ข้ามไปเนื้อหา

นี่คือบทความคุณภาพ คลิกเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อักษรไทย
รูปพยัญชนะ
รูปสระ
–ั –ํ –ิ ' "
–ุ –ู –็
ฤๅ ฦๅ
รูปวรรณยุกต์
–่ –้ –๊ –๋
เครื่องหมายอื่น ๆ
–์ –๎ –ฺ
เครื่องหมายวรรคตอน
ฯลฯ

เป็นพยัญชนะตัวที่ 3 จากพยัญชนะทั้งหมด 44 ตัวในอักษรไทย อยู่ในลำดับถัดจาก และก่อนหน้า จัดอยู่ในกลุ่มอักษรสูงในระบบไตรยางศ์ มีชื่อเรียกกำกับว่า "ฃ ขวด" เข้าในพวกกัณฐชะ (เกิดจากเพดานอ่อน) เป็นพยัญชนะชนิดหัวหยักหรือหัวแตก[1] ออกเสียงอย่าง ข เมื่อเป็นพยัญชนะต้น แทนเสียง [kʰ][2] ซึ่งเดิมทีนั้น ได้มีการคาดกันว่าเสียงของ ฃ นั้นมีความแตกต่างจากเสียง ข แต่กลับเพี้ยนไป

ปัจจุบันไม่มีคำศัพท์ในหมวดคำ ฃ ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 โดยระบุว่า ฃ เป็นอักษรที่ไม่นิยมใช้แล้ว[3] อย่างไรก็ตาม ยังมีการใช้อักษร ฃ ในบางแวดวง นัยว่าเพื่อเป็นการอนุรักษ์ให้ตัวอักษรไทยมีใช้ครบ 44 ตัว รวมถึงมีการพูดถึงการฟื้นฟูการใช้งานอักษร ฃ ขึ้นมาใหม่ รวมทั้งในแบบเรียนอักษรไทยและบนแป้นพิมพ์ภาษาไทยก็ยังคงมีอักษร ฃ อยู่

อักษร ฃ นี้เป็นอักษรของไทยดั้งเดิม และไม่ปรากฏในชุดอักษรภาษาอื่น ๆ ซึ่งหมายความว่า ในชุดอักษรภาษาอื่น ๆ ที่ลำดับอักษร แบบเดียวกันกับอักษรอินเดีย เช่น อักษรเทวนาครี อักษรขอม อักษรมอญ ฯลฯ ล้วนไม่มีตัวอักษร ฃ ทั้งสิ้น จึงให้เหตุผลว่า อักษร ฃ น่าจะเป็นการประดิษฐ์แทรกเช่นเดียวกับอักษร ฯลฯ เมื่อพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใน พ.ศ. 1826 และก็ได้เติมพยัญชนะและวรรณยุกต์เข้าในวรรคอักษรแบบอินเดีย เพื่อใช้แทนเสียงที่ภาษาในสมัยนั้นมีอยู่ให้ครบถ้วน[4] หรือไม่ก็คาดว่า ฃ ได้รับการดัดแปลงมาจากภาษาสันสกฤต

นอกจากตัวอักษร ฃ จะปรากฏในภาษาไทยแล้ว ตัวอักษร ฃ นี้ยังมีประวัติการใช้งานอยู่ในภาษาไทยถิ่นอื่นอีก เช่น คำเมือง[5] (ของอาณาจักรล้านนา) ภาษาไทขาว เป็นต้น

ประวัติ

[แก้]

สมัยสุโขทัย

[แก้]

หลักฐานเก่าแก่ที่สุดที่ปรากฏการใช้ ฃ ในภาษาไทย คือ ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง (จารึกเมื่อ พ.ศ. 1826) พบว่ามีการใช้ ฃ อยู่ 11 คำ[6][7] ได้แก่ ฃบบ → ฃับ (ขับร้อง)[a], ฃ๋า → ฃ้า (ข้า → ฆ่า)[b], ฃาม (มะขาม), ฃาย (ขาย), เฃา (ภูเขา), เฃ๋า → เฃ้า (เข้า)[c], ฃึ๋น → ฃึ้น (ขึ้น), ฃอ (ตะขอ) [8], ฃุน (ขุน), ฃวา (ขวา), แฃวน (แขวน)

