ข้ามไปเนื้อหา

วนบรรพ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

วนบรรพ (อักษรโรมัน: Vana Parva) แปลว่า "บรรพแห่งป่า" (เรียก "อรัณยกะบรรพ" หรือ "อรัณยบรรพ" ก็มี) เป็นหนังสือบรรพที่ 3 ของ มหาภารตะ มีบรรพย่อยทั้งหมด 21 บรรพ รวมทั้งหมด 324 ตอน[1][2] มีเนื้อเรื่องต่อจาก สภาบรรพ ว่าด้วยเรื่องการเดินป่าของเหล่าปาณฑพในช่วง 12 ปีแห่งการเนรเทศ[3]บรรพนี้มีเนื้อหาต่อเนื่องมาจาก อา สภาบรรพ ส่วนบรรพต่อไปจากนี้คือ วิราฏบรรพ

เนื้อเรื่อง และบรรพย่อย

[แก้]

ในบรรพนี้ประกอบไปด้วย 21 บรพย่อย รวมทั้งสิ้น 324 ตอน[4][2][5]

เรื่องราวในบรรพนี้เล่าถึงเหตุการณ์หลังจากพี่น้องปาณฑพแพ้พนันสกาต่อพวกเการพ พวกปาณฑพต้องลี้ภัยไปอยู่ท่ามกลางความเสียใจของประชาชนที่นิยมชื่นชอบในราชวงศ์ปาณฑพ ในระหว่างที่กำลังจะเดินทางไปลี้ภัยในป่า ท้าววิฑูรพยายามอย่างหนักให้ท้าวธฤตราษฎร์ยกเลิกข้อตกลงดังกล่าวและให้เรียกตัวกลับมาแต่ไม่เป็นผล[ต้องการอ้างอิง]

เมื่อพวกปาณฑพไปอาศัยอยู่ในป่ามีพรรคพวกไปเยี่ยมกันไม่ขาด โดยเฉพาะพระกฤษณะเอง ก็ไปเยี่ยมพวกปาณฑพถึงในป่าด้วย พร้อมกับกระตุ้นปลุกใจให้พวกปาณฑพทำสงครามเพื่อยุติข้อขัดแย้งกับพวกเการพ ข้อเสนอของกฤษณะได้รับการสนับสนุนจากพระนางเทราปตีและภีมะ แต่ยุธิษฐิระปฏิเสธและยืนยันขอทำตามสัญญาที่ให้เอาไว

้ส่วนอรชุนซึ่งต้องลี้ภัยเพราะละเมิดข้อตกลงใช้เวลาอยู่ในสวรรค์เป็นเวลานานถึงห้าปี เพื่อสะสมอาวุธวิเศษ ในขณะที่พวกพี่น้องปาณฑพที่เหลือและพระนางเทราปตีต้องอาศัยอยู่ในป่าด้วยความยากลำบาก วันหนึ่งมีฤๅษีชื่อ "ฤๅษีพฤหัสทัศวะ" ได้มาเยี่ยมและได้ถือโอกาสเล่าเรื่อง "พระนลกับพระนางทมยันตี" ให้ฟัง เพื่อเป็นอุทาหรณ์สอนใจให้อดทนต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

ตำนานความรักระหว่างพระนลกับทมยันตีนั้นเป็นเรื่องราวของความรัก ซึ่งพระนลต้องได้รับความยากลำบากเพราะมีนิสัยชอบเล่นการพนันทอดสกาเหมือนกับยุธิษฐิระ โดยมีนางทมยันตีคอยให้ความช่วยเหลือเป็นกำลังใจและอดทนก่อนที่เรื่องจะจบลงด้วยดีในตอนท้าย[ต้องการอ้างอิง]

ในระหว่างที่อยู่ในป่า พวกปาณฑพได้มีโอกาสไปเยี่ยมสถานที่อันเคยเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในอีตเป็นจำนวนมาก และมีโอกาสได้ฟังเรื่องราวในอดีตจากบรรดาผู้บำเพ็ญพรตในป่าหลายต่อหลายเรื่อง รวมทั้งที่ต้องเผชิญกับการคุกคามของพวกอสูรในป่าหลายต่อหลายครั้ง แต่ภีมะก็อาศัยพละกำลังแก้ไขสถานการณ์ได้เสมอ

ทางด้านอรชุนเมื่อจบการเดินทางอันยาวนานก็เดินทางกลับมาสมทบกับพี่น้องปาณฑพอีกครั้งหนึ่ง หลังจากได้อาวุธวิเศษไว้ในครอบครองเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้พวกปาณฑพยังได้มีโอกาสไปพำนักในสวนของท้าวกุเวรเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนานถึงสี่ปีเต็ม ก่อนจะเดินทางกลับมาพำนักอยู่ในป่าแต่เดิมที่เคยอาศัยอยู่ และที่นั่นพวกปาณฑพยังได้ฟังเรื่องราวตำนานในอดีตที่มีคติสอนใจในเรื่องต่าง ๆ จากพวกฤๅษีนักพรต ซึ่งแต่ละคนก็มีความกระตือรือร้นที่จะสอนพวกปาณฑพ

