ข้ามไปเนื้อหา

รัฐบัญญัติจัดตั้งรัฐลิทัวเนียขึ้นใหม่

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ต้นฉบับรัฐบัญญัติจัดตั้งรัฐลิทัวเนียขึ้นใหม่ที่ลงนามโดยคณะผู้แทนฝ่ายต่าง ๆ

รัฐบัญญัติจัดตั้งรัฐลิทัวเนียขึ้นใหม่ หรือ รัฐบัญญัติ 11 มีนาคม (ลิทัวเนีย: Aktas dėl Lietuvos nepriklausomos valstybės atstatymo; อังกฤษ: Act of the Re-Establishment of the State of Lithuania; Act of March 11) เป็นรัฐบัญญัติของสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตลิทัวเนีย ร่างขึ้นในวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 1990 และลงนาม[1] โดยสมาชิกทุกคนของสภาที่ปรึกษาสูงสุดแห่งสาธารณรัฐลิทัวเนีย นำโดยขบวนการซายูดิส (Sąjūdis) รัฐบัญญัตินี้เน้นย้ำถึงการฟื้นฟูและสถานภาพทางกฎหมายอันต่อเนื่องของลิทัวเนีย ซึ่งถูกยึดครองโดยและสูญเสียเอกราชแก่สหภาพโซเวียตในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1940 ส่งผลให้ลิทัวเนียเป็นสาธารณรัฐแห่งสหภาพโซเวียตแห่งแรกที่ประกาศแยกตัวเป็นเอกราชจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต

พื้นเพเดิม

[แก้]

การสูญเสียเอกราช

[แก้]

ภายหลังการแบ่งแยกเครือจักรภพโปแลนด์–ลิทัวเนียในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ลิทัวเนียถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซีย ถัดมาเกิดการปฏิวัติขึ้นในปี ค.ศ. 1917 สภาที่ปรึกษาแห่งลิทัวเนียซึ่งมีนายโยนัส บาซานาวิเชียส (Jonas Basanavičius) เป็นประธาน จึงได้ประกาศรัฐบัญญัติว่าด้วยเอกราชของลิทัวเนียในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1918 ลิทัวเนียจึงมีสถานะเป็นรัฐเอกราชเป็นเวลาสองทศวรรษ เมื่อเวลาก้าวล่วงถึงเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1939 สหภาพโซเวียตและนาซีเยอรมนีได้ร่วมลงนามในสนธิสัญญาโมโลตอฟ–ริบเบนทรอพซึ่งทำให้เกิดการแบ่งแยกเขตอิทธิพลของทั้งสองฝ่ายในภูมิภาคยุโรปตะวันออก รัฐบอลติก (ลิทัวเนีย ลัตเวีย และเอสโตเนีย) จึงตกอยู่ภายใต้เขตอิทธิพลของสหภาพโวเวียต และถูกเข้ายึดครองในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1940 ก่อนที่จะถูกแปรสภาพไปเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตในภายหลัง

ในกรณีของลิทัวเนีย ประธานาธิบดีอันตานัส สเมโตนา (Antanas Smetona) เลือกที่จะลี้ภัยออกนอกประเทศแทนการยอมรับการเข้ายึดครองของโซเวียต เขาไม่ได้ลาออกจากตำแหน่ง แต่ทำการถ่ายโอนหน้าที่ของประธานาธิบดีแก่นายกรัฐมนตรีอันตานัส เมอร์คีส (Antanas Merkys) แทน ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่าพึงกระทำได้ ในวันถัดมานายเมอร์คีสจึงได้ประกาศตนเป็นประธานาธิบดีและแต่งตั้งนายยุสตัส พาเลกคีส (Justas Paleckis) นักการเมืองผู้อยู่ฝ่ายตรงข้ามนายสเมโตนามาอย่างยาวนาน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี จากนั้นนายเมอร์คีสก็ได้ลาออกจากตำแหน่ง ส่งผลให้นายพาเลกคีสเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสืบต่อมา สหภาพโซเวียตจึงได้ใช้นายพาเลกคีสเป็นผู้นำหุ่นเชิดเพื่อให้การผนวกรวมลิทัวเนียทั้งในทางปฏิบัติและในทางกฎหมายสามารถดำเนินไปได้อย่างสมบูรณ์

