ข้ามไปเนื้อหา

นวลพรรณ ล่ำซำ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นวลพรรณ ล่ำซำ
นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย
ในพระบรมราชูปถัมภ์
เริ่มดำรงตำแหน่ง
8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567
(ข้อผิดพลาด: แม่แบบ:อายุปีและวัน รองรับเฉพาะปีพุทธศักราช หากใช้เป็นคริสต์ศักราช กรุณาใช้ แม่แบบ:Age in years and days)
ก่อนหน้าสมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง
ประธานสโมสรฟุตบอลการท่าเรือ
ดำรงตำแหน่ง
12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 – 25 ธันวาคม พ.ศ. 2566
(8 ปี 316 วัน)
ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
ดำรงตำแหน่ง
1 มีนาคม พ.ศ. 2549 – 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551
(2 ปี 263 วัน)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด21 มีนาคม พ.ศ. 2509 (58 ปี)
จังหวัดพระนคร ประเทศไทย
พรรคการเมืองประชาธิปัตย์ (2549—ปัจจุบัน)
คู่สมรสวัชระ พรรณเชษฐ์
(พ.ศ. 2536—2547)
ณรัชต์ เศวตนันทน์
(พ.ศ. 2557—ปัจจุบัน)
บุตรนวลวรรณ พรรณเชษฐ์
ชื่อเล่นแป้ง

นวลพรรณ ล่ำซำ (เกิด 21 มีนาคม พ.ศ. 2509) เป็นนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ คนที่ 18 กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ประธานกรรมการกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม กรรมการอิสระ บริษัท ​ดุสิตธานี​ จำกัด (มหาชน) ​กรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช[1] กงสุลกิตติมศักดิ์สาธารณรัฐลิทัวเนีย[2] อดีตประธานสโมสรฟุตบอลการท่าเรือในไทยลีก และอดีตผู้ช่วยเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์

นอกจากเป็นผู้บริหารระดับสูงในธุรกิจประกันภัยของตระกูล นวลพรรณยังเปิดกิจการของตัวเอง นำเข้าสินค้าแฟชั่นแบรนด์เนมหลายแบรนด์ ผ่านทางบริษัท วรรณมานี จำกัด และบริษัท ซังออนอเร่ (กรุงเทพ) จำกัด เริ่มจากแบรนด์แรก คือ แอร์เมส (Hermes) จนมีมากมายหลายแบรนด์ในปัจจุบัน เช่น เอ็มโพริโอ อาร์มานี (Emporio Armani), ทอดส์ (Tod's), Rodo, โคลเอ้ (Chole), Christofle และบลูมารีน (Blumarine)

นอกจากนี้เมื่อปี พ.ศ. 2546 นวลพรรณยังร่วมหุ้นกับเพื่อน นำเข้าผลิตภัณฑ์เวชสำอาง "SkinCeuticals" โดยมี หุ้นส่วนคือ เมทินี กิ่งโพยม, อนุวัฒน์ นิวาตวงศ์ และ น.พ.จักรินทร์ ทัฬหชาติโยธิน เปิดบริษัทชื่อ "Foure C" ที่สุขุมวิท 24

ประวัติ

[แก้]

นวลพรรณ ล่ำซำ เกิดวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2509 มีชื่อเล่นว่า "แป้ง" เป็นบุตรีของโพธิพงษ์ ล่ำซำ กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กับยุพา ล่ำซำ เจ้าของเมืองไทยประกันภัย มีน้องสาวและน้องชายอย่างละหนึ่งคน คือ วรรณพร พรประภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท พี แลนด์สเคป จำกัด และสาระ ล่ำซำ ผู้บริหารบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต พวกเธอนับเป็นทายาทตระกูลล่ำซำรุ่นที่ 5 และมีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องของบัณฑูร ล่ำซำ ผู้บริหารธนาคารกสิกรไทย

นวลพรรณสำเร็จการศึกษาจาก โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย และ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน ปริญญาตรี สาขาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท สาขาการจัดการ มหาวิทยาลัยบอสตัน สหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2532