การใช้ชีวิตในป่าสำหรับพวกปาณฑพก็ไม่ต่างจากการได้ฝึกอบรมบ่มเพาะจิตใจของตัวเอง พร้อมกับได้เรียนรู้เรื่องที่จำเป็นที่จะทำหน้าที่เป็นผู้นำที่ดีในอนาคตไปพร้อม ๆ กันด้วย ถือว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการเตรียมความพร้อมที่สำคัญมากสำหรับพวกปาณฑพ[ต้องการอ้างอิง]

ส่วนทุรโยธน์เอง แม้จะรู้ดีว่าช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาแห่งการลี้ภัยของพวกพี่น้องปาณฑพ แต่ทุรโยธน์ก็อยากจะทำอะไรเพื่อเป็นการสร้างความเจ็บช้ำเพิ่มเติมให้พวกปาณฑพอีก จึงเดินทางมายังป่าดังกล่าว แต่ว่าถูกพวกคนธรรพ์จับตัวไปได้และกลายเป็นว่าพวกพี่น้องปาณฑพต้องมาช่วยให้พ้นภัยไปในแบบที่ทุรโยธน์ไม่เต็มอกเต็มใจนัก ในขณะที่กรรณะเองได้ลงมือลงแรงอย่างหนักเพื่อสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับทุรโยธน์ และถึงจุดจุดหนึ่งก็พร้อมใจกันสถาปนาทุรโยธน์ให้เป็นจักรพรรดิเหนือพระราชาแว่นแคว้นอื่นได้เป็นผลสำเร็จบ

ในช่วงเวลา 12 ปีของการอยู่ในป่าของพวกปาณฑพและพระนางเทราปตี จะมีเรื่องเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว และครั้งหนึ่งท้าวชยัทรัถพระราชาแห่งแคว้นสินธุได้มาลักพาตัวพระนางเทราปตีไป เดือดร้อนให้พวกปาณฑพต้องไปช่วยเหลือนำตัวกลับคืนมา ไม่ต่างจากตำนานของพระรามกับนางสีดาในมหากาพย์รามารณะเลย พร้อมกันนั้นฤๅษีที่อาศัยร่วมกันในป่ายังได้เล่าถึงตำนานของ "พระนางสาวิตรี" ซึ่งมีความมั่นคงในความรักต่อสามีคือ "ท้าวสัตยถาวร" ถึงขั้นสามารถดึงรั้งชีวิตของท้าวสัตยวารกลับจากเงื้อมมือของพญายมได้เป็นผลสำเร็จ

ในระหว่างที่อยู่ในป่า ยุธิษฐิระได้แสดงความวิตกกังวลถึงความร้ายกาจของกรรณะเพราะรู้ว่ากรรณะได้รับของประทานจากพระผู้เป็นเจ้า ว่าไม่มีใครสามารถทำลายชีวิตได้ ทำให้พระอินทร์ซึ่งได้รับคำแนะนำจากพราหมณ์ต้องดำเนินการแก้ไขปัญหานี้ โดยปลอมตัวไปขอเสื้อเกราะและกุณฑลที่เป็นอุปกรณ์รักษาชีวิตจากกรรณะ โดยยอมแลกกับหอกวิเศษที่สามารถใช้ได้ตามใจปรารถนาเพียงครั้งเดียวเพื่อทำลายศัตรูที่เป็นใครก็ได้

เรื่องราวที่เกิดขึ้นในระหว่างอยู่ในป่ายังรวมไปถึงการพลัดพรากกันของพี่น้องปาณฑพสี่คน เพราะไปดื่มน้ำที่มียาพิษเข้า จึงต้องเดือดร้อนถึงยุษฐิระต้องไปขอชีวิตคืน ด้วยการตอบคำถามของยักษ์ที่เป็นเจ้าของสระน้ำมีพิษดังกล่าว[ต้องการอ้างอิง]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Ganguli, K.M. (1883-1896) "Vana Parva" in The Mahabharata of Krishna-Dwaipayana Vyasa (12 Volumes). Numerous editions
  2. 2.0 2.1 Dutt, M.N. (1896) The Mahabharata (Volume 3): Aranya Parva. Calcutta: Elysium Press
  3. Williams, M. (1868) Indian Epic Poetry. London: Williams & Norgate, p 103
  4. Last Chapter of Aranya Parva The Mahabharat, Translated by Manmatha Nath Dutt (1894)
  5. Arany Parva Mahabharat, Translated by Kisari Mohan Ganguli, Published by P.C. Roy (1884)

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

แม่แบบ:Wikiquotes