ข้ามไปเนื้อหา

สันนิบาตชาติ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก สันนิบาติชาติ)
สันนิบาตชาติ

League of Nations (อังกฤษ)
Société des Nations (ฝรั่งเศส)
ธงชาติสันนิบาตชาติ
ธงกึ่งทางการใน ค.ศ. 1939
แผนที่ประเทศสมาชิกสันนิบาต
แผนที่ประเทศสมาชิกสันนิบาต
สถานะองค์การระหว่างรัฐบาล
สำนักงานใหญ่เจนีวา สวิตเซอร์แลนด์
ภาษาทางการอังกฤษ, ฝรั่งเศส
เลขาธิการ 
• ค.ศ. 1920–1933
Sir James Eric Drummond
• ค.ศ. 1933–1940
Joseph Avenol
• ค.ศ. 1940–1946
Seán Lester
รองเลขาธิการ 
• ค.ศ. 1919–1923
Jean Monnet
• ค.ศ. 1923–1933
Joseph Avenol
• ค.ศ. 1937–1940
Seán Lester
ก่อตั้ง
ยุคประวัติศาสตร์สมัยระหว่างสงคราม
10 มกราคม ค.ศ. 1920
• ประชุมครั้งแรก
16 มกราคม ค.ศ. 1920
• ยุบ
20 เมษายน ค.ศ. 1947
ก่อนหน้า
ถัดไป
ความร่วมมือแห่งยุโรป
สหประชาชาติ

สันนิบาตชาติ (อังกฤษ: League of Nations, LON;[1] ฝรั่งเศส: Société des Nations, SDN, SdN) เป็นองค์การระหว่างรัฐบาลทั่วโลกแห่งแรกที่มีภารกิจหลักในการปกป้องสันติภาพของโลก[2] ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 10 มกราคม ค.ศ. 1920 ภายหลังจากการประชุมสันติภาพปารีส ซึ่งสงครามโลกครั้งที่หนึ่งได้ยุติลง ในปี ค.ศ. 1919 วูดโรว์ วิลสัน ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพจากบทบาทของเขาในฐานะผู้ก่อตั้งสันนิบาต

เป้าหมายหลักขององค์กรนี้ ตามที่ได้ระบุไว้ในกติกาสัญญา รวมทั้งการป้องกันไม่ให้เกิดสงครามผ่านทางการรักษาความปลอดภัยโดยรวมและการลดอาวุธและการยุติข้อพิพาทระว่างประเทศผ่านทางการเจรจาและอนุญาโตตุลาการ[3] ประเด็นอื่น ๆ ในเรื่องนี้และสนธิสัญญาที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สหภาพแรงงาน การปฏิบัติตัวต่อประชากรชาวพื้นเมือง การค้ามนุษย์และยาเสพติดที่ผิดกฎหมาย การค้าขายอาวุธปืน สุขภาพทั่วโลก เชลยสงคราม และการปกป้องชนกลุ่มน้อยในยุโรป[4] กติกาสัญญาของสันนิบาตชาติลงนาม เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1919 ซึ่งเป็นส่วนที่หนึ่งของสนธิสัญญาแวร์ซาย และมีผลใช้บังคับร่วมกับสนธิสัญญาอื่น ๆ เมื่อวันที่ 10 มกราคม ค.ศ. 1920 การประชุมครั้งแรกของคณะมนตรีสันนิบาตเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 มกราคม ค.ศ. 1920 การประชุมครั้งแรกของสมัชชาสันนิบาตได้เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1920

ปรัชญาด้านการทูตที่อยู่เบื้องหลังของสันนิบาตเป็นตัวแทนของการเปลี่ยนแปลงรากฐานจากช่วงร้อยปีก่อนหน้านี้ สันนิบาตนั้นไม่มีกองกำลังติดอาวุธเป็นของตัวเองและขึ้นอยู่กับประเทศต่าง ๆ ในฝ่ายสัมพันธมิตรที่เป็นฝ่ายชนะในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร อิตาลี และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสมาชิกถาวรของสภาบริหาร) เพื่อใช้บังคับในการลงมติ บทลงโทษด้วยการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ หรือให้จัดตั้งกองทัพเมื่อมีความจำเป็น มหาอำนาจมักจะไม่เต็มใจที่จะกระทำเช่นนั้น บทลงโทษนั้นอาจจะไปทำร้ายต่อประเทศสมาชิกในสันนิบาต ดังนั้นพวกเขาจึงไม่เต็มใจที่จะปฏิบัติตาม ในช่วงสงครามอิตาลี-อะบิสซิเนียครั้งที่สอง เมื่อสันนิบาตได้กล่าวหาว่า ทหารอิตาลีได้กำหนดเป้าหมายโจมตีไปที่เต็นท์แพทย์ของหน่วยงานกาชาด เบนิโต มุสโสลินีได้ตอบไปว่า "สันนิบาตนี้ดีนักหนา เมื่อนกกระจอกส่งเสียงร้องเอะอะโวยวาย แต่คงไม่ดีทั้งหมดเลย เมื่อนกอินทรีได้หลุดออกไป"[5]