นวลพรรณ สมรสครั้งแรกกับดร.วัชระ พรรณเชษฐ์ ประธานกรรมการ บริษัทสิทธิผลเซลส์ และ บริษัทเยอรมันออโต้ แต่หย่ากันเมื่อปลายปี พ.ศ. 2547 จึงมีระยะหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า "นวลพรรณ พรรณเชษฐ์" แม้จะแยกทางกันในชีวิตสมรสแล้ว แต่ทั้งคู่ก็ยังอยู่บ้านในชายคาเดียวกันบนถนนรามคำแหง และร่วมหุ้นกันในบริษัท วรรณมานี จำกัด และบริษัท ซังออนอเร่ (กรุงเทพ) จำกัด โดยมีบุตรสาวด้วยกันคือ นวลวรรณ พรรณเชษฐ์ (น้องปราง) รองประธานสโมสรฟุตบอลการท่าเรือ ภายหลังนวลพรรณสมรสครั้งที่สองกับพันตำรวจเอก ดร. ณรัชต์ เศวตนันทน์ รองเลขาธิการพระราชวัง เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2557 [3][4][5]

การทำงาน

[แก้]
  • ฝ่ายบริการลูกค้า บริษัท ลินตาส จำกัด (ประเทศไทย)
  • เจ้าหน้าที่ฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัท เงินทุนหลักทรัพย์ ภัทรธนกิจ จำกัด (มหาชน)
  • 2545 กรรมการรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (พ.ศ. 2545-2547)
  • 2548 ขึ้นดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน)
  • ปัจจุบัน
    • กรรมการผู้จัดการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน)
    • กรรมการผู้จัดการ บริษัท วรรณมานี จำกัด นำเข้าสินค้าแบรนด์ Emporio Armani, JP Tod's, Rodo, Christofle และ Blumarine
    • กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซังออนอเร่ (กรุงเทพ) จำกัด นำเข้าสินค้าแบรนด์ แอร์เมส (Hermes)

การเมือง

[แก้]

นวลพรรณ สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2549 ในตำแหน่ง "ผู้ช่วยเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์" หลังถูกทาบทามจากสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ ให้เดินตามรอย โพธิพงษ์ ล่ำซำ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โดยงานแรกที่นวลพรรณรับผิดชอบคือ งานฉลองครบรอบ 60 ปี พรรคประชาธิปัตย์

วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2549 นวลพรรณรับตำแหน่งที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (อภิรักษ์ โกษะโยธิน) เพิ่มอีกตำแหน่ง วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2557 ถึงวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2559 ดำรงตำแหน่งข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง ตำแหน่งที่ปรึกษาประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (พรเพชร วิชิตชลชัย)

ทางกีฬา

[แก้]

ผู้จัดการทีมกีฬาทีมชาติไทย

[แก้]

ในวงการกีฬา นวลพรรณเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการทีมนักกีฬาคนพิการทีมชาติไทยในการแข่งขันกีฬาเฟสปิก ครั้งที่ 9 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายก่อนเปลี่ยนชื่อเป็นเอเชียนพาราเกมส์ จัดที่ประเทศมาเลเซีย วันที่ 25 พฤศจิกายน - 1 ธันวาคม พ.ศ. 2549[6] ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 นวลพรรณเป็นผู้จัดการทีมฟุตบอลหญิงทีมชาติไทย[7] แต่ได้ประกาศลาออกจากการเป็นผู้จัดการทีมเมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2558 เนื่องจากทีมฟุตบอลหญิงทีมชาติไทยขาดการดูแลจากสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ได้ตัดสินใจที่จะกลับมาทำหน้าที่ผู้จัดการทีมฟุตบอลหญิงทีมชาติไทยอีกครั้ง[8] ต่อมานวลพรรณได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานสโมสรฟุตบอลการท่าเรือ ในไทยลีก[9] และเป็นผู้จัดการทีมฟุตบอลชายทีมชาติไทย ตั้งแต่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2564 มาจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 โดยได้ลาออกเพื่อรับสมัครเลือกตั้งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ[10]

