ข้ามไปเนื้อหา

อำเภอเทพสถิต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก อำเภอเทพสถิตย์)
อำเภอเทพสถิต
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันAmphoe Thep Sathit
สะพานรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือตัดข้ามถนนสุรนารายณ์
สะพานรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือตัดข้ามถนนสุรนารายณ์
คำขวัญ: 
ชมทุ่งดอกกระเจียว
เที่ยวป่าหินงาม ลือนามเทพสถิต
แผนที่จังหวัดชัยภูมิ เน้นอำเภอเทพสถิต
แผนที่จังหวัดชัยภูมิ เน้นอำเภอเทพสถิต
พิกัด: 15°23′30″N 101°27′0″E / 15.39167°N 101.45000°E / 15.39167; 101.45000
ประเทศ ไทย
จังหวัดชัยภูมิ
พื้นที่
 • ทั้งหมด875.6 ตร.กม. (338.1 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2564)
 • ทั้งหมด69,401 คน
 • ความหนาแน่น79.26 คน/ตร.กม. (205.3 คน/ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์ 36230
รหัสภูมิศาสตร์3609
ที่ตั้งที่ว่าการที่ว่าการอำเภอเทพสถิต หมู่ที่ 1
ถนนสุรนารายณ์ ตำบลวะตะแบก อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ 36230
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

เทพสถิต เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดชัยภูมิ โดยตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัด และเป็นที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติป่าหินงาม เป็นที่รู้จักดีในหมู่นักท่องเที่ยวว่าเป็นทุ่งดอกปทุมมา หรือ "ทุ่งดอกกระเจียว" ที่ใหญ่และสวยงามมากแห่งหนึ่ง และอำเภอเทพสถิตนับเป็น 1 ใน 4 อำเภอของจังหวัดชัยภูมิที่มีทางรถไฟผ่าน

หินช้างเอราวัณ

ที่ตั้งและอาณาเขต

[แก้]

อำเภอเทพสถิตมีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้

สะพานทางรถไฟสายแก่งคอย-บัวใหญ่ข้ามถนนสุรนารายณ์ในเขตอำเภอเทพสถิต
ทุ่งดอกปทุมมา
ดอกกระเจียว อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม

ประวัติ

[แก้]

อำเภอเทพสถิต เดิมเป็นท้องที่ของตำบลนายางกลัก อำเภอจัตุรัส และตำบลโคกเริงรมย์ อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ และต่อมาในปี พ.ศ. 2513 ทางราชการได้แยกพื้นที่หมู่ 7,9,11-16 ของตำบลโคกเริงรมย์ ตั้งขึ้นเป็น "ตำบลวะตะแบก"[1][2] และในปี พ.ศ. 2518 ราษฎรในพื้นที่ได้ยื่นเรื่องราวต่อราชการ ขอให้ตั้งกิ่งอำเภอขึ้นที่ตำบลวะตะแบก โดยกระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาเห็นว่าราษฎรทั้งสองตำบล ได้แก่ ตำบลนายางกลัก และตำบลวะตะแบก เป็นตำบลที่อยู่ไกลท้องที่ทุรกันดาร และห่างไกลจากตัวอำเภอบำเหน็จณรงค์ เจ้าหน้าที่มีโอกาสตรวจเยี่ยมเยือนดูแลทุกข์สุขของราษฎรน้อยมาก เพราะทางคมนาคมไม่สะดวก ซึ่งอาจเป็นการเสียหายในด้านการปกครอง ประกอบกับหมู่บ้านดังกล่าวมีโอกาสที่จะเจริญในอนาคต เพราะราษฎรอาศัยอยู่กันหนาแน่นมาก และมีพื้นที่ทำมาหากินได้ โดยเฉพาะมีทรัพยากรทางธรรมชาติ พอที่จะยกระดับการครองชีพของราษฎรทั้งสองตำบลดังกล่าวนี้ให้ดียิ่งขึ้น จึงแนะนำประชุมชี้แจงร่วมกับทางอำเภอบำเหน็จณรงค์ รายงานต่อกระทรวงมหาดไทย ขอจัดตั้งที่ว่าการกิ่งอำเภอที่ตำบลวะตะแบก และในวันที่ 1 สิงหาคม 2519 ทางราชการเห็นว่าท้องที่ตำบลวะตะแบกมีพื้นที่กว้างขวาง จึงให้แยกพื้นที่หมู่ 2-6,13-14 ของตำบลวะตะแบก เพื่อจัดตั้งเป็นตำบลเพิ่ม ตั้งขึ้นเป็น "ตำบลห้วยยายจิ๋ว"[3] ก่อนการเตรียมจัดตั้งกิ่งอำเภอในพื้นที่ขึ้น

ต่อมาเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2519 ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยให้แยกตำบลวะตะแบก ตำบลนายางกลัก และตำบลห้วยยายจิ๋ว ออกจากการปกครองของอำเภอบำเหน็จณรงค์ รวมตั้งเป็น กิ่งอำเภอเทพสถิต[4] โดยที่ตั้งที่ว่าการอำเภอชื่อ บ้านวะตะแบก สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เต็มไปด้วยภูเขา มีคนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในป่าลึกบนยอดเขาสูง เรียกว่า “ชาวบน” หรือ “ชาวดง” หรือ “ญัฮกรู”  ซึ่งเป็นชนเผ่ามอญโบราณมีภาษาพูดเป็นของตนเองแต่ไม่มีภาษาเขียน เนื่องจากบริเวณนี้อุดมไปด้วยไม้มีค่าหลายชนิดและสัตว์ป่ามากมายหลายชนิด ทำให้ประชาชนในชุมชนจึงพร้อมใจเปลี่ยนชื่อจาก "วะตะแบก" เป็น "เทพสถิต" อันหมายถึงที่อยู่อาศัยของเทวดาและเทพธิดาทั้งหลาย และในวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2520 มีประกาศกระทรวงมหาดไทยให้แยกบางหมู่บ้านออกมาจากการปกครองของตำบลนายางกลัก รวมตั้งเป็นตำบลบ้านไร่[5] จนกระทั่งเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2526 จึงมีพระราชกฤษฎีกาฯ ยกฐานะขึ้นเป็น อำเภอเทพสถิต[6] จนถึงปัจจุบัน

  • วันที่ 22 มีนาคม 2467 โอนพื้นที่ตำบลนายางกลัก อำเภอจัตุรัส มาขึ้นกับกิ่งอำเภอบ้านชวน อำเภอจัตุรัส[7]
  • วันที่ 17 เมษายน 2482 เปลี่ยนแปลงชื่อกิ่งอำเภอบ้านชวน อำเภอจัตุรัส เป็น กิ่งอำเภอบำเหน็จณรงค์ อำเภอจัตุรัส[8]
  • วันที่ 5 มิถุนายน 2499 ยกฐานะจากกิ่งอำเภอบำเหน็จณรงค์ อำเภอจัตุรัส เป็น อำเภอบำเหน็จณรงค์[9]
  • วันที่ 17 ธันวาคม 2500 ตั้งตำบลโคกเริงรมย์ แยกออกจากตำบลบ้านเพชร[10]
  • วันที่ 1 กันยายน 2513 ตั้งตำบลวะตะแบก แยกออกจากตำบลโคกเริงรมย์[1][2]
  • วันที่ 22 พฤษภาคม 2517 จัดตั้งสภาตำบลวะตะแบก[11]
  • วันที่ 1 สิงหาคม 2519 ตั้งตำบลห้วยยายจิ๋ว แยกออกจากตำบลวะตะแบก[3] และจัดตั้งสภาตำบลห้วยยายจิ๋ว
  • วันที่ 9 พฤศจิกายน 2519 แยกพื้นที่ตำบลวะตะแบก ตำบลนายางกลัก และตำบลห้วยยายจิ๋ว จากอำเภอบำเหน็จณรงค์ ไปตั้งเป็น กิ่งอำเภอเทพสถิต[4] และกำหนดให้ขึ้นการปกครองกับอำเภอบำเหน็จณรงค์
  • วันที่ 5 กรกฎาคม 2520 ตั้งตำบลบ้านไร่ แยกออกจากตำบลนายางกลัก[5] และจัดตั้งสภาตำบลบ้านไร่
  • วันที่ 31 มีนาคม 2526 ยกฐานะจากกิ่งอำเภอเทพสถิต อำเภอบำเหน็จณรงค์ เป็น อำเภอเทพสถิต[6]
  • วันที่ 11 ธันวาคม 2529 ตั้งตำบลโป่งนก แยกออกจากตำบลนายางกลัก[12] และจัดตั้งสภาตำบลโป่งนก
  • วันที่ 11 มิถุนายน 2530 จัดตั้งสุขาภิบาลเทพสถิต ในท้องที่หมู่ 1 และ 2 ของตำบลวะตะแบก[13]
  • วันที่ 30 มกราคม 2539 ยกฐานะจากสภาตำบลวะตะแบก (เฉพาะนอกเขตสุขาภิบาลเทพสถิต) สภาตำบลนายางกลัก สภาตำบลห้วยยายจิ๋ว สภาตำบลบ้านไร่ และสภาตำบลโป่งนก เป็นองค์การบริหารส่วนตำบลวะตะแบก องค์การบริหารส่วนตำบลนายางกลัก องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยยายจิ๋ว องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านไร่ และองค์การบริหารส่วนตำบลโป่งนก[14] ตามลำดับ
  • วันที่ 25 พฤษภาคม 2542 ยกฐานะจากสุขาภิบาลเทพสถิต เป็นเทศบาลตำบลเทพสถิต[15] ด้วยผลของกฎหมาย

การแบ่งเขตการปกครอง

[แก้]

การปกครองส่วนภูมิภาค

[แก้]

อำเภอเทพสถิตแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 5 ตำบล 92 หมู่บ้าน ได้แก่

1. วะตะแบก (Wa Tabaek) 22 หมู่บ้าน
2. ห้วยยายจิ๋ว (Huai Yai Chio) 22 หมู่บ้าน
3. นายางกลัก (Na Yang Klak) 17 หมู่บ้าน
4. บ้านไร่ (Ban Rai) 16 หมู่บ้าน
5. โป่งนก (Pong Nok) 15 หมู่บ้าน

การปกครองส่วนท้องถิ่น

[แก้]

ท้องที่อำเภอเทพสถิตประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 6 แห่ง ได้แก่

  • เทศบาลตำบลเทพสถิต ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลวะตะแบก
  • องค์การบริหารส่วนตำบลวะตะแบก ครอบคลุมพื้นที่ตำบลวะตะแบก (นอกเขตเทศบาลตำบลเทพสถิต)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยยายจิ๋ว ครอบคลุมพื้นที่ตำบลห้วยยายจิ๋วทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลนายางกลัก ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนายางกลักทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านไร่ทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลโป่งนก ครอบคลุมพื้นที่ตำบลโป่งนกทั้งตำบล
ทางเดินในอุทยานแห่งชาติป่าหินงาม

การศึกษา

[แก้]

โรงเรียนระดับมัธยมศึกษา 4 แห่ง

  • โรงเรียนเทพสถิตวิทยา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาชัยภูมิ
  • โรงเรียนนายางกลักพิทยาคม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาชัยภูมิ
  • โรงเรียนโป่งนกประชาสามัคคี สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ
  • โรงเรียนตรีประชาพัฒนาศึกษา สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ
ผาสุดแผ่นดิน ในอุทยานแห่งชาติป่าหินงาม
ป่าภายในอุทยานแห่งชาติป่าหินงาม

สถานที่ท่องเที่ยว

[แก้]
  • อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม ตั้งอยู่ในท้องที่ของตำบลโป่งนก ตำบลนายางกลัก ตำบลบ้านไร่ ตำบลวะตะแบก อำเภอเทพสถิต และบางส่วนของตำบลซับใหญ่ อำเภอซับใหญ่ จังหวัดชัยภูมิ เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 105 ของประเทศไทย เนื้อที่ประมาณ 62,437.50 ไร่ หรือ 99.9 ตารางกิโลเมตร ได้รับการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2550[16] อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม เป็นที่รู้จักดีในหมู่นักท่องเที่ยวว่าเป็นทุ่งดอกปทุมมา (Curcuma alismatifolia) ที่ใหญ่และสวยงามมากแห่งหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีลานหินงาม ซึ่งมีหินรูปร่างแปลกตามากมาย เกิดจากการกัดเซาะของหินทรายเป็นเวลานับพันปี และยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญภายในอุทยาน คือ เขาพนมโดม น้ำตกเทพประทาน น้ำตกเทพนา น้ำตกเทพทองคำ จุดชมทิวทัศน์สุดแผ่นดิน ผาก่อ-รัก ลานหินหน่อ
  • หมู่บ้านดิน ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลบ้านไร่ เป็นแนวคิดที่ชาวบ้านรวมตัวกันขอเงินทุนจากภาครัฐเพื่อสร้างขึ้นมา บ้านดินของที่นี่จะตั้งเรียงรายกันบนไร่เล็ก ๆ ของชาวบ้าน อากาศโปร่งโล่งสบาย บรรยากาศดี ในช่วงปี พ.ศ. 2555 ที่ผ่านมา ทางทีมงานบ้านดินไทยได้ รับการประสานงานจากหมู่บ้าน (บ้านใหม่ไทยเจริญ) ซึ่งตั้งอยู่บนเขาในอำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ ว่าต้องการสร้างบ้านดินเพื่อใช้เป็นศูนย์ประสานงานของชุมชน เนื่องจากกรรมการหมู่บ้านเป็นชุดใหม่ และยังไม่มีที่ทำการหมู่บ้าน
  • เทพสถิต วินด์ฟาร์ม เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน โรงไฟฟ้ากังหันลมขนาดกำลังการผลิต 90 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านไร่ อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งจากการสำรวจของโปร เวนทุมพบว่า พื้นที่ดังกล่าวมีความเร็วลมเฉลี่ยที่ 6.5 ไมล์ต่อวินาที ซึ่งเป็นความเร็วลมที่มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้า ทั้งยังมีลมพัดตลอดทั้งปี โดยคาดว่าจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้สูงสุด 212,000 เมกะวัตต์ชั่วโมง (MWh) และยังมีแผนพัฒนาทุ่งกังหันลมให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของจังหวัดชัยภูมิอีกด้วย
  • วัดเขาประตูชุมพล ตั้งอยู่ในอำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ตั้งอยู่ก่อนถึงทางขึ้นอุทยานฯ ป่าหินงามประมาณ 500 เมตรเป็นวัดที่ตั้งอยู่ท่ามกลางป่าไม้เบญจพรรณนานาชนิด มีความเป็นธรรมชาติสวยงามภายในบริเวณวัดมีศาลาปฏิบัติธรรมตั้งตระหง่าน สิ่งที่โดดเด่นภายในวัดคือ ซุ้มประตูหินธรรมชาติ ชื่อว่า “ซุ้มประตูชุมพล” มีความมเชื่อกันว่าเมื่อไปถึงแล้วให้อธิฐานขอพรพระแล้วเดินรอดซุ้มประตูชุมพล เพื่อเป็นสิริมงคลให้กับตัวเองทำกิจการงานใดๆ ก็จะประสบแต่ความสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี มีลานหินที่มีโขดหินน้อยใหญ่มากมายบรรยากาศภายในวัดยังคงเป็นแบบวัดป่า คงความเป็นธรรมชาติร่มรื่นด้วยแมกไม้นานาพันธ์เหมาะสำหรับการไปปฏิบัติธรรม พักผ่อนหย่อนใจหรือเดินเล่นเพื่อสงบจิต
  • น้ำตกเทพสถิต ตั้งอยู่หมู่บ้านซับไทร หมู่ที่ 15 ตำบลวะตะแบก อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ฤดูกาลท่องเที่ยวคือช่วงเดือนมิถุนายน - เดือนกันยายนของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝน มีจุดชมวิว และสถานที่นั่งพักผ่อนหย่อนใจหลายจุด
มุมมองจากอำเภอเทพสถิต (เบื้องล่างคือจังหวัดลพบุรี)

การคมนาคม

[แก้]

มีถนนสายหลัก คือ ถนนสุรนารายณ์ (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 205) เริ่มจากอำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ไปยังจังหวัดนครราชสีมา และมีทางรถไฟสายหลักสายชุมทางแก่งคอย - ชุมทางบัวใหญ่ตัดผ่านพื้นที่ โดยอำเภอเทพสถิตมีสถานีรถไฟทั้งหมด 3 สถานี ได้แก่

  • สถานีรถไฟช่องสำราญ ตั้งอยู่ที่บ้านช่องสำราญ ตำบลวะตะแบก อำเภอเทพสถิต เป็นสถานีรถไฟชั้น 3 ตั้งอยู่บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 250.64 (จากสถานีรถไฟกรุงเทพ) ใช้ระบบอาณัติสัญญาณรถไฟแบบสัญญาณหางปลา (Semaphore Signals) ซึ่งมีเสาครบถ้วน แลใช้ระบบบังคับประแจแบบสายลวด ตัวย่อสถานี คือ อช.
  • สถานีรถไฟบ้านวะตะแบก (เทพสถิต) ตั้งอยู่ที่บ้านห้วยเกตุ ตำบลวะตะแบก อำเภอเทพสถิต เป็นสถานีรถไฟชั้น 2 ตั้งอยู่บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 263.14 (จากสถานีรถไฟกรุงเทพ) ใช้ระบบอาณัติสัญญาณรถไฟแบบสัญญาณหางปลา (Semaphore Signals) ซึ่งมีเสาครบถ้วน แลใช้ระบบบังคับประแจแบบสายลวด ตัวย่อสถานี คือ แบ.
  • สถานีรถไฟห้วยยายจิ๋ว ตั้งอยู่ที่บ้านห้วยยายจิ๋ว ตำบลห้วยยายจิ๋ว อำเภอเทพสถิต เป็นสถานีรถไฟชั้น 3 ตั้งอยู่บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 273.13 (จากสถานีรถไฟกรุงเทพ) ใช้ระบบอาณัติสัญญาณรถไฟแบบสัญญาณหางปลา (Semaphore Signals) ซึ่งมีเสาครบถ้วน แลใช้ระบบบังคับประแจแบบสายลวด ตัวย่อสถานี คือ จย.

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ อำเภอคอนสาน อำเภอเกษตรสมบูรณ์ อำเภอจัตุรัส และอำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 87 (83 ง): 2430–2445. September 1, 1970.
  2. 2.0 2.1 "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แก้ไขประกาศตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ อำเภอคอนสาน อำเภอเกษตรสมบูรณ์ อำเภอจัตุรัส และอำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 87 (111 ง): 3375–3376. December 1, 1970.
  3. 3.0 3.1 "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 93 (101 ง): 2013–2015. August 1, 1976.
  4. 4.0 4.1 "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แบ่งท้องที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ ตั้งเป็นกิ่งอำเภอเทพสถิต" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 93 (141 ง): 3227. November 9, 1976. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-04-06. สืบค้นเมื่อ 2021-10-24.
  5. 5.0 5.1 "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่กิ่งอำเภอเทพสถิต อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 94 (60 ง): 2721–2723. July 5, 1977.
  6. 6.0 6.1 "พระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอเทพสถิต อำเภอวังน้ำเย็น อำเภอเนินมะปราง อำเภอสวนผึ้ง และอำเภอเสนางคนิคม พ.ศ. ๒๕๒๖" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 100 (50 ก): (ฉบับพิเศษ) 10-12. March 31, 1983. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-07-18. สืบค้นเมื่อ 2021-10-24.
  7. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2467/A/348.PDF
  8. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-02-19. สืบค้นเมื่อ 2022-04-28.
  9. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-10-11. สืบค้นเมื่อ 2022-04-28.
  10. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2500/D/107/2901.PDF
  11. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจัดตั้งสภาตำบลตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๒๖ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๕" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 91 (87 ง): (ฉบับพิเศษ) 1-45. May 22, 1974.
  12. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 103 (218 ง): 6059–6064. December 11, 1986.
  13. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งสุขาภิบาลเทพสถิต อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 104 (110 ง): 3966–3968. June 11, 1987.
  14. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 113 (9 ง): 5–219. January 30, 1996. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-01-25. สืบค้นเมื่อ 2021-10-24.
  15. "พระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ. ๒๕๔๒" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 116 (9 ก): 1–4. February 24, 1999. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-04-09. สืบค้นเมื่อ 2021-10-24.
  16. "พระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่านายางกลัก ในท้องที่ตำบลโป่งนก ตำบลนายางกลัก ตำบลบ้านไร่ ตำบลวะตะแบก อำเภอเทพสถิต และตำบลซับใหญ่ กิ่งอำเภอซับใหญ่ อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 124 (26 ก): 26–27. June 6, 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-05-16. สืบค้นเมื่อ 2021-10-24.