ข้ามไปเนื้อหา

เดอร์มาโทม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Dermatome)
เดอร์มาโทม
(Dermatome)
เดอร์มาโทมที่รยางค์บนและรยางค์ล่าง (Modified, after Keegan, J. J., and Garrett, F. D.)
เดอร์มาโทมของร่างกายด้านบน แสดงส่วนที่ซ้อนทับกัน (Modified, from Fender, after Foerster)
อภิธานศัพท์กายวิภาคศาสตร์

เดอร์มาโทม (อังกฤษ: dermatome) เป็นผิวหนังส่วนหนึ่งที่โดยหลักเชื่อมกับใยประสาทจากรากหลัง (dorsal root) รากเดียวของเส้นประสาทไขสันหลัง (spinal nerve)[1][2] มีเส้นประสาทไขสันหลังส่วนคอ (cervical nerve) 8 เส้น โดยมีระดับ C1 เป็นข้อยกเว้นเพราะไม่มีเดอร์มาโทม ส่วนอก (thoracic nerve) มี 12 เส้น ส่วนเอว (lumbar nerve) 5 เส้น ส่วนกระเบนเหน็บ (sacral nerve) 5 เส้น เส้นประสาทเหล่านี้แต่ละเส้นส่งความรู้สึก (รวมทั้งความเจ็บปวด) จากผิวหนังส่วนนั้น ๆ ไปยังสมอง

คำว่า เดอร์มาโทม ยังหมายถึงปล้อง (somite) ของตัวอ่อนด้วย

อกและท้องอาจแบ่งเป็นชั้น ๆ คือเป็นเดอร์มาโทมซ้อน ๆ กัน (ดูรูป) แต่ละชั้นได้เส้นประสาทคนละเส้น แต่ขาและแขนมีรูปแบบอีกอย่างหนึ่ง เพราะเดอร์มาโทมแต่ละอันจะวิ่งไปตามยาวของแขนขา แม้รูปแบบทั่วไปจะเหมือนกันทุกคน แต่เขตผิวหนังที่มีประสาทไปเลี้ยงโดยเฉพาะ ๆ ของแต่ละคนจะมีลักษณะโดยเฉพาะ ๆ เช่นกับลายนิ้วมือ

ส่วนผิวหนังที่เชื่อมกับใยประสาทเพียงเส้นเดียวเรียกว่า peripheral nerve field

ความสำคัญทางคลินิก

[แก้]

เดอร์มาโทมเป็นบริเวณผิวหนังที่ได้เส้นประสาทจากเซลล์ประสาทรับความรู้สึกซึ่งอยู่ที่ปมประสาทของเส้นประสาทไขสันหลัง (spinal nerve ganglion) อาการที่เป็นไปตามเดอร์มาโทม (เช่น เจ็บหรือเป็นผื่น) อาจแสดงโรคที่เกี่ยวกับรากเส้นประสาทโดยเฉพาะ ๆ ตัวอย่างรวมทั้งความผิดปกติของการทำงานในไขสันหลังหรือการติดเชื้อไวรัส ปัญหาผิวหนังบางอย่างมักจะมีรอยโรคไปตามเดอร์มาโทม

อาการปวดต่างที่ - ความรู้สึกเจ็บปวดจากอวัยวะภายในอาจทำให้ปวดในส่วนอื่นโดยเฉพาะ ๆ ของร่างกายที่ไม่ได้เป็นเหตุให้เจ็บ คือความเจ็บจากอวัยวะภายในกลับทำให้รู้สึกเจ็บที่เดอร์มาโทมเพราะต่างก็มีเส้นประสาทไปยังไขสันหลังในระดับเดียวกัน