นอกจากนั้น นักประวัติศาสตร์ยังได้พบกับร่องรอยของการใช้ ฃ ในจารึกอีกหลายแห่งในประเทศไทย เช่น จารึกป้านางเมาะ[9] จารึกพ่อขุนรามพล[10] จารึกวัดกำแพงงาม[11] และจารึกแสดงผลกรรมนำสู่นิพพาน[12] ซึ่งนักประวัติศาสตร์ได้สันนิษฐานไว้ว่าอักษร ฃ เป็นอักษรที่ปรากฏครั้งแรกในปี พ.ศ. 1935

ปัจจุบัน นักภาษาศาสตร์ได้นำคำที่ใช้เขียนด้วย ข และ ฃ ในศิลาจารึกหลักที่ 1 ไปเปรียบเทียบกับภาษาไทถิ่นอื่น ๆ เช่น ไทขาว ก็พบว่าเป็นคำที่ใช้เสียงประเภทเดียวกัน และแยกเสียง ข และ ฃ เหมือนกัน เพราะคำเหล่านี้เป็นคำที่เป็นมรดกตกทอดมาจากภาษาไทโบราณเก่าแก่ตั้งแต่ยังไม่มีอักษรเกิดขึ้น ภาษาไทถิ่นยังใช้คำเหล่านี้อยู่ แต่ว่าเสียงเพี้ยนไป โดยร่องรอยของการเปลี่ยนแปลงนี้สามารถสังเกตได้ชัดเจนจากศิลาจารึกหลักที่ 1 ว่าเริ่มมีการใช้ ข และ ฃ อย่างสับสน และใช้แทนที่กันในหลายแห่ง เช่น บ้างก็ใช้ ขุน บ้างก็ใช้ ฃุน [13]

นอกจากนี้ นักภาษาศาสตร์อ้างว่าการออกเสียง ฃ ในอดีตคือ [x] ซึ่งออกเสียงแตกต่างจาก ข [kʰ] ปัจจุบัน เราสามารถพบเห็นเสียงนี้ในภาษาไทสาขาอื่น ๆ เช่น ภาษาไทลื้อ ซึ่งยังคงสงวนเสียง [x] อยู่[14] ผู้ที่ประดิษฐ์อักษรไทยสมัยสุโขทัยนั้น ได้ทราบการแตกต่างในการออกเสียง จึงได้ประดิษฐ์อักษรที่แตกต่างกัน เพื่อแทนค่าการออกเสียงของทั้งสองเสียงนี้

สมัยอยุธยาและธนบุรี

[แก้]

ครั้นถึงสมัยอาณาจักรอยุธยา ตัวภาษาได้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปมาก[15] ซึ่งคาดว่าอาจเป็นเพราะว่ามีการใช้ศัพท์ใหม่เพิ่มเข้ามา[16] จากนั้นพบว่ามีการใช้ ฃ เริ่มลดลง แม้จะยังพอมีใช้กันบ้าง ทว่าไม่ปรากฏหลักเกณฑ์การใช้ ฃ ในตำราว่าด้วยอักขรวิธีของไทยในสมัยนั้น อีกทั้งพบว่าหลงเหลือหลักฐานอยู่น้อยมาก เช่น จารึกบนแผ่นอิฐมอญ จำนวน 3 ชิ้น ซึ่งพบที่ฝาผนังอุโบสถวัดท่าพูด อำเภอสามพราน[17]

สมัยรัตนโกสินทร์

[แก้]

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยาศรีสุนทรโวหารได้ระบุคำที่เขียนด้วย ฃ ในหนังสือชื่อ นิติสารสาธก เล่ม 1 ได้แก่ ฃอ[8], ฃ้อความ, ฃัน, ฃาน, ฃาด, ฃายหน้า, ฃำ, เฃา, เฃ้า, ฃุน, ไฃ, โฃก, ฃอง, เฃียน, ฃยัน และฃลุม

