ข้ามไปเนื้อหา

ความจำอาศัยเหตุการณ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ความจำอาศัยเหตุการณ์[1] (อังกฤษ: episodic memory) เป็นความจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวประวัติของตนเอง (รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับวันเวลา สถานที่ อารมณ์ความรู้สึกที่มี และเรื่องที่เกี่ยวข้องกันอื่น ๆ) ที่สามารถระลึกได้ภายใต้อำนาจจิตใจและนำมากล่าวได้อย่างชัดแจ้ง เป็นความจำรวมประสบการณ์ต่าง ๆ ของตนในอดีต แต่ละเหตุการณ์เกิดขึ้นที่วันเวลาหนึ่ง ๆ และในสถานที่หนึ่ง ๆ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราระลึกถึงงานเลี้ยง (หรือการทำบุญ) วันเกิดเมื่ออายุ 6 ขวบได้ นี่เป็นความจำอาศัยเหตุการณ์ เป็นความจำที่ยังให้เราสามารถเดินทางกลับไปในกาลเวลา (ในใจ) เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่วันเวลานั้น ๆ และสถานที่นั้น ๆ[2]

ความจำอาศัยความหมาย (semantic memory) และความจำอาศัยเหตุการณ์รวมกันจัดอยู่ในประเภทความจำชัดแจ้ง (explicit memory) หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ความจำเชิงประกาศ (declarative memory) ซึ่งเป็นหนึ่งในสองประเภทหลัก ๆ ของความจำ (โดยอีกประเภทหนึ่งเป็นความจำโดยปริยาย)[3] นักจิตวิทยาชาวแคนาดาชื่อว่าเอ็นเด็ล ทัลวิง ได้บัญญัติคำว่า "Episodic Memory" ไว้ในปี ค.ศ. 1972 เพื่อที่จะแสดงถึงความต่างกันระหว่าง "การรู้" และ "การจำได้" คือ การรู้เป็นการรู้ความจริง (factual) หรือความหมาย (semantic) เปรียบเทียบกับการจำได้ซึ่งเป็นความรู้สึกเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอดีต (episodic)[4]

ศ. ทัลวิงได้กำหนดลักษณะสำคัญสามอย่างของการระลึกถึงความจำอาศัยเหตุการณ์ที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่องานวิจัยต่อ ๆ มา คือ

  • เป็นความรู้สึกที่เป็นอัตวิสัยเกี่ยวกับกาลเวลา (หรือบางครั้งพรรณนาว่า เป็นการเที่ยวย้อนกลับไปในเวลาทางใจ)
  • เป็นความรู้สึกที่เกี่ยวกับตน
  • เป็น autonoetic consciousness ซึ่งหมายถึงการระลึกถึงการกระทำที่ตัวเองจำได้ ซึ่งช่วยให้ตัวเองตระหนักถึงตัวเอง ณ เวลาในตอนนั้นๆ

นอกจากทัลวิงแล้ว ยังมีนักวิจัยอื่น ๆ ที่กำหนดลักษณะสำคัญต่าง ๆ ของการระลึกถึงความจำรวมทั้งการเห็นภาพทางตา โครงสร้างแบบเป็นเรื่องเล่า การค้นคืนข้อมูลเชิงความหมาย (semantic information) และความรู้สึกคุ้นเคย[5]

เหตุการณ์ที่บันทึกไว้ในความจำอาศัยเหตุการณ์ (episodic memory) อาจจะทำให้เกิดการเรียนรู้อาศัยเหตุการณ์ (episodic learning) ซึ่งก็คือ ความเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมเพราะเหตุการณ์ที่ได้ประสบ[6][7] ยกตัวอย่างเช่น ความกลัวสุนัขเพราะว่าถูกกัด เป็นผลของการเรียนรู้อาศัยเหตุการณ์

องค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของความจำอาศัยเหตุการณ์ก็คือกระบวนการระลึกถึงความจำ (recollection) ซึ่งเป็นกระบวนการที่เริ่มการค้นคืนของข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หรือประสบการณ์หนึ่ง ๆ ในอดีต

ลักษณะ 9 อย่างของความจำอาศัยเหตุการณ์

[แก้]

มีคุณลักษณะ 9 อย่างของความจำอาศัยเหตุการณ์ที่ทำให้แตกต่างจากความจำประเภทอื่น ๆ แม้ว่า ความจำประเภทอื่น ๆ อาจจะมีคุณลักษณะบางอย่างเหล่านี้ได้บ้าง แต่ความจำอาศัยเหตุการณ์มีลักษณะพิเศษเฉพาะเพราะเป็นประเภทเดียวที่มีทั้ง 9 ลักษณะ[8]

  1. มีการบันทึกโดยสรุปของการประมวลผลผ่านวิถี sensory-perceptual-conceptual-affective (ประสาทสัมผัส-การรับรู้-ความนึกคิด-อารมณ์)
  2. คงรูปแบบของการเร้า (activation) หรือการยับยั้ง (inhibition) ไว้ได้นาน
  3. มักจะบันทึกไว้ในรูปแบบของภาพทางตา (visual image)
  4. มีมุมมอง ("field" เป็นมุมมองเหมือนกับที่ประสบกับเหตุการณ์ หรือ "observer" คือ มุมมองของผู้สังเกตการณ์คนอื่น)
  5. เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ของประสบการณ์
  6. เป็นไปตามลำดับเหตุการณ์
  7. ลืมได้ง่าย
  8. ทำให้การระลึกถึงอัตชีวประวัติเป็นไปโดยเฉพาะเจาะจง
  9. เมื่อระลึกถึง เหมือนกับอยู่ในเหตุการณ์นั้นอีกครั้งหนึ่ง (mental time travel)

ประสาทวิทยาศาสตร์เชิงประชาน

[แก้]

การสร้างความจำอาศัยเหตุการณ์ขึ้นใหม่ต้องอาศัยสมองกลีบขมับด้านใน (medial temporal lobe ตัวย่อ MTL) ซึ่งเป็นโครงสร้างที่รวมฮิปโปแคมปัสอยู่ด้วย ถ้าไม่มี MTL ก็จะยังสามารถสร้างความจำเชิงกระบวนวิธี (procedural memory) เช่นทักษะเกี่ยวกับการเล่นเครื่องดนตรีได้ แต่จะไม่สามารถระลึกถึงเหตุการณ์ที่มีการเล่นดนตรีหรือการฝึกหัดเล่นเครื่องดนตรีนั้นได้

สมองส่วน prefrontal cortex (ตัวย่อ PFC) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในซีกขวา ก็มีส่วนร่วมในการสร้างความจำอาศัยเหตการณ์ใหม่ ๆ (เป็นกระบวนการที่เรียกว่า episodic encoding [การเข้ารหัสเหตุการณ์]) คนไข้ที่มี PFC เสียหายสามารถเรียนรู้ข้อมูลใหม่ ๆ แต่มักจะเรียนได้อย่างไม่เป็นลำดับ ยกตัวอย่างเช่น อาจจะมีการรู้จำวัตถุที่เคยเห็นมาก่อนในอดีตที่เป็นปกติ แต่ไม่สามารถระลึกได้ว่าได้เห็นที่ไหนหรือเมื่อไร[9] นักวิจัยบางพวกเชื่อว่า PFC ช่วยจัดระเบียบข้อมูลเพื่อการบันทึกที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ผ่านกระบวนการ executive functions ที่ PFC มีบทบาท ส่วนพวกอื่นเชื่อว่า prefrontal cortex เป็นโครงสร้างที่เป็นฐานของกลยุทธ์เชิงความหมายที่ช่วยการเข้ารหัสให้ดีขึ้น เช่นการคิดถึงความหมายของสิ่งที่เรียนหรือการฝึกซ้อมข้อมูลนั้น (rehearsal) ภายในความจำใช้งาน[10](ซึ่งเป็นกลยุทธ์เชิงความหมายที่ช่วยการเข้ารหัสช่วยให้จำได้ดีขึ้น)

บทบาทของฮิปโปแคมปัสในการเก็บความจำ

[แก้]

นักวิจัยไม่มีมติร่วมกันเกี่ยวกับระยะเวลาที่ความจำอาศัยเหตุการณ์เก็บอยู่ในฮิปโปแคมปัส บางพวกเชื่อว่า ความจำอาศัยเหตุการณ์ต้องอาศัยฮิปโปแคมปัสตลอดไป ส่วนพวกอื่นเชื่อว่า ฮิปโปแคมปัสเป็นที่เก็บความจำอาศัยเหตุการณ์ในช่วงเวลาสั้น ๆ และหลังจากนั้นความจำก็จะเกิดการทำให้มั่นคง (memory consolidation) ให้อยู่ในคอร์เทกซ์ใหม่ (neocortex) ความเห็นหลังนี้ได้รับการสนับสนุนจากหลักฐานในปี ค.ศ. 2004 ว่า เนื้อเยื่อที่เกิดขึ้นใหม่ (neurogenesis) ในฮิปโปแคมปัสของผู้ใหญ่ อาจช่วยให้ลืมความจำเก่าได้ง่ายขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างความจำใหม่[11]

ความสัมพันธ์กับความจำอาศัยความหมาย

[แก้]

เอ็นเด็ล ทัลวิงได้พรรณนาความจำอาศัยเหตุการณ์ว่าเป็นบันทึกประสบการณ์ของตนที่มีข้อมูลประกอบด้วยวันเวลาและมีความสัมพันธ์กันระหว่างพื้นที่ (สถานที่) กับกาลเวลา (spatio-temporal relation)[12] ลักษณะหนึ่งของความจำอาศัยเหตุการณ์ที่ทัลวิงต่อมาขยายความก็คือ ทำให้เราสามารถเที่ยวย้อนไปในกาลเวลาได้[13] คือ สถานการณ์อย่างหนึ่งในปัจจุบันอาจจะช่วยให้ระลึกถึงเหตุการณ์ในอดีตหนึ่ง ๆ มีผลเป็นการประสบกับเหตุการณ์ในอดีตอีกครั้งหนึ่ง (ในใจ) เป็นวิธีที่เราสามารถสัมพันธ์ความรู้สึกในอดีตกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

โดยเปรียบเทียบกันแล้ว ความจำอาศัยความหมาย (semantic memory) เป็นการเก็บข้อมูลอย่างมีระเบียบเกี่ยวกับความจริง ความคิด และทักษะที่เราได้เรียนรู้ ข้อมูลเชิงความหมายนั้นมาจากการสั่งสมความจำอาศัยเหตุการณ์ และความจำอาศัยเหตุการณ์สามารถพิจารณาได้ว่าเป็นแผนที่ที่เชื่อมสิ่งต่าง ๆ จากความจำอาศัยความหมาย ยกตัวอย่างเช่น ประสบการณ์เกี่ยวกับสุนัขของเราว่ามีรูปร่างหน้าตาและเสียงเป็นอย่างไรจะมีตัวแทนเชิงความหมายหนึ่ง (ในระบบประสาท) ความจำอาศัยเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกี่ยวกับสุนัขตัวนี้จะอ้างอิงตัวแทนเชิงความหมายนี้ และประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่เรามีเกี่ยวกับสุนัขของเราจะเปลี่ยนเพิ่มข้อมูลเกี่ยวกับสุนัขที่ตัวแทนเชิงความหมายเดียวกันนี้

โดยรวมกันแล้ว ความจำอาศัยความหมายและความจำอาศัยเหตุการณ์ประกอบกันเป็นความจำเชิงประกาศ[14] (declarative memory) หรือความจำชัดแจ้ง (explicit memory) ซึ่งแต่ละระบบมีหน้าที่เป็นตัวแทนส่วนต่าง ๆ กันของสถานการณ์นั้น ๆ รวมกันเป็นภาพที่บริบูรณ์ และดังนั้น ถ้ามีเหตุที่รบกวนความจำอาศัยเหตุการณ์ก็จะสามารถมีผลกระทบต่อความจำเชิงความหมายด้วย ยกตัวอย่างเช่นภาวะเสียความจำส่วนอนาคต (anterograde amnesia) ซึ่งเกิดจากความเสียหายที่สมองกลีบขมับด้านใน เป็นความเสียหายต่อความจำเชิงประกาศที่มีผลต่อทั้งความจำอาศัยเหตุการณ์และความจำอาศัยความหมาย[15]

ในตอนต้น ๆ ทัลวิงเสนอว่า ความจำอาศัยเหตุการณ์และความจำเชิงประกาศเป็นระบบที่แตกต่างกันและมีการแข่งขันกันเมื่อมีการค้นคืนความจำ แต่ต่อมา ทฤษฎีนี้ถูกปฏิเสธเมื่อเฮาวาร์ดและกาฮานาทำการทดลองที่วิเคราะห์ความคล้ายกันของคำโดยความหมายโดยใช้เทคนิค latent semantic analysis แล้วพบว่า ระบบความจำทั้งสองมีความสัมพันธ์กัน ไม่ใช่แยกออกจากกัน คือพบว่า แทนที่ความคล้ายคลึงกันโดยความหมาย (ที่เกี่ยวข้องกับระบบความจำอาศัยความหมาย) จะมีกำลังมากขึ้นเมื่อกำลังแห่งการเชื่อมต่อกันโดยกาลเวลา (ที่เกี่ยวข้องกับระบบความจำอาศัยเหตุการณ์) อ่อนลง ระบบทั้งสองกลับปรากฏว่าทำงานเคียงคู่กันโดยที่การระลึกถึงสิ่งเร้าโดยความหมายมีกำลังที่สุดเมื่อการระลึกถึงสิ่งเร้าอาศัยเหตุการณ์มีกำลังมากที่สุดด้วย[16]

ความแตกต่างกันระหว่างวัย

[แก้]

การทำงานของเขตเฉพาะต่าง ๆ ในสมอง (โดยมากในฮิปโปแคมปัส) ดูเหมือนจะมีความแตกต่างกันระหว่างคนที่อายุน้อยกับคนที่อายุมากกว่าในขณะที่ค้นคืนความจำอาศัยเหตุการณ์[17] คือ ผู้มีอายุมากกว่ามักจะเกิดการทำงานในฮิปโปแคมปัสในสมองทั้งสองซีก ในขณะผู้ที่อายุน้อยกว่ามักจะมีการทำงานในสมองซีกซ้าย

ความสัมพันธ์กันกับอารมณ์

[แก้]

