ซันโดร บอตตีเชลลี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ซานโดร บอตติเชลลี)
ซันโดร บอตตีเชลลี
ภาพเหมือนตนเอง ในภาพ การนมัสการของโหราจารย์ (1475)
เกิดอเลสซันโดร ดี มารีอาโน ดี วันนี ฟีลีเปปี
ป. ค.ศ.1445[1]
ฟลอเรนซ์, สาธารณรัฐฟลอเรนซ์ (ปัจจุบันคือประเทศอิตาลี)
เสียชีวิต17 พฤษภาคม ค.ศ.1510 (ป. 64 ปี)
ฟลอเรนซ์, สาธารณรัฐฟลอเรนซ์
สัญชาติอิตาลี
การศึกษาฟีลิปโป ลิปปี
มีชื่อเสียงจากจิตรกร
ผลงานเด่นฤดูใบไม้ผลิ
กำเนิดวีนัส
การนมัสการของโหราจารย์
และอื่น ๆ
ขบวนการสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาในอิตาลี

อเลสซันโดร ดี มารีอาโน ดี วันนี ฟีลีเปปี หรือ ซันโดร บอตตีเชลลี หรือเรียกสั้น ๆ ว่า บอตตีเชลลี (อิตาลี: Alessandro di Mariano di Vanni Filipepi หรือ Sandro Botticelli เรียกย่อว่า Il Botticello; 1 มีนาคม ค.ศ. 1444 (พ.ศ. 1987/1988) – 17 พฤษภาคม ค.ศ. 1510 (พ.ศ. 2053)[2] เป็นจิตรกรชาวอิตาลีแห่งสกุลช่างเขียนแห่งฟลอเรนซ์ระหว่างสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาตอนต้น เพียงไม่ถึงร้อยปึต่อมาวิธีการเขียนของสกุลช่างนี้ (ภายใต้การอุปถัมภ์ของโลเรนโซ เด เมดีชี) ก็ถูกจัดโดยจอร์โจ วาซารีให้เป็น “ยุคทอง” ในบทนำของหนังสือ “ชีวิตศิลปิน” ในส่วนชีวประวัติของบอตตีเชลลี ชื่อเสียงของบอตตีเชลลีได้รับความเสียหายหลังจากที่เสียชีวิตไปแล้วมาจนกระทั่งปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 แต่ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาบอตตีเชลลีก็ได้รับความนับถือว่าเป็นจิตรกรฝีมือดีของสมัยเรอแนซ็องส์ตอนต้นของอิตาลีหรือสมัยที่เรียกกันในภาษาอิตาลีว่า “กวัตโตรเชนโต” ผลงานที่เป็นที่รู้จักกันว่าเป็นงานชิ้นเอกของงานเขียนแบบฟลอเรนซ์ก็ได้แก่ “กำเนิดวีนัส” และ “ฤดูใบไม้ผลิ

ประวัติ[แก้]

เบื้องต้น[แก้]

ประวัติชีวิตของบอตตีเชลลีเบื้องต้นไม่เป็นที่รู้จักกันเท่าใดนักเพียงแต่ทราบว่ามิได้ฝึกเป็นช่างเขียนจนอายุราวสิบสี่ปี ซึ่งชี้ให้เห็นว่าได้รับการศึกษามากกว่าช่างเขียนอื่น ๆ ร่วมสมัย วาซารีกล่าวว่าบอตตีเชลลีได้รับการฝึกเป็นช่างทองก่อนโดยอันโตนีโอ พี่ชาย[3] อาจจะเป็นราวปี ค.ศ. 1462 จึงได้ไปฝึกการเขียนภาพกับฟีลิปโป ลิปปี[4] งานชิ้นแรก ๆ ของบอตตีเชลลีกล่าวกันว่าเป็นงานของลิปปี แต่ก็ยังเป็นที่ไม่ตกลงกันว่าเป็นงานเขียนของผู้ใดแน่ แต่บอตตีเชลลีศึกษาการเขียนรายละเอียดและความอ่อนหวานจากลิปปี งานเขียนของจิตรกรสำคัญอีกผู้หนึ่งที่มีอิทธิพลต่องานของบอตตีเชลลีคืองานของมาซัชชีโอ จากหลักฐานที่เพิ่งพบเมื่อไม่นานนี้ ในช่วงเวลานี้บอตตีเชลลีอาจจะเดินทางไปฮังการีเพื่อไปช่วยในการเขียนจิตรกรรมฝาผนังของงานร่วมปฏิบัติของฟีลิปโป ลิปปี ที่แอสซ์แตร์กม (Esztergom) ที่ได้รับสัญญาจ้างจากวีติซ ยานอส (Vitéz János) ผู้เป็นอัครบาทหลวงแห่งฮังการี