จากนั้นทางการโซเวียตได้ริเริ่มนโยบายทำให้รัฐบอลติกเป็นโซเวียต (Sovietization) เช่น ยึดเอาทรัพย์สินเอกชนมาเป็นของชาติ ริเริ่มเกษตรกรรมแบบนารวม ปราบปรามคริสตจักรโรมันคาทอลิก และเข้าปกครองประเทศอย่างเบ็ดเสร็จ ในขณะเดียวกันนั้นเองยังได้ริเริ่มโครงการการศึกษาและสาธารณสุขฟรีอีกด้วย ในปี ค.ศ. 1953 กลุ่มติดอาวุธต่อต้านโซเวียตของลิทัวเนียถูกกำจัด โดยประมาณการณ์กันว่าสมาชิกกองกำลังชาวลิทัวเนียกว่า 130,000 คน หรือถูกเรียกขานโดยโซเวียตว่า ศัตรูของประชาชน ถูกเนรเทศไปยังไซบีเรีย (การเนรเทศเดือนมิถุนายนและเดือนมีนาคม) ถัดมาในปีเดียวกันนั้นเอง โจเซฟ สตาลิน ถึงแก่อสัญกรรม สหภาพโซเวียตจึงได้ริเริ่มนโยบายโต้อภิวัฒน์สตาลิน (de-Stalinization) ซึ่งทำให้การประหัตประหารผู้คนจำนวนมากสิ้นสุดลงไปด้วย ทั้งนี้ขบวนการต่อต้านโซเวียตของลิทัวเนียที่ปราศจากความรุนแรงยังคงดำเนินต่อไปทั้งในลิทัวเนียเองและในหมู่ชาวลิทัวเนียพลัดถิ่น ขบวนการนี้เป็นขบวนการลับ ผิดกฎหมาย และมุ่งเน้นไปที่ประเด็นปัญหาทางสังคม สิทธิมนุษยชน และกิจการด้านวัฒนธรรม มากกว่าการเรียกร้องทางการเมือง

ขบวนการเรียกร้องเอกราช

[แก้]
แผนที่ของกลุ่มตะวันออก

ในขณะที่มิฮาอิล กอร์บาชอฟ พยายามพลิกฟื้นเศรษฐกิจของสหภาพโซเวียตด้วยนโยบายกลัสนอสต์ (glasnost; การเผยแพร่) และเปเรสตรอยคา (perestroika; การปรับโครงสร้าง) กอร์บาชอฟได้เปลี่ยนแปลงท่าทีทางการเมืองของรัฐบาลโซเวียตครั้งใหญ่ เช่น เปิดกว้างให้สาธารณชนชาวโซเวียตได้ถกเถียงและอภิปรายกันอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน สำหรับชาวลิทัวเนียผู้ไม่พอใจสหภาพโซเวียตแล้ว นี่จึงเป็นโอกาสทองที่พลาดไม่ได้ในการนำขบวนการใต้ดินของตนขึ้นมาบนดิน

ต่อมาในวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ. 1987 (ตรงกับวันครบรอบปีที่ 48 ของสนธิสัญญาโมโลตอฟ–ริบเบนทรอพ) สันนิบาตเสรีภาพลิทัวเนียได้จัดการเดินประท้วงขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งไม่ได้มีการปราบปรามหรือจับกุมจากทางการโซเวียตแต่อย่างใด โดยหลังจากการเดินประท้วงครั้งดังกล่าวส่งผลให้กลุ่มปัญญาชน 35 คนรู้สึกถึงแรงกล้าที่จะจัดตั้งขบวนการปฏิรูปซายูดิส (Sąjūdis) ในช่วงกลางปี ค.ศ. 1988 มีเป้าหมายดั้งเดิมเพื่อสนับสนุน อภิปราย และริเริ่มการปฏิรูปของกอร์บาชอฟ รวมถึงสนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราชจากสหภาพโซเวียตอย่างเปิดเผยด้วยเล็กน้อย ขบวนการดังกล่าวได้รับความนิยมมากขึ้นและดึงดูดผู้คนให้มาเข้าร่วมการเดินประท้วงในสวนสาธารณะวินกีสจำนวนมาก ส่งผลให้แนวทางและเป้าหมายของขบวนการมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นโดยอาศัยโอกาสที่กอร์บาชอฟมีท่าทีที่เพิกเฉย

