ฟีฟ่าคองเกรส ครั้งที่ 74
ฟีฟ่าคองเกรส ครั้งที่ 74 74th FIFA Congress | |
---|---|
ประเทศ | ไทย |
วันที่ | 13–17 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 |
สถานที่จัดงาน | ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ |
เมือง | กรุงเทพมหานคร |
ผู้เข้าร่วม | มากกว่า 3,000 คน |
ประธาน | จันนี อินฟันตีโน |
เว็บไซต์ | www |
ประเด็นสำคัญ | |
การประชุมฟีฟ่าคองเกรส ครั้งที่ 74 (อังกฤษ: 74th FIFA Congress) เป็นการประชุมฟีฟ่าคองเกรส สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 74 ซึ่งจัดขึ้นในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 13–17 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 โดยมีผู้บริหารสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ตัวแทนจากสมาคมกีฬาฟุตบอลที่เป็นสมาชิกของฟีฟ่า จำนวน 211 ประเทศทั่วโลก รวมถึงนักฟุตบอลระดับโลก (FIFA Legend) มาประชุมกันเป็นจำนวนมากกว่า 3,000 คน มีวาระสำคัญคือ การลงคะแนนเสียงเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลกหญิง 2027 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการลงคะแนนเสียงเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลกหญิงในการประชุมฟีฟ่าคองเกรส และผลคือประเทศบราซิลได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพรายการดังกล่าว
ภูมิหลัง
[แก้]ก่อนหน้านี้ ฟีฟ่าจะจัดการประชุมฟีฟ่าคองเกรสในประเทศที่เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการใหญ่ของปีนั้น ๆ อยู่แล้ว แต่ในการประชุมฟีฟ่าคองเกรส ครั้งที่ 73 ที่เมืองคิกาลี ประเทศรวันดา เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2566 เป็นการประชุมครั้งแรกที่ฟีฟ่าเปิดโอกาสให้แต่ละประเทศสมาชิกสามารถเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฟีฟ่าคองเกรสครั้งถัด ๆ ไปได้ พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ในขณะนั้น ที่นำทีมงานเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ จึงได้ยื่นเสนอชื่อเป็นเจ้าภาพการประชุมฟีฟ่าคองเกรสในครั้งถัดไป[1]
ต่อมาเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2566 สภาฟีฟ่าได้อนุมัติให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมฟีฟ่าคองเกรส ครั้งที่ 74 อย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งกำหนดวันประชุมไว้เป็นวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2567[2]
สถานที่จัดประชุมหลักในฟีฟ่าคองเกรส ครั้งที่ 74 คือศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งเคยใช้จัดการประชุมเอเปค 2022 เมื่อปี พ.ศ. 2565 โดยเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ยังได้นำจันนี อินฟันตีโน ประธานฟีฟ่า เข้าเยี่ยมชมและตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าว[1]
การประชุมฟีฟ่าคองเกรสครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นชาติสมาชิกของสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย ประเทศที่ 6 ที่ได้จัดการประชุม ต่อจากญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย, กาตาร์ และบาห์เรน[3]
การจัดประชุม
[แก้]กำหนดการประชุม
[แก้]การประชุมหลักของฟีฟ่าคองเกรส ครั้งที่ 74 จัดขึ้นในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 ตั้งแต่เวลา 09.10 น. ณ ห้องบอลรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร[4] โดยมีวาระสำคัญ คือ การลงคะแนนเสียงเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลกหญิง 2027[5] ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการลงคะแนนเสียงเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลกหญิงในการประชุมฟีฟ่าคองเกรส โดยผลการประชุมคือบราซิลได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพรายการดังกล่าว นับเป็นครั้งแรกที่มีการจัดฟุตบอลโลกหญิงในภูมิภาคอเมริกาใต้
นอกจากนี้ ยังมีหัวข้อการป้องกันความรุนแรงจากคตินิยมเชื้อชาติ[6] ซึ่งประธานฟีฟ่ามอบหมายให้สหพันธ์ฟุตบอลทั้ง 6 แห่งในสังกัด นำเสนอแผนบริหารจัดการประเด็นนี้ในการประชุม[7] อีกทั้งยังมีหัวข้ออื่น ๆ เช่น การรับรองรายงานประจำปี พ.ศ. 2566[5], การอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2568[4], การรับรองการปรับความถี่ของฟุตบอลโลก รุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี และฟุตบอลโลกหญิง รุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี จากทุกสองปีเป็นทุกปี[6], การให้ความเห็นชอบการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับฟีฟ่าให้สามารถย้ายสำนักงานใหญ่ออกนอกซือริชได้ และการเพิ่มกรรมการสภาฟีฟ่าจาก 7 เป็น 35 คน[8] เป็นต้น
