าและศาสนาพุทธนิกายเถรวาท

ใน ค.ศ. 1519 อังตอนียู กูไรยา พ่อค้าในขณะนั้นจากนิคม casados ของโปรตุเกสที่โกจจิ ได้ขึ้นฝั่งที่พะโค เพื่อค้นหาตลาดใหม่สำหรับพริกไทยจากโกจจิ[8][9] หนึ่งปีต่อมา ดีโยกู ลอปึช ดึ ซึไกรา ผู้ว่าการรัฐโปรตุเกสอินเดีย ได้ส่งราชทูตมายังพะโค

เมืองหลวงราชวงศ์ตองอู

[แก้]
พระราชวังกัมโพชธานีที่สร้างใหม่

เมืองนี้ยังคงเป็นเมืองหลวงจนกระทั่งอาณาจักรล่มสลายใน ค.ศ. 1538 พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ แห่งราชวงศ์ตองอู ได้บุกโจมตีหลายครั้ง อาณาจักรฟื้นตัวขึ้นมาได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ เป็นเวลา 2 ปีในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1550 จนพระเจ้าบุเรงนอง ผู้สืบราชบัลลังก์ต่อจากพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ เข้าควบคุมเมืองพะโคอย่างมั่งคงใน ค.ศ. 1553[10]

ปลาย ค.ศ. 1553 พะโคได้เป็นเมืองหลวงใหม่โดยมีการสร้างพระราชวังใหม่ พระราชวังกัมโพชธานี และมีพิธีราชาภิเษกพระเจ้าบุเรงนองในเดือนมกราคม ค.ศ. 1554 ภายในทศวรรษหน้า พะโคค่อย ๆ กลายเป็นเมืองหลวงของดินแดนและท้ายที่สุดก็กลายเป็นอาณาจักรที่ใหญ่สุดในอินโดจีน การกบฏใน ค.ศ. 1565 โดยชาวไทใหญ่ที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพะโคได้ทำลายพื้นที่ส่วนใหญ่ของเมืองและบริเวณพระราชวัง หลังการกบฏโดยชาวไทใหญ่ ค.ศ. 1565 ก็ไม่มีการกบฏครั้งใหม่อีกเลยในสองปีข้างหน้า (ค.ศ. 1565–1567) เนื่องจากกบฏได้เผาทำลายพื้นที่ส่วนใหญ่ของเมืองหลวง รวมทั้งบริเวณพระราชวังทั้งหมด จึงมีการสร้างเมืองหลวงและพระราชวังขึ้นใหม่ เมืองหลวงใหม่มีประตู 20 ประตู แต่ละประตูตั้งชื่อตามแรงงานประเทศราชที่สร้างประตูนั้น[10] แต่ละประตูมี ปยะตะ ปิดทองสองชั้นรวมถึงประตูไม้ปิดทอง[11]

แผนผังเมืองหงสาวดี ค.ศ. 1568

พระราชวังกัมโพชธานีที่สร้างขึ้นใหม่เปิดอย่างเป็นทางการวันที่ 16 มีนาคม ค.ศ. 1568 ในมหาราชวงศ์ระบุว่าพระองค์ยังเลื่อนบรรดาศักดิ์แก่อดีตกษัตริย์สี่องค์ ได้แก่ โม่-บแยนะระปะติแห่งอังวะ, ซีตูจอทีนแห่งอังวะ, พระเมกุฏิสุทธิวงศ์แห่งล้านนา และสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งอยุธยา[11]

เนื่องจากเป็นเมืองท่าที่สำคัญ ชาวยุโรปจึงมักมาเยือนเมืองนี้ โดยในจำนวนนี้ได้แก่ กัสปาโร บัลบี และแรล์ฟ ฟิตช์ ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1500 ชาวยุโรปมักบรรยายถึงความยิ่งใหญ่ของเมือง พะโคยังได้สถาปนาความเชื่อมโยงทางทะเลกับจักรวรรดิออตโตมัน ใน ค.ศ. 1545[12]

เจ้าเมืองพะโครับทูต (คริสต์ศตวรรษที่ 17)