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหนังสือ "อักขราภิธานศรับท์" ของหมอบรัดเลย์ ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2416 พบคำที่ใช้ ฃ ขวด[18] ได้แก่ "ฃิก, ฃุก ๆ, ฃุกฃัก, ฃุกค่ำฃุกคืน, เฃกหัว, เฃกโฃก, แฃก, โฃก, ฃอกรั้ว, ฃงจู๊ และ ฃัง" (เฉพาะคำว่า "ขัง" พอเป็นลูกคำ เช่น ขังไก่ ขังคน ฯลฯ ใช้ ข ไข่ทั้งหมด) คำว่า "ข้าง" ใช้ ฃ ขวดก็มี ข ไข่ก็มี ส่วนคำที่ใช้ ข "ขิง, ขึง, ขึ้ง เข่ง, แขง, แข่ง, แข้ง, โขง, โข่ง, ของ" (รวมทั้งลูกคำ ยกเว้น ของสงฆ์) อันแสดงให้เห็นถึงความไม่มีเอกภาพในการใช้ ข ไข่ และ ฃ ขวด

ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อมีปทานุกรมของกระทรวงธรรมการ พ.ศ. 2470 ก็มีการระบุไว้ว่า "ฃ เป็นพยัญชนะตัวที่สามของพยัญชนะไทย แต่บัดนี้ไม่มีที่ใช้ "[19] เป็นอันหมดวาระของ ฃ ลง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ได้จัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมวัฒนธรรมไทยขึ้น เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2485[20] ซึ่งทำการลงมติให้ตัดตัวอักษรที่มีเสียงซ้ำกันออกไปหลายตัว รวมไปถึง ฃ ด้วย[21] โดยให้เปลี่ยนไปใช้ ข แทนทั้งหมด[22] แต่หลังจากใช้แบบอักษรใหม่เป็นเวลา 2 ปี ก็กลับมาใช้อย่างเดิมอีก

จนถึงปัจจุบัน แม้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493 จนถึงฉบับปรับปรุงแก้ไข พ.ศ. 2542 ก็ได้ให้คำอธิบายตัวอักษร 2 ตัวคือ ฃ และ ฅ ว่า "เลิกใช้แล้ว "[3][23] ทั้งที่ไม่เคยมีการประกาศเลิกใช้อย่างเป็นทางการแต่อย่างใด[24] ในสมัยหลังมา ปรากฏว่าใช้คำว่า เฃตร ที่ใช้พยัญชนะ ฃ อยู่เพียงคำเดียว จึงได้เรียกชื่ออักษรดังกล่าวว่า "ฃ เฃตร" แต่ภายหลังคำว่า "เฃตร" ก็เลิกใช้ไปอีก โดยแปลงเป็นเขตแทน ทำให้คำที่ปรากฏว่าใช้ ฃ ขวด ไม่มีอีกแล้วในภาษาไทย

การหายไป

[แก้]

สำหรับสาเหตุที่ทำให้มีการเลิกใช้ ฃ (ขวด) และ ฅ (คน) ไปอย่างสิ้นเชิงทีเดียวเลยนั้น คงเนื่องมาจากว่า เครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยยุคแรกในปี พ.ศ. 2434 (ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ซึ่งนายเอ็ดวิน ฮันเตอร์ แมคฟาร์แลนด์ได้ดัดแปลงเครื่องพิมพ์ดีดมาจากแบบของโรงงานสมิทพรีเมียร์นั้น ตัวแป้นพิมพ์มีตัวอักษรไม่เพียงพอที่จะรองรับอักษรไทยทั้งหมด และด้วยเหตุผลที่ว่า "[ฃ] เป็นพยัญชนะที่ไม่ค่อยได้ใช้ และสามารถทดแทนด้วยพยัญชนะตัวอื่นได้"[25] จึงมีการตัดพยัญชนะออก 2 ตัว คือ ฃ และ ฅ[19] ซึ่งศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ได้เขียนเล่าไว้ในหนังสือ "ตำนานอักษรไทย"

