ข้ามไปเนื้อหา

ญาณ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ญาณ (บาลี: ญาณ ñāṇa; สันสกฤต: ज्ञान ชฺญาน) แปลว่า ความรู้ คือ ปรีชาหยั่งรู้ ปรีชากำหนดรู้ หรือ กำหนดรู้ได้ด้วยอำนาจการทำสมาธิและวิปัสสนา เรียกว่า วิชชา บ้าง

ญาณ เป็นไวพจน์คำหนึ่งของปัญญา แต่มักใช้ในความหมายที่จำเพาะกว่า คือเป็นปัญญาที่ทำงานออกผลมาเป็นเรื่อง ๆ มองเห็นสิ่งนั้น ๆ หรือเรื่องนั้น ๆ ตามสภาวะจริง

มีการกล่าวถึงญาณในหลายลักษณะ หรืออาจจัดแบ่งญาณได้เป็น ญาณ 3 (3 หมวด) และ ญาณ 16 (ในวิปัสสนาญาณ) ดังนี้

ญาณ 3 ได้แก่ วิชชา 3

[แก้]

คำว่า 'ญาณ' 3 อาจหมายถึงวิชชา 3 คือ[1]

  • บุพเพนิวาสานุสสติญาณ ความรู้เป็นเหตุให้ระลึกถึงขันธ์ที่เกิดในอดีตได้ คือ การระลึกชาติของตนได้
  • จุตูปปาตญาณ ความรู้ในจุติและอุบัติของสัตว์โลกได้ เรียกว่า ทิพพจักขุญาณ หรือ ทิพยจักษุญาณ บ้าง
  • อาสวักขยญาณ ความรู้ในการกำจัดอาสวะให้สิ้นไป

ญาณ 3 ในส่วนอดีต-อนาคต-ปัจจุบัน

[แก้]

ญาณ 3 อีกหมวดหนึ่ง ได้แก่[2]

  • อตีตังสญาณ หมายถึง ญาณหยั่งรู้ในส่วนอดีต
  • อนาคตังสญาณ หมายถึง ญาณหยั่งรู้ในส่วนอนาคต
  • ปัจจุปปันญาณ หมายถึง ญาณหยั่งรู้ในส่วนปัจจุบัน

ญาณ 3 ในการหยั่งรู้อริยสัจ

[แก้]

ญาณ 3 อีกหมวดหนึ่ง ได้แก่[3]

  • สัจจญาณ หมายถึง ญาณในการหยั่งรู้อริยสัจแต่ละอย่าง
  • กิจจญาณ หมายถึง ญาณในการหยั่งรู้กิจในอริยสัจ
  • กตญาณ หมายถึง ญาณในการหยั่งรู้กิจอันได้ทำแล้วในอริยสัจ

ญาณ 16

[แก้]

ญาณ 16 ไม่ปรากฏในพระไตรปิฎกภาษาบาลีโดยตรงทั้งหมด แต่วิปัสสนาจารย์สายพม่าได้เรียบเรียงจากญาณที่ระบุในปฏิสัมภิทามรรค และคัมภีร์วิสุทธิมรรค รวมกัน 16 ขั้น เรียกว่า ญาณ 16 (โสฬสญาณ) เป็นญาณที่เกิดแก่ผู้บำเพ็ญวิปัสสนา โดยลำดับตั้งแต่ต้น จนถึงจุดหมายคือมรรคผลนิพพาน ได้แก่

