พระเทวทัต
พระเทวทัต | |
---|---|
ข้อมูลทั่วไป | |
พระนามเดิม | เจ้าชายเทวทัต |
พระนามอื่น | พระเทวทัต, เจ้าชายเทวทัต |
สถานที่ประสูติ | เมืองเทวทหะ |
สถานที่บวช | อนุปิยอัมพวัน |
วิธีบวช | เอหิภิกขุอุปสัมปทา |
สถานที่เสียชีวิต | สระโบกขรณีหน้าวัดเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี |
ฐานะเดิม | |
ชาวเมือง | เทวทหะ |
พระบิดา | สุปปพุทธะ |
พระมารดา | อมิตา |
วรรณะเดิม | กษัตริย์ |
ราชวงศ์ | โกลิยวงศ์ |
สถานที่รำลึก | |
สถานที่ | สระโบกขรณี วัดเชตวันมหาวิหาร (สถานที่ต้องธรณีสูบ) |
หมายเหตุ | |
ผู้ทำอนันตริยกรรมทั้งสองคือ สังฆเภทและโลหิตุปบาท | |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
พระเทวทัต (บาลี: เทวทตฺต) เป็นพระภิกษุในสมัยพระโคตมพุทธเจ้าดำรงพระชนม์ชีพ เป็นพระราชโอรสในพระเจ้าสุปปพุทธะผู้ครองกรุงเทวทหะแห่งแคว้นโกลิยะ จึงมีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องกับพระพุทธองค์ พระเทวทัตเป็นที่รู้จักกันดีจากเรื่องราวในคัมภีร์พระพุทธศาสนา ว่าเป็นผู้ที่มีความร้ายกาจ หยิ่งยโส และเห็นแก่ตัว กระทำแต่เรื่องไม่สมควรต่อพระพุทธเจ้าเป็นอันมากมาย ตลอดเวลาแห่งการบำเพ็ญพรตในพุทธวิสัยตั้งแต่ครั้งพระพุทธโคดมยังเป็นพระโพธิสัตว์ ตลอดถึงในปัจจุบันชาติ พระเทวทัตก็ยังคงประพฤติผิดถึงกับกระทำอนันตริยกรรมคือทำร้ายพระพุทธเจ้าจนห้อพระโลหิตและยุยงหมู่สงฆ์ให้แตกกัน[1]
ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาระบุว่า เดิมนั้นท่านออกบวชด้วยความบริสุทธิ์ใจ แต่ทว่าในที่สุดพระเทวทัตได้สำนึกผิดเมื่อช้าไป ได้ถูกธรณีสูบลงสู่อเวจีมหานรกหน้าวัดเชตวันมหาวิหาร[2] แต่ด้วยการกระทำที่เคยบำเพ็ญบุญบารมีมาแล้วในอดีตมากนับประมาณ และประกอบกับการเห็นถูกต้องตรงสัมมาทิฏฐิเมื่อก่อนสิ้นใจกลับสำนึกผิดมอบถวายกระดูกคางด้วยเป็นพระพุทธบูชาแม้ในขณะวินาทีสุดท้ายในขณะที่ถูกแผ่นดินสูบ ทำให้พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ด้วยเหตุนั้น ว่าเมื่อพระเทวทัตสิ้นกรรมจากอเวจีมหานรก จะได้ตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า[3]
พระเทวทัตในสมัยพุทธกาล
