สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) | |
---|---|
คำนำหน้าชื่อ | ท่านเจ้าประคุณ |
ชื่ออื่น | สมเด็จ ป.อ.ปยุตฺโต |
ส่วนบุคคล | |
เกิด | 12 มกราคม พ.ศ. 2481 (86 ปี) |
นิกาย | มหานิกาย |
การศึกษา | ป.ธ. 9 (นาคหลวง), นักธรรมชั้นเอก, พธ.บ. (เกียรตินิยมอันดับ 1), พ.ม. |
ตำแหน่งชั้นสูง | |
ที่อยู่ | วัดญาณเวศกวัน นครปฐม |
อุปสมบท | 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2504 |
พรรษา | 63 |
ตำแหน่ง | เจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน,ที่ปรึกษามหาเถรสมาคม |
ศาสตราจารย์พิเศษ[1] สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ นามเดิม ประยุทธ์ อารยางกูร ฉายา ปยุตฺโต หรือที่รู้จักกันดีทั่วไปในนามปากกา "ป. อ. ปยุตฺโต" เป็นสมเด็จพระราชาคณะ,ดำรงตำแหน่งทางพระสังฆาธิการ เป็นเจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน จังหวัดนครปฐม,ที่ปรึกษามหาเถรสมาคม ,เป็นสมเด็จพระราชาคณะรูปแรกในประวัติศาสตร์ที่เป็นเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ไม่ใช่วัดพระอารามหลวง
เป็นสมเด็จพระราชาคณะรูปแรก ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10) เป็นพระภิกษุสงฆ์ชาวไทย ผู้ได้รับสมัญญาว่า "พระผู้ทำสงฆ์ให้งาม" และ "ตู้พระไตรปิฎกเคลื่อนที่" ได้รับถวายตำแหน่งจากสถาบันนวนาลันทา ประเทศอินเดีย ให้เป็น "ตรีปิฎกาจารย์" คือ ผู้รู้แตกฉานในพระไตรปิฎก เป็นรูปที่ 2 ของโลก นับจากพระภิกษุเสวียนจั้ง (พระถังซัมจั๋ง) ประเทศจีน
ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรขณะมีอายุ 13 ปี จนสอบได้นักธรรมชั้นเอกและเปรียญธรรม 9 ประโยค ขณะยังเป็นสามเณร นับเป็นรูปที่ 2 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9 ) และเป็นรูปที่ 4 ในสมัยรัตนโกสินทร์ ได้รับการอุปสมบทเป็นนาคหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปลด กิตฺติโสภโณ) สมเด็จพระสังฆราช เป็นพระอุปัชฌาย์
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นพระนักวิชาการ นักคิด นักเขียน ผลงานทางพระพุทธศาสนารุ่นใหม่ มีผลงานทางวิชาการพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก มีผลงานเป็นที่รู้จัก เช่น พุทธธรรม เป็นต้น ท่านได้รับการยกย่องจากทั้งในและต่างประเทศ ด้วยผลงานของท่านทำให้ได้รับรางวัลและดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากสถาบันทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ท่านเป็นคนไทยคนแรก ที่ได้รับรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพ จากยูเนสโก (UNESCO Prize for Peace Education) [2]
นอกจากนี้ยังเป็นพระภิกษุสงฆ์ชาวไทยที่ได้รับถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากสถาบันต่าง ๆ มากถึง 20 สถาบัน ซึ่งนับว่ามากที่สุดในปัจจุบัน และในปี พ.ศ. 2549 ยังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็นราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์อีกด้วย
ปัจจุบันสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ดำรงตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์พิเศษ ประจำมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และเป็นเจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
ชาติภูมิ
[แก้]สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ นามเดิมว่า ประยุทธ์ นามสกุล อารยางกูร เกิดวันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2481 ณ บ้านใกล้ริมฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรี (แม่น้ำท่าจีน) ฝั่งตะวันออก ในบริเวณตลาดศรีประจันต์ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรคนที่ 5 ในจำนวน 9 คน ของนายสำราญ และนางชุนกี อารยางกูร ครอบครัวประกอบกิจการค้าขายผ้าแพร ผ้าไหม ขายของชำ และโรงสีไฟ
