การตลาด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การตลาด คือกระบวนการของการสื่อสารคุณค่าของผลิตภัณฑ์หรือบริการไปยังลูกค้า การตลาดอาจถูกตีความว่าเป็นศิลปะแห่งการขายสินค้าในบางครั้ง แต่การขายนั้นเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ส่วนหนึ่งของการตลาด

การตลาดอาจถูกมองว่าเป็นหน้าที่ขององค์การและกลุ่มกระบวนการเพื่อการผลิต การส่งสินค้าและการสื่อสารคุณค่าไปยังลูกค้า และการจัดการความสัมพันธ์ต่อลูกค้า ในทางที่เป็นประโยชน์แก่องค์การและผู้ถือหุ้น การจัดการการตลาดเป็นศิลปะของการเลือกตลาดเป้าหมาย ตลอดจนการได้มาและการรักษาลูกค้า ผ่านทางการจัดหาคุณค่าของลูกค้าที่เหนือกว่า

มีมโนทัศน์ห้าอย่างหลัก ๆ ที่องค์การสามารถเลือกเพื่อนำไปดำเนินการธุรกิจได้แก่ มโนทัศน์เน้นการผลิต เน้นผลิตภัณฑ์ เน้นการขาย เน้นการตลาด และเน้นการตลาดองค์รวม ซึ่งองค์ประกอบสี่อย่างของการตลาดองค์รวมคือ การตลาดความสัมพันธ์ การตลาดภายใน การตลาดครบวงจร และการตลาดรับผิดชอบต่อสังคม กลุ่มของภาระหน้าที่ที่สำคัญต่อการจัดการการตลาดที่ประสบผลสำเร็จประกอบไปด้วย การมองการตลาดเชิงลึก การติดต่อเชื่อมโยงกับลูกค้า การสร้างตราสินค้าที่มั่นคง การสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองลูกค้า การส่งสินค้าและการสื่อสารคุณค่า การสร้างความเจริญเติบโตในระยะยาว และการพัฒนากลยุทธ์และแผนการตลาด [1]

มโนทัศน์การตลาด[แก้]

แนวคิดในยุคก่อน[แก้]

แนวคิดการตลาดพัฒนามาจากแนวคิดในยุคก่อนหน้านี้ ซึ่งก็คือแนวคิดเน้นการผลิต เน้นผลิตภัณฑ์ และเน้นการขาย [2][3]