ทั้งนี้ สมาคมฟุตบอลปาเลสไตน์ ได้เสนอที่ประชุมให้มีการลงโทษแบนสมาคมฟุตบอลอิสราเอล อันเนื่องมาจาก สงครามอิสราเอล–ฮะมาส โดยประธานฟีฟ่ามอบหมายให้มีการตั้งคณะกรรมการด้านกฎหมายที่เป็นอิสระ เพื่อรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และนำเสนอในการประชุมสมัยพิเศษของสภาฟีฟ่า ที่จะมีขึ้นก่อนวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ต่อไป[9][10][11]
อนึ่ง ก่อนหน้านั้นได้มีการประชุมสภาฟีฟ่าในวันที่ 15 พฤษภาคม ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก, อะ ลักซ์ชูรี คอลเล็คชั่น[12] และการประชุมสภาสามัญของสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย ณ โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค ในวันถัดมา[13]
การสนับสนุนจากรัฐบาล
[แก้]ในวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 รัฐบาลไทยซึ่งดำเนินโดยคณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 63 นำโดยนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เป็นเจ้าภาพจัดเลี้ยงอาหารค่ำให้กับคณะกรรมการบริหารฟีฟ่าและผู้เข้าร่วมประชุมฟีฟ่าคองเกรส ครั้งที่ 74 ณ ทำเนียบรัฐบาล[14]
กิจกรรมอื่น ๆ
[แก้]ในวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 ฟีฟ่าได้จัดการแข่งขันฟุตบอลนัดพิเศษ FIFA Congress Delegation Football Tournament ณ ราชกรีฑาสโมสร โดยมีอดีตนักฟุตบอลที่มีชื่อเสียงเข้าร่วม เช่น กาฟู, ชิลเบร์ตู ซิลวา, เวสลีย์ สไนเดอร์[15] รวมถึงบุคคลสำคัญจากประเทศไทยทั้งในวงการกีฬาและการเมืองร่วมแข่งขัน เช่น ชาญวิทย์ ผลชีวิน, ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน, สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และจาตุรนต์ ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเพื่อไทย เป็นต้น[16]
ในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมฟีฟ่าคองเกรส ครั้งที่ 74 อินฟันตีโนเป็นประธานในพิธีเปิดอาคารที่ทำการแห่งใหม่ของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์[17]
คณะกรรมการสภาฟีฟ่า
[แก้]- จันนี อินฟันตีโน ประธานฟีฟ่า
- มัทเทียส กราฟสตรอม เลขาธิการฟีฟ่า
- ซัลมาน บิน อิบรอฮีม อัลเคาะลีฟะฮ์ ประธานสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (เอเอฟซี)
- อาแล็กซานเดอร์ แชแฟรีน ประธานสหภาพสมาคมฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า)
- แลมเบิร์ต มัลท็อก ประธานสมาพันธ์ฟุตบอลโอเชียเนีย
- แพตริก มอตเซเป ประธานสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งแอฟริกา
- วิกเตอร์ มอนทาเลนี ประธานสมาพันธ์ฟุตบอลอเมริกาเหนือ อเมริกากลาง และแคริบเบียน
- อาเลฆันโดร โดมิงเกซ ประธานสมาพันธ์ฟุตบอลอเมริกาใต้
ผู้แทนประเทศสมาชิกฟีฟ่า
[แก้]- นวลพรรณ ล่ำซำ นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (เจ้าภาพ)
- ผู้แทนสมาคมฟุตบอลของประเทศสมาชิกอีก 210 ประเทศ จาก 6 สมาพันธ์
- สมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย 46 ประเทศ
- สหภาพสมาคมฟุตบอลยุโรป 55 ประเทศ
- สมาพันธ์ฟุตบอลอเมริกาเหนือ อเมริกากลาง และแคริบเบียน 35 ประเทศ
- สมาพันธ์ฟุตบอลอเมริกาใต้ 10 ประเทศ
- สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งแอฟริกา 54 ประเทศ
- สมาพันธ์ฟุตบอลโอเชียเนีย 11 ประเทศ
ผู้แทนรัฐบาล
[แก้]- สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กำกับดูแลกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และประธานกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย (ผู้แทนรัฐบาลไทย)[19]
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ (พฤษภาคม 2024) |
ผู้แทนนักฟุตบอล
[แก้]- อิบัน กอร์โดบา อดีตนักฟุตบอลชาวโคลอมเบีย
- แอมานุแอล อาเดอแบยอร์ อดีตนักฟุตบอลชาวโตโก
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ (พฤษภาคม 2024) |
การเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลกหญิง 2027
[แก้]ประเทศ | คะแนนโหวต[20] |
---|---|
บราซิล | 119 |
เบลเยียม, เยอรมนี และ เนเธอร์แลนด์ | 78 |
งดออกเสียง | 10 |
จำนวนผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด | 207 |
เสียงข้างมากที่ต้องการ | 104 |
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ (พฤษภาคม 2024) |
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 "สมาคมบอล เตรียมงานใหญ่เสนอตัวเจ้าภาพประชุมใหญ่ฟีฟ่า - เชื่อสร้างเม็ดเงินมหาศาล". ข่าวสด. 16 มีนาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 4 มีนาคม 2024.
