โยนิโสมนสิการ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

โยนิโสมนสิการ (บาลี: โยนิโสมนสิการ yonisomanasikāra, คำอ่าน: โยนิโสมะนะสิกาน) หมายถึง การทำในใจให้ดีละเอียดถี่ถ้วน กล่าวคือ การพิจารณาอย่างรอบคอบถี่ถ้วน ทางพุทธศาสนาถือว่ามีคุณค่าเท่ากับความไม่ประมาทหรือ "อัปมาท" ซึ่งเป็นแหล่งรวมแห่งธรรมฝ่ายดีหรือ "กุศลธรรม" ทั้งปวง ดังปรากฏในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๙ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ข้อ ๔๖๔ หน้า ๑๒๙ นอกจากนั้น ยังจัดเป็นธรรมะข้อหนึ่งในกลุ่มธรรมที่เป็นไปเพื่อความเจริญด้วยปัญญา และเป็นธรรมะมีอุปการะมากแก่มนุษย์ดังพรรณาในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๒ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ข้อ ๒๖๘-๙ หน้า ๓๓๒[1]

การใช้ความคิดถูกวิธี คือ การกระทำในใจโดยแยบคาย มองสิ่งทั้งหลายด้วยความคิดพิจารณาสืบค้นถึงต้นเค้า สาวหาเหตุผลจนตลอดสายแยกแยะออกพิเคราะห์ดูด้วยปัญญาที่คิดเป็นระเบียบและโดยอุบายวิธี ให้เห็นสิ่งนั้นๆ หรือปัญหานั้นๆ ตามสภาวะและตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย [2]เช่น

  • คิดจากเหตุไปหาผล
  • คิดจากผลไปหาเหตุ
  • คิดแบบ แยกแยะองค์ประกอบ
  • คิดแบบ มองเป็นองค์รวม
  • คิดแบบเห็น ความสัมพันธ์ต่อเนื่องเป็นลูกโซ่
  • คิดเห็น องค์ประกอบที่มาทำให้เจริญ
  • คิดเห็น องค์ประกอบที่มาทำให้เสื่อม
  • คิดเน้น เฉพาะจุดที่ทำให้เกิด
  • คิดเน้น สิ่งที่มาตัดขาดให้ดับ
  • คิดเทียบเคียง อะไรเป็นไปได้ หรือเป็นไปไม่ได้

