พระวักกลิ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระวักกลิ
ข้อมูลทั่วไป
สถานที่เกิดสาวัตถี แคว้นโกศล
สถานที่บรรลุธรรมวิหารกาฬสิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ
เอตทัคคะสัทธาธิมุต
สถานที่นิพพานวิหารกาฬสิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ
ฐานะเดิม
ชาวเมืองสาวัตถี
วรรณะเดิมพราหมณ์
การศึกษาจบพระเวท
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

พระวักกลิ เป็นพระอรหันต์สาวกองค์หนึ่งของพระโคตมพุทธเจ้า ทรงยกย่องท่านเป็นเอตทัคคะในฝ่ายสัทธาธิมุต (ผู้พ้นจากกิเลสได้ด้วยศรัทธา)

ประวัติ[แก้]

ประวัติของพระวักกลิในพระไตรปิฎกและอรรถกถา มีข้อมูลแตกต่างกัน ดังนี้

ประวัติตามพระไตรปิฎก[แก้]

ใน วักกลิเถราปทาน ระบุว่า พระวักกลิกำเนิดในวรรณะพราหมณ์ที่กรุงสาวัตถี แคว้นโกศล มารดาของท่านถูกปีศาจรังควาญ จึงนำท่านมาถวายแทบพระบาทพระพุทธเจ้าตั้งแต่ยังท่านเป็นทารก พระองค์ทรงเมตตารับไว้(แล้วส่งคืนแก่มารดา)จำเดิมแต่นั้นมาท่านก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ถูกรักษาโดยพระพุทธเจ้า จึงเป็นผู้พ้นจากความป่วยไข้ทุกอย่างอยู่โดยสุขสำราญ[1] เมื่ออายุได้ 7 ปี จึงได้บวช ในภายหลังท่านได้ติดตามพระพุทธเจ้า ถ้าไม่เห็นพระองค์แม้เพียงครู่เดียวก็จะกระวนกระวายใจ พระพุทธเจ้าเห็นว่าพระวักกลิยังยึดติดรูปจึงตรัสกับพระวักกลิว่า

อย่าเลย วักกลิทำไมเธอจึงยินดีในรูปที่ชนพาลชอบเล่า ผู้ใดเห็นพระสัทธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเป็นบัณฑิตเห็นเรา ผู้ไม่เห็นพระสัทธรรม ถึงจะเห็นเราก็ชื่อว่าไม่เห็น ร่างกายมีโทษไม่สิ้นสุดเหมือนต้นไม้มีพิษ เป็นที่อาศัยของโรคทุกชนิด ล้วนเป็นที่ประชุมของทุกข์ เพราะฉะนั้น เธอจงเบื่อหน่ายในรูปเถิด พิจารณาเห็นความเกิดขึ้น และความเสื่อมไปแห่งขันธ์ทั้งหลาย จะถึงที่สุดแห่งสรรพกิเลสได้โดยง่าย[1]

ท่านเสียใจที่ถูกพระพุทธเจ้าตำหนิจึงได้ขึ้นไปสู่ยอดเขาคิชฌกูฏ พระพุทธเจ้าทรงทราบ จึงไปที่เขาลูกนั้นแล้วตรัสเรียกพระวักกลิ ท่านดีใจรีบวิ่งลงจากเขาไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมเทศนา คือความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปแห่งขันธ์ทั้งหลาย ท่านรู้ธรรมนั้นทั่วถึงแล้ว จึงได้บรรลุอรหัต ครั้งนั้นพระพุทธเจ้า ทรงประกาศในท่ามกลางสงฆ์ว่า ท่านเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายสัทธาธิมุติ [1]

ใน วักกลิสูตร ระบุว่า พระวักกลิอาพาธด้วยโรคลม ท่านรู้ว่าใกล้จะมรณภาพ จึงให้ผู้อุปัฏฐากหามท่านไปวิหารกาฬสิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ พระพุทธเจ้าทรงทราบจึงฝากพระธรรมเทศนาเรื่องความเกิดและความเสื่อมของขันธ์ 5 ให้พระภิกษุนำไปแสดงแก่ท่าน หลักจากที่พระภิกษุหลีกไปแล้วพระวักกลิได้นำศาตรามาเชือดคอตัวเองตายในที่นั้น พระพุทธเจ้าทรงทราบจึงได้เสด็จไปพร้อมด้วยภิกษุหลายรูป ขณะนั้นมีควันตลบคลุ้งไปทั่วทุกทิศ พระพุทธเจ้าตรัสกับเหล่าพระภิกษุว่าควันนั้นคือมารที่แปลงมาตามหาวิญญาณของพระวักกลิ แต่หาไม่พบเพราะพระวักกลิดับขันธ์ถึงนิพพานแล้ว[2] ใน อรรถกถาวักกลิสูตร อธิบายว่า พระวักกลิได้รับทุกขเวทนาจากการเชือดคอตนเอง จึงได้ระลึกถึงกรรมฐาน ยังวิปัสสนาให้เกิดขึ้นบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วนิพพานในขณะนั้น

