การให้เหตุผลโดยอาศัยแนวเทียบ
การให้เหตุผลโดยอาศัยแนวเทียบ[1] (อังกฤษ: argument from analogy, false analogy) เป็นการให้เหตุผลแบบอุปนัยอย่างหนึ่งที่ลักษณะอะไรที่คล้ายๆ กันจะใช้เป็นเหตุในการอนุมานหรือเป็นแนวเทียบว่า มีอะไรอย่างอื่นอีกที่คล้ายๆ กันแต่ยังไม่เห็น การหาเหตุผลโดยแนวเทียบเป็นวิธีการที่สามัญที่สุดอย่างหนึ่ง ซึ่งมนุษย์ใช้เพื่อให้เข้าใจโลกและเพื่อตัดสินใจ[2] เมื่อบุคคลมีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับผลิตภัณฑ์อย่างหนึ่ง แล้วตัดสินใจว่าจะไม่ซื้ออะไรจากผู้ผลิตนั้นอีก นี่มักจะเป็นเพราะเหตุผลโดยแนวเทียบ คือเพราะผลิตภัณฑ์ทั้งสองเทียบกันได้ว่ามีผู้ผลิตเดียวกัน ดังนั้น จึงมองว่าแย่ นี่ยังเป็นหลักอย่างหนึ่งของวิทยาศาสตร์อีกด้วย เช่น การทดลองโดยใช้หนูทดลองอาศัยเหตุผลว่า ลักษณะทางสรีรวิทยาที่คล้ายๆ กันระหว่างหนูกับมนุษย์ แสดงนัยว่ายังมีอะไรที่คล้ายกันอย่างอื่นอีก เช่น จะมีปฏิกิริยาต่อยาที่คล้ายกัน[3]
โครงสร้าง
[แก้]กระบวนการการอนุมานโดยแนวเทียบ เริ่มจากการเห็นว่ามีลักษณะที่คล้ายๆ กันระหว่างสิ่งสองสิ่ง แล้วจึงสรุปว่าทั้งสองจะต้องมีอะไรที่คล้ายกันอย่างอื่นๆ[2][3][4] โครงสร้างหรือรูปแบบเช่นนี้สามารถระบุรวมๆ อย่างนี้ว่า[2][3][4]
- ก และ ข คล้ายกันโดยลักษณะ 1, 2 และ 3
- ก ได้เห็นแล้วว่า มีลักษณะ 4
- ดังนั้น ข ก็น่าจะมีลักษณะ 4 เช่นกัน
การให้เหตุผลนี้ไม่ได้ยืนยันว่า สิ่งสองอย่างเหมือนกัน เพียงแต่ระบุว่าคล้ายกัน แม้การให้เหตุผลนี้อาจจะเป็นหลักฐานที่ดีสำหรับข้อสรุปนั้น แต่จริงๆ ข้อสรุปนั้น จะระบุไม่ได้ว่าเป็นความจริงเชิงตรรก (logical truth)[2][3][4] การตัดสินว่าเหตุผลมีน้ำหนักแค่ไหน จะต้องพิจารณาเรื่องอื่นๆ เกินกว่ารูปแบบ (form) เพราะจะต้องพิจารณาสาระ (content) อย่างละเอียดด้วย
การวิเคราะห์การให้เหตุผลโดยแนวเทียบ
[แก้]น้ำหนักของแนวเทียบ
[แก้]ปัจจัยหลายอย่างมีผลเพิ่มหรือลดน้ำหนักของการให้เหตุผลโดยแนวเทียบ
- ความสัมพันธ์กันหรือความเข้าประเด็นกัน (ไม่ว่าจะเป็นบวกหรือลบ) ระหว่างความคล้ายกันที่ปรากฏ กับความคล้ายกันที่ข้อสรุปได้อนุมาน[3][4]
- ระดับความคล้ายคลึงกัน (หรือความต่าง) ที่สำคัญระหว่างสิ่งทั้งสอง[3]
- จำนวนและความหลากหลายของตัวอย่างต่างๆ ที่เป็นรากฐานของแนวเทียบ[3]
เหตุผลต่อต้าน
[แก้]เหตุผลโดยแนวเทียบสามารถค้านเพราะเทียบกันไม่ได้ (disanalogy) เพราะมีแนวเทียบตอบโต้ (counteranalogy) และเพราะมีผลที่ไม่ได้ตั้งใจของแนวเทียบ[2] เพื่อให้เข้าใจว่าจะวิเคราะห์เหตุผลโดยแนวเทียบได้อย่างไร ให้พิจารณาแนวเทียบเรื่องช่างทำนาฬิกาซึ่งใช้ให้เหตุผลว่าพระเป็นเจ้ามีจริง โดยอาศัยข้อวิจารณ์ของนักปรัชญาชาวสกอตแลนด์ เดวิด ฮูม
เหตุผลโดยแนวเทียบเรื่องช่างทำนาฬิกาก็คือ สำหรับสิ่งของที่ซับซ้อนและแม่นยำเช่นกับนาฬิกา กระบวนการสุ่มจะสร้างสิ่งของเช่นนี้ไม่ได้ ดังนั้น จึงอนุมานได้ว่าต้องมีผู้สร้างที่ชาญฉลาดผู้มีแผนจะใช้มัน และดังนั้น ก็พึงเทียบสรุปได้ด้วยว่า สิ่งของที่ซับซ้อนอีกอย่าง คือ เอกภพ ก็มีผู้สร้างที่ชาญฉลาดเช่นกัน[2] ฮูมให้เหตุผลว่าเอกภพและนาฬิกานั้นต่างกันอย่างสำคัญ
