การคิดแบบติดกลุ่ม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Groupthink)

groupthink เป็นปรากฏการณ์ทางจิตใจที่เกิดในกลุ่มคน ซึ่งความปรารถนาให้กลมกลืนกันหรือคล้อยตามกันในกลุ่ม มีผลให้ตัดสินใจอย่างไม่สมเหตุผลหรือไม่ดี ความเป็นปึกแผ่นของกลุ่มหรือความต้องการให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อาจทำให้สมาชิกในกลุ่มโน้มเอียงเพื่อให้ตกลงกันได้ไม่ว่าจะมีผลเช่นไร[1] ซึ่งทำให้กลุ่มพยายามลดความขัดแย้งกันแล้วมีมติร่วมกันโดยไม่คิดวิเคราะห์ให้ดี[2][3]

แม้ groupthink จะเป็นแนวคิดหรือทฤษฎีทางจิตวิทยาสังคม แต่ก็มีอิทธิพลมากในงานศึกษาด้านการสื่อสาร รัฐศาสตร์ การจัดการ และการศึกษาองค์การ[4] โดยยังเป็นลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของพฤติกรรมทางลัทธิที่ผิดปกติ[5][6]

คำอธิบาย[แก้]

groupthink มักระบุว่าเกิดกับกลุ่มปกติในสังคม เช่น อาจใช้แนวคิดนี้เพื่ออธิบายความคิดอ่านตลอดชีวิตที่กลุ่มมีต่าง ๆ กันในด้านการเมือง เช่นพวกอนุรักษนิยมและเสรีนิยม[7] อาจใช้อธิบายผลดีผลเสียของของการทำงานเป็นทีมเทียบกับเมื่อต่างคนต่างทำ[8] แต่จริง ๆ ความเห็นที่คล้อยตามกันในกลุ่มเหล่านี้ ก็ไม่ได้เกิดจากการตัดสินใจที่ร่วมกันทำ ดังนั้น จึงอาจอธิบายด้วยปรากฏการณ์ความเอนเอียงเพื่อยืนยันโดยรวม ๆ ได้ดีกว่า[ต้องการอ้างอิง]

นักสังคมวิทยาชาวอเมริกัน วิลเลียม ไวท์ บัญญัติคำภาษาอังกฤษนี้ขึ้นในปี 1952[9] ส่วนนักจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยเยล เออร์วิง แจนิส เป็นผู้ทำงานวิจัยเบื้องต้นในเรื่องนี้[10] แล้วพิมพ์หนังสืออันทรงอิทธิพลในปี 1972 ซึ่งต่อมาปรับปรุงในปี 1982[11][12] แจนิสได้ใช้เหตุการณ์บุกรุกประเทศคิวบาที่ล้มเหลวของสหรัฐในปี 1961 คือ การบุกครองอ่าวหมู และการบุกโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ของญี่ปุ่น เป็นกรณีศึกษาหลักสองกรณี ต่อมางานศึกษาหลัง ๆ จึงได้ตรวจสอบแล้วปรับปรุงแนวคิดนี้ใหม่[13][14]

สภาวะ groupthink กดดันให้บุคคลเลี่ยงการขัดแย้งหรือวิธีแก้ปัญหาอื่น ๆ ดังนั้น จึงทำให้เสียความสร้างสรรค์ ความเป็นเอกลักษณ์ และความคิดอันเป็นอิสระของแต่ละบุคคล พลวัตกลุ่มที่ไม่ดีเพราะการมี "กลุ่มใน" ทำให้เชื่อผิด ๆ ว่าข้อตัดสินใจต้องถูกต้องแน่นอน (illusion of invulnerability) ดังนั้น "กลุ่มใน" ก็จะประเมินสมรรถภาพในการตัดสินใจของตนดีเกินไป โดยประเมินสมรรถภาพของอีกฝ่ายคือกลุ่มนอกแย่เกินไป อนึ่ง groupthink อาจทำให้ดูถูกกลุ่มนอก สมาชิกกลุ่มจะรู้สึกถูกกดดันจากคนรอบข้างให้ไปตามน้ำ เพราะกลัวจะชักใบให้เรือเสีย เพราะกลัวว่าเพื่อนจะเห็นตนในทางลบ ปฏิสัมพันธ์ในกลุ่มมักโน้มไปหาข้อตกลงที่ชัดเจนและลงรอยกัน ซึ่งอาจจะเป็นปัญหา เพราะจะไม่มีนวัตกรรมหรือเหตุผลใหม่ ๆ เพื่อให้ได้นโยบายที่ดีกว่า ผลที่ดีกว่า หรือโครงสร้างรูปแบบที่ดีกว่า

วิธีการแก้ปัญหา groupthink ที่เคยใช้มาก่อนก็คือ ให้เลือกสมาชิกที่มีพื้นเพต่าง ๆ กัน อาจมีทั้งผู้ชายผู้หญิง groupthink อาจจัดว่าเป็นปัญหาต่อบริษัท ต่อองค์กร หรือต่อสภาพการทำงานต่าง ๆ เพราะผู้เป็นหัวหน้าปกติจะต้องคิดเองทำเองได้ โดยสมรรถภาพของผู้บริหารก็สัมพันธ์กับการตัดสินใจเองได้ groupthink ยังเป็นอุปสรรคไม่ให้องค์กรก้าวหน้าหรือทำสิ่งใหม่ ๆ ถ้าไม่มีใครออกความเห็นหรือเสนอสิ่งที่อาจทำต่างได้

ปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความเป็นปึกแผ่นของกลุ่ม (group cohesiveness) โครงสร้างกลุ่มบกพร่อง และสถานการณ์ที่มีในกลุ่ม (เช่นความกลัวที่ระบาดในสังคม) มีส่วนตัดสินว่า groupthink จะมีผลต่อการตัดสินใจของกลุ่มหรือไม่

ประวัติ[แก้]

วิลเลียม ไวท์ (William Whyte) ปรับใช้คำนี้จากนิยายดิสโทเปีย คือ หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ ของจอร์จ ออร์เวลล์ ต่อมาจึงกลายเป็นคำนิยมหลังจากที่ตีพิมพ์บทความในนิตยสารฟอร์ชูน ปี 1952

เพราะ Groupthink เป็นคำที่บัญญัติขึ้นโดยต้องยอมรับว่าเป็นคำก่ออารมณ์ จึงควรจะมีคำนิยาม นี่ไม่ใช่เพียงความคล้อยตามกันตามสัญชาตญาณ ซึ่งเป็นข้อบกพร่องปกติของมนุษย์อยู่แล้ว แต่เป็นความคล้อยตามกันที่มีการแก้ต่างเป็นหลักปรัชญาอย่างโต้ง ๆ ว่า ค่านิยมของกลุ่มไม่เพียงแค่มีประโยชน์ แต่ยังถูกต้องและดีอีกด้วย[9][15]

ไวท์ระบุว่า groupthink เป็นปัญหาในการศึกษาและการบริหาร (และโดยปริยายมีผลต่อสหรัฐอเมริกา) ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950 ไวท์ตกใจว่า ทำไมพนักงานบริษัทจึงได้ยอมตนต่ออำนาจกดขี่ของกลุ่ม ซึ่งทำลายความเป็นเอกเทศและทำตนเป็นศัตรูกับอะไรทุกอย่างและทุกคนที่ไม่เห็นด้วยกับ ความเห็นส่วนรวม[16]

นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน เออร์วิง แจนิส ที่มหาวิทยาลัยเยล เป็นผู้ริเริ่มงานวิจัยเบื้องต้นเกี่ยวกับ groupthink เขาไม่ได้อ้างอิงไวท์ แต่ใช้คำบัญญัตินี้โดยเปรียบเทียบกับคำว่า doublethink ที่เป็นศัพท์เฉพาะในนวนิยาย หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ เขานิยาม groupthink โดยดั้งเดิมไว้ดังนี้

ผมใช้คำว่า groupthink เป็นวิธีง่าย ๆ และรวดเร็วเพื่อระบุวิธีการคิดที่บุคคลใช้ เมื่อการหาความเห็นพ้องกันกลายเป็นปัจจัยเด่นในกลุ่มใน (ingroup) ที่เป็นปึกแผ่น จนมักจะล้มล้างการประเมินวิธีแก้ปัญหาอันเป็นทางเลือกที่สมกับสถานการณ์ groupthink เป็นศัพท์แบบเดียวกับหมู่คำ newspeak ที่จอร์จ ออร์เวลล์ได้ใช้อย่างน่ากลัวในโลกดิสโทเปียของนิยาย 1984 ในบริบทนั้น groupthink จึงมีอรรถในเชิงดูถูก ซึ่งก็ตั้งใจอย่างนั้นจริง ๆ เพราะหมายถึงการเสื่อมลงของประสิทธิภาพทางจิตใจ ของการตรวจสอบความจริง ของการตัดสินว่าอะไรดีหรือไม่ดีทางศีลธรรม โดยเป็นผลของความกดดันของกลุ่ม[10]: 43 

เขายังระบุต่อไปอีกว่า

หลักของ groupthink ซึ่งผมให้ในนัยเดียวกับกฎของพาร์คินสัน ก็คือ "ยิ่งมีความเป็นมิตรและความรักหมู่คณะเท่าไหร่ในบรรดาสมาชิกกลุ่มผู้ออกนโยบาย ก็มีอันตรายยิ่งขึ้นเท่านั้นที่การคิดวิเคราะห์อันเป็นอิสระจะถูกแทนที่ด้วย groupthink ซึ่งน่าจะให้ผลเป็นการกระทำที่ไม่สมเหตุผลหรือไม่ถูกมนุษยธรรมต่อกลุ่มนอก[10]: 44 

แจนิสได้ตั้งรากฐานการศึกษา groupthink ด้วยงานวิจัยในโปรเจ็กต์ American Soldier Project ที่เขาศึกษาผลของความเครียดสุดโต่งที่มีต่อความเป็นปึกแผ่นนของกลุ่ม หลังจากงานศึกษานี้ เขาก็ยังคงความสนใจในวิธีการตัดสินใจของบุคคลเมื่อมีภัยภายนอก ซึ่งทำให้เข้าศึกษาสิ่งที่เขาจัดว่าเป็น "เรื่องหายนะ" ในนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ เช่นความล้มเหลวในการคาดว่าเพิร์ลฮาร์เบอร์จะถูกโจมตี (1941) การพ่ายแพ้อย่างยับเยินในการบุกครองอ่าวหมู (1961) และการดำเนินการในสงครามเวียดนาม (1964-67) ของประธานาธิบดี ลินดอน จอห์นสัน เขาสรุปว่าในแต่ละกรณีเหล่านี้ groupthink เป็นปัญหาที่ทำให้ไม่สามารถแสดงความเห็นต่าง แล้วประเมินความเห็นต่างเหล่านั้นได้

หลังจากการพิมพ์หนังสือ Victims of Groupthink ของแจนิสในปี 1972[11] และหนังสือฉบับปรับปรุงใหม่โดยใช้ชื่อ Groupthink: Psychological Studies of Policy Decisions and Fiascoes ในปี 1982[12] ก็มีการใช้แนวคิดนี้เพื่ออธิบายการการตัดสินใจที่บกพร่องอื่น ๆ ทางประวัติศาสตร์ เช่น การตัดสินใจของนาซีเยอรมนีเพื่อโจมตีบุกรุกสหภาพโซเวียตในปี 1941, คดีวอเตอร์เกต และอื่น ๆ แม้แนวคิดนี้จะได้ความนิยม แต่ก็มีงานศึกษาในเรื่องนี้น้อยกว่าสองโหลในระหว่างปี 1972-1998[4]: 107  ซึ่งน่าแปลกใจเพราะแนวคิดกระจายไปในสาขาต่าง ๆ รวมทั้ง การสื่อสาร รัฐศาสตร์ การจัดการ การศึกษาองค์การ จิตวิทยาสังคม ยุทธศาสตร์ การให้คำปรึกษา และการตลาด เพราะอาจเป็นไปได้ว่าศึกษาได้ยาก เพราะมีตัวแปรอิสระและตัวแปรตามต่าง ๆ มากมาย จึงไม่ชัดเจนว่า "จะแปลทฤษฎีให้เป็นตัวแปรเชิงจำนวนซึ่งสามารถตรวจสอบได้อย่างไร"[4]: 107–108  อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากงานวิจัยทางจิตวิทยาและสังคมวิทยา สังคมทั่วไปก็ได้ประสบกับ groupthink ในสถานการณ์ที่มองเห็นได้อย่างเช่น

  • " [...] ผู้วิจารณ์ทวิตเตอร์ได้ชี้ความทรงอิทธิพลของความคิดกลุ่มในสื่อสังคมเช่นนี้ เป็น groupthink ที่กดทับความคิดเห็นอิสระโดยยกย่องความเข้ากับกลุ่มกับสังคมได้"[17]
  • "[...] ผู้นำมักมีความเชื่อซึ่งอยู่ไกลจากความจริงมาก โดยยังอาจสุดโต่งยิ่งขึ้นเมื่อได้การสนับสนุนจากสาวก เจ้าลัทธิจำนวนมากมักจะชอบใจแนวคิดที่เป็นนามธรรม คลุมเครือ และดังนั้น จึงค้านไม่ได้ ซึ่งอาจลดโอกาสการตรวจสอบความจริงลงไปอีก โดยเฉพาะเมื่อมีการควบคุมสมาชิกแบบ milieu control ของลัทธิ ซึ่งหมายความว่าความจริงโดยมากที่นำมาทดสอบได้ คนในกลุ่มเองจะเป็นคนชี้ความจริงนั้น นี่เห็นได้ในปรากฏการณ์ groupthink ซึ่งเชื่อว่าปรากฏอย่างฉาวโฉ่ในเหตุการณ์การบุกครองอ่าวหมู"[18]
  • "groupthink โดยบังคับ [...] groupthink อย่างน้อยยังหมายความว่าต้องอาสาสมัคร แต่ถ้านี้ไม่ได้ผล องค์กรอาจจะใช้วิธีข่มขู่แบบโต้ง ๆ [...] ใน [บริษัทโทรคมนาคมระดับชาติ] พนักงานใหม่ที่ไม่ยอมเชียร์ตามคำสั่งจะได้ผลลบที่ไม่ต่างกับเทคนิคการปลูกฝังความเชื่อและการล้างสมองที่พบในค่ายกูลักสมัยสหภาพโซเวียต[19]

อาการ[แก้]

เพื่อให้ตรวจสอบว่ามี groupthink หรือไม่ ศาสตราจารย์เจ้าของทฤษฎีที่มหาวิทยาลัยเยล เออร์วิง แจนิส ได้ระบุอาการ 8 อย่างที่แสดงว่ามี groupthink[20]

อาการกลุ่ม 1 - การยกย่องกลุ่มตัวเองเกินในด้านอำนาจและศีลธรรม
  • เข้าใจว่าตนพลาดไม่ได้ - ทำให้มองในแง่ดีมากเกินไปแล้วส่งเสริมให้ทำการเสี่ยง
  • ความเชื่อที่ไม่ตรวจสอบ ในด้านศีลธรรมของกลุ่ม ทำให้สมาชิกไม่สนใจผลของการกระทำของตน
อาการกลุ่ม 2 - ไม่เปิดใจ
  • การให้เหตุผลปัดสัญญาณเตือนภัย ที่อาจต่อต้านข้อสมมุติหรือความคิดของกลุ่ม
  • การเหมารวมบุคคลที่ไม่เห็นด้วยกับกลุ่มว่าอ่อนแอ ชั่วร้าย มีอคติ ต่อต้านเพราะอาฆาต ไร้สมรรถภาพ หรือโง่
อาการกลุ่ม 3 - กดดันให้ทำเหมือน ๆ กัน
  • การเซ็นเซอร์ตนเอง คือเซ็นเซอร์แนวคิดของตนที่ต่างกับมติของกลุ่ม
  • ดูเหมือนกับมีเอกฉันท์ ในกลุ่ม คือการไม่พูดโต้ตอบมองว่าเป็นการเห็นด้วย
  • กดดันโดยตรง คือกดดันให้สมาชิกที่ตั้งข้อสงสัยกับกลุ่มให้ทำตามเห็นตาม โดยชี้ว่าเป็นการไม่ซื่อสัตยหรือไม่จงรักภักดี
  • มี Mindguard - คือสมาชิกที่ตั้งตนเองให้เป็นผู้กรองข้อมูลที่เข้ามาในกลุ่ม และกันไม่ให้สมาชิกอื่น ๆ ได้ข้อมูลที่ขัดแย้ง

เมื่อกลุ่มมีอาการโดยมากของ groupthink ก็อาจคาดหวังได้ว่า จะได้กระบวนการตัดสินใจที่ใช้ไม่ได้ เช่น การวิเคราะห์หาทางเลือกอื่นที่ไม่สมบูรณ์ การวิเคราะห์เป้าหมายที่ไม่สมบูรณ์ การไม่ตรวจสอบความเสี่ยงที่เกิดจากยุทธวิธีที่เลือก การไม่ทบทวนทางเลือกที่ปฏิเสธในเบื้องต้นใหม่ การค้นคว้าหาข้อมูลที่ไม่ดี อคติที่เกิดจากการเลือกข้อมูลเพื่อใช้ประเมิน การไม่เตรียมแผนสำรอง[11]

เหตุ[แก้]

