อาหารไม่ย่อย
อาหารย่อยไม่ดี (Indigestion) | |
---|---|
ชื่ออื่น | Dyspepsia |
สาขาวิชา | วิทยาทางเดินอาหาร |
อาหารไม่ย่อย[1] หรือ อาหารย่อยไม่ดี[2] (อังกฤษ: indigestion, dyspepsia) เป็นการย่อยอาหารอย่างบกพร่อง[3] อาการอาจรวมท้อง (ส่วนบน) อืด แสบร้อนกลางอก คลื่นไส้ เรอ หรือปวดท้องด้านบน[4] ผู้มีอาการอาจรู้สึกอิ่มเร็วกว่าปกติ[5] นี่เป็นปัญหาที่สามัญและบ่อยครั้งมีเหตุจากโรคกรดไหลย้อนหรือกระเพาะอาหารอักเสบ[6] ในกรณีส่วนน้อย อาจเป็นอาการแรกของโรคแผลเปื่อยเพปติก คือเป็นแผลเปื่อยในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น หรือบางครั้งเป็นมะเร็ง ดังนั้น อาหารไม่ย่อยที่ยังไม่ทราบสาเหตุในผู้อายุมากกว่า 55 ปี หรือมีอาการน่าเป็นห่วงอื่น ๆ อาจต้องตรวจเพิ่ม[7]
ส่วนคำภาษาอังกฤษว่า functional indigestion (อาหารไม่ย่อยโดยหน้าที่ เคยเรียกว่า nonulcer dyspepsia [อาหารไม่ย่อยที่ไม่มีแผล])[8] เป็นอาหารไม่ย่อย "ที่ไม่มีหลักฐานว่าเป็นโรคกาย (organic disease) ที่อาจจะอธิบายอาการได้"[9] โดยมีผลกระทบต่อประชากร 15% ในประเทศตะวันตก[8]
อาการ
[แก้]ในกรณีโดยมาก ประวัติคนไข้จะมีประโยชน์จำกัดเพื่อแยกแยกระหว่างโรคทางกาย (organic) จากโรคโดยหน้าที่ (functional) งานทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบปี 2006 ได้ประเมินประสิทธิผลของการวินิจฉัยโรคกายอาศัยความเห็นแพทย์ โดยเทียบกับเมื่อวินิจฉัยอาศัยแบบจำลองคอมพิวเตอร์ที่ใช้ใช้ข้อมูลทางประชากรศาสตร์ ปัจจัยเสี่ยง รายการประวัติ และอาการของคนไข้ งานศึกษาได้แสดงว่า ในบรรดาคนไข้ที่ส่งต่อให้ส่องกล้องดูทางอาหารส่วนบน ทั้งความเห็นแพทย์และแบบจำลองคอมพิวเตอร์ไม่สามารถแยกแยะโรคทางกายแยกจากโรคโดยหน้าที่ได้ดีพอ[10]
งานหนึ่งเทียบคนไข้ที่มีโรคแผลเปื่อยเพปติกกับคนไข้ที่มีอาการอาหารไม่ย่อยโดยหน้าที่เมื่อปรับอายุและเพศให้สมกันแล้ว แม้กลุ่มคนไข้ที่มีอาการแบบโดยหน้าที่จะท้องอืดด้านบน คลื่นไส้ เป็นทุกข์และกังวลมากกว่า แต่อาการเกือบทั้งหมดก็มีในคนไข้ทั้งสองกลุ่ม จึงเป็นเรื่องยากที่แพทย์จะระบุคนไข้ที่อาจมีโรคทางกาย และดังนั้น จึงควรตรวจเพิ่มเพื่อแยกคนไข้ที่มีโรคโดยหน้าที่ผู้ได้รับการทดลองรักษาด้วยยาตามอาการแล้ว โดยการตรวจควรมีเป้าหมายเพื่อระบุหรือกันออกเหตุของอาการโดยเฉพาะ ๆ ตามธรรมดาแล้ว คนไข้ที่เสี่ยงก็คือผู้ที่มีอาการน่าเป็นห่วง แต่ประโยชน์ของอาการเช่นนี้ เพื่อกำหนดว่ามีมะเร็งหลอดอาหารหรือกระเพาะอาหารหรือไม่ ก็ยังเป็นเรื่องยังไม่ยุติ งานวิเคราะห์อภิมานได้ตรวจความไวและความจำเพาะของอาการน่าเป็นห่วงต่าง ๆ แล้วพบค่าอยู่ที่ 0-83% และ 40-98% ตามลำดับ แต่งานศึกษาที่ได้ตรวจดูก็มีความแตกต่างกันอย่างมากมาย[11]