แนวคิด ตัวขับเคลื่อน
ผลกำไร
กรอบเวลาของโลกตะวันตก การอธิบาย
การผลิต[3] วิธีการผลิต จนถึงคริสต์ทศวรรษ 1950 หน่วยธุรกิจที่เน้นการผลิตมีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลิตสินค้าและบริการให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ดังนั้นจึงทำให้หน่วยธุรกิจแสวงหาผลประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาดจนกว่าจะถึงขนาดการผลิตต่ำสุดที่มีประสิทธิภาพ แนวคิดเน้นการผลิตอาจสามารถนำมาใช้ได้เมื่ออุปสงค์ของสินค้าและบริการนั้น ๆ สูง กอปรด้วยความเชื่อมั่นที่ดีว่ารสนิยมของผู้บริโภคจะไม่เปลี่ยนแปรอย่างรวดเร็ว (เหมือนกับแนวคิดเน้นการขาย)
ผลิตภัณฑ์[3] คุณภาพของผลิตภัณฑ์ จนถึงคริสต์ทศวรรษ 1960 หน่วยธุรกิจที่เน้นผลิตภัณฑ์เกี่ยวข้องกับการให้ความสำคัญกับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ตนผลิต หน่วยธุรกิจก็ยังตั้งข้อสมมติว่าตราบเท่าที่ผลิตภัณฑ์ของตนมีมาตรฐานสูง ประชาชนจะซื้อและอุปโภคบริโภคผลิตภัณฑ์ของพวกเขา
การขาย[3] วิธีการขาย คริสต์ทศวรรษ 1950 ถึง 1960 หน่วยธุรกิจที่เน้นการขายให้ความสำคัญต่อการขายและการส่งเสริมผลิตภัณฑ์เฉพาะอย่างเป็นหลัก และไม่สนใจว่าผู้บริโภคจะต้องการหรือไม่ ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้เกิดการขายผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้วในตลาด และการใช้เทคนิคการส่งเสริมเพื่อให้บรรลุยอดขายสูงสุดเท่าที่เป็นไปได้ แนวคิดเน้นการขายอาจเหมาะกับสถานการณ์ที่หน่วยธุรกิจมีผลิตภัณฑ์เก่าเก็บอยู่ในคลังสินค้า หรือไม่ก็สถานการณ์ที่อุปสงค์ของผลิตภัณฑ์สูง ซึ่งความเปลี่ยนแปรรสนิยมของผู้บริโภคที่จะทำให้อุปสงค์ลดลงมีผลกระทบเพียงเล็กน้อย
การตลาด[3] ความจำเป็นและความต้องการของลูกค้า คริสต์ทศวรรษ 1970 จนถึงปัจจุบัน แนวคิดเน้นการตลาดอาจเป็นแนวคิดที่สามัญที่สุดที่ใช้ในการตลาดร่วมสมัย หน่วยธุรกิจที่เน้นการตลาดให้ความสำคัญกับการวางรากฐานแผนการตลาดในเรื่องมโนทัศน์การตลาด นำไปสู่การผลิตสินค้าที่ตรงตามรสนิยมของผู้บริโภครายใหม่ เพื่อที่จะทำเช่นนั้น หน่วยธุรกิจต้องทำการวิจัยการตลาดเพื่อประเมินความต้องการของตลาด ทำการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อปรับให้เข้ากับสารสนเทศที่เผยออกมา และจากนั้นจึงใช้เทคนิคการส่งเสริมเพื่อให้ประชาชนทราบว่าหน่วยธุรกิจมีผลิตภัณฑ์ดังกล่าวขายอยู่
การตลาด
องค์รวม
[1]
ทุกสิ่งสำคัญต่อการตลาด คริสต์ศตวรรษที่ 21 การตลาดองค์รวมคือแนวคิดที่มองว่าการตลาดเป็นกิจกรรมที่ซับซ้อน และยอมรับว่าทุกสิ่งสำคัญต่อการตลาด มุมมองอย่างกว้างและครบวงจรมีความสำคัญต่อการพัฒนา การออกแบบ และการทำให้กิจกรรมและการดำเนินการทางการตลาดสัมฤทธิ์ผล องค์ประกอบสี่อย่างที่บ่งบอกถึงลักษณะการตลาดองค์รวมได้แก่ การตลาดความสัมพันธ์ การตลาดภายใน การตลาดครบวงจร และการตลาดรับผิดชอบต่อสังคม

แนวคิดสมัยใหม่[แก้]

แนวคิดทางการตลาดสมัยใหม่นี้ได้กล่าวรวมถึง การตลาดความสัมพันธ์ที่มุ่งเน้นลูกค้าเป็นสำคัญ การตลาดเชิงธุรกิจหรือการตลาดเชิงอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นองค์กรหรือสถาบัน และการตลาดเชิงสังคมที่มุ่งเน้นประโยชน์ต่อสังคม [4] นอกจากนี้ การตลาดรูปแบบใหม่นี้ได้ใช้อินเทอร์เน็ตซึ่งเรียกว่า การตลาดผ่านอินเทอร์เน็ต (Internet Marketing) หรืออีกหลายชื่อ ตัวอย่างเช่น การตลาดอิเล็กทรอนิกส์ (e-marketing), การตลาดออนไลน์ (online marketing), การตลาดดิจิทัล (digital marketing) ที่หมายถึงการตลาดผ่านเว็บไซต์ค้นหาข้อมูล (search engine website), การโฆษณาบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ (desktop advertising) การตลาดยุคสมัยใหม่นี้พยายามทำกลยุทธ์การแบ่งกลุ่มลูกค้าให้เป็นไปอย่างสมบูรณ์ซึ่งถือเป็นกระบวนการหนึ่งของการตลาดแบบดั้งเดิม อีกทั้งยังเป็นการกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้มีความแม่นยำชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งในบางครั้งเรียกว่า การตลาดเฉพาะบุคคล (personalized marketing) หรือการตลาดแบบหนึ่งสินค้าต่อหนึ่งลูกค้า (one-to-one marketing) อีกประการหนึ่ง การตลาดผ่านอินเทอร์เน็ตนั้นบางครั้งถูกพิจารณาในมุมกว้างมากขึ้น เพราะว่าการตลาดผ่านอินเทอร์เน็ตนั้นไม่ได้หมายถึงการทำตลาดอยู่บนโลกอินเทอร์เน็ตเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการตลาดผ่านอีเมล สื่อไร้สาย และการผลักดันผู้คนที่ได้บริโภคสื่ออย่างวิทยุ ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ซึ่งเป็นการตลาดแบบดั้งเดิมเข้าไปสู่อินเทอร์เน็ตหรือหน้าเว็บไซต์ต่าง ๆ อีกด้วย

แนวคิด ตัวขับเคลื่อน
ผลกำไร
กรอบเวลาของโลกตะวันตก คำอธิบาย
การตลาดความสัมพันธ์/การจัดการความสัมพันธ์[4] การสร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อลูกค้า คริสต์ทศวรรษ 1960 ถึงปัจจุบัน เน้นความสัมพันธ์โดยรวมระหว่างผู้จัดจำหน่ายและลูกค้าโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการลูกค้าในสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้พร้อมทั้งสร้างความจงรักภักดีของลูกค้า
การตลาดเชิงธุรกิจ/การตลาดเชิงอุตสาหกรรม การสร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างองค์กร คริสต์ทศวรรษ 1980 ถึงปัจจุบัน ในการทำการตลาดระหว่างธุรกิจหรือองค์กรนั้น ผลิตภัณฑ์ที่สำคัญจะเน้นด้านสินค้าที่ใช้ในอุตสหกรรม (Industrial goods) เช่น วัตถุดิบในการผลิต เป็นต้น หรือสินค้าประเภททุน (Capital goods) เช่น เครื่องจักรในการผลิต เป็นต้น โดยจะเน้นในสองประเภทนี้มากกว่าสินค้าอุปโภคบริโภค (customer products / end products) รวมถึงกิจกรรมทางการตลาดต่าง ๆ ทั้งการจัดโปรโมชั่น การโฆษณา และการสื่อสารกับลูกค้านั้นก็จะแตกต่างกันด้วย
การตลาดเชิงสังคม[4] คุณประโยชน์ต่อสังคม คริสต์ทศวรรษ 1990 ถึงปัจจุบัน มีคุณลักษณะคล้ายกับการทำการตลาดโดยทั่วไปแต่มีเงื่อนไขเพิ่มเติมว่า จะต้องเป็นกิจกรรมทางการตลาดที่ลดความเป็นอันตรายต่าง ๆ ที่จะเกิดต่อสังคม ทั้งตัวสินค้า กระบวนการผลิตสินค้า และกระบวนการขาย
การสร้างตราสินค้าหรือแบรนด์ คุณค่าของตราสินค้าหรือแบรนด์ คริสต์ทศวรรษ 1980 ถึงปัจจุบัน ในบริบทนี้ การสร้างตราสินค้าหรือแบรนด์จะสะท้อนถึงปรัชญาของบริษัท และการตลาดเป็นเสมือนเครื่องมือหนึ่งของของการสร้างตราสินค้าด้วย

การมุ่งเน้นลูกค้าเป็นสำคัญ[แก้]

บริษัทหรือธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ในตลาดที่มีการแข่งขันกันนั้นจะต้องสร้างสินค้าที่มีผู้ซื้อต้องการซื้อสินค้าเหล่านั้น อีกทั้งการทราบถึงความต้องการของลูกค้าที่แท้จริงยังเป็นปัจจัยสำคัญเพื่อการอยู่รอดของบริษัทในอนาคตและการคำนึงถึงการดำเนินงานของบริษัทในปัจจุบัน ทุกวันนี้หลายบริษัทให้ความสำคัญกับลูกค้าหรือความต้องการของตลาดเป็นหลักซึ่งสามารถตีความได้ว่าบริษัทเหล่านั้นใส่ใจกับกิจกรรมทางการตลาดและสินค้าต่าง ๆ ที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญ โดยทั่วไปแล้ววิถีทางในการดำเนินงานให้เป็นไปตามความต้องการของลูกค้ามี 3 แนวทาง คือ แนวทางด้านแรงผลักดันจากลูกค้า (customer-driven approach) แนวทางด้านการระบุการเปลี่ยนแปลงของตลาด (the market change identification approach) และแนวทางด้านนวัตกรรมของสินค้า (the product innovation approach)