[แก้]พระเทวทัต เป็นพระโอรสของพระเจ้าสุปปพุทธะผู้ครองกรุงเทวทหะแห่งแคว้นโกลิยะ กับพระนางอมิตา โดยพระโกลิยราชวงศ์ของพระเทวทัต เป็นพระประยูรญาติใกล้ชิดกับราชวงศ์ศากยะแห่งกรุงกบิลพัสดุ์มาแต่เดิม พระเทวทัตจึงมีศักดิ์เป็นพระญาติวงศ์กับพระพุทธเจ้า โดยพระเทวทัตนั้นมีอายุไล่เลี่ยกับพระพุทธองค์
พระเทวทัตออกบวชพร้อมกับพระราชาและเจ้าชายแห่งศากยวงศ์รวม 6 พระองค์คือ พระเจ้าภัททิยะ พระเจ้ากรุงกบิลพัสดุ์, เจ้าชายอนุรุทธะ, เจ้าชายอานันทะ, เจ้าชายภัคคุ, เจ้าชายกิมพิละ และเจ้าชายเทวทัตแห่งโกลิยะวงศ์ และนายอุบาลี ช่างภูษามาลา อีกท่าน รวมเป็น 7 คน ณ อนุปิยอัมพวันแห่งมัลลกษัตริย์[4] โดยพระพุทธองค์ทรงอุปสมบทให้ด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา ซึ่งหลังจากบวชได้ไม่นาน เจ้าชายทั้งหมดและนายอุบาลีภูษามาลาก็ได้บรรลุธรรมทั้งโสดาบัน และพระอรหันต์ ยังคงเว้นแต่พระเทวทัตเท่านั้นที่ได้เพียงโลกิยสมาบัติ
เรื่องราวของพระเทวทัตหลังจากบวชปรากฏว่า พระเทวทัตได้ละความเพียรในการบำเพ็ญสมณธรรมอันสมควร เพราะว่าหลังจากได้ฤทธิ์ (จากโลกิยฌาน)แล้ว พระเทวทัตได้ประพฤติร้ายกาจ ด้วยการแสดงฤทธิ์แปลงกายพร้อมทั้งเหาะไปในอากาศให้เจ้าชายอชาตศัตรูเห็น เพื่อให้ยินยอมเป็นศิษย์บำรุงอุปัฏฐากตน[5] และด้วยการยุยงว่าร้ายของพระเทวทัตนั้นเอง จึงเป็นสาเหตุให้เจ้าชายอชาตศัตรูปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นพระราชบิดา เพื่อขึ้นครองราชสมบัติของแคว้นมคธ
นอกจากการยุยงส่งเสริมแบบผิด ๆ แก่พระเจ้าอชาตศัตรูจนกระทำปิตุฆาต พระเทวทัตยังได้พยายามลอบปลงพระชนม์พระพุทธเจ้าอีกหลายครั้ง[6] เช่น ปล่อยช้างตกมันเข้าทำร้ายพระพุทธองค์, จ้างนายธนู 10 ผลัด ไปลอบยิงพระพุทธองค์ แต่ทุกครั้งไม่สามารถทำอะไรพระพุทธเจ้าได้ และกลับเป็นว่าผู้ที่ส่งไปทำร้ายเกิดศรัทธาและเคารพในพระพุทธเจ้าจนหมดสิ้น ทำให้พระเทวทัตลงมือพยายามลอบปลงพระชนม์เองโดยการกลิ้งหินให้ตกจากหน้าผาเขาคิชฌกูฏใส่พระพุทธเจ้า แต่หินกลับกระเด็นไปไกลจากพระพุทธเจ้าอย่างน่าอัศจรรย์ แต่ถึงกระนั้นสะเก็ดหินก็ทำให้พระพุทธเจ้าทรงห้อพระโลหิตที่ข้อพระบาท[7]