ในอาการปวดต่างที่ ใยประสาทรับความรู้สึก (sensory nerve fiber) เช่นที่มาจากเดอร์มาโทมอาจเข้าไปที่ไขสันหลังในระดับเดียวกันกับใยประสาทรับความรู้สึกของอวัยวะภายใน (general visceral afferent fibers) เช่นที่มาจากหัวใจ เมื่อใยประสาทรับความรู้สึกภายในได้การกระตุ้น ระบบประสาทกลางไม่สามารถจำแนกว่าความเจ็บปวดว่ามาจากผนังร่างกายหรือจากอวัยวะภายใน จึงทำให้รู้สึกว่าเจ็บที่ผนังร่างกายเช่นเจ็บที่มือแขน เจ็บที่ขากรรไก ดังนั้น ความเจ็บจึงไปเกิด "ต่างที่" ที่เดอร์มาโทมซึ่งมีใยประสาทจากข้อไขสันหลังเดียวกัน[3]

ไวรัสที่ซ่อนอยู่ในปมประสาท (nerve ganglia) เช่น ไวรัสวาริเซลลาซอสเตอร์ที่เป็นเหตุของทั้งโรคอีสุกอีใสและงูสวัด บ่อยครั้งทำให้เจ็บปวด หรือเป็นผื่น หรือเป็นทั้งสองอย่างโดยเป็นไปตามเดอร์มาโทม แต่อาการก็อาจไม่เกิดตลอดทั้งเดอร์มาโทม

เดอร์มาโทมที่สำคัญกับจุดสังเกต

[แก้]

ต่อไปนี้เป็นรายการของเส้นประสาทไขสันหลัง และผิวหนังบริเวณที่เป็นส่วนของเดอร์มาโทมที่เส้นประสาทนั้น ๆ[4]