เมื่อก้าวล่วงถึงปี ค.ศ. 1989 ขบวนการซายูดิสไม่เกรงกลัวอำนาจของมอสโกหรือการปราบปรางที่รุนแรงแต่อย่างใด แต่ยังคงพลักดันข้อเรียกร้องของตนอย่างต่อเนื่อง โดยลดทอนการอภิปรายในประเด็นการปฏิรูปของกอร์บาชฟลงและเพิ่มน้ำหนักไปที่ข้อเรียกร้องถึงสิทธิการมีส่วนรวมในการตัดสินใจทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น รวมถึงสิทธิในการปกครองตนเองภายใต้สหภาพโซเวียตอีกด้วย

ในวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ. 1989 เกิดเหตุการณ์ บอลติกเวย์ (Baltic Way) ที่ผู้คนร่วมออกมาเรียงแถวเป็นโซ่มนุษย์ยาวมากกว่า 600 กิโลเมตร (370 ไมล์) ผ่านรัฐบอลติก 3 รัฐ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบปีที่ 50 ของสนธิสัญญาโมโลตอฟ–ริบเบนทรอพ ซึ่ง ณ เวลานี้เองขบวนการซายูดิสได้ถือเอาการเรียกร้องเอกราชแบบเต็มขั้นมาเป็นเป้าหมายอย่างเป็นทางการของกลุ่ม

การเลือกตั้งในแบบประชาธิปไตย

[แก้]

การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาลิทัวเนีย ค.ศ. 1990 นับเป็นการเลือกตั้งเสรีตามระบอบประชาธิปไตยครั้งแรกในลิทัวเนียนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง ผู้คนจำนวนมากออกมาใช้เสียงเลือกผู้สมัครที่ผ่านการคัดเลือกโดยขบวนการซายูดิส แม้ขบวนการดังกล่าวจะไม่ได้ดำเนินงานในฐานะพรรการเมืองก็ตาม ลิทัวเนียจึงได้รัฐบาลที่ไม่ใช่ฝ่ายคอมมิวนิสต์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สมัยสงครามโลก และในสมัยประชุมแรกของรัฐสภาในวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 1990 นี่เองที่สภาสูงสุดแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตลิทัวเนีย (Supreme Soviet of the Lithuanian SSR) ได้เลือกนายวีเทาตัส ลันสเบอร์กีส (Vytautas Landsbergis) เป็นประธานสภา และได้เปลี่ยนชื่อเป็น สภาที่ปรึกษาสูงสุดแห่งสาธารณรัฐลิทัวเนีย (Supreme Council of the Republic of Lithuania) พร้อมกับประกาศจัดตั้งรัฐลิทัวเนียขึ้นใหม่ด้วยรัฐบัญญัติซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกสภาฯ จำนวน 124 คน (งดออกเสียง 6 คน) เมื่อเวลา 22.44 น.[2] โดยปราศจากเสียงคัดค้าน

เนื้อความ

[แก้]

วาทกรรมของรัฐบัญญัตินี้ที่ว่าลิทัวเนียไม่เคยสูญเสียเอกราชนั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของแนวคิดที่ว่าประธานาธิบดีอันตานัส สเมโตนา ไม่เคยลาออกจากตำแหน่ง ดังนั้นการสืบทอดตำแหน่งของประธานาธิบดีอันตานัส เมอร์คีส จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งขณะนี้ลิทัวเนียได้โต้แย้งว่าการกระทำทุกอย่างหลังจากที่นายเมอร์คีสเข้าสืบทอดตำแหน่งไปจนถึงการเข้ายึดครองของโซเวียตถือเป็นโมฆะ

ผลที่ตามมา

[แก้]
เหรียญที่ระลึกลีตัสเนื่องในโอกาสครบรอบหนึ่งทศวรรษของการประกาศเอกราช

แม้รัฐบัญญัติจัดตั้งรัฐลิทัวเนียขึ้นใหม่จะถือเป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจให้แก่สาธารณรัฐโซเวียตแห่งอื่น ๆ แต่ประเด็นปัญญาเกี่ยวกับการประกาศเอกราชก็ไม่ได้รับการคลี่คลายลงในทันที ส่วนการยอมรับจากประเทศอื่น ๆ ก็ยังไม่เป็นที่แน่นอน