ที่ยิ่งกว่านั้นก็คือ พระเทวทัตยังคงเห็นผิดเป็นชอบ อยากจะเป็นพระศาสดาแทนพระพุทธเจ้าเสียเอง ทูลขอการปกครองสงฆ์ พระเทวทัตกระทำวิปริตมุ่งให้พระพุทธเจ้าปลดวางภาระทั่วสังฆมณฑลแล้วยกตนเป็นองค์ศาสดาแทนที่ ซึ่งเป็นเรื่องร้ายแรงเกินกว่าจะเป็นไปได้[8] พระเทวทัตสำคัญผิดอ้างการบำเพ็ญตบะที่เคร่งครัดอย่างยิ่งยวดเพื่อแบ่งแยกคณะสงฆ์ เช่น เสนอข้อบัญญัติทางธรรมวินัยที่ไม่เป็นไปโดยสมัครใจ ขอการกำหนดเป็นเด็ดขาด ด้วยเรื่องอาหาร การอยู่ป่า การรับนิมนต์ และการใช้ผ้า แก่พระพุทธเจ้าเพื่อทรงบัญญัติ[9] เมื่อผู้คนทราบความตั้งใจอันไม่เอื้อเฟื้อซึ่งเป็นสำคัญผิดเช่นนั้น พระเจ้าอชาตศัตรูจึงออกห่าง ไม่รับอุปถัมภ์บำรุง พระเทวทัตโดนดูหมิ่นจากชาวบ้านและพระสงฆ์แล้ว ในภายหลังจึงได้เกิดสำนึกผิด และขณะเดินทางไปเพื่อขอขมาต่อพระพุทธเจ้า แต่กระนั้นก็ทำไม่ได้ เพราะว่าด้วยการกระทำที่ร้ายเลวรุนแรงสาหัสมากมาตลอดนั้น จึงทำให้พระเทวทัตต้องถูกธรณีสูบ[10] ลงสู่อเวจีมหานรก ณ ริมสระโบกขรณีหน้าวัดเชตวันมหาวิหาร
ตามความในคัมภีร์อรรถกถาได้ขยายความพระไตรปิฎกและเรื่องราวพระเทวทัตถูกธรณีสูบนี้ก็ปรากฏอยู่ในอรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ยมกวรรคที่ 1 เรื่องพระเทวทัต โดยกล่าวเรื่องราวตอนพระเทวทัตถูกธรณีสูบไว้ว่า[11]
แม้พระเทวทัตแล ลุกจากเตียงแล้วนั่งวางเท้าทั้งสองบนพื้นดิน เท้าทั้งสองนั้นก็จมแผ่นดินลง. เธอจมลงแล้วโดยลำดับเพียงข้อเท้า, เพียงเข่า, เพียงเอว, เพียงนม, จนถึงคอ, ในเวลาที่กระดูกคางจดถึงพื้นดิน ได้กล่าวคาถานี้ว่า
“ข้าพระองค์ขอถึงพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ผู้เป็นบุคคลเลิศ เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ เป็นสารถี ฝึกนรชน มีพระจักษุรอบคอบ มีพระลักษณะ (แต่ละอย่าง) เกิดด้วยบุญตั้งร้อย ว่าเป็นที่พึ่งด้วย กระดูกเหล่านี้พร้อมด้วยลมหายใจ.”
(เป็นคำอธิบายของพระอรรถกถาจารย์) นัยว่า “พระตถาคตเจ้าทรงเห็นฐานะนี้ จึงโปรดให้พระเทวทัตบวช. ก็ถ้าพระเทวทัตนั้น จักไม่ได้บวชไซร้, เป็นคฤหัสถ์ จักได้ทำกรรมหนัก, จักไม่ได้อาจทำปัจจัยแห่งภพต่อไป, ก็แลครั้นบวชแล้ว จักทำกรรมหนักก็จริง, (ถึงดังนั้น) ก็จะสามารถทำปัจจัยแห่งภพต่อไปได้” เพราะฉะนั้น พระศาสดาจึงโปรดให้เธอบวชแล้ว.
— อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ยมกวรรคที่ 1 เรื่องพระเทวทัต
สาเหตุที่พระเทวทัตอาฆาตพระพุทธเจ้า
[แก้]พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงเรื่องราวที่พระเทวทัตเริ่มต้นจองเวรกับพระพุทธเจ้าไว้ใน เสรีววาณิชชาดก[12] ซึ่งปรากฏเนื้อหาโดยละเอียดในคัมภีร์อรรถกถา[13] สรุปความโดยย่อดังนี้
เมื่อกัปที่ 5 นับจำนวนในภัทรกัป ได้มีพ่อค้าเร่สองคนชาวแคว้นเสริวรัฐ มีชื่อเดียวกันว่าเสรีวะ คนหนึ่งคือพระโพธิสัตว์ (พระพุทธเจ้าในปัจจุบัน) อีกคนหนึ่งคือพระเทวทัตในปัจจุบัน ทั้งสองได้ทำการค้าขายเร่ รับซื้อและขายของไปตามหัวเมืองต่าง ๆ
จนวันหนึ่งทั้งสองได้ไปค้าขายเครื่องประดับในเมืองอริฏฐปุระ โดยตกลงแบ่งให้เข้าไปขายคนละทาง เพื่อว่าการค้าจะได้ไม่แข่งขันขัดตัดประชันราคากัน
พ่อค้าคนแรก (พระเทวทัต) ได้ตะโกนเร่ขายของตามถนนในเมืองไปเรื่อย ๆ จนไปถึงบ้านอดีตเศรษฐีผู้ดีเก่าตกยากหลังหนึ่ง ที่เหลืออยู่แต่เพียงยายกับหลานสาวในบ้านเก่าที่ชำรุดทรุดโทรมด้วยฐานะที่ยากไร้ เมื่อหลานสาวได้ยินเสียงพ่อค้าเที่ยวรับซื้อและเร่ขายของ จึงได้วิ่งออกมาดู จึงร้องบอกถึงความอยากได้เครื่องประดับ หลานสาวขอร้องให้ยายซื้อให้ ยายจึงเรียกพ่อค้าเข้ามาสอบถามและนำถาดเก่าคล้ำมอมซึ่งเป็นสมบัติของตระกูลใบหนึ่งมาให้พ่อค้าตรวจดูเพื่อแลกซื้อเครื่องประดับให้หลาน
เหตุการณ์ปรากฏว่าพ่อค้าเลวนั้นแสร้งตรวจดู รู้ว่าเป็นถาดทองคำอันมีค่าราคาถึงแสนกหาปณะ ไม่ใช่ถาดโลหะธรรมดา ด้วยความที่พ่อค้าเป็นคนละโมภ อยากได้ถาดทองคำด้วยวิธีโกง จึงกล่าวแกล้งว่าราคาผิดความจริง ทำทีว่าถาดเก่านั้นไม่น่าสนใจไม่มีราคาจะแลกเปลี่ยน ทำคำพูดเป็นสำคัญว่าถาดนั้นไม่มีราคาค่างวดจะแลกซื้ออะไรได้ พร้อมกันนั้นก็โยนถาดนั้นทิ้งแล้วลุกจากเดินหนีไป โดยหวังเล่ห์กลว่าสักพักสักครู่จะเข้ามาใหม่เพื่อขอแลกของประดับเล็ก ๆ น้อย ๆ กับถาดทองของสองยายหลาน
คล้อยหลังไปได้สักพัก พ่อค้าพระโพธิสัตว์ผ่านมา เห็นพ่อค้าคนแรกออกจากตรอกทางนั้นไปแล้ว จึงแวะเข้ามาขายเครื่องประดับ ซึ่งคราวนี้ สองคนหลานสาวกับยายก็กระทำอาการอย่างที่ร้องบอกแก่พ่อค้าคนแรก ร้องบอกให้ตรวจดูถาดเก่า ๆ คล้ำมอม ใบเดิมนั้น เผื่อว่าพ่อค้ารายนี้จะรับแลกเปลี่ยนไว้ด้วยเครื่องประดับอะไรสักอย่าง