เดอร์มาโทมของรยางค์ล่าง (Modified, from Fender, after Foerster)
  • เส้นประสาทไขสันหลัง C2 - 1 ซม. ข้าง ๆ ปุ่มนอกของท้ายทอยที่ฐานกะโหลกศีรษะ หรือ 3 ซม. เป็นอย่างน้อยข้างหลังหู
  • เส้นประสาทไขสันหลัง C3 - ในแอ่งเหนือกระดูกไหปลาร้า (supraclavicular fossa) ที่ midclavicular line[A]
  • เส้นประสาทไขสันหลัง C4 - เหนือข้อต่ออโครมิโอคลาวิคิวลาร์ (acromioclavicular joint)
  • เส้นประสาทไขสันหลัง C5 - อยู่ทางด้านข้างนอก (lateral/radial) ของข้อพับแขน (antecubital fossa[B]) ต่อจากข้อศอก
  • เส้นประสาทไขสันหลัง C6 - อยู่บนผิวหลัง (dorsal) ของกระดูกนิ้วโป้งท่อนต้น
  • เส้นประสาทไขสันหลัง C7 - อยู่บนผิวหลัง (dorsal) ของกระดูกนิ้วกลางท่อนต้น
  • เส้นประสาทไขสันหลัง C8 - อยู่บนผิวหลัง (dorsal) ของกระดูกนิ้วก้อยท่อนต้น
  • เส้นประสาทไขสันหลัง T1 - อยู่ทางส่วนใน (medial/ulnar) ของข้อพับแขน[B] ต่อจาก medial epicondyle of the humerus[C]
  • เส้นประสาทไขสันหลัง T2 - อยู่ที่ปลาย/ยอดของรักแร้ (axilla)
  • เส้นประสาทไขสันหลัง T3 - ที่จุดตัดของเส้น midclavicular line[A] กับช่องหว่างซี่โครง (intercostal space) ที่สาม
  • เส้นประสาทไขสันหลัง T4 - ที่จุดตัดของเส้น midclavicular line[A] กับช่องหว่างซี่โครง (intercostal space) ที่สี่ อยู่ระดับเดียวกันกับหัวนม
  • เส้นประสาทไขสันหลัง T5 - ที่จุดตัดของเส้น midclavicular line[A] กับช่องหว่างซี่โครง (intercostal space) ที่ห้า อยู่ตามแนวนอนระหว่างหัวนมกับกระดูกลิ้นปี่ (xiphoid process[D])
  • เส้นประสาทไขสันหลัง T6 - ที่จุดตัดของเส้น midclavicular line[A] กับเส้นแนวนอนผ่านกระดูกลิ้นปี่[D]
  • เส้นประสาทไขสันหลัง T7 - ที่จุดตัดของเส้น midclavicular line[A] กับเส้นแนวนอนที่อยู่ 1/4 ระหว่างกระดูกลิ้นปี่[D] กับสะดือ
  • เส้นประสาทไขสันหลัง T8 - ที่จุดตัดของเส้น midclavicular line[A] กับเส้นแนวนอนที่อยู่ระหว่างกระดูกลิ้นปี่[D] กับสะดือ
  • เส้นประสาทไขสันหลัง T9 - ที่จุดตัดของเส้น midclavicular line[A] กับเส้นแนวนอนที่อยู่ 3/4 ระหว่างกระดูกลิ้นปี่[D] กับสะดือ
  • เส้นประสาทไขสันหลัง T10 - ที่จุดตัดของเส้น midclavicular line[A] กับเส้นแนวนอนผ่านสะดือ
  • เส้นประสาทไขสันหลัง T11 - ที่จุดตัดของเส้น midclavicular line[A] กับเส้นแนวนอนระหว่างสะดือกับเอ็นขาหนีบ (inguinal ligament[E])
  • เส้นประสาทไขสันหลัง T12 - ที่จุดตัดของเส้น midclavicular line[A] กับจุดกึ่งกลางของเอ็นขาหนีบ[E]
  • เส้นประสาทไขสันหลัง L2 - ต้นขาหน้าส่วนใน (medial) ที่จุดกึ่งกลางของเส้นที่เชื่อมจุดกึ่งกลางของเอ็นขาหนีบ[E]กับ medial epicondyle of the femur[F]
  • เส้นประสาทไขสันหลัง L3 - อยู่ที่ medial epicondyle of the femur[F]
  • เส้นประสาทไขสันหลัง L4 - เหนือตาตุ่มใน (medial malleolus)
  • เส้นประสาทไขสันหลัง L6 - บนหลังเท้าที่ข้อกระดูก metatarsophalangeal joint[G]
  • เส้นประสาทไขสันหลัง S1 - ทางด้านข้างนอก (lateral) ของกระดูกส้นเท้า (calcaneus)
  • เส้นประสาทไขสันหลัง S2 - อยู่ที่จุดกึ่งกลางของขาพับ (popliteal fossa)[H]
  • เส้นประสาทไขสันหลัง S3 - เหนือ tuberosity of the ischium[I] หรือ infragluteal fold
  • เส้นประสาทไขสันหลัง S4 และ S5 - ที่รอบ ๆ ทวารหนัก อยู่ทางด้านข้างนอก (lateral) ของ mucocutaneous zone[J] ภายในระยะน้อยกว่า 1 ซม.