ภายในปี ค.ศ. 1470 บอตตีเชลลีก็มีห้องเขียนภาพเป็นของตัวเอง แม้ว่าจะเป็นงานเขียนสมัยต้นแต่ลักษณะการเขียนก็เป็นงานเขียนที่แสดงลักษณะที่พบในประติมากรรมแบบนูนต่ำมีเน้นการเขียนขอบคันและลดความตัดกันระหว่างแสงและเงา

งานชิ้นเอก[แก้]

“ฤดูใบไม้ผลิ”: สัญลักษณ์ของฤดูใบไม้ผลิและการเริ่มต้นของศิลปะเรอแนซ็องส์แบบฟลอเรนซ์ จากซ้ายไปขวา: เทพเมอร์คิวรี, ไตรเทพี, วีนัส, เทพฟลอรา, เทพคลอริส และ เทพเซฟีรัส

งานชิ้นเอกสองชิ้น “ฤดูใบไม้ผลิ” (Primavera) ที่เขียนราวปี ค.ศ. 1478 และ “กำเนิดวีนัส” (The Birth of Venus) ที่เขียนราว ปี ค.ศ. 1485 เป็นงานที่วาซารีเห็นที่คฤหาสน์ของโลเรนโซ ดี ปิแอร์ฟรันเชสโก เด เมดีชี ที่เมืองกัสเตลโลราวกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 และเป็นที่เชื่อกันมาจนกระทั่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่าเป็นงานเขียนที่สร้างขึ้นโดยเฉพาะสำหรับคฤหาสน์ที่กัสเตลโล แต่ผู้เชี่ยวชาญเมื่อไม่นานมานี้เชื่อว่าภาพ “ฤดูใบไม้ผลิ” เขียนสำหรับคฤหาสน์ของเมดีชีในฟลอเรนซ์ และภาพ “กำเนิดวีนัส” เขียนสำหรับผู้จ้างคนอื่นสำหรับสถานที่อื่น แต่เมื่อราวปี ค.ศ. 1499 สองภาพนี้ก็ได้มาตั้งที่คฤหาสน์ที่กัสเตลโล[5]

งานสองชิ้นนี้มีอิทธิพลมาจากงานวรรณกรรมแบบสัจนิยมของกอทิกจากการศึกษางานเขียนโบราณของบอตตีเชลลี แต่ถ้าจะให้เข้าใจภาพเขียนอย่างที่ภาพควรจะเป็นที่เข้าใจ เนี้อความของภาพเขียนก็ยังกำกวมและทำให้ผู้ดูฉงนสนเท่ห์อยู่ ความซับซ้อนของความหมายทำให้ภาพยังได้รับการวิจัยศึกษาโดยผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเน้นความเข้าใจในทางปรัชญาของมานุษยวิทยาและโคลงกลอนของศิลปินร่วมสมัยของบอตตีเชลลี งานของบอตตีเชลลีมิได้พยายามสื่อสารข้อความจากบทเขียนเรื่องเดียว แต่จากหัวข้อสำคัญของบทเขียนจากหลายแหล่ง สำหรับความงามของภาพเขียนวาซารีใช้คำว่า “grace”

ต่อมา[แก้]