ในทางพระพุทธศาสนาได้แบ่งโยนิโสมนสิการทั้งหมด10อย่างด้วยกัน คือ

  • 1.วิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย (Inquiry) หรือวิธีคิดแบบอิทัปปัจจยตา คือการคิดวิเคราะห์ การพิจารณาว่า สิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี วิธีคิดแบบนี้อธิบายว่าสมมุติว่าทอดไข่เจียว ถ้ามีน้ำมันผลเป็นเช่นไร ไม่มีน้ำมันผลเป็นเช่นไร ใส่เกลือผลเป็นเช่นไร(เค็ม) ไม่ใส่เกลือผลเป็นเช่นไร ไฟแรงผลเป็นเช่นไร(ไหม้เร็วไหม้ง่าย) ไฟไม่แรงผลเป็นเช่นไร
  • 2.วิธีคิดแบบแยกส่วน (Analysis)หรือวิธีคิดแบบธาตุววัตถาน เป็นการคิดแบบสังเคราะห์ คือการคิดแบบแยกแยะองค์ประกอบ เช่นการพิจารณาว่า ร่างกายนี้ประกอบด้วยธาตุทั้ง4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ วิธีคิดแบบนี้อธิบายว่า รถยนต์ถ้าเราเอามาแยกส่วนเป็นชิ้น ก็จะเห็นว่ามีอะไรเป็นองค์ประกอบบ้าง เป็นการศึกษาและเทียบเคียงองค์ประกอบ ว่ามีลักษณะอย่างไร ทำด้วยอะไร แตกต่างกันอย่างไร มีหน้าที่อย่างไรเพื่อเข้าใจองค์ประกอบต่างๆให้ชัดเจน
  • 3.วิธีคิดแบบสามัญญลักษณะ (The Three Characteristic)หรือคิดแบบศึกษาปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ คือการพิจารณาว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่แปรเปลี่ยน ดับไป วิธีคิดแบบนี้อธิบายว่าสมมุติว่าวางปลาทอดไว้ ปลาจะค่อยๆเน่าในที่สุด หรือเมื่อสังเกตธรรมชาติ จะเห็นว่าฤดูกาลจะเปลี่ยนแปลงเป็นหน้าร้อน หน้าฝน หน้าหนาว ผู้คนจะเปลี่ยนแปลงจากเด็กเป็นวัยรุ่นเป็นผู้ใหญ่เป็นคนแก่ เป็นต้น
  • 4.วิธีคิดแบบอริยสัจ (The Four Noble Truths)คือวิธีการคิดแบบแก้ปัญหา แบบหาสาเหตุแห่งปัญหา โดยหาวิธีแก้ที่ต้นเหตุ เพื่อเข้าถึงการแก้ปัญหา คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
  • 5.วิธีคิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์ (Principle and Rational) คือการศึกษาเป้าหมายและวิธีการ ว่าวิธีการถูกต้องต่อการที่จะทำให้เป้าหมายบรรลุผลหรือไม่. อธิบายว่าอรรถหมายถึงหัวข้อธรรม ประโยชน์ เป้าหมาย ผล เช่น อิทธิบาท มรรค โพชฌงค์ ทิฏฐธัมมิกกัตถประโยชน์ เป็นต้น , ธรรมหมายถึงข้อปฏิบัติ วิธีการ หลักการ เหตุหรือปัจจัย เช่น ฉันทะ สัมมาทิฏฐิ สติ อุฏฐานสัมปทา เป็นต้น
  • 6.วิธีคิดแบบพิจารณาคุณโทษและทางออก (Reward and Punishment Approach and Avoidance)หรือการพิจารณาข้อดี(อายโกศล) ข้อเสีย(อปายโกศล) และอุบายการใช้ประโยชน์จากข้อดี ข้อเสียนั้น(อุปายโกศล) วิธีคิดแบบนี้อธิบายว่าข้อดีของคนตัวใหญ่คือมีกำลังมาก ข้อเสียคือน้ำหนักเยอะไม่คล่องตัว ข้อดีของคนตัวเล็กคือคล่องแคล่ว ข้อเสียของคนตัวเล็กคือมีกำลังน้อย การใช้ประโยชน์เวลานำมาแข่งขันกีฬาก็ให้อยู่ในตำแหน่งหน้าที่ที่เหมาะสม ในทุกสิ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวเองด้วยกันทั้งนั้น ในคุณลักษณะตรงข้ามกันให้นำจุดแข็งของด้านนั้นเพื่อเอาชนะจุดอ่อนของอีกด้าน เช่นเอาข้อดีของสั้นเอาชนะข้อเสียของยาวเป็นต้น และในข้อเสียบ้างครั้งก็ใช้ประโยชน์ได้ เช่น พิษงูก็ยังนำไปทำเซรุ่มได้ ดังคำกล่าวที่ว่า ไม่มีสิ่งใดไร้ประโยชน์ มีเพียงสิ่งที่ไม่อยู่ในที่ๆเหมาะสมกับตัวเองเท่านั้น
  • 7.วิธีคิดแบบคุณค่าแท้คุณค่าเทียม (Real Value and Unreal Value)หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าวิธีคิดแบบปัจจเวกขณวิธี คือการพิจารณาว่าอะไรคือแก่น อะไรคือเปลือก อะไรคือสิ่งประดับ อะไรคือกาฝาก
  • 8.วิธีคิดแบบเร้าคุณธรรม (Virture and stimulation)หรือวิธีคิดแบบอุปปาทกมนสิการ แปลว่าการคิดอย่างสร้างสรรค์ คือการคิดสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นในสิ่งต่างๆ การคิดบวก วิธีคิดแบบนี้อธิบายว่าปากกาด้ามหนึ่งใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง ใช้เป็นตะเกียบได้หรือเปล่า หรือนำมาเป็นแกนกังหันลมกระดาษ(คิดพลิกแพลง) แนวคิดนี้นำไปดัดแปลงเป็นอะไรร่วมกับอะไรได้บ้างหรือใช้กับอะไรได้บ้าง เช่น พระอานนท์เห็นคันนาชาวมคธแล้วนำมาออกแบบเป็นขัณฑ์ของจีวร (คิดประยุกษ์)สมมุติตอนนั้นถ้าแนวคิดเป็นใบไม้แทนคันนาจะเป็นเช่นไร หรือสถานการณ์แบบนี้ควรนำหลักธรรมใดมาใช้ในการดำเนินชีวิตดี รวมถึงการคิดหาข้อบกพร่องหรือข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น และหาวิธีแก้ไข เพื่อพัฒนาปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น และคิดในแง่บวก เช่น เกิดอุบัติเหตุแขนเจ็บ ก็คิดในแง่ดีว่าดีกว่าหัวเจ็บ อาจตายได้ เป็นต้น หรือวันนี้เราสามารถทำอะไรให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นได้บ้าง เราสามารถทำอะไรให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่นให้ยิ่งขึ้นไปอีกได้บ้าง
  • 9.วิธีคิดแบบปัจจุบันขณะ (Present Thought)เป็นกระบวนการคิดที่จะค้นหาความจริงจากประสบการณ์ตรงผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ผ่านการมีสติในปัจจุบันจนเกิดความรู้จริงขึ้น เช่นอาหารนี้อร่อยหรือไม่อร่อยก็ต้องชิมดู ซึ่งแตกต่างจากโยนิโสมนสิการข้ออื่นที่เน้นกระบวนการคิด ส่วนโยนิโสมนสิการข้อนี้เน้นประสบการณ์ตรง ซึ่งทำให้เกิดความสมบูรณ์ ในข้ออื่นจะเกี่ยวข้องกับอดีตอนาคตผ่านการพิจารณาเหตุปัจจัย แต่ข้อนี้จะเน้นอยู่กับปัจจุบัน ทำให้เกิดความสมบูรณ์ในกระบวนการพิจารณาอย่างรอบด้านครบถ้วน
  • 10.วิธีคิดแบบวิภัชชวาที (Well-Rounded Thought)หรือการคิดแบบแยกแยะเทียบเคียงประเด็น คือการคิดแบบองค์รวมโดยไม่เหมารวม คือการพิจารณาสิ่งต่างๆเป็นกรณีๆไป หรือการคิดแบบเทียบเคียงความจริงเฉพาะหน้า คือการพิจารณาถึงความเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้นั่นเอง เป็นการพิจารณาความเข้ากันได้หรือเข้ากันไม่ได้ของข้อมูล การวิเคราะห์เหตุการณ์ต่างๆ วิธีคิดแบบนี้อธิบายว่าสมมุติเกิดการฆาตกรรมขึ้น ฝ่ายสืบสวนและฝ่ายนิติวิทยาศาสตร์ ค้นพบหลักฐานที่มีความจริง ถ้ามีข้อสันนิษฐานอะไรที่ไม่ตรงกับหลักฐานที่มีย่อมใช้ไม่ได้ เมื่อเจอความจริงสองอย่างที่ขัดแย้งกันก็ต้องพิจารณาว่าอันไหนที่จริงหรือจริงทั้งคู่แต่มีอะไรถึงขัดแย้งกัน หรือควรสืบสวนใหม่หมดเพื่อได้คำตอบที่ถูกต้องชัดเจน ไม่มีความจริงใดขัดแย้งกัน, เปรียบได้กับความจริงของโลก ที่เราแบ่งการเข้าใจความจริงของโลกเป็นกลุ่มย่อยๆ และเมื่อนำความจริงทั้งหมดมารวมกันก็จะได้ความจริงของสรรพสิ่งที่สมบูรณ์ในที่สุด เมื่อข้อความรู้ในความจริงขัดแย้ง ก็เข้าไปศึกษาว่าควรแก้ไขหรือตัดออก ซึ่งอาจเกิดความรู้ความเข้าใจในความจริงใหม่ๆได้ เป็นการเข้าใจอดีต เข้าใจปัจจุบัน เข้าใจอนาคต เป็นการเข้าใจความจริงทุกสรรพสิ่งในภาพรวมทั้งหมด เปรียบได้กับเกมซูโดกุ ที่ตัวเลขต้องไม่ขัดแย้งกัน


  • วิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย จัดเป็นการคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytical Thinking)
  • วิธีคิดแบบแยกส่วน จัดเป็นการคิดเชิงสังเคราะห์ (Synthesis Thinking)
  • วิธีคิดแบบสามัญญลักษณะ จัดเป็นการคิดเชิงอนาคต ( Futuristic Thinking )
  • วิธีคิดแบบอริยสัจ จัดเป็นการคิดเชิงบูรณาการ (Integrative Thinking)
  • วิธีคิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์ จัดเป็นการคิดเชิงกลยุทธ (Strategic Thinking)
  • วิธีคิดแบบพิจารณาคุณโทษและทางออก จัดเป็นการคิดเชิงประยุกต์ (Applicative Thinking)
  • วิธีคิดแบบคุณค่าแท้คุณค่าเทียม จัดเป็นการคิดเชิงวิพากย์ (Critical Thinking)
  • วิธีคิดแบบเร้าคุณธรรม จัดเป็นการคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative thinking)
  • วิธีคิดแบบปัจจุบัน จัดเป็นการคิดเชิงมโนทัศน์ (Conceptual Thinking)
  • วิธีคิดแบบวิภัชชวาที จัดเป็นการคิดเชิงเปรียบเทียบ (Comparative thinking)

ศัพทมูลและนิยาม[แก้]

คำ "โยนิโสมนสิการ" นั้นประกอบด้วยคำสองคำ คือ[3]

  • "โยนิโส" มาจาก "โยนิ" แปลว่า เหตุ ต้นเค้า แหล่งเกิด ปัญญา อุบาย วิธี ทาง
  • "มนสิการ" (จาก มนสิ (สัตตมีวิภัตติของ มนสฺ (ใจ)) + การ (การทำ) (จาก กรฺ ธาตุ + -ณ ปัจจัย)) หมายถึง การทำในใจ การคิด คำนึง นึกถึง ใส่ใจ

ดังนั้น "โยนิโสมนสิการ" จึงหมายถึง การทำในใจให้แยบคาย หรือ การพิจารณาโดยแยบคาย กล่าวคือ ความเป็นผู้ฉลาดในการคิด คิดอย่างถูกวิธีถูกระบบ พิจารณา ไตร่ตรองสาวไปจนถึงสาเหตุหรือต้นตอของเรื่องที่กำลังคิด คือคิดถึงรากถึงโคนนั่นเอง แล้วประมวลความคิดรอบด้านจนกระทั่งสรุปออกมาได้ว่าสิ่งนั้นควรหรือไม่ควร ดีหรือไม่ดี เป็นวิถีทางแห่งปัญญา เป็นธรรมสำหรับกลั่นกรองแยกแยะข้อมูลหรือแหล่งข่าวหรือที่เรียก "ปรโตโฆสะ" อีกชั้นหนึ่ง กับทั้งเป็นบ่อเกิดแห่งความคิดชอบหรือ "สัมมาทิฐิ" ทำให้มีเหตุผล และไม่งมงาย [4]