มิฮาอิล กอร์บาชอฟ กล่าวว่ารัฐบัญญัติดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย สหภาพโซเวียตเองก็เรียกร้องให้มีการเพิกถอนกฎหมายดังกล่าวและเริ่มมาตรการคว่ำบาตรลิทัวเนีย เช่น การปิดกั้นทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ในวันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 1991 กองกำลังของโซเวียตได้เข้าโจมตีอาคารรัฐสภาในกรุงวิลนีอุสและหอแพร่ภาพสัญญาณโทรทัศน์ของวิลนีอุสด้วย พลเรือนชาวลิทัวเนียผู้ไม่มีอาวุธจึงเข้าเผชิญหน้ากับทหารโซเวียต ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 14 คน และอีก 700 กว่าคนได้รับบาดเจ็บ ภายหลังได้มีการขนานนามเหตุการณ์นี้ว่า เหตุการณ์เดือนมกราคม

ในวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1990 สภาสูงสุดแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตมอลเดเวียลงมติยอมรับการจัดตั้งรัฐลิทัวเนียขึ้นใหม่ให้เป็นเอกราช[4] จึงเป็นรัฐสภาประเทศแรกในโลกที่ยอมรับเอกราชของลิทัวเนียอย่างเป็นทางการ แม้มอลเดเวียจะยังคงเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตก็ตาม

ไอซ์แลนด์เป็นประเทศนอกสหภาพโซเวียตประเทศแรกที่ยอมรับเอกราชของลิทัวเนียในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1991[5] ตามมาด้วยเดนมาร์ก สโลวีเนีย โครเอเชีย และลัตเวีย ต่อมาหลังความพยายามรัฐประหารที่ล้มเหลวในเดือนสิงหาคม เอกราชของลิทัวเนียก็ถูกยอมรับโดยสหรัฐอเมริกาในวันที่ 2 กันยายน ซึ่งประธานาธิบดีจอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช ประกาศว่าหากโซเวียตรัสเซียใช้กำลังเข้าโจมตีลิทัวเนียสหรัฐอเมริกาก็จะตอบโต้ในแบบเดียวกัน จนกระทั่งวันที่ 6 กันยายน ค.ศ. 1991 สหภาพโซเวียตจึงยอมรับเอกราชของลิทัวเนียในที่สุด ลิทัวเนียจึงได้รับการยอมรับจากนานาชาติอย่างรวดเร็ว เช่น จีน อินเดีย และเบลารุส เป็นต้น ในท้ายที่สุดในวันที่ 17 กันยายน ค.ศ. 1991 ลิทัวเนียก็ได้เข้าเป็นสมาชิกของสหประชาชาติเช่นเดียวกับเอสโตเนียและลัตเวีย