เมื่อพ่อค้าตรวจถาดเก่าดูก็รู้ว่าเป็นถาดทองคำ มีราคาตั้งแสนกหาปณะ พ่อค้าพระโพธิสัตว์ (อดีตชาติของพระโคตมพุทธเจ้า) จึงบอกยายเจ้าของถาด ว่า “ ถาดนี้เป็นถาดทองมีราคามหาศาล ของที่ฉันนำมาเร่ขายทั้งหมดนี่ก็สู้ราคาถาดของยายไม่ได้หรอกจ๊ะ ”
ยายเจ้าของถาดเห็นความซื่อสัตย์ของพ่อค้าจึงบอกว่า “ ถาดนี้ เมื่อกี้พ่อค้าอีกคนโยนลงพื้นดูถูกว่าของไม่มีราคา แต่คราวนี้พ่อมาบอกว่ามีราคาตั้งแสน พ่อนี่ช่างตาถึงมีบุญเหลือเกิน เอาอย่างนี้ ฉันให้ถาดนี้แก่ท่าน เอาไปเถิด ส่วนท่านจะให้ของขายอะไรแก่ฉันกะหลานก็ได้ตามใจเถิด ”
พ่อค้าพระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้นจึงบอกว่า “ เอาอย่างนี้นะยาย ฉันยกของที่ฉันเอามาขายและเงินที่ติดตัวมาให้ยายหมดเลยก็แล้วกัน ฉันขอแค่ตาชั่งเอาไว้ทำมาหากินและเงินสัก 8 กหาปณะพอค่าเดินทางก็พอจ๊ะ ”
เมื่อพ่อค้าได้ถาดทองแล้ว จึงเดินทางไปที่เรือเพื่อเดินทางกลับ ปรากฏว่า หลังจากพ่อค้าคนแรกเดินไปได้สักพักใหญ่ จึงย้อนมาหายายขายถาดคนเก่าเพื่อจะขอซื้อถาดใบนั้นในราคาถูก แต่เมื่อยายเห็นพ่อค้าเข้ามาก็ตะเพิดไปว่า “ ไอ้พ่อค้าจัญไร! แกได้ทำให้ถาดทองคำต้องไร้ค่า ชิชะ! มาตอนนี้จะมาขอซื้อ ไป! จงไปเสียเจ้าคนโกง เมื้อสักครู่นี้ ฉันได้ยกถาดที่แกอยากได้มอบให้แก่พ่อค้าตาถึงไปแล้ว และยังได้ทรัพย์มาตั้งพันกหาปณะ ”
เมื่อพ่อค้าคนแรกได้ฟังดังนั้นถึงกับตกใจแค้นถึงสิ้นสติสลบฟุบไป พอฟื้นขึ้นก็เกิดความเสียดายอย่างเป็นกำลัง ถึงกับโปรยเงินและข้าวของที่นำมาเร่ขายทิ้งไว้หน้าบ้านยายแก่ แล้วก็ถือคันชั่งวิ่งตามรอยเท้าพระโพธิสัตว์ หวังจะแย่งถาดทองคืน เมื่อไปถึงฝั่งแม่น้ำนั้น เห็นพระโพธิสัตว์กำลังขึ้นเรือไปอยู่ จึงกล่าวว่า “ นายเรือโว้ย! เอาเรือกลับเข้าฝั่งเดี๋ยวนี้ ๆ ” พระโพธิสัตว์ห้ามนายเรือว่า “ อย่ากลับ ๆ ” และแล่นเรือลับไป
เมื่อพ่อค้าพาล เห็นพระโพธิสัตว์นั่งเรือหายวับไป จึงเกิดความโศกเศร้าเสียดายและเสียใจอย่างที่สุด ถึงกับอาเจียนออกเป็นโลหิต และตั้งสำคัญผิดผูกอาฆาตพยาบาทจองเวรพระโพธิสัตว์ พ่อค้าเลวซึ่งหมายถึงอดีตชาติของพระเทวทัตถึงกับสิ้นชีวิตลง ณ ที่นั้นนั่นเอง.