การตรวจร่างกายอาจพบอาการกดเจ็บที่ท้อง แต่นี่ไม่ได้แสดงอะไรโดยจำเพาะเจาะจง ถ้าพบ Carnett sign คืออาการกดเจ็บที่ท้องที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากเกร็งท้องหรือเมื่อคลำตรวจ นี่จะแสดงนัยว่ามีสมุฏฐานจากกล้ามเนื้อผนังท้อง การเจ็บปวดที่ผิวหนังโดยกระจายไปทั่ว dermatome อาจแสดง polyradiculopathy[A] ในระดับทรวงอก ส่วนอาการกดเจ็บที่ท้องด้านขวาด้านบนอาจแสดงถุงน้ำดีอักเสบเรื้อรัง[14]
เหตุ
[แก้]ที่ไม่เกี่ยวกับแผลเปื่อย
[แก้]ในบรรดาคนไข้อาหารไม่ย่อย ร้อยละ 50-70 จะไม่สามารถระบุโรคทางกายที่เป็นเหตุของอาการได้ ซึ่งในกรณีนี้ อาจเรียกว่าได้ว่า เป็นอาหารไม่ย่อยที่ไม่เกี่ยวกับแผลเปื่อย และวินิจฉัยอาศัยการมีการปวดที่ยอดอกเป็นอย่างน้อย 6 เดือน โดยไร้สาเหตุอื่นที่อาจอธิบายอาการได้
หลังติดเชื้อ
[แก้]กระเพาะและลำไส้เล็กอักเสบอาจเพิ่มโอกาสเสี่ยงให้เกิดอาหารไม่ย่อยแบบเรื้อรัง ส่วนอาหารไม่ย่อยหลังติดเชื้อ (infectious dyspepsia) เป็นคำที่ใช้เมื่อมีอาการอาหารไม่ย่อยหลังจากกระเพาะและลำไส้เล็กเกิดติดเชื้อแบบฉับพลัน นักวิชาการเชื่อว่า มูลฐานของกลุ่มอาการลำไส้ไวเกินต่อการกระตุ้น (IBS) และอาหารไม่ย่อยหลังติดเชื้ออาจคล้ายกัน โดยเป็นด้านต่าง ๆ ของพยาธิสรีรวิทยาเดียวกัน[15]
โดยหน้าที่/การทำงาน
[แก้]อาหารไม่ย่อยโดยหน้าที่/การทำงาน (functional dyspepsia) เป็นอาหารไม่ย่อยเรื้อรังแบบสามัญที่สุด คือคนไข้อาการนี้ถึง 70% จะไม่สามารถตรวจพบว่าเป็นโรคกายที่เนื่องกับอาการ โดยอาการอาจมาจากปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างระบบประสาท อาหารค้างอยู่ในกระเพาะนาน (เช่น เพราะเหตุอัมพฤกษ์กระเพาะ) หรือการปรับรับอาหารได้บกพร่อง ความวิตกกังวลยังสัมพันธ์กับอาหารไม่ย่อยโดยหน้าที่อีกด้วย ในบางกรณี มันอาจเป็นอาการที่ปรากฏก่อนอาการลำไส้-ทางเดินอาหารอื่น ๆ ในบางกรณี ความวิตกกังวลจะเกิดหลังจากเกิดอาการนี้ ซึ่งแสดงนัยว่ามีความผิดปกติในการส่งสัญญาณระหว่างลำไส้-ทางเดินอาหารกับสมอง แม้ไม่เป็นโรคร้าย แต่อาการก็อาจเรื้อรังและรักษายาก[16]
อาหารที่ประกอบด้วยข้าวสาลีและไขมันอาจทำให้อาหารไม่ย่อย ดังนั้น การลดหรือหยุดอาหารเหล่านั้นอาจทำให้อาการดีขึ้น[17]
โรคทางเดินอาหาร
[แก้]เมื่อสามารถหาเหตุได้ โดยมากก็จะเป็นโรคกรดไหลย้อนและโรคแผลเปื่อยเพปติก เหตุที่สามัญน้อยกว่ารวมทั้งกระเพาะอักเสบ, มะเร็งกระเพาะอาหาร, มะเร็งหลอดอาหาร, coeliac disease[B], แพ้อาหาร, โรคลำไส้อักเสบ, mesenteric ischemia ซึ่งเป็นภาวะที่ลำไส้เล็กบาดเจ็บเนื่องจากไม่ได้รับเลือดเพียงพอ[20], และอัมพฤกษ์กระเพาะอาหาร
โรคตับและตับอ่อน
[แก้]โรคตับและตับอ่อนที่ทำให้เกิดอาการนี้รวมทั้งโรคนิ่วน้ำดี ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง และมะเร็งตับอ่อน
การรับอาหารและยา
