วัดกลางสุรินทร์
วัดกลางสุรินทร์ | |
---|---|
ชื่อสามัญ | วัดกลาง อำเภอเมืองสุรินทร์ / วัดกลางสุรินทร์ |
ที่ตั้ง | 431 ถนนธนสาร ตำบลในเมือง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ 32000 |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | เถรวาท / มหานิกาย |
พระพุทธรูปสำคัญ | พระพุทธสุรินทรพร |
เจ้าอาวาส | พระครูปริยัติกิจธำรง (สมหวัง อคฺคเสโน) |
จุดสนใจ | พระธาตุเจดีย์ศรีเมืองช้างวัดกลางสุรินทร์ |
กิจกรรม | เข้าวัดฟังธรรมะ ให้ทาน รักษาศีล เจริญจิตภาวนา |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดกลาง หรือ วัดกลางสุรินทร์[1] เป็นวัดสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย เขตปกครองคณะสงฆ์หนตะวันออก ภาค 11 ได้รับการพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2508 กำหนดเขตวิสุงคามสีมา กว้าง 15 เมตร ยาว 27 เมตร
ประวัติ
[แก้]เมืองสุรินทร์เมื่อก่อนเป็นเมืองโบราณ มีชื่อเรียกว่า คูประทาย หรือ ไผทสมัน มีกำแพงและคูล้อมชั้นใน เป็นรูปวงกลม วัดผ่าศูนย์กลางจากตะวันออกสู่ตะวันตกประมาณ 22 เส้นจากทิศเหนือจดใต้ประมาณ 26 เส้น มีกำแพงและคูชั้นนอกอีกชั้นหนึ่งเป็นรูปสี่เหลี่ยมวงรี ๆ รวมเป็นกำแพง 2 ชั้น ภูมิประเทศภายในเขตกำแพงชั้นในส่วนมากเป็นที่ลุ่ม บางแห่งมีน้ำขังอยู่ตลอดฤดูหนาว ที่เป็นเนินมีบริเวณจากซอยตาดอกทอดไปทางทิศตะวันออกจดวัดบูรพารามด้านทิศใต้แค่บริเวณถนนหลักเมือง เนินที่สูงสุดตรงบริเวณทิศใต้ตลาดเทศบาล ชาวบ้านเรียกคนแถบนี้ว่า “คุ้มโคกสูง” วัดที่มีอยู่ในตัวเมืองสุรินทร์ ที่เป็นวัดโบราณเก่าแก่มี 9 วัด ที่สร้างขึ้นใหม่เฉพาะในเขตเทศบาลมี2 วัด วัดทั้ง 10 นี้ตั้งอยู่ดังนี้
วัดกลางและวัดบูรพาราม ตั้งอยู่ภายในเขตกำแพงชั้นใน วัดจำปา, วัดศาลาลอย วัดจุมพลสุธาวาส, วัดพรหมสุรินทร์ และวัดโคกบัวราย (ตั้งใหม่) ตั้งอยู่ภายในเขตกำแพงชั้นนอกและวัดที่ตั้งอยู่นอกกำแพงชั้นนอกมี วัดหนองบัว, วัดประทุมเมฆ และวัดเทพสุรินทร์ (สร้างใหม่) วัดทั้ง 8 ล้วนเป็นวัดโบราณไม่มีประวัติจารึกว่า วัดใดสร้างขึ้นเมื่อใดแน่นอน อนึ่ง ภายในเขตกำแพงและคูเมืองชั้นใน มีที่พอสันนิษฐานว่า เคยเป็นวัดมาก่อน 4 แห่งคือ
- ในพื้นที่บริเวณตั้งโรงเรียนสุรินทร์ราษฏร์บำรุง มีซากอิฐเก่าแก่มาก่อนเคยมีต้นโพธิ์ปรากฏมาแต่เดิม ชาวบ้านแห่งนี้ว่า ”โคกโพธิ์”
- ในพื้นที่ตั้งโกลเด้นท์ไนคลับ มีซากอิฐเป็นมาก่อน บางคนว่าเคยเป็นวัดบางคนว่า น่าจะเป็นเทวาลัย เพราะมีอิฐกองเป็นกลุ่มขนาดย่อม ชาวบ้านเรียกที่แห่งนี้ว่า “โพธิ์ร้าง” ขณะนี้ต้นโพธิ์ยังมีอยู่
- ที่ตั้งสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุรินทร์ในปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสุรินทร์ เคยมีต้นโพธิ์ใหญ่ มีซากอิฐมาก่อนผู้แก่ผู้เฒ่าเล่ากันว่า เป็นวัดมาก่อน แต่ย้ายออกไปทางทิศใต้ พ้นเขตกำแพงชั้นนอกและต่อมาก็ย้ายกลับมาภายในกำแพงชั้นนอก คือวัดจุมพลสุทธาวาสปัจจุบันนี้ ณ ที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนี้ ชาวบ้านเรียกว่า “โคกโพธิ์สามต้น”
- ณ ที่เนินนอกกำแพงชั้นใน ตรงใกล้มุมกำแพงเมืองด้านตะวันตกเฉียงใต้เคยเป็นวัดมาก่อนเรียกว่า วัดศาลาแดง ต่อมาวัดนี้ย้ายขยับมาทางทิศตะวันออก คือวัดพรหมสุรินทร์ปัจจุบันนี้ ที่บริเวณวัดศาลาแดง ทางวัดพรหมสุรินทร์ ถือว่าเป็นธรณีสงฆ์ของวัด แต่ชาวบ้านก็ยึดครองปลูกบ้านเรือนอยู่ ไม่ยอมรับรู้ว่าเป็นธรณีสงฆ์ของวัด
วัดกลางสุรินทร์ ได้เริ่มสร้างขึ้นเมื่อใดใครเป็นผู้สร้าง เจ้าอาวาสองค์แรกและองค์ต่อ ๆ มามีชื่ออย่างไรบ้าง ไม่มีหลักฐานปรากฏชัดแต่สถานที่ตั้งวัดนั้นพอมีเหตุผลที่น่าเชื่อดังนี้ เมืองสุรินทร์มีกำเนิดมาแต่ครั้งใด นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่า หลายร้อยปีมาแล้วโดยมีชื่อเดิมว่า ไผทสมัน ต่อมาเมื่อประมาณ พ.