(พระวักกลิใน วักกลิเถราปทานกับพระวักกลิในวักกลิสูตร เป็นคนละรูปกัน)

ประวัติตามมโนรถปูรณีและธัมมปทัฏฐกถา[แก้]

ในมโนรถปูรณีและธัมมปทัฏฐกถาระบุว่า พระวักกลิเป็นพราหมณ์ชาวสาวัตถี ได้เล่าเรียนจนจบพระเวท ต่อมาได้เห็นพระพุทธเจ้าแล้วพึงพอใจในพระพุทธสรีระ จึงออกบวชตามเสด็จไปทุกแห่ง เฝ้ายืนดูพระองค์อยู่ตลอด เมื่อพระพุทธเจ้าเห็นว่าถึงเวลาที่ญาณของท่านแก่กล้าแล้ว จึงตรัสกับท่านว่า

วักกลิ ท่านจะประโยชน์อะไรด้วยมองรูปกายอันเปื่อยเน่านี้ที่ท่านเห็น วักกลิ ผู้ใดแลเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม วักกลิ เห็นธรรมจึงจะชื่อว่าเห็นเรา

แต่พระวักกลิยังคงไม่ละพฤติกรรมเดิม จนใกล้เข้าพรรษา พระพุทธเจ้าจึงทรงขับท่านเสียจากสำนัก พระวักกลิเสียใจมาก จึงขึ้นไปบนเขาคิชฌกูฏตั้งใจจะฆ่าตัวตาย[3] พระพุทธเจ้าจึงไปปรากฏพระกายที่นั้น แล้วตรัสเตือนสติท่านว่า "ภิกษุผู้มากด้วยความปราโมทย์ เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จะพึงบรรลุบทอันสงบที่ระงับสังขาร เป็นความสุข" พระวักกลิจึงบรรลุอรหันต์พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา แล้วเหาะลงมากราบพระพุทธเจ้า

ต่อมาพระพุทธเจ้าได้ประกาศท่ามกลางอริยสงฆ์ ยกย่องพระวักกลิว่าเป็นยอดของภิกษุผู้น้อมใจไปด้วยศรัทธา[4]

อดีตชาติ[แก้]

ในวักกลิเถราปทาน พระวักกลิได้เล่าเรื่องบุพกรรมของตนเองว่า ในสมัยพระปทุมุตรพุทธเจ้าเมื่อ 100,000 กัปที่แล้ว พระวักกลิได้เกิดเป็นพราหมณ์ในเมืองหงสวดี ได้ยินพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นตรัสยกย่องพระสาวกชื่อวักกลิว่าเป็นผู้มุ่งมั่นด้วยศรัทธา มีปัญญาดี มีความอาลัยในการดูพระพุทธเจ้ายิ่งกว่าผู้ใด ท่านได้ฟังแล้วเกิดความยินดี จึงจัดภัตตาหารถวายพระพุทธเจ้าและพระสาวกตลอด 7 วันและถวายจีวรผืนใหม่ จากนั้นได้กราบทูลขอพรให้ตนเองได้เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายที่เป็นสัทธิมุต พระปทุมุตรพุทธเจ้าจึงพยากรณ์ว่าในอีก 100,000 กัปข้างหน้า ท่านจะเกิดในสกุลวักกลิ ได้เป็นสาวกของพระโคตมพุทธเจ้า และจะทรงยกย่องท่านเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้สัทธาธิมุต หลังจากภพนั้นแล้วท่านได้เกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์[1]

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 วักกลิเถราปทาน, พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕๔. กัจจายนวรรค]
  2. วักกลิสูตร, พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต] มัชฌิมปัณณาสก์ ๔. เถรวรรค
  3. ๑๑. เรื่องพระวักกลิเถระ, อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ภิกขุวรรคที่ ๒๕
  4. อรรถกถาสูตรที่ ๑๐ ประวัติพระวักกลิเถระ, อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอตทัคคบาลี วรรคที่ ๒
บรรณานุกรม
  • พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
  • อรรถกถาภาษาไทย ฉบับสยามรัฐ