เมื่ออายุ 6 ขวบ เข้าเรียนชั้นอนุบาลในโรงเรียนอนุบาลครูเฉลียวที่ตลาดศรีประจันต์ จบชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนประชาบาลชัยศรีประชาราษฎร์ จากนั้นบิดาได้พาเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเรียนต่อระดับมัธยมที่โรงเรียนปทุมคงคา โดยพักอยู่ที่วัดพระพิเรนทร์ เด็กชายประยุทธ์เป็นเด็กเรียนเก่ง จึงได้รับทุนเรียนดีจากกระทรวงศึกษาธิการจนถึงมัธยมศึกษาตอนต้น และมีความใส่ใจในการเรียนมาก ช่วงเวลาปิดเทอมกลับมาอยู่ที่บ้าน ก็สามารถสอนภาษาอังกฤษแก่น้อง ๆ ได้ มีนิสัยรักการอ่านหนังสือ ชอบหนังสือต่าง ๆ โดยเฉพาะสารานุกรม ฝึกเรียนภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง
การบรรพชา และอุปสมบท
[แก้]เนื่องจากเป็นเด็กสุขภาพไม่ใคร่ดีตั้งแต่เล็กจนโต จากคำบอกเล่าของญาติพี่น้องและคนใกล้ชิดกล่าวว่า วัยเยาว์ของท่านควบคู่ไปกับการเจ็บป่วยเรื่อยมา เป็นเกือบทุกโรค เป็นต้นว่า หัวใจรั่ว ท้องเสีย ท้องอืด ต้องผ่าตัดถึงสองครั้ง หูเป็นน้ำหนวกอักเสบเข้าไปในกระดูกพรุนถึงโพรงศีรษะ แพ้อากาศ โรคปอด นิ่วในไต หลอดลมอักเสบ กล้ามเนื้อแขนอักเสบ ไวรัสเข้าตา สายเสียงอักเสบ เส้นเลือดไปเลี้ยงสมองข้างซ้ายเล็กลีบ เป็นต้น จากสุขภาพที่ไม่แข็งแรงเช่นนี้ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาเล่าเรียนตามปกติ
หลังจากจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 พ.ศ.2494 ทางบ้านจึงสนับสนุนให้ท่านบรรพชาเป็นสามเณร ด้วยเล็งเห็นว่าการอยู่ในเพศบรรพชิตจะเอื้ออำนวยต่อการศึกษาได้มากกว่า ไม่ต้องยุ่งยากเดินทางไปโรงเรียน และยังสามารถศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่วัดได้ ท่านจึงบรรพชาที่ วัดบ้านกร่าง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งอยู่ใกล้กับบ้าน โดยมี พระเมธีธรรมสาร (ไสว ธมฺมสาโร) เป็นพระอุปัชฌาย์
ท่านอยู่ที่วัดบ้านกร่างเป็นระยะเวลา 1 ปี พ.ศ.2495 จึงย้ายมาอยู่วัดปราสาททอง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี ในสมัย พระวิกรมมุนี (ผล อุปติสฺโส) เป็นเจ้าอาวาส ศึกษาเล่าเรียนทางพระปริยัติธรรม เป็นระยะเวลา 1 ปี
กระทั่ง พ.ศ. 2496 จึงเดินทางเข้ากรุงเทพมหานคร มาจำพรรษาที่ วัดพระพิเรนทร์ ซึ่งมี พระเทพคุณาธาร (ผล ชินปุตฺโต) คนบ้านเดียวกัน เป็นเจ้าอาวาส สอบได้นักธรรมชั้นเอกและเปรียญธรรม 9 ประโยค ขณะยังเป็นสามเณร จึงได้รับพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์จากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงรับเป็นนาคหลวง
เป็นนาคหลวงในรัชกาลที่ 9 อุปสมบทเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ.2504 ณ พัทธสีมาพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร โดยมี สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปลด กิตฺติโสภโณ) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธโร) วัดสามพระยา เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระธรรมเจดีย์ (กี มารชิโน) วัดทองนพคุณ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ปยุตฺโต” จึงเป็นที่มาของอักษรย่อว่า “ป.อ. ปยุตฺโต” ซึ่งมาจาก ชื่อ ประยุทธ์ นามสกุล อารยางกูร และฉายา ปยุตฺโต
การศึกษา/วิทยฐานะ
[แก้]- สอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอก สำนักศาสนศึกษาวัดพระพิเรนทร์ กรุงเทพมหานคร สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง
- สอบไล่ได้เปรียญธรรม 9 ประโยค สำนักศาสนศึกษาวัดพระพิเรนทร์ กรุงเทพมหานคร สำนักงานแม่กองบาลีสนามหลวง
- พ.ศ. 2505 สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี พุทธศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 1) จากสถาบันการศึกษามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
- พ.ศ. 2506 สอบได้ วิชาชุดครู พ.ม
สมณศักดิ์
[แก้]- รับพระราชทานทรงตั้งเปรียญธรรม 9 ประโยค มีสมณศักดิ์ทางวิชาการเปรียญธรรมที่ พระมหาประยุทธ ปยุตฺโต
- พ.ศ. 2512 โปรดพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ขึ้น เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญที่ พระศรีวิสุทธิโมลี[3]
- พ.ศ. 2516 โปรดพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ขึ้น เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชวรมุนี ศรีปริยัติบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[4]
- พ.ศ. 2530 โปรดพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ขึ้น เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเวที ศรีวิสาลปาพจนรจิต ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[5]
- พ.ศ. 2536 โปรดพระราชทานสัญญาบัตร ตั้งสมณศักดิ์ขึ้น เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมปิฎก อดุลญาณนายก ปาพจนดิลกนิวิฐ ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[6]
- พ.ศ. 2547 โปรดสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้น เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฏที่ พระพรหมคุณาภรณ์ สุนทรธรรมสาธก ตรีปิฎกปริยัติโกศล วิมลศีลาจาร ศาสนภารธุราทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี [7]
- พ.ศ. 2559 โปรดสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้น เป็นสมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสุพรรณบัฏที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ญาณอดุลสุนทรนายก ปาพจนดิลกวรานุศาสน์ อารยางกูรพิลาสนามานุกรม คัมภีรญาณอุดมวิศิษฎ์ ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสี[8]
ตำแหน่งการปกครองบริหารกิจการคณะสงฆ์
[แก้]- พ.ศ. 2515 - 2521 เป็น เจ้าอาวาสวัดพระพิเรนทร์ กรุงเทพมหานคร
- พ.ศ. 2537 - ปัจจุบัน เป็น เจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน จังหวัดนครปฐม
- พ.ศ. 2559 - 2562 เป็น กรรมการมหาเถรสมาคม (โดยตำแหน่งสมณศักดิ์สมเด็จพระราชาคณะ)
- พ.ศ. 2562 - ปัจจุบัน เป็น ที่ปรึกษามหาเถรสมาคม
เกียรติคุณ
[แก้]ตลอดชีวิตของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ได้รับยกย่องว่าเป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ไม่เคยต้องอธิกรณ์ใด ๆ ท่านได้ใช้ความรู้พระไตรปิฎกแท้ ๆ เพื่อช่วยปกป้องสังฆมณฑลในประเทศไทยหลายกรณี ไม่ว่า กรณีสันติอโศกหรือกรณีวัดพระธรรมกาย ท่านได้ช่วยชี้แจงให้คนไทยได้รับทราบถึงข้อมูลเกี่ยวกับพระไตรปิฎกภาษาบาลีที่ถูกต้องเอาไว้หลายครั้ง
ในขณะเดียวกัน ท่านยังมีบทบาทในการชี้แนะสังคมไทยในด้านการบริหารประเทศหลายครั้ง เช่น ในหนังสือ มองอเมริกาแก้ปัญหาไทย ได้ชี้ให้เห็นถึงอิทธิพลของระบบทุนนิยมเสรีในประเทศไทย และยังได้ชี้ให้เห็นว่าสังคมตะวันตก หรืออเมริกา มีแง่มุมที่ไม่ควรเป็นแบบอย่างในการพัฒนาประเทศไทย ที่จะทำให้เน้นแต่พัฒนาวัตถุ ทำให้นักคิดไทยหลายคนตื่นตัวมาหาหลักพุทธธรรมเป็นแนวในการพัฒนา จนได้รับการถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และเกียรติคุณต่าง ๆ ดังนี้
- ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
- พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ. 2525
- ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาปรัชญา) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2529
- ศึกษาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาหลักสูตรและการสอน) มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. 2529
- ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ศึกษาศาสตร์-การสอน) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2530
- อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2531
- ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาภาษาศาสตร์) มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2531
- การศึกษาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาปรัชญาการศึกษา) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. 2533
- ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาปรัชญาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2536
- ศึกษาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พ.ศ. 2537
- ตรีปิฏกาจารย์กิตติมศักดิ์ (สาขาปรัชญา) นวนาลันทามหาวิหาร รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย พ.ศ. 2538
- อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (จริยศาสตร์ศึกษา) มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2538
- วิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2541
- ศาสนศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพุทธศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย พ.ศ. 2544
- ครุศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพระพุทธศาสนา สถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา พ.ศ. 2544
- ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาปรัชญาวิชาการบริหารองค์กร มหาวิทยาลัยศรีปทุม พ.ศ. 2545
- ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาศาสนาและปรัชญา มหาวิทยาลัยบูรพา พ.ศ. 2552
- ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร พ.ศ. 2552
- นิเทศศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พ.ศ. 2552
- ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (พัฒนาทรัพยากรมนุษย์) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ พ.ศ. 2553
- ศึกษาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ พ.ศ. 2554
- ประกาศเกียรติคุณและรางวัล
- พ.ศ. 2525 ได้รับการประกาศเกียรติคุณ ในฐานะผู้ทำคุณประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา ในการฉลอง 200 ปี กรุงรัตนโกสินทร์
- พ.ศ. 2525 ได้รับรางวัลวรรณกรรมชั้นที่ 1 ประเภทร้อยแก้ว สำหรับงานนิพนธ์พุทธธรรม จากมูลนิธิ ธนาคารกรุงเทพ
- พ.ศ. 2532 ได้รับพระราชทานโล่รางวัล 'มหิดลวรานุสรณ์'
- พ.ศ. 2532 ได้รับโล่ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อการศึกษา ในวาระครบรอบ 20 ปี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- พ.ศ. 2533 ได้รับรางวัลกิตติคุณสัมพันธ์ 'สังข์เงิน' สาขาเผยแผ่พระพุทธศาสนา
- พ.ศ. ๒๕๓๗ ได้รับรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพ จากองค์การยูเนสโก (UNESCO Prize for Peace Education)
- พ.ศ. 2538 คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ประกาศเชิดชูเกียรติเป็น 'ผู้ทรงคุณวุฒิทางวัฒนธรรม'
- พ.ศ. 2538 สถาบันนวนาลันทา ประเทศอินเดีย ถวายตำแหน่ง "ตรีปิฏกาจารย์" (กิตติมศักดิ์) หมายถึงอาจารย์ผู้รู้แตกฉานในพระไตรปิฎก
- พ.ศ. 2541 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมูลนิธิโตโยต้า ประเทศไทย ถวายรางวัล TTF Award (Toyota Thailand Foundation: Honorary Award)สาขาสังคมศาสตร์และ มานุษยวิทยาสำหรับผลงานทางวิชาการดีเด่น หนังสือ 'การพัฒนาที่ยั่งยืน'
- พ.ศ. 2544 รางวัล 'สาโรช บัวศรี ปราชญ์ผู้ทรงศีล' จาก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- พ.ศ. 2544 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เป็น 'ศาสตราจารย์พิเศษ' ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
- พ.ศ. 2547 มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งโลก ถวายตำแหน่ง 'เมธาจารย์' (Most Eminent Scholar) ในฐานะนักปราชญ์ ทางพระพุทธศาสนาสายเถรวาท
- พ.ศ. 2549 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เป็นราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์[9]
- พ.ศ. 2552 โล่วัชรเกียรติคุณ จาก คณะกรรมการศาสนาศิลปะและวัฒนธรรม
- พ.ศ. 2552 ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย จาก คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
แรงบันดาลใจให้อยู่เป็นพระสืบอายุพระศาสนา
[แก้]สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เคยให้สัมภาษณ์ว่าแรงบันดาลใจที่ทำให้ท่านบวชเป็นสามเณรอยู่เป็นระยะเวลานานจนมาอุปสมบทเป็นพระภิกษุมาตลอดเป็นเพราะได้อ่านนวนิยายอิงธรรมะของอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ทำให้รู้สึกอยากเป็นส่วนหนึ่งของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในกองทัพธรรม เช่น
- ใต้ร่มกาสาวพัสตร์
- กองทัพธรรม
- อาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันตก
งานด้านการศึกษา
[แก้]- อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
- บรรยายเรื่อง Buddhism and Thai Culture ที่ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย
- บรรยายพิเศษด้านพระพุทธศาสนาที่ Swarthmore College มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย
- อาคันตุกาจารย์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ผลงานทางวิชาการพุทธศาสนา
[แก้]- พุทธธรรม
- พจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับประมวลศัพท์
- พจนานุกรมพุทธศาสตร์ฉบับประมวลธรรม
- สถาบันสงฆ์กับสังคมไทยในปัจจุบัน
- รุ่งอรุณของการศึกษา เบิกฟ้าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
- จารึกอโศก
- ธรรมนูญชีวิต
- มองอเมริกาแก้ปัญหาไทย
- พระพุทธศาสนากับสังคมไทย
- การพัฒนาที่ยั่งยืน
- นรก- สวรรค์ ในพระไตรปิฎก
- เมื่อธรรมดามาถึง รู้ให้ทันและทำให้ถูก
- ลักษณะสังคมพุทธ
- กรณีธรรมกาย:บทเรียนเพื่อการศึกษาพระพุทธศาสนา และสร้างสรรค์สังคมไทย
- ตื่น กันเสียที จากความเท็จของหนังสือ
"เหตุเกิดพ.ศ. 1" และสืบเนื่องจากภาพยนตร์ เรื่อง กำเนิดพระพุทธเจ้า บทเรียนที่มักถูกลืม
- ศึกษา ฝึกฝน พัฒนาตนให้สูงสุด
- แก่นแท้ของพระพุทธศาสนา
- ทำอย่างไร ? จะพูดได้เต็มปากว่า...
เรารักในหลวง
- ฅนไทยใช่กบเฒ่า เถรวาท VS ลัทธิอาจารย์
- นิติศาสตร์แนวพุทธ
- การศึกษาเพื่ออารยธรรมที่ยั่งยืน
- การศึกษาทั่วไปเพื่อพัฒนามนุษย์
- กรณีเงื่อนงำ:พระพุทธเจ้าปรินิพานด้วยโรคอะไร
- การสร้างสรรค์ประชาธิปไตย
- ศิลปศาสตร์แนวพุทธ
- ธุดงค์ ทำอะไร ที่ใหน เพื่ออะไร
- คู่สร้างคู่สม ชีวิตคู่ในอุดมคติ
- คู่มือชีวิต
- วิสัยธรรม เพื่อเบิกนำวิสัยทัศน์
- ปฏิบัติธรรมให้ถูกทาง
- หลักสูตรอารยชน (ฉบับ ไทย-อังกฤษ )
- ถ้าเชิดชูพระคุณแม่ขึ้นมาได้ สังคมไทยไม่สิ้นความหวัง
- ทำอย่างไรจะหายโกรษ
- เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ
- ร่าเริงสดใสสู่ความเกษมศานต์
- ปัญหาขัดแย้งในโลก แก้ได้ด้วยกฐิน
- กาลานุกรม
- วิถีสู่สันติภาพ
- บทนำสู่พุทธธรรม
- สถาบันสงฆ์กับสังคมปัจจุบัน
- สันติภาพเกิดจากอิสรภาพและความสุข
- ถึงเวลา มารื้อปรับระบบพัฒนาคนกันใหม่
- ความสุขอยู่ที่นี่ มัวไปหากันที่ใหน
- ขอคำตอบจาก ผบ.ทหารสูงสุด
- เกณฑ์วิฉัย ความหมายและคุณค่าของพุทธธรรม
- คนไทยกับเทคโนโลยี
- ข้อคิดชีวิตทวนกระแส
- ก้าวใหม่ของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ
- คติจตุคามรามเทพ
- ของขวัญของชีวิต
- คนไทยกับป่า
- จาริกบุญ จารึกธรรม
- มองธรรมถูกทาง มีสุขทุกที่
- ครองเรือน ครองรัก จักเลิศแท้ด้วยครองธรรม
- ถ้ารู้จักพระพุทธศาสนา ความสุขต้องมาทันที
- รักษาโรคยามป่วยไข้
- เมืองไทยจะวิกฤต ถ้าคนไทยมีศรัทธาวิปริต
- รู้จักพระไตรปิฎก ให้ชัด ให้ตรง
- การเกิดเป็นทุกข์ เกิดดีเป็นสุข
- ตอบเรื่อง สีลัพพตปรามาส วินัย ดูใจ
- หลักชาวพุทธ (ฉบับ ไทย-อังกฤษ )
- ระลึกถึงความตาย และวิธีปฏิบัติให้ถูกต้องต่อความตาย
- ร่ำรวย ยิ่งใหญ่ เลื่อนลอย หรือเพื่ออะไร?
- ตามทางพุทธกิจ
- วันสำคัญของชาวพุทธไทย
- สุขภาวะองค์รวมแนวพุทธ
- หลักชาวพุทธ: จุดเริ่มจุดร่วมที่มารวมกันรุ่งโรจน์
- สมาธิ:ฐานสู่สุขภาพจิตและสติปัญญาหยั่งรู้
- เชื่อกรรม รู้กรรม แก้กรรม
- ตอบดร.มาร์ติน พุทธวินัยถึงภิกษุณี
- พรที่สัมฤทธิ์ผลแก่ผู้ดำเนินชีวิตที่ดี
- พัฒนาสังคมไทย ด้วยความรู้เข้าใจไตรภูมิ
- สถานการณ์พระพุทธศาสนา:ทวนกระแสไสยศาสตร์
- ฯลฯ
งานสาธารณสงเคราะห์
[แก้]- ที่ปรึกษาทางวิชาการ ประจำ มูลนิธิแผ่นดินธรรม ในพระสังฆราชูปถัมภ์
อ้างอิง
[แก้]- หนังสือชีวประวัติ พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) สนพ.ธรรมสภา
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งศาสตราจารย์พิเศษ, เล่ม ๑๑๘, ตอน ๘๔ ง, ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๔, หน้า ๗
- ↑ รายชื่อผู้ที่ได้รับรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพ .เว็บไซต์องค์การยูเนสโก
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๘๖, ตอน ๑๑๘ ง ฉบับพิเศษ, ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๒, หน้า ๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๙๐, ตอน ๑๗๗, ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๖, หน้า ๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๑๐๔, ตอน ๒๕๓, ๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๐, หน้า ๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๑๑๐, ตอน ๒๐๒, ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๖, หน้า ๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์, เล่ม ๑๒๑, ตอน ๑๗ ข, ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๗, หน้า ๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา,พระราชโองการ ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์,เล่ม 133, ตอนที่ 42 ข, 5 ธันวาคม 2559, หน้า 1
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (พระพรหมคุณาภรณ์ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ศาสตราจารย์ คุณหญิงกุหลาบ มัลลิกะมาส)
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]ก่อนหน้า | สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (วีระ ภทฺทจารี) | สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (พ.ศ. 2559 - ปัจจุบัน) |
ยังอยู่ในสมณศักดิ์ |
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2481
- ภิกษุในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย
- เปรียญธรรม 9 ประโยค
- สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
- เจ้าอาวาส
- ศาสตราจารย์พิเศษ
- ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์
- นักเขียนชาวไทย
- นาคหลวง
- ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนาพุทธ
- บุคคลจากโรงเรียนปทุมคงคา
- บุคคลจากคณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
- บุคคลจากโรงเรียนบาลีเตรียมอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
- ผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ผู้ได้รับรางวัลพุทธคุณูปการ
- ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลเสาเสมาธรรมจักร
- ผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง
- ผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- ชาวไทยเชื้อสายจีน
- บุคคลจากอำเภอศรีประจันต์
- ภิกษุจากจังหวัดสุพรรณบุรี
- ภิกษุจากจังหวัดนครปฐม