Ad hominem

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บทความนี้มีชื่อเป็นภาษาอื่น หรือใช้อักษรในภาษาอื่น เนื่องจากต้องการคงไว้ตามต้นฉบับ หรือไม่มีชื่อภาษาไทยที่เหมาะสม

ad hominem ซึ่งเป็นคำย่อจาก argumentum ad hominem เป็นรูปแบบการให้เหตุผลหลายอย่างซึ่งโดยมากเป็นเหตุผลวิบัติอรูปนัย ปกติหมายถึงยุทธวิธีทางวาทศิลป์ที่ผู้พูดโจมตีอุปนิสัย แรงจูงใจ/เจตนา หรือลักษณะอื่นๆ ของอีกฝ่ายที่กำลังให้เหตุผล แทนที่จะโจมตีสาระของการให้เหตุผลเอง เป็นการเลี่ยงการสืบหาเหตุผลจริงๆ เป็นการเบี่ยงเบนความสนใจโดยโจมตีบุคคลและมักจะใช้อุปนิสัยหรือพื้นเพของฝ่ายตรงข้ามที่ไม่เข้าประเด็นแต่สร้างอารมณ์ มีรูปแบบสามัญคือ "ก" อ้าง "ข้อเท็จจริง" แล้ว "ข" ก็อ้างว่า "ก" มีนิสัย มีคุณสมบัติ มีรูปร่างกายเป็นต้นที่น่ารังเกียจ เป็นการพูดนอกประเด็นแล้วก็สรุปว่า "ก" พูดไม่ถูก โดยไม่กล่าวถึงประเด็นอะไรๆ ที่กำลังโต้แย้ง

ในการโต้เถียงทางปรัชญาโดยเฉพาะบางอย่าง ad hominem อาจหมายถึงยุทธิวิธีทางวิภาษวิธีที่ใช้ความเชื่อและเหตุผลของอีกฝ่ายเพื่อโต้แย้งอีกฝ่ายเอง โดยไม่ได้ยอมรับความสมเหตุสมผลของความเชื่อและเหตุผล

มีการศึกษาการให้เหตุผลแบบ ad hominem มาอย่างช้าตั้งแต่สมัยกรีซโบราณแล้ว นักปรัชญาชาวอังกฤษ จอห์น ล็อก ได้รื้อฟื้นการศึกษาเหตุผลวิบัตินี้ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 นักการเมืองในปัจจุบันมักโจมตีฝ่ายตรงข้ามด้วย ad hominem โดยอาจสรุปลงเป็นชื่อเล่นที่ดูถูก

ประวัติ[แก้]

อาริสโตเติล (384-322 ก่อนคริสต์ศักราช) ได้เครดิตว่าเป็นผู้แยกแยะการให้เหตุผลที่โต้แย้งบุคคล กับที่โต้แย้งเหตุผล[1]

การให้เหตุผลแบบ ad hominem ในรูปแบบต่างๆ ได้ศึกษามาตั้งแต่สมัยกรีซโบราณ เช่น ดังที่พบในงานของอาริสโตเติล[2] แต่ปกติก็จะไม่ใช่รูปแบบที่หมายถึงในปัจจุบัน[3]

นักปรัชญาชาวอังกฤษจอห์น ล็อก และผู้รู้รอบด้านคือกาลิเลโอ กาลิเลอีได้รื้อฟื้นการศึกษาเหตุผลวิบัตินี้ในยุโรป แต่ก็ยังไม่ได้มุ่งเหตุผลวิบัติในรูปแบบที่หมายถึงในปัจจุบัน ต่อมาในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 นักตรรกะชาวอังกฤษริชาร์ด เวตลีย์ จึงได้ให้นิยามกว้างๆ ที่เริ่มเข้ากันกับความหมายที่ใช้ในปัจจุบัน เขาระบุว่าเป็นการให้เหตุผลที่ "มุ่งสถานการณ์ อุปนิสัย ความเห็นที่ประกาศ หรือพฤติกรรมในอดีตของบุคคล"[4]

ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นอย่างช้า ad hominem ก็ได้ความหมายแล้วว่าเป็นเหตุผลวิบัติทางตรรกะ ซึ่งผู้โต้แย้งโจมตีฝ่ายตรงข้ามแทนที่จะพิสูจน์การให้เหตุผลว่าไม่ถูกต้อง แต่ตอนปลายคริสต์ศตวรรษ นักปรัชญาชาวออสเตรเลียชาลส์ แฮมบลิน ก็ได้โต้แย้งนิยามทำนองนี้ เขาระบุว่า การโจมตีบุคคลเมื่อให้เหตุผล ไม่จำเป็นต้องทำให้เป็นเหตุผลวิบัติถ้าข้อความโจมตีนั้นๆ ไม่ได้ใช้เป็นข้อตั้งที่นำไปสู่ข้อสรุป แต่ข้อวิจารณ์นี้ก็ไม่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง[5] ในปัจจุบัน ยกเว้นในด้านปรัชญาโดยเฉพาะๆ คำนี้หมายถึงการโจมตีอุปนิสัยหรือลักษณะของบุคคลเพื่อใช้ปฏิเสธการให้เหตุผลของบุคคลนั้น[6]

ศัพท์[แก้]

วลีภาษาละตินว่า argumentum ad hominem แปลว่า "การให้เหตุผลโต้แย้งบุคคล"[7] ส่วนวลี ad mulierem และ ad feminam ใช้เมื่อโต้แย้งผู้หญิงโดยเฉพาะ[8] แต่จริงๆ คำว่า hominem (มีรากเป็น homo) ก็มีเพศเป็นกลางอยู่แล้วในภาษาละติน[9]

รูปแบบ[แก้]

เหตุผลวิบัติ ad hominem จัดเป็นเหตุผลวิบัติอรูปนัย โดยเฉพาะจัดเป็นเหตุผลวิบัติโดยกำเนิด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเหตุผลวิบัติโดยประเด็น[10]

ad hominem อาจแบ่งเป็นหมวดต่างๆ เช่น tu quoque, ตามสถานการณ์, ผิดเพราะเป็นพรรคพวก และแบบด่าว่า ทั้งหมดมีโครงคล้ายกับ ad hominem ธรรมดา ซึ่งก็คือแทนที่จะโต้แย้งการให้เหตุผล แต่กลับไปโจมตีอุปนิสัยของอีกฝ่าย แล้วสรุปว่านี่เป็นเหตุผลเพียงพอเพื่อปฏิเสธข้ออ้างของอีกฝ่าย[11]

Tu quoque[แก้]

Ad hominem tu quoque (แปลตามศัพท์ว่า "คุณเช่นกัน") เป็นการตอบโต้การถูกโจมตีด้วย ad hominem โดยโจมตีอีกฝ่ายหนึ่งกลับด้วย ad hominem[12] มีรูปแบบเป็น

  • ก อ้างว่า a
  • ข โจมตีลักษณะของ ก ว่ามีลักษณะ x ซึ่งแย่
  • ก โจมตี ข กลับโดยอ้างว่าก็มีลักษณะ x เหมือนกัน[13]

ศาสตราจารย์ทางปรัชญาได้แสดงตัวอย่างของรูปแบบที่กล่าว คือ นักธุรกิจผู้เป็นนักการเมืองด้วยได้ไปให้การบรรยายที่มหาวิทยาลัยว่าบริษัทของเขาดีอย่างไร และว่าระบบบ้านเมืองกำลังดำเนินไปด้วยดีขนาดไหน นักศึกษาถามเขาว่า "มันจริงไหมว่า ท่าน สส. กับบริษัทของท่าน สส. ได้ขายอาวุธให้แก่ผู้ปกครองของประเทศโลกที่สาม ผู้ใช้อาวุธนั้นทำร้ายประชาชนของตนเอง" นักธุรกิจตอบว่า "มันจริงไหมว่า มหาวิทยาลัยของนักศึกษาได้รับเงินทุนจากบริษัทเดียวกันที่นักศึกษาอ้างว่า ขายอาวุธให้แก่ประเทศเหล่านั้น นักศึกษาก็ไม่ใช่บริสุทธิ์ผุดผ่องเหมือนกัน" การโจมตีแบบ ad hominem ของนักศึกษาเข้าประเด็นกับสิ่งที่นักธุรกิจพยายามจะแสดง ดังนั้นจึงไม่ใช่เหตุผลวิบัติ แต่การโจมตีนักศึกษาไม่เข้าประเด็นกับสิ่งที่กำลังพูดนั้น ดังนั้น การโจมตีของนักธุรกิจแบบ tu quoque จึงเป็นเหตุผลวิบัติ[14]

