โลกที่สาม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แบบจำลอง "สามโลก" ในยุคสงครามเย็น ค.ศ. 1975
  โลกที่หนึ่ง: สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร และชาติพันธมิตร
  โลกที่สอง: สหภาพโซเวียต, จีน และชาติพันธมิตร
  โลกที่สาม: ชาติเป็นกลาง และประเทศไม่สังกัดพันธมิตรใด

คำว่า "โลกที่สาม" กำเนิดระหว่างสงครามเย็น นิยามประเทศที่ไม่ฝักใฝ่ทั้งนาโตหรือกลุ่มคอมมิวนิสต์ สหรัฐ แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ชาติยุโรปตะวันตกและพันธมิตรเป็นโลกที่หนึ่ง ส่วนสหภาพโซเวียต จีน คิวบาและพันธมิตรเป็นโลกที่สอง คำนี้เป็นวิธีจำแนกประเทศในโลกออกเป็นสามกลุ่มใหญ่ ๆ โดยยึดการแบ่งแยกทางการเมืองและเศรษฐกิจ

ปกติโลกที่สามถูกมองว่ารวมหลายประเทศอดีตอาณานิคมในทวีปแอฟริกา ละตินอเมริกา โอเชียเนียและเอเชีย บางครั้งถือเอาสมนัยกับประเทศในขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ในทฤษฎีพึ่งพาของนักคิดอย่างราอูล พรีบิช (Raúl Prebisch), วัลเทอร์ รอดนีย์ (Walter Rodney), ทีโอโตนีโอ ดอส ซานโตส (Theotonio dos Santos) และอังเดร กุนเดอร์ แฟรงค์ โลกที่สามเชื่อมกับการแบ่งเศรษฐกิจเป็นประเทศ "ขอบนอก" ในระบบโลกที่มีประเทศ "แกน" ครอบงำ

เนื่องจากประวัติศาสตร์ความหมายและบริบทที่วิวัฒนาอย่างซับซ้อน จึงไม่มีบทนิยามของ "โลกที่สาม" อย่างชัดเจนหรือเป็นที่ยอมรับ บางประเทศในกลุ่มคอมมิวนิสต์ เช่น คิวบา ถือว่าเป็น "โลกที่สาม" บ่อยครั้ง เพราะประเทศโลกที่สามยากจนทางเศรษฐกิจ ไม่เป็นอุตสาหกรรม จึงเป็นคำเหมาเรียกประเทศยากจนว่า "ประเทศโลกที่สาม" กระนั้น คำว่า "โลกที่สาม" ยังมักใช้รวมประเทศอุตสาหกรรมใหม่อย่างบราซิล อินเดียและจีนซึ่งปัจจุบันเรียกเป็นส่วนหนึ่งของ BRIC ในอดีต ประเทศยุโรปบางประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดและประเทศเหล่านี้ส่วนน้อยที่ร่ำรวยมาก ได้แก่ ไอร์แลนด์ ออสเตรีย สวีเดน ฟินแลนด์และสวิสเซอร์แลนด์

ในช่วงทศวรรษหลังนับแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตและการสิ้นสุดของสงครามเย็น มีการใช้คำว่า "โลกที่สาม" แทนประเทศด้อยพัฒนา โกลบอลเซาท์ และประเทศกำลังพัฒนา แต่มโนทัศน์ดังกล่าวล้าสมัยแล้วในปีล่าสุดเพราะไม่เป็นตัวแทนของสถานภาพการเมืองหรือเศรษฐกิจของโลกอีกต่อไป