ความสัมพันธ์กันระหว่างอารมณ์และความจำนั้นซับซ้อน แต่โดยทั่ว ๆ ไปแล้ว การมีอารมณ์ในเหตุการณ์หนึ่ง ๆ มักจะเพิ่มความเป็นไปได้ว่าจะจำเหตุการณ์นั้นได้ในภายหลัง และจะจำได้อย่างชัดเจน ตัวอย่างหนึ่งก็คือ Flashbulb memory ซึ่งเป็นความจำที่มีรายละเอียดสูง ชัดเจนกว่าปกติ ของขณะ ๆ หนึ่ง หรือของเหตุการณ์สิ่งแวดล้อม เป็นเหตุการณ์ที่เราได้ยินข่าวที่น่าแปลกใจและก่อให้เกิดอารมณ์ความรู้สึก[18]

การเพิ่มประสิทธิภาพโดยใช้ยา

[แก้]

ในผู้ใหญ่ปกติ ความจำอาศัยเหตุการณ์ทางตาในระยะยาวสามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้อย่างเฉพาะเจาะจง[19] โดยให้ยาประเภท Acetylcholine esterase inhibitor เช่น Donepezil ในขณะที่ความจำทางคำพูดสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในบุคคลที่มี single nucleotide polymorphism ประเภท Val158Met (rs4680) ในยีน COMT โดยให้สารยั้บยั้งเอนไซม์ Catechol-O-methyl transferase เช่น Tolcapone[20] นอกจากนั้นแล้ว ความจำอาศัยเหตุการณ์สามารถเพิ่มประสิทธิภาพโดยใช้ยา AZD3480 ซึ่งเป็นตัวทำการ (agonist) ของหน่วยรับความรู้สึก alpha4beta2 nicotinic receptor เป็นยาที่พัฒนาโดยบริษัท Targacept[21] และยังมียาอื่น ๆ ที่กำลังพัฒนาโดยบริษัทหลายบริษัทรวมทั้งสารยับยั้งเอนไซม์ catecholamine-O-methyltransferase ชนิดใหม่ ๆ ที่มีผลข้างเคียงน้อย ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการทำความจำอาศัยเหตุการณ์ให้ดีขึ้น ในปี ค.ศ. 2006 มีงานวิจัยที่ใช้ยาหลอกในกลุ่มควบคุมที่พบว่า DHEA ซึ่งเป็นปฏิปักษ์ (antagonist) กับสาร cortisol มีผลในการทำความจำในชายหนุ่มมีสุขภาพปกติให้ดีขึ้น[22]

ความเสียหาย

[แก้]
  • งานปริทัศน์ของงานวิจัยทางพฤติกรรมบอกเป็นนัยว่า คนไข้โรคออทิซึมบางพวกอาจมีความเสียหายโดยเฉพาะต่อระบบความจำอาศัยเหตุการณ์ที่เขตลิมบิกและ prefrontal cortex[23] ส่วนอีกงานวิจัยหนึ่งบ่งหลักฐานว่ามีความบกพร่องของคนไข้ออทิซึม ในความจำอาศัยเหตุการณ์หรือความจำที่มีความสำนึกว่าเป็นตนในเหตุการณ์ที่ตนได้ประสบ[24]
  • คนไข้ที่มีความบกพร่องของความจำอาศัยเหตุการณ์มักจะเรียกว่ามี ภาวะเสียความจำ (amnesia)
  • โรคอัลไซเมอร์มักจะทำความเสียหายให้กับฮิปโปแคมปัสก่อนเขตอื่น ๆ ในสมอง
  • มีภาวะอาหารเป็นพิษที่เกิดจากสัตว์น้ำประเภทที่มีเปลือกเช่นหอย ปู และกุ้งเป็นต้น ที่เรียกว่า amnesic shellfish poisoning (แปลว่า ภาวะพิษทำให้ความจำเสื่อมจากสัตว์น้ำประเภทที่มีเปลือก) ซึ่งก่อความเสียหายให้แก่ฮิปโปแคมปัสอย่างแก้ไขไม่ได้ ทำให้เกิดภาวะเสียความจำ
  • Korsakoff's syndrome (กลุ่มอาการหลงลืมที่เกิดจากการเสพสุรา) มีเหตุจากการขาดวิตามินบี1 (ไทอามีน) ซึ่งเป็นรูปแบบของทุพโภชนาการที่อาจเร่งให้เกิดโดยการเสพสุรามากเกินไปเปรียบเทียบกับอาหารอื่น ๆ
  • การมี cortisol สูงขึ้นโดยฉับพลันที่เกิดจากการฉีดยา มีฤทธิ์ยับยั้งการระลึกถึงความจำอัตชีวประวัติ (autobiographical memory) อย่างสำคัญ[25] ซึ่งอาจเป็นตัวการของความบกพร่องทางความจำของผู้มีภาวะซึมเศร้ารุนแรง (major depressive disorder)
  • การใช้ยาเสพติดเช่นยาอี (MDMA) มีความสัมพันธ์กับความบกพร่องทางความจำอาศัยเหตุการณ์ที่ติดทน[26][27]

ในสัตว์

[แก้]

ในปี ค.ศ. 1983 ทัลวิง[12]เสนอว่า เพื่อที่จะจัดว่าเป็นความจำอาศัยเหตุการณ์ ต้องมีหลักฐานว่ามีการระลึกถึงที่ประกอบด้วยความสำนึก ดังนั้น การแสดงว่ามีความจำอาศัยเหตุการณ์โดยที่ไม่ใช้ภาษาเช่นในสัตว์เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าไม่มีตัวบ่งชี้ทางพฤติกรรมที่ยอมรับกันทั่วไปที่บอกว่ามีประสบการณ์ประกอบด้วยความสำนึกโดยที่ไม่ได้อาศัยภาษา[28]

แนวคิดนี้ถูกค้านเป็นครั้งแรกโดยเคลย์ตันและดิกกินสันในงานวิจัยเกี่ยวกับสัตว์วงศ์นกกาสปีชีส์ Aphelocoma californica ในปี ค.ศ. 1998[29] คือได้พบว่า นกเหล่านี้อาจมีระบบความจำที่เกี่ยวกับสิ่งที่คล้ายเหตุการณ์ เพราะว่าพบว่า นกจำได้ว่าเก็บอาหารประเภทต่าง ๆ ไว้ที่ไหน แล้วไปเอาอาหารมาอย่างมีการแยกแยะขึ้นอยู่กับว่าอาหารจะเสียง่ายแค่ไหนและเก็บไว้นานเท่าไรแล้ว ดังนั้น นกจึงปรากฏว่าจำข้อมูลว่า "อะไร-ที่ไหน-เมื่อไร" ของเหตุการณ์การเก็บอาหารในอดีตได้อย่างเฉพาะเจาะจง นักวิจัยอ้างว่า การทำได้อย่างนี้สมกับบรรทัดฐานทางพฤติกรรมเกี่ยวกับความจำอาศัยเหตุการณ์ แต่ก็ยังเรียกความสามารถนี้เพียงแค่ว่า ความจำคล้ายความจำอาศัยเหตุการณ์ (episodic-like memory) เพราะว่างานวิจัยไม่ได้มีหลักฐานด้านปรากฏการณ์วิทยา (phenomenological) ของความจำในนก (คือไม่สามารถรู้ได้ว่านกระลึกถึงความจำนี้ได้อย่างมีสำนึกหรือไม่)

งานวิจัยที่ทำที่มหาวิทยาลัยเอดินเบิร์กในปี ค.ศ. 2006 แสดงลักษณะ 2 อย่างของความจำอาศัยเหตุการณ์ที่พบครั้งแรกในสัตว์คือนกฮัมมิงเบิร์ด คือ นกสามารถระลึกถึงสถานที่ที่มีดอกไม้และถึงเวลาครั้งสุดท้ายที่ได้ไปที่ดอกไม้[30] ส่วนงานวิจัยอื่น ๆ พบความจำที่มีลักษณะเช่นกันในสัตว์สปีชีส์ต่าง ๆ เช่นหนู[31] ผึ้ง และไพรเมต[32][33][34][35][36]

งานวิจัยแสดงว่า การเข้ารหัสและการค้นคืนความจำเกี่ยวกับประสบการณ์ในอดีตของสัตว์ต่าง ๆ ก็ต้องอาศัยวงจรประสาทในสมองกลีบขมับด้านใน (medial temporal lobe) ซึ่งรวมฮิปโปแคมปัสอยู่ด้วยเช่นกัน งานวิจัยโดยรอยโรคในสัตว์ได้แสดงความสำคัญของโครงสร้างต่าง ๆ ในสมองเหล่านี้ต่อความจำคล้ายความจำอาศัยเหตุการณ์ ยกตัวอย่างเช่น รอยโรคในฮิปโปแคมปัสมีผลอย่างรุนแรงต่อองค์ประกอบของความจำ 3 อย่างในสัตว์ (คืออะไร ที่ไหน และเมื่อไร) ซึ่งบอกเป็นนัยว่า ฮิปโปแคมปัสมีหน้าที่ตรวจจับเหตุการณ์ สิ่งเร้า และสถานที่ใหม่ ๆ เมื่อสร้างความจำ และมีหน้าที่ในการค้นคืนข้อมูลนั้น ๆ ในภายหลัง

แม้ว่าจะมีเขตประสาทที่เหมือนกันดังที่แสดงในหลักฐานของงานทดลอง นักวิชาการบางท่านเช่นซัดเด็นดอร์ฟและบัสบี้ ก็ยังระวังในการที่จะเปรียบเทียบความจำของสัตว์กับความจำอาศัยเหตุการณ์ในมนุษย์[37] เพราะว่า ความจำคล้ายความจำอาศัยเหตุการณ์ที่อ้างอิงมักจะใช้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ หรือสามารถที่จะอธิบายได้ว่าเกี่ยวข้องกับความจำเชิงกระบวนวิธี (procedural memory) หรือ ความจำอาศัยความหมาย (semantic memory) บางทีปัญหานี้อาจจะง่ายกว่า ถ้าศึกษาลักษณะอีกอย่างหนึ่งของความจำอาศัยเหตุการณ์ที่เป็นการปรับตัวในลำดับวิวัฒนาการ ซึ่งก็คือความสามารถในการจินตนาการถึงเหตุการณ์ในอนาคตอย่างยืดหยุ่นได้ แต่ว่างานวิจัยงานหนึ่งเร็ว ๆ นี้ได้แก้ข้อวิจารณ์ของซัดเด็นดอร์ฟและบัสบี้ข้อหนึ่ง (คือประเด็นของสมมติฐาน Bischof-Köhler ซึ่งกล่าวว่า สัตว์ที่ไม่ใช่มนุษย์สามารถเพียงแต่จะทำกิจเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องการในปัจจุบัน ไม่ใช่ที่จะต้องการในอนาคต) คอร์เรอาและคณะได้แสดงว่า[citation needed] นก Aphelocoma californica สามารถเลือกที่จะเก็บอาหารต่าง ๆ ประเภทกันขึ้นอยู่ว่าจะต้องการอะไรในอนาคต เป็นการให้หลักฐานที่มีกำลังค้านสมมติฐาน Bischof-Köhler hypothesis โดยแสดงว่า นกสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมอาศัยประสบการณ์ในอดีตว่าต้องการอาหารประเภทใด

ความจำเชิงอัตชีวประวัติ

[แก้]

ความจำเชิงอัตชีวประวัติ (autobiographical memory) เป็นตัวแทนทางประสาทของความจำที่เกี่ยวกับเหตุการณ์โดยทั่ว ๆ ไป เหตุการณ์โดยเฉพาะ และข้อมูลเกี่ยวกับตน ความจำเชิงอัตชีวประวัตินั้นหมายถึงความจำเกี่ยวกับประวัติของตนเองด้วย แต่ว่า เราไม่ได้จำทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในอดีตได้ และความจำนั้นเป็นกระบวนการที่มีการสร้างเสริม (constructive) คือประสบการณ์ในปัจจุบันและก่อน ๆ จะมีอิทธิพลต่อความจำของเราเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่าง ๆ และจะมีอิทธิพลว่าเราจะระลึกอะไรได้จากความจำ แม้ความจำเชิงอัตชีวประวัติก็เป็นสิ่งที่มีการสร้างเสริม เป็นประวัติที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น แม้ว่าเราจะรู้สึกว่า ความจำเกี่ยวกับชีวประวัติของตนจะค่อนข้างมั่นคงและชัดเจน แต่ความจริงแล้ว ความแม่นยำของความจำเชิงอัตชีวประวัติไม่อาจมั่นใจได้เต็มที่เพราะอาจมีความบิดเบือน

การทำงานของความจำอัตชีวประวัติอาจจะแตกต่างกันในช่วงเวลาพิเศษในชีวิต เราจะระลึกถึงเหตุการณ์ในปีแรก ๆ ของชีวิตเราได้น้อย การจำเหตุการณ์แรก ๆ เหล่านี้ไม่ได้เรียกว่า ภาวะเสียความจำในวัยเด็ก (childhood amnesia) หรือ ภาวะเสียความจำในวัยทารก (infantile amnesia) เรามักจะสามารถระลึกถึงเหตุการณ์ของตนได้มากมายในช่วงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ต้น ๆ ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า reminiscence bump (การประทุของความจำเหตุการณ์ในอดีต) และเราสามารถระลึกถึงเหตุการณ์ส่วนตัวได้มากมายในระยะ 2-3 ปีที่เพิ่งผ่านมา ซึ่งเรียกว่า recency effect (ปรากฏการณ์จำเหตุการณ์ในอดีตได้เหตุเพิ่งเกิดขึ้น) ส่วนในวัยรุ่นและในวัยหนุ่มสาว ทั้ง reminiscence bump และ recency effect เกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน

แม้จะรู้กันแล้วว่า ความจำเชิงอัตชีวประวัติมีการบันทึกไว้เป็นความจำอาศัยเหตุการณ์ในตอนต้น ๆ แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่า ความจำเชิงอัตชีวประวัติเป็นสิ่งเดียวกันกับความจำอาศัยเหตุการณ์หรือไม่ หรือว่า ความจำเชิงอัตชีวประวัติในที่สุดจะมีการเปลี่ยนเป็นความจำอาศัยความหมายตามกาลเวลา

ประเภท

[แก้]
  • เหตุการณ์เฉพาะเจาะจง (Specific Events)
    • เช่น เมื่อก้าวลงในทะเลเป็นครั้งแรก
  • เหตุการณ์ทั่ว ๆ ไป (General Events)
    • เช่นรู้สึกอย่างไรเมื่อก้าวลงไปในทะเลโดยทั่ว ๆ ไป นี้เป็นความจำว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตนมีความรู้สึกเป็นอย่างไรโดยทั่วไป อาจจะเป็นความจำเกี่ยวกับการก้าวลงไปในทะเล ซึ่งเกิดขึ้นหลายครั้งหลายหนในชีวิต
  • ความจริงหรือความรู้เกี่ยวกับตน
    • เช่น ใครเป็นนายกรัฐมนตรีในปีที่เกิด
  • Flashbulb Memories
    • Flashbulb Memory (ความจำเหมือนแสงแฟลช) เป็นความจำอัตชีวประวัติแบบวิกฤติเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญ ความจำแบบนี้บางครั้งจะเป็นไปร่วมกับคนอื่น ๆ ในชุมชน เช่น (เป็นตัวอย่างสำหรับคนอเมริกัน)

Neural network models

[แก้]

เชิงอรรถและอ้างอิง

[แก้]
  1. "ศัพท์บัญญัติอังกฤษ-ไทย, ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (คอมพิวเตอร์) รุ่น ๑.๑"
  2. Schacter, Daniel L.; Gilbert, Daniel T.; Wegner, Daniel M. (2011). Semantic and episodic memory (2nd ed.). New York: Worth, Incorporated. pp. 240–241.
  3. Tulving E (1984). "Precis of Elements of Episodic Memory". Behavioural and Brain Sciences. 7 (2): 223–68. doi:10.1017/S0140525X0004440X.
  4. Nicola S. Clayton; Lucie H. Salwiczek; Anthony Dickinson (20 March 2007). "Episodic memory" (PDF). Current Biology. 17 (6): 189–191. doi:10.1016/j.cub.2007.01.011. สืบค้นเมื่อ 29 กรกฎาคม 2014.{{cite journal}}: CS1 maint: date and year (ลิงก์)[ลิงก์เสีย]
  5. Hassabis, D; Maguire, EA (2007). "Deconstructing episodic memory with construction". Trends in Cognitive Sciences (Regul Ed ). 11 (7): 299–306.
  6. Terry, W. S. (2006) . Learning and Memory: Basic principles, processes, and procedures. Boston: Pearson Education, Inc.
  7. Baars, B. J. & Gage, N. M. (2007) . Cognition, Brain, and Consciousness: Introduction to cognitive neuroscience. London: Elsevier Ltd.
  8. Conway, M. A. (2009). "Episodic Memory". Neuropsychologia. 47: 2305–2306.
  9. Janowsky JS, Shimamura AP, Squire LR (1989). "Source memory impairment in patients with frontal lobe lesions". Neuropsychologia. 27 (8): 1043–56. doi:10.1016/0028-3932(89)90184-X. PMID 2797412.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  10. Gabrieli JD, Poldrack RA, Desmond JE (February 1998). "The role of left prefrontal cortex in language and memory". Proc. Natl. Acad. Sci. U.S.A. 95 (3): 906–13. doi:10.1073/pnas.95.3.906. PMC 33815. PMID 9448258.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  11. Deisseroth K, Singla S, Toda H, Monje M, Palmer TD, Malenka RC (May 2004). "Excitation-neurogenesis coupling in adult neural stem/progenitor cells". Neuron. 42 (4): 535–52. doi:10.1016/S0896-6273(04)00266-1. PMID 15157417.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  12. 12.0 12.1 Tulving, Endel (1983). Elements of Episodic Memory. New York: Oxford University Press.
  13. Tulving, Endel (2002). "Episodic Memory: From Mind to Brain". Annual Review of Psychology. 53: 1–25. doi:10.1146/annurev.psych.53.100901.135114. PMID 11752477.
  14. Tulving, Endel; Schacter, D.L. (19 January 1990). "Priming and Human Memory Systems". Science. 4940. 247 (4940): 301–6. doi:10.1126/science.2296719. PMID 2296719.
  15. Tulving, Endel; Hans Markowitsch (7 December 1998). "Episodic and Declarative Memory: role of the hippocampus". Hippocampus. 8 (3): 198–204. doi:10.1002/(SICI)1098-1063(1998)8:3<198::AID-HIPO2>3.0.CO;2-G. PMID 9662134.
  16. Howard, M.W.; Kahana, M.J. (2002). "When does semantic similarity help episodic retrieval". Journal of Memory and Language. 46: 85–96. doi:10.1006/jmla.2001.2798.
  17. Maguire EA, Frith CD (July 2003). "Aging affects the engagement of the hippocampus during autobiographical memory retrieval". Brain. 126 (Pt 7): 1511–23. doi:10.1093/brain/awg157. PMID 12805116.
  18. Brown, Roger; Kulik, James (1977). "Flashbulb memories". Cognition. 5 (1): 73–99. doi:10.1016/0010-0277(77)90018-X.