ศ. เออร์วิง แจนิส ระบุปัจจัยเบื้องต้นสามอย่างก่อนจะเกิด groupthink[11]: 9 

  1. การมีความเป็นปึกแผ่นของกลุ่มสูง - นี่เป็นปัจจัยหลักที่ก่อ groupthink แม้กลุ่มที่ไม่เป็นปึกแผ่นก็อาจตัดสินใจไม่ดีได้เช่นกัน แต่ก็จะไม่มีปรากฏการณ์ groupthink ส่วนในกลุ่มที่เป็นปึกแผ่น สมาชิกจะไม่พูดโต้แย้งการตัดสินใจของกลุ่ม ไม่โต้เถียงกัน และทำการเพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับสมาชิกในกลุ่ม ถ้าเป็นปึกแผ่นสูงจนกระทั่งสมาชิกไม่ขัดแย้งกัน กลุ่มนี้ก็พร้อมจะมี groupthink แล้ว
    • การลดความเป็นปัจเจกบุคคล เพราะความเป็นปึกแผ่นของกลุ่มจะสำคัญกว่าอิสรภาพในการแสดงออกของบุคคล
    • การดูเหมือนกับมีเอกฉันท์ คือสมาชิกมองอย่างผิด ๆ ว่า ทุกคนเห็นด้วยกับการตัดสินใจของกลุ่ม เพราะการไม่พูดมองว่าเป็นการเห็นด้วย แจนิสให้ข้อสังเกตว่า ความเป็นเอกฉันท์ของสมาชิกเป็นเพียงแค่ภาพลวงตา เพราะสมาชิกอาจจะไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจขององค์กร แต่ก็ไหลไปตามน้ำด้วยเหตุผลต่าง ๆ เช่นเพื่อรักษาสถานะของตนในกลุ่ม และหลีกเลี่ยงการโต้แย้งกับผู้จัดการหรือเพื่อนร่วมงาน เพราะสมาชิกอาจคิดว่า การเสนอความเห็นต่าง อาจจะแยกตนให้เป็นคนโดดเดี่ยว
  2. ความบกพร่องทางโครงสร้าง คือกลุ่มมีระเบียบที่ขัดขวางการสื่อข้อมูล หรือที่ทำให้ตัดสินใจอย่างไม่ละเอียดรอบคอบ
    • การแยกกลุ่มต่างหากกับสังคมทั่วไป ซึ่งอาจก่อแนวคิดที่ผิดแปลก ไม่ตรงกับความจริง ในเรื่องปัญหาที่กลุ่มต้องพยายามแก้ไข ซึ่งจะทำให้ได้วิธีแก้ปัญหาที่บกพร่อง
    • การไร้ผู้นำที่เป็นกลาง นี่เป็นปัญหาเพราะผู้นำเป็นผู้ควบคุมการอภิปรายของกลุ่ม เป็นผู้วางแผนเรื่องที่จะอภิปราย เป็นผู้อนุญาตให้แสดงคำถามบางอย่างเท่านั้น และขอความเห็นจากสมาชิกบางคนในกลุ่มเท่านั้น ความเป็นผู้นำแบบปิดก็คือ เมื่อผู้นำประกาศความเห็นของตนในเรื่องนั้น ๆ ก่อนจะอภิปราย ความเป็นผู้นำแบบเปิดก็คือ เมื่อผู้นำงดออกความเห็นจนถึงระยะหลัง ๆ ของการอภิปราย กลุ่มที่มีผู้นำแบบปิดมักจะมีอคติในการตัดสินใจยิ่งกว่า โดยเฉพาะเมื่อสมาชิกมีความมั่นใจสูง
    • การไร้มาตรฐานให้ดำเนินการอย่างเป็นแบบแผน
    • การที่สมาชิกมีพื้นฐานทางสังคมและคตินิยมคล้าย ๆ กัน
  3. สถานการณ์
    • ภัยภายนอกที่ก่อความตึงเครียดสูง - การตัดสินใจที่มีผลใหญ่ อาจทำให้เครียดและกังวล สมาชิกของกลุ่มอาจรับมือกับความเครียดนี้อย่างไม่สมเหตุผล สมาชิกอาจให้เหตุผลสำหรับการตัดสินใจของตน โดยโฆษณาผลบวกที่จะได้แต่ไม่พูดถึงผลเสียเพื่อจะให้เครียดน้อยที่สุด กลุ่มอาจจะตัดสินใจอย่างรวดเร็วจนไม่มีการอภิปรายและไม่มีความไม่เห็นพ้องกัน กลุ่มที่มีความกดดันสูงมีโอกาสทำการผิดพลาดยิ่งกว่า ไม่ใส่ใจในเป้าหมายสูงสุด และใช้วิธีการที่สมาชิกรู้อยู่แล้วว่าไม่ได้ผล
    • ความล้มเหลวเร็ว ๆ นี้ ซึ่งอาจทำให้ไม่มั่นใจในตนเอง จึงต้องเห็นด้วยกับกลุ่มเพราะกลัวว่าจะถูกติว่าผิด
    • ไม่สามารถตัดสินใจได้
    • มีความกดดันด้านเวลา ดังนั้น สมาชิกกลุ่มจึงอาจสนใจเรื่องประสิทธิภาพและผลที่ได้อย่างรวดเร็ว ยิ่งกว่าคุณภาพและความถูกต้อง และยังอาจทำให้ไม่ใส่ใจในข้อมูลสำคัญอีกด้วย
    • ปัญหาทางศีลธรรม[โปรดขยายความ]

แม้จะเป็นไปได้ว่าสถานการณ์หนึ่ง ๆ จะมีปัจจัยทั้ง 3 อย่าง แต่ก็ไม่ต้องมีทั้ง 3 อย่างเมื่อ groupthink กำลังเกิด แจนิสพิจารณาว่า ความเป็นปึกแผ่นของกลุ่มระดับสูงเป็นปัจจัยเบื้องต้นที่สำคัญที่สุดของ groupthink ซึ่งจะมีแน่นอนเมื่อกำลังเกิด แต่ความเป็นปึกแผ่นก็ไม่ได้ก่อ groupthink อย่างแน่นอน กลุ่มที่เหนียวแน่นปกติจะทำตามขนบธรรมเนียมของกลุ่ม แต่การเกิดของ groupthink จะขึ้นอยู่กับว่าอะไรเป็นขนบธรรมเนียมของกลุ่ม ถ้ากลุ่มสนับสนุนให้มีความเห็นไม่เหมือนกัน และมียุทธการทางเลือกเพื่อแก้ปัญหา ก็เป็นไปได้มากว่า groupthink จะไม่เกิดแม้มีความเป็นปึกแผ่นสูง ดังนั้น ความเป็นปึกแผ่นของกลุ่มระดับสูงจะก่อ groupthink ก็ต่อเมื่อมีปัจจัยเบื้องต้นอย่างอื่นหนึ่งหรือทั้งสองอย่าง โดยสถานการณ์มีโอกาสสูงกว่าเล็กน้อยที่จะก่อ groupthink[21]

การป้องกัน[แก้]

ข้อมูลหรือความเห็นที่ได้จากบุคคลภายนอกอาจจะป้องกัน groupthink

งานศึกษาปี 1993 ระบุว่า ปรากฏการณ์ groupthink ดูเหมือนจะอาศัยข้อสมมุติบางอย่างที่ไม่ได้ระบุรวมทั้ง[22]

  • เป้าหมายของการมีกลุ่มแก้ปัญหา โดยหลักก็เพื่อเพิ่มคุณภาพการตัดสินใจ
  • การแก้ปัญหาของกลุ่มจัดว่าเป็นการใช้เหตุใช้ผล
  • ประโยชน์ของการแก้ปัญหาโดยกลุ่มก็คือ
    • มีทัศนะหลากหลาย
    • มีทางเลือกและข้อมูลเกี่ยวกับทางเลือกหลากหลาย
    • ได้การตัดสินใจที่ดีกว่า เชื่อถือได้มากกว่า
    • ลดอคติ
    • ผลดีที่ได้เกี่ยวเนื่องกับการอยู่ในสังคม
  • groupthink ขัดขวางประโยชน์เหล่านี้เพราะความบกพร่องทางโครงสร้างและสถานการณ์
  • การป้องกัน groupthink จะทำให้ได้การตัดสินใจที่ดีกว่า
  • ความรู้สึกว่ามีสวัสดิภาพที่เป็นภาพลวง สมมุติว่า ทำให้ทำกิจได้ไม่ดีโดยธรรมชาติ
  • ความกดดันในกลุ่มให้มีมติร่วมกัน สร้างนิสัยให้หาความเห็นตรงกัน

ดั้งเดิมเชื่อกันว่า กลุ่มที่ทำงานร่วมกันได้ดี จะสามารถแก้ปัญหาได้เร็วกว่าและมีประสิทธิภาพมากกว่าคนคนเดียว เพราะกลุ่มมีทรัพยากรมากกว่า จึงทำให้ได้ข้อมูลดีกว่า และเห็นวิธีแก้ปัญหาได้หลายอย่างกว่า แต่ก็มีข้อเสียอยู่บ้างคือ ใช้เวลาตัดสินใจนานกว่า และบุคคลต้องยอมกันและกันเพื่อให้ได้ข้อยุติ ต่อมางานวิจัยของแจนิสจึงแสดงว่า กลุ่มที่เหนียวแน่นกันมากอาจทำให้ตัดสินใจได้ไม่ดี

กลุ่มที่เหนียวแน่นอาจปรากฏว่าตัดสินใจได้ดีกว่า เพราะได้มติร่วมกันเร็วกว่าโดยไม่ต้องใช้ทรัพยากรมาก แต่ในระยะยาว กระบวนการตัดสินใจเช่นนี้อาจลดสมรรถภาพการคิดวิเคราะห์ของสมาชิก ดังนั้น จึงอาจต้องป้องกันผลลบจาก groupthink[21] ตามแจนิส การมีกลุ่มตัดสินใจไม่ใช้หมายความว่าจะต้องเกิด groupthink เขาได้ระบุวิธีป้องกันไว้คือ[11]: 209–215 