ในแนวทางด้านแรงผลักดันจากลูกค้า (customer-driven approach) นั้นจะถือว่าความต้องการของลูกค้าเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนการตัดสินใจการทำกลยุทธ์ทางการตลาด โดยไม่มีกลยุทธ์ใดที่จะประสบความสำเร็จได้หากไม่มีการทำวิจัยผู้บริโภคก่อน การนำเสนอสิ่งต่าง ๆ ทั้งสินค้า บริการ และการสื่อสารในการทำตลาดนั้นควรจะเป็นไปตามความต้องการของลูกค้าเป้าหมายและการทำการตลาดนั้นควรจะต้องเริ่มต้นจากลูกค้าเสมอ นอกจากนั้น เหตุผลที่สนับสนุนแนวทางด้านแรงผลักดันจากลูกค้าคือเราไม่ควรจะเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาสินค้าที่ลูกค้าไม่ต้องการจะซื้อ อีกทั้งจากการทำการตลาดในอดีตก็ได้แสดงว่าสินค้าที่ออกสู่ตลาดหลายชิ้นไม่ประสบความสำเร็จทั้ง ๆ ที่มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในสินค้านั้นแล้วก็ตาม [5]

แนวทางรูปแบบหนึ่งที่เน้นความสำคัญกับลูกค้าเป็นหลักและเป็นที่รู้จักคือ SIVA[6] (Solution, Information, Value, Access) หรือ คำตอบ, ข้อมูล, คุณค่า, การเข้าถึง แนวคิดนี้เกิดขึ้นจากกลยุทธ์ 4Ps (Product, Price, Place, Promotion) ที่นำมาตั้งชื่อใหม่และปรับเปลี่ยนคำให้เป็นในแนวทางให้ลูกค้าเป็นสำคัญ โมเดล SIVA นี้แสดงถึงด้านความต้องการหรืออุปสงค์ของลูกค้าที่เข้าคู่กับ 4Ps ซึ่งเป็นด้านการนำเสนอหรืออุปทาน

การวิจัยการตลาด[แก้]

การวิจัยการตลาด (Marketing research) นั้นคือการทำวิจัยเพื่อนำข้อสรุปมาทำกิจกรรมต่าง ๆ ทางการตลาดโดยนำข้อมูลจากการทำวิจัยนั้นมาวิเคราะห์ทางสถิติและนำมาตีความอีกครั้งหนึ่ง นักการตลาดหรือผู้บริหารจะนำข้อมูลจากการตีความเหล่านี้เพื่อวางแผนการตลาด อีกทั้งข้อมูลเหล่านั้นยังใช้ในการตรวจสอบสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ทางการตลาด (Market environment) ของบริษัทด้วย นักวิจัยการตลาดนั้นจะใช้วิธีการต่าง ๆ ทางสถิติ เช่น การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative research) การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) การตรวจสอบสมมติฐาน (Hypothesis tesing) การทดสอบไคแสควร์ (Chi-squared testing) การถดถอยเชิงเส้น (Linear regressing) สหสัมพันธ์ (Correlations) การแจกแจงความถี่ (Frequency distributions) การแจกแจงแบบปัวส์ซง (Poisson distributions) การแจกแจงแบบทวินาม (Binomial distribution) เป็นต้น เพื่อนำข้อมูลดิบที่ได้มาตีความให้กลายเป็นข้อมูลที่นำไปใช้ในเชิงธุรกิจได้ กระบวนการทำวิจัยทางการตลาดนั้นมีหลายขั้นตอน เริ่มตั้งแต่ การกำหนดปัญหา การกำหนดระเบียบวิธีวิจัย การเก็บรวบรวมข้อมูลและการตีความข้อมูล และการนำเสนอข้อมูล ข้อมูลหลังจากการทำวิจัยนั้นจะถูกเสนอให้กับผู้บริหาร ดังนั้นข้อมูลที่นำเสนอนั้นจะต้องเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับปัญหา มีความถูกต้อง น่าเชื่อถือและเป็นปัจจุบันมากที่สุด ความแตกต่างระหว่างการวิจัยการตลาด (Marketing research) และการวิจัยตลาด (Market research) คือ การวิจัยตลาดนั้นเป็นการทำวิจัยเพื่อศึกษาตลาดใดตลาดหนึ่งเท่านั้น ตัวอย่างเช่น บริษัทต้องการทำวิจัยเพื่อศึกษากลุ่มเป้าหมายของตลาด (Target market) หลังจากที่แบ่งกลุ่มตลาด (Market segment) เรียบร้อยแล้ว ในทางกลับกัน การวิจัยการคลาดจะเกี่ยวข้องกับการวิจัยที่ทำเฉพาะการทำการตลาดเท่านั้น ดังนั้นการวิจัยตลาดจึงเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยการตลาดนั่นเอง