ศ. 2306 เชียงปุมซึ่งเดิมอยู่บ้านเมืองที ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระสุรินทร์ภักดี และย้ายมาอยู่ที่ไผทสมัน เมืองนี้จึงได้ชื่อว่าเมืองสุรินทร์ ตามบรรดาศักดิ์ของเจ้าเมือง ในการอพยบครั้งแรก สันนิษฐานว่า ได้เริ่มกำหนดตั้งสถานที่หลักเมืองขึ้นโดยถือเนื้อที่ส่วนกลางของเมืองจริง ๆ กล่าวคือประมาณอาณาเขตภายในคูกำแพงเมืองชั้นใน จากทิศตะวันออกจดทิศตะวันตก และจากทิศเหนือจดทิศใต้ มีศูนย์กลางตรงที่ตั้งหลักเมืองในปัจจุบันพอดี ถนนสายนี้เกิดขึ้นในสมัยหลัง ส่วนจวนเจ้าเมืองนั้น ตั้งเยืองจากศาลเจ้าหลักเมืองมาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือตรงบริเวณตลาดเก่า ตรงหน้าวัดกลางปัจจุบัน หรือบริเวณหลังโรงแรมโมเมเรียลทั้งหมดเป็นบริเวณจวนเจ้าเมืองมาแต่เดิม แต่ปัจจุบันนี้เป็นที่ของเอกชนหมดแล้ว วัดกลาง น่าจะเริ่มได้รับการก่อสร้างขึ้นในสมัยนี้ ทั้งนี้เนื่องจากตั้งในเนื้อที่แนวเดียวกับจวนเจ้าเมือง ด้านทิศตะวันออกขนานกับจวนเจ้าเมือง โดยมีทางขั้นกลางระหว่างจวนเจ้าเมืองกับวัด ปัจจุบันทางสายนี้ คือถนนธนสารซึ่งเป็นทางสายเดียว ที่ตัดกลางเมืองทอดจากกำแพงด้านเหนือจดด้านใต้ และมีถนนสายหลักเมืองผ่ากลางจากตะวันออกสู่ตะวันตก ตัดกันเป็นสี่แยกหลักเมือง ถนนสองสายนี้เป็นถนนดังเดิมของเมืองสุรินทร์ การวางผังเมืองของเจ้าเมืองสุรินทร์ เข้าใจว่า ได้เพ่งถึงจุดศูนย์กลางของตัวเมืองและสร้างจวนในบริเวณดังกล่าว ที่แห่งนี้เป็นเนินสูง
ข้อยืนยันว่าเจ้าเมืองคนแรกสร้างวัดกลางสุรินทร์
[แก้]ข้อยืนยันว่า เจ้าเมืองสุรินทร์คนแรกเป็นผู้สร้างวัดกลางสุรินทร์ มีเหตุผลประกอบดังนี้
หลังจากเชียงปุมได้รับพระราชทานยศและตำแหน่ง กลับมาสู่บ้านเดิมที่เมืองที และเห็นว่าที่บ้านเมืองทีเป็นบ้านเล็ก ชัยภูมิไม่เหมาะสมจึงย้ายมาตั้งเมืองที่คูประทาย เมื่อกำหนดที่ตั้งจวนแล้วก็วางผังการสร้างวัดเคียงข้างกับเขตจวน ทางทิศตะวันออก การตั้งวัดนี้ น่าจะเป็นการเลียนแบบข้าราชการทหารในสมัยนั้น ที่กลับจากการทำศึกสงครามก็มีการสร้างวัด ซึ่งการสร้างวัดนี้แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ก็สร้างมาก ข้าราชบริพารก็สร้างเช่นกัน จนมีคำกล่าวในสมัยนั้นว่า “สร้างวัดให้ลูกเล่น” เจ้าเมืองสุรินทร์ได้สร้างวัดขึ้นเป็นความนิยมตามสมัยนั้น เป็นการเลียนแบบจากส่วนกลางก็ได้ เจ้าเมืองอาจตั้งความประสงค์ว่า เมื่อสร้างเมืองก็สร้างวัดเป็นคู่บ้านคู่เมืองด้วย จึงกำหนดพื้นที่วัดกลางติดกับเขตจวน การปฏิบัติราชการในสมัยนั้น ไม่มีศาลากลางเป็นเอกเทศใช้จวนเป็นที่ราชการด้วย เมื่อมีการชุมนุมเรื่องข้าราชการก็ใช้บริเวณวัดเป็นที่ชุมนุมเป็นความสะดวกสบายโดยตลอด วัดกลางได้เป็นที่ร่วมประชุมของทางราชการตลอดในสมัยนั้น รวมทั้งการระดมพล ตามที่กล่าว ณ เบื้องต้นว่า เรื่องมีปรากฏซากอิฐเก่าที่ “โคกโพธิ์” คือบริเวณตั้งโรงเรียนราษฎร์บำรุงว่า เคยเป็นที่ตั้งวัดมาแต่เดิม เมื่อพระสุรินทร์มาสร้างเมืองแล้วเมื่อมีการวางผังเมืองและกำหนดที่วัด โดยท่านเจ้าเมืองอาจโยกย้ายวัดนี้มาตั้งเป็นวัดกลางก็ได้ ทั้งนี้โดยเหตุผลตามคติพื้นบ้านถือว่า การสร้างวัดต้องให้อยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน จึงจะเป็นมงคล วัดอยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน ถือว่าเป็นอัปมงคล วัดอยู่ทางทิศเหนือหรือใต้หมู่บ้านไม่ถือเป็นเรื่องเสียหาย อาจจะเป็นเพราะเหตุที่เจ้าเมืองสร้างจวนอยู่ทางทิศตะวันออกวัด จึงย้ายวัดจากทิศตะวันตกมาตั้งทิศตะวันออก แต่ทั้งนี้เป็นเพียงข้อสันนิษฐานอาจจะร้างไปเอง และวัดกลางก็อาจตั้งขึ้นใหม่ก็ได้ แต่เหตุผลที่ยืนยันมานั้นพอกล่าวได้ว่า วัดกลางเกิดในสมัยพระสุรินทร์คนแรกแน่นอน เพราะปรากฏเรื่องของเจ้าเมืองดังกล่าวแล้ว
วิสุงคามสีมา
[แก้]วัดกลาง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานวิสุงคามสีมา ประกาศ ณ วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2508 ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 82 ตอนที่ 24 19 มีนาคม 2508 ฉบับพิเศษ หน้า 18 และบัญชีรายชื่อวัดที่ขอพระราชทานวิสุงคามสีมา งวดที่ 1 ประจำปี 2508 ลำดับที่ 94 วัดกลาง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ กำหนดเขตวิสุงคามสีมา กว้าง 15 เมตร ยาว 27 เมตร ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 82 ตอนที่ 24 19 มีนาคม 2508 ฉบับพิเศษ หน้า 22[2]
ประเพณี
[แก้]วัดกลางสุรินทร์มีอุโบสถ สร้างด้วยอิฐโบกปูนแบบโบราณ ไม่มีปูนซีเมนต์เช่นปัจจุบัน เป็นโครงสวยงามในสมัยโบราณมาแล้ว วัดกลางเป็นศูนย์งานราชการ เช่นการเกณฑ์คนมาเพื่อกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง มีเกณฑ์ทหารเป็นต้น งานประเพณีของชาวบ้านที่ต้องชุมนุม และที่เกี่ยวกับด้านศาสนาดังนี้