  19. Grön G, Kirstein M, Thielscher A, Riepe MW, Spitzer M (October 2005). "Cholinergic enhancement of episodic memory in healthy young adults". Psychopharmacology (Berl.). 182 (1): 170–9. doi:10.1007/s00213-005-0043-2. PMID 16021483.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  20. Apud JA; Mattay V; Chen J; และคณะ (May 2007). "Tolcapone improves cognition and cortical information processing in normal human subjects". Neuropsychopharmacology. 32 (5): 1011–20. doi:10.1038/sj.npp.1301227. PMID 17063156.
  21. Dunbar G; Boeijinga PH; Demazières A; และคณะ (May 2007). "Effects of TC-1734 (AZD3480), a selective neuronal nicotinic receptor agonist, on cognitive performance and the EEG of young healthy male volunteers". Psychopharmacology (Berl.). 191 (4): 919–29. doi:10.1007/s00213-006-0675-x. PMID 17225162.
  22. Alhaj HA, Massey AE, McAllister-Williams RH (November 2006). "Effects of DHEA administration on episodic memory, cortisol and mood in healthy young men: a double-blind, placebo-controlled study". Psychopharmacology (Berl.). 188 (4): 541–51. doi:10.1007/s00213-005-0136-y. PMID 16231168.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  23. Ben Shalom D (2003). "Memory in autism: review and synthesis". Cortex. 39 (4–5): 1129–38. doi:10.1016/S0010-9452(08)70881-5. PMID 14584570.
  24. Joseph, Robert M.; Steele, Shelley D.; Meyer, Echo; Tager-Flusberg, Helen (2005). "Self-ordered pointing in children with autism: failure to use verbal mediation in the service of working memory?" (PDF). Neuropsychologia. 43: 1400–1411. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-03-07. สืบค้นเมื่อ 2014-08-07.
  25. Buss C, Wolf OT, Witt J, Hellhammer DH (September 2004). "Autobiographic memory impairment following acute cortisol administration". Psychoneuroendocrinology. 29 (8): 1093–6. doi:10.1016/j.psyneuen.2003.09.006. PMID 15219661.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  26. Parrott AC, Lees A, Garnham NJ, Jones M, Wesnes K (1998). "Cognitive performance in recreational users of MDMA of 'ecstasy': evidence for memory deficits". Journal of Psychopharmacology (Oxford, England). 12 (1): 79–83. doi:10.1177/026988119801200110. PMID 9584971.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  27. Morgan MJ (January 1999). "Memory deficits associated with recreational use of "ecstasy" (MDMA)". Psychopharmacology. 141 (1): 30–6. doi:10.1007/s002130050803. PMID 9952062.
  28. Griffiths D, Dickinson A, Clayton N (1999). "Episodic memory: what can animals remember about their past?". Trends in cognitive sciences. 3 (2): 74–80. doi:10.1016/S1364-6613(98)01272-8. PMID 10234230.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  29. Clayton NS, Dickinson A (1998). "Episodic-like memory during cache recovery by scrub jays". Nature. 395 (6699): 272–4. doi:10.1038/26216. PMID 9751053.
  30. Henderson, J.; Hurly, T. A.; Bateson, M.; Healy, S. D. (2006). "Timing in free-living rufous hummingbirds, Selasphorus rufus". Current Biology. 16 (5): 512–515.
  31. Dere, E.; Huston, J. P.; Silva, M. A. S. (2005). "Episodic-like memory in mice: Simultaneous assessment of object, place and temporal order memory". Brain Research Protocols. 16 (1–3): 10–19.
  32. Menzel, E. (2005) Progress in the study of chimpanzee recall and episodic memory. In: The missing link in cognition, ed. H. S. Terrace & J. Metcalfe. Oxford University Press.
  33. Scheumann, M. & Call, J. (2006) Sumatran orangutans and a yellow-cheeked crested gibbon know what is where. International Journal of Primatology 27 (2) :575–602.
  34. Schwartz, B. L., Colon, M. R., Sanchez, I. C., Rodriguez, I. A. & Evans, S. (2002) Single-trial learning of “what” and “who” information in a gorilla (Gorilla gorilla gorilla) : Implications for episodic memory. Animal Cognition 5 (2) :85–90.
  35. Schwartz, B. L., Hoffman, M. L. & Evans, S. (2005) Episodic-like memory in a gorilla: A review and new findings. Learning and Motivation 36 (2) :226–244.
  36. Hampton, R. R. (2001) Rhesus monkeys know when they remember. Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America 98 (9) :5359–5362.
  37. Suddendorf T, Busby J (2003). "Mental time travel in animals?". Trends in Cognitive Sciences. 7 (9): 391–396. doi:10.1016/S1364-6613(03)00187-6. PMID 12963469.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]