สิ่งแวดล้อมทางการตลาด[แก้]

การเข้าใจถึงความต้องการของผู้บริโภคและก้าวนำหน้าความต้องการของลูกค้าอยู่ตลอดเวลานั้นเป็นหน้าที่หลักของนักการตลาดทุกคน อีกทั้งการเข้าใจ "สิ่งแวดล้อมทางการตลาด" (Marketing Environment) เพื่อให้รับรู้ถึงความกังวลต่าง ๆ แรงกระตุ้นต่าง ๆ ของลูกค้า รวมทั้งการปรับปรุงผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ก็นับเป็นหัวใจสำคัญที่นักการตลาดจะต้องคำนึงถึงอยู่เสมอ นักการตลาดมักจะคอยสำรวจสิ่งแวดล้อมทางการตลาดต่าง ๆ ด้วยการหาข้อมูลจากการจัดกิจกรรมทางการตลาดนอกบริษัท โดยจะคอยสังเกตแนวโน้มธุรกิจ โอกาสและภัยคุกคามของธุรกิจไปพร้อม ๆ กัน องค์ประกอบทีสำคัญในการสำรวจตลาดมี 6 ประการ ได้แก่ แรงกดดันด้านประชากรศาสตร์ แรงกดดันด้านสังคม-วัฒนธรรม แรงกดดันด้านเศรษฐกิจ แรงกดดันด้านกฎหมาย แรงกดดันด้านการแข่งขัน และแรงกดดันด้านเทคโนโลยี โดยนักการตลาดจะต้องสำรวจว่าโอกาสและภัยคุกคามจะมาจากที่ใดได้บ้างจากทุกมุมโลกเพื่อให้ธุรกิจดำเนินและสร้างกำไรเพิ่มขึ้นได้ [7] สิ่งแวดล้อมทางการตลาดเป็นคำศัพท์ทางการตลาดเพื่อใช้อ้างกิงถึงปัจจัยและแรงกดดันต่าง ๆ ที่กระทบต่อความสามารถในการทำธุรกิจและความสัมพันธ์ต่อลูกค้าได้ โดยสิ่งแวดล้อมทางการตลาดมี 3 ระดับ คือ สิ่งแวดล้อมระดับเล็ก (ภายในบริษัท) - เป็นแรงกดดันภายในบริษัทที่ส่งผลต่อความสามารถในการตอบสนองความต้องการของลูกค้า, สิ่งแวดล้อมระดับกลาง (ภายในธุรกิจหรืออุตสาหกรรม) - เป็นแรงกดดันที่เกิดขึ้นภายในกลุ่มธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่จะส่งผลกระทบต่อตลาด และสิ่งแวดล้อมระดับใหญ่ (ประเทศ) - เป็นแรงกดดันที่เกิดขึ้นในสังคมที่กระทบต่อบริษัทหรือตลาดโดยรวม [8]

ประเภทของการวิจัยตลาด[แก้]