— อรรถกถาพระไตรปิฎก เล่มที่ 27 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 19 ขุททกนิกาย ชาดก ภาค 1 อรรถกถา เสรีววาณิชชาดก
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พระเทวทัตจึงได้กำเนิดคอยตามติดเพื่อจองเวรชิงชังกับพระพุทธเจ้าสมณโคดมมาตลอดจนแม้กระทั่งชาติท้ายที่สุดและชาติปัจจุบัน พระเทวทัตก็เกิดเป็นชูชกและเกิดเป็นเจ้าชายเทวทัตเป็นลำดับมา จนถึงการกระทำร้ายเลวในปัจจุบันที่กระทำต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อนที่จะก่ออนันตริยกรรมกระทำรุนแรงที่สุดแล้วกลับสำนึกได้ในภายหลัง
สาเหตุที่พระเทวทัตฝักใฝ่ในการกระทำชั่ว
[แก้]สาเหตุที่พระเทวทัตฝักใฝ่ในการกระทำชั่วนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า จิตของพระเทวทัตได้ถูกครอบงำย่ำยีด้วยอสัทธรรม (ธรรมฝ่ายชั่ว) 8 ประการ คือ 1.ลาภ 2.เสื่อมลาภ 3.ยศ 4.เสื่อมยศ 5.สักการะ 6.เสื่อมสักการะ 7.ความปรารถนาอันต่ำทราม 8.ความเป็นมิตรชั่ว (แต่มีเพียง 3 อย่างที่ถูกครอบงำด้วยอสัทธรรมคือ 1.ความปรารถนาอันต่ำทราม 2.ความเป็นมิตรชั่ว 3.พอบรรลุคุณวิเศษก็หยุดอยู่เพียงแค่นั้น ทำให้พระเทวทัตต้องไปเกิดในอบายชั่วกัปหรือตกนรกชั่วกัป ไม่มีใครช่วยได้เลยแม้แต่พระพุทธเจ้า) หลังจากนั้นพระพุทธเจ้าก็ได้สอนให้เหล่าภิกษุผู้ที่ถูกครอบงำย่ำยีด้วยอสัทธรรมให้เป็นฝ่ายครอบงำย่ำยีอสัทธรรมเพื่อไม่ให้เป็นแบบอย่างของเทวทัต
สาเหตุที่พระพุทธเจ้าบวชแก่พระเทวทัต
[แก้]สาเหตุที่พระพุทธเจ้าบวชแก่พระเทวทัต ทั้ง ๆ ที่รู้ว่า พระเทวทัตจะทำชั่วต่อพระพุทธเจ้าและพระศาสนานั้นได้มีการกล่าวไว้ในมิลินทปัญหา ว่าเมื่อครั้งหนึ่ง พระเจ้ามิลินท์ทรงได้สนทนาธรรมกับพระนาคเสนเถระ พระเจ้ามิลินท์ได้ทรงปุจฉาว่า การที่พระพุทธเจ้าได้ประทานการบวชเป็นภิกษุแก่พระเทวทัตนั้น พระพุทธองค์ทรงรู้หรือไม่ว่าถ้าพระเทวทัตบวชเข้ามาแล้วจะสร้างบาปกรรมอันใหญ่หลวงแก่พระศาสนาและพระพุทธองค์คือ ทำร้ายพระพุทธเจ้าและทำสังฆเภทคือให้สงฆ์แตกกัน พระนาคเสนก็วิสัชนาว่า ทรงรู้ หลังจากนั้นพระเจ้ามิลินท์ทรงได้ปุจฉาอีกว่า เมื่อพระพุทธองค์ทรงรู้แล้ว ทำไมยังทรงประทานการบวชแก่พระเทวทัตอีก พระนาคเสนก็วิสัชณาว่า เหตุที่พระพุทธองค์ทรงประทานการบวชแก่พระเทวทัตนั้น เพราะทรงเล็งเห็นว่า ถ้าพระเทวทัตครองเรือนเป็นคฤหัสถ์ก็จะก่อกรรมทำชั่วอย่างไม่จบสิ้น เมื่อตายไปก็จะไปบังเกิดในอบายภูมิเสวยทุกขเวทนาเป็นเวลาหลายกัปอย่างไม่จบสิ้น แต่ถ้าพระเทวทัตได้บรรพชาในพระพุทธศาสนาแล้วก็จักมีอันสิ้นสุดได้ เมื่อบรรพชาแล้ว ก็จักทำกรรมชั่วเพียงให้ตกนรกอยู่แค่ 1 กัปเท่านั้น ทรงเห็นอย่างนี้ จึงได้โปรดให้พระเทวทัตบรรพชาด้วยอำนาจพระมหากรุณาของพระพุทธองค์
สถานที่พระเทวทัตถูกธรณีสูบในปัจจุบัน
[แก้]ตามคัมภีร์อรรถกถากล่าวว่า สถานที่พระเทวทัตถูกธรณีสูบอยู่ริมสระน้ำหน้าวัดเชตวันมหาวิหาร ในปัจจุบันบริเวณหน้าวัดเชตวันยังคงมีพื้นที่ว่างแปลงหนึ่งอยู่กลางนา ไม่มีชาวบ้านคนไหนกล้าไปปรับพื้นที่ทำนา เนื่องจากเล่าสืบต่อกันมาว่าเป็นสถานที่พระเทวทัตถูกธรณีสูบ
ปัจจุบันผู้นำเที่ยวชมวัดเชตวันมักบอกว่าบริเวณนี้คือจุดที่พระเทวทัตถูกธรณีสูบ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากสระน้ำที่นางจิญจมาณวิกา ถูกธรณีสูบเช่นเดียวกัน
ดูเพิ่ม