- ประเพณีการบวชนาค ในแต่ละปีนาคในเขตเมืองและจากตำบลต่าง ๆ ที่ใกล้เคียงมีการนัดบวชพร้อมกัน โดยเจ้าเมืองเป็นผู้นัด ปกติก็นัดตั้งขบวนแห่ตระเวน ในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6 เจ้าเมืองมีการเกณฑ์ช้าง ประมาณไม่ต่ำกว่าร้อยเชือก แห่ไปสมทบที่ต่าง ๆ หนึ่งวันเป็นที่สนุกสนาน มีขบวนม้าล่อช้าง เกิดทั้งความสนุกสนานตื่นเต้น ตอนค่ำก็ทำพิธีเรียกขวัญ และเจริญพระพุทธมนต์สมโภช รุ่งเช้าขบวนในเมืองก็แห่ไปรับนาคจากข้างนอก เมื่อสมทบพร้อมกันแล้ว แห่ตระเวนนอกเมืองประมาณบ่าย นาคทั้งหลายก็พร้อมกันกราบลาเจ้าเมือง แล้วเข้าบวช เสร็จตอนดึกเลยเที่ยงคืนก็มีชาวบ้านเรียกการบวชนาคนี้ว่า “นาคหลวง วัดกลางถือว่าเป็นวัดหลวง” เพราะเป็นที่รวมชุมชนทุกอย่าง โดยเจ้าเมืองเป็นประธานในงานทุกอย่าง
- ประเพณีสงกรานต์ เมือถึงเดือน 5 ชาวบ้านทุกคุ้มในเมืองร่วมขนทรายก่อเจดีย์ ณ วัดกลาง เป็นการประกวดประชันกันในการแต่งเจดีย์ทราย วันขึ้น 14 ค่ำ เป็นวันแต่งเจดีย์ทรายและสมโภช รุ่งเช้าทำบุญตักบาตร ตอนบ่ายเริ่มสรงน้ำพระโดยตระเวรไปตามวัดต่าง ๆ แล้วมารวมกัน ณ วักลางสุรินทร์ มีการละเล่นต่าง ๆ มีเล่นตรุษรำสาก เจรียง จรวง เจรียงนอระแก้ว เล่นซ้อนผ้าและสะบ้า ระหว่างหนุ่มสาวเป็นที่ครื้นเครง เป็นประจำทุกปี
- ประเพณีวันสารท วันดับเดือน 10 ถือว่าเป็นวันสารท หลังจากการทำบุญจากทุกวัดก็มาชุมนุมกัน มีการกีฬาพื้นบ้าน เช่น ชักคะเย่อระหว่างหนุ่มสาว บางครั้งหนุ่ม ๆ อริก็เรียกตัวมาชกมวยกัน เป็นทั้งมวยธรรมดาและขึงเป็นเขตให้ชก หลังจากนั้นก็แนะนำให้มีความสามัคคีกัน เลิกโกรธแค้นพยาบาทกัน วัดกลางเหมือนสนามศาลากลางจังหวัดในปัจจุบัน
- พระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา หลังจากสมัยเจ้าเมืองคนแรก วัดกลางยังเป็นศูนย์รวมประเพณีต่าง ๆ แม้ในสมัยต่อมาเมื่อทางราชการมีพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ก็ได้มาประกอบพิธี ณ วัดกลางเป็นเวลาหลายปี สมัยต่อมาวัดกลางก็ถึงความเจริญบ้าง เสื่อมบ้างตามยุคสมัย กล่าวคือยุคใดเจ้าอาวาสมีความสามารถในการปกครองวัด และฝ่ายบ้านเมืองให้ความอุปถัมภ์มั่นคง ก็มีความเจริญขึ้น สมัยใดขาดเจ้าอาวาสที่ทรงคุณ ก็ขาดผู้อุปถัมภ์ สมัยนั้นก็ตกอยู่ในสภาพร่วงโรย บางสมัยก็ว่างพระเหลือแต่เณร บางสมัยก็ว่างหมด วัดร่วงโรยถึงที่สุดเป็นครั้งคราว
- ประเพณีกวนข้าวทิพย์ลอยฟ้า วัดกลางสุรินทร์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองสุรินทร์ จัดขึ้นก่อนวันออกพรรษา 3วัน ของทุกปี
- ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดกลางสุรินทร์ และ อุบาสกอุบาสิกาคุ้มวัดกลางสุรินทร์ ได้จัดต้นเทียนร่วมขบวนแห่เทียนพรรษาประจำทุกปี
- ประเพณีตักบาตรดอกไม้ ในเวลา 18.30 น. ของวันเข้าพรรษาเป็นประจำทุกปี เพื่อนิมนต์พระภิกษุที่อยู่ในอาวาสวัดกลางสุรินทร์เข้าจำพรรษา
- ประเพณีกันสงฆ์ (กิจกรรมทำบุญอุทิศต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 12 วัน) วัดกลางสุรินทร์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองสุรินทร์ จัดขึ้นในเดือนตุลาคม ของทุกปี
- งานนมัสการพระธาตุเจดีย์ศรีเมืองช้าง วัดกลางสุรินทร์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์
- งานนมัสการพระพุทธสุรินทรพร ณ ศูนย์ปฏิบัติธรรมวัดกลางสุรินทร์ บ้านละเอาะ ตำบลเฉนียง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์
อาณาเขต
[แก้]ในสมัยก่อนมีความกว้างขวาง จดเขตติดต่อถึงวัดบูรพาราม แต่เนื่องจากความล้มลุกคลุกคลานของวัดประกอบด้วยการครอบครองที่ดินของวัดด้วยมือเปล่า เมื่อทางราชการได้มีการวางผังเมืองขึ้น ที่ดินของวัดมีสภาพรกร้างว่างเปล่าครอบครองไม่ทั่วถึง ทางราชการได้ถือเอาที่ดินทางบริเวณทิศใต้สระของวัดทั้งหมดเป็นที่ราชพัสดุของกระทรวงยุติธรรม คงปล่อยเพียงสระน้ำให้เป็นของวัด โดยที่ไม่มีใครชี้แจงคัดค้านชี้แนวเขตของวัด ประกอบชาวเมืองสุรินทร์สมัยนั้น ก็คือชาวบ้านที่ไร้การศึกษา ไม่มีความเจริญทางภาษาที่พูด ใช้ภาษาท้องถิ่นคือภาษาเขมร ไม่มีความรู้ภาษาไทยเลย ข้าราชการในสมัยนั้นชาวบ้านรู้สึกว่าเป็นเจ้านายไม่กล้าคัดค้านถกเถียงข้าราชการ จะพูดอะไรได้ตามใจชอบเพราะพูดกันไม่รู้เรื่อง แม้ภิกษุสงฆ์ก็ไม่ต่างจากชาวบ้าน