การวิจัยการตลาดเป็นองค์ประกอบหนึ่งของกิจกรรมทางการตลาดซึ่งแบ่งได้ 2 ส่วน ดังนี้

• การวิจัยปฐมภูมิ (Primary Research / Field Research) เป็นการวิจัยที่ควบคุมและการนำไปใช้สำหรับวิจัยที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะ [9] • การวิจัยทุติยภูมิ (Secondary Research/ Desk Research) เป็นการวิจัยเพื่อหาข้อมูลเพื่มเติม หรือเพื่อสนับสนุนข้อมูลอืน ๆ จากนิยามการวิจัยทั้งสองแบบข้างต้น ตัวอย่างของวิจัยปฐมภูมิ ได้แก่ การวิจัยอาหารเพื่อสุขภาพซึ่งเป็นการค้นหาความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายสำหรับอาหารเพื่อสุขภาพและใช้ในบริษัทที่ต้องการทำอาหารเพื่อสุขภาพเท่านั้น ส่วนตัวอย่างของวิจัยทุติยภูมิในตัวอย่างเดียวกัน คือการหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับอาหารเพื่อสุขภาพ แต่ใช้ในบริษัทที่ไม่ได้ต้องการผลิตอาหารเพื่อสุขภาพ ต้องการใช้ข้อมูลเพื่อนำมาอ้างอิงเท่านั้น

การวิจัยปฐมภูมินั้นมักจะมีต้นทุนการทำค่อนข้างสูงในการเตรียม การเก็บ และการวิเคราะห์ข้อมูล ขณะที่การวิจัยทุติยภูมิจะมีราคาถูกกว่ามากแต่จะเป็นข้อมูลที่ไม่ทันสมัยและล้าหลัง ซึ่งเหมาะสมสำหรับเข้าใจในภาพกว้างหรือมีวัตถุประสงค์เพื่อเข้าใจตลาดโดยรวมมากกว่าการการเข้าใจถึงความต้องการของกลุ่มเป้าหมายทางการตลาด ส่วนการวิจัยปฐมภูมินั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ซึ่งใช้เทคนิคการวิเคราะห์ได้ทั้งแบบเชิงตัวเลข (Numerical) และไม่ใช่เชิงตัวเลข (Non-numerical) ความเหมาะสมของการเลือกทำวิจัยแต่ละประเภทนั้นขึ้นอยู่กับความต้องการข้อสรุปการวิจัย ว่าต้องการให้เป็นตัวเลขหรือต้องการเป็นแนวคิดเพื่อนำไปทำการตลาดต่อไป

รูปแบบอื่น ๆ ของการทำวิจัยทางการตลาด ได้แก่ • การวิจัยเชิงบุกเบิกหรือสำรวจ (Exploratory research) เป็นการวิจัยเพื่อตรวจสอบสมมติฐานที่ผู้วิจัยตั้งขึ้นและเป็นปัญหาที่ไม่เคยมีคนทำวิจัยมาก่อน • การวิจัยเชิงพรรณา (Descriptive research) เป็นวิจัยเพื่อการสร้างคำแนะนำเพื่อตอบคำถามว่า "อะไรเป็นสาเหตุให้เกิด..." • การวิจัยเชิงพยากรณ์ หรือคาดการณ์ (Predictive research) เป็นการวิจัยเพื่อการทำนายสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ • การวิจัยสรุปผล (Conclusive research) เป็นการวิจัยเพื่อหาข้อสรุปหรือเพื่อการตัดสินใจ

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Kotler, Philip & Keller, L. Kevin (2012). Marketing Management 14e. Pearson Education Limited 2012
  2. Kotler, Philip; Kevin Lane Keller (2009). "1". A Framework for Marketing Management (4th ed.). Pearson Prentice Hall. ISBN 0-13-602660-5. {{cite book}}: |access-date= ต้องการ |url= (help)
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 Adcock, Dennis (2001). "Introduction". Marketing: principles and practice (4th ed.). p. 15. สืบค้นเมื่อ 2009-10-23. {{cite book}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)
  4. 4.0 4.1 4.2 Adcock, Dennis (2001). "Introduction". Marketing: principles and practice. p. 16. ISBN 9780273646778. สืบค้นเมื่อ 2009-10-23. {{cite book}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)
  5. "Marketing Management: Strategies and Programs", Guiltinan et al., McGraw Hill/Irwin, 1996
  6. Dev, Chekitan S.; Don E. Schultz (January–February 2005). "In the Mix: A Customer-Focused Approach Can Bring the Current Marketing Mix into the 21st Century". Marketing Management. 14 (1).
  7. Kerin, Roger A. (2012). Marketing: The Core. McGaw-Hill Ryerson. p. 31.
  8. Kotler, Armstrong, Philip, Gary. Principles of Marketing. pearson education.
  9. Stolley, Karl. "Primary Research". Purdue Online Writing Lab. สืบค้นเมื่อ 21 May 2013.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]