[แก้]- พระเจ้าอชาตศัตรู ลูกศิษย์ของพระเทวทัต ผู้ทำปิตุฆาต ที่สำนึกผิดและหันมาบำรุงพุทธศาสนาและเป็นองค์อุปถัมภ์ปฐมสังคายนาในภายหลัง
อ้างอิง
[แก้]- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ 1 พระวินัยปิฎก เล่มที่ 1 มหาวิภังค์ ภาค 1 สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ 10 เรื่องพระเทวทัต. พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [1]. เข้าถึงเมื่อ 5-6-52
- ↑ อรรถกถาพระไตรปิฎก เล่มที่ 27 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 19 ขุททกนิกาย ชาดก ภาค 1 อรรถกถาธรรมเทวปุตตชาดก. อรรถกถาพระไตรปิฏก. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [2]. เข้าถึงเมื่อ 5-6-52
- ↑ อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ยมกวรรคที่ 1 พระเทวทัตเกิดในอเวจีถูกตรึงด้วยหลาวเหล็ก. อรรถกถาพระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [3]. เข้าถึงเมื่อ 5-6-52
- ↑ อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ยมกวรรคที่ 1 เรื่องพระเทวทัต . อรรถกถาพระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [4]. เข้าถึงเมื่อ 5-6-52
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ 7 พระวินัยปิฎก เล่มที่ 7 จุลวรรค ภาค 2 เรื่องพระเทวทัต. พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [5]. เข้าถึงเมื่อ 5-6-52
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ 7 พระวินัยปิฎก เล่มที่ 7 จุลวรรค ภาค 2 พระเทวทัตส่งคนไปพยายามลอบปลงพระชนม์พระศาสดา. พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [6]. เข้าถึงเมื่อ 5-6-52
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ 7 พระวินัยปิฎก เล่มที่ 7 จุลวรรค ภาค 2 พระเทวทัตทำโลหิตุปบาท . พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [7]. เข้าถึงเมื่อ 5-6-52
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ 7 พระวินัยปิฎก เล่มที่ 7 จุลวรรค ภาค 2 พระเทวทัตทูลขอปกครองสงฆ์. พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [8]. เข้าถึงเมื่อ 5-6-52
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ 7 พระวินัยปิฎก เล่มที่ 7 จุลวรรค ภาค 2 เรื่องวัตถุ 5 ประการ. พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [9]. เข้าถึงเมื่อ 5-6-52
- ↑ ธรณีสูบเป็นธัมมาธิษฐาน
- ↑ อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ยมกวรรคที่ 1 เรื่องพระเทวทัต. อรรถกถาพระไตรปิฏก. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [10]. เข้าถึงเมื่อ 5-6-52
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ 27 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 19 ขุททกนิกาย ชาดก ภาค 1 เสรีววาณิชชาดก. พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [11]. เข้าถึงเมื่อ 5-6-52
- ↑ อรรถกถาพระไตรปิฎก เล่มที่ 27 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 19 ขุททกนิกาย ชาดก ภาค 1 อรรถกถา เสรีววาณิชชาดก. อรรถกถาพระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [12]. เข้าถึงเมื่อ 5-6-52
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ยมกวรรคที่ 1. อรรถกถาพระไตรปิฏก. เข้าถึงเมื่อ 5-6-52