  1. นามรูปปริจเฉทญาณ หมายถึง ญาณกำหนดแยกนามรูป
  2. นามรูปปัจจัยปริคคหญาณ หมายถึง ญาณจับปัจจัยแห่งนามรูป
  3. สัมมสนญาณ หมายถึง ญาณที่เห็นสังขตลักษณะคือความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของนามรูป และเริ่มเห็นไตรลักษณ์ เห็นตรุณอุทยัพพยญาณหรืออุทยัพพยญาณอย่างอ่อน วิปัสสนูปกิเลสจะเกิดขึ้นได้ในช่วงนี้
  4. อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ (เรียกโดยย่อว่า อุพยัพพยญาณ) หมายถึง ญาณตามเห็นความเกิดและความดับแห่งนามรูป เห็นพลวอุทยัพพยญาณหรืออุทยัพพยญาณอย่างแก่ จัดว่าจิตเริ่มเข้าสู่วิปัสสนาญาณที่แท้จริง (ระหว่างเกิดถึงดับ เห็นเป็นดุจกระแสน้ำที่ไหล)
  5. ภังคานุปัสสนาญาณ (เรียกโดยย่อว่า ภังคญาณ) หมายถึง ญาณตามเห็นจำเพาะความดับเด่นขึ้นมาอย่างเดียว
  6. ภยตูปัฏฐานญาณ (เรียกโดยย่อว่า ภยญาณ) หมายถึง ญาณอันมองเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว ไม่แน่นอน ดุจกลัวต่อมรณะที่จะเกิด
  7. อาทีนวานุปัสสนาญาณ (เรียกโดยย่อว่า อาทีนวญาณ) หมายถึง ญาณคำนึงเห็นโทษภัยของสิ่งทั้งปวง ผันผวนแปรปรวน พึ่งพิงมิได้
  8. นิพพิทานุปัสสนาญาณ (เรียกโดยย่อว่า นิพพิทาญาณ) หมายถึง ญาณคำนึงเห็นด้วยความเบื่อหน่าย
  9. มุจจิตุกัมยตาญาณ หมายถึง ญาณหยั่งรู้อันใคร่จะพ้นไปเสีย
  10. ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ (เรียกโดยย่อว่า ปฏิสังขาญาณ) หมายถึง ญาณอันพิจารณาทบทวนเพื่อจะหาทางหนี
  11. สังขารุเบกขาญาณ หมายถึง ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางวางเฉยต่อสังขาร
  12. สัจจานุโลมิกญาณ (เรียกโดยย่อว่า อนุโลมญาณ) หมายถึง ญาณเป็นไปโดยควรแก่การหยั่งรู้อริยสัจ สามารถเห็นไตรลักษณ์ ด้วยภาวนามยปัญญาได้(พิจารณาวิปัสสนาญาณทั้ง๘ที่ผ่านมา ว่าเป็นทุกข์ เมื่อเห็นทุกข์ก็เห็น สมุทัย นิโรธ มรรค โดยแต่ละญาณเป็นเหตุเกิดมรรค ทั้ง๘ ตามลำดับ)
  13. โคตรภูญาณ หมายถึง ญาณครอบโคตร คือ หัวต่อที่ข้ามพ้นภาวะปุถุชน (ถ้าเป็นอริยบุคคลแล้ว จะเรียกว่าวิทานะญาณ)เห็นความทุกข์จนไม่กลัวต่อความว่าง ดุจบุคคลกล้าโดดจากหน้าผาสู่ความว่างเพราะรังเกียจในหน้าผานั้นอย่างสุดจิตสุดใจ
  14. มัคคญาณ หมายถึง ญาณในอริยมรรค
  15. ผลญาณ หมายถึง ญาณอริยผล
  16. ปัจจเวกขณญาณ หมายถึง ญาณที่พิจารณาทบทวน (ว่ากิเลสใดดับไป กิเลสยังเหลืออยู่ กิจที่ต้องทำยังมีอยู่หรือไม่ พิจารณาสัจจานุโลมมิกญาณอีก)

วิปัสสนาญาณ 9

[แก้]

แต่เมื่อกล่าวถึงวิปัสสนาญาณโดยเฉพาะ อันหมายถึงญาณที่นับเข้าในวิปัสสนา หรือญาณที่จัดเป็นวิปัสสนา จะมีเพียง 9 ขั้น คือ ตั้งแต่ อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ถึง สัจจานุโลมิกญาณ (ตามปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ (ขั้นหนึ่งในวิสุทธิ 7) ที่บรรยายคัมภีร์ในวิสุทธิมรรค แต่ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ นับรวม สัมมสนญาณ ด้วยเป็น 10 ขั้น) เมื่อโพชฌงค์เจริญบริบูรณ์ครบ 7 ข้อ จิตจึงมีกำลังสามารถเห็นวิปัสสนาญาณได้ และใช้วิปัสสนาที่ปรากฏขึ้นมาเป็นเครื่องมือนำไปสู่มรรค ผล นิพพาน

  • วิปัสสนาญาณ คือ อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ภังคานุปัสสนาญาณ นั้นเห็นอนิจจัง
  • วิปัสสนาญาณ คือ ภยตูปัฏฐานญาณ อาทีนวานุปัสสนาญาณ นิพพิทานุปัสสนาญาณ นั้นเห็นทุกขัง
  • วิปัสสนาญาณ คือ มุจจิตุกัมยตาญาณ ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ สังขารุเบกขาญาณ นั้นเห็นอนัตตา

ญาณ 16 จัดเข้าในวิสุทธิ 7

[แก้]
  • นามรูปปริทเฉทญาณ จัดเข้าใน ทิฏฐิวิสุทธิ
  • นามรูปปัจจยปริคคหญาณ จัดเข้าในกังขาวิตรณวิสุทธิ
  • สัมมสนญาณและอุทธยัพพยญาณอย่างอ่อน จัดเข้าในมัคคามัคคญาณทัสสนะวิสุทธิ
  • วิปัสสนาญาณทั้ง 9 จัดเข้าในปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ
  • โคตรภูญาณ มัคคญาณ ผลญาณ ปัจจเวกขณญาณ จัดเป็นญาณทัสสนวิสุทธิ

