เหตุผลวิบัติเพราะการคืนสภาพ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เหตุผลวิบัติเพราะการคืนสภาพ[1] (อังกฤษ: regression fallacy, regressive fallacy) เป็นเหตุผลวิบัติอรูปนัย ที่คิดว่าสภาพผิดปกติที่กลับคืนเป็นปกติ เป็นเพราะได้ทำสิ่งที่เป็นเหตุให้คืนสภาพ ไม่ได้พิจารณาว่าอาจเป็นการขึ้นๆ ลงๆ ตามธรรมชาติ นี่เป็นรูปแบบโดยเฉพาะอย่างหนึ่งของเหตุผลวิบัติแบบ post hoc ergo propter hoc (เพราะเกิดหลังเหตุการณ์นี้ เหตุการณ์นี้จึงเป็นเหตุ)

รายละเอียด[แก้]

ค่าต่างๆ รวมทั้งคะแนนการเล่นกอล์ฟ หรือความปวดหลังเรื้อรัง ปกติจะขึ้นๆ ลงๆ เองตามธรรมชาติ และโดยทั่วไปจะกลับคืนสู่ค่าเฉลี่ย (regress toward the mean) ความบกพร่องทางตรรกะอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อประสบค่าที่ผิดปกติ เช่น ได้คะแนนสูง แล้วคิดว่าค่านี้ก็จะดำเนินต่อไปเหมือนกับเป็นอะไรที่เกิดขึ้นโดยเฉลี่ย (ดู Representativeness heuristic) มนุษย์มีโอกาสจะทำการต่างๆ สูงเมื่อค่าที่แปรปรวนไปจากปกติอยู่ในจุดสูงสุดหรือต่ำสุด หลังจากที่ค่ากลับคืนสู่ปกติ ก็จะเชื่อว่าสิ่งที่ได้ทำเป็นเหตุให้เปลี่ยนแม้จริงๆ จะไม่ใช่เหตุ

เซอร์ฟราซิส กอลตัน ได้เริ่มใช้คำว่า regression ในงานศึกษาปี 1885 ชื่อว่า "Regression Toward Mediocrity in Hereditary Stature" (การกลับคืนสู่สภาพธรรมดาของความสูงทางกรรมพันธุ์) เขาได้แสดงว่าความสูงของลูกที่เกิดจากพ่อแม่ซึ่งสูงมากหรือเตี้ยมาก มักจะอยู่ใกล้ค่าเฉลี่ยของประชากรยิ่งกว่า จริงๆ แล้ว ในสถานการณ์ที่ค่าตัวแปรสองตัวไม่มีสหสัมพันธ์ที่สมบูรณ์ ค่าพิเศษที่พบในตัวแปรหนึ่งก็อาจจะไม่พบในอีกตัวแปรหนึ่ง สหสัมพันธ์ที่ไม่สมบูรณ์ระหว่างพ่อแม่กับลูก (เพราะความสูงไม่ได้ขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์เพียงอย่างเดียว) จึงหมายความว่า การแจกแจงความสูงของลูกๆ จะมีศูนย์กลางอยู่ที่ระหว่างความสูงเฉลี่ยของพ่อแม่ กับความสูงเฉลี่ยของประชากรทั้งหมด ดังนั้น แม้ความสูงของลูกคนเดียวยังอาจจะพิเศษยิ่งกว่าพ่อแม่ แต่ก็มีโอกาสน้อย

ตัวอย่าง[แก้]

  • เมื่อเขาเจ็บยิ่งขึ้น ก็เลยไปหาหมอ หลังจากนั้น ก็เจ็บน้อยลงไปหน่อย ดังนั้น การไปหาหมอจึงมีประโยชน์
การกลับคืนสู่ค่าเฉลี่ยจริงๆ อธิบายความเจ็บที่ลดลงไปหน่อยหลังจากที่แย่ลงได้ดีกว่า การคิดว่าหมอได้แก้ความเจ็บ จึงยังอาจเป็นเหตุผลที่ไม่ดี
  • เมื่อเทอมที่แล้ว นักเรียนเรียนได้แย่มาก ผมก็เลยลงโทษเขา เทอมนี้เขาจึงเรียนได้ดีขึ้น จึงชัดเจนว่า การลงโทษช่วยปรับปรุงเกรดของนักเรียน
การกระทำที่พิเศษมักจะตามมาด้วยการกระทำที่ปกติกว่า ดังนั้น เมื่อการกระทำเปลี่ยนไป การคืนสภาพสู่ค่าเฉลี่ยจึงอาจเป็นคำอธิบายที่ดี จริงๆ แล้วงานทดลองบางอย่างได้แสดงแล้วว่า ความเอนเอียงอย่างเป็นระบบเพื่อการลงโทษและต่อต้านการให้รางวัล เกิดขึ้นก็เพราะใช้เหตุผลที่คล้ายๆ กันกับตัวอย่างนี้[2]
  • อุบัติเหตุได้ลดลงหลังจากติดตั้งกล้องจับความเร็ว ดังนั้น กล้องจับความเร็วจึงทำให้การจราจรปลอดภัยยิ่งขึ้น
ปกติกล้องจับความเร็วมักจะติดตั้งหลังจากที่มีอุบัติเหตุมากเป็นพิเศษ ดังนั้น จริงๆ แล้ว อุบัติเหตุก็จะลดลงเอง คือกลับคืนสู่ค่าเฉลี่ยต่อจากนั้น แต่ผู้สนับสนุนให้ใช้กล้องจับความเร็ว ก็จะให้เครดิตแก่กล้องโดยที่ไม่ตรวจสอบแนวโน้มโดยทั่วไป

