สุชาดา (ธิดาของเสนานีกุฎุมพี)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สุชาดา
นางสุชาดาขณะถวายข้าวมธุปายาส
นางสุชาดาขณะถวายข้าวมธุปายาส
ข้อมูลทั่วไป
สถานที่เกิดราชคฤห์ แคว้นมคธ
สถานที่บรรลุธรรมบ้านของตน
เอตทัคคะผู้ถึงสรณะก่อน
ฐานะเดิม
ชาวเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ
บิดาเสนานี/เสนียะ
สถานที่รำลึก
สถานที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ สถานที่ถวายข้าวมธุปายาส
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

สุชาดา (บาลี: Sujātā สุชาตา) กล่าวกันว่าเป็นผู้ถวายข้าวมธุปายาสแก่พระโคตมพุทธเจ้า สิ้นสุดระยะเวลา 6 ปีแห่งพรตนิยม เธอเชื่อแบบผิด ๆ ว่าพระองค์คือรุกขเทวดาที่บันดาลให้เธอมีบุตรสมปรารถนา ข้าวมธุปายาสนี้ทำให้พระองค์มีพละกำลังมากพอที่จะเจริญมัชฌิมาปฏิปทา เจริญฌาน และตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า[1][2][3]

นางสุชาดาเป็นอุบาสิกาคนแรกในพุทธศาสนา และพระพุทธเจ้าทรงยกย่องนางสุชาดาเป็นเอตทัคคะผู้ถึงสรณะก่อน[4]

ประวัติ[แก้]

ชีวิตตอนต้น[แก้]

นางสุชาดาเป็นธิดาของเสนานีกุฎุมพี[5] (อรรถกถาว่าเสนียะ) ในหมู่บ้านเสนานิคม ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม มีการสันนิษฐานถึงที่ตั้งของบ้านนางสุชาดาคือสถูปบ้านนางสุชาดาในหมู่บ้านพักเราร์ใกล้พุทธคยา[6] เมื่ออายุย่างเข้าสู่วัยสาวนางได้ทำพิธีบวงสรวงต่อเทพยดาที่สิงสถิต ณ ต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่งใกล้บ้านของนาง โดยได้ตั้งปณิธานความปรารถนาไว้ 2 ประการ คือ

  1. ขอให้ได้สามีที่มีบุญ มีทรัพยสมบัติ และชาติสกุลเสมอกัน
  2. ขอให้มีบุตรคนแรกเป็นชาย

ถ้าความปรารถนาทั้ง 2 ประการ สำเร็จสมบูรณ์แล้ว จะทำพลีกรรมแก่ท่านด้วยของอันมีมูลค่า 100,000 กหาปณะ

ครั้นกาลต่อมา ความปรารถนาของนางสำเร็จทั้งสองประการ โดยได้สามีเป็นเศรษฐีมีฐานะเสมอกัน และได้บุตรคนแรกเป็นชายนามว่า ยสะ นางได้ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปจนลูกชายแต่งงานแล้ว จึงปรารภที่จะทำพลีกรรมบวงสรวงสังเวยเทพยดาด้วยข้าวมธุปายาสเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้นางปุณณาทาสีสาวใช้ไปปัดกวาดทำความสะอาดบริเวณโคนต้นไทรนั้น

ถวายข้าวมธุปายาส[แก้]

นางสุชาดาพร้อมเหล่านางทาสีขณะถวายข้าวมธุปายาสพร้อมถาดทองคำ

ขณะนั้น พระโคตมโพธิสัตว์เลิกอัตตกิลมถานุโยค หันมาเสวยพระกระยาหารหวังจะบำเพ็ญเพียรทางจิต ประทับนั่งพักผ่อนที่ใต้ต้นไทรนั้น ผินพระพักตร์ทอดพระเนตรไปทางทิศตะวันออก มีพระรัศมีแผ่ซ่านออกจากพระวรกายเป็นปริมณฑลดูงามยิ่งนัก นางทาสีสาวใช้เห็นแล้วก็ตระหนักแน่ในจิตคิดว่า คงเป็นเทวดาเจ้า มานั่งคอยท่ารับเครื่องพลีกรรม จึงมิได้เข้าไปทำความสะอาดดังที่ตั้งใจมา รีบกลับไปแจ้งแก่นางสุชาดา โดยด่วน

ฝ่ายนางสุชาดาจึงรีบแต่งกายด้วยเครื่องอาภรณ์อันงดงามเป็นที่เรียบร้อยแล้วยกถาดข้าวมธุปายาสขึ้นทูลศีรษะ ออกจากบ้านพร้อมด้วยบริวารไปยังต้นไทรนั้น ครั้นได้เห็นพระโพธิสัตว์งดงามเช่นนั้น ก็เกิดโสมนัสยินดีสำคัญว่าเป็นรุกขเทวดามานั่งคอยรับเครื่องพลีกรรม จึงน้อมนำเข้าไปถวายพร้อมทั้งถาดทองคำ

เมื่อพระบรมโพธิสัตว์ทรงรับข้าวมธุปายาสแล้ว เสด็จไปประทับที่โคนต้นพระศรีมหาโพธิ์ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ทรงบำเพ็ญเพียรทางจิตและได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าในวันนั้น หลังจากได้ประทับเสวยวิมุติสุข คือสุขอันเกิดจากการตรัสรู้บริเวณใกล้ ๆ นั้นเป็นเวลา 7 สัปดาห์ รวม 49 วัน แล้วได้เสด็จไปแสดงธรรมโปรดปัญจวัคคีย์ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี

บรรลุโสดาบัน[แก้]

หลังจากยสะ บุตรชายคนโตได้บรรลุเป็นพระอรหันต์และอุปสมบทแล้ว พระพุทธเจ้าและพระสาวกรวมทั้งพระยสะได้ฉันภัตตาหารที่บ้านของนาง พระพุทธเจ้าแสดงพระธรรมเทศนาจบแล้วนางสุชาดาและอดีตภริยาของพระยสะได้บรรลุโสดาบันและถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะทั้งสองคน[7]

บั้นปลายชีวิต[แก้]

นางสุชาดาถึงแก่กรรมที่ใดและเมื่อไรไม่ปรากฏ แต่มีอายุสังขารมากพอสมควรแล้วก็ถึงแก่กรรม

อ้างอิง[แก้]

  1. Prasoon, Shrikant (2007). Knowing Buddha : [life and teachings]. [Delhi]: Hindoology Books. ISBN 9788122309638.
  2. Planet, Lonely; Blasi, Abigail (2017). Lonely Planet India (ภาษาอังกฤษ). Lonely Planet. ISBN 9781787011991.
  3. Dwivedi, Sunita; Lama, Dalai (foreword) (2006). Buddhist heritage sites of India. New Delhi: Rupa & Co. ISBN 8129107384.
  4. Nintara (18 ตุลาคม 2561). "นางสุชาดา : อุบาสิกาคนแรกในพระพุทธศาสนา". Goodlife Update. สืบค้นเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต
  6. Geary, David; Sayers, Matthew R.; Amar, Abhishek Singh (2012). Cross-disciplinary Perspectives on a Contested Buddhist Site: Bodh Gaya Jataka (ภาษาอังกฤษ). Routledge. p. 35-36. ISBN 9781136320675.
  7. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอตทัคคบาลี

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]