ส่วนการหายไปของ ฃ ในทางภาษาศาสตร์นั้น นักภาษาศาสตร์ได้ทำการศึกษาประวัติของพยัญชนะ ฃ และสันนิษฐานว่า ฃ เดิมมีฐานเสียงที่แตกต่างจากฐานเสียงของ ข โดยมีลักษณะเสียงเป็น พยัญชนะลิ้นไก่อโฆษะ ซึ่งพบได้ในภาษาต่าง ๆ ในกลุ่มภาษาไท และภาษาอื่น ๆ [7] กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ เสียง ฃ และ ฅ ในสมัยสุโขทัยนั้นออกเสียงลึกกว่าเสียง ข (ไข่) และ ค (ควาย) เวลาที่ออกเสียง ข (ไข่) และ ค (ควาย) โคนลิ้นแตะที่เพดานอ่อน ส่วน ฃ และ ฅ นั้น โคนลิ้นจะแตะที่ส่วนที่ถัดเพดานอ่อนเข้าไปอีก ซึ่งในปัจจุบันไม่มีเสียงนี้แล้วในภาษาไทยมาตรฐาน[26]

และสำหรับการที่ ฃ และ ฅ ค่อย ๆ หายไปจากภาษาปัจจุบันนั้น ยังเกิดจากอีกสาเหตุหนึ่งที่เป็นลักษณะธรรมชาติของภาษาที่ว่า เสียงใดเป็นเสียงโดดเดี่ยว ไม่มีความสัมพันธ์กับพยัญชนะใดเป็นพิเศษจะเปลี่ยนแปลงเสียง หรือสูญเสียเสียงได้เร็วกว่าพยัญชนะที่มีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้น ยกตัวอย่างเช่น ที่มีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้น เพราะเป็นเสียงก้อง ไม่มีลม แต่เนื่องจาก ฃ และ ฅ เป็นเสียงโดดเดี่ยว ดังนั้น เมื่อเวลาผ่านไป ฐานที่เกิดขึ้นจาก ฃ และ ฅ จะเขยิบขึ้นมากลายเป็น ข และ ค ตามลำดับ[27] ซึ่งศาสตราจารย์ ดร. คุณหญิงสุริยา รัตนกุลได้กล่าวว่า "...คนไทยในสมัยปัจจุบันไม่ได้มีหน่วยเสียงเสียดแทรกที่ฐานกรณ์ลิ้นไก่อยู่เหมือนในสมัยพ่อขุนรามคำแหง การค้นพบเสียงนี้ในภาษาไทขาวในประเทศเวียดนามและในภาษาตระกูลกัม-สุย (Kam-Sui) ในประเทศจีนช่วยให้ข้อสันนิษฐานในบทความนี้น่าเชื่อถือยิ่งขึ้น แต่การที่จะคิดว่าควรให้ภาษาไทขาวหรือภาษาตระกูลกัม-สุย เป็นต้นแบบสำหรับให้คนไทยหัดออกเสียง /q/ และเสียง /ɢ/ ตลอดจนความพยายามที่จะรื้อฟื้นนำ ฃ และ ฅ กลับมาใช้ใหม่นั้น คงเป็นความพยายามประเภทที่คนไทยเรียกว่า "ขี่ช้างจับตั๊กแตน"..."[27]

ฃ ในภาษาไทยถิ่นเหนือ

[แก้]

ฃ ( (ᨢ) ฃ๋ะ) ในภาษาไทยถิ่นเหนือยังมีใช้อยู่[5] แต่พบว่าในคัมภีร์ใบลานไม่ปรากฏอักษร ฃ บ่อยครั้งนัก เพราะตัวอักษร ฃ ยังไม่เด่นชัด คาดว่าน่าจะเป็นเพราะ ฃ สามารถใช้อักษร ข หรือ ขร (ᨡᩕ) แทนได้ โดยไม่ทำให้เสียงหรือความหมายต่างกันมากนัก และในการเขียนก็ไม่มีหลักเกณฑ์ที่ตายตัวว่าศัพท์ใดจะต้องใช้อักษร ฃ จึงเห็นได้ชัดว่ามีการเขียนที่ใช้อักษร ฃ และ ข สลับกันในศัพท์เดียวกันหรือข้อความที่ใกล้เคียงกัน ดังนั้น ในพจนานุกรมภาษาล้านนาจึงอาจบันทึกได้ว่าเคยปรากฏการใช้อักษร ฃ นี้ในฐานะพยัญชนะต้นของคำในอดีต แต่ปัจจุบันไม่นิยมใช้แล้วเหมือนกับภาษาไทยกลาง

และที่น่าสังเกตก็คือ การที่มีการเขียน ขร- อยู่บ้างนั้น อาจเป็นร่องรอยของอักษร ฃ เพราะอักษร ร ที่กำกับอยู่นั้น เป็นสัทลักษณ์ให้ออกเสียง ฃ ทำให้ต้องพยายามค้นหาคำที่อักษร ฃ นี้ขึ้น เพื่อให้เห็นอดีตแห่งอักษรศาสตร์ล้านนา และจากการศึกษาของศาสตราจารย์ฟาง เกว่ย ลี ท่านเห็นว่าอักษร ฃ นี้เป็นพยัญชนะสำคัญอันหนึ่งในภาษาไทดั้งเดิม ซึ่งมีเสียงเสียดแทรกและไม่ก้อง และท่านได้สันนิษฐานศัพท์ที่เคยใช้อักษรนี้เป็นพยัญชนะต้นได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งอาจสถาปนารูปศัพท์ให้ตรงกันกับศัพท์สันนิษฐานไว้ดังปรากฏในพจนานุกรม[28] นอกจากนั้น ยังมีผู้สังเกตว่าคำที่เขียนด้วยตัว ข กับ ฃ มีความหมายแตกต่างกัน[29]

ฃ เทียบกับ กฺษ ในภาษาสันสกฤต

[แก้]

จิตร ภูมิศักดิ์ ระบุว่านักวิชาการบางคนว่า ฃ อาจประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อใช้แทนกับอักษร กฺษ (क्ष) ในภาษาสันสกฤต ซึ่งออกเป็นเสียงหนึ่งต่างหาก[30] เช่น

คำที่ใช้ ฃ คำที่ใช้ กฺษ
*ฃมา กษมา, ษมา
*ฃัตติยะ กษัตริย์
*ฃัย กษัย, ขษัย
*เฃตต์, เฃตร เกษตร
*นักฃัต (ฤกษ์) นักษัตร
หมายเหตุ: ดอกจันนำหน้าหมายถึงคำที่สร้างขึ้นจากพื้นฐานของภาษาศาสตร์ อาจไม่มีคำนี้อยู่จริงก็ได้

รูปร่างของตัวอักษรก็น่าจะมาจากการเขียน ก กับ ษ หวัดติดกัน สำหรับอักษรปัจจุบันอาจจะพอเป็นไปได้ แต่จิตรก็ได้แย้งไว้ว่า ในอักษรโบราณอย่างราวยุคพ่อขุนรามคำแหงนั้น การเขียนเช่นนั้นไม่คล้ายและไม่มีเค้าของตัว ฃ เลย บ้างก็ว่า ฃ เป็นตัวอักษรที่ใช้ในภาษาบาลี ในขณะที่ภาษาสันสกฤตจะใช้ตัว กฺษ เสมอ[31]

สถานะปัจจุบัน

[แก้]

ในวันภาษาไทยแห่งชาติ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 ได้มีความพยายามในการรื้อฟื้นการใช้งานตัวอักษร ฃ และ ฅ ขึ้นใหม่ พร้อมกับเสนอให้แก้ข้อความในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ใหม่เป็นคำว่า "ปัจจุบันไม่ปรากฏที่ใช้งาน " แทนคำว่า "เลิกใช้แล้ว " เพื่อป้องกันความสับสนด้วย โดยรวมไปถึงการคงอักษร ฃ และ ฅ บนแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ ตามประกาศของคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม[32] อักษร ฃ ตรงกับรหัสฐานสิบหก A3 (หรือ 163 ฐานสิบ) บนชุดอักขระ TIS-620[33] และตรงกับรหัสยูนิโคด U+0E03[34]