       คัมภีร์ในพระไตรปิฎก ชั้นอรรถกถาและฎีกาได้แสดงไวพจน์แจกแจงความหมายในแง่ต่าง ๆ ของโยนิโสมนสิการว่า
  • "อุบายมนสิการ" เป็น การคิดหรือพิจารณาโดยอุบาย คือ การคิดอย่างมีวิธีหรือถูกวิธี ซึ่งหมายถึง การเข้าถึงความจริง สอดคล้องกับแนวสัจจะ ซึ่งทำให้รู้สภาวลักษณะและสามัญลักษณะของสิ่งทั้งหลาย
  • "ปถมนสิการ" เป็น การคิดถูกทาง ต่อเนื่องเป็นลำดับ หมายถึง ความคิดที่เป็นระเบียบตามหลักเหตุผล ไม่ยุ่งเหยิงสับสน จิตไม่แว๊บติดพันในเรื่องนี้ แต่เดี๋ยวกลับเตลิดไปคิดอีกเรื่องหนึ่ง จิตยุ่งเหยิงนี้กระโดดไปมา ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน แต่รวมทั้งความสามารถในการชักความนึกคิดไปสู้แนวทางที่ถูกต้อง
  • "การณมนสิการ" เป็น การคิดอย่างมีเหตุผล เป็นการสืบค้นตามแนวความสัมพันธ์สืบทอดแห่งเหตุปัจจัย พิจารณาสืบสาวหาสาเหตุ ให้เข้าใจถึงต้นเค้า หรือแหล่งที่มาซึ่งส่งผลต่อเนื่องตามลำดับ
  • อุปปาทกมนสิการ การคิดการพิจารณาให้เกิดกุศลธรรม เช่น การพิจารณาที่ทำให้มีสติ หรือทำให้จิตใจเข้มแข็งมั่นคง เป็นต้น

ไขความทั้ง 4 ข้อนี้ เป็นเพียงการแสดงลักษณะด้านต่างๆ ของความคิดแบบโยนิโสมนสิการ ซึ่งการเกิดในแต่ละครั้ง อาจมีลักษณะครบทั้ง 4 ข้อ หรือเกิดครบทั้งหมด หรือเขียนลักษณะทั้ง 4 ข้อนี้สั้นๆ ได้ว่า คิดถูกวิธี คิดมีระเบียบ คิดมีเหตุผล คิดเร้ากุศล[5]

คุณค่า[แก้]

โยนิโสมนสิการนั้น ทางพุทธศาสนาถือว่ามีคุณค่าเท่ากับความไม่ประมาทหรือ "อัปมาท" ซึ่งเป็นแหล่งรวมแห่งธรรมฝ่ายดีหรือ "กุศลธรรม" ทั้งปวง ดังปรากฏในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๙ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ข้อ ๔๖๔ หน้า ๑๒๙ นอกจากนั้น ยังจัดเป็นธรรมะข้อหนึ่งในกลุ่มธรรมที่เป็นไปเพื่อความเจริญด้วยปัญญา และเป็นธรรมะมีอุปการะมากแก่มนุษย์ดังพรรณาในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๒ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ข้อ ๒๖๘-๙ หน้า ๓๓๒[1]

นอกจากนี้ ยังมีคำพรรณนาคุณของโยนิโสมนสิการอีกมาก เช่น เป็นส่วนหนึ่งที่ให้เกิดความเห็นที่ถูกต้อง เป็นเครื่องขจัดความลังเลสงสัย เป็นองค์ประกอบของความเป็นพระอริยบุคคลชั้นแรกหรือ "โสตาปัตติยังคะ" อันแสดงให้เห็นว่าพุทธศาสนาส่งเสริมโยนิโสมนสิการว่าจำเป็นสำหรับทุกคน[1]

เชิงอรรถ[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๔๘ : ๕๘๗.
  2. พจนานุกรมพุทธศาสตร ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตโต) : Yonisomanasikàra (S.V.2–30; A.I.11–31; It.9.)
  3. พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), ๒๕๔๖ : ๖๖๙-๖๗๐.
  4. พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช), ๒๕๔๘ : ...
  5. reasoned attention; systematic attention; genetical reflection; analytical reflection, พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต). พุทธธรรม. (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2546), หน้า 670-671

อ้างอิง[แก้]