ส.ค.ส. พระราชทาน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ส.ค.ส. พระราชทานปี พ.ศ. 2559 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ส.ค.ส. พระราชทาน เป็นบัตรส่งความสุขซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงประดิษฐ์ขึ้นด้วยพระองค์เอง[ต้องการอ้างอิง] เพื่อพระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยเนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ มีขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

รูปแบบและการจัดทำ[แก้]

พระมหากษัตริย์จะพระราชทานพรปีใหม่ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีโทรทัศน์ทุกสถานี โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรจะทรงปลีกเวลาจากพระราชกรณียกิจมาปรุแถบโทรพิมพ์ (เทเล็กซ์) พระราชทานพรปีใหม่แก่เจ้าหน้าที่ผู้ถวายงานโดยทรงใช้รหัสแทนพระองค์ว่า "กส. 9" เช่นเดียวกับที่ทรงใช้ติดต่อทางวิทยุสื่อสาร ดังที่ทรงระบุท้ายโทรพิมพ์ว่า "กส. 9 ปรุ" ส.ค.ส. พระราชทานที่เป็นโทรพิมพ์เหล่านี้เริ่มเผยแพร่สู่สาธารณชน เมื่อปี พ.ศ. 2530[ต้องการอ้างอิง]

เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น จึงทรงเริ่มต้นประดิษฐ์ ส.ค.ส. พระราชทานด้วยคอมพิวเตอร์ส่วนพระองค์เมื่อปี พ.ศ. 2531[1] โดยทรงพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ขาวดำ และโปรดให้โทรสาร (แฟกซ์) ไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ข้อความใน ส.ค.ส. พระราชทานแต่ละปีจะประมวลขึ้นจากเหตุการณ์บ้านเมือง เพื่อสะท้อนปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่ประเทศไทยต้องประสบในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ในภายหลัง หนังสือพิมพ์รายวันจึงนิยมนำ ส.ค.ส. พระราชทาน ลงตีพิมพ์ในฉบับเช้าวันที่ 1 มกราคม

นับแต่ทรงใช้คอมพิวเตอร์ประดิษฐ์ ส.ค.ส. พระราชทาน ทรงเปลี่ยนแปลงคำลงท้ายของ ส.ค.ส. พระราชทาน เป็น "ก.ส. 9 ปรุง" เนื่องจากทรงเปลี่ยนจากการ "ปรุ" ด้วยโทรพิมพ์ เป็นการ "ปรุง" ด้วยคอมพิวเตอร์ ถัดจากนั้น จะทรงระบุวันและเวลาที่ทรงประดิษฐ์ขึ้น เป็นรูปแบบเฉพาะ[ต้องการอ้างอิง]

หลังจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงพระราชทาน ส.ค.ส. เช่นเดียวกัน แต่ได้พระราชทาน ส.ค.ส. ในรูปแบบบัตรพระราชทานพรแทน

วันพระราชทาน[แก้]

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรจะพระราชทาน ส.ค.ส. ในวันสิ้นปี (31 ธันวาคม) ของทุกปี จนถึงปี พ.ศ. 2559 แต่มิได้พระราชทานสำหรับปี พ.ศ. 2548 เพราะเกิดแผ่นดินไหวในมหาสมุทรอินเดีย[2] โดยกำหนดเวลาพระราชทานไว้ที่ประมาณ 20:00 น. และออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ทุกช่องผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยโดยสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 เอ็มคอต เอชดีเป็นแม่ข่าย

เช่นเดียวกับในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระราชทานในวันสิ้นปีเช่นกัน และกำหนดเวลาและช่องออกอากาศเหมือนเดิม โดย ช่อง ๗ เอชดี เป็นแม่ข่าย

รูปแบบวันที่[แก้]

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงใช้วันที่ขนาดย่อดังนี้

  • ว เป็น วันที่
  • ช เป็น เวลาเป็นชั่วโมง
  • น เป็น เวลาเป็นนาที
  • ด เป็นเดือน
  • ป เป็น ปี

โดยทรงนำมาวางดังนี้ วว ชช นน ด.ด. ปปปป

ภายหลังพระองค์ทรงปรับปรุงเรียงใหม่อีกครั้งโดยเรียงเป็น ววชชนน ด.ด. ปป ใช้ใน ส.ค.ส. พระราชทานปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา

ผู้จัดพิมพ์[แก้]

อนึ่ง ส.ค.ส. พระราชทานตั้งแต่ พ.ศ. 2549 เป็นต้นมาเป็นภาพสี และคำลงท้ายของมีข้อความ "พิมพ์ที่โรงพิมพ์สุวรรณชาด ท.พรหมบุตร, ผู้พิมพ์โฆษณา" (ใน ส.ค.ส. ปี 2549 - 2557) "Printed at the Suvarnnachad, D.Brahmaputra, Publisher" (ใน ส.ค.ส. ปี 2549, 2551 - 2557) "Printed at the Suvarnnachad Publishing, C.Brahmaputra, Publisher" (ใน ส.ค.ส. ปี 2550) และ "มหาวิทยาลัยปูทะเลย์ มิถิลา"(ใน ส.ค.ส. ปี 2558-2559) เช่นเดียวกับ กรอบของ ส.ค.ส. เป็นภาพใบหน้าคนเล็ก ๆ เรียงกัน ด้านซ้ายและด้านขวาเรียงกันด้านละ 3 แถว ส่วนด้านบนและด้านล่าง เรียงกันด้านละ 2 แถว ทุกหน้า มีแต่รอยยิ้ม

การเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์[แก้]

รูปแบบที่เปลี่ยนใหม่ เริ่มจากเวลาเป็นชั่วโมง เวลาเป็นนาที แล้วจึงเป็น วัน เดือน และปี ตามลำดับ นอกจากนี้ ตัวเลขที่ประทับอยู่มุมขวาตอนล่างของพระบรมฉายาลักษณ์ที่เป็น ส.ค.ส. ในปีดังกล่าว ซึ่งเป็นเวลาฉายภาพคือ 15 นาฬิกา 25 นาทีนั้น เป็นเวลาเดียวกับที่ตามหลังข้อความ ก.ส. 9 ปรุง อันเป็นเวลาที่นำภาพมาประดิษฐ์เป็น ส.ค.ส. ซึ่งเป็นไปไม่ได้ในเชิงเหตุผล ที่เวลาทั้งสองส่วนดังกล่าว จะเป็นเวลาเดียวกันพอดี[3]

อ้างอิง[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]