  • ผู้นำควรให้หน้าที่แก่สมาชิกแต่ละคนให้เป็น "ผู้ประเมินอย่างคิดวิเคราะห์" เพื่อให้สมาชิกสามารถขัดแย้งและตั้งข้อสงสัยได้อย่างเป็นอิสระ
  • ผู้นำไม่ควรระบุความเห็นของตนเมื่อให้งานกับกลุ่ม
  • ผู้นำไม่ควรเข้าประชุมทุกครั้ง เพื่อไม่ให้มีอิทธิพลมากเกินไปกับการตัดสินใจหรือผลที่ได้
  • องค์กรสามารถมีกลุ่มอิสระหลายกลุ่มเพื่อหาวิธีแก้ปัญหา
  • ควรตรวจสอบการแก้ปัญหาที่เป็นทางเลือกและได้ผลทั้งหมด
  • สมาชิกแต่ละคนควรปรึกษาคนนอกกลุ่มที่ไว้ใจได้ในเรื่องแนวคิดของกลุ่ม
  • ควรเชิญผู้เชี่ยวชาญนอกกลุ่มให้เข้าร่วมประชุม สมาชิกควรปรึกษาและถามคำถามต่อผู้เชี่ยวชาญนอกกลุ่มได้
  • สมาชิกอย่างน้อยคนหนึ่งควรจะได้หน้าที่เป็นฝ่ายค้าน ซึ่งควรจะเป็นคนละคนในการประชุมแต่ละครั้ง

เมื่อกลุ่มมีความคิดเห็นอย่างหนึ่ง ฝ่ายค้านควรจะมีจุดยืนที่ไม่เหมือนกัน โดยอาจเป็นจุดยืนทางเลือก นี่เป็นมุขในการอภิปราย เพื่อตรวจสอบแนวคิดโดยให้สมาชิกต้องให้เหตุผลที่มีมุมมองต่าง ๆ กัน ฝ่ายค้านควรจะตั้งคำถามและให้เหตุผลซึ่งไม่เหมือนกับสมาชิกโดยมาก เป็นการกันไม่ให้ตัดสินใจแบบ groupthink[23] งานศึกษาปี 2007 ยืนยันแล้วว่าเทคนิคนี้มีประโยชน์มากสำหรับกลุ่มแก้ปัญหา[24] เพราะใช้ความขัดแย้งให้เป็นประโยชน์ ได้ผลมากที่สุดเพื่อหาวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด เพื่อสมาชิกจะได้ไม่ต้องกลับไปหาวิธีแก้ปัญหาอื่น ๆ ถ้าวิธีแรกใช้ไม่ได้ นักวิชาการของงานนี้ยังเสนอไปด้วยว่า วิธีนี้ควรใช้กับโมเดลกลุ่มแก้ปัญหาอื่น ๆ เพื่อสืบหาและประเมินวิธีการแก้ปัญหา แนวคิดหลักก็คือความขัดแย้งที่เป็นโครงสร้าง ไม่เพียงแต่ลดการเกิด groupthink เท่านั้น แต่ยังช่วยหาวิธีแก้ปัญหาอีกด้วย

ตัวอย่าง[แก้]

หลังจากเหตุการณ์การบุกครองอ่าวหมู ประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี ได้พยายามป้องกัน groupthink ในวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบาด้วยวิธีที่เรียกว่า "การประเมินอย่างระมัดระวัง"[12]: 148–153  ในการประชุม เขาเชิญให้ผู้เชี่ยวชาญภายนอกมาแสดงความเห็น และอนุญาตให้สมาชิกในกลุ่มถามคำถามผู้เชี่ยวชาญอย่างละเอียดลออ เขายังสนับสนุนให้สมาชิกปรึกษาวิธีแก้ปัญหากับเจ้าหน้าที่ที่ไว้เนื้อเชื่อใจในกระทรวงของตน ได้แบ่งกลุ่มใหญ่ออกเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ส่วนหนึ่งก็เพื่อทำลายความเป็นปึกแผ่น เคนเนดียังตั้งใจไม่ไปร่วมการประชุม เพื่อจะได้ไม่ผลักดันความคิดเห็นของตนเอง

ศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดระบุว่าบุคคลที่มีลักษณะเก็บตัว (introvert) บางครั้งจะเงียบเมื่ออยู่ในการประชุมกับบุคคลที่เปิดเผย (extrovert) จึงแนะนำให้ถามความเห็นของแต่ละบุคคลตรง ๆ ไม่ว่าจะในระหว่างการประชุม หรือหลังการประชุมเมื่อคุยกันตัวต่อตัว เขาชี้ว่างานศึกษาได้แสดงว่า กลุ่มที่มีความสัมพันธ์ทางสังคมและพูดหยอกล้อกันสูง มีโอกาสเสี่ยงตัดสินใจเกี่ยวกับการลงทุนที่แย่กว่าเนื่องจาก groupthink เทียบกับกลุ่มผู้ลงทุนที่เป็นคนแปลกหน้าและพร้อมที่จะโต้เถียงกันมากกว่า เพื่อป้องกันปรากฏการณ์กลุ่มมีความเห็นรุนแรงขึ้น ซึ่งการคุยกันระหว่างคนที่มีความเห็นคล้าย ๆ กันทำให้ได้ผลซึ่งสุดโต่งยิ่งกว่าความเห็นเบื้องต้นของสมาชิกแต่ละคน ๆ เขาแนะนำให้สร้างกลุ่มคนที่ไม่เหมือนกันและมีความเห็นต่าง ๆ กัน เขายังชี้ด้วยว่า คนที่ให้ความเห็นเป็นฝ่ายค้านที่ตนเองไม่ได้เชื่อจริง ๆ มักจะได้ผลน้อยกว่าคนที่เห็นอย่างนั้นจริง ๆ ซึ่งจะเกิดในกลุ่มที่สมาชิกเห็นต่างกัน หรือมีกลุ่มทำการต่างหากเป็นอีกฝ่ายโดยสร้างขึ้นเพื่อหากลยุทธ์หรือมีเป้าหมายอีกอย่าง"จริง ๆ"[25]

หลักฐานเชิงประสบการณ์และงานวิเคราะห์อภิมาน[แก้]

การตรวจสอบ groupthink ในแหล็บทำได้ยากเพราะสถานการณ์ไม่จริงทำให้กลุ่มไม่ได้บริบททางสังคมจริง ๆ ซึ่งเปลี่ยนตัวแปรที่ส่งเสริมหรือกีดกัน groupthink[26] เพราะความเป็นอัตวิสัย นักวิจัยจึงมีปัญหาตรวจสอบ groupthink อย่างบริบูรณ์ จึงมักจะต้องเลือกวัดปัจจัยโดยเฉพาะบางอย่าง ๆ เช่น อาจเลือกตรวจลักษณะของกลุ่มและสถานการณ์บางอย่าง[27][28]

งานศึกษาปี 1990 พบว่า "มีงานศึกษาเชิงประสบการณ์เกี่ยวกับ groupthink ที่ได้พิมพ์เพียงแค่ 16 งาน" แล้วสรุปว่า "มีผลสนับสนุนสมมติฐานของแจนิสในบางส่วนเท่านั้น"[29]: 230  และสรุปว่า "แม้แจนิสจะอ้างว่า ความเป็นปึกแผ่นของกลุ่มเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องมีก่อน แต่ก็ไม่มีงานวิจัยที่แสดงผลสำคัญของความเป็นปึกแผ่นต่อปรากฏการณ์ groupthink"[29]: 230  สรุปด้วยว่า งานวิจัยไม่สนับสนุนข้ออ้างของเแจนิสว่า ความเป็นปึกแผ่นและสไตล์ความเป็นผู้นำจะปฏิสัมพันธ์กันเพื่อก่ออาการของ groupthink[29] งานศึกษานี้สรุปผลที่ได้ในงานศึกษาต่าง ๆ ที่วิเคราะห์ เช่น งานปี 1979 แสดงว่า groupthink เกิดขึ้นในกลุ่มตัดสินใจทั้งเล็กทั้งใหญ่ในธุรกิจ[29] ส่วนหนึ่งก็เพราะการแยกตัวต่างหากของกลุ่ม งานศึกษาปี 1982 แสดงว่า กลุ่มทำงานอิสระก็เสี่ยงเกิดอาการ groupthink เช่นเดียวกับกลุ่มตัดสินใจในธุรกิจ[29][30] งานศึกษาปี 1982 อีกงานแสดงว่า ผู้นำที่ต้องการอำนาจมาก จะสร้างบรรยากาศที่เสี่ยง groupthink[29][31] เพราะสไตล์คล้ายกับผู้นำแบบปิด คือไม่ยอมรับความเห็นต่าง งานศึกษาเดียวกันนี้แสดงด้วยว่า ระดับความเป็นปึกแผ่นของกลุ่มไม่สำคัญในการเกิด groupthink ส่วนงานปี 1985 แสดงว่า สมาชิกที่มีอิทธิพลมาก "ตัดสินใจอย่างมีคุณภาพดีกว่า แสดงความวิตกกังวลน้อยกว่า ใช้เวลามากกว่าเพื่อตัดสินใจ และกล่าวคำเห็นด้วย/ไม่เห็นด้วยมากกว่า"[29]: 232 [32] คือโดยทั่วไปแล้ว กลุ่มที่มีสมาชิกที่มีอิทธิพลมากจะมีลักษณะที่กีดขวางการเกิด groupthink ดังนั้น ถ้าสมาชิกที่มีอิทธิพลมากจัดว่าเหมือนกับผู้นำที่ต้องการอำนาจมาก งานปี 1985 ก็จะคัดค้านงานปี 1982 ส่วนงานปี 1985 อีกงานหนึ่งแสดงว่าปฏิสัมพันธ์ระหว่างระดับความเป็นปึกแผ่นของกลุ่มกับสไตล์ความเป็นผู้นำ ไม่สำคัญเลยในการเกิด groupthink[29][33] ซึ่งขัดข้ออ้างของแจนิสว่า ปัจจัยคือความเป็นปึกแผ่นและสไตล์ความเป็นผู้นำจะมีปฏิสัมพันธ์กันในการก่อ groupthink งานปี 1989 พบว่า โครงสร้างของกลุ่มเป็นปัจจัยพยากรณ์การเกิด groupthink แต่สถานการณ์ไม่ใช่ปัจจัย[14][29] โครงสร้างรวมทั้งการแยกออกต่างหากของกลุ่ม ความเหมือนกันของสมาชิกในกลุ่ม และผู้นำที่โปรโมทไอเดียของตน สถานการณ์รวมทั้งความเป็นปึกแผ่นของกลุ่ม ข้อมูลเหล่านี้เท่ากับปฏิเสธข้ออ้างออกแจนิสว่า ความเป็นปึกแผ่นของกลุ่มสามารถพยากรณ์ groupthink ได้