การยอมรับจากนานาชาติ

[แก้]
เส้นเวลาการยอมรับการจัดตั้งรัฐลิทัวเนียขึ้นใหม่ของนานาชาติ[6]
ที่ วันที่ ประเทศ ที่ วันที่ ประเทศ
1 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1990 Flag of Moldovan SSR มอลเดเวีย 58 6 กันยายน ค.ศ. 1991  สิงคโปร์
2 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1991  ไอซ์แลนด์ 59 6 กันยายน ค.ศ. 1991  อียิปต์
3 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1991  เดนมาร์ก 60 6 กันยายน ค.ศ. 1991  สหภาพโซเวียต
4 16 พฤษภาคม ค.ศ. 1991  สโลวีเนีย 61 7 กันยายน ค.ศ. 1991  อัฟกานิสถาน
5 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1991 สหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซีย โซเวียตรัสเซีย 62 7 กันยายน ค.ศ. 1991  จีน
6 3 สิงหาคม ค.ศ. 1991  โครเอเชีย 63 7 กันยายน ค.ศ. 1991  เกาหลีเหนือ
7 23 สิงหาคม ค.ศ. 1991  ลัตเวีย 64 7 กันยายน ค.ศ. 1991  เปรู
8 24 สิงหาคม ค.ศ. 1991  นอร์เวย์ 65 7 กันยายน ค.ศ. 1991  เซเนกัล
9 24 สิงหาคม ค.ศ. 1991  ฮังการี 66 7 กันยายน ค.ศ. 1991  บังกลาเทศ
10 25 สิงหาคม ค.ศ. 1991  อาร์เจนตินา 67 8 กันยายน ค.ศ. 1991  ปากีสถาน
11 25 สิงหาคม ค.ศ. 1991  ฝรั่งเศส 68 9 กันยายน ค.ศ. 1991  โบลิเวีย
12 26 สิงหาคม ค.ศ. 1991  บัลแกเรีย 69 9 กันยายน ค.ศ. 1991  โบลิเวีย
13 26 สิงหาคม ค.ศ. 1991  อิตาลี 70 9 กันยายน ค.ศ. 1991  อินเดีย
14 26 สิงหาคม ค.ศ. 1991  แคนาดา 71 9 กันยายน ค.ศ. 1991  คิวบา
15 26 สิงหาคม ค.ศ. 1991  โปแลนด์ 72 9 กันยายน ค.ศ. 1991  ซีเรีย
16 26 สิงหาคม ค.ศ. 1991  มอลตา 73 9 กันยายน ค.ศ. 1991  ไทย
17 26 สิงหาคม ค.ศ. 1991  โปรตุเกส 74 9 กันยายน ค.ศ. 1991  เวียดนาม
18 26 สิงหาคม ค.ศ. 1991  โรมาเนีย 75 9 กันยายน ค.ศ. 1991  กาบูเวร์ดี
19 26 สิงหาคม ค.ศ. 1991  ซานมารีโน 76 10 กันยายน ค.ศ. 1991  กาบูเวร์ดี
20 26 สิงหาคม ค.ศ. 1991  ยูเครน 77 10 กันยายน ค.ศ. 1991  อาเซอร์ไบจาน
21 27 สิงหาคม ค.ศ. 1991  แอลเบเนีย 78 10 กันยายน ค.ศ. 1991  อิหร่าน
22 27 สิงหาคม ค.ศ. 1991  ออสเตรเลีย 79 10 กันยายน ค.ศ. 1991  เนปาล
23 27 สิงหาคม ค.ศ. 1991  เบลเยียม 80 11 กันยายน ค.ศ. 1991  มาดากัสการ์
24 27 สิงหาคม ค.ศ. 1991  สหราชอาณาจักร 81 12 กันยายน ค.ศ. 1991  อาร์มีเนีย
25 27 สิงหาคม ค.ศ. 1991  จอร์เจีย 82 12 กันยายน ค.ศ. 1991  ไซปรัส
26 27 สิงหาคม ค.ศ. 1991  สเปน 83 13 กันยายน ค.ศ. 1991  เยเมน
27 27 สิงหาคม ค.ศ. 1991  ลักเซมเบิร์ก 84 15 กันยายน ค.ศ. 1991  บาห์เรน
28 27 สิงหาคม ค.ศ. 1991  สวีเดน 85 15 กันยายน ค.ศ. 1991  จอร์แดน
29 27 สิงหาคม ค.ศ. 1991  เยอรมนี 86 15 กันยายน ค.ศ. 1991  คูเวต
30 27 สิงหาคม ค.ศ. 1991  ไอร์แลนด์ 87 15 กันยายน ค.ศ. 1991  ฟิลิปปินส์
31 27 สิงหาคม ค.ศ. 1991  เอสโตเนีย 88 16 กันยายน ค.ศ. 1991  ซาอุดีอาระเบีย
32 28 สิงหาคม ค.ศ. 1991  ออสเตรีย 89 17 กันยายน ค.ศ. 1991  อินโดนีเซีย
33 28 สิงหาคม ค.ศ. 1991  ชิลี 90 19 กันยายน ค.ศ. 1991  สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
34 28 สิงหาคม ค.ศ. 1991  นิวซีแลนด์ 91 20 กันยายน ค.ศ. 1991  ลาว
35 28 สิงหาคม ค.ศ. 1991  แอฟริกาใต้ 92 24 กันยายน ค.ศ. 1991  เติร์กเมนิสถาน
36 28 สิงหาคม ค.ศ. 1991  ฟินแลนด์ 93 25 กันยายน ค.ศ. 1991  ปานามา
37 28 สิงหาคม ค.ศ. 1991  สวิตเซอร์แลนด์ 94 30 กันยายน ค.ศ. 1991  อุซเบกิสถาน
38 28 สิงหาคม ค.ศ. 1991  อุรุกวัย 95 30 กันยายน ค.ศ. 1991  นามิเบีย
39 29 สิงหาคม ค.ศ. 1991  เชโกสโลวาเกีย 96 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1991  ศรีลังกา
40 29 สิงหาคม ค.ศ. 1991  มองโกเลีย 97 23 ธันวาคม ค.ศ. 1991  กานา
41 30 สิงหาคม ค.ศ. 1991  นครรัฐวาติกัน 98 23 ธันวาคม ค.ศ. 1991  คาซัคสถาน
42 30 สิงหาคม ค.ศ. 1991  คีร์กีซสถาน 99 24 ธันวาคม ค.ศ. 1991  โมซัมบิก
43 2 กันยายน ค.ศ. 1991  เอกวาดอร์ 100 25 ธันวาคม ค.ศ. 1991  ทาจิกิสถาน
44 2 กันยายน ค.ศ. 1991  เนเธอร์แลนด์ 101 27 ธันวาคม ค.ศ. 1991  แอลจีเรีย
45 2 กันยายน ค.ศ. 1991  สหรัฐ 102 27 ธันวาคม ค.ศ. 1991  เบลารุส
46 3 กันยายน ค.ศ. 1991  กรีซ 103 30 ธันวาคม ค.ศ. 1991  เลบานอน
47 3 กันยายน ค.ศ. 1991  ลิเบีย 104 2 มกราคม ค.ศ. 1991  อิรัก
48 3 กันยายน ค.ศ. 1991  นิการากัว 105 6 มกราคม ค.ศ. 1991  บุรุนดี
49 3 กันยายน ค.ศ. 1991  ตุรกี 106 16 มกราคม ค.ศ. 1991  บูร์กินาฟาโซ
50 4 กันยายน ค.ศ. 1991  บราซิล 107 25 มกราคม ค.ศ. 1991  มาลี
51 4 กันยายน ค.ศ. 1991  อิสราเอล 108 31 มกราคม ค.ศ. 1991  เบนิน
52 4 กันยายน ค.ศ. 1991  ตูนิเซีย 109 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1991  คอสตาริกา
53 5 กันยายน ค.ศ. 1991  เกาหลีใต้ 110 17 มีนาคม ค.ศ. 1991  ซิมบับเว
54 5 กันยายน ค.ศ. 1991  เม็กซิโก 111 25 กันยายน ค.ศ. 1992  เอลซัลวาดอร์
55 6 กันยายน ค.ศ. 1991  กินี 112 6 พฤศจิกายน ค.ศ. 1992  บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา
56 6 กันยายน ค.ศ. 1991  ญี่ปุ่น 113 10 พฤศจิกายน ค.ศ. 1992  ไนจีเรีย
57 6 กันยายน ค.ศ. 1991  โคลอมเบีย 114 12 มกราคม ค.ศ. 1993  ชาด

อ้างอิง

[แก้]
  1. "LR AT AKTO Dėl Lietuvos nepriklausomos valstybės atstatymo signatarai". Lietuvos Respublikos Seimas. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2003-07-01. สืบค้นเมื่อ 2016-07-18.
  2. "LR AT AKTO Dėl Lietuvos nepriklausomos valstybės atstatymo signatarai". Lietuvos Respublikos Seimas. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2003-07-01. สืบค้นเมื่อ 2016-07-18.
  3. "Supreme Council - Reconstituent Seimas 1990 - 1992". Lietuvos Respublikos Seimas.
  4. "Prime Minister thanks Moldova for recognizing Lithuania's Independence in 1990". January 29, 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-04-02. สืบค้นเมื่อ April 1, 2015.
  5. "Core document forming part of the reports of states parties : Lithuania". United Nations. 1 October 1998. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-03-15. สืบค้นเมื่อ February 20, 2008.
  6. "Atkurtos Lietuvos nepriklausomos valstybės pripažinimo chronologija". สืบค้นเมื่อ April 7, 2015.

หนังสือเพิ่มเติม

[แก้]
  • The Oxford Companion to Politics of the World (p. 69, 70), Joel Krieger (editor), Oxford University, 1993.
  • Background Notes on Countries of the World 2003; September 2003, Lithuania, (p. 12)
  • The Baltic Revolution; Estonia, Latvia, Lithuania and The Path to Independence, Anatol Lieven, 1993.
  • Collapse of an Empire, Lessons for Modern Russia (pp. 175, 214, 217-219), Yegor Gaidar, Brookings Institution, 2007.
  • Why did the Soviet Union collapse, Understanding Historical Change, (p. 152-155), Robert Strayer, M.E.Sharpe, 1998.
  • Ilgūnas, Gediminas. "Lietuvos kelias į 1990 m. kovo 11-ąją (1940-1990 m.)". Lietuvos Respublikos Seimas. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-22. สืบค้นเมื่อ 2016-10-01.