- ในสมัยต่อมา "หลวงวุฒิธรรมเนติกร" มาเป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัด ได้ขอที่ดินปลูกโรงงานเลื่อยไม้ ขอกั้นสระน้ำเป็นที่สงวนไว้ใช้ในครอบครัวผู้พิพากษาศาลจังหวัด (ประมาณ พ.ศ. 2468-2475) และที่นี้ก็ขาดกรรมสิทธิ์อีกครั้งหนึ่ง โดยที่ท่านผู้นี้ไม่ได้บอกคืนแก่วัด และวัดก็ไม่กล้าเรียกร้องคืนที่ดินส่วนนี้จึงตกเป็นราชพัสดุไปอีก 2 ตอน
- อนึ่ง ทางทิศใต้ของวัด ก็ได้เป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน โดยที่วัดไม่ได้มีหลักฐานเรียกร้องคืนเลย ที่ดินดังกล่าวจึงถูกตัดขาดไป
- ปัจจุบันวัดนี้มีพื้นที่ 3 ไร่ 3 งาน 48 ตารางวา และหลังจากเกิดอัคคีภัยเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2516 ทางราชการได้ขอขยายถนนธนสารด้านหน้าวัดอีกประมาณ 1 เมตรเศษตลอดแนวด้านหน้าของวัดจึงมีความจำเป็นต้องสละเพื่อความเจริญของบ้านเมือง
ที่ดินและที่ธรณีสงฆ์
[แก้]- ที่ตั้งวัดกลางสุรินทร์ มีที่ดินเนื้อที่ 3 ไร่ 3 งาน 48 ตารางวา
- ที่ธรณีสงฆ์วัดกลางสุรินทร์ ณ ศูนย์ปฏิบัติธรรมวัดกลางสุรินทร์ และศูนย์การศึกษาพระปริยัติธรรมวัดกลางสุรินทร์ เลขที่ 22 หมู่ที่ 18 บ้านละเอาะ ตำบลเฉนียง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ มีที่ดินเนื้อที่ 17 ไร่ - งาน 33 ตารางวา
- ที่ธรณีสงฆ์ เขตตำบลสลักได จำนวน 24 ไร่ โครงการก่อสร้าง สมหวังธรรมสถาน เกษตรพอเพียง สถานอนุเคราะห์เกื้อกูลผู้สูงวัย-ผู้สูงอายุ ทั้งบรรพชิต และฆราวาส
ลำดับเหตุการณ์สำคัญ
[แก้]- พิธีดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยา ของข้าราชการที่มารับราชการที่เมืองสุรินทร์ หลังจากสมัยเจ้าเมืองคนแรก วัดกลางยังเป็นศูนย์รวมประเพณีต่าง ๆ แม้ในสมัยต่อมาเมื่อทางราชการมีพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ในพัทธสีมาอุโบสถ ของบรรดา ข้าหลวง ข้าราชการที่มาดำรงตำแหน่งปฏิบัติหน้าราชการที่เมืองสุรินทร์ ก็ได้มาประกอบพิธี ณ วัดกลางเป็นเวลาหลายปี สมัยต่อมาวัดกลางก็ถึงความเจริญบ้าง เสื่อมบ้างตามยุคสมัย กล่าวคือยุคใดเจ้าอาวาสมีความสามารถมีความรู้ในการปกครองวัด และฝ่ายบ้านเมืองให้ความอุปถัมภ์มั่นคง ก็มีความเจริญขึ้น สมัยใดขาดเจ้าอาวาสที่ทรงคุณ ก็ขาดผู้อุปถัมภ์ สมัยนั้นก็ตกอยู่ในสภาพร่วงโรย บางสมัยก็ว่างพระเหลือแต่เณร บางสมัยก็ว่างหมด วัดร่วงโรยถึงที่สุดเป็นครั้งคราว
- พ.ศ. 2524 เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสน์ วาสโน) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเสด็จพระดำเนิน เป็นองค์ประธานในพิธีพระราชทานสัญญาบัตร พัดยศสมณศักดิ์ [3]และทรงประทานผ้าไตรพระราชทาน แก่พระครูสัญญาบัตร ของคณะสงฆ์หนตะวันออก เมื่อวันที่ 12 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2524 ณ ศาลาสหมิตรรังสรรค์ วัดกลางสุรินทร์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ โดยมี เจ้าประคุณ สมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ปุณฺณโก) เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก วัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร พระเดชพระคุณ พระพรหมคุณาภรณ์ (พุ่ม กิตฺติสาโร) เจ้าคณะภาค 11 และท่านเจ้าคุณ พระราชสิทธิโกศล (เทพ นนฺโท) เจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ เข้าเฝ้ารับเสด็จ และเข้าเฝ้าทูลถวายสักการะ พร้อมด้วยบรรดาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของจังหวัดสุรินทร์
- พ.ศ. 2554 เจ้าประคุณ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ได้เมตตามาเป็นประธานในพิธีและประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ ณ ศูนย์ปฏิบัติธรรมวัดกลางสุรินทร์ และศูนย์การศึกษาพระปริยัติธรรมวัดกลางสุรินทร์ เลขที่ 22 หมู่ที่ 18 บ้านละเอาะ ตำบลเฉนียง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ เมื่อวันที่ 22 เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช 2554
ทำเนียบเจ้าอาวาส