งานศึกษาเกี่ยวกับ groupthink โดยทั่วไปมักจะพุ่งความสนใจไปที่ปัจจัยเบื้องต้นที่ก่อ groupthink การเกิดมักจะวัดด้วยจำนวนการแก้ปัญหาที่กลุ่มหาได้ อย่างไรก็ดีก็ยังไม่มีมาตรฐานที่คงเส้นคงวาและชัดเจนซึ่งนักวิจัยระบุได้อย่างเป็นปรวิสัยว่า เหตุการณ์ groupthink ได้เกิดขึ้นแล้วจริง [26] งานศึกษาในเรื่อง groupthink และในเรื่องปัจจัยที่ทำให้เกิดมีผลคละ งานศึกษาบางงานแสดงว่าความเป็นปึกแผ่นของกลุ่มและสไตล์ความเป็นผู้นำเป็นตัวพยากรณ์ที่สำคัญของ groupthink แต่บางงานกลับระบุว่าปัจจัยเหล่านี้ไม่สำคัญ แต่ความเหมือนกันของสมาชิกในกลุ่มและการแยกตัวของกลุ่มจากสังคมโดยทั่วไปเป็นปัจจัยที่พยากรณ์ groupthink ได้

กรณีศึกษา[แก้]

การเมืองและการทหาร[แก้]

groupthink อาจมีผลมากกับการตัดสินใจทางการเมือง หรือกับยุทธการทางทหาร มีผลให้เสียทรัพยากรมนุษย์หรือทรัพยากรอื่น ๆ อย่างใหญ่หลวง นักการเมืองและนายทหารที่เก่งและมีประสบการณ์มาก บางครั้งอาจจะตัดสินใจอย่างไม่ดีมาก ๆ เมื่ออยู่ในกลุ่มที่ไม่ดี นักวิชาการได้โทษ groupthink เนื่องกับความล้มเหลวทางการเมืองและทางทหารบางอย่างเช่น การบุกครองอ่าวหมู สงครามเวียดนาม และคดีวอเตอร์เกต[12][34] การศึกษาปี 2010 อ้างว่า groupthink เป็นเหตุโดยมากที่เปลี่ยนแนวคิดรัฐบาลกลางสหรัฐเกี่ยวกับ ซัดดัม ฮุสเซน จนเกิดการบุกครองอิรัก พ.ศ. 2546[35] เพราะหลังจากวินาศกรรม 11 กันยายน "ความตึงเครียด ผู้นำที่ยืนยันความเห็นของตน และความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่าง ๆ" เหล่านี้ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ก่อ groupthink[35]: 283  กรณีศึกษาทางการเมืองในเรื่อง groupthink แสดงผลของปัญหานี้ที่เป็นไปได้ในการเมืองปัจจุบัน

การบุกครองอ่าวหมูและวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา[แก้]

การบุกครองอ่าวหมูของสหรัฐในเดือนเมษายน 1961 เป็นกรณีศึกษาหลักที่แจนิสใช้สร้างทฤษฎี groupthink[10] เป็นแผนการที่ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์เป็นผู้ริเริ่ม โดยรัฐบาลของเคนเนดีได้นำแผนการของสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐนี้ไปใช้อย่างไม่คิดพิจารณา[10]: 44  เมื่อมีคนพยายามคัดค้านแผนการนี้ (เช่น Schlesinger และ Fulbright) ทีมของเคนเนดีโดยรวม ๆ ก็ไม่ใส่ใจข้อคัดค้านเหล่านี้ โดยดำรงความเชื่อมั่นในความถูกต้องของแผนการของตน[10]: 46  จนกระทั่งคนที่คัดค้านก็พยายามล้มเลิกความสงสัยของตน แล้วเซ็นเซอร์ตัวเองไม่กล่าวอะไร [10]: 74  ทีมของเคนเนดีเห็น ฟิเดล กัสโตร กับบริวารแบบเหมารวม โดยไม่ได้ตั้งข้อสงสัยกับข้อสมมุติผิด ๆ ของสำนักข่าวกรองกลาง เช่นว่ากองทัพอากาศคิวบาไม่มีประสิทธิภาพ ว่ากองทัพคิวบาอ่อนแอ และว่ากัสโตรไม่สามารถผจญกับกบฏได้[10]: 46 

แจนิสอ้างว่า ความล้มเหลวที่เกิดสามารถป้องกันได้ถ้ารัฐบาลเคนเนดีได้ใช้วิธีป้องกัน groupthink ดังที่ทำในวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบาซึ่งเกิดในปีต่อมา ในวิกฤตการณ์นี้ ผู้นำทางการเมืองก็ยังคนเดียวกัน แต่คราวนี้ได้ใช้บทเรียนในเรื่องการดูถูกศัตรูอย่างผิด [10]: 76 

เพิร์ลฮาร์เบอร์[แก้]

การโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ในวันที่ 7 ธันวาคม 1941 เป็นตัวอย่างหลักอย่างหนึ่งของปัญหา groupthink ปัจจัยต่าง ๆ เช่น การคิดผิด ๆ และการให้เหตุผลผิด ๆ ที่มีร่วมกัน ทำให้นายทหารกองทัพเรือสหรัฐในรัฐฮาวายไม่เตรียมการระมัดระวังไว้ก่อน ถึงสหรัฐจะได้ดักฟังข้อความการสื่อสารของญี่ปุ่นแล้วพบว่าญี่ปุ่นกำลังเตรียมตัวโจมตีฐานทัพ "บางแห่ง" ในมหาสมุทรแปซิฟิก โดยรัฐบาลกลางก็ได้เตือนนายทหารในเพิร์ลฮาร์เบอร์ด้วย แต่ก็ยังไม่สนใจคำเตือน เพราะเชื่อว่าญี่ปุ่นกำลังเตรียมตัวในกรณีที่กงสุลของตนในประเทศศัตรูถูกยึดครอง

กองทัพเรือและกองทัพบกสหรัฐที่เพิร์ลฮาร์เบอร์มีเหตุผลเหมือน ๆ กันว่า ทำไมโอกาสการถูกโจมตีจึงไม่มี รวมทั้ง[12]: 83, 85 

  • "พวกญี่ปุ่นไม่มีทางจะพยายามโจมตีทำลายฮาวายอย่างเต็มตัวโดยไม่คาดฝัน เพราะย่อมรู้ว่าจะก่อสงครามเต็มตัว ซึ่งสหรัฐย่อมชนะอย่างแน่นอน"
  • "กองทัพเรือแปซิฟิกซึ่งรวมทัพอยู่ที่เพิร์ลฮาร์เบอร์ เป็นเครื่องกีดขวางการโจมตีทางอากาศและทางนาวีตัวสำคัญ"
  • "ถึงแม้พวกญี่ปุ่นจะโง่แล้วส่งเรือบรรทุกอากาศยานมาโจมตีพวกเรา ก็จะมีเวลาพอตรวจพบและทำลายพวกมันได้"
  • "เรือรบที่ทอดสมอในน้ำตื้น ๆ ของเพิร์ลฮาร์เบอร์ไม่สามารถจมได้ด้วยตอร์ปิโดหรือระเบิดที่เครื่องบินศัตรูมาส่ง"

ภัยพิบัติกระสวยอวกาศแชลเลนเจอร์[แก้]