“วืนัสและเทพแห่งสงคราม” ค.ศ. 1483

ภาพ “การนมัสการของโหราจารย์” ที่เขียนเมื่อปี ค.ศ. 1476 สำหรับวัดซันตามาเรียโนเวลลา (Santa Maria Novella) มีภาพเหมือนของโกซีโม เด เมดีชี[6], จูลิอาโน เด เมดีชี (หลาน) และ โจวันนี เด เมดีชี (ลูก) วาซารีสรรเสริญคุณภาพของภาพเขียนว่าเป็นจุดสุดยอดของบอตตีเชลลี

ในปี ค.ศ. 1481 สมเด็จพระสันตะปาปาซิกส์ตุสที่ 4 เรียกตัวบอตตีเชลลีและช่างเขียนผู้มีชื่อเสียงชาวฟลอเรนซ์และอุมเบรียอื่น ๆ ไปเขียนจิตรกรรมฝาผนังที่โบสถ์น้อยซิสทีน งานที่บอตตีเชลลีเขียนมีความสำเร็จพอประมาณ หลังจากนั้นบอตตีเชลลีก็กลับมาฟลอเรนซ์ และเขียนความเห็นบางส่วนของงานของดันเตและเขียนภาพประกอบ “ไฟนรก” (Inferno) สำหรับมหากาพย์ ดีวีนากอมเมเดีย (ไตรภูมิดันเต) ซึ่งบอตตีเชลลีทุ่มเททั้งทางใจและทางกำลังทรัพย์จนทำให้ชีวิตออกจะไม่เข้าร่องเข้ารอยอยู่ระยะหนึ่ง

กลางคริสต์ทศวรรษ 1480 บอตตีเชลลีเขียนจิตรกรรมฝาผนังชิ้นสำคัญร่วมกับปีเอโตร เปรูจีโน, โดเมนีโก กีร์ลันดาโย และฟีลิปปีโน ลิปปี ให้กับโลเรนโซ เด เมดีชีที่คฤหาสน์ใกล้เมืองวอลแตร์รา นอกไปจากการเขียนจิตรกรรมฝาผนังสำหรับวัดหลายแห่งในฟลอเรนซ์

ในปี ค.ศ. 1491 บอตตีเชลลีทำงานให้กับสมาคมที่มีอำนาจในการตัดสินในการตกแต่งด้านหน้าของมหาวิหารฟลอเรนซ์ ในปี ค.ศ. 1502 บอตตีเชลลีถูกกล่าวหาว่ามีความผิดในการสมสู่วัจมรรคแต่ต่อมาศาลก็ยกเลิกข้อกล่าวหา ในปี ค.ศ. 1504 บอตตีเชลลีได้เป็นสมาชิกของคณะกรรมการที่มีอำนาจในการตัดสินใจเกี่ยวกับที่ตั้งของประติมากรรมดาวิดโดยมีเกลันเจโล งานเขียนสมัยต่อมา โดยเฉพาะงานเขียนในชุดประวัติของนักบุญเซนอบิอุส (Saint Zenobius) แสดงการเปลื่ยนแปลงวิธีการเขียนรูป ตัวแบบจะออกไปทางบิดเบือนและการใช้สีที่ไม่เป็นธรรมชาติ เช่นที่เห็นในงานเขียนของฟราอันเจลีโกเกือยร้อยปีก่อนหน้านั้น

อ้างอิง[แก้]

  1. Ettlingers, หน้า 7. แหล่งข้อมูลอื่นระบุ 1446, 1447 หรือ 1444–45.
  2. ซันโดร บอตตีเซลลี NNDB.com.
  3. Lightbown, หน้า 19. ตามข้อเขียนของวาซารี, เขายังคงอยู่ในโรงเรียนในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1458 เป็นลูกศิษย์ที่มีความสามารถ เขาไม่ชอบอยู่ว่าง และเริ่มฝึกหัดเป็นช่างทอง.
  4. Lightbown, หน้า 20.
  5. Smith, Webster (มีนาคม 1975). "On the Original Location of the Primavera". The Art Bulletin. 57 (1): 31–40. doi:10.2307/3049335.
  6. Giorgio Vasari (1912). Lives of the Most Excellent Painters, Sculptors, and Architects. แปลโดย Gaston du C. de Vere. London: Macmillan and co. ld. & the Medici Society, ld.

บรรณานุกรม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]