[แก้]วัดกลางสุรินทร์ตั้งแต่สมัยแรกเริ่มการสร้างวัดเมื่อประมาณ พ.ศ. 2306-2320 แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเจ้าอาวาสรูปแรกและต่อ ๆ มามีกี่รูปกี่สมัย มีชื่ออย่างไรบ้าง ไม่มีหลักฐานปรากฏ เพิ่งมาปรากฏในยุคหลัง ประมาณ พ.ศ. 2440 เป็นต้นมา จนถึงเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน มีรายนาม ตามลำดับดังนี้
ลำดับ | รูป | รายนาม / สมณศักดิ์ | ดำรงตำแหน่ง | ถึง |
1 | พระอาจารย์แก้ว | ประมาณ พ.ศ. 2440 | พ.ศ. 2450 | |
2 | พระอาจารย์น้อม | ประมาณพ.ศ. 2450 | พ.ศ. 2453 | |
3 | พระอาจารย์โหย | ประมาณพ.ศ. 2453 | พ.ศ. 2455 | |
4 | พระอาจารย์ใบ | ประมาณพ.ศ. 2455 | พ.ศ. 2460 | |
5 | พระอาจารย์มี | ประมาณ พ.ศ. 2460 | พ.ศ. 2464 | |
6 | พระอาจารย์ทิน | ประมาณ พ.ศ. 2464 | พ.ศ. 2475 | |
7 | พระประภากรคณาจารย์ (เดื่อ ปภากโร) | พ.ศ. 2475 | พ.ศ. 2506 | |
8 | พระราชสิทธิโกศล (เทพ นนฺโท) | พ.ศ. 2506 | พ.ศ. 2539 | |
9 | พระครูบรรณสารโกวิท (แป สุปญฺโญ) | พ.ศ. 2539 | พ.ศ. 2550 | |
10 | พระครูปริยัติกิจธำรง (สมหวัง อคฺคเสโน) | พ.ศ. 2550 | ปัจจุบัน |
พระภิกษุที่มีบทบาททางคณะสงฆ์
[แก้]ได้รับตำแหน่งทางคณะสงฆ์ในระดับจังหวัด
[แก้]- พระมหาสาโรช วิสารโท ป.ธ.6 อดีตเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ (ม) (ลาสิกขา)
- พระประภากรคณาจารย์ (เดื่อ ปภากโร)[4] อดีตเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ (ม) (มรณภาพ)
- พระราชสิทธิโกศล (เทพ นนฺโท) อดีตเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ (มรณภาพ)
- พระปริยัติวรคุณ (สุคนธ์ คนฺธวํโส)[5] (น.ธ.เอก,ป.ธ.6)อดีตรองเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์รูปที่ 2 (ม) พ.ศ. 2516 (ลาสิกขา)
- พระครูวิภัชกัลยาณธรรม (จันทร์ กลฺยาณมุตฺโต) อดีตเผยแผ่จังหวัด (ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดศาลาลอย มรณภาพ)
- พระครูปริยัติกิจธำรง (สมหวัง อคฺคเสโน) ป.ธ.4 เป็นรองเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ (2560)
ได้รับตำแหน่งทางคณะสงฆ์ในระดับอำเภอ
[แก้]- พระครูบรรณสารโกวิท (แป สุปญฺโญ)อดีตเจ้าคณะอำเภอเมืองสุรินทร์ - กิ่งอำเภอเขวาสินรินทร์ (มรณภาพ)
- พระครูธรรมรสสุนทร (เมธ ปญฺญาวโร) ป.ธ.5[6] อดีตเจ้าคณะอำเภอศีขรภูมิ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระสิทธิการโกศล (เมธ ปญฺญาวโร) อดีตรองเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ (ม) รูปที่ 2,อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ (มรณภาพ)
- พระครูสิริปริยัตยาทร (ถวิล ชินวโร) ป.ธ.4 อดีตรองเจ้าคณะอำเภอเมืองสุรินทร์รูปที่ 1 (มรณภาพ) ราชกิจจานุเบกษา,แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์,เล่ม 94,ตอนที่ 3, 6 มกราคม 2520,ฉบับพิเศษ หน้า 12 . พระมหาถวิล 4 ประโยค วัดกลาง จังหวัดสุรินทร์ เป็น พระครูสิริปริยัตยาทร
- พระครูประสาทธรรมวัฒน์ (เอียน สีลสาโร) อดีตรองเจ้าคณะอำเภอปราสาท อดีตเจ้าอาวาสวัดสุวรรณวิจิตร (มรณภาพ)
- พระมหาสมศักดิ์ ชาติญาโณ ป.ธ.5 ย้ายไปประจำอำเภอสังขะ อดีตรองเจ้าคณะอำเภอสังขะรูปที่ 1 (ลาสิกขาบท)
- พระมหาธีรวัฒน์ ป.ธ.3 อดีตเจ้าอาวาสวัดเทพสุรินทร์ อดีตรองเจ้าคณะอำเภอสังขะรูปที่ 2 (มรณภาพ)
- พระครูปริยัติกิจธำรง (สมหวัง อคฺคเสโน) ป.ธ.4 อดีตเจ้าคณะอำเภอเมืองสุรินทร์ (2558) ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์,เล่ม116,ตอน23ข,27 ธันวาคม 2542,หน้า 50 .พระมหาสมหวัง ๔ ประโยค วัดกลางสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ เป็นพระครูปริยัติกิจธำรง
ได้รับตำแหน่งทางคณะสงฆ์ในระดับตำบล
[แก้]- พระครูสถิตบุญโสภณ (บุญเรือง ฐิตสาโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดเพี้ยราม และอดีตเจ้าคณะตำบลเพี้ยราม-กาเกาะ
ได้รับตำแหน่งทางคณะสงฆ์ในระดับวัด
[แก้]- พระวชิรดิลก (สมพงษ์ สิริมงฺคโล) [7]เจ้าอาวาสพระอารามหลวง วัดพระแก้ว (อำเภอเมืองเชียงราย) จังหวัดเชียงราย ราชกิจจานุเบกษา,พระบรมราชโองการประกาศพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์,เล่ม141,ตอนที่38 ข, 3 กรกฎาคม 2567,หน้า 10 .ลำดับที่ 29. พระครูสุธีสุตสุนทร วัดพระแก้ว พระอารามหลวง จังหวัดเชียงราย เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ มีนามว่า พระวชิรดิลก