[แก้]อาหารไม่ย่อยแบบฉับพลันโดยเป็นชั่วคราวอาจเกิดจากการทานอาหารมากเกินไป เร็วเกินไป ทานอาหารไขมันสูง ทานอาหารเมื่อเครียด หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือกาแฟมากเกินไป มียาหลายชนิดทำให้อาหารไม่ย่อย รวมทั้ง[21]
- แอสไพริน
- ยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตอรอยด์ (NSAIDs)
- ยาปฏิชีวนะ รวมทั้ง metronidazole, macrolides
- ยารักษาโรคเบาหวาน รวมทั้ง เมตฟอร์มิน, Alpha-glucosidase inhibitor, amylin analogs, GLP-1 receptor antagonists
- ยาลดความดัน รวมทั้ง ACE inhibitors, Angiotensin II receptor antagonist
- ยาลดคอเลสเตอรอล รวมทั้งไนอาซิน, fibrate
- ยารักษาโรคทางจิตเวช รวมทั้ง cholinesterase inhibitor เช่น donepezil, rivastigmine
- ยากลุ่ม SSRI รวมทั้งฟลูอ็อกเซทีน, sertraline
- ยากลุ่ม Serotonin norepinephrine reuptake inhibitor รวมทั้ง venlafaxine, duloxetine
- ยารักษาโรคพาร์คินสันรวมทั้ง dopamine agonist, MAO-B inhibitors
- corticosteroids
- เอสโตรเจน
- ดิช็อกซิน
- เหล็ก
- โอปิออยด์
การติดเชื้อ Helicobacter pylori
[แก้]บทบาทของแบคทีเรีย Helicobacter pylori ในอาหารไม่ย่อยโดยหน้าที่ยังเป็นเรื่องไม่ยุติ โดยยังไม่ปรากฏความสัมพันธ์แบบเป็นเหตุผลที่ชัดเจน ซึ่งจริงทั้งในเรื่องของอาการและพยาธิสรีรวิทยา แม้จะมีงานศึกษาทางวิทยาการระบาดบ้างที่ได้แสดงความสัมพันธ์ระหว่างการติดเชื้อ H. pylori กับอาหารไม่ย่อยโดยหน้าที่ แต่งานศึกษาอื่น ๆ ก็ไม่แสดง ข้อขัดแย้งอาจมาจากความแตกต่างของวิธีการที่ใช้ และการไม่พิจารณาตัวแปรกวน เช่น ประวัติว่าเคยมีโรคแผลเปื่อยเพปติกมาก่อน และสถานะทางสังคม-เศรษฐกิจ[22]
การทดลองที่มีกลุ่มควบคุมต่าง ๆ สรุปไม่เหมือนกันว่า การกำจัดเชื้อ H. pylori มีประโยชน์ต่ออาการอาหารไม่ย่อยโดยหน้าที่หรือไม่ โดยการทดลองประมาณครึ่งหนึ่งแสดงว่ามีผลดี ส่วนอีกครึ่งไม่แสดงว่ามีประโยชน์ การทดลองรวมข้อมูลหลายศูนย์ในสหรัฐที่จัดคนไข้โดยสุ่มเข้ากลุ่มรักษาหรือกลุ่มยาหลอกแล้วติดตามคนไข้ 12 เดือนพบว่า 28% ของคนไข้ที่รักษาและ 23% ที่ได้รับยาหลอกรายงานว่า อาการบรรเทาลงเมื่อติดตามที่ 12 เดือน เช่นเดียวกัน งานทดลองในยุโรปก็ไม่แสดงความแตกต่างการบรรเทาอาการที่สำคัญเมื่อกำจัดเชื้อ H. pylori เทียบกับกลุ่มควบคุม
มีงานปริทัศน์เป็นระบบหลายงานในเรื่องการกำจัดเชื้อ แต่ก็มีผลต่าง ๆ กันเช่นกัน งานปริทัศน์เป็นระบบในวารสารแพทย์ Annals of Internal Medicine แสดงว่า ไม่มีผลที่มีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมี OR ของการรักษาสำเร็จเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ 1.29 (95% CI, 0.89-1.89; P = 0.18) คือ ไม่ปรากฏกว่ามีผลไม่ว่าจะปรับการวิเคราะห์เพื่อลดความต่าง ๆ กันของงานทดลองและเพื่อแยกแยะว่าได้กำจัด/รักษาเชื้อ H. pylori ได้จริง ๆ ด้วยหรือไม่ ส่วนงานทบทวนแบบคอเครนพบผลเล็กน้อยแต่มีนัยสำคัญในการบรรเทาอาการเมื่อเทียบการกำจัด H. pylori กับยาหลอก คือ 36% vs 30% ตามลำดับ[23][24]
