พระโมฆราชเถระ
พระโมฆราชเถระ | |
---|---|
ข้อมูลทั่วไป | |
ชื่อเดิม | โมฆราชมาณพ |
สถานที่เกิด | เมืองสาวัตถี |
วิธีบวช | เอหิภิกขุอุปสัมปทา |
สถานที่บรรลุธรรม | ปาสาณเจดีย์ |
เอตทัคคะ | ผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง |
ฐานะเดิม | |
ชาวเมือง | สาวัตถี |
วรรณะเดิม | พราหมณ์ |
การศึกษา | จบไตรเพท |
หมายเหตุ | |
อดีต 1 ใน 16 ศิษย์ของพราหมณ์พาวรี | |
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา |
พระโมฆราชเถระ เป็นศิษย์ของพราหมณ์พาวรีที่ถูกส่งมาทูลถามปัญหาทั้ง 16 ต่อพระพุทธเจ้า ณ ปาสาณเจดีย์ โดยมีอชิตมาณพเป็นหัวหน้าคณะศิษย์ทั้ง 16 ของพราหมณ์พาวรี ต่อมาทั้งหมดได้บรรลุธรรมและอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการช่วยพระพุทธเจ้าเผยแพร่พระพุทธศาสนา โดยนับเนื่องในพระอสีติมหาสาวก 80 องค์สำคัญของพระพุทธศาสนา พระโมฆราชเถระนั้น เมื่อบรรลุธรรมแล้วท่านมีใจยินดีในการครองจีวรเศร้าหมอง ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงยกย่องท่านว่าเป็นเอตทัคคะเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในด้าน ผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง
ประวัติ
[แก้]พระโมฆราช เกิดในตระกูลพราหรมณ์ ชาวเมืองสาวัตถี เมื่อมีอายุพอสมควรแก่การศึกษาศิลปะวิทยาตามประเพณีพราหมณ์ จึงได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของพราหมณ์พาวรี ผู้เป็นปุโรหิตที่ปรึกษาของพระเจ้าปเสนทิโกศลต่อมา พราหมณ์พาวรี เบื่อหน่ายชีวิตการครองเรือน จึงได้กราบทูลลาพระเจ้าปเสนทิโกศล ออกบวชเป็นชฎิล บำเพ็ญพรตตามประเพณีพราหมณ์ ตั้งสำนักอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำโคธาวารี ระหว่างเมืองอัสสกะและเมืองอาฬกะ ตัวเองเป็นเจ้าสำนักและเป็นอาจารย์ใหญ่ทำหน้าที่ทั้งรับและอบรมสั่งสอนไตรเพทแก่ศิษย์ทั่วไป โมฆราชมาณพ พร้อมกับเพื่อศิษย์อีกหลายคนได้ออกบวชติดตามด้วยพราหมณ์พาวรี แม้จะบวชเป็นฤๅษีชฎิลเช่นเดียวกับตระกูลกัสสปะ ๓ พี่น้อง แต่คนทั่วไปก็นิยมเรียก “พราหมณ์พาวรี” อยู่เช่นเดิม ไม่นิยมเรียกว่า “ชฎิล” เหมือนตระกูลกัสสปะ ทรงสอบการตรัสรู้ เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนศากยราชา ผู้ครองนคร กบิลพัสดุ์ เสด็จออกบรรพชาได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้วเที่ยวสั่งสอนเวไนยสัตว์ให้เกิดศรัทธาเลื่อมใสออกบวชประพฤติพรหมจรรย์ ติดตามพระองค์มากมาย พราหมณ์พาวรีได้ทราบข่าวเป็นลำดับ แต่ก็ยังเคลือบแคลงใจในการตรัสรู้ขององค์พระสัพพัญญโคดมเจ้า จึงตั้ง ปัญหาขึ้น ๑๖ หมวด แล้วมอบให้ศิษย์ ๑๖ คน นำไปกราบทูลถามพระบรมศาสดา ซึ่งขณะนั้นประทับอยู่ที่ปาสาณเจดีย์ แคว้นมคธ และโมฆราชมาณพก็เป็นหนึ่งในจำนวนศิษย์เหล่านั้น อชิตมาณพ ผู้เป็นหัวหน้าได้พาคณะศิษย์อีก ๑๕ คน คือ ๑. ติสสเมตเตยยะ ๒. ปุณณกะ ๓. เมตตคู ๔. โธตกะ ๕. อุปสีวะ ๖. นันทกะ๗. เหมกะ ๘. โตเทยยะ ๙. กัปปะ ๑๐. ชตุกัณณี ๑๑. ภัทราวุธะ ๑๒. อุทยะ ๑๓. โปสาละ ๑๔. ปิงคิยะ และ ๑๕. โมฆราช รวมทั้งสิ้นจำนวน ๑๖ คน พากันไปเข้าเฝ้า พระบรมศาสดาเพื่อทูลถามปัญหา ณ ปาสาณเจดีย์แห่งหนึ่ง กราบทูลถามปัญหาเป็นคนที่ ๑๕ ในบรรดามาณพทั้ง ๑๖ คนนั้น โมฆราชมาณพ นับว่าเป็นผู้มีปัญญาดีกว่ามาณพทั้ง หมด จึงคิดที่จะทูลถามปัญหาเป็นคนแรก แต่เห็นว่าอชิตมาณพอยู่ในฐานะเป็นหัวหน้าผู้นำมา จึงเปิดโอกาสให้ถามเป็นคนแรก เมื่ออชิตะ ทูลถามจบแล้ว โมฆราชมาณพ ปรารถนาจะถาม เป็นคนที่ ๒ แต่พระพุทธองค์ตรัสห้ามว่า “ดูก่อนโมฆราช ท่านจงรอให้มาณพคนอื่น ๆ ถามก่อนเถิด”