ยกตัวอย่างเช่น เอกภพมักจะไม่มีระเบียบและเป็นไปโดยสุ่ม แต่นาฬิกาไม่เป็นอย่างนั้น การให้เหตุผลเช่นนี้เรียกในภาษาปรัชญาอังกฤษว่า disanalogy (ไม่ใช่แนวเทียบ/เทียบกันไม่ได้) ถ้าจำนวนและความหลากหลายของความเหมือนกันอันสำคัญระหว่างสิ่งของสองสิ่ง ทำให้ข้อสรุปด้วยแนวเทียบมีน้ำหนักขึ้น จำนวนและความหลากหลายของความต่างกันที่สำคัญ ก็ควรจะลดน้ำหนักของข้อสรุปด้วยเช่นกัน[2]
เมื่อให้เหตุผลแบบ "counteranalogy" (แนวเทียบตอบโต้) ฮูมกล่าวว่า แม้วัตถุธรรมชาติบางอย่างเช่น เกล็ดหิมะ ดูเหมือนจะมีระเบียบและมีความซับซ้อน แต่จริงๆ ก็ไม่ใช่ผลของการกระทำที่ชาญฉลาด[2] อีกฝ่ายก็อาจเถียงได้ว่า แม้ระเบียบและความซับซ้อนของเกล็ดหิมะอาจไม่ใช่การกระทำที่ชาญฉลาด แต่เหตุของมันก็อาจจะเป็นเช่นนั้น แม้นี้อาจปฏิเสธเหตุผลของฮูม แต่จริงๆ ก็ยังเป็นเหตุผลวิบัติแบบการให้เหตุผลเป็นวง เพราะตัวข้อตั้งเองไม่ได้ให้เหตุผลที่เป็นอิสระจากข้อสรุป
ท้ายสุด ฮูมได้ให้เหตุผลจำนวนหนึ่งโดยระบุผลที่ไม่ได้ตั้งใจของแนวเทียบ (unintended consequences) เช่น สิ่งของต่างๆ เช่นนาฬิกา มักจะมาจากแรงงานของกลุ่มบุคคล ดังนั้น ถ้าเหตุผลโดยแนวเทียบใช้ได้ พระเป็นเจ้าก็ควรจะมีหลายพระองค์ (พหุเทวนิยม)[2]
แนวเทียบเท็จ
[แก้]แนวเทียบเท็จ (false analogy) เป็นเหตุผลวิบัติอรูปนัย (informal fallacy) หรือเป็นแนวเทียบที่ผิดๆ การใช้เหตุผลโดยอาศัยแนวเทียบจะอ่อนกำลังลงถ้าปัจจัยต่างๆ ที่ระบุไว้ไม่ดีพอ คำว่า "false analogy" มาจากนักปรัชญาชาวอังกฤษจอห์น สจวรต์ มิลล์ ผู้น่าจะเป็นคนแรกๆ ที่ตรวจสอบการให้เหตุผลโดยแนวเทียบอย่างละเอียด[3]
ตัวอย่าง
[แก้]นี่เป็นตัวอย่างง่ายๆ
- ดาวเคราะห์ในสุริยจักรวาลโคจรรอบดาวฤกษ์
- อิเล็กตรอนโคจรรอบนิวเคลียสของอะตอม และอิเล็กตรอนก็สามารถกระโดดจากวงโคจรหนึ่งไปยังอีกวงโคจรหนึ่งโดยทันที
- ดังนั้น ดาวเคราะห์ในสุริยจักรวาล จึงสามารถกระโดดจากวงโคจรหนึ่งไปยังอีกวงโคจรหนึ่งโดยทันทีได้เช่นกัน
นี่เป็นแนวเทียบเท็จเพราะไม่ได้ใส่ใจความแตกต่างที่สำคัญระหว่างระบบสุริยะจักรวาลกับอะตอม ความต่างก็คือ
- อิเล็กตรอนมีระดับพลังงานที่แน่นอน แต่ดาวเคราะห์ไม่มี
- อิเล็กตรอนสามารถได้พลังงานเพิ่ม แต่ดาวเคราะห์ไม่สามารถ
- อิเล็กตรอนมีแรงดึงดูดกับนิวเคลียสของอะตอมเป็นแรงแม่เหล็กไฟฟ้า แต่ดาวเคราะห์มีแรงดึงดูดกับดาวฤกษ์เป็นแรงโน้มถ่วง
- อิเล็กตรอนจะหมุนเป็นเกลียวเข้าไปยังนิวเคลียสเมื่อเร่งความเร็วหรือเปลี่ยนเส้นทาง แต่ดาวเคราะห์ไม่เป็นเช่นนั้น
- โมเดลการโคจรของอิเล็กตรอนดั้งเดิมที่ใช้ในการเปรียบเทียบ ได้เลิกใช้ไปแล้วเพราะไม่ตรงกับความจริง โดยปัจจุบันใช้เป็นเพียงโมเดลของอะตอมแบบให้อธิบายได้ง่ายๆ
เชิงอรรถและอ้างอิง
[แก้]- ↑ "analogy, argument by", Longdo Dict, อังกฤษ-ไทย: ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน, สืบค้นเมื่อ 2023-11-28,
การให้เหตุผลโดยอาศัยแนวเทียบ [ปรัชญา ๒ มี.ค. ๒๕๔๕]
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 2.7 2.8 Baronett, Stan (2008). Logic. Upper Saddle River, NJ: Pearson Prentice Hall. pp. 321–325. ISBN 9780131933125.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 3.7 Salmon, Merrilee (2012), "Arguments from analogy", Introduction to Logic and Critical Thinking, Cengage Learning, pp. 132–142, ISBN 1-133-71164-2
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 Gensler, Harry J. (2003). Introduction to Logic. New York, NY: Routledge. pp. 333–4.