tu quoque ยังอาจมีนิยามอื่น คือเป็นเหตุผลวิบัติที่เกิดเมื่อโต้แย้งการให้เหตุผลโดยอาศัยประวัติของอีกฝ่าย เป็นการให้เหตุผลที่ไม่สมเหตุสมผลเช่นกันเพราะไม่ได้พิสูจน์ข้อตั้งเดิมว่าเป็นเท็จ แม้ข้อตั้งของเหตุผลวิบัติอาจจะเป็นจริง แต่ความจริงฝ่ายตรงข้ามก็อาจจะเป็นเพียงคนพูดอย่างทำอย่าง หรือว่าอาจจะเป็นคนที่ได้เปลี่ยนใจ แต่ก็ไม่ได้ทำข้อความดั้งเดิมให้น่าเชื่อถือน้อยลงในมุมมองของตรรกะ ตัวอย่างคือ เมื่อแพทย์แนะนำให้คนไข้ลดน้ำหนัก แต่คนไข้อ้างว่าไม่จำเป็น เพราะหมอก็น้ำหนักเกินเหมือนกัน[15]

ตามสถานการณ์[แก้]

ad hominem ตามสถานการณ์เป็นการให้เหตุผลว่า คนที่มีอะไรบางอย่างเช่น การงาน ความร่ำรวย ทรัพย์สมบัติ หรือความสัมพันธ์ จะมีโอกาสมีจุดยืนบางอย่างมากกว่า เป็นการโจมตีฝ่ายตรงข้ามว่ามีความเอนเอียง/อคติ แต่ก็เหมือนกับ ad hominem ประเภทอื่นๆ ว่า การโจมตีสถานการณ์อาจจะเป็นเหตุผลวิบัติหรือไม่ก็ได้ เพราะความเอนเอียงไม่จำเป็นต้องทำให้การให้เหตุผลไม่สมเหตุสมผล ความเป็นเหตุผลวิบัติจึงไม่แน่นอน นี่เหลื่อมกับเหตุผลวิบัติโดยกำเนิดซึ่งเป็นการให้เหตุผลว่าข้ออ้างไม่ถูกต้องเพราะแหล่งที่มา แต่ก็อาจเป็นการให้เห็นเหตุผลที่ดี ถ้าข้อตั้งถูกต้องและความเอนเอียงก็เข้าประเด็นกับการให้เหตุผล[16]

ตัวอย่างง่ายๆ อย่างหนึ่งคือ พ่ออาจจะบอกลูกสาวว่าไม่ให้สูบบุหรี่เพราะจะเสียสุขภาพ เธอชี้ว่าแม้พ่อเองก็เป็นคนสูบบุหรี่ แต่นี่ก็ไม่ได้เปลี่ยนความเป็นจริงว่า การสูบบุหรี่อาจก่อโรคต่างๆ ความไม่คงเส้นคงว่าของพ่อไม่ใช่เหตุผลที่สมควรในการปฏิเสธข้ออ้างของเขา[17]

ad hominem โดยสถานการณ์ อาจไม่ใช่เหตุผลวิบัติ เช่นในกรณีที่ ก โจมตีบุคลิกภาพของ ข ผู้มีข้ออ้าง 1 โดยที่บุคลิกภาพของ ข ก็เข้าประเด็นกับข้ออ้าง 1 ด้วย มีตัวอย่างเป็นพยานในศาล ถ้าพยานเคยถูกจับได้ว่าโกงและโกหกมาก่อน ศาลควรจะเชื่อคำของพยานว่าเป็นความจริงเลยหรือไม่ ไม่ควร[18]

ผิดเพราะเป็นพรรคพวก[แก้]

การโทษว่าผิดเพราะเป็นพรรคพวก (guilt by association) เป็นการโทษอีกฝ่ายว่าผิดเพราะมีความสัมพันธ์กับบุคคลหรือกลุ่มที่ถูกดิสเครดิตไปแล้ว อาจจัดเป็นเหตุวิบัติแบบ ad hominem รูปแบบหนึ่งที่โจมตีแหล่งที่มาเพราะมีความคิดเห็นคล้ายกัน[19] โดยมีรูปแบบดังต่อไปนี้[19]

  1. ก อ้างว่า 1
  2. ก มีความสัมพันธ์กับกลุ่ม ข ซึ่งมีชื่อเสียงไม่ดี
  3. ดังนั้น ความเห็นของ ก จึงไม่น่าเชื่อถือ

มีตัวอย่างเป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ พ.ศ. 2551 ที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีแซราห์ เพลิน โจมตีบารัก โอบามาว่าได้เคยร่วมงานกับบิล แอรส์ ผู้เป็นผู้นำกลุ่มก่อการร้าย Weather Underground ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1960 แม้โอบามาจะได้ประณามการก่อการร้ายทุกอย่าง ฝ่ายตรงข้ามก็ยังโทษเขาฐานเป็นพรรคพวก[20] ความผิดฐานเป็นพวกมักใช้ในการโต้แย้งทางสังคมและการเมือง โดยยังเกิดหลังเหตุการณ์สำคัญๆ อีกด้วยเช่น เรื่องอื้อฉาวหรือการก่อการร้าย ตัวอย่างเช่น การโจมตีคนอิสลามในสหรัฐได้เกิดมากสุดหลังวินาศกรรม 11 กันยายน[20]

ad hominem แบบด่าว่า[แก้]

ad hominem แบบด่าว่าจัดว่าแย่สุดในลำดับขั้นความขัดแย้งกันของเกรแฮม (Graham's Hierarchy of Disagreement)

ad hominem แบบด่าว่าเป็นการโจมตีอุปนิสัยของฝ่ายตรงข้ามโดยตรง นอกจากจะเป็นเหตุผลวิบัติแล้วยังไร้ประโยชน์อีกด้วย เพราะจะคุยกันดีๆ ไม่ได้หลังจากนั้น[21][22][23] ประเด็นสำคัญในการตรวจสอบว่าเป็นเหตุผลวิบัติแบบ ad hominem หรือไม่ก็คือให้ดูว่า คำกล่าวโทษบุคคลนั้นจริงหรือไม่และเข้าประเด็นกับการให้เหตุผลหรือไม่ ตัวอย่างก็คือการซักพยานในศาล ที่ทนายซักค้านพยาน แล้วแสดงว่าพยานได้ถูกตัดสินในอดีตว่าโกหกศาล ถ้าข้อสรุปของทนายคือพยานกำลังโกหก นี่ก็จะเป็นเหตุผลวิบัติ แต่ถ้าข้อสรุปก็คือพยานเชื่อถือไม่ได้ นี้ไม่ใช่เหตุผลวิบัติ[24]

การให้เหตุผลโดยอาศัยการยอมรับ (argument from commitment)[แก้]

การให้เหตุผลแบบ ad hominem โดยอาศัยการยอมรับ (argument from commitment) เป็นการให้เหตุผลที่สมเหตุสมผลโดยเป็นยุทธวิธีทางวิภาษวิธี ที่ใช้ความเชื่อ ความเชื่อมั่น และข้อสมมุติของอีกฝ่ายเพื่อโต้แย้งกับบุคคลนั้นเอง คือใช้เหตุผลซึ่งอาศัยสิ่งที่อีกฝ่ายเชื่อว่าเป็นจริง เป็นรูปแบบที่พบในการโต้แย้งทางปรัชญาโดยเฉพาะๆ ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 20[25] มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ex concessis argument (แปลว่า การให้เหตุผลจากสิ่งที่ได้ยอมรับแล้ว)[26]

ในการโต้แย้ง[แก้]

