ข้ามไปเนื้อหา

ตนกูสุเบีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ซาฟียะฮ์/สุเบีย
บาทบริจาริกาในรัชกาลที่ 4
ประสูติพ.ศ. 2381
สิ้นพระชนม์16 มกราคม พ.ศ. 2437 (56 ปี)[1]
พระสวามีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2404–2411)[2]
เติงกูลง บินเติงกูกูดิน (พ.ศ. 2419–2428)[2]
พระบุตรสองคน
ราชวงศ์เบินดาฮารา (ประสูติ)
จักรี (เสกสมรส)
พระบิดาสุลต่านมูฮัมมัดที่ 2 มูอัซซัม ชะฮ์
พระมารดาเติงกูเกิลซุม เลอบาร์ ปูติฮ์
ศาสนาอิสลาม

เติงกูซาฟียะฮ์ บินตี อัลมาร์ฮุม ซุลตัน มูฮัมเมด มูอัซซัม ชะฮ์ (มลายู: Tengku Safiah binti al-Marhum Sultan Muhammed Muazzam Shah;[2] ราว พ.ศ. 2381 – 16 มกราคม พ.ศ. 2437)[1] เป็นที่รู้จักในนาม ตนกูสุปิยา, สุเบีย, สุเปีย หรือ สะเปีย[3] เป็นเจ้านายมลายูจากรัฐสุลต่านรีเยา-ลิงกา[4] ที่เคยรับราชการเป็นบาทบริจาริกามุสลิมท่านแรกและท่านเดียวในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[5][6][7] ถือเป็นหนึ่งในสี่บาทบริจาริกามุสลิมของพระมหากษัตริย์ไทย[8][9] และหากเจ้าจอมท่านนี้ประสูติการพระราชบุตร พระราชบุตรพระองค์นั้นก็จะเป็นเจ้าฟ้าโดยอัตโนมัติ เพราะถือว่ามีพระชนนีเป็นเจ้า เช่นเดียวกับกรณีของเจ้าจอมพระองค์เจ้ากำโพชราชสุดาดวง บาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกท่านที่เป็นเจ้านายต่างด้าวเช่นกัน แต่เจ้าจอมทั้งสองท่านก็มิได้ประสูติพระราชบุตรแต่อย่างใด[10][11]

หลังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว ตนกูสุเบียเสกสมรสใหม่กับเติงกูลง บินเติงกูกูดิน (Tengku Long bin Tengku Kudin) ที่รัฐตรังกานู[2]

ประวัติ

[แก้]

ชีวิตตอนต้น

[แก้]

เจ้าจอมตนกูสุเบียเป็นพระธิดาของสุลต่านมูฮัมมัดที่ 2 มูอัซซัม ชะฮ์แห่งลิงกา (Sultan Muhammed II Muazzam Shah) เกิดแต่เติงกูเกิลซุม เลอบาร์ ปูติฮ์ (Tengku Kelsum Lebar Putih) หรือปรากฏใน พงษาวดารเมืองตรังกานู ว่า ตนกูลีปอ หรือ ริบอ พระชายาพระองค์แรก และเป็นพระธิดาในสุลต่านอะฮ์มัด ชะฮ์แห่งตรังกานู (Sultan Ahmad Shah) หรือพระยาตรังกานูอามัด ใน พงษาวดารเมืองตรังกานู ระบุว่า "...ตนกูลีปอเปนภรรยาเจ้าเมืองสิงคา มีบุตร คือ สุลต่านมะหะมุด ๑ ตนกูสะเปีย ๑..." โดยเจ้าจอมตนกูสุเบียมีพระพี่น้องรวมพระชนกชนนีสามพระองค์ มีพระเชษฐาคือสุลต่านมะฮ์มุดที่ 4 มูซัฟฟาร์ ชะฮ์ (Sultan Mahmud IV Muzaffar Shah) หรือ สุลต่านมะหะมุด หรือมหะมุด เป็นสุลต่านเมืองลิงกาพระองค์ถัดมา[2][5] ขณะที่พีรพัฒน์ เพชราบรรพ์ (2566) ระบุว่า ตนกูสุเบียประสูติแต่เติงกู จิก เลอบาร์ พระขนิษฐาของเติงกูเกิลซุม เลอบาร์ ปูติฮ์[12] ซึ่งเนื้อหาสอดคล้องกับ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ซึ่งระบุตนกูสุเบียว่า "...น้องหญิงต่างมารดา..." ของสุลต่านมะฮ์มุดที่ 4[13]