ด้วยองค์กรนี้ได้เติบโตขยายมากขึ้น ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน ค.ศ. 1934 ถึง 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1935 ได้มีสมาชิกถึง 58 สมาชิก ภายหลังจากที่ประสบความสำเร็จอย่างโดดเด่นและบางส่วนก็ประสบความล้มเหลวในปี ค.ศ. 1920 ในท้ายที่สุด สันนิบาตได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ไม่สามารถขัดขวางความก้าวร้าวของฝ่ายอักษะในปี ค.ศ. 1930 ความน่าเชื่อถือขององค์กรได้ลดลงจากข้อเท็จจริงที่ว่าสหรัฐอเมริกาไม่เคยเข้าร่วมสันนิบาตและสหภาพโซเวียตได้เข้าร่วมในช่วงปลายปีและไม่นานก็ถูกขับไล่ในภายหลังจากได้เข้ารุกรานฟินแลนด์.[6][7][8][9] เยอรมนีได้ถอนตัวออกจากสันนิบาตเช่นเดียวกับญี่ปุ่น อิตาลี สเปน และอื่น ๆ การริเริ่มของสงครามโลกครั้งที่สองได้แสดงให้เห็นว่า สันนิบาตได้ประสบความล้มเหลวในเป้าหมายหลักนั่นคือเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสงครามโลกในอนาคต สันนิบาติได้ดำรงอยู่ถึง 26 ปี สหประชาชาติ (UN) ได้เข้ามาแทนที่ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง และได้สืบทอดหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ที่ก่อตั้งขึ้นโดยสันนิบาต

ที่มา

[แก้]
การ์ดที่ระลึกในโอกาสก่อตั้งสันนิบาต คนในรูปคือประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน ผู้เสนอให้ก่อตั้งองค์การนี้ขึ้น

แนวความคิดของประชาคมนานาชาติที่อยู่ร่วมกันอย่างสันติมีมานานแล้ว ในปี ค.ศ. 1795 อิมมานูเอล คานต์ เสนอให้มีการก่อตั้งองค์การที่จะไกล่เกลี่ยของพิพาทและรักษาสันติภาพระหว่างประเทศในงานเขียนของเขา Perpetual Peace: A Philosophical Sketch[10] โดยเขาย้ำว่าแนวทางนี้ไม่ใช่การให้มีรัฐบาลปกครองโลก แต่ให้รัฐบาลของแต่ละประเทศเคารพพลเมืองของตน และต้อนรับชาวต่างประเทศในลักษณะที่เป็นมนุษย์ด้วยกัน สันติภาพระหว่างประเทศก็จะเกิดขึ้น[11]

ต่อมาเมื่อเกิดสงครามนโปเลียนในศตวรรษที่ 19 ก็มีความพยายามร่วมมือกันเพื่อให้ยุโรปมีความมั่นคงยิ่งขึ้น รวมทั้งได้เกิดอนุสัญญาเจนีวาขึ้นเพื่อมนุษยธรรมระหว่างสงคราม และอนุสัญญาเฮกซึ่งกำหนดกฎเกณฑ์ของสงครามและการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างประเทศ และในปี ค.ศ. 1889 นักรณรงค์สันติภาพได้ก่อตั้งสมัชชาสหภาพรัฐสภา (Inter-Parliamentary Union: IPU) ขึ้นเพื่อสนับสนุนการเจรจาและการทูตในการแก้ไขข้อพิพาท[12]