- รองเจ้าอาวาสวัดกลาง
- พระปริยัติวรคุณ (สุคนธ์ คนฺธวํโส) (พ.ศ. - พ.ศ. 2516)
- พระครูบรรณสารโกวิท (แป สุปญฺโญ)[8] (พ.ศ. 2506 - พ.ศ. 2532)
- พระครูสิริปริยัตยาทร (ถวิล ชินวโร)[9] (พ.ศ. 2533 - พ.ศ. 2539)
- พระมหาสมหวัง อคฺคเสโน (พ.ศ. 2540 - พ.ศ. 2550)
- ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดกลาง
- พระครูสิทธิการโกศล (เทพ นนฺโท) (พ.ศ. 2483 - พ.ศ. 2506)
- พระมหาเมธ ปญฺญาวโร ป.ธ.5 (พ.ศ. 2502 - พ.ศ. 2517)
- พระครูวิมลธรรมทัศน์ (จินต์ จิณฺณธมฺโม) (พ.ศ.-พ.ศ.-)
- พระมหาสมหวัง อคฺคเสโน ป.ธ.4 (พ.ศ. 2536 - พ.ศ. 2540)
- พระมหาชาญณรงค์ จิรเมธี ป.ธ.3 ( พ.ศ. 2556 - พ.ศ. 2564)
- พระครูสุตมัชฌิมานุกิจ (สมพงษ์ ฐิตจิตฺโต ป.ธ.3)[10] [11](พ.ศ. 2557 - ปัจจุบัน)
- พระมหาวิชาญ สุวิชาโน ป.ธ.4 (พ.ศ. 2564 - พ.ศ.2566)
- พระมหาสถิต สุธีรญาโณ ป.ธ.4 ( พ.ศ. 2564 - ปัจจุบัน)
- พระชะรินทร์ อคฺคธมฺโม ป.ธ.1-2 (พ.ศ. 2564 - ปัจจุบัน)
ได้รับตำแหน่งทางคณะสงฆ์ในระดับพระเลขานุการ
[แก้]- พระครูวิมลธรรมทัศน์ (จินต์ จิณฺณธมฺโม) ป.ธ.๕ [12]อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดกลางสุรินทร์ และอดีตเลขานุการเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์(ลาสิกขาบท) (พระราชสิทธิโกศล (เทพ นนฺโท) อดีตเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์) ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 97, ตอนที่ 188, 5 ธันวาคม 2523 , ฉบับพิเศษ หน้า 8 .พระมหาจินต์ 5 ประโยค วัดกลาง จังหวัดสุรินทร์ เป็น พระครูวิมลธรรมทัศน์
- พระครูสังฆรักษ์เลิศ รตินฺธโร อดีตเลขานุการเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ (พระราชสิทธิโกศล (เทพ นนฺโท) อดีตเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์) ปัจจุบันคือ พระครูบวรมณีรัตน์ (เลิศ รตินฺธโร) เจ้าอาวาสวัดชุมพลมณีรัตน์ ตำบลกระสัง อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์
- พระมหาสมหวัง อคฺคเสโน น.ธ.เอก ป.ธ.4 [13]อดีตเลขานุการเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ (พระราชสิทธิโกศล (เทพ นนฺโท) อดีตเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์)
- พระมหานัย โกวิโท น.ธ.เอก ป.ธ.5 อดีตเลขานุการเจ้าคณะอำเภอเมืองสุรินทร์-กิ่งอำเภอเขวาสินทร์ (พระครูบรรณสารโกวิท (แป สุปญฺโญ) อดีตเจ้าคณะอำเภอเมืองสุรินทร์ - กิ่งอำเภอเขวาสินรินทร์)
- พระมหาเมธี วชิรเมธี น.ธ.เอก ป.ธ.5 อดีตเลขานุการเจ้าคณะอำเภอเมืองสุรินทร์-กิ่งอำเภอเขวาสินทร์ (พระครูปัญญาวุฒิสุนทร (คุน ปญฺญาวุฑฺโฒ)อดีตเจ้าคณะอำเภอเมืองสุรินทร์-กิ่งอำเภอเขวาสินทร์)
- พระมหาวัชระ วชิรญาโณ น.ธ.เอก ป.ธ.3 อดีตผู้ช่วยเลขานุการเจ้าคณะอำเภอเมืองสุรินทร์-กิ่งอำเภอเขวาสินทร์ (ลาสิกขาบท) (พระครูปัญญาวุฒิสุนทร (คุน ปญฺญาวุฑฺโฒ)อดีตเจ้าคณะอำเภอเมืองสุรินทร์-กิ่งอำเภอเขวาสินทร์)
- พระวรศักดิ์ ขนฺติธมฺโม น.ธ.เอก ประโยค 1-2 อดีตผู้ช่วยเลขานุการเจ้าคณะอำเภอเมืองสุรินทร์-กิ่งอำเภอเขวาสินทร์(ลาสิกขาบท) (พระครูปัญญาวุฒิสุนทร (คุน ปญฺญาวุฑฺโฒ)อดีตเจ้าคณะอำเภอเมืองสุรินทร์-กิ่งอำเภอเขวาสินทร์)
- พระมหาสมพงษ์ ฐิตจิตฺโต น.ธ.เอก ป.ธ.3 เลขานุการรองเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ ใน(พระครูปริยัติกิจธำรง (สมหวัง อคฺคเสโน) รองเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์
- พระครูสังฆรักษ์ชาญณรงค์ จิรเมธี น.ธ.เอก ประโยค 1-2 อดีตเลขานุการเจ้าคณะอำเภอเมืองสุรินทร์ (พระครูปริยัติกิจธำรง (สมหวัง อคฺคเสโน) อดีตเจ้าคณะอำเภอเมืองสุรินทร์)
- พระชะรินทร์ อคฺคธมฺโม น.ธ.เอก ประโยค 1-2 อดีตผู้ช่วยเลขานุการรองเจ้าคณะอำเภอเมืองสุรินทร์ ( พระครูปริยัติกิจธำรง (สมหวัง อคฺคเสโน) อดีตรองเจ้าคณะอำเภอเมืองสุรินทร์)
- พระสุพล สิริปญฺโญ น.ธ.เอก อดีตผู้ช่วยเลขานุการรองเจ้าคณะอำเภอเมืองสุรินทร์ ( พระครูปริยัติกิจธำรง (สมหวัง อคฺคเสโน) อดีตรองเจ้าคณะอำเภอเมืองสุรินทร์)
- พระสมุห์สมโภชน์ ฐิตฺสุโข น.ธ.เอก อดีตเลขานุการเจ้าตำบลตั้งใจ (ลาสิกขาบท) ( พระครูสันตจิตตาภรณ์ เจ้าคณะตำบลตั้งใจ อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์)
พระธรรมกถึก
[แก้]- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พระมหาสมบัติ ฐานวโร/รวดเร็ว พระนักเทศน์,นักบรรยายสาระธรรมะ
เสนาสนะ
[แก้]ทางวัดกลางสุรินทร์ได้พยายามก่อสร้างเริ่มสร้างบูรณะเท่าที่เป็นไปได้ แต่วัดมีอุปสรรคที่แก้ไม่ได้ เพราะเหตุการณ์และสถานที่ไม่อำนวย เช่น เหตุการณ์ที่เกี่ยวกับอัคคีภัยเมื่อต้นปี พ.ศ. 2516 ทำให้วัดกลางสุรินทร์ตกอยู่ในสภาพเหมือนวัดสร้างใหม่ ไม่มีความสะดวกในการบำเพ็ญศาสนกิจ แม้สถานศึกษาของพระภิกษุสามเณรก็ต้องปลูกปรำเรียน ทั้ง ๆ ที่วัดอยู่กลางใจเมือง เท่ากับเป็นการประจานน้ำใจของพุทธศาสนิกชนของชาวจังหวัดสุรินทร์ทั่วไปซึ่งเนื่องจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา ที่ทางวัดยังแก้ไม่ตกที่ได้กล่าวว่าสถานที่ไม่อำนวย ก็เพราะความคับแคบของวัดไม่อาจวางผังวัดให้มีเขตเป็นพุทธาวาส สังฆาวาสให้เป็นสัดส่วนได้ แม้ในการพัฒนาวัดยังไม่สามารถทำได้เท่าที่ควร เพราะอาคารสถานที่ยังไม่พอแก่ความจำเป็น แต่ก็ได้ตั้งโครงการเพื่อการทะนุบำรุงทางศาสนาวัตถุต่อไป
- เสนาสนะที่ก่อสร้างมาก่อน และยังปลอดอัคคีภัย
- พ.ศ. 2494 สร้างกุฏิสำนักงาน และเป็นกุฏิเจ้าอาวาส 1 หลัง 2 ชั้น กว้าง 7 เมตร ยาว 12 เมตร สร้างด้วยเนื้อไม้แข็ง มูลค่า 60,000 บาท
- พ.ศ. 2503-2508 สร้างอุโบสถ 1 หลัง กว้าง 8 เมตร ยาว 20 เมตร ด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก มูลค่า 850,000 บาท
- พ.ศ. 2508 สร้างประตูและกำแพงวัดด้านหน้า มูลค่าประมาณ 48,000 บาท
- พ.ศ. 2510 สร้างกุฏิสังฆาธิการ 2 ชั้น 8 ห้อง ทรงปั้นหยา มูลค่า 215,000 บาท
- อาคารสถานที่สร้างหลังเกิดอัคคีภัยและสร้างใหม่ในยุคปัจจุบัน
- พ.ศ. 2516-2517 สร้างศาลาสหมิตรังสรรค์ 1 หลัง 2 ชั้น ด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง 15 เมตร ยาว 30 เมตร ทรงไทย มูลค่า 952,000 บาท
- พ.ศ. 2516-2517 สร้างกุฏิทรงไทย 1 หลัง 2 ชั้น ด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง 7 เมตร ยาว 17.50 เมตร มูลค่า 300,000 บาท
- พ.ศ. 2516-2517 สร้างกุฏิเก็บสังฆภัณฑ์ 1หลัง 2 ชั้น ด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง 5 เมตร ยาว 8 เมตร มูลค่า 85,000 บาท
- พ.ศ. 2518 สร้างกุฏิครัวสงฆ์ 1 หลัง 2 ชั้น ด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง 5 เมตร ยาว 12 เมตร มูลค่า 52,000 บาท
- พ.ศ. 2519 ซ่อมอุโบสถที่เสียหายจากอัคคีภัย มูลค่า 40,300 บาท
- พ.ศ. 2519 สร้างกำแพงด้านข้าง ยาว 60 เมตร และห้องน้ำ 6 ห้อง มูลค่า 52,000 บาท
- พ.ศ. 2521 สร้างอาคารเรียนปริยัติธรรม 1 หลัง 3 ชั้น จำนวน 18 ห้องเรียน ด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง 7 เมตร ยาว 43 เมตร มูลค่า 2,200,800 บาท
- พ.ศ. 2523 สร้างศาลาเอนกประสงค์ 1 หลังอาคาร 3 ชั้นลักษณะทรงไทย ด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง 12 เมตร ยาว 26 เมตร มูลค่า 1,220,000 บาท
- พ.ศ. 2546 สร้างพระธาตุเจดีย์ศรีเมืองช้างวัดกลางสุรินทร์
- พ.ศ. 2554 ริเริ่มโครงการก่อสร้าง ศูนย์ปฏิบัติธรรมวัดกลางสุรินทร์ และศูนย์การศึกษาพระปริยัติธรรม เลขที่ 22 หมู่ที่ 18 บ้านละเอาะ ตำบลเฉนียง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ มีเนื้อที่ 11 ไร่ 2 งาน ซึ่งต้องใช้งบประมาณ จำนวน 200,500,000บาท (สองร้อยล้านห้าแสนบาทถ้วน) เจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ได้เมตตามาเป็นประธานในพิธีและประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 22 เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช 2554 (แต่ยังขาดงบประมาณอีกมากร่วมจองเป็นเจ้าภาพได้)
การพัฒนาการศึกษา
[แก้]วัดกลางสุรินทร์ ได้เปิดการศึกษาปริยัติธรรมตั้งแต่ พ.ศ. 2481 แต่ยังไม่มั่นคงมีอุปสรรคเกี่ยวกับเรื่องครูสอนยังขาดเป็นครั้งคราว และได้เปิดทำการสอนได้มั่นคงดังนี้
- พ.ศ. 2486 เปิดการศึกษาปริยัติธรรมแผนกนักธรรม
- พ.ศ. 2487 เปิดการศึกษาปริยัติธรรมแผนกธรรมศึกษา
- พ.ศ. 2491 เปิดการศึกษาปริยัติธรรมแผนกบาลี
- พ.ศ. 2515 เปิดโรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่ สำหรับภิกษุสามเณร