ลักษณะ 3 อย่างในญาณ 16

[แก้]
  1. สภาวะลักษณะ เห็นลักษณะที่ปรากฏจากความเป็นไปของธาตุ ปรากฏตั้งแต่ยังไม่ได้ญาณถึงนามรูปปัจจยปริคหญาณ
  2. สังขตลักษณะ เห็นลักษณะคือ ความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ปรากฏตั้งแต่สัมมสนญาณ
  3. สามัญญลักษณะ เห็นลักษณะทั้งสามหรือไตรลักษณ์ ได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ปรากฏตั้งแต่อุทธยัพพยญาณ

ระดับปัญญาของการรับรู้เข้าใจรูปนาม

[แก้]
  1. รู้ว่าสิ่งใดคือรูป สิ่งใดคือนาม รูปนามนั้น ๆ มีสภาวะลักษณะเช่นไร (นามรูปปริจเฉทญาณ)
  2. รู้ว่าเหตุปัจจัยของรูปนามนั้นๆคืออะไร อาหารของรูปนาม อารมณ์ อุปกิเลส กิเลส สังโยชน์ อนุสัย ชนิดนั้น ๆ คืออะไร ตลอดจนรู้ว่าจะดับไปเพราะเหตุปัจจัยใดดับไปและอาหารใดหมดไป (นามรูปปัจจยปริคหญาณ)
  3. รู้ความเป็นไปของรูปนาม คือ สังขตลักษณะและสามัญญลักษณะ ว่าต้องเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป และเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา (สัมมสนญาณ และ วิปัสสนาญาณ 9)

วิปัสสนาญาณ 9 กับ มรรคมีองค์ 8

[แก้]

วิปัสสนาญาณ 8 ข้อแรก เป็นญาณที่กำหนดเห็นพระไตรลักษณ์ จัดเป็นทุกขอริยสัจ เพราะเห็นทุกข์ ดังนั้น เมื่อทุกข์ถูกรู้ สมุทัยจึงถูกละ นิโรธจึงถูกทำให้แจ้ง มรรคจึงถูกปฏิบัติ ตามลำดับไปด้วยเช่นกัน

เพราะเห็นความเกิดขึ้นและความดับไปเป็นธรรมดาของสิ่งทั้งปวง และเริ่มเห็นอริยสัจเบื้องต้น ว่านี่ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

เพราะเห็นความดับไปของสิ่งทั้งปวง จึงไม่เห็นประโยชน์ในกาม ในการจองเวร ในการเบียดเบียน

เพราะกลัวภัยในวัฏฏสงสารที่จองเวรกันและสร้างเวรต่อกันมักอันเกิดจากคำพูดที่ไม่รู้จักคิด จึงเกิดการสำรวมวาจา

เพราะเห็นโทษอันเกิดจากการสร้างกรรมทางกาย มีฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม อันเกิดจากความโลภ โกรธ หลง ในใจตน เป็นเหตุให้พบเจอวิบากกรรมต่าง ๆ

เพราะเบื่อหน่ายในรูปนามจึงพอเพียงต่อความต้องการ ไม่สร้างกรรมคือมิจฉาอาชีวะที่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนแค่เพราะตนเองได้ผลประโยชน์

เพราะเมื่อจิตต้องการแสวงหาทางออกจากทุกข์ จึงเกิดความเพียรพยายาม

  • ปฏิสังขาญาณ เกิดสัมมาสติ

เพราะกลับมาพิจารณาทบทวนในรูปนามอีกครั้ง จนเห็นว่าความดับไปของรูปนามเกิดขึ้นได้ด้วยการดับเหตุปัจจัยของรูปนาม เห็นปฏิจจสมุปบาทสายดับหรือปฏิโลม

เพราะเมื่อจิตวางอุเบกขาต่อรูปนาม จิตจึงตั้งมั่นเป็นสมาธิ

เมื่อมรรคอริยสัจเกิดขึ้น กิเลสเบื้องต้นอันเนื่องด้วยมรรค 8 กลุ่มจึงถูกละชั่วคราวเช่นกัน จึงเกิดสมุทัยชั่วคราว เมื่อสมุทัยถูกละชั่วคราว จึงเกิดนิโรธชั่วคราวขึ้น ตามกิเลสที่ถูกละไป

  • สัจจานุโลมมิกญาณ เกิดมรรคสามัคคี

เมื่อพิจารณาวิปัสสนาญาณ 8 ข้อแรกพร้อมกัน จึงเท่ากับการหมุนธรรมจักรไปด้วย เพราะมรรคมีองค์ 8 ย่อมปรากฎขึ้นพร้อมกันเช่นกัน

ญาณ 16 กับ ปฏิจจสมุปบาท

[แก้]
  • นามรูปปัจจยปริคคหญาณ พิจารณาเห็นปฏิจจสมุปบาท สายเกิดหรืออนุโลม
  • ปฏิสังขาญาณ พิจารณาเห็นปฏิจจสมุปบาท สายดับหรือปฏิโลม

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ญาณ 3". พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. 4 มกราคม 2548. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. "ญาณ 3". พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. 4 มกราคม 2548. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. "ญาณ 3". พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. 4 มกราคม 2548. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)

ดูเพิ่ม

[แก้]