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. คำว่า ฃบบ มีความคล้ายคลึงกับคำว่า "ขบบ" (ขับ) ซึ่งหมายความว่า "ขับไล่"
  2. ในสมัยพ่อขุนรามคำแหง เครื่องหมายกากบาทออกเสียงตรงกับไม้โทตามการเขียนภาษาไทยแบบปัจจุบัน
  3. คำว่า เฃ๋า มีความคล้ายคลึงกับคำว่า "เข๋า" → เข้า ซึ่งหมายถึง ข้าว

อ้างอิง

[แก้]
  1. วันเพ็ญ สกุลทอง (ตุลาคม 2009). การสร้างแบบเรียนเรื่องพยัญชนะไทย สำหรับชาวต่างชาติ (PDF) (ศศ.ม.). กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
  2. จำนงค์ ทองประเสริฐ (เมษายน–มิถุนายน 1994). "ภาษาไทยของเราดี เป็นศักดิ์ศรีของชาติ". ราชบัณฑิตยสถาน. 19 (3): 11–23. ISSN 0125-2968.
  3. 3.0 3.1 "ฃ". พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 มีนาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 2 สิงหาคม 2008.
  4. ทำไมถึงเลิกใช้ ฃ และ ฅ เรือนไทย. 10 เมษายน 2007.
  5. 5.0 5.1 มาลา คำจันทร์ (2008). พจนานุกรมคำเมือง. เชียงใหม่: บุ๊คเวิร์ม. ISBN 978-974-84-1855-1.
  6. "ฃ กับ ฅ ในภาษาไทย 5 นาที". 16 ตุลาคม 2004. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 มกราคม 2008. สืบค้นเมื่อ 3 สิงหาคม 2008.
  7. 7.0 7.1 นิตยา กาญจนะวรรณ (2007). "ฃ กับ ฅ หายไปไหน (๑)". ราชบัณฑิตยสถาน. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2013. สืบค้นเมื่อ 3 สิงหาคม 2008.
  8. 8.0 8.1 "ฃ-ฅ-ฦ-ฦๅ เป็น "ตัวอักษรไทยที่ไม่ใช้แล้ว" จริงหรือ ?". ชีวิตกับวรรณกรรม. ประพันธ์สาส์น. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2010. สืบค้นเมื่อ 2 สิงหาคม 2008.
  9. "จารึกป้านางเมาะ". จารึกในประเทศไทย. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). 24 กรกฎาคม 2019 [2007].
  10. "จารึกพ่อขุนรามพล". จารึกในประเทศไทย. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). 24 กรกฎาคม 2019 [2007].
  11. "จารึกวัดกำแพงงาม". จารึกในประเทศไทย. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). 14 กรกฎาคม 2021 [2007].
  12. "จารึกแสดงผลกรรมนำสู่นิพพาน". จารึกในประเทศไทย. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). 2 กรกฎาคม 2021 [2007].
  13. วิไลวรรณ ขนิษฐานันท์. "อักษรไทยสมัยสุโขทัย". สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 18. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 31 พฤษภาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 3 สิงหาคม 2008 – โดยทาง เว็บสนุก.
  14. Li, Fang-kuei (1977). "A Handbook of Comparative Tai". Oceanic Linguistics Special Publications. Honolulu: University of Hawai’i Press (15).
  15. Thomas J. Hudak, บ.ก. (27 กันยายน 2009). "About Thai Language". Thai Language Audio Resource center (ภาษาอังกฤษ).
  16. นิติพงศ์ พิเชฐพันธุ์, บ.ก. (29 สิงหาคม 2007). "มองลักษณะเด่นของภาษาไทยสมัยอยุธยาผ่านการเปลี่ยนแปลงด้านศัพท์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 ธันวาคม 2008. สืบค้นเมื่อ 13 สิงหาคม 2008.
  17. "จิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยา". tv5.co.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 กันยายน 2008. สืบค้นเมื่อ 13 สิงหาคม 2008.