ผู้สมัครนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย

[แก้]

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2566 นวลพรรณประกาศลงสมัครรับเลือกตั้งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ต่อจากพลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ที่ประกาศว่าจะไม่รับตำแหน่งต่อหลังจากหมดวาระในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 โดยได้รับการสนับสนุนจากเนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด และปวิณ ภิรมย์ภักดี ประธานสโมสรฟุตบอลบีจี ปทุม ยูไนเต็ด[11] และเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2566 มาดามแป้งได้เปิดตัวเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ รวมถึงเปิดตัวทีมสภากรรมการของตน จำนวน 18 คน โดยมีเนวินเป็นที่ปรึกษา และปวิณเป็นอุปนายก นอกจากนี้ยังมีอดีตนักฟุตบอลและอดีตผู้ฝึกสอนทีมฟุตบอลทีมชาติไทยที่มีชื่อเสียงอยู่ในทีมสภากรรมการชุดนี้ด้วย เช่น ชาญวิทย์ ผลชีวิน อุปนายก และปิยะพงษ์ ผิวอ่อน กรรมการกลาง เป็นต้น[12] โดยได้ยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในวันที่ 6 ธันวาคม ถือเป็นผู้สมัครคนแรกในการเลือกตั้งในครั้งนี้[13] และได้ลาออกจากตำแหน่งประธานสโมสรฟุตบอลการท่าเรือ ในช่วงระหว่างพักครึ่งเวลาของการแข่งขันนัดสุดท้ายของทีมในเลกแรกของไทยลีก ฤดูกาล 2566–67 เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม โดยได้ประกาศแต่งตั้งให้ เฉลิมโชค ล่ำซำ ลูกพี่ลูกน้องของตน ให้ดำรงตำแหน่งประธานสโมสรฟุตบอลการท่าเรือต่อจากตน และสาระ ล่ำซำ เป็นประธานกิตติมศักดิ์ของสโมสร[14]

นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย

[แก้]

ในการเลือกตั้งนายกสมาคม เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 นวลพรรณได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ด้วยคะแนน 68 จาก 73 เสียง คิดเป็น 93% โดยเธอเป็นนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลที่เป็นผู้หญิงคนแรกของทวีปเอเชีย อนึ่ง ก่อนหน้านี้มีนายกสมาคมฟุตบอลที่เป็นผู้หญิงมาแล้ว 6 คน ได้แก่ เด็บบี้ ฮีวิตต์ (อังกฤษ), ซินดี้ บาร์โลว์ โคน (สหรัฐ), ลีซ คลีฟเนสส์ (นอร์เวย์), โซเนีย บิอัน ไอม์ (หมู่เกาะเติกส์และเคคอส), ปาสคาล ฟาน ดาม (เบลเยียม) และอันยา เจมส์ (บาฮามาส)[15]

ทั้งนี้ หลังได้รับการเลือกให้ดำรงตำแหน่ง เธอกล่าวว่าจะสร้างองค์กรให้มีธรรมาภิบาล จริยธรรม ความโปร่งใส ให้ความสำคัญกับฟุตบอลลีกภายในประเทศและทีมชาติอย่างเท่าเทียม[16] อีกทั้งจะประสานงานทุกฝ่ายเพื่อจัดการประชุมฟีฟ่าคองเกรส ครั้งที่ 74 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกันให้ดีที่สุด[17]

การดำรงตำแหน่งอื่น

[แก้]

รางวัลที่ได้รับ

[แก้]
  • รางวัลผู้จัดการทีมดีเด่น ในงานวันกีฬาแห่งชาติ ประจำปี 2557 [18]
  • ได้รับปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการจัดการกีฬาและนันทนาการเพื่อสุขภาพ ประเภททั่วไป ประจำปีการศึกษา2558 จากมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

ลำดับสาแหรก

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช
  2. กงสุลกิตติมศักดิ์สาธารณรัฐลิทัวเนีย
  3. "สละโสด". ไทยรัฐ. 20 มกราคม พ.ศ. 2557. สืบค้นเมื่อ 29 เมษายน 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  4. "ไฮโซ 'แป้ง' จัดวิวาห์เงียบ!". ไทยรัฐ. 20 มกราคม พ.ศ. 2557. สืบค้นเมื่อ 29 เมษายน 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  5. "สุดเซอร์ไพรส์ม่ายสาวไฮโซแป้ง-นวลพรรณ ย่องเงียบสละโสดรอบสอง". ASTVผู้จัดการออนไลน์. 20 มกราคม พ.ศ. 2557. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-19. สืบค้นเมื่อ 29 เมษายน 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  6. โจโจ้ (2023-08-06). "อย่าติดกับดัก". ไทยรัฐ. สืบค้นเมื่อ 2023-08-13.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  7. "สุดโปรดของ 'นวลพรรณ ล่ำซำ'". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-26. สืบค้นเมื่อ 2012-02-06.
  8. "จากใจ "มาดามแป้ง" ลั่นอยากพาฟุตบอลทีมชาติไทย ลุยบอลโลกสักครั้ง". สยามกีฬารายวัน. 2023-07-30. สืบค้นเมื่อ 2023-07-30.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  9. มาดามแป้งนั่งประธานท่าเรือ5ปี
  10. ‘ส.บอล’ ตั้ง ‘มาดามแป้ง’ ช่วยกู้วิกฤติ ‘ช้างศึก’ เป็นผู้จัดการทีมควบชุดใหญ่-ยู-23
  11. "'มาดามแป้ง'มาแล้ว!ประกาศลงท้าชิงตำแหน่งนายกบอลไทย". แนวหน้า. 2023-08-13. สืบค้นเมื่อ 2023-08-13.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  12. "มาดามแป้ง เปิดตัวทีมสภากรรมการชิงนายกบอลไทย บิ๊กเนมลูกหนังเพียบ". ประชาชาติธุรกิจ. 4 ธันวาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 4 ธันวาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  13. "คนแรก! "มาดามแป้ง" ยื่นสมัครชิงนายกบอลไทย-สมยศ ชี้แทบไม่ต้องเลือกตั้งแล้ว". GOAL Thailand. 6 ธันวาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 7 ธันวาคม 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  14. รูปประดิษฐ์, ธีรฉัตร (25 ธันวาคม 2023). "ส่งไม้ต่อ! มาดามแป้ง เปิดตัว เฉลิมโชค นั่งแท่นประธานสิงห์เจ้าท่าคนใหม่-สาระ ประธานกิตติมศักดิ์". GOAL Thailand. สืบค้นเมื่อ 25 ธันวาคม 2023.
  15. ""มาดามแป้ง" ชนะเลือกตั้ง 68 เสียง-นั่งนายกบอลไทย คนที่ 18". mgronline.com. 2024-02-08.
  16. "หญิงคนแรก "มาดามแป้ง" นายกสมาคมฟุตบอลฯ ลั่นพร้อมพิสูจน์ผลงาน". Thai PBS.
  17. ""มาดามแป้ง" น้อมรับจัดประชุมฟีฟ่าคองเกรสที่ไทยให้สมบูรณ์แบบที่สุด". www.siamsport.co.th (ภาษาอังกฤษ). 2024-02-08.
  18. ข่าวสด. ปีที่ 24 ฉบับที่ 8,795. วันเสาร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2557. ISSN 1686-8218. หน้า 11
  19. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศ เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๓๘ ตอนที่ ๓ ข หน้า ๑, ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔
  20. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๗ เก็บถาวร 2015-07-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๓๑ ตอนที่ ๒๗ ข หน้า ๑๔๐, ๓ ธันวาคม ๒๕๕๗
  21. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ประจำปี ๒๕๖๓ เก็บถาวร 2021-01-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๒ ข หน้า ๙, ๒๙ มกราคม ๒๕๖๔
  22. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศ เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม ๑๓๘ ตอนที่ ๓ ข หน้า ๔, ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
ก่อนหน้า นวลพรรณ ล่ำซำ ถัดไป
สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย
ในพระบรมราชูปถัมภ์

(พ.ศ. 2567 - ปัจจุบัน)
-