ในวันที่ 28 มกราคม 1986 สหรัฐได้ยิงกระสวยอวกาศชาเลนเจอร์ ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญมากสำหรับองค์กรนาซา เพราะมีครูไฮสกูลคนหนึ่งรวมอยู่ในลูกเรือ เป็นพลเรือนสหรัฐคนแรกที่จะไปในอวกาศ ทีมวิศวะและทีมปล่อยกระสวยปกติจะทำงานเป็นกลุ่ม โดยสมาชิกจะต้องยืนยันว่าระบบแต่ระบบกำลังทำงานเป็นปกติ แต่จริง ๆ วิศวกรของบริษัท Thiokol ซึ่งออกแบบและสร้างจรวดบูสเตอร์ของแชลเลนเจอร์ได้เตือนมาก่อนแล้วว่า อุณหภูมิของวันที่ส่งกระสวยอาจมีผลให้จรวดล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงโดยลูกเรือจะตายทั้งหมด[36] อย่างไรก็ดี ภัยพิบัติกระสวยอวกาศแชลเลนเจอร์ก็ได้เกิดขึ้น โดยทำให้ไม่มีการบินกระสวยอวกาศอีกเป็นเวลานานเกือบ 3 ปี

งานศึกษาปี 1991 ได้ตรวจสอบการเกิด groupthink ในเชิงปริมาณ แล้วพบว่ามีปัจจัยเบื้องต้นอย่างชัดเจนที่มีผลต่อการตัดสินใจการยิงกระสวยอวกาศ[37] การยิงกระสวยถูกเร่งรีบด้วยเหตุผลทางสื่อสัมพันธ์เพราะนาซาต้องการความสนใจ การมีครูมัธยมปลายคือ คริสตา แมคออลิฟ เพื่อถ่ายทอดการสอนสด และการได้ประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน ให้พูดถึงในการแถลงนโยบายประจำปีต่อรัฐสภา เป็นโอกาสที่นาซาเห็นว่าสำคัญยิ่งเพื่อเพิ่มความสนใจในโปรแกรมอวกาศสำหรับพลเรือน ดังนั้น กำหนดการจึงเป็นสิ่งที่นาซาตั้งเอง จึงประหลาดว่าองค์กรที่มีประวัติการบริหารจัดการที่ประสบผลสำเร็จกลับล็อกตัวเองกับแผนการที่ไม่มีทางทำได้[38]

โลกธุรกิจ[แก้]

ในโลกธุรกิจ การตัดสินใจโดยกลุ่มที่ไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่ดีพอ อาจมีผลลบต่อบริษัทและทำให้ขาดทุนมาก

สวิสแอร์[แก้]

งานศึกษาปี 2010 แสดงปัญหา groupthink ในการล่มของบริษัทสวิสแอร์ ซึ่งเป็นสายการบินของสวิตเซอร์แลนด์ที่เชื่อว่ามั่นคงทางการเงินจนกระทั่งได้ชื่อว่า "ธนาคารบินได้"[39] นักวิชาการอ้างว่าสวิสแอร์มีอาการสองอย่างของ groupthink คือความเชื่อว่าล้มเหลวไม่ได้ และความเชื่อในความถูกต้องของสิ่งที่ทำ[39]: 1056  อนึ่ง ก่อนจะเกิดความล้มเหลว คณะกรรมการบริษัทได้ถูกลดจำนวน เป็นการทิ้งความเชี่ยวชาญทางธุรกิจซึ่งอาจเพิ่มโอกาสการเกิด groupthink[39]: 1055  เพราะกรรมการบริษัทไม่เชี่ยวชาญในด้านสายการบิน มีพื้นเพประสบการณ์ที่คล้าย ๆ กัน และมีค่านิยมธรรมเนียมประเพณีที่เหมือน ๆ กัน ดังนั้น ความกดดันเพื่อให้คล้อยตามกันอาจมีเพิ่มขึ้น[39]: 1057  ความคล้าย ๆ กันเช่นนี้เป็นปัจจัยเบื้องต้นของ groupthink ปัจจัยเหล่านี้ร่วมกันอาจทำให้คณะกรรมการตัดสินใจได้ไม่ดีซึ่งในที่สุดก็ทำให้บริษัทล้มเหลว

มาร์กแอนด์สเปนเซอร์และบริติชแอร์เวย์[แก้]

ตัวอย่างปัญหา groupthink ในโลกธุรกิจอื่น ๆ เป็นบริษัทสหราชอาณาจักรคือ มาร์กสแอนด์สเปนเซอร์และบริติชแอร์เวย์ ซึ่งเกิดในช่วงทศวรรษ 1990 เมื่อบริษัททั้งสองขยายตัวแบบโลกาภิวัตน์ งานศึกษาปี 2000 ได้วิเคราะห์ข่าวแจกของบริษัททั้งสอง แล้วพบอาการทั้ง 8 อย่างของ groupthink ที่เด่นที่สุดก็คือความรู้สึกว่าตนล้มเหลวไม่ได้ บริษัททั้งสองล้วนแต่ดูถูกความล้มเหลวมากเกินไปเนื่องจากได้กำไรมาเป็นหลาย ๆ ปีแม้แต่ในตลาดที่มีปัญหา และจนกระทั่งประสบกับผลลบที่ได้จาก groupthink บริษัททั้งสองก็ได้จัดว่าเป็นบริษัทบลูชิปโดยได้ความนิยมมากในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน แต่ในระหว่างปี 1998-1999 ราคาหุ้นของมาร์กแอนด์สเปนเซอร์ได้ตกลงจาก 590 จนเหลือน้อยกว่า 300 และของบริติชแอร์เวย์จาก 740 เหลือแค่ 300[40]

กีฬา[แก้]

มีงานศึกษาเกี่ยวกับ groupthink นอกโลกธุรกิจและการเมือง เช่นในเรื่องกีฬา งานศึกษาปี 2003 ตรวจสอบเหตุการณ์ลาออกเป็นหมู่ของกรรมการเบสบอลของสมาคมอัมไพร์เมเจอร์ลีก (MLUA) ในปี 1999 ที่ใช้เป็นการต่อรองกับเมเจอร์ลีกเบสบอล (MLB)[41]: 21  แต่ไม่ได้ผลเพราะเมเจอร์ลีกเบสบอลยอมรับการลาออกทั้งหมดแล้วนำกรรมการจากไมเนอร์ลีกมาแทน นักวิชาการพบอาการ 3 อย่างของ groupthink ในการตัดสินใจลาออก คือ 1) ประเมินอำนาจที่ตนมีเหนือลีกเบสบอลมากเกินไป และประเมินกำลังใจสู้ของสมาชิกมากเกินไป 2) สมาคมมีใจปิดโดยส่วนหนึ่งเพราะเห็น MLB เป็นศัตรู 3) สมาชิกของสมาคมเซ็นเซอร์ตัวเอง เพราะแม้จะไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจแต่ก็ไม่พูดอะไร [41]: 25  ปัจจัยเหล่านี้รวมทั้งข้อบกพร่องอื่น ๆ ทำให้ตัดสินใจอย่างไม่ได้ผลและไม่สมบูรณ์

พัฒนาการเร็ว ๆ นี้[แก้]

Ubiquity model[แก้]

งานปี 2005 ระบุว่า ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยเบื้องต้นที่แจนิสเชื่อว่าจำเป็น ไม่ได้รับการยืนยันจากงานวิจัย groupthink ต่าง ๆ ที่มีอยู่ จึงฟันธงว่าไม่ถูกต้อง และอ้างว่าปัจจัยเหล่านั้นไม่เพียงไม่จุดชะนวนให้เกิดอาการ groupthink เท่านั้น แต่มักจะไม่มีผลเพิ่มอาการเลย[42] แล้วเสนอโมเดลอีกอย่างหนึ่ง คือ ubiquity model ซึ่งระบุปัจจัยเบื้องต้นต่างหาก ๆ ของ groupthink รวมทั้ง เอกลักษณ์ทางสังคม (social identification) ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ชัดเจน (salient norms) และความไม่เชื่อว่าสามารถทำกิจให้สำเร็จด้วยตนเอง (low self-efficacy)

General group problem-solving (GGPS) model[แก้]

งานศึกษาปี 1993 อ้างว่า แนวคิดเกี่ยวกับ groupthink อาศัยตัวอย่างจำนวนน้อยและไม่ครอบคลุม แต่นำมาใช้วางนัยทั่วไปกว้างเกินไป[22] อนึ่ง แนวคิดยังแบ่งเป็นขั้น ๆ ในเชิงกำหนดอย่างจำกัดเกินไป หลักฐานเชิงประสบการณ์ก็ยังไม่คงเส้นคงวาด้วย นักวิจัยงานนี้เปรียบเทียบ groupthink กับแนวคิดของ มาสโลว์ และปียาแฌ คือในแต่กรณี แนวคิดที่ตั้งขึ้นก่อความสนใจอย่างมาก แล้วก็มีงานวิจัยที่ตามมาซึ่งปฏิเสธความสมเหตุผลของแนวคิดดั้งเดิม นักวิจัยงานนี้เสนอโมเดลใหม่ซึ่งเรียกว่า General Group Problem Solving (GGPS) Model ซึ่งรวมเอาสิ่งที่ค้นพบในงานศึกษาเกี่ยวกับ groupthink โดยยังเปลี่ยนลักษณะต่าง ๆ ของ groupthink ด้วย[22]: 534 