  18. ชัยแสงทิพย์, บ.ก. (28 พฤษภาคม 2013). "ข.ขวดและค.คนหายไปไหน?". โอเคเนชั่น.
  19. 19.0 19.1 พิสูจน์ ใจเที่ยงกุล, บ.ก. (11 มิถุนายน 2007). "ฃ และ ฅ พยัญชนะไทย ที่น่าสงสาร". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 กรกฎาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 2 สิงหาคม 2008.
  20. กรพนัช ตั้งเขื่อนขันธ์ (กรกฎาคม–ธันวาคม 2018). "อักษรและรัฐ: การศึกษาเปรียบเทียบการปฏิรูปอักขรวิธีระหว่างจีนกับไทย ในทศวรรษที่ 1930–1940". วารสารมนุษยศาสตร์วิชาการ. คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 25 (2): 307–311. eISSN 2673-0502.
  21. "พัฒนาการตัวอักษรไทยจนถึงปัจจุบัน". หอมรดกไทย. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 31 ธันวาคม 2011. สืบค้นเมื่อ 3 สิงหาคม 2008.
  22. จุลลดา ภักดีภูมินทร์ (25 มกราคม 2005). "'ศิริ' ใช้อย่างไทย". สกุลไทย. Vol. 51 no. 2623. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 มีนาคม 2008. สืบค้นเมื่อ 5 สิงหาคม 2008.
  23. "ฅ". พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2010. สืบค้นเมื่อ 2 สิงหาคม 2008.
  24. โสภน หงษ์วิจิตร, บ.ก. (21 กุมภาพันธ์ 2002). "ทำไมถึงเลิกใช้ ฃ (ขวด) และ ฅ (คน)". schoolnet.
  25. "ฃ ขวด กับ ฅ คน หายไปตั้งแต่เมื่อไร". มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 ธันวาคม 2007. สืบค้นเมื่อ 3 สิงหาคม 2008.
  26. สุริยา รัตนกุล (มิถุนายน–ตุลาคม 1972). "ฃ ฅ หายไปไหน". วารสารธรรมศาสตร์. 2 (1): 29–59. ISSN 0125-3670.
  27. 27.0 27.1 นิตยา กาญจนะวรรณ (2007). "ฃ กับ ฅ หายไปไหน (๒)". ราชบัณฑิตยสถาน. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 กรกฎาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 3 สิงหาคม 2008.
  28. อุดม รุ่งเรืองศรี, บ.ก. (2004). พจนานุกรมล้านนา-ไทย ฉบับแม่ฟ้าหลวง (ปรับปรุงครั้งที่ ๑ ed.). ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2008.
  29. อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว; และคณะ (1996). พจนานุกรมศัพท์ล้านนาเฉพาะคำที่ปรากฏในใบลาน (2 ed.). เชียงใหม่: สุริวงศ์บุ๊คเซ็นเตอร์. ISBN 9747047772.
  30. จิตร ภูมิศักดิ์. ศัพท์สันนิษฐานและอักษรวินิจฉัย (โครงการสรรพนิพนธ์ จิตร ภูมิศักดิ์). กรุงเทพมหานคร: ฟ้าเดียวกัน, 2005. หน้า 272–273. ISBN 9749366247.
  31. "ลักษณะของคำบาลี-สันสกฤต". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 กันยายน 2008. สืบค้นเมื่อ 4 สิงหาคม 2008.
  32. "การกำหนดตำแหน่งอักขระไทยบนแผงแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ของสถาบันเนคเทค". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 กันยายน 2008. สืบค้นเมื่อ 3 สิงหาคม 2008.
  33. "มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รหัสสำหรับอักขระไทยที่ใช้กับคอมพิวเตอร์ของสถาบันเนคเทค". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 มกราคม 2009. สืบค้นเมื่อ 13 สิงหาคม 2008.
  34. รหัสยูนิโคดสำหรับพยัญชนะไทย (ภาษาอังกฤษ). FileFormat.Info.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]