เหตุผลวิบัติแบบ ad hominem จัดว่าไม่สุภาพ และไม่ช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีในการโต้แย้ง[27] เป็นการโจมตีอุปนิสัยของอีกฝ่าย ผู้มักจะรู้สึกว่าต้องป้องกันตนเองจากการถูกกล่าวโทษว่าพูดอย่างทำอย่าง มันได้ผลจนถูกนำไปใช้ทางการเมืองอย่างแพร่หลาย แต่เพราะมองว่าไม่ดีและเป็นลูกเล่นสกปรก จึงได้ชื่อไม่ดีว่าเป็นเหตุวิบัติอย่างแน่นอน[28]

นักเขียนเรื่องการเมืองอิสราเอลได้อธิบายรูปแบบการโจมตีอีกสองอย่างที่สามัญในช่วงการเลือกตั้ง ซึ่งอาศัยความจำที่มีร่วมกันระหว่างผู้โจมตีกับผู้ฟัง อย่างแรกคือ ad hominem โดยแบบอย่าง คือแบบอย่างหรือประวัติที่เคยมีมาก่อนของอีกฝ่ายทำให้อีกฝ่ายไม่คู่ควรกับตำแหน่ง เช่น "คู่แข่งของผมผิดพลาด (ตามการกล่าวหา) ในอดีต ดังนั้นเขาจึงผิดพลาดในปัจจุบัน" อย่างที่สองเป็น ad hominem โดยพฤติกรรม คือ "คู่แข่งของผมไม่ได้ให้เหตุผลอย่างบังควรในอดีต ดังนั้นตอนนี้ เขาก็ไม่บังควรเหมือนกัน" การโจมตีเช่นนี้อาศัยการที่ผู้ฟังไม่เห็นอย่างชัดเจนว่าทั้งสองฝ่ายกล่าวข้อความเท็จมากน้อยขนาดไหน[29]

ข้อวิจารณ์ในความเป็นเหตุผลวิบัติ[แก้]

การให้เหตุผลแบบ ad hominem จริงๆ ไม่ได้เป็นเหตุวิบัติเสมอไป ในบางกรณี พฤติกรรม อุปนิสัย แรงจูงใจเป็นต้น อาจเป็นประเด็นที่ถูกต้องตามเหตุผลและเข้าประเด็น[30] เช่น เมื่อมันเกี่ยวกับการพูดอย่างทำอย่างของบุคคลนั้น

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Walton 2001, p. 208; Tindale 2007, p. 82.
  2. Tindale 2007, p. 82.
  3. Nuchelmans 1993, p. 43.
  4. Walton 2001, pp. 208–210.
  5. van Eemeren & Grootendorst 2015, pp. 615–626.
  6. Walton 2001, p. 210.
  7. Tindale 2007, p. 91.
  8. Olivesi 2010; Sommers 1991.
  9. Lewis & Short 1879, p. 859-860.
  10. Walton 2008, p. 190; Bowell & Kemp 2010, pp. 201-213; Copi 1986, pp. 112-113.
  11. van Eemeren 2001, p. 142.
  12. Wrisley 2019, p. 88; Walton 2015, pp. 431-435; Lavery & Hughes 2008, p. 132.
  13. Wrisley 2019, p. 89.
  14. Wrisley 2019, pp. 89–91.
  15. Tindale 2007, pp. 94–96.
  16. Walton 1998, pp. 18-21; Wrisley 2019, pp. 77-78.
  17. Walton 2001, p. 211.
  18. Walton 2001, p. 213.
  19. 19.0 19.1 Walton 1998, pp. 18–21.
  20. 20.0 20.1 Kolb 2019, pp. 351–352.
  21. Tindale 2007, pp. 92–93.
  22. Hansen 2019, 1. The core fallacies.
  23. Walton 2006, p. 123.
  24. Wrisley 2019, pp. 86–87.
  25. Merriam-Webster 2019, note1.
  26. Walton 2001.
  27. Weston 2018, p. 82.
  28. Walton 2006, p. 122.
  29. Orkibi 2018, pp. 497–498.
  30. Walton 2008, p. 170.

อ้างอิงอื่นๆ[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]