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 มีกลุ่มอำนาจใหญ่สองกลุ่มในยุโรปที่ขัดแย้งกัน และเป็นสาเหตุของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งมีทหารเสียชีวิต 8.5 ล้านนาย ผู้บาดเจ็บ 21 ล้านคน และพลเรือนเสียชีวิต 10 ล้านคน สงครามนี้ได้ส่งผลกระทบในทุกด้านของชีวิต และทำให้เกิดกระแสต่อต้านสงครามทั่วโลก จนเกิดวลีเรียกสงครามโลกครั้งที่หนึ่งว่า "สงครามเพื่อที่จะหยุดสงครามทั้งหมด" และมีการสืบสวนถึงสาเหตุอย่างถี่ถ้วน ซึ่งพบว่าเกิดจาก การแข่งขันทางอาวุธ พันธมิตร การทูตลับ และเสรีภาพในการเข้าร่วมสงครามของรัฐต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ส่วนตน จึงมีการเสนอให้มีองค์การระหว่างประเทศที่จะทำหน้าที่หยุดสงครามในอนาคตด้วยการลดอาวุธ การทูตอย่างเปิดเผย การตัดสินข้อพิพาท ความร่วมมือระหว่างชาติ การควบคุมสิทธิในการเข้าร่วมสงคราม และการลงโทษประเทศที่ทำผิดกฎ

บุคคลสำคัญที่มีส่วนทำให้สันนิบาตชาติเป็นความจริงขึ้นมาคือประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสันแห่งสหรัฐอเมริกา การตั้งสันนิบาตชาติเป็นหนึ่งในหลักการสิบสี่ข้อของวิลสัน ซึ่งข้อ 14 ระบุว่า การรวมตัวกันของประชาชาติควรจะก่อตั้งขึ้นภายใต้พันธะที่แน่นอนเพื่อจุดประสงค์ที่สามารถให้ความช่วยเหลือกันได้กับทุกฝ่าย และให้การรับรองแก่รัฐที่มีขนาดเล็กกว่าเทียบเท่ากับตนเอง โดยการจัดตั้งองค์การสันนิบาตชาติขึ้นมา[13] โดยในระหว่างการประชุมสันติภาพที่ปารีส ซึ่งมีสามประเทศใหญ่ผู้ชนะสงครามเข้าร่วมคือ อเมริกา ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร แนวความคิดการก่อตั้งสันนิบาตชาติของวิลสันได้รับการยอมรับ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของสนธิสัญญาแวร์ซายส์

กติกาสันนิบาตชาติร่างขึ้นโดยคณะกรรมการพิเศษ โดยมี 44 ประเทศที่เซ็นยอมรับกติกานี้ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย อย่างไรก็ดีแม้วิลสันจะประสบผลสำเร็จในการผลักดันให้สันนิบาตชาติเป็นจริงขึ้นมา ซึ่งทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปีเดียวกัน แต่รัฐสภาอเมริกากลับมีมติไม่ยอมให้ประเทศอเมริกาเข้าร่วมสันนิบาต เนื่องจากเกรงว่าจะมีข้อผูกมัดตามมา ซึ่งจะเป็นสาเหตุที่ทำให้สันนิบาตล่มในเวลาต่อมา

สันนิบาตชาติเปิดประชุมคณะมนตรีหกวันหลังจากสนธิสัญญาแวร์ซายส์มีผลใช้บังคับ ต่อมาสำนักงานใหญ่ย้ายไปกรุงเจนีวา และมีการประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1920

ตราสัญลักษณ์

[แก้]

มีตราสัญลักษณ์กึ่งทางการเกิดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1939 ซึ่งเป็นดาวห้าเหลี่ยมสองดวงในรูปห้าเหลี่ยมสีน้ำเงิน สื่อความหมายถึงทวีปในโลก 5 ทวีป และเผ่าพันธุ์ 5 เผ่า (ขาว เหลือง น้ำตาล ดำ แดง) ตามที่เชื่อกันในสมัยนั้น ด้านบนเป็นชื่อภาษาอังกฤษ (League of Nations) ส่วนด้านล่างเป็นภาษาฝรั่งเศส ("Société des Nations") [14]

โครงสร้าง

[แก้]
ปาแลเดนาซียง ณ นครเจนีวา เป็นสำนักงานใหญ่ของสันนิบาตตั้งแต่ปี 1929 จนกระทั่งถูกยุบ

องค์กรที่สำคัญมี 3 องค์กรคือ:

  • สมัชชา (Assembly) เป็นที่ประชุมใหญ่ขององค์การ ประกอบด้วยผู้แทนของประเทศสมาชิกทั้งหมด มีหน้าที่พิจารณาปัญหาต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อสันติภาพของโลก
  • คณะมนตรี (Council) ทำหน้าที่ควบคุมสมัชชา ประกอบด้วยสมาชิกถาวร 4 ประเทศ คือ ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี และญี่ปุ่น และสมาชิกประเภทไม่ถาวรที่มาจากการเลือกตั้งอีก 4 ประเทศ ทำหน้าที่พิจารณาเรื่องต่าง ๆ ที่เป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของสมัชชา ทั้งนี้มติของคณะมนตรีซึ่งเป็นมติสูงสุด จะต้องเป็นฉันทามติเท่านั้นจึงสามารถใช้บังคับได้ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้สันนิบาตล่มเมื่อญี่ปุ่นและอิตาลีกลับกลายเป็นผู้คุกคามสันติภาพเสียเองในเวลาต่อมา
  • สำนักงานเลขาธิการ (Secretary-General) เลขาธิการที่ได้รับเลือกมีหน้าที่จัดทำรายงาน รักษาเอกสาร อำนวยการวิจัย และประสานงานกับฝ่ายต่าง ๆ

และมีหลายหน่วยงานและคณะกรรมการ (commission) อื่น ๆ อีก ซึ่งบางองค์การเมื่อยุบสันนิบาตชาติก็ได้ถ่ายโอนไปในสังกัดของสหประชาชาติ

รัฐสมาชิก

[แก้]
แผนที่รัฐสมาชิกของสันนิบาตในปี ค.ศ. 1920
  รัฐสมาชิก
  อาณานิคมของรัฐสมาชิก
  ดินแดนภายใต้อาณัติสันนิบาตชาติ
  รัฐที่ไม่เป็นสมาชิก
  อาณานิคมของรัฐที่ไม่เป็นสมาชิก

เมื่อเริ่มต้นมีรัฐสมาชิกร่วมก่อตั้งสันนิบาต 42 ประเทศ แต่มีเพียง 23 ประเทศเท่านั้นที่เป็นสมาชิกจนกระทั่งยุบสันนิบาตในปี ค.ศ. 1946 ซึ่งประเทศไทยรวมอยู่ในประเทศเหล่านี้ด้วย

สันนิบาตมีจำนวนรัฐสมาชิกมากที่สุดคือ 58 ประเทศในช่วงปี ค.ศ. 1934-1935[15]

ดินแดนใต้อาณัติ

[แก้]

เมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งจบลง ประเทศผู้แพ้ เช่น เยอรมนี และจักรวรรดิออตโตมันจำต้องสละอาณานิคมซึ่งเป็นบทลงโทษจากประเทศผู้ชนะสงคราม การประชุมสันติภาพที่ปารีสจึงได้ตกลงให้รัฐบาลต่าง ๆ บริหารอาณาบริเวณเหล่านี้ในนามของสันนิบาต เรียกว่า ดินแดนใต้อาณัติ (mandate) ซึ่งอำนาจของสันนิบาตในการจัดการได้รับการรับรองจากมาตรา 22 ของกติกาสันนิบาตชาติ โดยมีคณะกรรมการจัดการดินแดนใต้อาณัติเป็นผู้ดูแล

ดินแดนใต้อาณัติแบ่งออกเป็นสามประเภท A B C ตามมาตรา 22

  • A คือดินแดนที่เคยอยู่ในจักรวรรดิออตโตมันมาก่อน ที่ "ต้องได้รับความช่วยเหลือจากผู้ได้รับมอบอาณัติเป็นระยะเวลาหนึ่งจนกว่าจะสามารถปกครองตนเองได้"
  • B คือดินแดนที่เคยเป็นอาณานิคมของเยอรมนีมาก่อน ที่ "ต้อง[ได้รับการเข้ามาดูแล]เพื่อรักษาเสรีภาพทางมโนธรรมและศาสนา...และเพื่อยับยั้งการค้าทาส การค้าอาวุธ"
  • C คือเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ที่ "สมควรที่สุดที่จะอยู่ใต้อาณัติ... เพื่อที่ชนพื้นเมืองจะได้รับการปกป้องดังที่กล่าวมาแล้ว[สำหรับ B]