เมื่อมาณพคนอื่น ๆ ถามไปโดยลำดับถึงคนที่ ๘ โมฆราชมาณพ ก็แสดงความประสงค์ จะทูลถามเป็นคนที่ ๙ พระพุทธองค์ก็ตรัสห้ามไว้อีกครั้ง จนถึงลำดับคนที่ ๑๔ ผ่านไปแล้ว
ปัญหาของโมฆราชมาณพ
[แก้]โมฆราชมาณพ จึงได้มีโอกาสทูลถามเป็นคนที่ ๑๕ โดยกราบทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โลกนี้ก็ดี โลกอื่นก็ดี พรหมโลกกับทั้งเทวโลกก็ดี ย่อมไม่ ทราบความเห็นของพระองค์ เหตุดังนั้น จึงมีปัญหามาถึงพระองค์ ผู้มีปรีชาญาณเห็นล่วงสามัญชนทั้งปวงอย่างนี้ ข้าพระพุทธเจ้า จะพิจารณาเห็นโลกอย่างไร มัจจุราชคือความตายจึงจะไม่แลเห็น คือ จักไม่ตามทัน พระเจ้าข้า” พระบรมศาสดา ตรัสพยากรณ์ว่า “ดูก่อนโมฆราช ท่านจงมีสติพิจารณาดูโลกโดยความเป็นของว่างเปล่า ถอนความเห็นว่าตัวของเราเสียทุกเมื่อเถิด ท่านจะข้ามล่วงมัจจุราชเสียได้ด้วยอุบายนี้ท่านพิจารณาเห็นโลกอย่างนี้แล้ว มัจจุราชคือความตายจักแลไม่เห็น” เมื่อพระบรมศาสดา ตรัสพยากรณ์ปัญหาของโมฆราชมาณพ จบลงแล้วโมฆราชมาณพ พร้อมด้วยชฎิลทั้งหมด ได้บรรลุพระอรหัตผลสิ้นอาสวกิเลสทุกคนเว้นแต่ปิดคิยมาณพผู้เดียวเพราะมัวแต่คิดถึงอาจารย์พราหมณ์พาวรีผู้เป็นลุง จึงได้เพียงญาณหยั่งเห็นในธรรมเท่านั้น มาณพทั้ง ๑๖ คน กราบทูลขออุปสมบท พระพุทธองค์ประทานด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา ได้เป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา พร้อมบาตรและจีวรอันสำเร็จด้วยบุญฤทธิ์ ส่วนพระปิงคิยเถระกราบทูลลากลับไปแจ้งข่าวแก่พราหมณ์พาวรี แสดงธรรมตามที่พระพุทธ องค์ทรงแก้ปัญหาทั้ง ๑๖ ข้อ ให้ฟังแล้วยังพราหมณ์พาวรี ให้บรรลุธรรมาพิสมัยชั้นเสขภูมิ พระโมฆราชนั้น เมื่ออุปสมบทแล้วปรากฏว่าท่านเป็นผู้มักน้อยสันโดษยินดีเฉพาะการ ใช้สอยจีวรที่เศร้าหมอง ๓ ประการ คือ ๑. ผ้าเศร้าหมอง ๒. ด้ายเย็บผ้าเศร้าหมอง ๓. น้ำย้อมผ้า เศร้าหมองด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงทรงยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุ ทั้งหลายในทาง ผู้ยินดีในจีวรเศร้าหมอง
บั้นปลายชีวิต
[แก้]ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาไม่ระบุว่าท่านดับขันธปรินิพพานที่ใด แต่ท่านคงดำรงขันธ์อยู่พอสมควรแก่กาลจึงดับขันธปรินิพพาน
อ้างอิง
[แก้]- สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส. (2525). ธรรมวิภาคปริเฉทที่ 2. พิมพ์ครั้งที่ 23. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการแผนกตำรา มหามกุฏราชวิทยาลัย.
ดูเพิ่ม
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บไซต์ 84000
- เว็บไชต ธรรมะ เกตเวย์ เก็บถาวร 2009-04-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน