อำเภอเทพสถิต
อำเภอเทพสถิต | |
---|---|
![]() | |
คำขวัญ: ชมทุ่งดอกกระเจียว เที่ยวป่าหินงาม ลือนามเทพสถิต | |
พิกัดภูมิศาสตร์: 15°23′30″N 101°27′0″E / 15.39167°N 101.45000°E | |
อักษรไทย | อำเภอเทพสถิต |
อักษรโรมัน | Amphoe Thep Sathit |
จังหวัด | ชัยภูมิ |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 875.6 ตร.กม. (338.1 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2562) | |
• ทั้งหมด | 70,497 คน |
• ความหนาแน่น | 80.51 คน/ตร.กม. (208.5 คน/ตร.ไมล์) |
รหัสไปรษณีย์ | 36230 |
รหัสภูมิศาสตร์ | 3609 |
ที่ตั้ง ที่ว่าการ | ที่ว่าการอำเภอเทพสถิต หมู่ที่ 1 ถนนสุรนารายณ์ ตำบลวะตะแบก อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ 36230 |
![]() |
อำเภอเทพสถิต เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดชัยภูมิ โดยตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัด และเป็นที่ตั้งของลานหินรูปทรงแม่ไก่และทุ่งดอกปทุมมาอันมีชื่อเสียงในอุทยานแห่งชาติป่าหินงาม เทพสถิตนับเป็น 1 ใน 4 อำเภอของจังหวัดชัยภูมิที่มีทางรถไฟผ่าน
ที่ตั้งและอาณาเขต[แก้]
อำเภอเทพสถิตตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอภักดีชุมพลและอำเภอหนองบัวระเหว
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอหนองบัวระเหว อำเภอซับใหญ่ และอำเภอบำเหน็จณรงค์
- ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอเทพารักษ์ (จังหวัดนครราชสีมา)
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอลำสนธิ (จังหวัดลพบุรี)และ อำเภอวิเชียรบุรี (จังหวัดเพชรบูรณ์)
ประวัติ[แก้]
- ยุคก่อนประวัติศาสตร์
จากหลักฐานการสืบค้นพบพื้นที่บริเวณอำเภอเทพสถิตปัจุบันมีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ หรืออายุมากกว่า 3,500 ปี ที่แหล่งขุดค้นทางโบราณคดีบ้านโป่งนก อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ จากการขุดค้น พบเครื่องมือเหล็ก กำไลและห่วงสำริด
- ยุคสมัยลพบุรีและอารยธรรมขอม (พุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๘)
มีการใช้เป็นเส้นทางระหว่างเมืองพระนคร ศรีเทพ และสุโขทัย โดยผ่านช่องทางบริเวณบ้านช่องสำราญปัจจุบัน ในการเดินทางติดต่อระหว่างกัน และเส้นทางนี้ยังใช้เป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างภาคกลางและภาคอิสานมาจนถึงปัจจุบัน
- ยุคสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ท้องที่อำเภอเทพสถิตเดิมเป็นพื้นที่ในเขตการปกครองของอำเภอจัตุรัส ต่อมาอำเภอบำเหน็จณรงค์แยกพื้นที่การปกครองออกจากอำเภอจัตุรัส อำเภอเทพสถิตจึงอยู่ในเขตปกครองของอำเภอบำเหน็จณรงค์ เดิมเป็นชุมชนเล็ก ๆ ในเขตอำเภอบำเหน็จณรงค์ มีชนพื้นเมืองเดิมอาศัยอยู่ในป่าลึกบนยอดเขาสูง คือ ชาวญัฮกุร คนทั่วไปนิยมเรียกว่า ชาวบนหรือชาวดง เป็นชนเผ่ามอญโบราณ มีภาษาพูด ประเพณีวัฒนธรรม และการแต่งกายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ต่อมาประชาชนจากแหล่งต่าง ๆ ได้เข้ามาอาศัยทำกินเป็นจำนวนมากจนกลายเป็นชุมชนใหญ่ จึงเปลี่ยนเป็นเทพสถิต ต่อมาได้มีการแยกออกเป็น กิ่งอำเภอเทพสถิต เมื่อปี พ.ศ. 2519 จนกระทั่งได้รับการยกฐานะเป็น อำเภอเทพสถิต เมื่อปี พ.ศ. 2526
การแบ่งเขตการปกครอง[แก้]
การปกครองส่วนภูมิภาค[แก้]
อำเภอเทพสถิตแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 5 ตำบล 92 หมู่บ้าน ได้แก่
1. | วะตะแบก | (Wa Tabaek) | 22 หมู่บ้าน | |||||||
2. | ห้วยยายจิ๋ว | (Huai Yai Chio) | 22 หมู่บ้าน | |||||||
3. | นายางกลัก | (Na Yang Klak) | 17 หมู่บ้าน | |||||||
4. | บ้านไร่ | (Ban Rai) | 16 หมู่บ้าน | |||||||
5. | โป่งนก | (Pong Nok) | 15 หมู่บ้าน |
การปกครองส่วนท้องถิ่น[แก้]
ท้องที่อำเภอเทพสถิตประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 6 แห่ง ได้แก่
- เทศบาลตำบลเทพสถิต ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลวะตะแบก
- องค์การบริหารส่วนตำบลวะตะแบก ครอบคลุมพื้นที่ตำบลวะตะแบก (นอกเขตเทศบาลตำบลเทพสถิต)
- องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยยายจิ๋ว ครอบคลุมพื้นที่ตำบลห้วยยายจิ๋วทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลนายางกลัก ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนายางกลักทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านไร่ทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลโป่งนก ครอบคลุมพื้นที่ตำบลโป่งนกทั้งตำบล
สภาพภูมิศาสตร์[แก้]
พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ลุ่มราบเชิงเขาและที่สูง
การศึกษา[แก้]
โรงเรียนระดับมัธยมศึกษา 4 แห่ง
- โรงเรียนเทพสถิตวิทยา สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา จังหวัดชัยภูมิ เขต 30
- โรงเรียนนายางกลักพิทยาคม สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา จังหวัดชัยภูมิ เขต 30
- โรงเรียนโป่งนกประชาสามัคคี สังกัด องค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ
- โรงเรียนตรีประชาพัฒนาศึกษาสังกัด องค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ
เศรษฐกิจ[แก้]
ประชากรส่วนใหญ่ร้อยละ 90 ประกอบอาชีพเกษตรกร พืชส่วนใหญ่ที่สำคัญได้แก่ มันสำปะหลัง ข้าวโพด อ้อย พริก ฯลฯ มีธนาคาร 4 แห่ง คือ ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารออมสิน, ธกส. สาขาเทพสถิต และ ธกส. สาขาย่อยนายางกลัก
สถานที่ท่องเที่ยว[แก้]
- อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม
- เขาพนมโดม
- น้ำตกเทพประทาน
- น้ำตกเทพนา
- น้ำตกเทพทองคำ
- หมู่บ้านดิน
- เทพสถิต วินด์ฟาร์ม (โรงไฟฟ้าพลังงานลมที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน)
- เขื่อนลำคันฉู
- วัดเขาประตูชุมพล
การคมนาคม[แก้]
มีถนนสายหลัก คือ ถนนสุรนารายณ์ (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 205) เริ่มจากอำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ไปยังจังหวัดนครราชสีมา และมีทางรถไฟสายหลักสายแก่งคอย-บัวใหญ่ตัดผ่านพื้นที่
|