การตรวจสอบใหม่[แก้]

นักวิชาการรุ่นหลัง ๆ ได้ตรวจสอบความสมเหตุผลของ groupthink โดยอาศัยกรณีศึกษาที่แจนิสดั้งเดิมใช้เป็นหลักฐานสำหรับโมเดลของตน งานวิจัยปี 1998 เชื่อว่า เพราะนักวิชาการปัจจุบันมีแนวคิดที่ซับซ้อนยิ่งกว่าเกี่ยวกับกระบวนการตัดสินใจโดยทั่วไป และเพราะมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกันเพิ่มขึ้นในเรื่อง ความล้มเหลวต่าง ๆ การตรวจสอบกรณีศึกษาใหม่จึงสมควรและจำเป็น[43] เขาอ้างว่าหลักฐานใหม่ ๆ ไม่สนับสนุนแนวคิดของแจนิสว่า groupthink ได้สร้างปัญหาสำหรับแผนการบุกครองอ่าวหมูของประธานาธิบดีเคนเนดี หรือแผนสงครามเวียดนามของประธานาธิบดีจอห์นสัน เพราะประธานาธิบดีทั้งสองต่างก็ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญภายนอกมากกว่าที่แจนิสระบุ[43]: 241  เขาอ้างว่า จริง ๆ ตัวประธานาธิบดีเองเป็นผู้ตัดสินใจในปฏิบัติการที่ล้มเหลวทั้งสอง และเมื่อตัดสินใจว่าจะทำอะไร ก็ให้น้ำหนักการตีความของตัวเองยิ่งกว่าการตัดสินใจของกลุ่มที่ได้เสนอ[43]: 241  แล้วสรุปว่า การอธิบายปัญหาทางทหารทั้งสองเรื่องของแจนิสบกพร่องโดยจริง ๆ groupthink มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของกลุ่มน้อยกว่าที่เชื่อกัน

แม้ groupthink เชื่อว่าจะเป็นเรื่องลบ แต่ก็มีผลดีบ้าง งานศึกษาปี 1999[44] พบว่าความเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่ม เช่นเชื่อว่ากลุ่มกำลังทำสิ่งที่ถูกต้อง ทำให้สืบหาความเห็นพ้องน้อยลง ได้การตัดสินใจที่ดีขึ้น มีกิจกรรมกลุ่มที่ดีกว่า และกลุ่มปฏิบัติการได้ดีกว่า งานศึกษานี้ยังพบด้วยว่า groupthink ไม่สัมพันธ์กับการตัดสินใจที่บกพร่องอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งหมายความว่า ในสถานการณ์บางอย่าง groupthink ไม่จำเป็นต้องมีผลลบ นี่เท่ากับชี้ปัญหาของทฤษฎีดั้งเดิมของ groupthink อีกด้วย

ยังมีนักวิชาการอื่นอีกที่ไม่เห็นด้วยกับทฤษฎีดั้งเดิมของ groupthink งานศึกษาปี 1998 อ้างว่า ความเชื่อมั่นในความสามารถของตนเองโดยรวม ทำให้ระวังน้อยลงและทำการเสี่ยงเพิ่มขึ้น เช่นที่ระบุว่ามีใน groupthink[45] งานปี 1998 เสนอว่าความมีรูปงามของสมาชิกอาจมีผลให้ตัดสินใจไม่ดีมากที่สุด[46] งานปี 1991 แสดงว่า ในมุมมองของความเป็นเอกลักษณ์ทางสังคม groupthink อาจจะเป็นความพยายามของกลุ่มเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกมองในทางลบ[6]

ร่วมกันแล้วนักวิชาการเหล่านี้ได้ทำให้เข้าใจปัญหาเกี่ยวกับ groupthink มากขึ้น เป็นการสร้างความเข้าใจใหม่

ทฤษฎีทางสังคมประชาน[แก้]

ตามทฤษฎีของงานศึกษาปี 2007 ลักษณะพื้นฐานหลายอย่างของ groupthink เช่นความเป็นปึกแผ่น บรรยากาศที่ยอมกันและกัน และความรู้สึกว่าต่างกับคนอื่น เป็นผลของการเข้ารหัสความจำแบบ mnemonic encoding สมาชิกของกลุ่มที่เหนียวแน่น มักจะเข้ารหัสลักษณะสำคัญ ๆ ของกลุ่มโดยเป็นความจำอาศัยเหตุการณ์ (episodic memories) โดยก่อผลที่พยากรณ์ได้ต่อพฤติกรรมและอุดมคติโดยรวมของกลุ่ม นี่เทียบกับเมื่อเข้ารหัสในรูปแบบ semantic memories ซึ่งเป็นการจำข้อมูลทั่วไป และเกิดอย่างสามัญในกลุ่มที่ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ และในกลุ่มที่มีระเบียบแบบแผนน้อยกว่า[47]

ดูเพิ่ม[แก้]

เชิงอรรถและอ้างอิง[แก้]

