การศึกษาองค์การ
การศึกษาองค์การ (อังกฤษ: Organizational studies) หรือ พฤติกรรมองค์การ หรือ ทฤษฎีองค์การ เป็นสาขาวิชาหนึ่งที่สนใจศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับองค์การ โดยนำวิธีการและองค์ความรู้ของศาสตร์แขนงต่างมาใช้ในการวิเคราะห์และอธิบายปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกับองค์การ ได้แก่ เศรษฐศาสตร์ สังคมวิทยา รัฐศาสตร์ มานุษยวิทยา และจิตวิทยา โดยมีสาขาวิชาที่ใกล้เคียงอย่างเช่น การบริหารทรัพยากร
ขอบเขตของสาขาวิชา
[แก้]วิชาองค์การเป็นการศึกษาพฤติกรรมของบุคคลและกลุ่มบุคคลที่เกิดขึ้นในองค์กร ตลอดจนศึกษาสภาวะขององค์กรในรูปแบบต่าง ๆ ความสนใจนี้ตั้งอยู่บนข้อสังเกตที่ว่า ปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่เกิดขึ้นในองค์กรนั้นเกิดจากตัวแปรต่าง ๆ มากมาย วิชาองค์การพยายามที่จะศึกษาทำความเข้าใจถึงตัวแปรต่าง ๆ เหล่านี้เพื่อสร้างตัวแบบสำหรับอธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จุดมุ่งหมายของสาขาวิชานี้ก็เช่นเดียวกับสาขาวิชาอื่น ๆ ด้านสังคมศาสตร์ นั่นก็คือเพื่อควบคุม ทำนาย และอธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ และเนื่องจากเป็นการศึกษาเกี่ยวกับมนุษย์ จึงมีข้อโต้แยงเชิงจริยธรรมอยู่บ้าง ในเรื่องของความเหมาะสมของเป้าหมายที่ต้องการควบคุมพฤติกรรมมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อควบคุมพฤติกรรมของคนงาน ดังเช่นที่สาขาพฤติกรรมองค์การหรือจิตวิทยาอุตสาหกรรมเคยถูกกล่าวหามาแล้วว่าใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์มาจัดการพฤติกรรมของบุคคล โดยละเลยความเป็นมนุษย์อย่างไรก็ดี ข้อกล่าวหาดังกล่าวก็ไม่สามารถขัดขวางความก้าวหน้าในการศึกษาและสั่งสมองค์ความรู้ในด้านนี้ได้ ดังนั้น วิชาพฤติกรรมองค์การจึงมีบทบาทอย่างยิ่งต่อการศึกษาองค์การ โดยเฉพาะในปัจจุบันมีบทบาทอย่างยิ่งต่อวิชาการพัฒนาองค์การ organizational development
ประวัติ
[แก้]แม้ว่ารากฐานการศึกษาเรื่องพฤติกรรมองค์การอาจย้อนไปได้ถึง แม็กซ์ เวเบอร์ (Max Weber) หรือก่อนหน้านั้น แต่การศึกษาในลักษณะที่เป็นสาขาวิชาหนึ่งนั้นอาจกล่าวได้ว่าเริ่มต้นเมื่อมีการนำเสนอแนวคิดการจัดการแบบวิทยาศาสตร์ (scientific management) ในช่วงทศวรรษ 1980 ตามแนวคิดของเทเลอย์ (Taylorism) โดยตั้งอยู่บนข้อสมมติที่ว่าการจัดองค์การโดยการจัดแบ่งหน้าที่และโครงสร้างอย่างสมเหตุสมผล และกำหนดวิธีการทำงานที่ดีที่สุดจากการเก็บรวบรวมข้อมูลแบบไทม์ โมชั่นจะทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ตามมาด้วยการเสนอระบบค่าตอบแทนตามผลงาน (different compensation systems)
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 การศึกษาเรื่ององค์การเปลี่ยนจุดสนใจมาที่ตัวแปรทางจิตวิทยาและพฤติกรรมของบุคคลที่มีผลกระทบต่อองค์การ การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นจากผลการศึกษาทดลองที่ฮอว์ธอร์น (Hawthorne Effect) ก่อนที่จะพัฒนามาเป็นกลุ่มศึกษาแบบมนุษยสัมพันธ์ (Human Relations Movement) มุ่งเน้นความสนใจไปที่การทำงานร่วมกัน (teams) และการจูงใจ (motivation) รวมทั้งการให้ความสำคัญของคุณค่าที่แต่ละปัจเจกบุคคลมุ่งหมายในการเข้าร่วมทำงานกับองค์การ ผู้นำการศึกษาในแนวทางนี้ได้แก่ Chester Barnard, Henri Fayol, Mary Parker Follett, Frederick Herzberg, Abraham Maslow, David McClelland, Victor Vroom