นักกีฬาอเมริกันบางพวกเชื่อว่า การได้ขึ้นปกนิตยสาร Sports Illustrated จะนำโชคร้ายมาให้ แต่นี่เป็นผลของการกลับคืนสู่ค่าเฉลี่ย คือ นักกีฬาปกติจะได้ขึ้นปกก็ต่อเมื่อแข่งกีฬาได้ดีมาก ต่อจากนั้น ก็จะแข่งได้แย่ลงโดยกลับคืนสู่ค่าเฉลี่ย การคิดว่าการขึ้นปกนำความโชคร้ายมาให้ จึงเป็นเหตุผลวิบัติเพราะการกลับคืนสภาพ[3]

การใช้เป็นเหตุผลอย่างผิดๆ[แก้]

ในนัยตรงกันข้าม การไม่พิจารณาคำอธิบายที่ดีก็อาจก่อผลลบ เช่น

หลังจากที่ฝ่ายสัมพันธมิตรได้บุกโจมตีหาดนอร์ม็องดีโดยเป็นการเปิดแนวรบหลักที่สอง เยอรมนีก็ควบคุมยุโรปได้น้อยลง จึงชัดเจนว่า การร่วมมือกันระหว่างสัมพันธมิตรกับสหภาพโซเวียต ได้ทำให้เยอรมนีถอยทัพ

การประเมินที่ผิดพลาด: "เพราะการบุกตอบโต้ได้เกิดขึ้นหลังจากที่เยอรมนีได้รบชนะยึดพื้นที่ได้มากที่สุด การกลับคืนสู่ค่าปกติจึงอธิบายการถอยทัพเยอรมันจากพื้นที่ที่ยึดได้ คือเป็นการขึ้นๆ ลงๆ โดยสุ่ม ซึ่งจริงๆ ก็อาจเกิดขึ้นได้โดยสหภาพโซเวียตไม่ต้องร่วมมือกับสัมพันธมิตร" แต่การวิเคราะห์ก็ไม่ถูกต้องในกรณีนี้ เพราะอำนาจทางการปกครองอาณาเขตไม่ได้ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์สุ่ม จึงทำให้คำอธิบายการกลับคืนสู่ค่าเฉลี่ยใช้ไม่ได้โดยทั่วไป

การใช้คำอธิบายเรื่องการกลับคืนสู่ค่าเฉลี่ยอย่างผิดๆ จึงอาจชี้เหตุการณ์ทั้งหมดให้เป็นเรื่องไร้เหตุไร้ผล คือ จะจัดเหตุการณ์ทุกอย่างให้เป็นเรื่องสุ่ม เพราะต้องเป็นเช่นนั้น จึงจะใช้คำอธิบายเรื่องการกลับคืนสู่ค่าเฉลี่ยได้

อ้างอิง[แก้]

  1. "regression", Longdo Dict, อังกฤษ-ไทย: ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน, สืบค้นเมื่อ 2023-12-01, ๑. การถดถอย, การถอยกลับ, การกลับคืน, การถอยหลัง๒. การทุเลา [ มีความหมายเหมือนกับ abatement; subsidence ๒ ]๓. การเสื่อม [ มีความหมายเหมือนกับ degeneration; depravation; deterioration; retrogression ]๔. การฝ่อ [แพทยศาสตร์ ๖ ส.ค. ๒๕๔๔]
  2. Schaffner, 1985; Gilovich, 1991 pp. 27-28
  3. Gilovich, 1991 pp. 26-27; Plous, 1993 p. 118

ข้อมูลอื่นๆ[แก้]