- พ.ศ. 2524 เปิดโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษาตอนต้น มีชื่อว่า โรงเรียนปริยัติโกศลวิทยา
- พ.ศ. 2527 โรงเรียนปริยัติโกศลวิทยา เปิดขยายโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษาตอนปลาย
วัดกลาง เป็นศูนย์การศึกษาปริยัติธรรมส่วนกลางของจังหวัด แต่ละปีมีภิกษุสามเณรร่วมเรียนเป็นจำนวนมาก อย่างเช่น ปีการศึกษา 2519 มีจำนวนนักเรียนเข้าศึกษาเล่าเรียน โดยปริมาณดังนี้
นักธรรมทุกชั้นมีจำนวน 39 รูป เปิดเรียนเวลา 08.30-10.30 น.
ธรรมศึกษา มีจำนวนนักเรียน 42 คน เปิดเรียนเวลา 16.30-17.30 น.
แผนกบาลี มีจำนวน 92 รูป เปิดเรียนเวลา 13.00-15.00 น.
เปิดเรียนศึกษาผู้ใหญ่ มีจำนวนนักเรียน 165 รูป เปิดเรียนเวลา 16.00-19.00 น.
โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ มีนักเรียน 118 คน เปิดเรียนเวลา 08.30 น.
อ้างอิง
[แก้]- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2508/D/024/18.PDF
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2508/D/024/18.PDF ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 82 ตอนที่ 24 19 มีนาคม 2508 ฉบับพิเศษ หน้า 18 และราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 82 ตอนที่ 24 19 มีนาคม 2508 ฉบับพิเศษ หน้า 22
- ↑ หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พระราชสิทธิโกศล อดีตเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ และอดีตเจ้าอาวาสวัดกลางสุรินทร์ 9 เมษายน 2540 พิมพ์ที่ สุรินทร์การพิมพ์
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2503/D/102/1.PDF | ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่ม 77 , ตอนที่ 102 ,14 ธันวาคม 2503,หน้า 7 พระครูประภากรกิจโกศล วัดกลาง จังหวัดสุรินทร์ เป็นพระราชาคณะ มีนามว่า พระประภากรคณาจารย์ สุรินทรบริหาร สังฆปาโมกข์
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2516/D/177/1.PDF เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน | ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่ม 90 , ตอนที่ 177 ,28 ธันวาคม 2516,หน้า 7 พระมหาสุคนธ์ 6 ประโยค วัดกลาง จังหวัดสุรินทร์ เป็นพระราชาคณะ มีนามว่า พระปริยัติวรคุณ
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา,แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์,เล่ม 86,ตอนที่ 118 , 31 ธันวาคม 2512,ฉบับพิเศษ หน้า 5. พระมหาเมธ 5 ประโยควัดปราสาท จังหวัดสุรินทร์ เป็น พระครูธรรมรสสุนทร
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา,พระบรมราชโองการประกาศพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์,เล่ม141,ตอนที่38 ข, 3 กรกฎาคม 2567,หน้า 10 .ลำดับที่ 29. พระครูสุธีสุตสุนทร วัดพระแก้ว พระอารามหลวง จังหวัดเชียงราย เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ มีนามว่า พระวชิรดิลก
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา,แจ้งความคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๗๔ ตอนที่ ๑๐๗ , ๑๗ ธันวาคม ๒๕๐๐ ,หน้า ๒๙๖๔ .พระสมุห์ แป วัดจุมพลสุทธาวาส จังหวัดสุรินทร์ เป็น พระครูบรรณสารโกวิท
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา,แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์,เล่ม 94,ตอนที่ 3, 6 มกราคม 2520,ฉบับพิเศษ หน้า 12 . พระมหาถวิล 4 ประโยค วัดกลาง จังหวัดสุรินทร์ เป็น พระครูสิริปริยัตยาทร
- ↑ https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/14195.pdf
- ↑ https://www.matichon.co.th/politics/news_4316894
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 97, ตอนที่ 188, 5 ธันวาคม 2523 ,ฉบับพิเศษ หน้า 8 .พระมหาจินต์ 5 ประโยค วัดกลาง จังหวัดสุรินทร์ เป็น พระครูวิมลธรรมทัศน์
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์,เล่ม116,ตอน23ข,27 ธันวาคม 2542,หน้า 50 .พระมหาสมหวัง ๔ ประโยค วัดกลางสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ เป็นพระครูปริยัติกิจธำรง
- หนังสือที่ระลึก ฉลองอายุวัฒนมงคลครบ 5 รอบ พระสิทธิการโกศล (เทพ นนฺโท) เจ้าอาวาสวัดกลางสุรินทร์