ฟองมัน
อักษรไทย | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
๏ | |||||||
รูปพยัญชนะ | |||||||
ก | ข | ฃ | ค | ฅ | ฆ | ง | จ |
ฉ | ช | ซ | ฌ | ญ | ฎ | ฏ | ฐ |
ฑ | ฒ | ณ | ด | ต | ถ | ท | ธ |
น | บ | ป | ผ | ฝ | พ | ฟ | ภ |
ม | ย | ร | ล | ว | ศ | ษ | ส |
ห | ฬ | อ | ฮ | ||||
รูปสระ | |||||||
ะ | –ั | า | –ํ | –ิ | ' | " | |
–ุ | –ู | เ | โ | ใ | ไ | –็ | |
อ | ว | ย | ฤ | ฤๅ | ฦ | ฦๅ | |
รูปวรรณยุกต์ | |||||||
–่ | –้ | –๊ | –๋ | ||||
เครื่องหมายอื่น ๆ | |||||||
–์ | –๎ | –ฺ | |||||
เครื่องหมายวรรคตอน | |||||||
ฯ | ฯลฯ | ๆ | |||||
๏ | ๚ | ๛ | ┼ |
๏ | |
---|---|
ฟองมัน | |
ฟองมัน หรือ ตาไก่ (๏) เป็นเครื่องหมายวรรคตอนที่นิยมใช้ในหนังสือไทยสมัยโบราณ ใช้เมื่อขึ้นต้นบท ตอน หรือเรื่อง ทั้งคำประพันธ์ร้อยกรองและร้อยแก้ว โดยไม่จำเป็นต้องย่อหน้าหรือขึ้นบรรทัดใหม่ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้นิยมใช้ฟองมันเมื่อขึ้นต้นบทร้อยกรองเท่านั้น
- ๏ เดือนสิบเอ็ดเสร็จธุระพระวสา
- รับกฐินภิญโญโมทนา
- ชุลีลาลงเรือเหลืออาลัย
- จาก นิราศภูเขาทอง
นอกจากเครื่องหมายฟองมันที่เป็นรูปวงกลมแล้ว ในสมัยโบราณยังนิยมใช้เครื่องหมาย ฟองมันฟันหนู ( ๏”) นั่นคือ มีเครื่องหมาย ฟันหนู (") วางอยู่บนฟองมัน ใช้กำกับเมื่อจะขึ้นต้นบท หรือตอน โดยมีชื่อเรียกอื่นอีก เช่น ฟันหนูฟองมัน หรือ ฝนทองฟองมัน บางแห่งใช้เครื่องหมายวงกลมเล็ก ( ๐”) มีฟันหนูวางอยู่ข้างบน เรียกว่า ฟองดัน ก็มี
รูปแบบ
[แก้]เครื่องหมายฟองมันที่พบทั้งหมด มี 3 แบบ คือ[1]
- วงกลมวงเดียว
- วงกลม 2 วงซ้อนกัน
- วงกลมและมีจุดตรงกลาง
แบบแรกพบในสมัยสุโขทัย สองแบบหลังพบในสมัยอยุธยา ส่วนในสมัยรัตนโกสินทร์พบทั้ง 3 แบบ ในสมัยสุโขทัยจะมีการเขียนอักษรอยู่ 2 ลักษณะ คือ เขียนเรียงต่อไปจนจบเรื่องโดยไม่มีการเว้นวรรค หรือ มีการเว้นวรรคควบคู่กับการใช้เครื่องหมายฟองมัน ศิลาจารึกที่พบว่ามีการใช้เครื่องหมายเหล่านี้ อาทิ ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง (ด้านที่ 3 และ 4), ศิลาจารึกวังชิ้น, ศิลาจารึกนครชุม, ศิลาจารึกเขาสุมณกูฏ, ศิลาจารึกวัดช้างล้อม, ศิลาจารึกวัดลำปางหลวง การใช้ฟองมันสมัยสุโขทัยมีดังนี้
- ใช้คั่นข้อความต่างภาษากัน เช่น ขึ้นต้นภาษาบาลีพอจะแปลเป็นภาษาไทยก็ใช้ฟองมันคั่นไว้ หรือเมื่อจบภาษาไทยจะขึ้นภาษาบาลีก็คั่นข้อความไว้
- ใช้นำหน้าข้อความตอนใหม่ คือเขียนติดกันไปเรื่อย ๆ เมื่อขึ้นความตอนใหม่ก็คั่นด้วยฟองมัน แล้วเขียนต่อเลย ไม่ขึ้นบรรทัดใหม่หรือย่อหน้าใหม่
- ใช้นำหน้าข้อความที่เป็นกฎหมายแต่ละมาตรา โดยจะใช้ฟองมันคั่นข้อความแล้วตามด้วยมาตรา เช่น "...ไว้กลางเมือง ๐ มาตราหนึ่ง..."