บางแหล่งข้อมูลระบุว่า ตนกูสุเบียเป็นพระธิดาลำดับที่เจ็ดของสุลต่านมูฮัมมัดที่ 2 มูอัซซัม ชะฮ์ ประสูติแต่เอินจิกฮาลีมะฮ์ บินตี อับดุลละฮ์ พระชายาชาวจีนที่เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม จากข้อมูลนี้ตนกูสุเบียมีเชื้อสายจีนครึ่งหนึ่ง และเป็นพระขนิษฐาต่างพระชนนีของสุลต่านมะฮ์มุด มูซัฟฟาร์ ชะฮ์[14]

ในราชสำนักสยาม

[แก้]

เจ้าจอมตนกูสุเบียได้เข้าไปรับราชการสนองพระเดชพระคุณเป็นบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2404[2] ดังปรากฏใน พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ความว่า[13]

"ณ วันศุกร เดือน ๘ อุตราสาธ แรม ๔ ค่ำโปรดฯ ให้สุลต่านเข้าเฝ้าพร้อมด้วยศรีตวันกรมการเมืองตรังกานู ซึ่งเข้ามาถวายต้นไม้ทองเงิน เสด็จออกรับใหญ่ให้เป็นเกียรติยศแก่สุลต่านมะหมุด ๆ คิดถึงพระเดชพระคุณ จึงยกน้องหญิงต่างมารดาอายุ ๒๓ ปี ชื่อตนกูสุปิยาถวายให้ทำราชการอยู่ข้างใน"

ใกล้เคียงกันข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้ใน พงษาวดารเมืองตรังกานู ระบุเนื้อหาไว้ ความว่า[15]

"...เมื่อสุลต่านมหะมุดเข้าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทครั้งนั้น เสด็จออกแขกเมืองอย่างใหญ่ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม สุลต่านมหะมุดพักอยู่ ณ กรุงเทพฯ ปีหนึ่ง ตนกูสะเปียได้ถวายตัวทำราชการอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ณ เดือนเจ็ด ปีจอ จัตวาศก (เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2405)..."

ตนกูสุเบียถือเป็นพระสนมที่เป็นอิสลามิกชนท่านแรกและท่านเดียวในรัชกาล[6][7] ก่อนหน้านี้เคยมีบาทบริจาริกาที่นับถือศาสนาอิสลามรับราชการก่อนหน้าสองคน ได้แก่ เจ้าจอมหงส์ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และเจ้าจอมจีบ หรือจิตร ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แต่ทั้งสองนับถือนิกายชีอะฮ์[8] ส่วนตัวตนกูสุเบียนั้นเป็นบาทบริจาริกามุสลิมเพียงคนเดียวที่นับถือนิกายซุนนี[16] เธอรับราชการอย่างไม่เต็มใจ[17] แต่ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นหลักประกันสำหรับการแสดงความจงรักภักดีของรัฐสุลต่านตรังกานูและลิงกาที่มีต่อกษัตริย์สยาม รวมทั้งมุ่งหวังให้กรุงสยามแทรกแซงการเมืองของอาณาจักรปะหังที่สุลต่านมะฮ์มุดที่ 4 หมายพระทัยจะยึดครอง[18] นับว่าการถวายตัวในครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากความรักฉันสามีภรรยา หากแต่เป็นเพียงเครื่องมือที่ใช้เชื่อมความสัมพันธ์ทางการเมืองเท่านั้น[19] ด้วยความที่เจ้าจอมตนกูสุเบียมีพระชาติกำเนิดเป็นเจ้านายจากต่างประเทศ หากเจ้าจอมมีพระสูติการพระราชบุตร พระราชบุตรพระองค์นั้นจะถูกยกเป็น เจ้าฟ้า ตั้งแต่แรกประสูติหรือที่เรียกว่า "เจ้าฟ้าตรง" หรือ "เจ้าฟ้าไบไรต์"[10] เช่นเดียวกับเจ้าจอมพระองค์เจ้ากำโพชราชสุดาดวง พระสนมอีกพระองค์หนึ่งที่เป็นเจ้านายจากเมืองเขมร แต่เจ้าจอมก็มิได้ให้ประสูติการพระราชโอรส ดังปรากฏใน ธรรมเนียมในราชตระกูลสยาม ความว่า[10]

"...ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นักเยี่ยมซึ่งเป็นบุตรสมเด็จพระเจ้านโรดมเจ้ากรุงกัมพูชา ซึ่งโปรดฯ ให้เป็นพระองค์เจ้ากำโพชราชสุดาดวง แลตนกูสุเบีย ซึ่งเป็นน้องสาวสุลต่านมหมุดเมืองลิงงา เป็นพระสนมอยู่ทั้งสองคน ก็ได้ปรารภเป็นการดังทราบทั่วกัน ถ้าพระราชบุตรเกิดด้วยเจ้า ๒ คนนี้ ก็ต้องเป็นเจ้าฟ้าตามธรรมเนียมเหมือนกัน แต่ก็มีคนรังเกียจอยู่ในการที่จะต้องเป็นดังนั้นมาก"

ในงานเขียนของแอนนา ลีโอโนเวนส์ ครูสอนภาษาอังกฤษในราชสำนักรัชกาลที่ 4 กล่าวถึงเจ้าจอมตนกูสุเบียว่าเป็นเจ้าจอมที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตกหลุมรักตั้งแต่เธอเข้ามาในราชสำนัก แต่ตนกูสุเบียนั้นไม่ค่อยเต็มใจจะถวายงานและวางท่าทีนิ่งเฉย ที่สุดจึงถูกปลดจากตำแหน่งและใช้ชีวิตอยู่ล้าหลังในกำแพงวัง[17] หลังสุลต่านมะฮ์มุด พระเชษฐาถึงแก่กรรมใน พ.ศ. 2407 พระยาตรังกานูจึงส่งหนังสือขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต นำครอบครัวของสุลต่านมะฮ์มุดในกรุงเทพมหานครกลับคืน ก็โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้ไป[20] ส่วนตนกูสุเบียยังอยู่พำนักอยู่ในพระบรมมหาราชวังต่อไป

สมรสใหม่

[แก้]

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2411 ล่วงมาในปี พ.ศ. 2419 เจ้าจอมตนกูสุเบียจึงกราบบังคมทูลลาออกจากราชการ โดยออกจากพระบรมมหาราชวังไปอาศัยกับพระยาตรังกานูอุมา ผู้ลุง ก่อนเสกสมรสใหม่กับเติงกูลง บินเติงกูกูดิน (Tengku Long bin Tengku Kudin) หรือปรากฏใน พงษาวดารเมืองตรังกานู ว่าตนกูหลงบุตรตนกูเดน หลานพระยาตรังกานูกาโหด ในปีเดียวกันนั้น[2] และไปใช้ชีวิตที่ตรังกานู มีบุตรธิดาสองคน[21] เป็นชายชื่อเติงกูงะฮ์ บินเติงกูลง อีกคนเป็นหญิงไม่ปรากฏนาม[14] ตนกูสุเบียอาศัยอยู่ที่นั่นจนกระทั่งสามีเสียชีวิตลงในปี พ.ศ. 2428[2]

หลังเจ้าจอมตนกูสุเบียออกจากพระบรมมหาราชวังกรุงสยามไปแล้ว แต่ก็ยังปรากฏในบันทึกของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ที่ทรงบันทึกไว้ในจดหมายเหตุรายวันของพระองค์เมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2431 ขณะโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประพาสภาคใต้ที่ทรงพบเจ้าจอมตนกูสุเบียร่วมเฝ้าแหนที่ตรังกานูด้วย ความว่า[3]

"๓ โมงเช้า ๔๐ มินิต (09.40 น.) ถึงเมืองตรังกานู [...] พระยาตรังกานูกับรายามุดาศรีตวันกรมการมาคอยรับเสด็จพร้อมกัน ประทับอยู่ครู่หนึ่งแล้วเสด็จลงเรือไปประทับ​ที่บ้านพระยาตรังกานู มีแขกแต่งเป็นคู่แห่เหมือนเมืองกลันตัน ถึงบ้านมีผู้หญิงแต่งตัวคลุมหัวมาคอยรับอยู่มาก มีตนกูสะเปียซึ่งเคยเข้าอยู่เป็นเจ้าจอมทูลหม่อมปู่เป็นต้น..."

เจ้าจอมตนกูสุเบียถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2437[1]

พงศาวลี

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 "ทุงกู ซาเฟีย แห่งลิงคะ". ราชสกุลกฤดากร. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-13. สืบค้นเมื่อ 20 เมษายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 2.7 "LINGGA-RIAU (Sultanate)". Royal Ark. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-01-18. สืบค้นเมื่อ 20 เมษายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. 3.0 3.1 สมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ. "จดหมายเหตุรายวัน ของสมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พุทธศักราช ๒๔๓๑". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 8 เมษายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. นักรบ มูลมานัส (10 ตุลาคม 2561). "เรื่องเล่าเส้นผมเจ้าดารารัศมี ทหารอินเดียนแดง ที่ไขข้อข้องใจว่าทำไมถึง Don't touch my hair!". The Cloud. สืบค้นเมื่อ 8 เมษายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. 5.0 5.1 กัลยา เกื้อตระกูล. พระอัครมเหสี พระบรมราชินี พระชายานารี เจ้าจอมมารดา และเจ้าจอม ในรัชกาลที่ ๑-๗ กรุงเทพฯ : ยิปซี. 2552, หน้า 138
  6. 6.0 6.1 "เปิดภาพชุด 'อันซีนสยาม' จากช่างภาพฝรั่งในตำนาน 'วังจักรพงษ์' คัดเอง ย้ำไม่เคยเผยแพร่ในเมืองไทย". มติชนออนไลน์. 17 สิงหาคม 2559. สืบค้นเมื่อ 20 เมษายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. 7.0 7.1 "คมชัดระดับ HD "ฉายาลักษณ์สยาม" นิทรรศการภาพถ่ายโบราณ". ศิลปวัฒนธรรม. 7 กันยายน 2559. สืบค้นเมื่อ 20 เมษายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. 8.0 8.1 ปดิวลดา บวรศักดิ์ (25 พฤษภาคม 2567). ""เจ้าจอมชาวมุสลิม" สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีใครบ้าง?". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 16 สิงหาคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. พีรพัฒน์ เพชราบรรพ์ (28 เมษายน 2566). พระสนมมุสลิมในราชสำนักรัตนโกสินทร์. วารสารประวัติศาสตร์ มศว. p. 382.
  10. 10.0 10.1 10.2 "ธรรมเนียมราชตระกูลแห่งรัตนโกสินทร์". ภาษาสยาม. 10 พฤศจิกายน 2551. สืบค้นเมื่อ 20 เมษายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  11. ""ธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม" พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5". ศิลปวัฒนธรรม. 1 ธันวาคม 2562. สืบค้นเมื่อ 8 เมษายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  12. พีรพัฒน์ เพชราบรรพ์ (28 เมษายน 2566). พระสนมมุสลิมในราชสำนักรัตนโกสินทร์. วารสารประวัติศาสตร์ มศว. p. 399.
  13. 13.0 13.1 ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2563, หน้า 243
  14. 14.0 14.1 "TRENGGANU". Royal Ark. สืบค้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  15. พีรพัฒน์ เพชราบรรพ์ (28 เมษายน 2566). พระสนมมุสลิมในราชสำนักรัตนโกสินทร์. วารสารประวัติศาสตร์ มศว. p. 397.
  16. พีรพัฒน์ เพชราบรรพ์ (28 เมษายน 2566). พระสนมมุสลิมในราชสำนักรัตนโกสินทร์. วารสารประวัติศาสตร์ มศว. p. 396.
  17. 17.0 17.1 ลีโอโนเวนส์, แอนนา แฮร์เรียต (เขียน), สุภัตรา ภูมิประภาสและสุภิดา แก้วสุขสมบัติ (แปล). อ่านสยามตามแอนนา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2562, หน้า 303
  18. ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2563, หน้า 237
  19. พีรพัฒน์ เพชราบรรพ์ (28 เมษายน 2566). พระสนมมุสลิมในราชสำนักรัตนโกสินทร์ (PDF). วารสารประวัติศาสตร์ มศว. p. 404.
  20. ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2563, หน้า 313-314
  21. "LINGGA". Royal Ark. สืบค้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]