โรคทั่วกาย
[แก้]มีโรคทั่วกาย (systemic disease) จำนวนหนึ่งที่อาจมีอาการอาหารไม่ย่อย รวมทั้งโรคหลอดเลือดหัวใจ ภาวะหัวใจวาย โรคเบาหวาน ภาวะฮอร์โมนพาราไทรอยด์เกิน (hyperparathyroidism) โรคไทรอยด์ และโรคไตเรื้อรัง
พยาธิสรีรวิทยา
[แก้]ปัจจัยทางกายเหตุจิตและปัจจัยทางประชานเป็นเรื่องสำคัญเมื่อประเมินคนไข้ที่มีอาหารไม่ย่อยแบบเรื้อรัง สมมติฐานทางจิตเวชอ้างว่า อาการอาจมีเหตุจากความซึมเศร้า ความวิตกกังวลที่เพิ่มขึ้น หรือความผิดปกติทางกายเหตุจิต (somatization disorder) งานศึกษาทางวิทยาการระบาดแสดงว่า อาหารไม่ย่อยโดยหน้าที่สัมพันธ์กับความผิดปกติทางจิต โดยอาการต่าง ๆ รวมทั้ง neurosis[C], ความวิตกกังวล, โรคคิดว่าตนป่วย, และโรคซึมเศร้าจะสามัญในบรรดาคนไข้ที่กำลังตรวจปัญหาทางเดินอาหารที่ไม่ทราบสาเหตุมากกว่าในกลุ่มควบคุมที่ปกติ การเปรียบเทียบโรคโดยหน้าที่และโรคกายได้แสดงว่า คนไข้ที่มีโรคโดยหน้าที่จะมีโอกาสลดความวิตกกังวลน้อยกว่า เมื่อติดตามที่ปีหนึ่งหลังจากหมอให้ความมั่นใจแล้วว่า ไม่ใช่โรคหนักอะไร ซึ่งแสดงนัยว่า เทียบกับโรคกาย อาหารไม่ย่อยโดยหน้าที่อาจคงยืนเป็นเวลานาน และสัมพันธ์กับอารมณ์อย่างมีกำลัง[25]
การวินิจฉัย
[แก้]คนไข้อายุน้อยกว่า 55 ปีที่ไม่มีอาการน่าเป็นห่วงสามารถรักษาได้เลยโดยไม่ต้องตรวจเพิ่ม คนไข้อายุมากกว่า 55 ปีที่เพิ่งเริ่มมีอาการ หรือว่าคนไข้ที่มีอาการน่าเป็นห่วงควรรีบส่องกล้องดูทางอาหารส่วนบน ซึ่งจะช่วยกันโรคแผลเปื่อยเพปติก แผลเปื่อยเนื่องจากยา เนื้อร้าย และเหตุที่มีน้อยกว่าอื่น ๆ[7]
คนไข้อายุน้อยกว่า 55 ปีที่ไม่มีอาการน่าเป็นห่วงไม่จำเป็นต้องส่องกล้อง แต่อาจพิจารณาตรวจดูว่ามีโรคแผลเปื่อยเพปติกที่มีเหตุจากติดเชื้อ Helicobacter pylori หรือไม่ ซึ่งจะทำเมื่อความชุกของโรคในพื้นที่สูง หรือคนไข้มีปัจจัยเสี่ยง เช่น โดยชาติพันธุ์ หรือเพราะย้ายที่อยู่มาจากเขตที่มีความชุกโรคสูง ถ้ายืนยันการติดเชื้อได้ ก็จะสามารถกำจัดได้ด้วยยา[ต้องการอ้างอิง]
อาหารไม่ย่อยเนื่องจากยาปกติจะเกี่ยวกับยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตอรอยด์ โดยอาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่นเลือดออกหรือแผลเปื่อยบวกกับกระเพาะทะลุ
การรักษา
[แก้]อาการแบบโดยหน้าที่หรือที่ยังไม่ได้แยกแยะ จะรักษาคล้าย ๆ กัน การเลือกยารักษาอาจตัดสินใจได้ยาก เพราะการทดลองที่แสดงข้อมูลมักรวมอาการแสบร้อนกลางอกโดยเป็นส่วนหนึ่งของอาการนี้ ซึ่งทำให้มีผลนิยมยายับยั้งการหลั่งกรด (PPI) ซึ่งมีประสิทธิผลรักษาอาการแสบร้อนกลางอก