ส่วนประเทศมหาอำนาจขณะนั้น 7 ประเทศได้ รับมอบอาณัติ (mandatory) คือมีอำนาจปกครองดินแดนใต้อาณัติของสันนิบาต ได้แก่ สหราชอาณาจักร, สหพันธ์แอฟริกาใต้, ฝรั่งเศส, เบลเยียม, นิวซีแลนด์, ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น

ดินแดนใต้อาณัติทั้งหมดไม่ได้รับเอกราชจวบจนสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุด ยกเว้นประเทศอิรักประเทศเดียวที่ได้รับเอกราชและเข้าร่วมสันนิบาตในปี ค.ศ. 1932 หลังจากสันนิบาตถูกยุบดินแดนใต้อาณัติเหล่านี้ถูกโอนไปให้สหประชาชาติดูแล เรียกว่า ดินแดนในภาวะทรัสตีของสหประชาชาติ (United Nations Trust Territories) และเป็นเอกราชทั้งหมดในปี ค.ศ. 1990

นอกจากดินแดนใต้อาณัติแล้ว สันนิบาตยังปกครองดินแดนลุ่มแม่น้ำซาร์เป็นเวลา 15 ปี ก่อนจะจัดให้มีประชามติ ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เลือกที่จะกลับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเยอรมนี และยังปกครองเสรีนครดันท์ซิช (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศโปแลนด์) ตั้งแต่ค.ศ. 1920 - 1939

อ้างอิง

[แก้]
  1. ""80th anniversary of the laying of the founding stone of the Palais des Nations"". United Nations Geneva. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-03. สืบค้นเมื่อ 6 June 2020.
  2. Christian, Tomuschat (1995). The United Nations at Age Fifty: A Legal Perspective. Martinus Nijhoff Publishers. p. 77. ISBN 9789041101457.
  3. "Covenant of the League of Nations". The Avalon Project. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 July 2011. สืบค้นเมื่อ 30 August 2011.
  4. See Article 23, "Covenant of the League of Nations". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 July 2011. สืบค้นเมื่อ 20 April 2009., "Treaty of Versailles". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 January 2010. สืบค้นเมื่อ 23 January 2010. and Minority Treaties.
  5. Jahanpour, Farhang. "The Elusiveness of Trust: the experience of Security Council and Iran" (PDF). Transnational Foundation of Peace and Future Research. p. 2. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 27 July 2014. สืบค้นเมื่อ 27 June 2008.
  6. Osakwe, C O (1972). The participation of the Soviet Union in universal international organizations.: A political and legal analysis of Soviet strategies and aspirations inside ILO, UNESCO and WHO. Springer. p. 5. ISBN 978-9028600027.
  7. Pericles, Lewis (2000). Modernism, Nationalism, and the Novel. Cambridge University Press. p. 52. ISBN 9781139426589.
  8. Ginneken, Anique H. M. van (2006). Historical Dictionary of the League of Nations. Scarecrow Press. p. 174. ISBN 9780810865136.
  9. Ellis, Charles Howard (2003). The Origin, Structure & Working of the League of Nations. Lawbook Exchange Ltd. p. 169. ISBN 9781584773207.
  10. คานต์, อิมมานูเอล. "Perpetual Peace: A Philosophical Sketch". Mount Holyoke College. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-04-06. สืบค้นเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2011. (อังกฤษ)
  11. คานต์, อิมมานูแอล (1795). "Perpetual Peace". สมาคมรัฐธรรมนูญ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-09-30. สืบค้นเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2011. (อังกฤษ)
  12. (httpPages) /B5B92952225993B0C1256F2D00393560?OpenDocument "ก่อนจะเป็น "สันนิบาตชาติ"". สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ณ กรุงเจนีวา. สืบค้นเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2011. {{cite web}}: ตรวจสอบค่า |url= (help)[ลิงก์เสีย] (อังกฤษ)
  13. วิลสัน, วูดโรว์ (8 มกราคม 1918). "หลักการสิบสี่ข้อของประธานาธิบดีวิลสัน". The Avalon Project. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-04-06. สืบค้นเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2011. (อังกฤษ)
  14. "ภาษาและตราสัญลักษณ์". สหประชาชาติ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-23. สืบค้นเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2011. (อังกฤษ)
  15. "รัฐสมาชิกของสันนิบาตชาติ". มหาวิทยาลัยแห่งรัฐอินเดียนา. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-09. สืบค้นเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2011. (อังกฤษ)