การยึดครองพะโคของโปรตุเกส หลังล่มสลายจากกษัตริย์แห่งตองอูและยะไข่ ใน ค.ศ. 1599 ได้รับการบรรยายโดยมานูแวล ดึ อาเบรว โมซีญู (Manuel de Abreu Mousinho) ว่า "เรื่องสั้นเล่าถึงการพิชิตพะโคในอินเดียตะวันออกโดยชาวโปรตุเกสสมัยของอุปราชไอรึช ดึ ซัลดาญา (Aires de Saldanha) กัปตันซัลวาโดร์ รีไบรู ดึ โซซา (Salvador Ribeiro de Sousa) หรือเรียกกันว่า งะซีนกา ได้รับเลือกให้เป็นกษัตริย์โดยชาวพื้นเมืองใน ค.ศ. 1600" จัดพิมพ์โดยฟือร์เนา เม็งดึช ปิงตูในคริสต์ศตวรรษที่ 18 การทำลายล้างเมืองใน ค.ศ. 1599 และอำนาจที่ล่มสลายของพระเจ้านันทบุเรง ผู้ที่สืบตำแหน่งต่อจากพระเจ้าบุเรงนอง ทำให้ราชวงศ์ตองอูย้ายเมืองหลวงไปยังอังวะ

เมืองหลวงถูกเมงเยสีหตู อุปราชแห่งตองอู ปล้น จากนั้นถูกอุปราชแห่งยะไข่เผาในช่วงสงครามพม่า–สยาม (ค.ศ. 1594–1605) พระเจ้าอะเนาะเพะลูนต้องการสร้างหงสาวดีให้รุ่งโรจน์อีกครั้ง ซึ่งถูกทิ้งร้างนับตั้งแต่พระเจ้านันทบุเรงละทิ้งไป อย่างไรก็ตามพระองค์สามารถสร้างพระราชวังชั่วคราวได้เท่านั้น[13]: 151–162, 191 

แผ่นจารึกรูปปีศาจซึ่งเป็นตัวแทนกองทัพมาร วัดชเวกูจี้ สร้างขึ้นโดยพระเจ้าธรรมเจดีย์ (ค.ศ. 1472–92) ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑ์บริติช[14]

การฟี้นเมืองหลวงของพม่าไปยังพะโคนั้นดำรงอยู่ได้ไม่นาน เนื่องจากพระเจ้าตาลูนกษัตริย์องค์ต่อมาได้ย้ายเมืองหลวงไปยังอังวะอีกครั้งใน ค.ศ. 1634 เพื่อมุ่งเน้นไปที่ศูนย์กลางอาณาจักรพม่าที่มีขนาดเล็กกว่า

การล่มสลายของราชวงศ์ตองอูและโก้นบอง

[แก้]

ใน ค.ศ. 1740 ชาวมอญได้ก่อกบฏและก่อตั้งอาณาจักรหงสาวดีใหม่ อย่างไรก็ตามพระเจ้าอลองพญา กษัตริย์ชาวพม่า ได้ยึดเมืองนี้ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1757

พระเจ้าปดุง (ค.ศ. 1782–1819) ทรงสร้างพะโคขึ้นใหม่ แต่เมื่อถึงเวลานั้นแม่น้ำได้เปลี่ยนทิศทาง ทำให้เมืองตัดขาดจากทะเลและไม่ได้รับความสำคัญดังเดิม หลังสงครามอังกฤษ–พม่าครั้งที่สอง อังกฤษได้ผนวกเมืองพะโคใน ค.ศ. 1852 มณฑลพม่าได้ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1862 และเมืองหลวงได้ย้ายไปยังย่างกุ้ง ความแตกต่างระหว่างการออกเสียงตามตัวเขียน (แปคู) กับการออกเสียงตามภาษาปาก (บะโก) ของชื่อเมือง เป็นเหตุให้ชื่อเมืองนี้เพี้ยนไปเป็น เพกู ในภาษาอังกฤษ

ค.ศ. 1911 พะโคได้รับการจัดให้เป็นส่วนหนึ่งของภาคพะโคในพม่าตอนล่าง ซึ่งรวมอยู่ในเขตย่างกุ้ง ซึ่งเมืองนี้แยกออกมาเป็นเขตใน ค.ศ. 1880 มีพื้นที่ 3,023 ตารางไมล์ (7,830 ตารางกิโลเมตร) มีประชากร 48,411 คนใน ค.ศ. 1901 เพิ่มขึ้น 22% ในทศวรรษที่ผ่านมา พะโคและฮีนตาดะ เป็นสองเขตที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในภูมิภาค[15]

พะโคที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1911 ประกอบด้วยที่ราบกว้างใหญ่แผ่ออกไปในทะเลระหว่างปากแม่น้ำอิรวดีกับทิวเขาพะโค ภูมิประเทศที่อยู่ระหว่างทิวเขาพะโคตะวันออกกับแม่น้ำย่างกุ้งมีแม่น้ำหลายสายตัดผ่าน บางสายสามารถล่องได้ด้วยเรือใหญ่หรือเรือกลไฟ สำนักงานใหญ่ของเขตอยู่ที่กรุงย่างกุ้ง ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ของแผนกย่อยด้วย แผนกย่อยแห่งที่สองมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่อี้นเซน เป็นที่ตั้งสำนักงานทางรถไฟขนาดใหญ่ การเพาะปลูกเกือบทั้งหมดจำกัดอยู่แค่ข้าว แต่ก็มีสวนผักและผลไม้ดาษดื่น[15]

พะโคได้รับความเสียหายรุนแรงระหว่างแผ่นดินไหวในเดือนพฤษภาคมและธันวาคม ค.ศ. 1930 แผ่นดินไหวในเดือนพฤษภาคมคร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 500 ราย และก่อให้เกิดสึนามิ[16]

ประวัติศาสตร์สมัยใหม่

[แก้]

ปัจจุบันพะโคเป็นหนึ่งในเขตปกครองภาคพะโค โดยภาคพะโคแบ่งออกเป็น 34 เขตปกครอง[17] ในวันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 2021 ระหว่างการประท้วงในประเทศพม่า ได้เกิดการสังหารหมู่ที่พะโค ซึ่งในระหว่างนั้นกองกำลังทหารสังหารพลเรือนอย่างน้อย 82 ราย หลังการปราบปรามการประท้วง[18]

สัญลักษณ์ของเมือง

[แก้]
เจดีย์ชเวมอดอ หนึ่งในสัญลักษณ์ของเมืองพะโค

สัญลักษณ์เป็นรูปหงส์คู่ มีตำนานของชาวมอญเล่าว่า พระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงเมืองหงสาวดีที่สมัยก่อนยังคงเป็นชายหาดริมทะเล พระพุทธเจ้าทรงเห็นหงส์สองตัวว่ายน้ำเล่นกัน จึงทำนายออกมาว่าภายหลังจะเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรือง ชาวมอญจึงถือเอาตำนานเรื่องนี้มาเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของเมือง นอกจากนี้ตำนานยังกล่าวว่าหงส์คู่นั้นตัวเมียขี่ตัวผู้ จึงมีคำทำนายว่าต่อไปผู้หญิงจะเป็นใหญ่ ซึ่งผู้หญิงคนนั้นคือ พระนางเชงสอบู กษัตรีย์ของชาวมอญนั่นเอง

อีกหนึ่งสัญลักษณ์ของหงสาวดี คือ เจดีย์ชเวมอดอ หรือที่คนไทยนิยมเรียกว่า พระธาตุมุเตา เป็นพระธาตุที่อยู่คู่กับเมืองมานาน เป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อว่าภายในได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าไว้ เล่ากันว่าเมื่อครั้งใดที่พระเจ้าบุเรงนองจะออกทำศึกจะทรงสักการะขอพรจากพระธาตุนี้ทุกครั้ง และเมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้เสด็จมายังที่หงสาวดีนี้ก็ได้ทำการสักการะพระธาตุนี้ด้วย

ปัจจุบัน พะโคเป็นเมืองที่ทำรายได้ให้แก่ประเทศพม่าด้วยความที่เป็นเมืองท่องเที่ยว มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม

ประชากร

[แก้]

การสำรวจสำมะโนประชากรของพม่า ค.ศ. 2014 พะโคมีประชากร 23,7619 คน คิดเป็น 48.35% ของประชากรทั้งหมดในอำเภอพะโค[17]

ใน ค.ศ. 2019 เมืองนี้มีประชากร 179,505 คน ตามการประมาณของกรมการปกครองพม่า 88.73% ของเมืองคือชาวพม่า และมีประชากรสำคัญคือชาวกะเหรี่ยง, มอญ, ปะหล่อง และพม่าเชื้อสายอินเดีย ผู้นับถือศาสนาพุทธ คิดเป็น 94.2% ของเมือง และศาสนาคริสต์มีประชากรมากเป็นอันดับสองที่ 4.2% มีอาราม 749 แห่ง สำนักแม่ชี 92 แห่ง และเจดีย์ขนาดต่าง ๆ 134 องค์ รวมถึงเจดีย์ที่สูงที่สุดในพม่า เจดีย์ชเวมอดอ เมืองนี้ยังมีโบสถ์ 9 แห่ง มัสยิด 6 แห่ง วัดฮินดู 16 แห่ง และวัดมหายานของจีน 3 แห่ง[1]

เศรษฐกิจและคมนาคม

[แก้]

อุตสาหกรรมหลักของเมืองพะโคคือการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมและการบริการ เมืองพะโคมีเขตอุตสาหกรรมที่มีโรงงานหลายแห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงงานสิ่งทอและรองเท้า โรงงานขนาดเล็กภายในเมืองยังสร้างผลิตภัณฑ์อาหาร, พลาสติก, เครื่องใช้ไฟฟ้า, เครื่องยนตร์, ผลิตภัณฑ์จากไม้, ชา และแฮลวอ พะโคยังมีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเล็ก ๆ ที่ได้รับความนิยม โดยมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากจากย่างกุ้งที่อยู่ใกล้เคียง คณะกรรมการพัฒนาพะโคบริหารจัดการตลาด 11 แห่งทั่วเมือง

ไม่มีสนามบินภายในเมืองและโดยส่วนใหญ่ใช้บริการจากท่าอากาศยานนานาชาติย่างกุ้ง มีการเสนอสร้างท่าอากาศยานนานาชาติหงสาวดี ซึ่งให้บริการในเขตย่างกุ้งและพะโค ตั้งอยู่ในอำเภอพะโค[19] มีทางรถไฟสองสายที่วิ่งผ่านพะโค คือสายย่างกุ้ง–มัณฑะเลย์ และ สายย่างกุ้ง–มอละมไยน์ พะโคยังมีสถานีขนส่งหลายแห่งในเขตชานเมือง ซึ่งมีรถโดยสารระหว่างเมืองให้บริการเป็นประจำ พะโคยังมีบริการทางด่วนย่างกุ้ง–มัณฑะเลย์ เช่นเดียวกับทางหลวงสายเก่าที่ไปยังตองอูและมะริด พะโคมีสะพานหลักเจ็ดแห่งที่ข้ามแม่น้ำพะโคทั้งในและรอบเมือง

ภูมิอากาศ

[แก้]

พะโคมีภูมิอากาศแบบมรสุมเขตร้อน (เคิพเพิน Am) คล้ายกับพื้นที่ชายฝั่งทะเลส่วนใหญ่ของประเทศพม่า โดยมีฤดูร้อนและฤดูแล้ง ตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายนถึงกลางเดือนเมษายน และร้อนชื้นมาก มีฝนตกชุกในฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม

ข้อมูลภูมิอากาศของพะโค (ค.ศ. 1991–2020)
เดือน ม.ค. ก.พ. มี.ค. เม.ย. พ.ค. มิ.ย. ก.ค. ส.ค. ก.ย. ต.ค. พ.ย. ธ.ค. ทั้งปี
อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย °C (°F) 31.7
(89.1)
34.0
(93.2)
36.3
(97.3)
37.9
(100.2)
34.6
(94.3)
30.9
(87.6)
30.1
(86.2)
30.0
(86)
31.1
(88)
32.6
(90.7)
32.7
(90.9)
31.5
(88.7)
32.8
(91)
อุณหภูมิเฉลี่ยแต่ละวัน °C (°F) 24.0
(75.2)
25.8
(78.4)
28.5
(83.3)
30.6
(87.1)
29.1
(84.4)
26.9
(80.4)
26.5
(79.7)
26.5
(79.7)
27.1
(80.8)
27.8
(82)
26.9
(80.4)
24.5
(76.1)
27
(81)
อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย °C (°F) 16.3
(61.3)
17.6
(63.7)
20.7
(69.3)
23.3
(73.9)
23.6
(74.5)
23.0
(73.4)
22.9
(73.2)
22.9
(73.2)
23.1
(73.6)
23.1
(73.6)
21.2
(70.2)
17.6
(63.7)
21.3
(70.3)
หยาดน้ำฟ้า มม (นิ้ว) 5.0
(0.197)
3.1
(0.122)
15.2
(0.598)
38.5
(1.516)
333.9
(13.146)
640.5
(25.217)
803.4
(31.63)
720.9
(28.382)
475.3
(18.713)
188.0
(7.402)
50.2
(1.976)
7.5
(0.295)
3,281.5
(129.193)
วันที่มีหยาดน้ำฟ้าโดยเฉลี่ย (≥ 1.0 mm) 0.8 0.3 1.1 2.2 15.2 26.3 28.3 28.0 22.7 12.4 3.2 0.5 140.8
แหล่งที่มา: World Meteorological Organization[20]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 Myanmar Information Management Unit (December 19, 2019). Bago Myone Daethasaingyarachatlatmya ပဲခူမြို့နယ် ဒေသဆိုင်ရာအချက်လက်များ [Bago Township Regional Information] (PDF) (Report). MIMU. สืบค้นเมื่อ February 7, 2024.
  2. 2.0 2.1 "ประกาศสำนักงานราชบัณฑิตยสภา เรื่อง กำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 139 (พิเศษ 205 ง). 1 กันยายน 2565.
  3. Burma Translation Society (1947). Myanma Swesone Kyan မြန်မာ့ စွယ်စုံကျမ်း [Burmese Encyclopedia]. Vol. 6. London: BStephen Austin & Sons.
  4. Aung-Thwin 2017, p. 332.
  5. 5.0 5.1 Sastri, K. A. Nilakanta (2000) [1935]. The Cōlas. Madras: University of Madras.
  6. Majumdar, R. C. (1937). Ancient Indian Colonies in the Far East. Vol. 2: Suvarnadvipa. Dacca: Ashok Kumar Majumdar. pp. 212–218.
  7. Chatterji, Bijan Raj (1939). "Jayavarman VII (1181-1201 A.D.) (The last of the great monarchs of Cambodia)". Proceedings of the Indian History Congress. 3: 377–385. JSTOR 44252387.
  8. Luís Filipe Tomás (1976). A viagem de António Correia a Pegu em 1519 (PDF) (ภาษาโปรตุเกส). Junta de Investigações do Ultramar.
  9. Malekandathil, Pius M C (2010-10-26), Origin and Growth of Luso-Indian Community in Portuguese Cochin and the maritime trade of India, 1500–6663 (PDF), Pondicherry University
  10. 10.0 10.1 Harvey, G. E. (1925). History of Burma: From the Earliest Times to 10 March 1824. London: Frank Cass & Co. Ltd. p. 153-157, 171.
  11. 11.0 11.1 Kala, U (1724). Maha Yazawin (ภาษาBurmese). Vol. 1–3 (2006, 4th printing ed.). Yangon: Ya-Pyei Publishing.{{cite book}}: CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  12. Casale, Giancarlo (2010). The Ottoman Age of Exploration. Oxford University Press. doi:10.1093/acprof:oso/9780195377828.001.0001. ISBN 978-0-19-537782-8.
  13. Prince Damrong Rajanubhab (2001). Our Wars with the Burmese. Bangkok: White Lotus. ISBN 974-7534-58-4.
  14. British Museum collection
  15. 15.0 15.1  ประโยคหรือส่วนของบทความก่อนหน้านี้ ประกอบด้วยข้อความจากสิ่งพิมพ์ซึ่งปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติChisholm, Hugh, บ.ก. (1911). "Hanthawaddy" . สารานุกรมบริตานิกา ค.ศ. 1911. Vol. 12 (11 ed.). สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์. p. 932.
  16. "On This Day: The 1930 Earthquake Which Flattened Bago". The Irrawaddy (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2019-05-05. สืบค้นเมื่อ 2020-10-14.
  17. 17.0 17.1 "Bago Township Report" (PDF). 2014 Myanmar Population and Housing Census. October 2017.
  18. "Myanmar coup: 'Dozens killed' in military crackdown in Bago". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2021-04-10. สืบค้นเมื่อ 2021-04-11.
  19. "Oversea Major Project". SUNJIN Engineering & Architecture. สืบค้นเมื่อ 23 June 2012.[ลิงก์เสีย]
  20. "World Meteorological Organization Climate Normals for 1991–2020". World Meteorological Organization. สืบค้นเมื่อ 16 October 2023.

บรรณานุกรม

[แก้]
  • Aung-Thwin, Michael A. (2005). The Mists of Rāmañña: The Legend that was Lower Burma (illustrated ed.). Honolulu: University of Hawai'i Press. ISBN 9780824828868.
  • Aung-Thwin, Michael A. (2017). Myanmar in the Fifteenth Century. Honolulu: University of Hawai'i Press. ISBN 978-0-8248-6783-6.
  • Nyein Maung, บ.ก. (1972–1998). Shay-haung Myanma Kyauksa-mya [Ancient Burmese Stone Inscriptions] (ภาษาพม่า). Vol. 1–5. Yangon: Archaeological Department.
  • Pan Hla, Nai (1968). Razadarit Ayedawbon (ภาษาพม่า) (8th printing, 2005 ed.). Yangon: Armanthit Sarpay.
  • Phayre, Major-General Sir Arthur P. (1873). "The History of Pegu". Journal of the Asiatic Society of Bengal. Calcutta. 42: 23–57, 120–159.
  • Phayre, Lt. Gen. Sir Arthur P. (1883). History of Burma (1967 ed.). London: Susil Gupta.
  • Schmidt, P.W. (1906). "Slapat des Ragawan der Königsgeschichte". Die äthiopischen Handschriften der K.K. Hofbibliothek zu Wien (ภาษาเยอรมัน). Vienna: Alfred Hölder. 151.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
ก่อนหน้า พะโค ถัดไป
โดนวู่น เมืองหลวงอาณาจักรหงสาวดี
(ค.ศ. 1369 – มกราคม ค.ศ. 1539)
สิ้นสุด
ตองอู อาณาจักรตองอู
(มกราคม ค.ศ. 1539 – 30 เมษายน ค.ศ. 1550)
อังวะ
พะโค เมืองหลวงอาณาจักรหงสาวดี
(มิถุนายน ค.ศ. 1550 – 12 มีนาคม ค.ศ. 1552)
สิ้นสุด
ตองอู อาณาจักรตองอู
(12 มีนาคม ค.ศ. 1552 – 19 ธันวาคม ค.ศ. 1599)
อังวะ
อังวะ อาณาจักรตองอู
(14 พฤษภาคม ค.ศ. 1613 – 25 มกราคม ค.ศ. 1635)
อังวะ
สถาปนา เมืองหลวงอาณาจักรหงสาวดีใหม่
(พฤศจิกายน ค.ศ. 1740 – 6 พฤษภาคม ค.ศ. 1757)
สิ้นสุด

17°20′N 96°29′E / 17.333°N 96.483°E / 17.333; 96.483