- ↑ "ไทยได้เป็นเจ้าภาพ FIFA Congress 2024 ศูนย์สิริกิติ์-โรงแรมเฮ รับผู้ร่วมงานหลายพันคน". ประชาชาติธุรกิจ. 24 มิถุนายน 2023. สืบค้นเมื่อ 4 มีนาคม 2024.
- ↑ ""มาดามแป้ง" ขอบคุณรัฐบาล สนับสนุนจัด "ฟีฟ่า คองเกรส" ครั้งที่ 74 ที่ไทย". ผู้จัดการออนไลน์. 15 กุมภาพันธ์ 2024. สืบค้นเมื่อ 4 มีนาคม 2024.
- ↑ 4.0 4.1 Agenda of the 74th FIFA Congress
- ↑ 5.0 5.1 "FIFA Council takes key decisions ahead of the 74th FIFA Congress". inside.fifa.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ 6.0 6.1 Under-17 World Cups to be held every year from 2025, says FIFA
- ↑ "FIFA President tells CONMEBOL Ordinary Congress "protecting football's values" is crucial". inside.fifa.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Brazil chosen to host 2027 Women's World Cup as Gaza war overshadows FIFA congress". France 24 (ภาษาอังกฤษ). 2024-05-17.
- ↑ FIFA Congress to choose Women's World Cup host, seek racism penalties
- ↑ "FIFA to seek legal advice on a Palestinian proposal to suspend Israel from international soccer". AP News (ภาษาอังกฤษ). 2024-05-17.
- ↑ "FIFA ปัดลงมติโหวตแบนอิสราเอลภายในที่ประชุม FIFA Congress ที่ไทย ยืนยันให้ฝ่ายกฎหมายทำงานก่อน". THE STANDARD. 2024-05-17.
- ↑ Boonwanit, Wootinon. "ตำนานโลกถึงไทย 'เวรอน' ขึ้นรถตุ๊กๆ, 'ฟิโก-เซดอร์ฟ' ก็มา". เดลินิวส์.
- ↑ "'มาดามแป้ง'ร่วมประชุม 'AFC Ordinary Congress' กับสมาชิก47ประเทศ". 2024-05-16.
- ↑ นายกฯ เปิดทำเนียบต้อนรับคณะผู้บริหารจาก FIFA เน้นย้ำความสำคัญของฟุตบอลที่สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เยาวชน ส่งเสริมความหลากหลาย เท่าเทียม และมิตรภาพของคนในสังคม
- ↑ "รวมตำนานของโลก! "มาดามแป้ง" ร่วมชมฟุตบอลนัดพิเศษ-ฟีฟ่า ให้เกียรติมอบถ้วยแชมป์". mgronline.com. 2024-05-16.
- ↑ Phongsawat, Pittiyaporn. "เทพล้วนๆ! ชมภาพชุดตำนานแข้งโลกดวลแข้งฟุตบอลพิเศษในไทย". เดลินิวส์.
- ↑ "ปธ.ฟีฟ่า ร่วมเปิดอาคารสมาคมฟุตบอลฯ พร้อมจัดกิจกรรมฟุตบอลคลีนิก". มติชน. 17 พฤษภาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 17 พฤษภาคม 2024.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "ไทยเจ้าภาพประชุม "FIFA Congress ครั้งที่ 74" วันที่ 15-17 พ.ค.67". ฐานเศรษฐกิจ. 15 พฤษภาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 17 พฤษภาคม 2024.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ Boonwanit, Wootinon. "'ฟีฟ่า'แจงเหตุต้องเพิ่มทีมบอลโลก - เตรียมจัดรายการอีก". เดลินิวส์.
- ↑ Brazil declared host of 2027 Women's World Cup at FIFA Congress
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]ก่อนหน้า | ฟีฟ่าคองเกรส ครั้งที่ 74 | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
ฟีฟ่าคองเกรส ครั้งที่ 73 | การประชุมฟีฟ่าคองเกรส (13–17 พฤษภาคม ค.ศ. 2024) |
ฟีฟ่าคองเกรส ครั้งที่ 75 |