การรักษาทั่วไปสำหรับอาการนี้รวมทั้งการเปลี่ยนพฤติกรรม ยาลดกรด สารต้านตัวรับเอช2 ยาเพิ่มการบีบตัวของลำไส้เล็ก (prokinetic) และยาแก้ท้องอืด อย่างไรก็ดี นักวิชาการได้ให้ข้อสังเกตว่า เรื่องน่าหนักใจอย่างหนึ่งในการรักษาโรคโดยหน้าที่ก็คือ วิธีการทั่วไปเหล่านี้ปรากฏกว่ามีประสิทธิผลน้อยมากหรือไม่มีเลย[26]
ยาดลดกรด
[แก้]ยาลดกรดและ sucralfate พบในงานทบทวนวรรณกรรมว่า ไม่ได้ดีกว่ายาหลอก[27] ส่วนสารต้านตัวรับเอช2พบว่า มีประโยชน์อย่างสำคัญในงานศึกษาที่มีคุณภาพต่ำ (คือ ความเสี่ยงสัมพัทธ์ลดลง 30%[27]) แต่มีประโยชน์เพียงเล็กน้อยในงานทดลองที่มีคุณภาพดี[26]
ส่วนยาเพิ่มการบีบตัวของลำไส้เล็กดูเหมือนจะได้ผลดี เพราะการค้างอยู่ในกระเพาะอาหารนานพิจารณาว่า เป็นกลไกหลักทางพยาธิสรีรวิทยาอย่างหนึ่งสำหรับอาการอาหารไม่ย่อยโดยหน้าที่[26] โดยงานวิเคราะห์อภิมานแสดงการลดความเสี่ยงสัมพัทธ์ถึง 50% แต่งานศึกษาต่าง ๆ ที่พิจารณาเพื่อให้ได้ข้อสรุปนี้ใช้ยา cisapride ซึ่งได้นำออกจากตลาดแล้ว (โดยปัจจุบันมีขายเพียงเพื่อทดลองเท่านั้น)[28] เนื่องจากผลข้างเคียงหนักเกี่ยวกับหัวใจ (Torsades de pointes) และก็มีผู้อ้างว่า แสดงประโยชน์สูงเช่นนี้ก็เพราะมีความเอนเอียงในการตีพิมพ์[27] ส่วนยาเพิ่มการบีบตัวของลำไส้เล็กที่ยังใช้อยู่รวมทั้ง metoclopramide, อิริโทรมัยซิน และ tegaserod มีประสิทธิผลน้อยหรือไม่มีและบ่อยครั้งมีผลข้างเคียงมาก[27]
ยาแก้ท้องอืดคือ simethicone ก็มีประโยชน์บ้าง โดยงานทดลองหนึ่งแสดงประโยชน์เหนือยาหลอก และอีกงานหนึ่งแสดงผลเท่ากับ cisapride[27]
ดังนั้น เมื่อเกิดยากลุ่ม PPI เมื่อไม่นานนี้ คำถามก็คือ ยาใหม่ ๆ เหล่านี้มีผลดีกว่ายาที่เคยใช้มาก่อน ๆ หรือไม่[ต้องการอ้างอิง] ปัจจุบัน องค์การอาหารและยาสหรัฐ (FDA) ได้อนุมัติยากลุ่ม PPI โดยขึ้นอยู่กับยี่ห้อ ให้ใช้รักษาหลอดอาหารอักเสบแบบมีแผล, โรคกรดไหลย้อน, กลุ่มอาการโซลลิงเจอร์-เอลลิสัน, การกำจัดเชื้อโรค H. pylori, โรคแผลเปื่อยในลำไส้เล็กส่วนต้นและในกระเพาะอาหาร, และการรักษาและป้องกันแผลเปื่อยที่เกิดจาก NSAID แต่ก็ไม่ได้อนุมัติให้ใช้แก้ท้องอืดโดยหน้าที่ แม้ก็ยังมีแนวทางรักษาและวรรณกรรมอิงหลักฐานที่ได้ประเมินการใช้ PPI เพื่อข้อบ่งใช้นี้ งานปี 2006 ได้สรุปการทดลองสำคัญ ๆ เป็นตารางพร้อมกับแนวทางการรักษาอาการอาหารไม่ย่อยโดยหน้าที่[26]
ยาสมุนไพร
[แก้]งานทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบปี 2002 ตรวจดูผลิตภัณฑ์สมุนไพรแล้วพบว่า สมุนไพรหลายอย่าง รวมทั้งมินต์ Mentha piperita (เปปเปอร์มินต์) และเทียนตากบ มีผลดีสำหรับอาหารไม่ย่อยซึ่งไม่มีแผลโดยมี "ลักษณะความปลอดภัยที่น่าชื่นใจ"[29] งานวิเคราะห์อภิมานปี 2004 ของงานศึกษาที่ตรวจสอบผลิตภัณฑ์สมุนไพรรวมกัน 9 อย่างที่เรียกว่า Iberogast (เริ่มต้นจากประเทศเยอรมนี) พบว่ามันมีประสิทธิผลดีกว่ายาหลอกสำหรับคนที่มีอาหารไม่ย่อยโดยหน้าที่[30]