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 การศึกษาองค์การเปลี่ยนจุดสนใจอีกครั้ง เนื่องจากการพัฒนาองค์ความรู้ในด้านการขนส่งขนาดใหญ่จากประสบการณ์ในการส่งกำลังบำรุงทางทหาร การวิจัยเชิงปฏิบัติการ (operations research) ส่งผลให้องค์การมีผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างมากจนกระทั่งทำให้นักวิชาการหันมาสนใจในเรื่องการจัดวางระบบและแนวทางการศึกษาแบบมีเหตุมีผลเชิงปริมาณอีกครั้ง ในช่วงทศวรรษ 1960-70 เป็นช่วงที่สาขาวิชานี้ได้รับอิทธิพลจากสาขาวิชาจิตวิทยาสังคม (social psychology) ควบคู่ไปกับการศึกษาวิจัยเชิงปริมาณ (quantitative research) เพื่อพัฒนาองค์ความรู้
ต่อมาในช่วงทศวรรษ 1980 การลงทุนข้ามประเทศทำให้วิชาองค์การเริ่มหันมาสนใจในเรื่องวัฒนธรรมและการเปลี่ยนแปลงองค์การ งานวิจัยเชิงคุณภาพเริ่มได้รับการยอมรับมากขึ้น โดยได้รับอิทธิพลจากสาขาวิชามานุษยวิทยา จิตวิทยา และสังคมวิทยา
สถานภาพของวิชาองค์การในปัจจุบัน
[แก้]พฤติกรรมองค์กรเป็นสาขาวิชาที่กำลังเติบโตมีการพัฒนาองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่จะจัดการเรียนการสอนเป็นสาขาหนึ่งของการบริหารธุรกิจ แม้ว่าจะมีหลายสถาบันที่จัดเป็นส่วนหนึ่งของวิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรม หรือเศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรม (industrial economics programs) องค์ความรู้ของสาขาวิชานี้มีความสำคัญมากต่อการบริหารธุรกิจ โดยการประยุกต์ใช้จากนักบริหารที่มีชื่ออย่าง ปีเตอร์ ดรักเกอร์ (Peter Drucker) ปีเตอร์ เซงเก้ (Peter Senge) การศึกษาพฤติกรรมองค์การมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัตน์ซึ่งการบริหารธุรกิจต้องเผชิญกับความแตกต่างหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม การนำองค์ความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมองค์กรมาใช้เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล แม้ส่วนหนึ่งจะถูกวิจารณ์ว่า ไม่ให้ความเคารพต่อความแตกต่างทางชาติพันธ์และเป็นเครื่องมือของระบบทุนนิยม
อ้างอิง
[แก้]- Weick, Karl E. The Social Psychology of Organizing 2nd Ed. McGraw Hill (1979) ISBN 0-07-554808-9.
- Simon, Herbert A. Administrative Behavior: A Study of Decision-Making Processes in Administrative Organizations 4th Ed. The Free Press (1997) ISBN 0-684-83582-7.
- An overview of the field, including readings and outlines of major theories
- History of I/O
- Intro to Organizational Behavior
- Barley, S., & Kunda, G. (1992) "Design and devotion: Surges of rational and normative ideologies of control in managerial discourse", Administrative Science Quarterly, vol. 37, pp. 363-399.
- Research on Organizations: Bibliography Database and Maps