เหตุผลวิบัติโดยอุดมคติเพ้อฝัน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เหตุผลวิบัติโดยอุดมคติเพ้อฝัน[1] (อังกฤษ: nirvana fallacy) เป็นเหตุผลวิบัติอรูปนัยโดยเปรียบเทียบทางเลือกที่เป็นของจริงกับอุดมคติที่เพ้อฝัน เป็นไปไม่ได้ แต่สมบูรณ์แบบ[2] และสามารถหมายถึงความโน้มเอียงที่จะสมมุติว่า มีวิธีแก้ปัญหาที่สมบูรณ์แบบ

โดยสร้างทางเลือกแค่สองทางที่จำกัดเกินไป คือ แสดงทางเลือกหนึ่งที่ดีกว่าอย่างชัดเจน แม้ว่าจะเป็นไปไม่ได้ คนที่ใช้เหตุผลวิบัตินี้ สามารถโจมตีความคิดฝ่ายตรงข้าม ด้วยเหตุผลว่าไม่สมบูรณ์แบบ และนี่ไม่ใช่การเลือกระหว่างวิธีแก้ปัญหาที่เป็นไปได้จริง ๆ แต่เป็นการเลือกระหว่างทางเลือกที่ทำได้เป็นไปได้ และการแก้ปัญหาที่เป็นไปไม่ได้แต่ดีกว่าในบางส่วน

ประวัติชาวตะวันตก[แก้]

ในกลอน La Bégueule พิมพ์ในปี ค.ศ. 1772 ของวอลแตร์ เขาเขียนว่า Le mieux est l'ennemi du bien ซึ่งอาจแปลได้ว่า "สิ่งยอดที่สุด เป็นศัตรูของสิ่งที่ดี" ส่วนนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ตั้งชื่อภาษาอังกฤษว่า "nirvana fallacy" ในปี ค.ศ. 1969[3][4]

เหตุผลวิบัติโดยวิธีแก้ปัญหาสมบูรณ์แบบ[แก้]

เหตุผลวิบัติโดยวิธีแก้ปัญหาสมบูรณ์แบบ (อังกฤษ: perfect solution fallacy) เป็นเหตุผลวิบัติอรูปนัยที่เกี่ยวข้องกัน ที่เกิดขึ้นเมื่อคำอธิบายที่อ้างสมมุติว่ามีวิธีแก้ปัญหาที่สมบูรณ์แบบ หรือว่า ควรทิ้งวิธีแก้ปัญหาอย่างหนึ่งเพราะว่า ปัญหาบางส่วนจะยังดำรงอยู่ได้ต่อไปหลังจากใช้วิธีแก้ปัญหาแล้ว นี้เป็นวิธีการคิดแบบขาวดำ ที่บุคคลไม่เห็นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างปัจจัยต่าง ๆ ของเหตุการณ์หรือปัญหา และดังนั้น จึงเสนอการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนโดยวิธีสุดโต่งสองอย่าง

ข้ออ้างที่มีเหตุผลวิบัติเช่นนี้ มักจะไม่กล่าวรายละเอียดว่า วิธีแก้ปัญหาที่เสนอยอมรับไม่ได้เพราะอะไร หรือมีปัญหาระดับไหน แต่จะปฏิเสธโดยใช้คำหรือเหตุผลที่คลุมเครือ หรือว่า อาจจะใช้พร้อมกับเหตุผลวิบัติ ที่ยกตัวอย่างที่ชัดเจนของความล้มเหลวของการแก้ปัญหาที่เสนอโดยเป็นการทำให้เขว คือยกตัวอย่างที่แสดงรายละเอียดน่าสะเทือนใจ (ดูหลักฐานโดยเรื่องเล่า) แต่ไม่ใส่ใจในอัตราพื้นฐาน (ดูเหตุผลวิบัติโดยอัตราพื้นฐาน) คือไม่ยกว่า ผลที่ยกมาเป็นตัวอย่างมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นเปรียบเทียบกับผลที่อาจจะได้อื่น ๆ มากน้อยขนาดไหน

เหตุผลวิบัตินี้ถือว่าเป็นทวิบถเท็จรูปแบบหนึ่ง

ตัวอย่าง[แก้]

คำอธิบายที่เป็นเหตุผลวิบัติ
โฆษณาไม่ให้เมาแล้วขับรถเช่นนี้ จะไม่สำเร็จผล เพราะว่า คนที่จะดื่มแล้วขับก็จะทำอย่างนั้นต่อไปไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น
คำค้าน
การกำจัดการเมาแล้วขับโดยสิ้นเชิงไม่ใช่เป็นผลที่คาดหมาย เป้าหมายคือการลดจำนวนเหตุการณ์
คำอธิบายที่เป็นเหตุผลวิบัติ
เข็มขัดนิรภัยเป็นความคิดที่ไม่ดี หรือเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น ยังไงคนก็จะตายอยู่ดีในอุบัติเหตุรถยนต์
คำค้าน
แม้ว่าเข็มขัดนิรภัยจะไม่ได้ทำให้การขับรถปลอดภัย 100% หรือเข็มขัดนิรภัยไม่สามารถช่วยป้องกันการเสียชีวิตได้ในบางกรณี (เช่นการขับชนด้วยความเร็วที่สูงมาก ๆ) แต่ก็เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยลดโอกาสการตายในอุบัติเหตุรถยนต์โดยทั่วไปได้

ดูเพิ่ม[แก้]

เชิงอรรถและอ้างอิง[แก้]

  1. แปลตามความหมายที่สอง "nirvana", Merriam-Webster Collegiate Dictionary (11 ed.), Springfield, Massachusetts, USA: Merriam-Webster, Inc., 2003, a: a place or state of oblivion to care, pain, or external reality also: BLISS, HEAVEN b: a goal hoped for but apparently unattainable: DREAM
  2. H. Demsetz, "Information and Efficiency: Another Viewpoint", Journal of Law and Economics 12 (April 1969): 1, quoted in Kirzner, Israel M. (1978). Competition and Entrepreneurship. p. 231. ISBN 0-226-43776-0.
  3. Leeson, Peter T. (2007-08-06). "Anarchy unbound, or: why self-governance works better than you think". Cato Unbound. Cato Institute. สืบค้นเมื่อ 2009-07-01.
  4. Shapiro, Daniel (2007). Is the welfare state justified?. New York: Cambridge University Press. p. 4. ISBN 0-521-86065-2.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

  • Browne, M Neil; Keeley, Stuart M (2004). Asking the right questions: a guide to critical thinking (7th. ed.). Upper Saddle River, NJ: Pearson Prentice Hall. ISBN 978-0-13-182993-0. OCLC 50813342.