รากศัพท์
[แก้]คำภาษาอังกฤษว่า dyspepsia มาจากคำกรีกโบราณ คือ dys- แปลว่า ไม่ดี หรือ ยาก และ πέψις (pepsis) แปลว่า ย่อยอาหาร
เชิงอรรถ
[แก้]- ↑ -
- Polyradiculoneuropathy หมายถึงภาวะที่ polyneuropathy และ polyradiculopathy เกิดขึ้นพร้อมกัน เช่น กลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร
- Polyneuropathy เป็นความเสียหายหรือโรคที่มีผลต่อเส้นประสาทนอกระบบประสาทส่วนกลางในบริเวณคล้ายกันทั้งสองข้างของร่างกาย ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนเปลี้ย เกิดความชา หรือเจ็บแบบแสบร้อน[12]
- Radiculopathy หมายถึงกลุ่มสภาวะที่เส้นประสาทหนึ่ง ๆ เกิดความเสียหายและทำงานบกพร่อง (เป็นโรคเส้นประสาท) ความเสียหายจะอยู่ที่รากของเส้นประสาทซึ่งอาจมีผลเป็นความเจ็บปวด กล้ามเนื้ออ่อนเพลีย ชา หรือปัญหาควบคุมกล้ามเนื้อใดกล้ามเนื้อหนึ่งโดยเฉพาะ ๆ[13]
- ↑ coeliac disease หรือ celiac disease เป็นโรคภูมิต้านตนเองระยะยาวที่โดยหลักมีผลต่อลำไส้เล็กและเกิดในบุคคลที่มีปัจจัยทางพันธุกรรม[18] อาการคลาสสิกรวมทั้งปัญหาในทางเดินอาหารเช่นท้องร่วงเรื้อรัง ท้องป่อง ดูดซึมอาหารผิดปกติ ไม่อยากอาหาร และไม่โตตามวัยในเด็ก[19]
- ↑ neurosis หมายเอาความผิดปกติทางจิตจำนวนหนึ่งที่คนไข้มีความทุกข์เรื้อรังแต่ไม่มีอาการหลงผิดหรือประสาทหลอน คำนี้ได้นำออกจากคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต (DSM-III) ตั้งแต่ปี 1980 จึงเลิกใช้ในบางที่แล้ว แต่ก็ยังมีอยู่ใน ICD-10 ไม่ควรสับสนคำนี้กับ psychosis ซึ่งหมายถึงการไม่รู้อะไรจริงอะไรไม่จริง และไม่ควรสับสนกับ neuroticism ซึ่งเป็นลักษณะทางบุคลิกภาพอย่างหนึ่งตามทฤษฎีทางจิตวิทยา
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Dyspepsia", ศัพท์บัญญัติอังกฤษ-ไทย, ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (คอมพิวเตอร์) รุ่น ๑.๑ ฉบับ ๒๕๔๕,
(แพทยศาสตร์) อาหารไม่ย่อย, ธาตุพิการ
- ↑ "Indigestion", ศัพท์บัญญัติอังกฤษ-ไทย, ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (คอมพิวเตอร์) รุ่น ๑.๑ ฉบับ ๒๕๔๕,
(แพทยศาสตร์) การย่อย (อาหาร) ไม่ดี
- ↑ dyspepsia ใน พจนานุกรมศัพท์การแพทย์ดอร์แลนด์
- ↑ Duvnjak, Marko, บ.ก. (2011). Dyspepsia in clinical practice (1. Aufl. ed.). New York: Springer. p. 2. ISBN 9781441917300.
- ↑ Talley, NJ; Vakil, N (October 2005). "Guidelines for the management of dyspepsia". Am. J. Gastroenterol. 100 (10): 2324–37. doi:10.1111/j.1572-0241.2005.00225.x. PMID 16181387.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Zajac, P; Holbrook, A; Super, ME; Vogt, M (March–April 2013). "An overview: Current clinical guidelines for the evaluation, diagnosis, treatment, and management of dyspepsia". Osteopathic Family Physician. 5 (2): 79–85. doi:10.1016/j.osfp.2012.10.005.
{{cite journal}}
: CS1 maint: date format (ลิงก์) - ↑ 7.0 7.1 National Institute for Health and Clinical Excellence. Clinical guideline 17: Dyspepsia. London, 2004.
- ↑ 8.0 8.1 Saad, RJ; Chey, WD (August 2006). "Review article: current and emerging therapies for functional dyspepsia". Aliment. Pharmacol. Ther. 24 (3): 475–92. doi:10.1111/j.1365-2036.2006.03005.x. PMID 16886913.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) Free full-text - ↑ van Kerkhoven, LA; van Rossum, LG; van Oijen, MG; Tan, AC; Laheij, RJ; Jansen, JB (September 2006). "Upper gastrointestinal endoscopy does not reassure patients with functional dyspepsia". Endoscopy. 38 (9): 879–85. doi:10.1055/s-2006-944661. PMID 16981103.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) Free full-text เก็บถาวร 27 กรกฎาคม 2011 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. - ↑ Moayyedi, P; Talley, NJ; Fennerty, MB; Vakil, N (5 April 2006). "Can the clinical history distinguish between organic and functional dyspepsia?". JAMA (Review). 295 (13): 1566–76. doi:10.1001/jama.295.13.1566. PMID 16595759.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Vakil, N; Moayyedi, P; Fennerty, MB; Talley, NJ (August 2006). "Limited value of alarm features in the diagnosis of upper gastrointestinal malignancy: systematic review and meta-analysis". Gastroenterology. 131 (2): 390–401. doi:10.1053/j.gastro.2006.04.029. PMID 16890592.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ "Polyneuropathies. Medical information about polyneuropathy". Patient. สืบค้นเมื่อ 17 July 2016.
- ↑ Eck, Jason C. "Radiculopathy". MedicineNet. สืบค้นเมื่อ 12 April 2012.
{{cite web}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Flier, SN; S, Rose (2006). "Is functional dyspepsia of particular concern in women? A review of gender differences in epidemiology, pathophysiologic mechanism, clinical presentation and management". Am J Gastroenterol. 101: S644-S653. doi:10.1111/j.1572-0241.2006.01015.x. PMID 17177870.