  1. McRay, Jeni (2015-01-15). Leadership Glossary. ISBN 978-0-9907300-0-2.
  2. "Organisational behaviour - Docsity". www.docsity.com (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2020-05-27.
  3. "Groupthink". Ethics Unwrapped (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2020-05-27.
  4. 4.0 4.1 4.2 Turner, M. E.; Pratkanis, A. R. (1998). "Twenty-five years of groupthink theory and research: lessons from the evaluation of a theory" (PDF). Organizational Behavior and Human Decision Processes. 73 (2–3): 105–115. doi:10.1006/obhd.1998.2756. PMID 9705798. S2CID 15074397. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-10-19.
  5. Wexler, Mark N. (1995). "Expanding the groupthink explanation to the study of contemporary cults". Cultic Studies Journal. 12 (1): 49–71. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-04-03. สืบค้นเมื่อ 2016-05-11.
  6. 6.0 6.1 Turner, M.; Pratkanis, A. (1998). "A social identity maintenance model of groupthink". Organizational Behavior and Human Decision Processes. 73 (2–3): 210–235. doi:10.1006/obhd.1998.2757. PMID 9705803.
  7. Sherman, Mark (March 2011), "Does liberal truly mean open-minded?", Psychology Today
  8. Cain, Susan (2012-01-13). "The rise of the new groupthink". New York Times.
  9. 9.0 9.1 Whyte, W. H. Jr. (March 1952). "Groupthink". Fortune. pp. 114–117, 142, 146.
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 10.4 10.5 10.6 10.7 10.8 Janis, I. L. (November 1971). "Groupthink" (PDF). Psychology Today. 5 (6): 43–46, 74–76. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-04-01.{{cite journal}}: CS1 maint: unfit URL (ลิงก์)
  11. 11.0 11.1 11.2 11.3 11.4 Janis, I. L. (1972). Victims of Groupthink: a Psychological Study of Foreign-Policy Decisions and Fiascoes. Boston: Houghton Mifflin. ISBN 0-395-14002-1.
  12. 12.0 12.1 12.2 12.3 12.4 Janis, I. L. (1982). Groupthink: Psychological Studies of Policy Decisions and Fiascoes. Boston: Houghton Mifflin. ISBN 0-395-31704-5.
  13. 't Hart, P. (1998). "Preventing groupthink revisited: Evaluating and reforming groups in government". Organizational Behavior and Human Decision Processes. 73 (2–3): 306–326. doi:10.1006/obhd.1998.2764. PMID 9705806.
  14. 14.0 14.1 McCauley, C. (1989). "The nature of social influence in groupthink: Compliance and internalization". Journal of Personality and Social Psychology. 57 (2): 250–260. doi:10.1037/0022-3514.57.2.250.
  15. Safire, William (2004-08-08). "Groupthink". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2012-02-02. If the committee's other conclusions are as outdated as its etymology, we're all in trouble. 'Groupthink' (one word, no hyphen) was the title of an article in Fortune magazine in March 1952 by William H. Whyte Jr. ... Whyte derided the notion he argued was held by a trained elite of Washington's 'social engineers.'
  16. Pol, Oliver; Bridgman, Todd; Cummings, Stephen (2022). "The forgotten 'immortalizer': Recovering William H Whyte as the founder and future of groupthink research". Human Relations. 75 (8): 1615–1641. doi:10.1177/00187267211070680. ISSN 0018-7267.
  17. Cross, Mary (2011-06-30). Bloggerati, Twitterati: How Blogs and Twitter are Transforming Popular Culture. ABC-CLIO (ตีพิมพ์ 2011). p. 62. ISBN 9780313384844. สืบค้นเมื่อ 2013-11-17. [...] critics of twitter point to the predominance of the hive mind in such social media, the kind of groupthink that submerges independent thinking in favor of conformity to the group, the collective.
  18. Taylor, Kathleen (2006-07-27). Brainwashing: The Science of Thought Control. Oxford University Press (ตีพิมพ์ 2006). p. 42. ISBN 9780199204786. สืบค้นเมื่อ 2013-11-17. [...] leaders often have beliefs which are very far from matching reality and which can become more extreme as they are encouraged by their followers. The predilection of many cult leaders for abstract, ambiguous, and therefore unchallengeable ideas can further reduce the likelihood of reality testing, while the intense milieu control exerted by cults over their members means that most of the reality available for testing is supplied by the group environment. This is seen in the phenomenon of 'groupthink', alleged to have occurred, notoriously, during the Bay of Pigs fiasco.
  19. Jonathan I., Klein (2000). Corporate Failure by Design: Why Organizations are Built to Fail. Greenwood Publishing Group. p. 145. ISBN 9781567202977. สืบค้นเมื่อ 2013-11-17. Groupthink by Compulsion [...] [G]roupthink at least implies voluntarism. When this fails, the organization is not above outright intimidation. [...] In [a nationwide telecommunications company], refusal by the new hires to cheer on command incurred consequences not unlike the indoctrination and brainwashing techniques associated with a Soviet-era gulag.
  20. "The Theory of Groupthink Applied to Nanking". Stanford University. สืบค้นเมื่อ 2024-03-06.
  21. 21.0 21.1 Hart, Paul't (1991). "Irving L. Janis' "Victims of Groupthink"". Political Psychology. 12 (2): 247–278. doi:10.2307/3791464. JSTOR 3791464. S2CID 16128437.
  22. 22.0 22.1 22.2 Aldag, R. J.; Fuller, S. R. (1993). "Beyond fiasco: A reappraisal of the groupthink phenomenon and a new model of group decision processes" (PDF). Psychological Bulletin. 113 (3): 533–552. doi:10.1037/0033-2909.113.3.533. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2013-06-18.
  23. Aamodt, Michael G. (2016). "12 Group behavior, terms, and conflict". Industrial/organizational psychology: an applied approach. Boston, MA: Cengage Learning. ISBN 978-1-305-11842-3.
  24. Hartwig, R. (2007), Facilitating problem solving: A case study using the devil’s advocacy technique, Conference Papers - National Communication Association, published in Group Facilitation: A Research and Applications Journal, Number 10, 2010, pp 17-32, accessed 2 November 2021
  25. "Gauging Group Dynamics". 2015-01-21.
  26. 26.0 26.1 Flowers, M.L. (1977). "A laboratory test of some implications of Janis's groupthink hypothesis". Journal of Personality and Social Psychology. 35 (12): 888–896. doi:10.1037/0022-3514.35.12.888.
  27. Schafer, M.; Crichlow, S. (1996). "Antecedents of groupthink: a quantitative study". Journal of Conflict Resolution. 40 (3): 415–435. doi:10.1177/0022002796040003002. S2CID 146163100.
  28. Cline, R. J. W. (1990). "Detecting groupthink: Methods for observing the illusion of unanimity". Communication Quarterly. 38 (2): 112–126. doi:10.1080/01463379009369748.
  29. 29.0 29.1 29.2 29.3 29.4 29.5 29.6 29.7 29.8 Park, W.-W. (1990). "A review of research on groupthink" (PDF). Journal of Behavioral Decision Making. 3 (4): 229–245. doi:10.1002/bdm.3960030402. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-04-09.
  30. Manz, C. C.; Sims, H. P. (1982). "The potential for "groupthink" in autonomous work groups". Human Relations. 35 (9): 773–784. doi:10.1177/001872678203500906. S2CID 145529591.
  31. Fodor, Eugene M.; Smith, Terry (1982). "The power motive as an influence on group decision making". Journal of Personality and Social Psychology. 42 (1): 178–185. doi:10.1037/0022-3514.42.1.178. ISSN 1939-1315.
  32. Callaway, Michael R.; Marriott, Richard G.; Esser, James K. (1985). "Effects of dominance on group decision making: Toward a stress-reduction explanation of groupthink". Journal of Personality and Social Psychology. 49 (4): 949–952. doi:10.1037/0022-3514.49.4.949. ISSN 1939-1315.
  33. Leana, Carrie R. (1985). "A Partial Test of Janis' Groupthink Model: Effects of Group Cohesiveness and Leader Behavior on Defective Decision Making". Journal of Management. 11 (1): 5–18. doi:10.1177/014920638501100102. ISSN 0149-2063.
  34. Raven, B. H. (1998). "Groupthink: Bay of Pigs and Watergate reconsidered". Organizational Behavior and Human Decision Processes. 73 (2/3): 352–361. doi:10.1006/obhd.1998.2766. PMID 9705808.
  35. 35.0 35.1 Badie, D. (2010). "Groupthink, Iraq, and the War on Terror: Explaining US policy shift toward Iraq". Foreign Policy Analysis. 6 (4): 277–296. doi:10.1111/j.1743-8594.2010.00113.x. S2CID 18013781.
  36. "CW Communications: Comparison of AM and FMD. Middleton, Introduction to Statistical Communication Theory, McGraw Hill Book Company, New York, 1960 and, J. L. Lawson and G. E. Uhlenbeck, Threshold Signals, McGraw Hill Book Company, New York, 1950, contain extensive discussions of both AM and FM.", Communication Systems and Techniques, IEEE, 2009, doi:10.1109/9780470565292.ch3, ISBN 978-0-470-56529-2
  37. Hart, Paul't (June 1991). "Irving L. Janis' Victims of Groupthink". Political Psychology. 12 (2): 247–278. doi:10.2307/3791464. ISSN 0162-895X. JSTOR 3791464.
  38. "Recovery after Challenger", Space Shuttle Columbia, Springer Praxis Books in Space Exploration, Praxis, 2005, pp. 99–146, doi:10.1007/978-0-387-73972-4_3, ISBN 978-0-387-21517-4
  39. 39.0 39.1 39.2 39.3 Hermann, A.; Rammal, H. G. (2010). "The grounding of the "flying bank"". Management Decision. 48 (7): 1051. doi:10.1108/00251741011068761.
  40. Eaton, Jack (2001). "Management communication: the threat of groupthink". Corporate Communications. 6 (4): 183–192. doi:10.1108/13563280110409791.
  41. 41.0 41.1 Koerber, C. P.; Neck, C. P. (2003). "Groupthink and sports: An application of Whyte's model". International Journal of Contemporary Hospitality Management. 15: 20–28. doi:10.1108/09596110310458954.
  42. Baron, R. (2005). "So right it's wrong: Groupthink and the ubiquitous nature of polarized group decision making". Advances in Experimental Social Psychology. 37: 35. doi:10.1016/s0065-2601(05)37004-3. ISBN 9780120152377.
  43. 43.0 43.1 43.2 Kramer, R. M. (1998). "Revisiting the Bay of Pigs and Vietnam decisions 25 years later: How well has the groupthink hypothesis stood the test of time?". Organizational Behavior and Human Decision Processes. 73 (2/3): 236–71. doi:10.1006/obhd.1998.2762. PMID 9705804.
  44. Choi, Jin Nam; Kim, Myung Un (1999). "The organizational application of groupthink and its limitations in organizations". Journal of Applied Psychology. 84 (2): 297–306. doi:10.1037/0021-9010.84.2.297. ISSN 1939-1854.
  45. Whyte, G. (1998). "Recasting Janis's Groupthink model: The key role of collective efficacy in decision fiascoes". Organizational Behavior and Human Decision Processes. 73 (2/3): 185–209. doi:10.1006/obhd.1998.2761. PMID 9705802.
  46. McCauley, C. (1998). "Group dynamics in Janis's theory of groupthink: Backward and forward". Organizational Behavior and Human Decision Processes. 73 (2/3): 142–162. doi:10.1006/obhd.1998.2759. PMID 9705800.
  47. Tsoukalas, I. (2007). "Exploring the microfoundations of group consciousness". Culture and Psychology. 13 (1): 39–81. doi:10.1177/1354067x07073650. S2CID 144625304.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

บทความ[แก้]

หนังสือ[แก้]

  • Janis, Irving L. (1972). Victims of Groupthink: A Psychological Study of Foreign-policy Decisions and Fiascoes. Boston: Houghton, Mifflin. ISBN 0-395-14002-1.
  • Janis, Irving L.; Mann, L. (1977). Decision making: A Psychological Analysis of Conflict, Choice, and Commitment. New York: The Free Press. ISBN 0-02-916190-8.
  • Kowert, P. (2002). Groupthink or Deadlock: When do Leaders Learn from their Advisors?. Albany: State University of New York Press. ISBN 0-7914-5250-6.
  • Martin, Everett Dean, The Behavior of Crowds, A Psychological Study, Harper & Brothers Publishers, New York, 1920.
  • Nemeth, Charlan (2018). In Defense of Troublemakers: The Power of Dissent in Life and Business. Basic Books. ISBN 978-0465096299.
  • Schafer, M.; Crichlow, S. (2010). Groupthink versus High-Quality Decision Making in International Relations. New York: Columbia University Press. ISBN 978-0-231-14888-7.
  • Sunstein, Cass R.; Hastie, Reid (2014). Wiser: Getting Beyond Groupthink to Make Groups Smarter. Harvard Business Review Press.
  • 't Hart, P. (1990). Groupthink in Government: a Study of Small Groups and Policy Failure. Amsterdam; Rockland, MA: Swets & Zeitlinger. ISBN 90-265-1113-2.
  • 't Hart, P.; Stern, E. K.; Sundelius, B. (1997). Beyond Groupthink: Political Group Dynamics and Foreign Policy-Making. Ann Arbor: University of Michigan Press. ISBN 0-472-09653-2.