ข้ามไปเนื้อหา

พระราธเถระ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระราธเถระ
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อเดิมราธพราหมณ์
พระนามเดิมพระราธะ
สถานที่เกิดเมืองราชคฤห์
วิธีบวชญัตติจตุตถกรรม (ผู้บวชด้วยวิธีนี้เป็นองค์แรก)
เอตทัคคะผู้มีปฏิภาณ (ญาณแจ่มแจ้งในพระธรรมเทศนา)
อาจารย์พระสารีบุตร (พระอุปัชฌาย์)
ฐานะเดิม
ชาวเมืองราชคฤห์
วรรณะเดิมพราหมณ์
สถานที่รำลึก
สถานที่วัดเวฬุวันมหาวิหาร
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

พระราธเถระ เป็นพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าในสมัยพุทธกาล นับเนื่องในพระอสีติมหาสาวก 80 องค์สำคัญของพระพุทธศาสนา บวชเมื่อแก่ เป็นศิษย์ของพระสารีบุตร ท่านเป็นผู้ว่านอนสอนง่าย และได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าท่านเป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในด้าน ผู้มีปฏิภาณ คือมีญาณแจ่มแจ้งในพระธรรมเทศนา

ประวัติ

[แก้]

พระราธเถระ เดิมเป็นพราหมณ์ในพระนครราชคฤห์ เมื่อแก่ตัวลง ภรรยาและบุตรไม่เลี้ยงดู เพราะ เคยทำตัวไม่ดีกับภรรยาและบุตร ถูกทิ้งไว้ในวัดพระเวฬุวันมหาวิหาร ต่อมาท่านประสงค์จะออกบวช แต่ไม่มีใครบวชให้เพราะเกรงว่าคนบวชเมื่อแก่จะว่ายากสอนยาก ท่านจึงมีร่างกายซูบผอมผิวพรรณเศร้าหมองด้วยความเสียใจ พระพุทธเจ้าทราบความจึงมีรับสั่งถามพระภิกษุทั้งหลายว่ามีใครระลึกถึงอุปการคุณของพราหมณ์ผู้นี้ได้บ้าง ในครั้งนั้นพระสารีบุตรระลึกได้ว่าเคยรับบิณฑบาตจากพรามหณ์ผู้นี้เป็นข้าวทัพพีหนึ่ง พระพุทธเจ้าสรรเสริญพระสารีบุตรว่ามีความกตัญญู จึงอนุญาตให้พระสารีบุตรเป็นพระอุปัชฌาย์ผนวชให้

วันหนึ่งท่านพระราธะเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ขอให้พระองค์แสดงธรรมย่อ ๆ ให้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสแสงว่า สิ่งใดเป็นมาร จงละสิ่งนั้นเสีย มารคือขันธ์ทั้ง 5 ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ตั้งอยู่ได้ยาก ไม่มีตัวตนบังคับบัญชาไม่ได้ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เหล่านี้ชื่อว่ามาร เธอจงละสิ่งเหล่านี้เสีย พระราธะรับพระโอวาทและออกจาริกไปกับพระสารีบุตร ในที่สุดท่านก็ได้บรรลุอรหันตผล เมื่อพระสารีบุตรมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า มีรับสั่งถามว่า พระราธะเป็นเช่นไรบ้าง พระสารีบุตรทูลว่า พระราธะว่าง่ายสอนง่ายเหลือเกิน จะแนะนำสั่งสอนเช่นไรไม่เคยโกรธเลย พระพุทธองค์จึงให้ภิกษุอื่นถือเป็นแบบอย่าง ต่อมาทรงยกย่องว่าท่านเป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในด้าน ผู้มีปฏิภาณ คือมีญาณแจ่มแจ้งในพระธรรมเทศนา

บั้นปลายชีวิต

[แก้]

ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาไม่ระบุว่าท่านดับขันธปรินิพพานที่ใด แต่ท่านคงดำรงขันธ์อยู่พอสมควรแก่กาลจึงดับขันธปรินิพพาน

อ้างอิง

[แก้]
  1. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส. (2525). ธรรมวิภาคปริเฉทที่ 2. พิมพ์ครั้งที่ 23. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการแผนกตำรา มหามกุฏราชวิทยาลัย.

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
  1. เว็บไซต์ 84000
  2. เว็บไชต ธรรมะ เกตเวย์ เก็บถาวร 2009-04-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน