มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี
![]() | |
ชื่อย่อ | มจพ.วิทยาเขตปราจีนบุรี |
---|---|
คติพจน์ | พัฒนาคน พัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี |
ประเภท | วิทยาเขต |
สถาปนา | พ.ศ. 2539 |
ที่ตั้ง | ตำบลเนินหอม อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี |
เว็บไซต์ | เว็บไซต์วิทยาเขตปราจีนบุรี |
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี เป็นหนึ่งในวิทยาเขตของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บริหารธุรกิจและการท่องเที่ยว ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี
ประวัติ[แก้]
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้จัดทำโครงการสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาและกระจายฐานบริการระดับอุดมศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไปสู่จังหวัดปราจีนบุรีและภูมิภาคใกล้เคียงรวมทั้งดำเนินการวิจัยและพัฒนาการฝึกอบรม การถ่ายทอดเทคโนโลยีต่างๆ แก่ชุมชนและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเดิมมหาวิทยาลัยฯ ได้วางแผนจัดทำโครงการสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ณ จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งคณะรัฐมนตรีอนุมัติเป็นที่เรียบร้อย ใน ปีพ.ศ. 2535 แต่ต้องเปลี่ยนแปลงสถานที่ดำเนินโครงการมาเป็นที่จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุในความดูแลของกองทัพบกซึ่งที่ดินที่ติดทางหลวงจังหวัดหมายเลข 3077 เส้นทางขึ้นเขาใหญ่ เลขที่ 129 หมู่ 6 ตำบลเนินหอม อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี จำนวน 1,233 ไร่ และสำรองพื้นที่ใช้งานอีก 1,286 ไร่ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของทบวงมหาวิทยาลัยที่ให้มหาวิทยาลัยที่จะขยายวิทยาเขตแห่งใหม่ควรมีพื้นที่อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 2,000 ไร่ ในปี พ.ศ. 2538
ลำดับเหตุการณ์[แก้]
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี หรือที่นิยมเรียกกันทั่วไปว่า"เทคโนปราจีนฯ" มีลำดับเหตุการณ์ดังนี้[1]
โครงการสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ณ ฉะเชิงเทรา[แก้]
- 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 - สภาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ คราวประชุมครั้งที่ 1/2534 มีมติเห็นชอบให้สถาบันดำเนินการประสานงานกับจังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อขอใช้ที่ดินราชพัสดุจังหวัดฉะเชิงเทราที่สถาบันพิจารณาเห็นแล้วว่ามีความเหมาะสมเพื่อขยายการศึกษาของสถาบัน
- 12 กันยายน พ.ศ. 2535 - คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการโครงการสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ณ ฉะเชิงเทรา และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรับไปศึกษาตามความเหมาะสม และความเป็นไปได้ของโครงการโดยด่วน และหากเห็นสมควรให้อนุมัติดำเนินการโครงการต่อไป
- 26 มกราคม พ.ศ. 2537 - สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการโดยเห็นชอบให้ดำเนินโครงการสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ณ ฉะเชิงเทรา
- 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537 - คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ ให้ทบวงมหาวิทยาลัยดำเนินการต่อไป
- 14 ตุลาคม พ.ศ. 2537 - กรมธนารักษ์มีหนังสือถึงสถาบันเกี่ยวกับพื้นที่ที่สถาบันขอใช้ว่าไม่อาจอนุญาตให้ใช้ได้ เพราะต้องเตรียมพื้นที่ไว้สำหรับอพยพโยกย้ายราษฎรออกจากพื้นที่โครงการส่วนกลางมหานคร
โครงการสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ปราจีนบุรี[แก้]
- 20 มีนาคม พ.ศ. 2538 - จังหวัดปราจีนบุรีขอรับการสนับสนุนจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี
- 3 เมษายน พ.ศ. 2538 - สถาบันทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรีเรื่องขอรับการสนับสนุนการจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือและสถาบันฝึกอบรมช่างเทคนิค ในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี
- 10 เมษายน พ.ศ. 2538 - ทบวงมหาวิทยาลัยได้เชิญอธิการบดีประชุมโครงการ ขยายโอกาสทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาไปสู่ภูมิภาค ณ ศูนย์สารสนเทศ ทบวงมหาวิทยาลัย
- 11 เมษายน พ.ศ. 2538 - ทบวงมหาวิทยาลัย ทำหนังสือถึงสถาบันเรื่องโครงการขยายโอกาสทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาไปสู่ภูมิภาค ซึ่งทบวงมหาวิทยาลัยพิจารณาแล้วเห็นว่าสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือมีความพร้อมและศักยภาพที่จะดำเนินตามนโยบายดังกล่าวได้อย่างดียิ่ง ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลบรรลุผล ทบวงมหาวิทยาลัย จึงขอความร่วมมือจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ช่วยดำเนินการจัดทำโครงการขยายวิทยาเขตไปยังจังหวัดปราจีนบุรี เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2538 - 2544
- 24 เมษายน พ.ศ. 2538 - สถาบันส่งโครงการขยายการศึกษาโครงการสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ปราจีนบุรี ไปยัง ทบวงมหาวิทยาลัย โดยขอใช้งบกลางในการพัฒนาที่ดิน จำนวน 60 ล้านบาท
- 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 - สถาบันจัดส่งเอกสารโครงการสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ปราจีนบุรี ให้จังหวัดพิจารณาดำเนินการขออนุญาตใช้ที่ดินผ่านกองทัพบกเพื่อพิจารณาทำความตกลงกับกรมธนารักษ์
- 16 มิถุนายน พ.ศ. 2538 - สถาบันทำหนังสือถึงทบวงมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับการขอเปลี่ยนแปลงโครงการขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษาไปสู่ภูมิภาค
- 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 - ทบวงมหาวิทยาลัย ส่งสำเนาเอกสารมติของคณะรัฐมนตรีในคราวประชุม เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2538 อนุมัติหลักการให้มหาวิทยาลัย/สถาบัน ขยายวิทยาเขตไปสู่ภูมิภาคทั้ง 10 แห่ง ใน 11 จังหวัด
- 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 - สถาบันทำหนังสือถึงสำนักงบประมาณเรื่องขอเปลี่ยนแปลงสถานที่และย้ายงบประมาณโครงการขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษาสู่ภูมิภาค
- 28 กันยายน พ.ศ. 2538 - สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแจ้งมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2538 อนุมัติให้สถาบันเปลี่ยนแปลงงบประมาณโครงการขยายการศึกษาไปสู่ภูมิภาคได้
- 4 มิถุนายน พ.ศ. 2539 - สถาบันทำหนังสือถึงกรมธนารักษ์ เรื่องขออนุญาตใช้ที่ราชพัสดุเพื่อจัดทำโครงการ สจพ.ปราจีนบุรี
- 7 สิงหาคม พ.ศ. 2540 - สถาบันทำหนังสือถึงผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 12 เพื่อขอความอนุเคราะห์ใช้ที่ดินเพื่อการจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ปราจีนบุรี (เพิ่มเติม)
- 22 สิงหาคม พ.ศ. 2540 - กรมธนารักษ์ออกหนังสืออนุญาตให้สถาบันใช้ที่ราชพัสดุ แปลงหมายเลขทะเบียน ปจ.๕๖๕ ตำบลเนินหอม อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี จำนวน 1,233 ไร่ 1 งาน 65 ตารางวา
- 10 สิงหาคม พ.ศ. 2541 - สถาบันทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี เพื่อขอความอนุเคราะห์ใช้ที่ดินจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ปราจีนบุรี (เพิ่มเติม)
- 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 - กองอสังหาริมทรัพย์กองทัพบก ทำหนังสือถึงผู้บัญชาการทหารบกเห็นสมควรสนับสนุนพื้นที่ให้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือจัดการศึกษาเพิ่มเติม จำนวน 575-2-22 ไร่
- 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 - กองทัพบกทำหนังสือถึงอธิบดีกรมธนารักษ์ เพื่อสนับสนุนให้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ใช้ที่ดินราชพัสดุแปลงทะเบียนเลขที่ ปจ.1039 ตามหนังสือสำคัญ สำหรับที่หลวงฉบับที่ 166/2418 จำนวน 575-2-22 ไร่ เพื่อขยายเขตการศึกษาเพิ่มเติม
เหตุการณ์สำคัญ[แก้]
- 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2540 - สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ปราจีนบุรี ณ จังหวัดปราจีนบุรี นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณสูงสุด ต่อประชาชนชาวจังหวัดปราจีนบุรี และ ประชาคมชาว มจพ.
คณะ/หน่วยงานในกำกับ[แก้]
คณะวิชา[แก้]
- คณะเทคโนโลยีและการจัดการอุตสาหกรรม
- คณะวิศวกรรมศาสตร์ ปราจีนบุรี
- คณะบริหารธุรกิจและอุตสาหกรรมบริการ
- คณะอุตสาหกรรมเกษตร
หน่วยงานสนับสนุนการจัดการศึกษา[แก้]
- กองงานวิทยาเขตปราจีนบุรี
- สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
- สำนักคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
หน่วยงานนักศึกษา[แก้]
- สภานักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี
- องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี
- สโมสรนักศึกษาคณะเทคโนโลยีและการจัดการอุตสาหกรรม
- สโมสรนักศึกษาคณะอุตสาหกรรมเกษตร
- สโมสรนักศึกษาคณะบริหารธุรกิจและอุตสาหกรรมบริการ
- สโมสรนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ปราจีนบุรี
ชีวิตนักศึกษาภายในวิทยาเขตปราจีนบุรี[แก้]
การพักอาศัยและใช้ชีวิตของนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี มีลักษณะคล้ายกับนิสิตนักศึกษาอื่นในมหาวิทยาลัยรอบๆจังหวัดปราจีนบุรี โดยคนที่มีภูมิลำเนาหรือมีญาติพี่น้องอยู่ในจังหวัดปราจีนบุรี ก็จะพักอาศัยกับครอบครัวหรือบ้านคนรู้จัก หรืออาศัยในหอพักเอกชนบริเวณรอบ ๆ มหาวิทยาลัย สำหรับนักศึกษาที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด และกำลังศึกษาในชั้นปีที่ 1 ทางมหาวิทยาลัยบังคับให้นักศึกษาทุกคนพักอาศัยในหอพักมหาวิทยาลัย ซึ่งมหาวิทยาลัยมีบริการหอพักสำหรับนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัย เปิดให้นักศึกษาเข้าพักตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 [2]
กิจกรรม/กีฬา/นันทนาการ[แก้]
- งานกีฬา IT 3 พระจอมเกล้า เป็นโครงการการแข่งขันกีฬาที่สโมสรนักศึกษา คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ 3 สถาบัน ประกอบไปด้วยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมกันจัดขึ้นเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างนักศึกษาทั้ง 3 สถาบันและรักษาประเพณีอันดีงามไว้ให้นักศึกษารุ่นต่อ ๆ ไป ซึ่งทางสโมสรนักศึกษาทั้ง 3 สถาบัน ได้ร่วมกันจัดขึ้นโดยจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพในแต่ละปี
- สมโภชน์หอพระหลวงพ่อสิงห์ จัดโดยสภา/องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือวิทยาเขตปราจีนบุรี เพื่อเป็นการทำบุญครั้งใหญ่ให้กับหอพระและเป็นสิริมงคลแก่ ชาว มจพ.วิทยาเขตปราจีนบุรี
การเดินทาง[แก้]
เดินทางจากภายนอกเข้ามายังภายในมหาวิทยาลัย[แก้]
นักศึกษา บุคลากร และบุคคลทั่วไปสามารถเดินทางมายังมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี ได้ดังนี้
- รถตู้สาธารณะ จาก สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) ให้ขึ้นรถตู้สาธารณะที่อยู่ในบริเวณเกาะพหลโยธิน หรือ ขึ้นรถ โดยสารสาธารณะ อยู่ในบริเวณ เกาะพญาไท ภายใน สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) หรือ รถตู้ สายที่ไป กรุงเทพ - อรัญ / กรุงเทพ-ปราจีน โดย ให้ลงที่วงเวียนสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จังหวัดปราจีนบุรี [3]
- รถไฟสายตะวันออก ให้ลงที่สถานีรถไฟปราจีนบุรี
- รถยนต์ส่วนตัว ใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง อยู่ในบริเวณเส้น ปราจีน - เขาใหญ่ ขาขึ้น อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ฝั่งจังหวัดปราจีนบุรี
เดินทางภายในมหาวิทยาลัย[แก้]
มหาวิทยาลัยได้จัดรถสองแถวรับส่งนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี จำนวน 1 คัน โดยวิ่งรับส่งนักศึกษาตั้งแต่เวลา 7.00 น. - 21.00 น. ในวันจันทร์ - เสาร์ และเวลา 7.00 น. - 18.00 น. ในวันอาทิตย์
สถานที่สำคัญ / สถาปัตยกรรมภายในมหาวิทยาลัย[แก้]
สถานที่หลัก[แก้]
- พระราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานหน้าประตูทางเข้ามหาวิทยาลัย
- หอพระหลวงพ่อสิงห์ ประดิษฐานบริเวณวงเวียนภายในมหาวิทยาลัย
- เขตกีฬาและนันทนาการ ประกอบด้วย อาคารกีฬาเฉลิมพระเกียรติ , สนามฟุตบอล , โดมกิจกรรม (โดมแดง) ,
- เขตที่พัก ประกอบด้วย หอพักนักศึกษา บ้านพักครูและบุคลากร
- เขตจัดการศึกษา ประกอบด้วย คณะเทคโนโลยีและการจัดการอุตสาหกรรม , คณะอุตสาหกรรมเกษตร , คณะบริหารธุรกิจและอุตสาหกรรมบริการ , คณะวิศวกรรมศาสตร์ปราจีนบุรี , อาคารภาควิชาวิศวกรรมเกษตรเพื่ออุตสาหกรรม , สำนักหอสมุดกลาง , อาคารปฏิบัติการวิศวกรรมเครื่องมือวัดและการวิจัย
- หอประชุม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี
- ห้องประชุมพวงแสด คณะเทคโนโลยีและการจัดการอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
- สนามบินมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี
- อาคารปฏิบัติการวิทยาศาสตร์การกีฬา และ หอประชุมกลางขนาดใหญ่ (กำลังอยู่ในช่วงการพิจารณา และก่อสร้าง)
- อาคารวิจัยเกษตร
อาคารสิรินธร[แก้]
เป็นอาคารบรรณสารสนเทศ ตั้งอยู่บริเวณทิศตะวันตกเฉียงใต้ ในบริเวณส่วนจัดการศึกษา ซึ่งต่อมา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงโปรดเกล้าให้ใช้นามอาคารว่า "อาคารสิรินธร เป็นอาคารสูง 6 ชั้น เนื้อที่ 15,222 ตารางเมตร ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 161,803,030.00 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 900 วัน โดยภายในอาคารสิรินธร จะเป็นที่ตั้งของสำนักหอสมุดกลาง วิทยาเขตปราจีนบุรี เพื่อให้บริการยืม - คืน หนังสือ วารสาร สื่อโสตทัศนศึกษา วิทยานิพนธ์ ปริญญานิพนธ์ ข้อมูลข่าวสารแก่อาจารย์ เจ้าหน้าที่ นักศึกษาของมหาวิทยาลัยที่กำลังศึกษาอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรี
อาคารปฏิบัติการการจัดการอุตสาหกรรม (โรงแรมวิลล่า วิชชาลัย)[แก้]
ตั้งอยู่บริเวณปากทางขึ้นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี เป็นอาคารปฏิบัติการการโรงแรม ซึ่งใช้ในการเรียนและฝึกทักษะในการปฏิบัติงานของนักศึกษา พร้อมทั้งได้เปิดให้บริการแก่บุคคลทั่วไป ที่มีความต้องการที่จะมาใช้บริการในด้านห้องพัก และจัดประชุมสัมมนาในงานต่างๆ โดยมีเจ้าหน้าที่ และ นักศึกษา ภาควิชาบริหารธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม คณะบริหารธุรกิจและอุตสาหกรรมบริการ ให้บริการบุคคลทั่วไป
แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]
- เว็บไซต์วิทยาเขตปราจีนบุรี
- เว็บไซต์คณะเทคโนโลยีและการจัดการอุตสาหกรรม
- เว็บไซต์คณะอุตสาหกรรมเกษตร
- เว็บไซต์คณะบริหารธุรกิจและอุตสาหกรรมบริการ
- โรงแรมวิลล่าวิชชาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี
อ้างอิง[แก้]
- ↑ พิธีเปิดอาคารสิรินธร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ[ลิงก์เสีย], สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ.
- ↑ เว็บไซต์หอพักนักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี ประวัติความเป็นมาฯ [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [1]. (เข้าถึงเมื่อ: 25 ธันวาคม 2559).
- ↑ เว็บไซต์ Dek-d.com แนะน้อง : เดินทางไป ม.พระนครเหนือ [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [2]. (เข้าถึงเมื่อ: 25 ธันวาคม 2559).