- ใช้นำหน้าข้อความที่กล่าวถึงศักราช เช่น "...สรรพานตราย ๐ สักราชแก่พระเจ้า..."
- ใช้นำหน้ารายการต่าง ๆ เพื่อแยกออกเป็นส่วน ๆ เช่น "...๐ จรามขันอันหนึ่ง ๐ ฟูก้อนหนึ่ง ๐ หมอนอันหนึ่ง ๐ บังงาอันหนึ่ง ๐ ...."
- ใช้แยกคำที่มีรูปเดียวกันและอยู่ชิดกัน เช่น "...ญิบหมื่นสี่พันหกสิบเดือน ๐ เดือนอันพระได้เป็นพระพุท..."
- ใช้แยกอักษรซึ่งมีรูปเดียวกันและอยู่ชิดกัน เช่น "...กระทำบุนยธรรมบ่ขาดสักเมื่อ ๐ อยู่ในสองแควได้เจ็ดเข้า..."
ในสมัยอยุธยามีการเพิ่มการใช้สำหรับเริ่มเรื่องขึ้นมา และสมัยต้นรัตนโกสินทร์ใช้สำหรับนำหน้าข้อย่อยแต่ละข้อเพิ่มขึ้น ชื่ออื่นที่ปรากฏในเอกสารเก่านอกจากฟองมันแล้วมี ฟองมัณฑ์ ฟองมันท์ ฟองดัน ตาไก่ ตานกแก้ว[2]
ฟองมันไม่มีปรากฏบนแป้นพิมพ์ภาษาไทย แต่มีอยู่ในรหัสอักขระ TIS 620 ที่ 0xEF (239) และรหัสยูนิโคดที่ U+0E4F [3]
ฟองมันในภาษาอื่น
[แก้]ภาษาอื่นที่ใช้ฟองมันคือภาษาเขมร (៙) มีชื่อเรียกว่า กุกฺกุฎเนตฺร (เขมร: កុក្កុដនេត្រ) หรือ แภนฺกมาน่ (เขมร: ភ្នែកមាន់) ซึ่งแปลว่า ตาไก่ ใช้เมื่อขึ้นต้นบทเหมือนกับภาษาไทย ปัจจุบันใช้น้อย
อ้างอิง
[แก้]- ↑ กอบกุล ถาวรานนท์ (2521). "บทที่ 2 ประวัติความเป็นมาของการเว้นวรรค". การเว้นวรรคในการเขียนหนังสือไทย (PDF) (อ.ม.). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สืบค้นเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2562.
{{cite thesis}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
(help) - ↑ นิยะดา เหล่าสุนทร (2552). วัตนาการของแบบเรียนภาษาไทย. กรุงเทพฯ: ลายคำ. ISBN 9789746438452.
- ↑ Unicode chart: Range 0E00–0E7F
- หลักเกณฑ์การใช้เครื่องหมายวรรคตอนและเครื่องหมายอื่น ๆ หลักเกณฑ์การเว้นวรรค หลักเกณฑ์การเขียนคำย่อ. ราชบัณฑิตยสถาน. พิมพ์ครั้งที่ 5 (แก้ไขเพิ่มเติม) พ.ศ. 2533.