- ↑ Futagami, S; Itoh, T; Sakamoto, C (2015). "Systematic review with meta-analysis: post-infectious functional dyspepsia". Aliment. Pharmacol. Ther. 41 (2): 177–88. doi:10.1111/apt.13006. PMID 25348873.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Talley, NJ; Ford, AC (5 November 2015). "Functional Dyspepsia". N Engl J Med (Review). 373 (19): 1853–63. doi:10.1056/NEJMra1501505. PMID 26535514.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Duncanson, KR; Talley, NJ; Walker, MM; Burrows, TL (2017). "Food and functional dyspepsia: a systematic review". J Hum Nutr Diet (Systematic Review). doi:10.1111/jhn.12506. PMID 28913843.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ "Celiac Disease". NIDDKD. June 2015. สืบค้นเมื่อ 17 March 2016.
- ↑ "Clinical presentation of celiac disease in the pediatric population". April 2005. PMID 15825129.
{{cite journal}}
: Cite journal ต้องการ|journal=
(help) - ↑ Yelon, Jay A (2014). Geriatric Trauma and Critical Care. New York: Springer Verlag. p. 182. ISBN 9781461485018.
{{cite book}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Ford, AC; Moayyedi, P (2013). "Dysepsia". BMJ. 347: f5059. doi:10.1136/bmj.f5059. PMID 23990632. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 December 2014. สืบค้นเมื่อ 28 August 2018.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Laine, L; Schoenfeld, P; Fennerty, MB (2001). "Therapy for Helicobacter pylori in patients with nonulcer dyspepsia. A meta-analysis of randomized, controlled trials". Ann Intern Med. 134: 361–369. doi:10.7326/0003-4819-134-5-200103060-00008. PMID 11242496. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 December 2014. สืบค้นเมื่อ 28 August 2018.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Moayyedi, P; Deeks, J; Talley, NJ (2003). "An update of the Cochrane systematic review of Helicobacter pylori eradication therapy in nonulcer dyspepsia". Am J Gastroenterol. 98 (12): 2621–6. doi:10.1111/j.1572-0241.2003.08724.x. PMID 14687807.
- ↑ Talley, NJ (2002). "Review article: Helicobacter pylori and nonulcer dyspepsia". Aliment Pharmacol Ther. 16 (1): 58–65. doi:10.1046/j.1365-2036.2002.0160s1058.x. PMID 11849130.
- ↑ Pajala, M; Heikkinen, M (2006). "A prospective 1-year follow-up study in patients with functional or organic dyspepsia: changes in gastrointestinal symptoms, mental distress and fear of serious illness". Aliment Pharmacol Ther. 24: 1241–1246. doi:10.1111/j.1365-2036.2006.03108.x. PMID 17014583.
- ↑ 26.0 26.1 26.2 26.3 Mönkemüller, K; Malfertheiner, P (2006). "Drug treatment of functional dyspepsia". World J. Gastroenterol. 12 (17): 2694–700. PMID 16718755.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ 27.0 27.1 27.2 27.3 27.4 Talley, NJ; Vakil, N (2005). "Guidelines for the management of dyspepsia". Am. J. Gastroenterol. 100 (10): 2324–37. doi:10.1111/j.1572-0241.2005.00225.x. PMID 16181387.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ "Information regarding withdrawal of Propulsid (cisapride) by Janssen Pharmaceutica". FDA.
- ↑ Thompson, Coon J; Ernst, E (October 2002). "Systematic review: herbal medicinal products for non-ulcer dyspepsia". Aliment. Pharmacol. Ther. 16 (10): 1689–99. doi:10.1046/j.1365-2036.2002.01339.x. PMID 12269960.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์) - ↑ Melzer, J; Rösch, W; Reichling, J; Brignoli, R; Saller, R (2004). "Meta-analysis: phytotherapy of functional dyspepsia with the herbal drug preparation STW 5 (Iberogast)". Aliment. Pharmacol. Ther. 20 (11–12): 1279–87. doi:10.1111/j.1365-2036.2004.02275.x. PMID 15606389.
{{cite journal}}
: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]การจำแนกโรค | |
---|---|
ทรัพยากรภายนอก |