ต่อไปนี้เป็นรายการเส้นประสาทสมองที่รับความรู้สึกที่ใบหน้า

รูปภาพอื่น ๆ

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 midclavicular line เป็นเส้นที่วิ่งเป็นแนวตั้งลงไปตามผิวร่างกายโดยวิ่งผ่านจุดกลางของกระดูกไหปลาร้า
  2. 2.0 2.1 ข้อพับแขน (cubital fossa หรือ elbow pit) เป็นบริเวณสามเหลี่ยมทางด้านหน้าของศอกของมนุษย์ มันเรียกด้วยว่า antecubital fossa เพราะมันอยู่ข้างหน้าข้อศอก (จากคำละตินว่า cubitus) เมื่ออยู่ใน standard anatomical position
  3. medial epicondyle of the humerus เป็นส่วนรอบปุ่มกระดูก (epicondyle) ด้านใน (medial) ของกระดูกต้นแขนในมนุษย์ มันใหญ่กว่าและเด่นกว่าส่วนรอบปุ่มกระดูกด้านข้าง (lateral epicondyle) และยื่นไปทางข้างหลังมากกว่าเมื่ออยู่ใน standard anatomical position
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 กระดูกลิ้นปี่ (xiphoid process หรือ xiphisternum หรือ metasternum) เป็นส่วนยื่นเป็นกระดูกอ่อนเล็ก ๆ ของกระดูกอกส่วนล่าง ซึ่งปกติจะกลายเป็นกระดูกในผู้ใหญ่[5] อาจเรียกว่า ensiform process ได้ด้วย คำว่า xiphoid (จากคำกรีก) และ ensiform (จากคำละติน) แปลว่า เหมือนดาบ
  5. 5.0 5.1 5.2 เอ็นขาหนีบ (inguinal ligament หรือ Poupart's ligament หรือ groin ligament) เป็นเอ็นที่วิ่งจาก pubic tubercle ไปยัง anterior superior iliac spine กายวิภาคของมันสำคัญยิ่งเมื่อผ่าตัดคนไข้ไส้เลื่อน
  6. 6.0 6.1 medial epicondyle of the femur เป็นส่วนยื่น/ปุ่มกระดูกซึ่งอยู่ที่ด้านใน (medial) ของปลาย (distal) กระดูกต้นขา (femur)
  7. metatarsophalangeal joints หรือ MTP joints เป็นข้อระหว่างกระดูกฝ่าเท้า (metatarsal bone) กับกระดูกนิ้วเท้าส่วนต้น (proximal phalanges) เป็นข้อกระดูกกลม (condyloid joint) คือมีผิวกระดูกเป็นรูปวงรีหรือวงกลมที่ยื่นเข้าไปใกล้ช่องตื้น ๆ ของกระดูกนิ้วเท้าส่วนต้น
  8. ขาพับ (popliteal fossa, kneepit, hough) เป็นแอ่ง/รอยบุ๋มตื้นที่หลังเข่า กระดูกที่เป็นส่วนรวมกระดูกต้นขากับกระดูกแข้ง
  9. ischial tuberosity หรือ tuberosity of the ischium หรือ tuber ischiadicum หรือเรียกด้วยคำอังกฤษสามัญว่า sit bones เป็นปุ่มกระดูกใหญ่ด้านหลังของ superior ramus of the ischium เป็นกระดูกด้านข้างนอก (lateral) ของทางออกเชิงกราน (pelvic outlet)
  10. mucocutaneous zone หรือ mucocutaneous boundary เป็นบริเวณในร่างกายที่เยื่อเมือกกลายเป็นผิวหนังซึ่งสัตว์มีที่ช่องร่างกายต่าง ๆ ในมนุษย์พบได้ที่ปาก รูจมูก เยื่อตา ท่อปัสสาวะ ช่องคลอด หนังหุ้มปลาย (องคชาต) และทวารหนัก
  11. Herpes zoster ophthalmicus (HZO) หรือ ophthalmic zoster เป็นโรคที่มีเหตุจากการคืนฤทธิ์ของไวรัสวาริเซลลาซอสเตอร์ซึ่งซ่อนอยู่ใน ophthalmic nerve อันเป็นส่วนแรก (V1) ของเส้นประสาทไทรเจมินัล[6]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Dermatomes Anatomy". eMedicine. 2017-10-03. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-05-18.
  2. "dermatome". The Free Dictionary by Farlex, Medical dictionary. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-16.
  3. "Referred pain". Physiopedia. 2019-02-02. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-05-21. cited van Cranenburghauthors, B. (1997). SCHEMA’S FYSIOLOGIE. Maarssen: Elsevier/De Tijdstroom. pp. 53, 65, 70.
  4. "Key Sensory Points" (PDF). American Spinal Injury Association (ASIA). June 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04.
  5. Muscolino, Joseph E (2008). The Muscle and Bone Palpation Manual with Trigger Points, Referral Patterns and Stretching. Elsevier Health Sciences. p. 104. ISBN 978-0323051712.{{cite book}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  6. James, William D.; Berger, Timothy G. และคณะ (2006). Andrews' Diseases of the Skin: clinical Dermatology. Saunders Elsevier. p. 380. ISBN 0-7216-2921-0.{{cite book}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]